อะไรเอ่ย ที่คนมักซื้อฝากเวลาไปเยือนเชียงใหม่ (ไส้อั่ว) ก็ใช่ (กางเกงลายช้าง) แมสมาก (หมูทอดดำรงค์) อร่อยยกนิ้ว (แคบหมูสามถุงร้อย) จัดมาเลยสามถุง! (ผ้าปักชาวเขาและผ้าฝ้าย) ต้องตรอกเล่าโจ๊ว กาดวโรรส เท่านั้น

เมื่อต้นปี ลมคิดถึงหอบเรากลับเชียงใหม่ เพื่อสนทนากับ อั๋น-สุพจน์ สุทธวาสน์ พี่ชายคนโตประจำบ้าน PLAYWORKS (เล่นงาน) แบรนด์สินค้าดีไซน์เอกลักษณ์ท้องถิ่น ที่ตั้งต้นทำธุรกิจจากความผิดพลาดและคำสบประมาท จนเป็นจุดเปลี่ยนให้กลับบ้านเกิดมาเอาคืน! ด้วยการเล่าเรื่องราววัฒนธรรมท้องถิ่นที่คุ้นเคย ผ่านทักษะฝีมือของเขาและคนในชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียงในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อหวังเป็นสินค้าของฝากที่มอบความสุขให้กับผู้รับรอบโลก 

อั๋น-สุพจน์ สุทธวาสน์, PLAYWORKS ธุรกิจของฝากจากเชียงใหม่ กับแผนการที่ไม่เหมือนใครจนดังไกลถึงเกาะเชจู

ขณะเดียวกันบ้านหลังอบอุ่นก็พยายามสร้างและส่งต่อโมเดลธุรกิจสินค้าชุมชนไว้เป็นต้นแบบให้ชุมชนทั่วประเทศไทย จนคนเกาหลีใต้หัวใจเดียวกันทดลองหยิบโมเดลธุรกิจไปใช้ไกลถึงเกาะเชจู ในนาม PLAYWORKS x JEJU

ตลอดระยะเวลา 15 ปีของคนหนุ่มที่ตัดสินใจกลับบ้านมาทำธุรกิจมีเรื่องราวให้เสียน้ำตา ทว่าสิ่งที่ทำให้เขาหายเหนื่อยคือ ‘ครอบครัว’ 

ไม่พูดพร่ำทำเพลงให้นานเกินรอ ชวนคุณหยิบตะกร้าจับจ่ายเทคนิคการทำธุรกิจของฝาก แล้วเชิญแคชเชียร์หมายเลข 2 เพื่อชำระราคาสินค้าเป็นการอ่านเรื่องราวทั้งหมดด้วยความเพลินใจ 

(โดน) งานเล่น

‘มึงก็แค่คนยอมแพ้ กลับบ้านไปมึงก็เป็นแค่คนเพนต์ตุ๊กตา จะไปทำอะไรได้’

เจ็บสิ ถ้าคุณได้ยินคำพูดกระแทกจิตใจเข้าเต็มสองหู แต่เชื่อไหมว่าประโยคสบประมาทไม่ทำให้คนยอมแพ้

ชายผู้ผ่านงานด้านนิตยสาร ช่างภาพ พิธีกรรายการเด็ก กราฟิกดีไซเนอร์ เจอจุดเปลี่ยนของชีวิตตอนอายุ 25

“ตอนนั้นผมรับโจทย์จากเจ้านายให้ทำคอนเทนต์เกี่ยวกับการสร้างความรับรู้เรื่องสามจังหวัดชายแดนใต้ ผมเก็บรีเสิร์ช ทำอบรบ ถ่ายภาพ แล้วต้องมาจัดเลย์เอาต์ แต่ผมดันเขียนเนื้อหาผิด เป็นจุดผิดพลาดจากความไม่รอบคอบ

“ผมเลยตัดสินใจลาออก เจ้านายก็ตราหน้าว่า ‘มึงก็แค่คนยอมแพ้ กลับบ้านไปมึงก็เป็นแค่คนเพนต์ตุ๊กตา จะไปทำอะไรได้’ เราแค้นนะ อยากจะเอาคืน อยากจะเล่นงานเขาให้ได้” แม้จะเป็นความเจ็บใจ แต่เขาเล่าด้วยน้ำเสียงสนุก

“พอผ่านไปสักระยะ ผมต้องขอบคุณเจ้านายคนเก่า ผมว่าคนเราต้องเจอแรงกดดัน ถึงจะเจอจุดเปลี่ยน ผมเชื่อว่าทุกช่วงจังหวะชีวิตของทุกคนต้องมีจุดเปลี่ยน เปลี่ยนเพื่อเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ สุดท้ายผมก็กลับมาที่บ้าน” สีหน้าเขายิ้มออก

อั๋นกลับบ้านมาสานต่อธุรกิจของฝากที่เคยเริ่มต้นสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ตอนนั้นเขาและคุณแม่ สาวเย็บผ้าที่ปลดระวางการถีบจักรเป็นคนต้นเรื่อง ด้วยความที่ชอบวาดภาพเลยคิดทำพวงกุญแจตุ๊กตาเพนต์มือ เขาคิดและออกแบบ ส่วนคุณแม่เสียบปลั๊กกลับมาถีบจักรอีกครั้ง เขาเริ่มหาเงินเองด้วยการขายของฝากราคาหลักสิบแถวถนนคนเดิน ตั้งใจทำทีละตัวจนครบจำนวน อั๋นยอมรับว่าทำด้วยความอินแบบจิตวิญญาณของศิลปิน อยากทำแบบไหนก็ทำ ไร้ซึ่งคอนเซปต์

มีช่วงหนึ่งเขามาเรียนต่อในกรุงเทพฯ ก็ลองทำตุ๊กตาเพนต์มือไปขายที่ข้าวสารบ้าง สวนจตุจักรบ้าง โดนไล่ที่บ้าง และเริ่มคิดว่าทำไมไม่มีคนซื้อเหมือนตอนขายที่เชียงใหม่ ทั้งที่เขาก็ทำเหมือนเดิม แต่พรรคเพื่อนย้อนถามอั๋นว่า ‘รู้แล้วหรอว่าจะขายให้ใคร ไม่ใช่นึกอยากจะวาดแล้วมีคนซื้อ’ ประโยคนั้นทำให้เขาพัฒนาสินค้าเรื่อยมาจนกระทั่งเจอจุดเปลี่ยนชีวิต

