Ignacy Jan Paderewski นักเปียโนชาวโปแลนด์ พูดเอาไว้ว่า “I can’t imagine a genuinely happy home without music in it” (เขาจินตนาการไม่ออกเลยว่าบ้านที่ไร้เสียงเพลงจะเป็นบ้านแสนสุขจริงๆ ได้อย่างไร)

เห็นจะจริง

หลายเดือนก่อนหน้านัดหมาย เพลง-ต้องตา และ ป้อง-ปกป้อง จิตดี สองพี่น้องแห่งวง Plastic Plastic เราดูมิวสิกวีดีโอเพลงฮัม (Hum) และได้ยินว่าทั้งคู่ใช้สตูดิโอหลังใหม่ถ่ายทำบางฉากในเอ็มวีกันเอง แค่เห็นเปียโนหลังเขื่องบนพรมสีแดงข้างกันมีโคมไฟสูงและแจกันต้นไม้แสนมินิมัล บนโซฟาสีดำสนิทมีบันไดไม้พาดขึ้นคล้ายจะมีเตียงนอนชั้นลอย ก็อยากเยี่ยมบ้านพวกเขาทันที 

เยี่ยมบ้านที่เป็นทั้งสตูดิโอทำเพลง โรงเรียนอนุบาล และร้านอาหารของสองพี่น้องวง Plastic Plastic, เพลง-ต้องตา และ ป้อง-ปกป้อง จิตดี

เพราะเชื่อว่า บ้านเพลงหลังนี้คงจะธรรมดาเป็นพิเศษ

เดินเท้าไม่ไกลจากสถานีรถไฟฟ้า ทะลุผ่านร้านอาหารบ้านก้ามปู โรงเรียนอนุบาลเทพารักษ์ จนเจอบ้านจั่วสีขาวหลังเล็ก คือสตูดิโอทำเพลงของทั้งคู่ ต้องตาและปกป้องเดินออกมาต้อนรับด้วยท่าทีสดใส ก่อนนั่งลงตรงข้าม แล้วเริ่มต้นเล่าเรื่องบ้านหลังนี้ให้ฟัง

เยี่ยมบ้านที่เป็นทั้งสตูดิโอทำเพลง โรงเรียนอนุบาล และร้านอาหารของสองพี่น้องวง Plastic Plastic

บ้านที่พี่ชายออกแบบ

สองพี่น้องโดดเด่นในวงการเพลงสายอินดี้ป๊อบ มากกว่า 6 ปี จากแนวเพลงฟังสบายที่เลือกใช้ซาวด์ดนตรียุค 50 – 60 ผ่านท่วงทำนองสว่างไสวจากเครื่องดนตรีเพียง 2 ชิ้น คือเปียโนและกีตาร์ สร้างสรรค์แนวเพลงของตัวเองอย่างมีเอกลักษณ์ บวกกับเสียงใสๆ ของต้องตา หลับตาฟังยังรู้ว่านี่คือ Plastic Plastic ไม่ผิดแน่

ก่อนมีสตูดิโอหลังนี้ พวกเขาทำเพลงกันในบ้านหลังเดิมของครอบครัวอยู่แล้ว แต่พักหลังมีแขกมาเยี่ยมเยือนบ่อย ทั้งที่แวะเข้ามาอัดเพลง มาทำเพลง ทั้งคู่คิดตรงกันว่าอยากจะขยับขยายพื้นที่แยกความส่วนตัว ซึ่งบ้าน 1 ใน 5 หลังที่อยู่ในบริเวณนี้และไม่มีคนอยู่มานานก็ถูกทั้งคู่หมายตา

มีห้องรับแขกอย่างเป็นสัดส่วน และมีห้องทำเพลงที่ไม่เล็กไม่ใหญ่ ให้พอดีกับพื้นที่ คือโจทย์แรกที่ทั้งคู่คิด

