พลอย จริยะเวช เป็นนักเขียน นักวาด นักออกแบบ

ล่าสุด เธอบอกว่า ตอนนี้เธอมีอาชีพใหม่คือทำจานขาย เป็นการนำศาสตร์ทุกอย่างที่เธอเชี่ยวชาญมาผสมผสานจนออกมาเป็นจาน ชาม หลากหลายรูปแบบ

เธอว่า จานของเธอไม่ใช่งานศิลปะ แต่เป็นงานสุนทรียะ

แล้วเธอก็ไม่ได้วางขายธรรมดา แต่นำมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการร่วมกับภาพวาด โดยมีฉากหลังเป็นชีวิตของเธอในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา หลังจาก ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช คุณพ่อของเธอเสียชีวิต

พลอยบอกว่างานนี้คือ พระอาทิตย์ 1 ใน 4 ดวงของเธอในปีนี้

เธอตั้งชื่องานนี้ว่า Salute to the Sun จัดแสดงจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2565 ที่แกลอรี่ Madi Bkk ปากซอยเจริญกรุง 43

เรานัดคุยกันที่แกลอรี่ในวันก่อนเปิดงานสุริยาคารวะ

มองออกไปนอกหน้าต่าง ท้องฟ้าเต็มไปด้วยเมฆฝนสีเทาเข้ม ดูท่าวันนี้คงยังไม่มีแดด

ชีวิตบนกระดาษ กระเบื้อง เครื่องหอม ของ พลอย จริยะเวช ในปีที่เธอมีพระอาทิตย์ 4 ดวง

01
อาชีพใหม่

ก่อนจะเริ่มบทสนทนาเรื่องงาน ผมขออนุญาตสวมบทบรรณาธิการถามไถ่ถึงต้นฉบับคอลัมน์ ‘บ้านเพื่อน‘ สักหน่อย เพราะในรอบ 3 ปีนี้ เธอส่งงานมา 2 ชิ้นเท่านั้น ปีแรกเธอบอกว่า ขอลาไปเขียนหนังสือ What is the good life? ปีที่สอง เธอลาไปทำงานเซรามิก ส่วนปีนี้ ผมกำลังรอฟังคำตอบ

“ปีที่แล้วไม่มีหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กออก รายได้หลักไม่มี เลยต้องคิดหาอาชีพใหม่” พลอยหัวเราะยาวเมื่อเล่าถึงเวลาที่หายไปในปีนี้

พลอย จริยะเวช คือนักเขียนที่เลี้ยงชีพด้วยการเขียนหนังสือมาร่วม 2 ทศวรรษ รายได้หลักของเธอคือค่าลิขสิทธิ์จากการแปลและเขียนหนังสือ ช่วงหลัง ๆ เธอเริ่มได้ค่าลิขสิทธิ์จากการนำลายเส้นไปผลิตสินค้าซึ่งจ่ายเป็นรายปี และมีรายได้จากการไปออกอีเวนต์ เห็นเธอเป็นนักเขียนแนวไลฟ์สไตล์แบบนี้ แต่เธอมีวินัยทางการเงินดีเยี่ยม

ชีวิตบนกระดาษ กระเบื้อง เครื่องหอม ของ พลอย จริยะเวช ในปีที่เธอมีพระอาทิตย์ 4 ดวง

“เราเป็นคนมองรายได้เป็นปี ปีต่อปี ถ้ามีรายได้เท่านี้ ก็ไม่ควรให้ลดต่ำกว่านี้ ปีที่แล้วมีช่วงที่ไม่ได้ทำงานเขียน ก็ได้ไปออกแบบคอลเลกชันให้ JYSK หรือรับงานวาดให้ร้านกับข้าวกับปลาที่เขารีแบรนด์ใหม่ แล้วก็มีคนซื้อรูปเอาไปทำลวดลายบนของต่าง ๆ

“ช่วงนี้ไม่ได้ออกหนังสือ เลยขาดรายได้ก้อนหลัก ก็เลยเอาเวลาไปทำโปรดักต์ของตัวเอง ไปทำจานขาย เราขายจานเป็นอาชีพมา 4 ครั้งแล้ว เราวางแผนว่าไตรมาสนี้ดิฉันจะหาเงินจากการจำหน่ายจาน อยากทำให้เป็นอาชีพ” เธอระบุเหตุผลในใบลาถึงบรรณาธิการไว้เช่นนี้