อั๋น-สุพจน์ สุทธวาสน์, PLAYWORKS ธุรกิจของฝากจากเชียงใหม่ กับแผนการที่ไม่เหมือนใครจนดังไกลถึงเกาะเชจู

(กำลัง) เล่นงาน

 เพราะเห็นว่าบ้านเกิดเป็นเมืองท่องเที่ยว เขาหยิบก๊วนตุ๊กตาที่แม่เคยเย็บมาเพนต์ต่อ แต่การกลับมาครั้งนี้ เขาทำอย่างมีกระบวนการคิด ต่อยอด และมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย จากสมัยก่อนขายแบกะดิน อั๋นพัฒนามาขายบนมินิทรัค คล้ายฟู้ดทรัคที่ฮอตฮิตสมัยสิบกว่าปีก่อน รถของฝากจะจอดประจำที่ถนนคนเดินวันอาทิตย์และถนนนิมมานเหมินท์

“ตอนนั้นธุรกิจของผมไม่ได้เริ่มจากการอยากมีธุรกิจแล้วไปกู้เงินล้าน แล้วเอาเงินล้านมาซอยย่อยให้เป็นสินค้า ผมเริ่มจากศูนย์บาท พอถึงสเต็ปหนึ่งร้อยผมจะคิดแบบคนมีหนึ่งร้อย พอหาเงินได้หนึ่งพันผมจะคิดแบบคนมีหนึ่งพัน ฐานพีระมิดของผมจะค่อยๆ กว้างขึ้นตามจังหวะเวลาและโอกาส” เขาลำดับการก้าวเดินทางธุรกิจ ก่อนจะเล่าเรื่องราวสนุกของโลกของฝากเมื่อสิบปีก่อน 

สมัยนั้นเชียงใหม่เปิดเมืองด้วยการมีสื่อจีนเข้ามาให้ความสนใจ ทั้งทำบทความ ภาพยนตร์ ซีรีส์ จากลูกค้าเคยเป็นคนไทยและต่างชาติครึ่งต่อครึ่ง กลับกลายเป็นเขามีลูกค้าเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์

ส่วนของฝากยุคบุกเบิกจะเป็นอะไรไปไม่ได้ นอกจากโปสการ์ด แม็กเน็ต และสมุดทำมือ บอกเลยว่าคลาสสิก!

“ทุกวันนี้ของฝากถูกชูให้เป็น Pop Culture ช้าง ขนมที่มีตัวอักษรจีน ปัจจุบันมีสื่อเยอะ ความผสมผสานก็เยอะความรวดเร็วของเทคโนโลยีก็เข้ามา ของฝากแบบสมุดทำมือก็จะน้อยลง ความตั้งใจที่จะตอกด้วยมือก็ลดลง กลายเป็นการเข้าเล่มด้วยเครื่องจักร ความใส่ใจเรื่องบรรจุภัณฑ์ที่ไปถึงคนรับก็น้อยลง กลายเป็นซองพลาสติกติดสติกเกอร์

“ผมว่าผมคร่อมอยู่ในการเปลี่ยนผ่าน ยังอยู่ในวิถีคราฟต์ของขั้นตอนการทำมือ แต่ก็มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มกำลังผลิต เป็นการผสมกันของสองเจเนเรชันในวงการธุรกิจของฝาก ผมไม่จำกัดว่าของฝากจะต้องเป็นแบบไหน เป็นการส่งต่อความรู้สึกดีๆ ให้กับคนอีกคนหนึ่ง เป็นของแทนความรู้สึก เป็นของที่ระลึกแทนการนึกถึง”

PLAYWORKS ธุรกิจของฝากจากเชียงใหม่ กับแผนการที่ไม่เหมือนใครจนดังไกลถึงเกาะเชจู
PLAYWORKS ธุรกิจของฝากจากเชียงใหม่ กับแผนการที่ไม่เหมือนใครจนดังไกลถึงเกาะเชจู

Work hard, play harder, ‘PLAYWORKS’ hardest

แม้อั๋นจะทำธุรกิจของฝากมานานหลายสิบปี แต่ PLAYWORKS เริ่มต้นเป็นแบรนด์จริงจังเมื่อ 6 ปีก่อน แบรนด์ที่กำลังล้อกับคำว่า PLAY และ WORKS อยู่ที่คุณจะตีความ จะเล่นงาน เอาชนะ เอาคืน หรือทำเรื่องเล่นให้เป็นงานก็ได้

ถ้านิยามแบบรวบรัด PLAYWORKS เป็นแบรนด์ของฝากดีไซน์เอกลักษณ์ท้องถิ่น เล่าเรื่องราววัฒนธรรมเมืองเหนือในมุมมองที่หลากหลาย ผ่านลายเส้นวาดมือและสารพัดข้าวของชิ้นน้อย-ใหญ่ อย่างโปสการ์ดวิวม่อนแจ่ม กระเป๋าลายแผนที่ถนนนิมมานฯ Masking Tape ลายเมืองเชียงใหม่ เข็มกลัดแม่หญิงล้านนา ทุกกระบวนการผลิตเป็นฝีมือของคนในชุมชนละแวกบ้านอั๋น มีตั้งแต่เด็กวัยรุ่นอายุราว 10 ขวบต้นๆ จนถึงคุณตา คุณยายอายุเจ็ดสิบปลายๆ ทำงานร่วมกัน

PLAYWORKS ธุรกิจของฝากจากเชียงใหม่ กับแผนการที่ไม่เหมือนใครจนดังไกลถึงเกาะเชจู

“ผมโตมากับชุมชนและวัฒนธรรมทางเหนือ ทั้งผู้คน การกิน การแต่งกาย ผมเล่าเรื่องราวพวกนี้ได้ดีและมันเรียล สินค้าทุกชิ้นของผมนำเสนอผ่านภาพวาด เพราะผมมีดีอย่างเดียวแค่การวาด” เขาหัวเราะ ก่อนจะอธิบายว่า 