“บ้านหลังนี้เป็นบ้านยุค 90 อายุน่าจะสามสิบปีได้ ผมไม่ได้ออกแบบให้สำเร็จตั้งแต่ต้นนะ คือลองไปเรื่อยๆ อย่างช่องนี้ ลองเจาะดูมั้ย หรือ เฮ้ย ไม่ได้ว่ะ ต้องเว้นตรงนี้ไว้ ไม่ได้คิดแต่แรกว่า เฮ้ย ต้องมีไฟตรงนี้ ช่วงที่ใกล้เสร็จ ใกล้จะทำไฟค่อยมาคิดกันว่า เราจะยังไง คือผมก็ไม่เคยทำบ้านเองแบบจริงๆ”

แม้จะพูดอย่างถ่อมตน อีกบทบาทหนึ่งก่อนหน้าของพี่ปกป้องคือนักเรียนสถาปัตย์ที่เป็นสถาปนิกอาชีพอยู่หลายปี ก่อนเปลี่ยนปากกาเขียนแบบมาเขียนเพลงอย่างเต็มตัว

บ้านสองชั้นพื้นที่ 64 ตารางเมตรหลังนี้ถูกออกแบบอย่างเรียบง่าย ตามพื้นที่จริงที่มีอยู่และรบกวนโครงสร้างเดิมให้น้อยที่สุด ส่วนกำแพงทึบก็เจาะช่องกระจกให้มากที่สุด เพื่อดึงแสงธรรมชาติเข้าสู่ตัวบ้าน และเป็นการเปิดให้แสงเงาเข้ามาในเวลาที่ใช่ โดยเฉพาะช่วงบ่ายแก่ที่แสงแดดอ่อนๆ ลอดผ่านมูลี่ ยิ่งสร้างท่วงทำนองพิเศษให้บริเวณนี้ตามจังหวะของแสง

เยี่ยมบ้านที่เป็นทั้งสตูดิโอทำเพลง โรงเรียนอนุบาล และร้านอาหารของสองพี่น้องวง Plastic Plastic

เมื่อทุบกำแพงกั้นห้องชั้นล่างออกทั้งหมด บันไดจึงตระหง่านอยู่กลางบ้าน ปกป้องเลือกถอดราวกันตกออกเพื่อให้บ้านดูโปร่งโล่ง และไม่รบกวนสายตาขณะนั่งตรงโซฟาส่วนรับแขกแล้วมองออกไปยังหน้าประตูบ้าน

เยี่ยมบ้านที่เป็นทั้งสตูดิโอทำเพลง โรงเรียนอนุบาล และร้านอาหารของสองพี่น้องวง Plastic Plastic

“พอดีคุณตาเป็นสถาปนิกด้วย ที่ออกแบบเลยได้อิทธิพลอะไรมาจากเขานิดนึงว่า การทำบ้านต้องทำให้โปร่ง เพราะบ้านทุกหลังที่นี่โปร่งหมดเลย รอบๆ เป็นกระจก มีมุ้งลวดเยอะๆ ” น้องสาวเล่าเสริม

เกือบลืมเล่าถึงทางเข้าบ้านแสนน่ารักนี้ ขวามือเป็นบาร์ขนาดเล็กพอให้วางเครื่องชงกาแฟสีสวย ด้านหลังมีชั้นวางแก้วเซรามิกเรียงเต็มผนัง ด้านหน้ามีบาร์นั่งติดช่องหน้าต่างบานกลมไว้มองลอดออกไปยังสนามเด็กเล่น

เยี่ยมบ้านที่เป็นทั้งสตูดิโอทำเพลง โรงเรียนอนุบาล และร้านอาหารของสองพี่น้องวง Plastic Plastic

มุมคาเฟ่นี้ ทั้งคู่เอ่ยปากว่าเตรียมไว้สำหรับชงกาแฟรับแขก แต่เพลงแอบกระซิบเราว่า เธอเผื่อพื้นที่ไว้สำหรับแผนในอนาคตอย่างเวิร์กช็อปหรือบางอย่างที่เธอกำลังคิดอยากทำเพิ่ม 

