วันก่อน เพื่อนส่งพอดแคสต์รายการหนึ่งให้ฟังชื่อ Stories From Home ทันทีที่กดเข้าไปฟังก็ตกหลุมรักทันที เพราะนี่เป็นรายการพอดแคสต์เล่านิทานแบบเล่านิทานจริงๆ เป็นการอัดเสียงระหว่างชั่วโมงเล่านิทานของหลายๆ ครอบครัว ทำให้ได้ยินเสียงบรรยากาศการซักถามของเด็กๆ กับคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองเคล้าคลอไปตลอดทั้งเรื่อง คำถามที่ผุดขึ้นมาคือ นิทานนั้นสำคัญต่อพัฒนาการเด็กแค่ไหน เพราะเราเองก็โตมากับการฟังนิทานเช่นกัน
จากนั้นจึงทราบว่า รายการพอดแคสต์นี้เป็นเฟสแรกของโปรเจกต์น่ารักชื่อ Play From Home โดยทีมงาน BICTFest หรือเทศกาลศิลปะการแสดงนานาชาติสำหรับเด็กและเยาวชน ที่เคยจัดขึ้นในประเทศไทยมาแล้ว 2 ครั้ง
ครั้งที่ 3 ต้องเกิดขึ้นในปีนี้ แต่ด้วยสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ทีมงานมองหาแพลตฟอร์มอื่นนอกเหนือจากละครเวทีอย่างที่ผ่านมา เป็นรูปแบบอื่นๆ ที่ยังช่วยเพื่อบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ เชื่อมต่อวัฒนธรรม และสร้างเสริมแรงบันดาลใจให้เด็กๆ แทน
Play From Home จะมีด้วยกัน 2 เฟสตลอดปีนี้ เฟสแรกคือพอดแคสต์ Stories From Home ที่ชวนครอบครัวมาแบ่งปันเรื่องเล่าในช่วงเวลาพิเศษ ซึ่งคนในครอบครัวเป็นผู้ร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้น เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจในการใช้ศิลปะการเล่านิทานมาเปิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้และจินตนาการให้กับเด็กๆ
โดยการจัดทำพอดแคสต์เล่านิทานในครั้งนี้ BICTFest ได้ร่วมกับ MAPPA โดย Flock Learning ที่เชื่อว่าครอบครัวคือนักสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเรียนรู้ให้เด็กๆ และ 28 Production ที่มาช่วยเติมส่วนผสมความสนุกสนานให้พอดแคสต์ด้วยเสียงประกอบเสริมจินตนาการให้เด็ก
เราจึงชวน อุ๊-อัจจิมา ณ พัทลุง ผู้อำนวยการ BICTFest จ๋า-วริศรา บ่อเกิด โปรเจกต์เมเนเจอร์ BICTFest บี-มิรา เวฬุภาค ผู้ก่อตั้ง MAPPA และ Flock Learning และ วิน-ระพีเดช กุลบุศย์ ผู้อำนวยการ 28 Production มาร่วมพูดคุยกันถึงความสำคัญของนิทาน พลังของ Storytelling ต่อพัฒนาการเด็ก และวิธีสร้างการเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์ตออนไลน์ให้เด็กๆ มีทักษะพร้อมได้ลงมือทำจริงๆ
และเพราะ Storytelling ไม่ได้มีแค่การเล่านิทาน ศิลปะการละครอย่างที่ BICTFest ตั้งใจนำเสนอมาโดยตลอดก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของ Storytelling ที่ทรงพลัง ก่อนจะไปฟังเรื่องราวของพอดแคสต์ Stories From Home และแพลตฟอร์มออนไลน์ Play From Home เราจึงอยากชวนคุณทำความเข้าใจโลกการเรียนรู้ผ่านละครเวทีสำหรับเด็กและเยาวชนไปด้วยกัน