“ทุกคนมีความเป็นเด็กในตัว มีความขบถ อย่างน้อยต้องมีตัวการ์ตูนตัวโปรดในใจ ฉะนั้นลายเส้นและภาพวาดที่เข้าใจง่ายจะเป็นตัวกลางในการสื่อสารให้คนรู้จักวัฒนธรรมมากขึ้น ตอนเริ่มต้นผมเล่าความหลากหลายของชาติพันธุ์ในเชียงใหม่ ทั้งชาวไทภูเขา คาแรกเตอร์ผู้ชายและผู้หญิงล้านนา เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนรู้จักแบรนด์ผม” 

ปีแรกของการทำแบรนด์จึงเป็นเหมือนสนามเด็กเล่นให้อั๋นทดลองจับนู่นผสมนี้ เพื่อหาทิศทางของลูกค้าและสินค้าให้ชัดเจน ตอนนั้นเขามีพวงกุญแจตุ๊กตา กระเป๋าใส่เหรียญ และกระเป๋าผ้า (Tote Bag) เป็นสามสินค้าหลักยืนพื้น

PLAYWORKS ธุรกิจของฝากจากเชียงใหม่ กับแผนการที่ไม่เหมือนใครจนดังไกลถึงเกาะเชจู

แผนปรับตารางวางสินค้าหลังจากรู้จักคาแรกเตอร์ของลูกค้า

ด้วยบุคลิกของเชียงใหม่ ทำให้ลูกค้าหลักของเขายังเป็นชาวต่างชาติ ขณะเดียวกันลูกค้าคนไทยก็อยากเสพงานของเขาเหมือนกัน แต่ยังไม่มีช่องวางให้ทั้งสองคลื่นจูนมาเจอกัน เป็นผลให้อั๋นตั้งใจศึกษาพฤติกรรมของลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติขึ้นมาจริงจัง ด้วยเหตุผลว่า “ถ้ารู้จักคาแรกเตอร์ของลูกค้า เราจะรู้ว่าต้องผลิตสินค้าอะไรให้ตอบโจทย์” 

ถ้าจำได้ จากชายหนุ่มที่อินกับจิตวิญญาณศิลปิน เขาเริ่มสลัดคราบนั้นทิ้ง แล้วลงสนามคนทำธุรกิจอย่างเต็มตัว เขากำลังจับลูกค้าทั้งสองกลุ่ม ไม่เฉพาะกลุ่มต่างชาติกลุ่มเดียวเหมือนเคย ก่อนอื่นมาทำความรู้จักลูกค้าทั้งสองแบบกัน

ลูกค้าคนไทย มีรสนิยมไม่ชอบอะไรที่เป็นไทยจ๋า หรือสินค้าที่นำเสนออย่างตรงไปตรงมา เช่น ช้าง รถตุ๊กตุ๊ก คำว่าไทยแลนด์ ฯลฯ แถมยังมีนิสัยเบื่อง่าย เปลี่ยนเร็ว อั๋นว่าพ้องกับการเปลี่ยนผ่านฤดูกาลของประเทศไทย เขาเลยแบ่งคาแรกเตอร์ของลูกค้าคนไทยตามฤดูกาลทั้งสามฤดู อย่างฤดูร้อน คนไทยจะชอบไลฟ์สไตล์ เสื้อผ้าต้องสีสันสดใส PLAYWORKS เลยออกสินค้าพวกผ้าเช็ดหน้า กระเป๋าใบเล็ก ซองใส่แว่น เสื้อยืดเนื้อผ้าใส่สบายไว้แมตช์กับผ้าทอท้องถิ่น

พอเขยิบเข้าฤดูฝนพรำ วิถีสโลไลฟ์เริ่มกลับมา คนออกจากบ้านท่องเที่ยวระยะไกล เสพธรรมชาติ สมุดบันทึกเป็นสินค้าอีกประเภทที่คนกำลังโหยหาตามการใช้ชีวิตที่ช้าลง ส่วนฤดูหนาว เป็นเทศกาลแห่งการให้ สินค้าของฝากจะขายดี

PLAYWORKS ธุรกิจของฝากจากเชียงใหม่ กับแผนการที่ไม่เหมือนใครจนดังไกลถึงเกาะเชจู

“สินค้าของผมไม่มีเทรนด์ เน้นการผสมผสานกับ Pop Culture ผมเอานิสัยเปลี่ยนเร็วมาเจอกับวัฒนธรรม อาจฟังดูยาก แต่ต้องปรับ ด้วยการเล่าผ่านฤดูกาล เช่น เล่าเรื่องดอยอินทนนท์ มีธรรมชาติที่หลากหลาย วัฒนธรรมที่ต่างกันตั้งแต่พื้นราบขึ้นไป อุณหภูมิ สี สภาพอากาศ บ้านเรือน ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่ออยู่ในพื้นที่สูง ฤดูกาลเลยเป็นตัวกำหนดสินค้า”

ขณะที่ลูกค้าต่างชาติ ซึ่งช่วงแรกอั๋นยัดวัฒนธรรมไทยจ๋าลงไป แต่ลูกค้าไม่อินและไม่เข้าใจ เขาจึงหาหนังสือแนะนำการเที่ยวประเทศไทยแบบฉบับนักท่องเที่ยวมาอ่าน เพื่อดูว่าคนนอกมองเมืองไทยอย่างไร มีทั้งเรื่องหมอกควัน ฤดูกาลที่ห้ามท่องเที่ยว ฤดูกาลที่น่าท่องเที่ยวที่สุด บวกกับการลงพื้นที่จริงเพื่อสังเกตและจดบันทึก เช่น เวลาไปเดินย่านของฝาก เขาจะคอยสังเกตนักท่องเที่ยวว่าหยิบสินค้าอะไรเป็นอย่างแรก มีบุคลิกอย่างไร ชอบแต่งตัวแบบไหน ฮิตสะพายกระเป๋าอะไร

จนได้คำตอบว่า เขาต้องแบ่งคาแรกเตอร์ของนักท่องเที่ยวตามประเภทการมาเยือน เช่น กลุ่มแบ็กแพ็กเกอร์ กลุ่มที่เตรียมสตางค์เพื่อมาใช้โดยเฉพาะ กลุ่มที่มาทดลองใช้ชีวิต กลุ่มเที่ยวธรรมชาติ และกลุ่มที่โหยหาความเป็นเมืองคราฟต์