02
หนังสือเล่มใหม่

ผมได้ยินพลอยบ่นถึงความโหดหินตอนเขียนเรื่อง What is the good life? อยู่บ่อย ๆ ก็เลยเข้าใจดีว่า การเขียนหนังสือเล่มต่อมาย่อมต้องใช้เวลา และใช้พลังมากขึ้นไปอีก

“ยากที่สุด” พลอยพูดถึงการเขียนหนังสือเล่มล่าสุด “มีคนตีตราว่า Good life เป็นหนังสือที่ดีที่สุดในชีวิตเรา นี่คืออนุสาวรีย์ของเธอ จะสร้างอะไรได้ยิ่งใหญ่กว่านี้อีกหรือ ตอนเขียน Good life โญ (ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา บรรณาธิการ) เขาเป็นจอมทิ้งถังขยะเลย เขาปฏิเสธทุกบท กว่าจะได้ออก เขาทิ้งถังขยะไป 4 รอบ พูดถึงขนาด เธอหยุดเขียนก่อนไหม ถ้าจะเค้นกันขนาดนี้ เพราะพลังข้างในของเราไม่ดีเลย

“แต่เล่มนี้แปลก เขาชอบทุกบท พอส่งต้นฉบับแล้วก็ไลน์คุยกัน เขาอ่านแล้วก็เขียนลายมือมาหนึ่งหน้า A4 ว่าชอบบทนี้ยังไง แล้วถ่ายรูปส่งมาทางไลน์ ยุคหินไหม” พลอยหัวเราะเมื่อเล่าถึงวิธีสื่อสารกับบรรณาธิการสำนักพิมพ์ที่อยู่เชียงดาว

“ทำหนังสือกับโญมา 3 เล่ม เลือดตาแทบกระเด็นทุกเล่ม แต่เล่มนี้แปลกมาก ไม่มีอะไรไม่ผ่านเลย เขาชมแบบ โห เกิดมาไม่เคยได้คำชมแบบนี้”

เธอพูดถึงเนื้อหาข้างในว่า หนังสือทั้งหมดที่ผ่านมาเธอเขียนเรื่องเกี่ยวกับ ‘ข้างนอก’ หรือ Outer World แต่เล่มนี้จะมีความเป็น ‘ข้างใน’ หรือ Inner World แบบที่ไม่เคยเขียนมาก่อน ซึ่งคนอ่านทำความเข้าใจตามได้ไม่ยาก

ชีวิตบนกระดาษ กระเบื้อง เครื่องหอม ของ พลอย จริยะเวช ในปีที่เธอมีพระอาทิตย์ 4 ดวง

พลอยเปรียบว่า ถ้าเธอเป็นนักร้อง ปีนี้เธอตั้งใจจะออก 4 ซิงเกิล งานนิทรรศการ Salute to the Sun คือซิงเกิลที่ 2 ซึ่งเธอเอาคำนำและรูปประกอบจากหนังสือมาใช้ก่อน พอปล่อยหนังสือออกมาเป็นซิงเกิลที่ 4 คนก็จะเข้าใจว่า ทำไมงานทั้งปีของเธอถึงเป็นแบบนี้

“งงไหม” เจ้าของโปรเจกต์ถาม

“งง” ผมตอบทันที แต่ผมจะเชื่อว่าเข้าใจเมื่อได้อ่านหนังสือเล่มใหม่ของพลอย (ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีชื่อ) ช่วงเดือนตุลาคมปีนี้

03
นักวาด

คนส่วนใหญ่รู้จัก พลอย จริยะเวช ในฐานะของนักเขียนมากกว่านักวาด

แต่เธอวาดมานานพอ ๆ กับเขียน

ช่วงที่เธอสอบเทียบได้วุฒิ ม.6 มาตั้งแต่ ม.5 คุณพ่อบอกว่าไม่ต้องไปโรงเรียนแล้ว แต่ส่งไปเรียนคอร์สต่าง ๆ ของ British Council กับ AUA รวมถึงเรียนเพนต์กระเบื้องกับน้านิด คุณครูมองว่าลูกศิษย์สาววัย 19 ปีไม่ค่อยมีสมาธินัก เลยเน้นสอนให้ใช้พู่กันทุกขนาดจิ้มสีแล้วปาดให้เป็นกลีบดอกไม้ นั่นเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้พลอยชำนาญการใช้พู่กัน