01
ความสำคัญของละครสำหรับเด็ก
Bangkok International Children’s Theatre Festival (BICT Fest) คือเทศกาลที่ชวนศิลปินละครเวทีไทยและต่างชาติจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก มาร่วมทำการจัดแสดง จัดเวิร์กช็อป และพูดคุยเสวนาเรื่องการเติบโตและพัฒนาการเด็กผ่านศิลปะ
อุ๊อธิบายว่า “การละครเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถชี้นำ เปิดโลกทัศน์ทางศิลปะให้เด็กๆ ละครจะทำให้การเรียนรู้ของเด็กน่าสนใจและสนุกสนาน การสร้างสรรค์ละครสำหรับเด็กนั้น ไม่ใช่การย่อส่วนละครของผู้ใหญ่ หรือนำละครผู้ใหญ่มาทำให้ง่ายขึ้น แต่ละครสำหรับเด็กเป็นศิลปะที่มีรูปแบบเฉพาะ มีความเป็นเอกลักษณ์ มีวิธีการนำเสนอที่แตกต่างไปตามวัยและความพร้อมของผู้ชม
“นักละครสำหรับเด็กต้องมีความละเอียดอ่อน จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ มีรสนิยมทางศิลปะที่ดี มีความจริงใจที่จะสื่อสารกับผู้ชม ละครของเด็กต้องไม่สั่งสอน แต่เป็นเพื่อนที่ดี นำเสนอโอกาสที่ดี และสร้างความสนุกสนานแก่เพื่อนตัวน้อย ขณะเดียวกันก็ต้องเสนอแนะเรื่องราวความคิด วิธีการแก้ปัญหา และทัศนคติที่ดีแก่เด็กๆ”
การดูละครในโรงละครเป็นการตอบสนองต่อธรรมชาติของเด็ก เพราะนอกจากความสนุกสนาน เพลิดเพลิน และผ่อนคลายอารมณ์แล้ว เนื้อหาในละครยังสอดแทรกแง่คิดที่ดีงาม ซึ่งเป็นแนวทางในการปฏิบัติตนของเด็กๆ ได้ในอนาคต เสริมสร้างพัฒนาการทั้งการฟัง การพูด ความกล้าแสดงออก ความคิดและจินตนาการที่กว้างไกล รวมถึงการพัฒนาคุณลักษณะพึงประสงค์ จากการเลียนแบบพฤติกรรมของตัวละครที่เด็กๆ ได้รับชม
“เพราะเด็กๆ มีความพร้อมในการเปิดรับและเทียบเคียงประสบการณ์ของเขากับบทบาทของตัวละครนั้นๆ ซึ่งเขาสามารถนำไปใช้ได้ในชีวิต
“การนำคนมานั่งดูอยู่ในที่ที่เดียวกัน มารับและแลกเปลี่ยนสารร่วมกัน มากกว่าการดูทีวีอยู่ที่บ้าน ผู้ชมจะได้ยินเสียงนักแสดงหายใจ เห็นเหงื่อ เห็นความพยายามของนักแสดงที่พยายามจะสื่อสาร”
อุ๊บอกว่า กระบวนการเรียนรู้ผ่านละครจะกระตุ้นให้เด็กๆ ได้ใช้จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ การเคลื่อนไหวร่างกาย การสร้างความเข้าใจในสัมพันธภาพของสิ่งต่างๆ รวมถึงการสื่อสารภาษาพูดและภาษาร่างกาย ซึ่งช่วยสนับสนุนพัฒนาการหลักของเด็กๆ ทั้งสี่ด้าน คือร่างกาย อารมณ์ สังคม และความฉลาดทางปัญญา
โดยเฉพาะการเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์ จะช่วยพัฒนาความคิดเชิงวิเคราะห์ พัฒนาพื้นฐานความสามารถในการใช้เหตุผล ด้วยจินตนาการผสมกับข้อมูลตามหลักเหตุผล แม้เป็นศิลปินต่างประเทศ แต่ภาษาก็ไม่เป็นอุปสรรคในการสื่อสาร เพราะการสื่อสารหลักของมนุษย์คือการสื่อสารผ่านภาษากาย ดังนั้น การมองเห็น ได้ยิน สังเกต และการเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ สร้างความเข้าใจให้เด็กๆ ได้
“ศิลปะทุกแขนงดีหมด ในวันหนึ่งเราก็อยากให้การละครเข้าไปอยู่ในระบบการศึกษาอย่างจริงจัง เพราะละครเป็นศาสตร์หนึ่งที่ช่วยพัฒนาการอย่างรอบด้าน ให้ประสบการณ์ที่เป็น Sensorial คือความรับรู้ทั้งทางสายตา การได้ยิน ความรู้สึก อารมณ์ และสติปัญญา
“การที่เด็กได้ดูละคร เขาจะได้เรียนรู้ชีวิตที่แตกต่างจากชีวิตที่เขารู้จัก ได้รู้จักวัฒนธรรมที่แตกต่างจากที่เขาเติบโตมา มันเป็นระยะเวลาสั้นๆ ที่เขาจะได้เดินทางไปในที่ที่เขาไม่คุ้นเคย ได้รู้จักชีวิตของผู้คนที่อาจจะแตกต่างจากเขามาก สร้างความเข้าใจและความเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน”
02
BICTFest
“งานที่นำมาแสดงใน BICTFest ทั้งสองครั้งที่ผ่านมามีความหลากหลาย ทั้งงานหุ่น (Puppetry) ซึ่งเป็นการเอาของที่มีอยู่แล้วในชีวิตประจำวันมาทำให้มีชีวิตด้วยฝีมือของนักหุ่น อย่าง Theatre Right กลุ่มละครที่มีชื่อเสียงมากจากประเทศอังกฤษ ที่ทำละครเพื่อเด็กโดยเฉพาะ ด้วยความตั้งใจให้เด็กๆ เกิดแรงบันดาลใจ เติมเต็มจินตนาการ มีประสบการณ์จากการแสดงที่น่าจดจำ การแสดงของเขาแปลกใหม่ กระตุ้นความคิด งานแต่ละชิ้นของ Theatre Right ใช้เวลาพัฒนานานนับปี”
อุ๊เล่าต่อว่า ที่ผ่านมาคนคิดว่างานเด็กจะต้องเป็นนิทาน ละครหุ่น มีการละเล่นรื่นเริง ทั้งที่จริงงานเด็กมีหลายประเภท ในการเลือกกลุ่มศิลปินมาแสดงจึงเลือกให้หลากหลาย ทั้งจากต่างประเทศที่ละครเพื่อเด็กเป็นที่แพร่หลายอยู่แล้ว รวมถึงศิลปินไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้เกิดการแลกเปลี่ยนทักษะ และแลกเปลี่ยนมุมมองต่อวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน
โดยศิลปินแต่ละกลุ่มที่เชิญมาไม่ได้มาเล่นละครเพียงอย่างเดียว แต่มีการจัดเวิร์กช็อปและการจัดฟอรั่มแลกเปลี่ยนความคิดกันอีกด้วย อย่างเทศกาล BICTFest ครั้งแรก Papermoon Puppet Theatre คณะละครหุ่นชื่อดังจากประเทศอินโดนีเซีย โดยสร้างสรรค์งานชิ้นใหม่ร่วมกับกลุ่มพ่อแม่และเด็กๆ ในกรุงเทพฯ ที่มาจากชุมชนด้อยโอกาสและผู้คนทั่วไปที่สนใจ เพื่อนำมาสร้างเป็นเรื่องราวที่จัดแสดงครั้งแรกที่นี่ด้วย
เวิร์กช็อปของงาน BICTFest 2 ครั้งที่ผ่านมา มีเด็กๆ ตั้งแต่ 5 ถึง 13 ขวบ มาเข้าร่วมอย่างหนาแน่น มีหลากหลายรูปแบบอย่างการทำหุ่นจากวัสดุเหลือใช้ ไปจนถึงสัมผัสทางดนตรี การเคลื่อนไหว และดนตรี