อั๋นว่าสินค้าที่ถูกจริตนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สุดต้องเป็นสินค้าชิ้นเล็ก ไม่เพิ่มภาระน้ำหนักและซื้อได้หลายชิ้น สินค้าประเภทกระดาษ โปสการ์ด สมุด สก็อตเทป เลยติดท็อปยอดฮิต ซึ่งสอดคล้องกับบุคลิกของ Traveller ที่มาพร้อมกับการจดบันทึกหรือการมีสัญลักษณ์ภาพแทนสถานที่ที่เขาไปเที่ยว อ้อ! กระเป๋าผ้าก็ขายดีไม่แพ้กันนะ

“เคยมีคอมเมนต์จากลูกค้า เขาบอกว่า แบรนด์ของผมเป็นเหตุผลหนึ่งที่เขาจะกลับมาเที่ยวประเทศไทยอีกครั้ง ผมรู้สึกว่าการมาของนักท่องเที่ยวหนึ่งคน สร้างอาชีพให้กับคนอีกหลายคนได้ ทั้งร้านอาหารที่เขาต้องไป โรงแรมที่เขาต้องพัก สถานที่ที่เขาต้องเที่ยว และ PLAYWORKS อาจเป็นคนตัวเล็กปลายแถวที่มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทาง”

มากกว่าจำนวนเงินที่สะพัดในเมืองท่องเที่ยว สิ่งที่แบรนด์กำลังทำคือพาคนไทยและคนต่างชาติมาเข้าใจและรู้จักความงามของวัฒนธรรม อั๋นเล่าด้วยความดีใจว่า มีนักช้อปบางคนเดินตามรอยแผนที่ที่สกรีนอยู่บนกระเป๋าและเสื้อ จนไปเจอสถานที่และสิ่งของที่อยู่บนลายสกรีนจริงๆ บางคนค้นหาข้อมูลของวัฒนธรรมเหล่านั้นต่อเพื่อศึกษาเพิ่มเติม 

“ผมดีใจตรงแบรนด์เราเป็นจุดเล็กๆ ที่ทำให้ลูกค้าสนใจและเริ่มเดินทางออกตามหาวัฒนธรรมจริงๆ”

PLAYWORKS ธุรกิจของฝากจากเชียงใหม่ กับแผนการที่ไม่เหมือนใครจนดังไกลถึงเกาะเชจู
PLAYWORKS ธุรกิจของฝากจากเชียงใหม่ กับแผนการที่ไม่เหมือนใครจนดังไกลถึงเกาะเชจู

ใช้เทคโนโลยีให้เป็นมากกว่าเทคโนโลยี 

ปัจจุบัน PLAYWORKS แบ่งสินค้าของแบรนด์เป็น 3 หมวดใหญ่ 

หนึ่ง สินค้าของฝากและของขวัญ สอง สินค้าไลฟ์สไตล์ สาม สินค้าตกแต่ง 

อั๋นบอกว่า ลูกค้าเป็นตัวแปรในการกำหนดสินค้า ถ้าลูกค้าอยากได้อะไร เขาต้องทำการบ้านทันที ทั้งเหตุผลว่าทำไมต้องเป็นสินค้าชิ้นนี้และพฤติกรรมการใช้งาน ส่วนเทคนิคการผลิตมีทั้งงานพิมพ์ผ้าและงานปัก

“เริ่มแรกผมวาดมือก่อน พอต้องทำงานพิมพ์ผ้าก็ไม่รู้กระบวนการ ใช้เตารีด ถ่ายสีหมึกเอง พรินต์อิงค์เจ็ต ลองผิดลองถูกจนต้องหาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มกำลังผลิต เครื่องที่ผมใช้เป็นเครื่องพิมพ์เสื้อกีฬา ถ้าคนรู้จะบอกว่าเครื่องนี้ทำแบบนี้ได้ด้วยหรอ ผมอยากทดลอง อยากจะเล่นกับศักยภาพของเทคโนโลยี แล้วผมก็เติมไอเดียของผมเข้าไปด้วย”

ทำความรู้จักเครื่องพิมพ์เสื้อกีฬากันสักนิด เจ้าเครื่องจักรตัวนี้กำหนดมาให้พิมพ์ลงบนผ้าเส้นใยโพลีเอสเตอร์ แล้วสีหมึกจะติดกับเนื้อผ้าได้ดี แดงเป็นแดง น้ำเงินเป็นน้ำเงิน สีสดชัดเจนมองเห็นตั้งแต่ท้ายซอย แต่ชายคนนี้ขอฉีกกฎ เขาแก้ไขความเข้าใจผิดว่าเสื้อสีสดเท่านั้นจะขายได้ ถ้าสีอ่อนก็ไม่ได้ผิดอะไร เพราะมันเกิดจากกระบวนการเรื่องเส้นใยผ้า

อั๋นอยากให้เสื้อยืดของเขาสวมใส่สบาย ผิวสัมผัสเป็นมิตร เลยเลือกเนื้อผ้าฝ้ายมาพิมพ์แทนเส้นใยโพลีเอสเตอร์ ผลทำให้ลายสกรีนสีอ่อนลง ทว่าเป็นเสน่ห์ ข้อดีคือเขาไม่จำเป็นต้องซื้อเครื่องพิมพ์จำเพาะประเภทของเนื้อผ้าเพิ่มอีก

ส่วนงานปักเขาทำคล้ายกัน ตั้งต้นจากจักรปักชื่อนักเรียน และเรียนรู้ที่จะพลิกแพลงเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับบริบทเมืองคราฟต์ของเชียงใหม่ ให้มีกลิ่นอายของสินค้าทำมือ ด้วยการเปลี่ยนจากการปักลายทึบ มาเป็นการปักตามลายเส้น ซึ่งความรู้สึกเมื่อสัมผัสและเห็นการลื่นไหลของเส้นไหมที่เคลื่อนไปตามเส้นสาย มันให้อารมณ์ต่างกันออกไปจริงๆ