“พอจบปริญญาตรี เราไปเรียนต่อที่ออสเตรีย บ้านที่ไปอยู่ด้วยเขาเป็นศิลปิน เขาสอนเราวาดรูปทุกคืนแลกกับการพูดคุยเรื่องพุทธศาสนา ซึ่งเราไม่มีความรู้เลย สอนไปสักพักเขาก็ส่งเราไปเรียนในโรงเรียนภาคค่ำ ไปถึงก็มีนางแบบนอนเปลือยบนโต๊ะให้วาด เราเลยเรียนวาดรูปควบคู่ไปกับการจัดการการท่องเที่ยว”

จากนั้นพอกลับมาเมืองไทย เข้าสู่วงการนักเขียน เธอก็ยังวาดรูปทำภาพประกอบไปด้วย จนมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ

“เราได้ไปแสดงงานที่ไหนสักแห่ง แล้วโญบอกว่าให้เลิกวาดสีน้ำมัน ให้วาดแต่พู่กันจีน ก็เลยมาทางนั้นตั้งแต่ พ.ศ. 2539 ได้วาดภาพประกอบคอลัมน์ของโญใน GM ตอนนั้นเขาอยู่ปักกิ่ง เรื่องที่เขียนมาก็อีโรติกมาก เลยได้วาดแต่รูปโป๊” พลอยหัวเราะกับงานพู่กันจีนเซ็ตแรก ๆ ของเธอ

ชีวิตบนกระดาษ กระเบื้อง เครื่องหอม ของ พลอย จริยะเวช ในปีที่เธอมีพระอาทิตย์ 4 ดวง

จุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งคือมีแบรนด์เครื่องกระเบื้องฝรั่งเศสเอารูปวาดของเธอไปใช้ แล้วขายในงาน Maison d’Objet ที่ปารีส เขาบอกว่างานเรามันมีความหมวย ๆ แหม่ม ๆ ระบุชาติไม่ได้ แล้วก็ได้ร่วมงานกับ Noritake แบรนด์เครื่องกระเบื้องเก่าแก่ของญี่ปุ่นในลักษณะเดียวกัน

“พอลายเส้นเราอยู่บนของ ก็เห็นว่ามันไม่ใช่แค่วาดเล่น ๆ แต่ทำมาหากินได้ เป็นอาชีพได้ อาจเป็นด้วยลายเส้นเรามีพลัง หรือถ่ายรูปขึ้นก็ไม่รู้ อินทีเรียชอบซื้อไปแต่งโรงแรม ก็เลยมีคนเห็นงานเราเยอะขึ้น แล้วก็ติดต่อมาเรื่อย ๆ”

04
กระดาษ กระเบื้อง เครื่องหอม

“ไม่รอแบรนด์มาจ้างแล้ว ทำขายเองเลยดีกว่า” พลอยหัวเราะเมื่อพูดถึงความคิดที่เกิดขึ้นในช่วงที่ยังไม่มีรายได้จากการออกหนังสือ

จุดเริ่มต้นมาจาก สิโรตม์ จิระประยูร เจ้าของร้านหนังสือ The Papersmith ชวนพลอยมาเทกโอเวอร์ร้าน 1 เดือน ให้เลือกหนังสือเข้าร้านเอง พร้อมกับโจทย์ที่ว่า “อยากทำอะไรก็ทำ”

“ทั้งชีวิตคิดว่าสิ่งที่เราต้องอยู่ด้วยคือ กระดาษ กระเบื้อง เครื่องหอม มันเป็นสิ่งที่อยู่ในสำเภาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 เราชอบแล้วก็ได้ทำทั้ง 3 อย่าง งานนี้ก็เลยจับมารวมกัน เราได้ทำฉลากน้ำหอมให้เทวารัณย์สปาพอดี เราเลือกหนังสือเข้าร้านเป็นธีมฤดูร้อน เกี่ยวกับการเดินทาง สีส้ม สีเขียว ก็เลยอยากทำจานชามเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารเป็นสีส้ม สีมะนาว แนวนี้

