เชียงใหม่ จันทบุรี สงขลา คือจุดหมายปลายทาง Top 3 ประจำใจเรา หนึ่งในเหตุผลคือมีเพื่อนรักหลายคนเป็นชาว 3 จังหวัด หมู่เมืองอุดมด้วย Vibe ที่ทำให้รู้สึกได้ว่ากระแสบางอย่างในใจที่ลื่นไหลเรียบเย็นลง เฉกเช่นบุคลิกของเพื่อนเจ้าถิ่นที่เราสัมผัสถึงความเรียบง่าย สง่า ทว่าประณีต อย่างสงขลาเที่ยวล่าสุดที่เรากลับไปเป็นครั้งที่ 4

 

อนุรักษ์แบบเฮีย

ปกรณ์ รุจิระวิไล

เพื่อนรุ่นน้องที่เราเรียกเขาว่า เฮียเอ๋ (ปกรณ์ รุจิระวิไล) เป็นพี่คนโตของครอบครัว เกิดและโตในสงขลา เราว่าเฮียติดบ้านมาก ไม่ค่อยยอมจากไปไหน เว้นแต่การมาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ ช่วงมหาวิทยาลัยและไปเรียนต่อที่นิวยอร์ก พอจบการศึกษา เฮียก็พุ่งตรงกลับถิ่นและเปิดกิจการรับออกแบบกราฟิก/สื่อโฆษณาตามที่เรียนมา ในตัวอำเภอเมืองเก่าสงขลา

พลอย จริยะเวช

เราว่าที่นี่แปลกกว่าจังหวัดอื่นตรงที่มีอำเภอหาดใหญ่ที่ใหญ่สมชื่อเป็นศูนย์กลางการค้าขายที่บีซี่วุ่นวาย ดูเป็นอำเภอเมืองมากกว่าตัวอำเภอเมืองเสียอีก สนามบินก็อยู่ในอำเภอหาดใหญ่ ลงเครื่องบินแล้วต้องนั่งรถยนต์อีกกว่า 40 นาทีจึงจะถึงตัวอำเภอเมืองที่แท้ทรู ซึ่งมีลักษณะแนว Old Town เงียบสงบ แวดล้อมด้วยสองเล คือทะเลน้ำเค็มและทะเลสาบน้ำจืด พร้อมหมู่เกาะน้อยใหญ่เป็นฉากหลัง และเป็นเมืองท่าสำคัญยุคต้นรัตนโกสินทร์ที่ผู้คนหลากเชื้อชาติทั้งจีนและมลายูเข้ามาตั้งรกราก

เมืองเก่าสงขลา

ตัวเมืองเก่าสงขลาจึงอุดมไปด้วยอาคารโบราณ สะท้อนความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ยังชัดเจนสืบทอดมาจนปัจจุบัน กาลเวลาผ่านไปใกล้ร้อยปี หลายตึกทรุดโทรม ถูกทุบทำลายสร้างใหม่ไปก็แยะ ที่ถูกบูรณะปรับเปลี่ยนฟื้นคืนชีวิตเป็นร้านกาแฟบ้าง ร้านค้าบ้าง ที่พักบ้าง ก็เพียบ เฮียเอ๋ก็เป็นหนึ่งในคนรักอาคารเก่า เขาจึงนำรายได้จากอาชีพหลักมาลงทุนทั้งซื้อและเช่าอาคารโบราณระยะยาวหลายหลัง เฮียอนุรักษ์อย่างประณีตคิด บูรณะซ่อมแซมแบบค้นคว้าศึกษาสภาพดั้งเดิม

อย่าง A.E.Y. Space ตึกแถวแบบจีนผสมยุโรป ก่อสร้างขึ้นช่วง พ.ศ. 2463 – 2467 ในยุคที่ถนนสายการค้าสำคัญของเมืองคือถนนนครในอู้ฟู่สุด คหบดียุคนั้นนิยมสร้างตึกแถวชุด ชุดละ 3 และ 5 หลัง อาคารมีลักษณะเป็นตึกปูนด้านบนเป็นไม้ อิทธิพลรูปแบบสถาปัตยกรรมยุโรป ตกแต่งด้วยคิ้วปูนบริเวณช่องหน้าต่างปูน ช่องลมลายฉลุขนมปังขิง ด้านหน้าอาคารมีหง่อคากี่ (ช่องทางเดิน 5 ฟุต) ชุดเดียวของสงขลา อดีตเคยเป็นร้านหน่ำเด่า กุ๊กช็อป-ภัตตาคารอาหารฝรั่งโดยกุ๊กชาวจีน พร้อมพื้นที่จัดงานเต้นรำและเลี้ยงสังสรรค์