“ถ้าคุณเรียนรู้ความถนัดของตัวเองบวกกับเทคโนโลยีที่คุณใช้ สินค้าของคุณจะแตกต่างแน่นอน แต่ต้องรู้ก่อนว่าเทคโนโลยีที่เข้ามา เข้ามาช่วยหรือเข้ามาทำให้ยุ่งยาก ถ้าเข้ามาช่วย เขาต้องช่วยเราได้มากกว่าที่เป็นอยู่ และเราต้องหาวิธีใช้ผู้ช่วยของเราให้ทำงานได้หลากหลายด้วย” อั๋นบอกใจความสำคัญของเพื่อนคู่ใจที่เขาใช้มันเกินหน้าที่ (ในทางที่ดี)

PLAYWORKS ธุรกิจของฝากจากเชียงใหม่ กับแผนการที่ไม่เหมือนใครจนดังไกลถึงเกาะเชจู

PLAY ไปด้วยกันกับ WORKS ได้

การผลิตสินค้าแต่ละชิ้น เดิมเขาและดีไซเนอร์ใช้การเดินทางท่องเที่ยวผ่านโลกอินเทอร์เน็ตในการหาแรงบันดาลใจ สุดท้ายทีมงานกลับไม่อินกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ ช่วงสามปีหลังพี่ชายคนโตของบ้านปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่ ด้วยการใช้วันหยุดร่วมกัน เป็นวันหยุดที่ยกก๊วนไป PLAY และ WORKS เพื่อให้ทุกคนได้รู้และเข้าใจกระบวนการทำงานทั้งหมด

แม้บางคนจะไม่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์ผลงานวาดเส้น แต่อั๋นอยากให้ทุกตำแหน่งหน้าที่ได้ลองมาเที่ยว ลองมาหยิบจับ ลองทำทุกอย่าง เพื่อเห็นภาพเดียวกัน ลำดับต่อไปเขายกให้การสังเกต เขาเชื่อว่าคนเรามองไม่เหมือนกัน 

PLAYWORKS ธุรกิจของฝากจากเชียงใหม่ กับแผนการที่ไม่เหมือนใครจนดังไกลถึงเกาะเชจู

ถ้าเป็นดีไซเนอร์อาจสังเกตพฤติกรรม หน่วยบัญชีอาจจะคำนวณตัวเลขตลอดการเดินทางว่าคุ้มหรือเปล่า ฝ่ายช่างภาพก็ย่อมมีมุมมองผ่านเลนส์ที่ไม่เหมือนกับหน้าที่อื่น หลังกลับจากการเล่นให้เป็นงาน เขาจะชวนทุกคนประชุมเพื่อแบ่งหน้าที่รับผิดชอบ เช่น บางคนชอบบันทึกรูตการเดินทาง จะได้รับหน้าที่ออกแบบแผนที่ บางคนสนใจดอกไม้ ขออาสาถ่ายทอดดอกไม้ระหว่างทางผ่านลายเส้น แม้แต่พนักงานขายหน้าร้านก็อินไปกับเรื่องราวได้ อั๋นสังเกตจากการที่เขาอธิบายสินค้าได้มากขึ้นพร้อมเล่าเรื่องราวได้เป็นฉาก พอเกิดการสื่อสารที่เป็นมิตร ย่อมส่งผลดีกับการซื้อของลูกค้าด้วย

กลายเป็นว่าแต่ละคน แต่ละหน้าที่ ได้ทำงานตามความถนัดผ่านมุมมองของตัวเขาเอง สุขใจเหมือนกันนะ

“การเที่ยวของผมคือการเที่ยวให้ได้งาน ผมผสม PLAY กับ WORKS เข้าด้วยกัน และนอกจากงาน สิ่งที่ผมกับทีมได้กลับมาคือความใกล้ชิดกัน ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันมากขึ้น ตัวสินค้าทุกชิ้นเลยมีความทรงจำซ่อนอยู่ด้วย” อั๋นเล่า

PLAYWORKS ธุรกิจของฝากจากเชียงใหม่ กับแผนการที่ไม่เหมือนใครจนดังไกลถึงเกาะเชจู

ไม่ประกาศรับสมัครงาน แต่ยินดีที่จะเรียนรู้คน

อย่างที่บอกคุณตอนต้นว่า PLAYWORKS เป็นสินค้าที่ผลิตจากฝีมือคนในชุมชนละแวกบ้านของอั๋น มีตั้งแต่เด็กวัยรุ่นอายุราวสิบขวบต้นๆ จนถึงคุณตา คุณยายอายุ 70 ปลายๆ เป็นคอมมูนิตี้ที่รวมทีมงานคุณภาพไว้กว่า 40 ชีวิต 

แต่คุณเชื่อไหมว่า อั๋นไม่เคยประกาศรับสมัครงานเลย 

เราถามเขาว่า คนในชุมชนถนัดอะไร เพราะการจะสร้างสินค้าขึ้นมาแสดงว่าชุมชนต้องมีดีอยู่แล้ว

“ไม่ถนัดอะไรเลย” เขาตอบยืดอก ก่อนจะท้าวความ “ผมกับแม่เป็นคนต้นเรื่อง แม่เป็นสาวเย็บผ้าที่เกษียณแล้ว บริเวณหมู่บ้านก็มีคนแบบแม่กระจายตัวอยู่ เริ่มแรกก็ชวนป้าหนึ่ง ป้าสอง ป้าสาม ป้าสี่ มาเย็บผ้ากันก่อน แต่พอได้เรียนรู้จริงๆ ว่า ชุมชนเราไม่ได้เด่นงานหัตถกรรมหรือหัตถศิลป์ ผมเลยดึงพฤติกรรมของคุณป้า คุณน้าที่เขาเคยเจอออกมา”

งานหลักของช่างฝีมือรุ่น (ผู้) ใหญ่ จะเป็นงานเย็บ งานตัด และผลิตอะไหล่บางส่วนเพื่อประกอบเป็นชิ้นงาน แต่ไม่ใช่ทุกคนจะเหมาะกับทุกงาน เพราะมีบางคนเสียแขน ป่วยเรื้อรังก็มี อั๋นจะมอบงานบางอย่างที่สนับสนุนในสิ่งที่เขาเป็น เพราะความตั้งใจของ PLAYWORKS คือการส่งต่ออาชีพที่ยั่งยืน ยั่งยืนบนพื้นฐานความสามารถของแต่ละบุคคลด้วย