“เรามีภาพการจัดงานถ่ายรูปอาหารเช้า I love breakfast มา 20 – 30 ปี จนเป็นกิจวัตร เป็นลายเซ็นของเราไปแล้ว ทุกคนรู้ว่าเราเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารเช้า เราก็คิดว่า คนอยู่คอนโด โต๊ะอาหารเล็กแค่นี้ ขนาดของจานชามควรจะแค่ไหน ซื้อไปแล้วต้องคุ้มใช้งานได้หลายอย่าง จับคู่อย่างอื่นได้ ไม่จำเป็นต้องซื้อทั้งเซ็ตเพราะเราไม่ใช่คุณนายผู้ร่ำรวย นั่นคือพื้นฐานในการคิดงานของเราที่ของชิ้นเดียวต้องมีหลายฟังก์ชัน งานนั้นก็เลยมีสรรพสิ่งที่เรารักมาอยู่รวมกันในบรรยากาศของร้านหนังสือที่ดิฉันก็รักมาก”

ชีวิตบนกระดาษ กระเบื้อง เครื่องหอม ของ พลอย จริยะเวช ในปีที่เธอมีพระอาทิตย์ 4 ดวง

ผลตอบรับของการขายจานครั้งแรกในชีวิตของพลอยก็คือ จาน 30 ใบ ขายหมดเกลี้ยงใน 2 ชั่วโมง

ครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 เธอเพิ่มจำนวนจานขึ้น แต่ก็ยังหมดภายใน 2 ชั่วโมงเหมือนเดิม

06
พระอาทิตย์ 4 ดวง

Salute to the Sun คือการขายจานครั้งที่ 4 ที่มีความเป็นนิทรรศการมากกว่าครั้งก่อน ๆ เจ้าของแกลอรี่ Madi Bkk ชวนพลอยมาแสดงงาน 20 วัน โดยมีข้อแม้ว่า จะจัดส่งจานให้ผู้ซื้อเมื่อจบงานแล้ว พลอยใช้เวลา 2 เดือน ทำงาน 111 ใบ มาแสดงร่วมกับภาพวาดซึ่งเป็นภาพประกอบหนังสือเล่มใหม่ เธอมองว่า นี่คือพระอาทิตย์ดวงที่ 4 ในปีนี้ของเธอ

“เราเปิดตัวพระอาทิตย์ดวงแรกของปีนี้ด้วยการทำงาน ‘Here Comes The Sun Tableware Collection by พลอย จริยะเวช’ เป็นชุดปิกนิกและกระเป๋าที่หิ้วไปนอกบ้านได้ ใช้ในบ้านก็ได้ ประมาณ 9 ชิ้น เป็นงานการกุศลทำให้มูลนิธิรามาธิบดีฯ คนชอบเยอะมาก ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยมีใครแท็กอะไรใน IG Story เยอะขนาดนี้มาก่อน คำว่า Here Comes The Sun ก็มาจากในหนังสือ

“พระอาทิตย์ดวงที่ 2 คือ Salute to the Sun รู้สึกว่าพระอาทิตย์มาแล้ว ฉันต้องคารวะแล้ว ดวงที่ 3 คือ Sunlit My Bag เหมือนจิตใจที่โดนพระอาทิตย์ส่อง

“เดือนตุลาก็ออกหนังสือ เป็นพระอาทิตย์ดวงที่ 4 เอาคำนำมาใช้กับงานนี้ด้วยคือ The Sun Is New Each Day ทุกโควตในเล่มเป็นของคนเดียวคือ Heraclitus เป็นนักปราชญ์กรีก พอเขียนหนังสือเสร็จก็อยากให้พ่อช่วยตรวจการบ้าน เราไปเปิดกล่องที่พ่อเตรียมการสอน มีการ์ดต่าง ๆ ซึ่งหลังจากเขียน Good Life ไม่เปิดเลยนะ ก็ลองจับออกมาแบบไพ่ยิปซี ได้การ์ดที่พอเขียนว่า ‘Heraclitus พุทธ-เต๋า’ เฮ้ย! ฉันมาถูกทางแล้ว คอลเลกชันปีนี้ต้องเป็นพระอาทิตย์ เหมือนจะบังเอิญ แต่ได้รับการ Approve แล้วว่าเลือกคนถูก”

ชีวิตบนกระดาษ กระเบื้อง เครื่องหอม ของ พลอย จริยะเวช ในปีที่เธอมีพระอาทิตย์ 4 ดวง