ครั้งหนึ่งที่มาสงขลา เราเคยเห็นเรือนประวัติโชกโชนนี้ก่อนเฮียนำมาบูรณะ ขอบอกว่าสภาพค่อนข้างเขรอะเยินและมืดทึมทีเดียว พอได้มาเห็นการปรับโฉมใหม่จึงทำให้ทึ่งมาก

A.E.Y. Space

ชั้นล่างเฮียตั้งใจใช้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมให้ผู้คนในชุมชนได้มามีส่วนร่วม เฮียบอกว่าผมไม่คิดจะทำแกลเลอรี่ เพราะคิดว่าต้องมีความรู้เฉพาะทางและรายละเอียดหลายอย่างที่มากกว่าการนำภาพวาดมาตั้งๆ วางๆ จัดแสดง เฮียเข้าใจความสำคัญของภัณฑารักษ์ ทิศทางการคัดเลือกชิ้นงาน ศิลปิน อาจเพราะเขาเป็นนักเดินทางตัวยงที่กลับไปนิวยอร์กถิ่นเก่าแทบทุกปี ด้วยมีภารกิจแวะเยี่ยมน้องสาวแท้ๆ ที่ย้ายไปตั้งรกรากอยู่อเมริกา เฮียอัพเดตด้วยการเข้าแกลเลอรี่และพิพิธภัณฑ์ศิลปะอยู่เนืองๆ จนเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร และอยากปรับอาคารเก่าเพื่อใช้ประโยชน์พิพิธภัณฑ์ที่เป็นแรงบันดาลใจของเฮียคือ Tenement Museum ในตึกย่าน Lower East Side ของแมนฮัตตัน

เป็นอพาร์ตเมนต์ที่ถูกค้นพบในปี 1988 หลังจากปิดตายมาตั้งปี 1935 ปัจจุบันเปิดให้เข้าชมเป็นรอบ โดยมีไกด์ของพิพิธภัณฑ์พาเยี่ยมชมพร้อมอธิบายและชี้ให้เห็นรายละเอียดต่างๆ อย่างสีและวอลเปเปอร์บนผนังที่ทับซ้อนกันหลายสิบชั้น บอกเรื่องราวครอบครัวผู้อพยพหลากหลายเชื้อชาติที่เข้า-ออก อยู่อาศัยในอพาร์ตเมนต์ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ร่องรอยเหล่านี้สะท้อนยุคสมัย สไตล์ต่างๆ ได้อย่างชัดเจน

แรงบันดาลใจตรงนี้ทำให้ผมเก็บผนังบางส่วนของเออีวายสเปซไว้ ให้เห็นร่องรอยของกระเบื้องกรุผนังครัว สีที่ทาทับลอกเป็นชั้นสีหลายชั้นของร้านอาหารฝรั่งโดยกุ๊กชาวจีนในยุคปี 1920 – 1930 เรื่อยมาจนมีการดัดแปลงปรับปรุงในยุค 1950 คงไว้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ซึ่งทั้งบอกเล่าเรื่องราว สร้างคำถามและบทสนทนา”

 

พื้นที่ชั้นล่าง : Art Space เพื่อชุมชน

เฮียเล่าถึงแนวความคิดหลักของเออีวายสเปซว่าต้องการให้เป็น ‘พื้นที่กลางเพื่อส่งเสริมงานศิลปะ (Art Space) ให้เข้าสู่ชุมชน และชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วม’ ดังนั้น กิจกรรมงานศิลปะต่างๆ ที่เฮียเคยชักชวนศิลปินนอกพื้นที่มาแสดง ล้วนแต่มีเนื้อหาเกี่ยวพันกับเจ้าถิ่น โดยชุมชนคือ Content หลัก

เฮียยังให้ความร่วมมือกับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ที่มีกิจกรรมน่าสนใจและมีเป้าหมายเพื่อชุมชนให้ตรงกันเข้ามาใช้พื้นที่ด้วย ล่าสุดคือกิจกรรมคุยเฟื่องเรื่อง Sketch โดยกลุ่ม Bangkok Sketcher และ Urban Sketching