“ผมอยากให้คนในชุมชนมีอาชีพที่เขาทำได้ตลอด เขาทำได้ดีนะครับ ถ้าเราให้เขาทำในสิ่งที่ถนัด คุณลุง คุณป้าจะส่งงานให้เราตอนเช้า เขาก็แวะเม้ากันก่อน แล้วเอาของกลับไปทำที่บ้าน วันไหนเหนื่อยก็พัก มีงานบุญก็หยุด ฟังดูอาจเป็นผลเสียในเรื่องของการผลิต เพราะคนของเรามีศักยภาพจำกัด ผมเลยแก้ปัญหาด้วยการแบ่งสินค้าเป็นสินค้าทำมือและสินค้าพรีออเดอร์” ส่วนอั๋นรับบทเป็นคนตรงกลางที่พยายามประสานคนรุ่นใหญ่และคนรุ่นเล็กให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

คนรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงานกับอั๋นล้วนมาจากการส่งต่อ คนคนนั้นอาจไม่ได้ถนัดในสิ่งที่เขาต้องการ แต่อั๋นชอบศึกษาคน เขาจะดึงศักยภาพออกมา แล้วต่อยอดความสามารถ เพื่อให้ทีมงานทุกคนก้าวไปพร้อมกันกับเขาได้ เช่น การสอนให้พัฒนาตัวเองจากฟีดแบ็กของลูกค้า สอนวิธีการแก้ปัญหาจากโจทย์ใหม่ที่ไม่เคยเจอ เขาพยายามชี้ให้เห็นข้อเสีย แล้ววางแผนเพื่อแก้ปัญหา อั๋นเชื่อว่าการเตรียมความพร้อมเพื่อเจอกับข้อผิดพลาด จะทำให้คนโตขึ้นตามประสบการณ์

“บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองมีดี ตัวเราชอบมองไม่เห็นว่าเราทำอะไรได้บ้าง ถ้าเราลองถอยมาเป็นคนสังเกต จะรู้ว่าเขามี แต่เพียงเขาหาตัวเองไม่เจอ ผมเลยให้โอกาสเขาลอง ต้องลองผิดก่อนนะครับ ลองแล้วผิด จนกลายเป็นผิดน้อย แล้วค่อยทำได้ดี หลังจากนั้นเขาจะใช้จังหวะของตัวเองได้รอบคอบขึ้น ระมัดระวังมากขึ้น สำคัญเลยเขาต้องจำนะ ทุกคนต้องจำข้อผิดพลาดของตัวเอง เพราะมันจะช่วยต่อยอดบางอย่างได้ในอนาคต” เขาหยิบบทเรียนชีวิตมาเป็นครูสอน

อั๋น-สุพจน์ สุทธวาสน์, PLAYWORKS ธุรกิจของฝากจากเชียงใหม่ กับแผนการที่ไม่เหมือนใครจนดังไกลถึงเกาะเชจู

ยุทธศาสตร์ยิ่งใหญ่ ความตั้งใจเด็ดเดี่ยว

หากท่านใดเป็นแฟนคลับตัวยงของแบรนด์ของฝากดีไซน์เอกลักษณ์ท้องถิ่น จะรู้ว่ามีหน้าร้านอยู่ 3 สาขา หนึ่ง สาขาทิงค์พาร์ค (สาขาใหญ่) สอง สาขาศูนย์การค้าเมญ่า และสาม สาขาวันนิมมาน หากท่านใดเป็นแฟนคลับเชียงใหม่ จะรู้ว่าทั้งสามสถานที่อยู่ติดกันเพียงก้าวข้ามทางม้าลาย หากลองลากเส้นด้วยดินสอ จะเป็นภาพสามเหลี่ยมพอดิบพอดี

หลายคนคงออกอาการสงสัยเหมือนกับเราตอนได้ยินครั้งแรก แต่อั๋นเตรียมพร้อมไขข้อข้องใจไว้ให้แล้ว

“ทำไมสามสาขาถึงกระจุกอยู่บริเวณเดียวกัน ตอนแรกผมก็งงตัวเอง แต่พอได้ปรึกษากับเพื่อน เพื่อนแนะนำว่า ถึงแม้ร้านจะอยู่ในจุดยุทธศาสตร์เดียวกัน แต่คีย์หลักคือบุคลิกของแต่ละสถานที่มันแตกต่างกัน ฉะนั้น สินค้าแต่ละสาขาก็จะไม่เหมือนกัน ผมยกตัวอย่าง สาขาทิงค์พาร์ค คนรู้จักเพราะเป็นสาขาใหญ่ มีสินค้าครบทุกอย่าง ต่างจากสาขาวันนิมมาน เน้นสินค้า All in One ซื้อครบจบที่นี่ เป็นสินค้าประเภทของฝาก ส่วนเมญ่าจะเป็นสินค้าประเภทไลฟ์สไตล์”

ถึงทำเลจะใกล้กัน แต่ถ้าลองศึกษาพฤติกรรมของลูกค้าและเรียนรู้คาแรกเตอร์ของสถานที่ก็จะเจอความต่าง 

นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมร้านของฝากทั้งสามสาขายังอยู่และพึ่งพากันได้

PLAYWORKS ธุรกิจของฝากจากเชียงใหม่ กับแผนการที่ไม่เหมือนใครจนดังไกลถึงเกาะเชจู
PLAYWORKS ธุรกิจของฝากจากเชียงใหม่ กับแผนการที่ไม่เหมือนใครจนดังไกลถึงเกาะเชจู

ร้านของฝากที่ต้องมาวันสุดท้าย

อั๋นบอกว่า ร้านของฝากของเขา นักท่องเที่ยวมักมาเยือนวันสุดท้ายของการเดินทาง เพราะการตะลุยเมืองเชียงใหม่ตลอดหลายวันเป็นเหมือนการใช้เวลาทำความรู้จักวัฒนธรรม สถานที่ อาหารการกิน ผู้คน ฯลฯ พอได้แวะ PLAYWORKS เพื่อจับจ่ายข้าวของ ลูกค้าจะสัมผัสเรื่องราวที่อั๋นกำลังเล่าได้ทันที เสมือนความอินเพิ่มขึ้นเท่าตัว!