เนื่องจากคราวนี้แสดงงานในแกลอรี่ที่มีขนาดใหญ่ ถ้ามีแต่จานอาจจะเอาไม่อยู่ พลอยก็เลยแสดงจานร่วมกับภาพวาด ซึ่งเป็นภาพประกอบหนังสือเล่มใหม่ที่เธอเขียนไว้เป็นร้อย ๆ ภาพ

“ระหว่างเขียนเล่มใหม่ต้องอ่านหนังสือไป 30 เล่ม ไม่เคยอ่านหนังสือเยอะขนาดนี้มาก่อน ช่วงที่อ่าน ไม่รู้ทำไมต้องวาดไปด้วย เล่มไหนเครียด ๆ วาดคล่องมาก ทุกอย่างลงตัว พาไปสู่พระอาทิตย์ดวงที่ 4 ของเรา”

05
ทำ ลาย จาน

2 สัปดาห์ก่อน ผมตามพลอยไปดูเธอทำงานชุดนี้ที่บ้านกึ่งสตูดิโอของ แจน-กษริน กฤษณมิษ เพื่อนรุ่นพี่ตั้งแต่สมัยเรียนเตรียมอุดมฯ งานเซรามิกไม่ใช่ของแปลกสำหรับพลอย เพราะตอนที่เธอแต่งงานเมื่อ พ.ศ. 2536 เธอใช้เตาเผาเซรามิกของตัวเอง ทำจานกระเบื้องรองแก้วเป็นของชำร่วยวันแต่งงาน ซึ่งงานนั้นเธอวาดด้วยมือทุกใบ

ชีวิตบนกระดาษ กระเบื้อง เครื่องหอม ของ พลอย จริยะเวช ในปีที่เธอมีพระอาทิตย์ 4 ดวง

แต่รอบนี้เธอมีตัวช่วยที่เรียกว่าดีแคลส์ (Decals) อธิบายง่าย ๆ ก็คือสติกเกอร์ Tattoo ที่เปลี่ยนจากการแช่น้ำแล้วติดตามตัวเป็นติดลงจาน พอเอาเข้าเตาเผา ก็จะกลายเป็นลวดลายถาวร พลอยเอาลายเส้นของเธอจากหนังสือเล่มล่าสุดไปสั่งทำเป็นดีแคลส์มาใช้สำหรับงานนี้

“ถ้าใช้แต่ดีแคลส์ ทุกใบก็จะเหมือนกันหมดเป็นอุตสาหกรรม ถ้าอยากคราฟต์มือ ต้องเพิ่มอะไรลงไป เราก็เลยเลือกเขียน Calligraphy เป็นโควตบวกกับใช้คลังคีแคลส์วินเทจของพี่แจน เอามารวมกันกลายเป็นงานคราฟต์ชิ้นใหม่ ที่งานทุกชิ้นมีชิ้นเดียว”

ชีวิตบนกระดาษ กระเบื้อง เครื่องหอม ของ พลอย จริยะเวช ในปีที่เธอมีพระอาทิตย์ 4 ดวง
ชีวิตบนกระดาษ กระเบื้อง เครื่องหอม ของ พลอย จริยะเวช ในปีที่เธอมีพระอาทิตย์ 4 ดวง

พูดจบพลอยก็พาเดินไปดูคลังถ้วยชามรามไหสีขาวล้วนทุกประเภท ทุกขนาด จำนวนน่าจะแตะพันใบ แล้วก็ชี้ให้ดูคลังคีแคลส์วินเทจจากหลายยุค หลายประเทศ หลายสไตล์ เธอประมาณจำนวนว่าน่าจะหลายหมื่นชิ้น

เธอหยิบดีแคลส์ภาพจากหนังสือเล่มล่าสุดมาให้ดู

ชีวิตบนกระดาษ กระเบื้อง เครื่องหอม ของ พลอย จริยะเวช ในปีที่เธอมีพระอาทิตย์ 4 ดวง

“ปกติใช้หมึกวาด สีจะเท่ากันตลอด เราเป็นพวกเส้นชัด ๆ เห็นได้จากร้อยเมตร แต่เล่มนี้เราวาดด้วยเทคนิคใหม่คือน้ำซึม ไปเรียนมาจากญี่ปุ่น หัดใช้น้ำแล้วให้หมึกวิ่งไปตามน้ำ ตอนไปโรงกระดาษเวฬุวันที่ลำปาง เจ้าของก็สอนเทคนิคเดียวกันนี้อีก มันคงใช่แล้วหละ”