A.E.Y. Space A.E.Y. Space

ผมเห็นเด็กๆ แฮปปี้สุดๆ เลย นานๆ จะมีท่านอาจารย์มากฝีมือจากกรุงเทพฯ มาแนะนำ น้องๆ มัธยมต้น มัธยมปลาย จากโรงเรียนต่างๆ ในสงขลาที่สนใจการสเกตช์และศิลปะเข้าร่วมเวิร์กช็อปแยะเลยครับ ผมว่าเป็นแนวทางที่นำไปปรับใช้ได้ดีในอนาคตเลย เพราะสเกตช์ช่วยเรื่องการบันทึก การจดจำที่ดี” กลุ่มนักสเกตช์มืออาชีพได้มาเปิดเวิร์กช็อปสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการวาด แนะนำให้ผู้สนใจเข้าใจเรื่องราวเกี่ยวกับการสเกตช์ เช่น การลากเส้น การระบายสี และลงมือลองสเกตช์”

A.E.Y. Space

 

มีการนำอาหารขนมจานเด็ดของสงขลามาแบ่งปันลองวาด และบอกเล่าประวัติขนมที่แต่ละคนนำมา เฮียให้เราชมภาพกิจกรรมที่เกิดขึ้นบนพื้นที่ของเขาอย่างอิ่มอกอิ่มใจ และดูจะปลื้มมากเมื่อเห็นพื้นที่ของตนเหมาะเจาะต่อกิจกรรมศิลปะนี้

ผมว่าในนี้แสงดีมากครับ ทำงานกันสบายตาเลย กำแพงเราก็ใช้เป็นจอฉายสไลด์ ใช้โปรเจกเตอร์อธิบายข้อมูลต่างๆ ได้ดีด้วย ผมดีใจได้ทำประโยชน์ให้กับชุมชนและเด็กๆ”

 

พื้นที่ชั้นบน : ที่พำนัก พัก คิด

สเปซชั้นบนเฮียไม่ทำโรงแรม เกสต์เฮาส์ ตามสมัยนิยมในสงขลาขณะนี้ แต่ขอสร้างพื้นที่ให้ศิลปินและผู้คนที่ทำงานด้านความคิดสร้างสรรค์มาพำนัก พัก และคิดงาน

“ด้านบนของเออีวายสเปซมีห้องพัก 2 ห้องสำหรับศิลปิน (Artist in Residence) ผมตั้งใจทำให้โปร่งโล่งสบาย สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นสตูดิโอขนาดย่อม เพื่อเปิดโอกาสให้ศิลปินต่างถิ่นมาทำงานศิลปะจากการมาใช้ชีวิตในเมืองเก่าสงขลา และสามารถแสดงงานในอาร์ตสเปซชั้นล่างได้ แรงบันดาลใจในการตกแต่งหลากหลาย ทั้งจากการไปใช้ชีวิตในนิวยอร์กในช่วงศึกษาปริญญาโท (เฮียเขาจบ Pratt Institute) การได้เข้าชม Tenement Museum ที่เล่าไป รวมถึงจากละครเวทีที่ผมชอบเรื่อง Sleep No More

A.E.Y. Space

เฮียวางแผนแบ่งสัดส่วนโซนกิจกรรมกับโซนพำนักไว้เป็นอย่างดี เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวตั้งแต่พื้นที่ชั้นล่าง บริเวณบันไดขึ้นชั้นสอง นอกจากศิลปินพำนัก (Artist in Residence) บุคคลทั่วไปเข้ามาจะขึ้นชั้นบนไม่ได้ ซึ่งใช้หลักการสากลเดียวกันกับทั่วโลก คือใครอยากมาพักก็เขียนจดหมายแจ้งความจำนงให้เจ้าของสถานที่พิจารณาตามความเหมาะสม และจัดตารางเวลาไปมาของศิลปิน เพราะที่พักมีเพียง 2 ห้อง ต่างจากองค์กรใหญ่ๆ อาคารอลังสเปซกว้างที่รับได้ครั้งละหลายๆ คน