ถือเป็นกระบวนการเผยแพร่การเรียนรู้ผ่านกิจกรรมละครที่เน้นให้เด็กรู้จักตนเองผ่านการคิด จินตนาการ การแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ เรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยพัฒนาเด็กๆ และเยาวชนให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในสังคม
นอกจากเด็กแล้ว ก็มีพ่อแม่ ผู้ปกครอง นักกิจกรรม ครู และผู้ที่สนใจ ที่ต้องการนำละครไปใช้ประโยชน์กับเด็กๆ ด้วยตัวเองต่อไป เมื่อทุกคนได้มาเรียนรู้กระบวนการสร้างละครสำหรับเด็กแล้ว ก็นำเอาความรู้นี้ไปต่อยอดให้ละครพัฒนาศักยภาพของเด็กๆ ได้
03
Play From Home
จ๋าอธิบายว่า 2 ครั้งที่ผ่านมา BICTFest จัดเทศกาลในกรุงเทพฯ ได้เสียงตอบรับอย่างอบอุ่นและได้เห็นคลื่นลูกเล็กที่ค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้นของการละครเพื่อเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 3 ซึ่งตอนแรกมีกำหนดจัดงานในช่วงนี้ของปี ทีมงานจึงคิดขยายการเข้าถึงไปสู่กลุ่มคนดูที่กว้างขึ้น และลงไปจับประเด็นทางสังคมอื่นๆ มากขึ้นด้วย เพื่อให้การละครเป็นสิ่งที่สร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างอย่างเป็นรูปธรรม
กลายเป็นธีมของงาน BICT on the Move ที่เชิญศิลปินไทยและนานาชาติมาอย่างเดิม แต่เปลี่ยนจากแสดงที่กรุงเทพฯ อย่างเดียว เป็นการลงพื้นที่ไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย แต่ละพื้นที่ที่ไปจัดแสดงจะเกิดกิจกรรมร่วมกันระหว่างศิลปินและชุมชน โดย BICTFest ทำงานร่วมกับ Urban Jam กลุ่มนักพัฒนาชุมชนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศไทย
“มีการจัดเส้นทางการเดินทางและประสานงานกับชุมชนไว้เรียบร้อยแล้ว แต่เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 เสียก่อน BICT on the Move จึงต้องเลื่อนไปเป็นปีหน้า (พ.ศ. 2564) แทน” จ๋าเล่าพร้อมรอยยิ้ม
โปรเจกต์ Play From Home จึงเกิดขึ้น เพื่อสร้างโมเมนตัมในการสร้างการเรียนรู้ให้เด็กๆ อยู่ แม้สถานการณ์จะเปลี่ยนไปโดยใช้แพลตฟอร์มออนไลน์มาเป็นเครื่องมือ เพื่อสำรวจโลกของการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กๆ ว่า ศิลปะการละครแบบไหนที่เหมาะกับการดูผ่านจอ หรือเหมาะกับการเอามาใช้สร้างสรรค์งานออนไลน์
“Storytelling และ Puppetry ซึ่งเป็นต้นแบบของแอนิเมชันต่างๆ เป็นสองศาสตร์ที่เราเลือกมาในครั้งนี้ เพราะคิดว่าน่าจะมาอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ แต่อยู่ในลักษณะใด เด็กๆ อยู่บ้าน ต้องอยู่กับจอมากขึ้น ทั้งการเรียนออนไลน์และโซเชียลมีเดีย ดังนั้น มีอะไรบ้างที่ออนไลน์แล้วเด็กๆ ไม่ต้องดูผ่านจอ