07
สุริยวิถี

กลับมาที่นิทรรศการ พลอยบอกว่างานนี้เธออยากเล่าถึงการมีอยู่หรือการไม่มีอยู่ของแสงอาทิตย์ เห็นว่ามันค่อย ๆ ขับเคลื่อนไปอย่างไร จากจุดที่มืดที่สุด ซึ่งเธอเรียกว่า สภาวะแดดดับ ในคืนที่คุณพ่อของเธอเสียชีวิต 1 ปีหลังจากนั้นเธอก็ยังมีสภาพรุ่งริ่งอยู่

Salute to the Sun นิทรรศการและจานเล่าชีวิต พลอย จริยะเวช ก่อนถึงหนังสือเล่มใหม่ ที่เธอเขียนแบบนี้ไม่ได้อีกแล้ว

จุดเริ่มต้นของงานนี้อยู่ที่บันไดขึ้นชั้นสอง เป็นจุดที่มืดที่สุดในงาน ภาพเดียวที่เธอเลือกมาวางคือ May the Force be with You เป็นภาพผู้หญิง 6 คนยืนจ้องผู้ชม

“ภาพนี้อยู่ปกด้านในของหนังสือเรื่อง Italy Crafted โญเอาลายนี้ไปทำกระเป๋า แล้วก็มีคนเอาไปทำกางเกงขายซึ่งขายหมดในพริบตา พี่แจะ It’s happened to be a closet ก็เอาไปตัดเป็นเดรสให้ ไม่มีใครรู้นะว่า รูปนี้เราวาดในวันที่เศร้าที่สุดในชีวิต ไม่รู้ว่าชีวิตจะไปทางไหน ตอนนั้นรู้สึกว่ามืดมาก

“เราวาดในคืนที่พ่ออยู่ในห้องไอซียู อยู่ดี ๆ ก็วาดรูปนี้ ขนาดใหญ่มาก ๆ ไม่รู้ด้วยว่าผู้หญิง 6 คนนี้เป็นใคร เราเชื่อว่าทุกคนมี Guardian Angel หรือแม่ซื้อประจำตัวอยู่ เราอาจจะอยากได้รับพลังจากแม่ซื้อ หรือไม่ก็อาจจะเป็นแรงผลักในใจที่เราอยากรอด คนที่ดูก็รู้สึกถึงพลังบวกที่ได้จากรูป เรารู้สึกว่านี่คือแหล่งรวมพลังที่เขาจะปล่อยพลังจากในตัวของคุณเองออกมาให้”

หลังจากที่พลอยหลุดพ้นจากสภาวะนั้นมา ก็ค่อย ๆ เห็นแดด

เธอพาเราเดินขึ้นไปสู่ชั้นสอง โซนกลางห้องเป็นช่วงที่เธอเขียนหนังสือ อ่านหนังสือ เธอเรียกช่วงเวลานั้นว่า ‘สภาวะเต่า’ เหมือนอยู่ในน้ำแล้วได้ว่ายน้ำกับพ่อ และเมื่อมองผ่านน้ำขึ้นมาเห็นแดด ก็เป็นความงามแบบหนึ่ง

Salute to the Sun นิทรรศการและจานเล่าชีวิต พลอย จริยะเวช ก่อนถึงหนังสือเล่มใหม่ ที่เธอเขียนแบบนี้ไม่ได้อีกแล้ว
Salute to the Sun นิทรรศการและจานเล่าชีวิต พลอย จริยะเวช ก่อนถึงหนังสือเล่มใหม่ ที่เธอเขียนแบบนี้ไม่ได้อีกแล้ว

“ช่วงนั้นวาดแต่เต่า เหมือนเราต้องอยู่ในกระดอง เราอ่อนแอมาก พอเขียน Good Life เสร็จ นึกว่าจะหาย แต่ไม่หาย เรายังไปร้องไห้ที่บ้านของคนที่ไม่สนิท ใครพูดถึงพ่อนิดเดียวเราจะร้องไห้ไปเป็นวัน ๆ เดินร้องไห้คนเดียวกลางห้าง” เธอเรียกพื้นที่นี้ว่า The Big Blue ตามชื่อหนังในยุค 80 ซึ่งเกี่ยวกับทะเลและปลาตรงกับงานของเธอ