A.E.Y. Space

พ่อเราเป็นอาจารย์นักวิชาการ สมัยหนุ่มๆ พ่อส่งจดหมายแจ้งความจำนงไปพำนัก พัก คิด แบบนี้มาแล้วทั่วโลก ที่เราประทับใจสุดคือตอนพ่อไป In Residence พำนักอยู่ในอาคารโบราณของมูลนิธิ Pratt Institute) การได้เข้าชม Tenement Museum ที่เล่าไป รวมถึงจากละครเวทีที่ผมชอบเรื่อง Sleep No More

หลายสิบปีต่อมา Textile Artist ชาวไทยที่มีชื่อเสียงระดับสากล จักกาย ศิริบุตร ก็ได้เป็น Artist in Residence ของมูลนิธิ Rockefeller ริมทะเลสาบโคโม่ ที่เดียวกับพ่อเรา จักกายยังมาพำนัก พัก คิด พร้อมเราที่ A.E.Y. Space ด้วยเมื่อปีที่แล้ว นริศรา เพียรวิมังสา ศิลปิน / นักเขียนสาวชื่อดัง ก็เพิ่งมาเป็นแขกนางงามพำนักบนชั้นสองของเออีวายสเปซที่เราอยากพาไปชม

เฮียจัดสเปซน่าพำนักตั้งแต่โซนชั้นล่างที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกับโซนกิจกรรม เปิดประตูเข้ามาเจอมุมโต๊ะอาหารอยู่เชิงบันไดทางขึ้น บันไดนี้เฮียได้คำแนะนำจากอาจารย์ฮวงจุ้ยผู้เน้นหลักการธรรมชาติเพื่อสร้างพลังงานที่ดีให้หมุนเวียนในพื้นที่

เราว่าน่าสนใจทีเดียว เพราะตรงกับที่เพื่อนมัณฑนากรสอนไว้ คือให้เกลี่ยทุกอย่างไว้ด้านข้างรอบๆ กรอบห้อง เพื่อเปิดช่องตรงกลางให้โปร่งตา ทีแรกบันไดอยู่กลางบ้าน เฮียบอกว่าย้ายตามซินแสแนะแล้วพื้นที่ดูสดชื่นพลังดีมาเต็ม มีแสงลงจากช่องที่เปิดจากด้านบนช่วยด้วย ทำให้ทุกคนชอบมานั่งสนทนา นั่งทำงานเพลินๆ บรรยากาศต่างไปจากของเดิมอย่างสิ้นเชิง

A.E.Y. Space A.E.Y. Space

เครื่องเรือนที่เฮียหามาใช้ส่วนใหญ่เป็นของเก่าจากหลากหลายที่มา บ้างก็จากอาคารหลังอื่นๆ ที่ถูกรื้อในสงขลาและผู้ครอบครองใหม่ไม่ต้องการก็มี เรานั่งหย่อนใจมุมนี้บ่อยมาก ชอบมองผนังกระเบื้องร้านกุ๊กช็อปแบบดั้งเดิม เป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของอาคารที่ดูดตาให้พิศได้ไม่รู้เบื่อ เสียงจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงบนชั้นสองลอยมาถึงบริเวณนี้ดีงามทีเดียว

A.E.Y. Space

ขึ้นบันไดไปถึงโซนพำนักพักคิดชั้นสองก็สะดุดตาทันทีกับผนังด้านข้างกรุด้วยแผ่นเหล็กปั๊มนูนลาย เฮียได้มาจาก Flea Market ในนิวยอร์ก

เดิมทีแผ่นพวกนี้เป็นฝ้าเพดาน (Tin Ceiling) ของอพาร์ตเมนต์เก่ายุควิกตอเรียนที่เลิกใช้ไปแล้วครับ จะเอามากรุเป็นฝ้าคงไม่ไหว เพราะสนิมและสีหลุดร่วงง่ายมาก ผมเลยนำมาตกแต่งเป็นผนังชิ้นใหญ่ทั้งแผงแทน มุมนี้มีเครื่องเล่นแผ่นเสียงไว้เปิดแผ่นสร้างบรรยากาศการทำงานและพักผ่อน” แผ่นเสียงส่วนใหญ่เฮียได้มาจาก Flea Market ตลาดเช้าในสงขลา