ขึ้นไปบนชั้นสอง แบ่งเป็นห้องอัดเสียงและห้องสำหรับทำงาน ส่วนอีกห้องเป็นห้องเก็บของที่เจ้าตัวบอกว่าไม่มีไม่ได้ ‘เอาไว้ซ่อนของรกๆ’ ผู้น้องว่าอย่างนั้น ก่อนพากันหัวเราะร่วน

เยี่ยมบ้านที่เป็นทั้งสตูดิโอทำเพลง โรงเรียนอนุบาล และร้านอาหารของสองพี่น้องวง Plastic Plastic

“หลักๆ คืออยากให้มันฟีลเหมือนเด็กเล่น มีเตียงอะไรข้างบนให้มันดูสนุกครับ ไม่อยากให้มันดูจริงจัง แบบ โหย ห้องอัด” ปกป้องเล่าพลางเปิดประตูให้เราเข้าไปดูข้างใน 

สตูดิโอที่แคร์การมองเห็นวิวมากกว่าเสียง

ห้องอัดเสียงส่วนใหญ่ที่เราเคยเห็นมักเป็นห้องทึบ เจาะช่องกระจกเล็กๆ ตรงกัน เพื่อเอาไว้สื่อสารกับนักร้องที่อยู่อีกห้อง แต่ที่จิตดีสตูดิโอ เขาเจาะช่องกระจกนั้นให้หันหน้าออกทางวิวนอกบ้านที่รายล้อมไปด้วยต้นไม้ รวมถึงแทนที่ผนังด้วยกระจกบานใหญ่รอบด้าน 

เยี่ยมบ้านที่เป็นทั้งสตูดิโอทำเพลง โรงเรียนอนุบาล และร้านอาหารของสองพี่น้องวง Plastic Plastic
เยี่ยมบ้านที่เป็นทั้งสตูดิโอทำเพลง โรงเรียนอนุบาล และร้านอาหารของสองพี่น้องวง Plastic Plastic

“จริงๆ มันเรื่องเสียงอะคูสติกที่ต้องกังวลครับ” ปกป้องรีบเอ่ย เมื่อเห็นเราทำสีหน้าสงสัย 

“แต่ว่าเราไม่ได้ทำห้องอัดแบบจริงจังมากขนาดนั้น คือเกือบจริงจัง เราเลยต้องบริหารระหว่างความโปร่งกับความอะคูสติก ซึ่งถ้าเอาแบบเสียงดีมาก อะคูสติกจัด มันก็ต้องทึบไปเลย แต่เราอยากได้บรรยากาศด้วยครับ” เขารีบต่อบทสนทนา

“อีกอย่าง ผมจะทำงานคนเดียวมากกว่า ปกติห้องอัดเขาจะอัดเสียงนักร้องทุกวัน แต่ผมแทบจะแบบอัดร้องประมาณสิบเปอร์เซ็นต์ ก็คือตามการใช้งานครับ ก็เลยหันออกดีกว่า

เยี่ยมบ้านที่เป็นทั้งสตูดิโอทำเพลง โรงเรียนอนุบาล และร้านอาหารของสองพี่น้องวง Plastic Plastic

“ส่วนห้องข้างนอกเอาไว้ทำงานที่ไม่ต้องกันเสียงอะไร เน้นความครีเอทีฟมากกว่า เลยเอาบรรยากาศก่อน” ปกป้องเล่าพลางพาเดินไปเปิดประตูระเบียง ที่เขาตั้งใจเก็บเอาไว้ เผื่อแดดร่มลมตกก็ออกไปนั่งมองร่มไม้ คิดอะไรเล่นๆ 

เยี่ยมบ้านที่เป็นทั้งสตูดิโอทำเพลง โรงเรียนอนุบาล และร้านอาหารของสองพี่น้องวง Plastic Plastic