“คำตอบคือพอดแคสต์ ซึ่งเชื่อมโยงกับ Storytelling อยู่แล้ว จึงเกิดเป็น Stories From Home ตรงนี้ MAPPA โดย Flock Learning และ 28 Production ก็เข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์ในการทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้น”
04
Stories From Home
Stories From Home ซีซั่นแรกที่แสนสนุกกำลังจะจบ โดยซีซั่น 2 กำลังจะตามมาอีกในปีนี้
“เรื่องเล่าเหล่านี้ เราชวนพ่อแม่ที่บ้านมาเล่าเรื่องอัดเสียงส่งให้เราผ่านโทรศัพท์ธรรมดา อัดในช่วงเวลาที่พ่อแม่อ่านนิทานให้ลูกฟัง การทำงานกับแต่ละครอบครัวก็สนุก เพราะแต่ละบ้านก็มีบริบทน่ารักต่างกันไป ในพอดแคสต์ของเราจึงมีทั้งผู้เล่าอย่างพ่อแม่และเสียงลูกๆ ผู้ฟังที่ฟังและสอบถามอย่างใครรู้ไปตลอดทั้งเรื่อง” อุ๊เล่าถึงการทำงานร่วมกับหลายครอบครัว
ในพอดแคสต์ Stories From Home เมื่อแต่ละครอบครัวอัดเสียงการเล่าเรื่องกันเรียบร้อยแล้ว จะส่งให้วินจาก 28 Production ที่ทำงานด้านเสียงอยู่แล้วเป็นผู้มาช่วยเติมความสนุกให้พอดแคสต์ด้วยเสียงประกอบตามเนื้อเรื่อง นิทานที่แต่ละบ้านอัดเสียงส่งมา เขาเลือกเองว่าจะเล่าเรื่องอะไร
วินบอกว่า “สิ่งที่สำคัญที่สุด คือบรรยากาศระหว่างครอบครัวที่พ่อแม่ได้ใช้เวลาอยู่กับลูกจริงๆ แล้วเราจะช่วยขับเน้นเรื่องราวด้วยเสียงประกอบอย่างไร ไม่ให้เสียบรรยากาศความเป็นธรรมชาติตรงนั้น เรื่องแรกที่ทำคือเรื่อง โม่หินวิเศษซึ่งเรารับรู้ได้เลยว่าเวลาคุณพ่อเล่าถึงตอนไหน เขาจะพยายามสร้างจินตนาการให้ลูกมีภาพอยู่ในหัวผ่านเสียง มันคือ Magic Moment เราเลยเอาเสียงพายเรือใส่เข้าไป
“แต่ละเรื่อง แต่ละครอบครัว จะมี Magic Moment แบบนี้ ที่เราต้องจับให้เจอและหยอดเสียงประกอบเข้าไปขับเน้นแต่ไม่มากเกินไปจนกลบผู้เล่า หรือบางทีเล่าถึงฉากในป่า เราก็ใส่ Ambiance เสียงแมลงสัตว์ต่างๆ ในป่าเข้าไปเบาๆ”
อุ๊เสริมว่า “เราอยากให้งานของพวกเขา Inspired ให้ครอบครัวอื่นๆ ส่งงานมาเพิ่ม พลังของการเล่าเรื่องจะได้ถูกส่งต่อกันออกไป ตอนนี้เราคิดว่าจะทำเฟสที่เป็น International ด้วย เพราะรู้สึกว่าการได้ยินภาษาต่างประเทศ น่าสนใจสำหรับเด็กด้วยเหมือนกัน อาจจะผ่าน YouTube เพราะเราอยากทำ Subtitle ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยเฟสต่อๆ ไปจะเริ่มช่วงเดือนกันยายนปีนี้”
05
พลังของการเล่าเรื่อง
พาร์ตเนอร์ที่ขาดไม่ได้ของโปรเจกต์ Play From Home คือ MAPPA โดย Flock Learning ที่บีอธิบายว่าคือ Movement ของพ่อแม่ ผู้ปกครอง และครอบครัว