A.E.Y. Space

ชั้นสองของเอวีวายสเปซโปร่งโล่ง เรียบง่าย อยู่สบาย เฮียเน้นโชว์ความเกลี้ยงเกลาของเนื้อวัสดุเก่ากรำผ่านกาลเวลา โดยไม่ทิ้งลายนักออกแบบกราฟิก เราเรียกว่าสไตล์การตกแต่งนี้ว่าหล่อ เรียบ แต่มีลูกเล่น

A.E.Y. Space

ตามประสานักออกแบบกราฟิก เฮียหลงใหลทั้งโปสเตอร์กระดาษ แผ่นป้ายวินเทจที่แสดงให้เห็นแบบอักษรยุคสมัยต่างๆ เขายังออกแบบอักษรไฟนีออนติดไว้เหนือห้อง Spring Street ด้วย เฮียอมยิ้มบอกว่า “You Are Here เนี่ยผมว่า Here มันพ้องเสียงกับเฮียด้วยไงคับ” เท่เลยนะมุมนี้ของเฮียเขา

A.E.Y. Space A.E.Y. Space

เปิดประตูเข้าไปชมห้องพำนัก พัก คิด ของเรากันดีกว่า ห้อง Spring Street ตามชื่อถนนในนิวยอร์ก ถิ่นเก่าเฮีย ในห้องมีเครื่องเรือนรูปทรงเรียบสะอ้านสบายสไตล์กราฟิกและรัสติก จากห้องนอนเราจะสามารถมองไปเห็นด้านหน้าอาคารติดถนนนางงาม

ภัตตาคารหน่ำเด่ามีการตกแต่งใหม่ในยุค 1950 กรอบหน้าต่างบานใหญ่กระจกนูนสี่เหลี่ยมได้รับการเปลี่ยนทดแทนหน้าต่างบานสูง พร้อมราวระเบียงกันตกซึ่งยังปรากฎอยู่ในอาคาร สามารถบ่งบอกการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยได้อย่างเห็นได้ชัดเจน”

A.E.Y. Space

ยามดึกถ้าเราออกไปเปิดหน้าต่างจะเห็นแสงไฟจากโคมประดับบนถนนนางงาม งามเหมือนฉากในหนัง ช่วงที่ไปโชคดีมากมีงิ้วมาเล่นถวายเจ้าที่ศาลหลักเมืองเก่าแก่บนถนนนางงาม งิ้วจะเล่นเฉพาะช่วงวาระพิเศษเทศกาลสำคัญ

คืนนั้นผู้คนในเมืองทยอยเดินมานั่งเก้าอี้ชมงิ้วรับลมกันเรื่อยๆไม่ขาดสาย บรรยากาศรื่นเริงอบอุ่นเรียบง่าย ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเป็นโบราณสถานสำคัญตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาจัดการฝังหลักชัยเมืองให้เป็นที่เคารพสักการะของชาวสงขลาจวบจนปัจจุบัน

ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง งิ้ว

 

เสน่ห์นางงาม

เราว่าถนนนางงามเสน่ห์จัดดังสุดด้านรสชาติคาวหวานของอาหารสารพัน ร้านของอร่อยเรียงแน่นทั้งถนน สืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่น ถนนสายนี้จึงคึกคักแต่เช้าตรู่ ที่เมื่อเราเปิดประตูบานเฟี้ยมขาวออกมาก็เห็นผู้คนในชุมชนมารับอาหารเช้าที่ 2 ร้านฮอตซึ่งอยู่ใกล้ชิดติดกับเออีวายสเปซ คือร้านฮับเซ่งและร้านเกาะไทย

เฮียเอ๋ปักหลักที่ฮับเซ่งแทบทุกเช้าเพราะผูกสมัครรักใคร่กับป้าบ่วย เจ้าของร้านผู้งามละไมมุ่นมวยสวยอยู่ในชุดพื้นเมือง

ฮับเซ่ง

ฮับเซ่งมีความผูกพันกับภัตตาคารหน่ำเด่ามาเนิ่นนาน แม้ภัตตาคารปิดไปและกลายเป็นสเปซเฮียเอ๋แล้ว แต่ป้าบ่วยยังสืบทอดกิจการครอบครัวอยู่ เมนูเด็ดที่ฮับเซ่งคือสังขยาแบบทางใต้สีน้ำตาล Kaya Jam ไข่ขยี้ ไข่ลวก ก็ล้ำ เครื่องดื่มที่เราติดใจคือลาเต้ฮับเซ่งสไตล์ เสิร์ฟพร้อมนมตราหมีอุ่นร้อนทั้งกระป๋อง