สตูดิโอที่แชร์พื้นที่กับโรงเรียน

การเติบโตในบ้านท่ามกลางโรงเรียนอนุบาล ทำให้พวกเขาผูกพันกับที่นี่เป็นพิเศษ และไม่ลังเลถ้าต้องเลือกทุบกำแพงบ้านออกเพื่อเชื่อมโรงเรียน สนามเด็กเล่น และโฮมสตูดิโอของเขาไว้ด้วยกัน

เยี่ยมบ้านที่เป็นทั้งสตูดิโอทำเพลง โรงเรียนอนุบาล และร้านอาหารของสองพี่น้องวง Plastic Plastic

แก้ปัญหาความสูงต่ำของพื้นที่โรงเรียนกับตัวบ้านและเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งาน ด้วยการทำขั้นบันไดที่ควบหน้าที่เป็นสแตนด์สำหรับนั่งทำกิจกรรม ฝีมือคุณตา

แบ่งพื้นที่ใต้ถุนบ้านเป็นห้องเรียนวิชาคุกกิ้ง ออกแบบบ้านต้นไม้ที่มีสไลเดอร์ มีเชือกสำหรับไต่และมือจับปีนผา รวมถึงของเล่นในสนาม ฝีมือปกป้อง

เยี่ยมบ้านที่เป็นทั้งสตูดิโอทำเพลง โรงเรียนอนุบาล และร้านอาหารของสองพี่น้องวง Plastic Plastic

ช่วยคุณแม่บริหารโรงเรียนอนุบาลเทพารักษ์ ฝีมือต้องตา

“แล้วเด็กๆ เขาเรียนอะไรกัน ทำไมดูน่าสนุก” เราถามเธอ

จริงๆ มันไม่เชิงเป็น วิชานะ แต่จะเรียนไม่เหมือนกันเลยแต่ละห้อง อย่างเช่นถ้าเด็กห้องนี้กำลังสนใจเรื่องผีเสื้อก็จะเอาเรื่องผีเสื้อมาเรียนให้เป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษ หรือคณิตศาสตร์ คือเอาเรื่องนั้นมาทำให้เป็นทุกวิชาได้” เธอตอบ 

ฟังแล้วก็น่าสนุกจริงๆ เพราะนอกจากวิชาศิลปะและยังมีวิชาดนตรีที่เป็นกึ่งกิจกรรมกึ่งดนตรี ที่เรียกว่า Orff Schulwerk คือเน้นให้เด็กได้มีพัฒนาการทางอารมณ์ เน้นการเคลื่อนไหว เน้นการเข้าใจจังหวะ รวมถึงกิจกรรมน่ารักที่เสริมพัฒนาการทุกส่วนของน้องๆ ไปพร้อมกับการเล่นสนุก อย่างการแสดงออกบนเวที การพับดอกบัว การทำปุ๋ยหมักในคลาส Global Warming 

แน่นอนว่าทั้งสองพี่น้องผ่านการเป็นนักเรียนอนุบาลตัวน้อยที่นี่

เยี่ยมบ้านที่เป็นทั้งสตูดิโอทำเพลง โรงเรียนอนุบาล และร้านอาหารของสองพี่น้องวง Plastic Plastic

เริ่มที่บ้าน จบที่บ้าน

เติบโต ร่ำเรียน (อนุบาล) และทำงาน ชีวิตของทั้งคู่วนเวียนอยู่กับบ้านไม่ห่างไปไหน 

“เพราะว่าเป็นคนชอบอยู่บ้าน เลยส่งผลต่อการทำเพลงด้วยหรือเปล่า” เราเอ่ยขึ้นหลังเดินเข้าออก สำรวจมุมโน้นมุมนี้

“ด้วยนะ คือเป็นคนชอบอยู่บ้านด้วย แล้วก็…” น้องสาวว่า

แล้วก็ชอบไม่อยู่บ้าน (หัวเราะ)” พี่ชายเสริมทับทันที

เยี่ยมบ้านที่เป็นทั้งสตูดิโอทำเพลง โรงเรียนอนุบาล และร้านอาหารของสองพี่น้องวง Plastic Plastic