“Flock Learning มองพ่อแม่หรือครอบครัวเป็นอีกแบบหนึ่ง เรามองว่าเขาเป็น Changemakers เป็นคนที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ Solution การเปลี่ยนแปลงเรื่องการเรียนรู้ ไม่ได้อยู่แค่ในโรงเรียนและห้องเรียน แต่เกิดขึ้นได้ทุกที่โดยเฉพาะพ่อแม่ ที่ผ่านมาเราแนะนำหลายเรื่องราวให้ครอบครัวได้รับรู้เกี่ยวกับการเรียนรู้ เช่น ภาษาอื่นๆ ในการสื่อสารกับลูก ที่ไม่ใช่แค่บอกหรือพูด ลองใช้สายตา การสัมผัส ความรู้สึก และปรากฏว่าเกิดผลลัพธ์ที่น่ามหัศจรรย์มาก”
MAPPA เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อบอกเล่าแนวคิดออกไปในสังคมไทยว่า การเรียนรู้ไม่ได้มีเฉพาะในโรงเรียน มีในโรงละครได้ มีในโรงหนัง และมีที่บ้านได้ อธิบายให้เห็นภาพคือพื้นที่ที่ชวนเด็กๆ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครอบครัวออกมาเรียนรู้ โดยใช้ Online Collaborative Learning Platform
เมื่อเข้าไปในแพลตฟอร์มนี้ เด็กๆ จะมี Journey การเรียนรู้ของตัวเอง ในขณะเดียวกันพ่อแม่ที่เข้าไปก็จะมี Journey ของด้วยเช่นกัน โดยแต่ละ Journey ร้อยเรียงกันไว้ด้วยหลากหลาย Mission ที่เด็กๆ ต้องทำ
โดยเด็กปฐมวัย 0 – 8 ปีต้องล็อกอินพร้อมพ่อแม่เท่านั้น 9 – 14 ปี เด็กๆ ล็อกอินเข้ามาเรียนรู้เองได้ ในนั้นจะมีการเก็บทักษะผ่าน Mission เช่น ฟังพอดแคสต์ Stories From Home ของ BICTFest เด็กจะได้ทักษะอะไร
“การอ่านนิทานที่พ่อแม่ทำร่วมกับลูก ลูกๆ จะได้ทักษะในการรับรู้การมีอยู่ของพ่อแม่ที่อยู่ตรงนี้ตลอดเวลากับเด็ก ในช่วงเวลาเดิมๆ สิบห้านาที การอ่านหนังสือให้ลูกฟังทุกวันจะทำให้ลูกจำได้ว่า เดี๋ยวเวลานี้แม่จะกลับมา เป็นเวลาของลูกเท่านั้น คุณพ่อคุณแม่ก็จะได้สิ่งนี้ เป็นเหมือนทักษะที่เก็บไว้ในตัวลูก”
Mission ทั้งหมดของ MAPPA เป็น Mission on Site คือแม้ว่าจะมีแพลตฟอร์มออนไลน์ แต่เด็กๆ และครอบครัวต้องลงมือทำในบ้านจริงๆ 3 แกนหลักของ MAPPA appa คือ Literacy (งานอ่านออกเขียนได้) Free Play (การเล่นอิสระ) และงานบ้าน ครัว สวน เป็นสกิลล์ที่ฝึกในบ้านได้
“การอ่านออกเขียนได้ (Literacy) ก็เป็นสิ่งที่ MAPPA สนใจ ในสังคมไทยที่ผ่านมา เราจะเน้น Literacy ไปที่การอ่านหนังสือ รีบให้เด็กอ่านออกเขียนได้เร็วๆ แล้วตีความว่านี่คือ Literacy ละครคือการทำให้เด็กเข้าใจสิ่งที่มันมากไปกว่าตัวหนังสือ นิทานหนึ่งเรื่อง ถ้ารีบไปให้เด็กอ่านออกเร็วๆ เด็กจะได้การอ่าน แต่เด็กจะไม่ได้การตีความอะไรเลย