ฮับเซ่ง

เฮียเอ๋ยังชวนเราข้ามถนนไปซื้อขนมลูกโดนฝีมือพี่หญิงมากินกับกาแฟ พี่หญิงเข็นรถมาตั้งเตาแต่เช้า ขนมพี่เขาอร่อยมาก มีแบบนุ่มเป็นลูกกลมๆ และแบบกรอบม้วนใส่ไส้มะพร้าว พี่หญิงเล่าว่าใช้แป้งข้าวเจ้าบดกับน้ำตาลโตนด และตีฟูด้วยแรงมือไม่มีการใส่ผงฟู เนื้อขนมจึงนุ่มเบาอร่อยมากๆ มะพร้าวก็ขูดใหม่วันต่อวัน

ขนมลูกโดน ขนมลูกโดน ขนมดอกโดน

ขณะรอขนมสุก เราฟังเฮียเอ๋ชวนพี่หญิงคุยเรื่องการเมืองท้องถิ่นอย่างออกรส มีการกระซิบกระซาบกันนิดหน่อยด้วยว่าเลือกตั้งคราวหน้าเลือกเบอร์ไหน ดูแล้วเป็นสังคมอบอุ่นชวนอมยิ้ม ผู้คนรู้จักกันหมด เดินขวักไขว่เข้าฮับเซ่งและเกาะไทย (ร้านนี้โจ๊กดัง) มีแต่เสียงทักทายไหว้สวัสดีและส่งภาษาใต้ให้ได้ยินตลอด เช่นเดียวกับเวลาที่เราไปกินมื้อเย็นร้านแต้เฮียงอิ้ว ก็พบคุณน้าผู้หญิงโต๊ะใหญ่ที่นัดสังสรรค์กัน แน่นอนว่าเฮียเอ๋ไหว้ทักทายรู้จักคุณน้าทั้งโต๊ะ

แต้เฮียงอิ้ว

ร้านแต้สำหรับเราคือนางงามจักรวาล ภัตตาคารอาหารไทยจีนอายุราวแปดสิบปีบริการอาหารรสชาติอร่อยยูนีก ยำมะม่วงเบาอร่อยสดชื่นทะลุโลก เปรี้ยวหวานกลมกล่อมลงตัว รับประทานเพลินไปได้เรื่อยๆ อย่างน่าประหลาด แป๊บเดียวหมดจาน รสชาติเนียนมาก ไม่มีเผ็ดเปรี้ยวหวานเค็มแหลมออกมา ทุกรสเสมอกันเทพมาก ต้นกระเทียมผัดน้ำมันก็เลิศ กุ้งกระเทียมที่เชฟมือเก๋า-ซึ่งเฮียเอ๋กระซิบว่าจานนี้ต้องคุณลุงท่านนี้ลงมือเท่านั้น ผลคือเราเติมข้าว 3 รอบเพื่อคลุกกุ้งกระเทียมเด็ดนี้

แต้เฮียงอิ้ว กุ้งกระเทียม

ร้านแต้เป็นหนึ่งใน A Must ของถนนนางงาม เช่นเดียวกับข้าวสตูหมูร้านเกียดฟั่ง ไอติมไข่แข็ง ไอติมถั่วเขียว สัมปันนีร้านจงดีอยู่ในซอยที่มีร้านเย็นตาโฟคุณป้าน้ำใสดี๊ดี

ขนม ขนม

ทุกร้านรวงบนถนนนางงามและถนนสายเก๋าที่เชื่อมต่อกันเต็มไปด้วยร้านที่เป็นตำนาน จำหน่ายผลิตภัณฑ์ปรุงกันแบบประณีตทั้งกระบวนการ และวัตถุดิบท้องถิ่นอย่างร้านสินอดุลยพันธุ์ที่โทนสีร้านหวานจนนึกถึงฉากหนังของ Wes Anderson มีซีอิ๊วหวาน ข้าวเกรียบปลา น้ำพริกเผา อร่อยเลื่องลือ

ร้านสินอดุลยพันธุ์ สินอดุลยพันธุ์

สำหรับใครที่ชอบใจของเก่าของวินเทจ เครื่องใช้จากยุคอดีต ถนนนางงามมีร้านตั้งฮั่วกิมโดยโกพ้องผู้ใจดี อุดมด้วยของเด็ดราคาดีคุ้ยสนุก หน้าร้านมีซาลาเปาแป้งนุ่มไส้อร่อยมากกับขนมจีบขายด้วย