Salute to the Sun นิทรรศการและจานเล่าชีวิต พลอย จริยะเวช ก่อนถึงหนังสือเล่มใหม่ ที่เธอเขียนแบบนี้ไม่ได้อีกแล้ว
Salute to the Sun นิทรรศการและจานเล่าชีวิต พลอย จริยะเวช ก่อนถึงหนังสือเล่มใหม่ ที่เธอเขียนแบบนี้ไม่ได้อีกแล้ว

ผนังหนึ่งที่โดดเด่นที่สุดในงานก็คือ โซน Morning Has Broken พื้นที่จานชามและอาหารเช้าของเธอ

“ต้องอัญเชิญเขามาหน่อย เพราะมื้อเช้าอยู่กับเรามานาน เราคารวะพระอาทิตย์มาตลอด 20 ปี ด้วยการจัดสำรับ เราบอกทุกคนว่าเป็นการเจริญสติในแบบของเรา แดดเช้ามีอิทธิพลกับเรามาตลอด เหมือน The Sun is New Each Day ทุกสิ่งมันเริ่มได้ทุกวัน มีความหวังทุกวัน จากตรงนี้ฉันพร้อมจะออกไปสู่โลกภายนอกแล้วก็เลยเป็นโซน Dancing in the Sun”

พลอยอธิบายต่อว่า หลังจากเขียนหนังสือจบ เธอก็ขอออกห่างหนังสือสักพัก เลยดูซีรีส์แบบบ้าคลั่งทุกแนว เป็นช่วงที่เธอบอกว่าดูซีรีส์เยอะสุดในชีวิต เรื่องที่ถูกชะตาเธอที่สุดก็คือ Stranger Things ที่ชวนให้นึกถึงช่วงวัยรุ่นสุดหรรษาของตัวเองที่ตรงกับช่วงเวลาในเรื่องพอดี เธอไปได้ตู้ไม้เก่ามาใบหนึ่ง แทนที่จะขายถ้วยเป็นใบ ๆ ชิ้นนี้เธอขายทั้งตู้ โดยตกแต่งด้านในตู้ด้วยวอลเปเปอร์ลายวินเทจในคลังของเธอ เป็นลายเดียวกับฉากในบ้านพ่อของเด็กซึ่งเป็นบรรณาธิการ แล้วก็เขียนคำจากในเรื่องลงไปว่า Friends Don’t Lie

Salute to the Sun นิทรรศการและจานเล่าชีวิต พลอย จริยะเวช ก่อนถึงหนังสือเล่มใหม่ ที่เธอเขียนแบบนี้ไม่ได้อีกแล้ว
Salute to the Sun นิทรรศการและจานเล่าชีวิต พลอย จริยะเวช ก่อนถึงหนังสือเล่มใหม่ ที่เธอเขียนแบบนี้ไม่ได้อีกแล้ว

“มันเป็นความเริงร่าแบบไม่ค่อยมีสติเท่าไหร่ จากเริงร่าแบบสีแดง ก็วนมาเริงร่าแบบสีฟ้า ซึ่งเป็นเหมือนพื้นล่างของเรา เหมือนเราตีความการมองแสงอาทิตย์ด้วยการอยู่ในสภาวะต่าง ๆ”

08
Mandala

“ขอเปิด Mandala ก่อนนะ” พลอยเอามือควานลงไปในกระเป๋าผ้า ก่อนตอบคำถามสำคัญว่า พระอาทิตย์ดวงนี้สำคัญกับเธอยังไง “เรามีคอนเทนต์เยอะมาก เราเอามาเล่าผ่านคอนเซ็ปต์ ซึ่งทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยสุนทรียะ นั่นคือสิ่งที่เราค้นพบจากพระอาทิตย์ดวงใหม่”

พลอยบอกว่าช่วงหลังเธอคิดทุกอย่างแบบวงกลม เป็น Mind Map ที่อยู่ในกงล้อ ซึ่งหลายคนเรียกว่า Mandala