แต่สถานการณ์ปัจจุบันบอกให้ทุกคนพักการเดินทาง แล้วธุรกิจของฝากในเมืองท่องเที่ยวจะทำอย่างไร ชายผู้เชี่ยวชาญการวางแผนและสนุกกับการปรับเปลี่ยน มีไอเดียชวนนักช้อปมาอุดหนุนของฝากจากเชียงใหม่ผ่านทางเว็บไซต์ของแบรนด์ กดสั่งสินค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ว่าคุณจะอยู่มุมไหนบนโลกก็กดเลือกของที่ชอบลงตะกร้า แล้วกรอกที่อยู่เพื่อส่งของให้เพื่อน ครอบครัว คนพิเศษหรือตัวคุณเอง PLAYWORKS ยินดีส่งถึงหน้าบ้านทั้งไทยและเทศ

มีอีกหนึ่งความสนุกของการปรับตัวที่เราอยากให้คุณลองสั่งกล่องสุ่มราคาหลักร้อย ด้านในบรรจุกระเป๋าผ้าคละลายและสีที่ทางแบรนด์ขอจัดให้คุณเอง มาคู่กับกระเป๋ามีตำหนิเล็กน้อยถึงปานกลาง ไม่มีผลต่อการใช้งาน ซึ่งเป็นหนึ่งในความตั้งใจของอั๋นที่อยากลดการทิ้งผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากความผิดพลาดในกระบวนการผลิตของสองมือและเครื่องจักร

PLAYWORKS ธุรกิจของฝากจากเชียงใหม่ กับแผนการที่ไม่เหมือนใครจนดังไกลถึงเกาะเชจู
PLAYWORKS ธุรกิจของฝากจากเชียงใหม่ กับแผนการที่ไม่เหมือนใครจนดังไกลถึงเกาะเชจู

อดีต คิดถึงตัวเอง ปัจจุบัน คิดถึงคนอื่น

ใครบ้างทำธุรกิจแล้วไม่ต้องการเงิน ใช่ PLAYWORKS เป็นแบบนั้นในตอนแรก แต่พอทำธุรกิจเข้าสู่ปีที่ 15 จำนวนเงินไม่ใช่หัวใจสำคัญ เป้าหมายหลักที่เขาอยากไปให้ถึงคือการส่งต่อและส่งเสริมอาชีพที่ยั่งยืนให้กับชุมชน พร้อมเป็นต้นแบบโมเดลธุรกิจสินค้าชุมชนให้กับชุมชนที่มีของดีทั่วประเทศไทย และไม่จำเป็นต้องทำในนาม PLAYWORKS

“หลักธุรกิจของผมคือ เมื่อผมก้าว ทุกคนต้องก้าว ผมมองระยะไกลว่าอยากเป็นคอมมูนิตี้ขนาดเล็กที่ส่งเสริมอาชีพและส่งต่อคน เขาไม่ต้องออกไปหางานทำ ทำงานอยู่กับบ้านโดยความสัมพันธ์ยังอยู่ครบ ได้มีเวลาอยู่กับครอบครัว ได้ทำในสิ่งที่เขาถนัด ผมเชื่อว่าแต่ละชุมชนยังมีอีกหลายบริบทที่ยังไม่ถูกหยิบมานำเสนอและรอคนเข้าไปต่อยอด

“ผมว่าการกลับมาทำธุรกิจในบ้านเกิด ทุกคนโหยหาการอยู่กับครอบครัว มันอิ่มตรงที่เวลาเหนื่อย เวลาล้า ผมเห็นพ่อผมเห็นแม่ของผม และคนทำงานไกลบ้านทุกคน อยากจะมีคนปลอบ อยากจะมีคนโอ๋เหมือนตอนป็นเด็ก ถ้ามีโมเดล PLAYWORKS เกิดขึ้นในทุกภูมิภาค จากจุดเล็กขยายไปจุดใหญ่ ผมว่าคนทำงานทุกคนจะยิ้มได้เหมือนผม” 

PLAYWORKS x JEJU

น่าตื่นเต้นและชวนดีใจที่โมเดลธุรกิจแบบ PLAYWORKS เกิดขึ้นแล้วบนเกาะเชจู ประเทศเกาหลีใต้

อั๋นเล่าว่า พาร์ตเนอร์ของเขามาทดลองอยู่เชียงใหม่ก่อน พอเริ่มรู้จัก PLAYWORKS ก็หยิบสินค้าบางอย่างไปขายที่ประเทศเกาหลีใต้ อาจเป็นเพราะความใกล้กันของวัฒนธรรม ทำให้การเชื่อมต่อสินค้ากับวัฒนธรรมเข้าใจกันง่าย

“ตอนนั้นเขาคุยกับผมว่าอยากส่งเสริมความเป็นคอมมูนิตี้ เพราะเกาหลีไม่มีการส่งต่อแบบนี้ เขาเลือกขายที่เกาะเชจู ด้วยเหตุผลว่ายังมีความเป็นวัฒนธรรมที่ยังไม่เป็นสังคมเมือง เป็นเกาะที่มีบ้าน รั้วรอบขอบชิด มีวัฒนธรรมการให้ส้ม เขาเลยอยากเป็นตัวเชื่อมให้กับชุมชน โดยเริ่มต้นจากสินค้าจังหวัดเชียงใหม่ของ PLAYWORKS เป็นจุดดึงคนให้มารู้จัก”

การทำงานร่วมกันอั๋นได้ออกแบบภาพลายเส้นคอลเลกชัน PLAYWORKS x JEJU ไว้ด้วย (น่ารักมาก) เป็นภาพวาดลายเส้นที่มีแผนที่บนเกาะเชจู เมืองแห่งสวนส้ม การเล่นเซิร์ฟ บรรยากาศทุ่งดอกหญ้า Oreum และเส้นทางป่าสน

“โมเดลตัวนี้ไกลตัวผมมาก ผมแค่อยากเล่าวัฒนธรรมของประเทศไทย แต่กลายเป็นว่ามีกลุ่มคนมาเห็น และอยากสนับสนุนผมด้วยการส่งสารตัวนี้ให้กับคนในประเทศของเขาด้วยเหมือนกัน ตอนนี้ครอบครัวเราใหญ่ขึ้นแล้วครับ”

PLAYWORKS ธุรกิจของฝากจากเชียงใหม่ กับแผนการที่ไม่เหมือนใครจนดังไกลถึงเกาะเชจู
PLAYWORKS ธุรกิจของฝากจากเชียงใหม่ กับแผนการที่ไม่เหมือนใครจนดังไกลถึงเกาะเชจู