“อย่างอัลบั้ม Stay at home เราจบงานที่บ้านด้วยแหละ เลยรู้สึกว่าเป็นอัลบั้มที่ทำที่บ้านจริงๆ

“ส่วนมากเราหยิบเรื่องใกล้ตัวมาแต่งเพลง เป็นเรื่องในบ้านก็เยอะ มีเพลง เปิดประตู ที่ร้องว่า ‘มาเปิดประตูให้ฉันที ไม่รู้วันนี้กุญแจหล่นไปรึเปล่า’ คือเล่าจริงที่ตอนนั้นเข้าบ้านไม่ได้ เพราะกลับบ้านดึก ทุกคนนอนหมดแล้วจนต้องปีนหน้าต่างขึ้นห้อง ก็เลยเอามาเล่าเป็นเพลง ส่วนเรื่องหยิบแฮม (เพลงหยิบแฮมเป็นแผ่นที่หก) มันก็คือเรื่องในห้องครัว ในบ้าน” ต้องตาพูดต่อด้วยเสียงกลั้วหัวเราะ

“เวลาทำเพลงจะพยายามให้มันจบที่บ้าน เป็นแบบนี้มาตั้งแต่มัธยม ถ้าคนอื่นที่เล่นดนตรีแต่ไม่ทำเพลงเองก็จะไปห้องซ้อม แต่เขาชอบศึกษาด้วยตัวเอง ฝึกอัดเองอะไรเอง พอศึกษาเรื่อยๆ ก็แบบเราทำเองได้” ปกป้องเล่าพลางนึกย้อนไปถึงช่วงเวลานั้น

นับตั้งแต่เพลงแรก จนถึงเพลงล่าสุด ทั้งคู่ทำเพลงเองที่บ้านทุกกระบวนการ จนลงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า การทำงานอยู่ที่บ้านนั้นดีกว่าเยอะ 

“มันชิน ทำนานแค่ไหนก็ได้ ทำเมื่อไหร่ก็ได้…” น้องสาวว่า

“แล้วก็ไม่ทำก็ได้ (หัวเราะ)” พี่ชายรีบเสริมทับ (อีกครั้ง)

ยิ่งช่วงนี้ทั้งคู่สนุกกับการทดลองจับนู่น ผสมนี่ เพื่อแต่งสตูดิโอของตัวเองไปด้วย ก็ยิ่งทำให้พวกเขาหลงบ้านตัวเองจนไม่อยากออกไปไหน

ไม่ใช่แค่พวกเขา เราเองยังแอบตกหลุมรักสตูดิโอหลังนี้เข้าเสียแล้ว

ก่อนกลับเราร่ำลากันด้วยประโยคติดตลกของปกป้อง “รู้สึกเป็นบุญมาก ที่ทำงานอยู่ที่บ้านได้ (หัวเราะ)”

เห็นจะจริง

การได้อยู่ในบ้านที่มีเสียงเพลงคอยเติมความสุข เติมชีวิตชีวาให้ไม่เงียบเหงา มีเสียงหัวเราะสนุกสนานของเด็กๆ คลอเบาๆ ไปกับทำนองของเครื่องดนตรี กลายเป็นเมโลดี้ที่ฟังเพลินไปอีกแบบ

ก็เป็นบุญ อย่างที่เขาว่านั่นแหละ

เยี่ยมบ้านที่เป็นทั้งสตูดิโอทำเพลง โรงเรียนอนุบาล และร้านอาหารของสองพี่น้องวง Plastic Plastic

Writer

Avatar

ปาริฉัตร คำวาส

อดีตบรรณาธิการสื่อสังคมและบทความศิลปวัฒนธรรม ผู้เชื่อว่าบ้านคือตัวตนของคนอยู่ เชื่อว่าความเรียบง่ายคือสิ่งซับซ้อนที่สุด และสนใจงานออกแบบเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (กับเธอ)

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