“มีคนมาจ้างให้ทำคอนเซ็ปต์ที่พักขนาด 8 ห้อง เป็นงานที่เราเรียกว่า Vibe Designer กำหนดสี เลือกภาพวาด สร้างบรรยากาศ เราพรีเซนต์งานนี้ด้วย Mandala ว่าทำไมถึงออกมาแบบนี้ ตอนทำงาน Made in Songkhla เราออกแบบสินค้าให้ร้านสินอดุลยพันธ์ ก็พรีเซนต์ด้วย Mandala เขาก็เข้าใจนะ เป็นวิธีการพรีเซนต์ที่มนุษย์ถ้ำมาก ไม่มีพาวเวอร์พอยต์อะไรเลย แล้วลูกค้าทุกคนก็ขอภาพกงล้อนี้ไปใส่กรอบ” นักออกแบบบรรยากาศหัวเราะ

Salute to the Sun นิทรรศการและจานเล่าชีวิต พลอย จริยะเวช ก่อนถึงหนังสือเล่มใหม่ ที่เธอเขียนแบบนี้ไม่ได้อีกแล้ว

09
พรุ่งนี้ก็มีพระอาทิตย์ดวงใหม่

อังกฤษ อัจฉริยโสภณ ศิลปินและภัณฑารักษ์ชื่อดัง เป็นหนึ่งในคนที่มาช่วยพลอยจัดนิทรรศการชุดนี้ เขาโน้มน้าวให้พลอยทำงานชิ้นใหญ่ ๆ ถึงขนาดสั่งผ้าใบขนาด 1 เมตรมาให้ จนแล้วจนรอดก็ไม่สำเร็จ วันก่อนงาน เขาก็ยังเชียร์ให้พลอยเขียนภาพใหญ่บนผืนผ้าเพื่อแขวนหน้างาน

งานเปิดไปแล้วสองสามวัน พลอยก็ไปได้ผ้า Marimekko เก่าก้นโกดังที่ใช้มาแล้วหลายงาน มีร่องรอยขาดวิ่นไม่ต่างจากตู้เก่าที่เธอจับมา Upcycled เธอลองทำตามคำแนะนำของอังกฤษ

เป็นนิทรรศการที่ไม่หยุดนิ่ง มีอะไรเพิ่มตลอดทุกวัน ราวกับคอนเซ็ปต์ของงาน

วันนี้เธอก็กำลังจะเอาเซรามิกชุดใหม่เข้าเตาอบ เพื่อเอาไปเติมในนิทรรศการ เนื่องจากงานทุกชิ้นในงานขายหมดเกลี้ยงตั้งแต่เปิดงานวันแรก ถึงแม้ว่าจะมาซื้อไม่ทัน แต่ก็ยังมาดูได้ถึง 31 สิงหาคม พ.ศ. 2565

Salute to the Sun นิทรรศการและจานเล่าชีวิต พลอย จริยะเวช ก่อนถึงหนังสือเล่มใหม่ ที่เธอเขียนแบบนี้ไม่ได้อีกแล้ว
Salute to the Sun นิทรรศการและจานเล่าชีวิต พลอย จริยะเวช ก่อนถึงหนังสือเล่มใหม่ ที่เธอเขียนแบบนี้ไม่ได้อีกแล้ว

มาถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายคนคงอยากอ่านหนังสือเล่มใหม่เต็มที

“เนื้อหาในงานนี้ยังไม่ถึงครึ่งบทในหนังสือเลยนะ ประเด็นมันเยอะขนาดนั้น พูดกับโญทุกวันว่า ฉันเขียนแบบนั้นไม่ได้เเล้ว รูปก็วาดแบบนี้ไม่ได้แล้ว ตอนนั้นไม่รู้อะไรเข้าสิง” พลอยหัวเราะท่ามกลางฝนด้านนอกที่ยังโปรยปราย

แต่พยากรณ์อากาศบอกว่า เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็มีแดด

Salute to the Sun นิทรรศการและจานเล่าชีวิต พลอย จริยะเวช ก่อนถึงหนังสือเล่มใหม่ ที่เธอเขียนแบบนี้ไม่ได้อีกแล้ว

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographers

Avatar

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

นินทร์ชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ซื้อฟิล์มให้ไม่ยั้ง ตื่นเต้นกับเสียงชัตเตอร์เสมอต้นเสมอปลาย เพื่อนชอบชวนไปทะเล ไม่ใช่เพราะนินทร์น่าคบเพียงอย่างเดียวแน่นอน :)

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์