ซาลาเปา

สุดถนนยังมีร้านขายเครื่องหมาย / ชุดฝึกข้าราชการทหารตำรวจ ป้ายปักลวดลายต่างๆ ที่เราเคยตามจักกาย ศิริบุตร เข้าไปซื้ออุปกรณ์มาปักประดับ เที่ยวล่าสุดนี้พบว่าร้านนี้มีหมวกแก๊ปขาย ซึ่งเราสามารถ DIY สร้างลวดลายบนหมวกเองได้ โดยเลือกตัวปักที่ชอบมาลองวางๆ ดู พี่สาวที่ร้านจะเอาเข็มหมุดกลัดตามตำแหน่งที่เราต้องการ และเย็บตัวปักนี้ติดที่หมวกให้อย่างเนี้ยบ วันรุ่งขึ้นค่อยมารับ เวลาว่างจากการนั่งคิดเขียนงานเราก็ออกมาเดินเล่นหลงเสน่ห์นางงามไปเรื่อย ร้านรับถ่ายภาพแบบโบราณก็มีนะ อยู่ทางไปศาลเจ้าพ่อหลักเมือง

เครื่องหมาย หมวก

ยามเย็นก็มีกิจกรรมเดินเล่นไปชมพระอาทิตย์ตกดินริมทะเลสาบ ซึ่งสวยจับตาเหลือใจ และเดินไปร้านหนังสือเล็กๆ ของพี่เอ๋-อริยา ไพฑูรย์ ที่ถนนยะหริ่งได้

ไปนั่งกินขนมอบโฮมเมดแกล้มกาแฟที่ Blue Smile Café (ที่มี Roof Top เห็นวิวสงขลา เลิศมาก) แต่กาแฟเด็ดชนะเลิศในสงขลาสำหรับเราคือ Bergamot Ice Espresso กาแฟมะกรูดสูตรคาเฟ่เล็กๆ ชื่อสมัตตา (Sammatta) อยู่หน้าโรงสีแดงหับโห้หิ้น มะกรูดคั้นสดหอมอวลกับคาเฟอีนได้อย่างน่าแปลกใจ แก้วนี้ลองแล้วสยบ ต้องกลับมาซ้ำในวันรุ่งขึ้น และเฮียรักร้านกาแฟนี้มาก

Blue Smile Café

“คาเฟ่นี้จ้างงานน้องๆ ที่ด้อยโอกาสจากโรงเรียนวัดมาเป็นพนักงานขายของ เด็กๆ จะได้มีรายได้เล็กๆ น้อยๆ ในวันหยุด เป็นการแบ่งรายได้กลับสู่ชุมชน เป็นร้านต้นแบบที่อาจารย์จากทีมสถาบันอาศรมศิลป์มาวางโครงสร้างแนวทางไว้”

 

เราถือเอสเพรสโซ่มะกรูดเย็นแสนอร่อยจากคาเฟ่แนวคิดดีไปจิบพลางชมพระอาทิตย์ตกดินที่มีเรือเดินทะเลขนาดใหญ่จอดเรียงรายกัน เป็นทิวทัศน์และรสชาติที่ยูนีกตรึงใจ ไม่แพ้ความอร่อยอันเป็นตำนานอื่นๆ ในตัวเมืองเก่าสงขลาที่นอกเหนือจากถนนนางงามที่พำนักของเราแล้ว สงขลายังมีเรื่องราวสนุกซอกแซกแอบซ่อนอยู่อีกมากมาย ที่ขอเก็บไว้เล่าในตอนต่อไป…

สงขลา

A.E.Y. Space

140-142 ถนนนางงาม

โทร 0956499656

FB Page : Aeyspace 

Writer & Photographer

Avatar

พลอย จริยะเวช

เจ้าแม่ไลฟ์สไตล์และ Concept Designer มากความสามารถชื่อดัง ซึ่งเป็นทั้งนักเขียน Artist Writer นักแปล คอลัมนิสต์ และนักวาดมืออาชีพ ผู้มีผลงานออกแบบวางจำหน่ายในงานแฟร์ของตกแต่งที่ดีที่สุดในโลก