อย่ากลัวการทำธุรกิจแบบครอบครัว

ตลอดการสนทนา พี่ชายคนโตของบ้านย้ำกับเราตลอดว่า การทำธุรกิจของเขาเป็นการทำธุรกิจแบบครอบครัว เราเชื่อว่าบางคนก็กลัวการทำธุรกิจแนวนี้ เพราะมีความรู้สึกและเส้นแบ่งเข้ามากั้นระหว่างความเป็นครอบครัวกับธุรกิจ

“มีคนเคยห้ามว่า อย่าทำธุรกิจกับครอบครัวหรือคนใกล้ตัว มันมีเส้นบางๆ มาก แต่ผมผ่านมาหมดแล้ว” เขากลั้วหัวเราะ ก่อนจะเสริมว่า “ใจความสำคัญคือเราต้องเรียนรู้คน ผมจะปล่อยให้เขาเรียนรู้จากความผิดพลาด เขาต้องเจ็บและมีบาดแผลก่อน พอเขาเจ็บ เขาก็ไม่อยากมีบาดแผลเพิ่ม ผมไม่ใช่คนที่จะคอยโอ๋นะ แต่จะให้เหตุว่าเขาเจ็บเพราะอะไร 

“ถ้าเกิดมีปัญหากัน ต้องหาเรื่องคุย อย่าทิ้งช่วงเวลาให้นาน ต้องมีจุดเชื่อมสัมพันธ์กันครับ ธุรกิจแบบครอบครัวไม่ได้แย่เสียทีเดียว ถ้าแย่อาจเป็นเพราะมองเรื่องของตัวเลข ถ้าพูดแง่ความรู้สึกและการส่งต่อมันดีมาก ไม่ได้เป็นแค่เจ้านายกับลูกน้อง เพราะทุกคนคอยซัพพอร์ตกันตลอด เคยมีน้องคนหนึ่งบอกว่าโบนัสของเขาคือทุกวันที่ได้มาทำงาน ยิ่งเขาขยัน สิ่งตอบแทนจะกลับเข้ามาหาเขาเอง” 

แล้วโบนัสสำหรับพี่ชายคนโตของบ้านหลังนี้คืออะไร เราย้อนถามอั๋น

“เห็นน้องทุกคนก้าวไปพร้อมกัน” เขาตอบทันที

“ตอนเป็นเด็ก ผมเคยเรียกร้องอยากจะได้ พอผมเป็นผู้ใหญ่ ผมเรียนรู้ที่จะเป็นคนให้ พอผมเริ่มแก่ ผมก็พร้อมที่จะปลอบ คาแรกเตอร์พี่ชายของผมมันต่างกันตลอดสิบห้าปี มีความสุขปนเศร้าผสมความดีใจ สุดท้ายผมกลายมาเป็นคนให้โอกาส ถ้าเลือกแล้วว่าจะเป็นโมเดลธุรกิจแบบครอบครัว ก็ต้องพร้อมที่จะให้อภัยและคอยส่งกำลังใจให้กัน 

“ผมพูดได้เลยว่าผมไม่ใช่เจ้าของ PLAYWORKS ผมเป็นคนต้นเรื่อง แล้วมีคนมาช่วยกันสร้างให้เป็นแบรนด์ครอบครัวที่ชื่อว่า PLAYWORKS ต่างหาก” 

เขาจบบทสนทนาด้วยรอยยิ้มอบอุ่น จนเราเดาไม่ออกว่าธุรกิจของฝากฉบับครอบครัวของบ้านหลังนี้มีจุดเริ่มต้นจากคำสบประมาทสุดร้ายกาจ บอกแล้วว่าคำสบประมาทไม่ทำให้คนยอมแพ้! 

อั๋น-สุพจน์ สุทธวาสน์, PLAYWORKS ธุรกิจของฝากจากเชียงใหม่ กับแผนการที่ไม่เหมือนใครจนดังไกลถึงเกาะเชจู

Lesson Learned

หนึ่ง

 “ลองคิดก่อนนอนว่าเราอยากตื่นมาทำอะไรในวันพรุ่งนี้ ถ้าเรายังมีพลังเหลือพอที่จะทำตรงนั้น แล้วเห็นมันเป็นแรงคอยกระตุ้นเราและเราก็กระหายอยากจะทำมัน แสดงว่ามันจะเป็นอาชีพหรือธุรกิจของเราได้ในอนาคต”

สอง

ประเทศไทยจะไม่ใช่แค่เมืองท่องเที่ยวอีกต่อไป ผมต้องอัปเดตพฤติกรรมสินค้าและผู้บริโภค ยิ่งผมเข้าใจมากเท่าไหร่ ผมยิ่งปรับเปลี่ยนได้มากขึ้น ถ้าใครบอกว่าเศรษฐกิจไม่ดีและธุรกิจกำลังจะตาย ผมไม่เชื่อนะ ผมว่าเราต้องทำงานหนักมากขึ้น ต้องเข้าใจลูกค้ามากขึ้น แล้วลูกค้าเขาจะรู้สึกขอบคุณเรา ที่นำเสนอมุมมองใหม่ให้เขาตลอด”

สาม

“ผมยอมรับว่าทุกจังหวะชีวิตจะเริ่มจากความผิดพลาดก่อนเสมอ กลับมาเชียงใหม่ด้วยข้อผิดพลาด ทำธุรกิจสักพักก็เจอข้อผิดพลาด ทุกวันนี้ผมเอาข้อผิดมาพลาดมาสอนตัวเองและสนุกทุกครั้งที่เจอมัน มันทำให้ผมรอบคอบ ได้ตระเตรียมและวางแผน จะว่าไปก็ต้องขอบคุณข้อผิดพลาดอีกสักทีที่ทำให้มีแบรนด์คำว่า ‘เล่นงาน’ ที่อยากแก้แค้นและเอาคืน”

ติดตาม PLAYWORKS ได้ที่ Facebook : Playworks เล่นงาน

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

Avatar

สโรชา อินอิ่ม

Freelance photographer ชอบความอิสระ ชอบเดินทางท่องเที่ยว บันทึกความทรงจำผ่านภาพถ่าย