“ละครหรือหนังสือนิทานจะมีการตีความ ความเข้าใจ มีมิติอื่นที่ไม่ใช่แค่ตัวหนังสือ เด็กจะสัมผัสมิติอื่นๆ อย่างหนังสือนิทานเรื่องหนึ่งที่เล่าเรื่องเจ้าปลาน้อยที่ไปขโมยหมวกของปลาใหญ่ ตัวอักษรในหนังสือบอกเล่าเรื่องราวของเจ้าปลาน้อยที่พร่ำบอกกับตัวเองว่าปลาใหญ่จับตนไม่ได้หรอก ไม่มีใครรู้หรอกว่าเราเป็นขโมย
“ในขณะที่ภาพประกอบเรื่องทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า ปลาใหญ่ว่ายน้ำตามไปและรู้ตั้งแต่แรกแล้วว่าเจ้าปลาน้อยขโมยหมวกไป แบบนี้คือการฝึกให้เด็กหัดตีความและเข้าใจว่าความรู้สึกของขโมยเป็นอย่างไร เข้าข้างตัวเองไปตลอดทาง นี่คือมิติอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากตัวหนังสือซึ่งละครก็มีสิ่งนี้เช่นกัน”
ดังนั้น สำหรับบี หนังสือหรือละครที่ดี คือสเปซที่เปิดให้เด็กๆ ได้ตีความ ได้อ่านโลก ได้ทำความเข้าใจในแบบของเขาผ่านประสบการณ์เขา ซึ่งแต่ละคนจะมีวิธีการตีความไม่เหมือนกัน
06
To Be Continued
“และอย่างที่เล่าไปว่านอกจากพอดแคสต์เล่านิทาน ที่ทำงานกับพ่อแม่เพื่อให้รู้ว่าศิลปะเกิดขึ้นที่บ้านได้ ใครๆ ก็ทำได้แล้ว เฟสต่อมาของ Play From Home จะทำส่วนของ Puppetry ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับศิลปิน เราเลยชวนศิลปินสองคน คนแรกเป็นนักมายากล มีประสบการณ์ในการทำงานกับ Object Theatre คือ เจมส์ เลเวอร์ (James Laver) เขาจะมาทำซีรีส์เวิร์กช็อปให้เด็ก ด้วยการหาข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านไว้ทำอะไรที่เป็นมายากล
“อีกคนคือ ต้อม-สุธารัตน์ สินนอง จาก Homemade Puppet ต้อมเป็นศิลปิน Puppet ที่เราชื่นชมในกระบวนการทำงาน เขาอยู่เชียงใหม่ เขามีความฝันที่จะสร้างโรงละครขึ้นที่บ้านไม้ของเขา ซีรีส์ของต้อมเป็นการที่คนดู ดูต้อมค่อยๆ เปลี่ยนบ้านของเขาเป็นโรงละคร แล้วในที่สุดก็แสดงงานที่เขาเล่นได้เป็น Shadow Puppetry
“ทั้งสองท่านทำให้เราเห็นว่า การใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่บ้านก็สร้างความคิดสร้างสรรค์ขึ้นได้ หลังจากนั้นเราจะชวนคนจากทางบ้านส่งคลิปวิดีโอเข้ามาแลกเปลี่ยนกัน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจต่อๆ กันไป อันนี้เป็นช่วงเดือนกันยายนและตุลาคม”
อุ๊กล่าวทิ้งท้ายว่า “สิ่งที่เราทำกันอยู่ก็หวังจะเพิ่มความตระหนักว่า ศิลปะควรเคียงข้างไปกับการเรียนรู้ในโรงเรียน เพราะทักษะอื่นๆ ในชีวิตก็มีน้ำหนักเท่าเทียมกับความรู้ทางวิชาการเช่นกัน เด็กเรียนรู้ได้หลากหลายเรื่อง เราอยากใช้แพลตฟอร์มตรงนี้ผลักดันให้แต่ละครอบครัว โรงเรียน หรือพื้นที่ใดๆ ก็ตามเกิดกิจกรรมจริงๆ ที่เด็กๆ ได้ลงมือทำ ได้เรียนรู้หลากหลายมิติ แบบเดียวกับที่ BICTFest พยายามผลักดันในสองครั้งที่ผ่านมา”
ขอบคุณภาพจาก BICTFest