PlanToys คือแบรนด์ของเล่นไม้สัญชาติไทยแท้ แต่ตลอด 38 ปีที่ผ่านมาพวกเขากลับมีลูกค้าคนไทยอยู่เพียงแค่ 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จึงไม่แปลกนักที่คนไทยส่วนมากจะไม่คุ้นหูกับชื่อแบรนด์นี้เท่าไร หรือต่อให้เคยเห็นเจ้าของเล่นไม้ชิ้นเล็กผ่านตากันอยู่บ้าง ก็คงไม่คาดคิดว่านี่คือสินค้าของคนไทย

“คนไทยเองชอบนึกว่าแปลนทอยส์เป็นแบรนด์ของยุโรป แม้แต่เวลาเราไปออกงานแฟร์ในต่างประเทศ พอบอกว่าเรามาจากไทยแลนด์ คนต่างชาติก็งง ถามกลับมาว่าไต้หวันเหรอ” โกสินทร์ วิระพรสวรรค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทแปลนทอยส์ เล่าให้เราฟังพร้อมเสียงหัวเราะ

โกสินทร์ วิระพรสวรรค์ กรรมการผู้บริหารบริษัทแปลนทอยส์

สาเหตุที่บริษัทเก่าแก่อายุร่วม 4 ทศวรรษอย่างแปลนทอยส์มีภูมิหลังเป็นปริศนาในสายตาผู้ซื้อส่วนมาก เป็นเพราะว่าที่ผ่านมาพวกเขาดำเนินธุรกิจผ่าน Distributor มาโดยตลอด และไม่เคยออกโฆษณาเลยสักตัว กระทั่งตอนนี้ ด้วยปัจจัยแวดล้อมที่เอื้ออำนวย พวกเขาจึงตัดสินใจผลิตหนังโฆษณาตัวแรกนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท โดยจับมือกับบริษัทชูใจ กะ กัลยาณมิตร เพื่อพูดกับพ่อแม่ทั่วโลกอย่างเปิดอก ถึงสิ่งที่พวกเขาตั้งใจทำตลอดมา 

อ่านมาถึงตรงนี้ ใครที่ยังนึกไม่ออกว่าแปลนทอยส์คือใคร พวกเขาทำอะไรบ้าง เราขอเชิญให้คุณกดปุ่มเพลย์ข้างล่างเบาๆ แล้วรับชมโฆษณาตัวนี้ไปพร้อมกัน

เมื่อดูคลิปนี้จบ เราไม่รีรอที่จะติดต่อไปขอพูดคุยกับตัวแทนฝั่งลูกค้าอย่างแปลนทอยส์ รวมถึงทีมครีเอทีฟอย่าง เม้ง-ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ และ เป้า-ไพรัช เอื้อผดุงเลิศ ผู้ก่อตั้งบริษัทชูใจ กะ กัลยาณมิตร พร้อมด้วยสองผู้กำกับ ยอร์ช-สรศาสตร์ วิเศษสินธุ์ และ เป๊ก-อภิสิทธิ์ คำเป๊ก แห่งลองดูโปรดักชั่น

“อะไรคือโจทย์จากแปลนทอยส์” เราชวนทุกคนในห้องนึกย้อนไปถึงวันแรกของโปรเจกต์นี้

เม้ง-ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ และ เป้า-ไพรัช เอื้อผดุงเลิศ ผู้ก่อตั้งบริษัทชูใจ กะกัลยาณมิตร ยอร์ช-สรศาสตร์ วิเศษสินธุ์ และ เป๊ก-อภิสิทธิ์ คำเป๊ก แห่งลองดูโปรดักชั่น

“ข้อดีแปลนทอยส์มีตั้งเยอะแยะใช่ไหมครับ ความท้าทายของเราก็คือ จะเล่าข้อดีเหล่านี้ยังไงให้คนรู้สึกสนใจ คนภายนอกจะสนใจเรื่องนี้ทำไม เพราะสิ่งที่เราจะบอกก็คือ Brand Talk แบบร้อยเปอร์เซ็นต์เลย” ไพรัชเล่าถึงโจทย์สำคัญของตนเองในฐานะครีเอทีฟ

แน่นอนว่าฝั่งลูกค้าอย่างโกสินทร์เองก็ต้องเผชิญกับโจทย์ที่ไม่คุ้นชินเช่นกัน

“เมื่อก่อนเวลาที่เราพูดในระดับ Trading เราก็จะพูดกันด้วยภาษาหนึ่ง เพื่อให้เขาเข้าใจและซื้อของของเราไปขาย แต่ถ้าเราจะเอาใช้วิธีการเดิมนั้นพูดกับแม่ๆ ที่เป็นผู้บริโภค เขาก็จะไม่เข้าใจ” โกสินทร์เล่าถึงอุปสรรคในการสื่อสารกับบรรดาพ่อแม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือความคุ้นเคยของแปลนทอยส์ไปไกล

และถึงแม้ว่าแปลนทอยส์จะเป็นลูกค้าที่มีวัตถุดิบดีๆ ให้เล่าได้มากมาย แต่ในขณะเดียวกัน นั่นก็เป็นภารกิจสุดท้าทายสำหรับทีมชูใจ ที่จะต้องเล่าเรื่องราวทั้งหมดออกมาอย่างสั้น กระชับ และที่สำคัญคือต้องสนุก!

เม้ง-ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ และ เป้า-ไพรัช เอื้อผดุงเลิศ ผู้ก่อตั้งบริษัทชูใจ กะกัลยาณมิตร ยอร์ช-สรศาสตร์ วิเศษสินธุ์ และ เป๊ก-อภิสิทธิ์ คำเป๊ก แห่งลองดูโปรดักชั่น

Mission 01 สกัดให้ถึงแก่น

ถ้าเปรียบโฆษณาเป็นผลแตงโม สรศาสตร์บอกกับพวกเราว่า โดยปกติแล้วหน้าที่ของเขาในฐานะผู้กำกับโฆษณา คือการเล่าเรื่องจากเมล็ดแตงโมให้ใหญ่เท่าผลแตงโม

แต่โฆษณาชิ้นนี้กลับต่างออกไป

“สิ่งที่เราทำกันอยู่กับแปลนทอยส์นี่มันแปลกมาก เพราะสิ่งที่เขามีอยู่และทำอยู่นี่มันเยอะเท่าผลแตงโมเลย เยอะเกินกว่าที่เราจะนำเสนอออกไปได้ เพราะเราพูดได้แค่เมล็ดแตงโม” สรศาสตร์เปรียบเทียบจนเราเห็นภาพอย่างชัดเจน

“แปลนทอยส์ตั้งใจจะนำเสนออะไร” เราหันกลับไปถามโกสินทร์ถึงผลแตงโมที่เขาว่า

“สิ่งที่เราต้องการจะพูดมันไม่เปลี่ยนหรอก 38 ปีที่ผ่านมาเราก็พูดอยู่แค่ 3 – 4 เรื่องนี่แหละ คือเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และพัฒนาการเด็ก ส่วนเรื่องความปลอดภัย ปกติในระดับอุตสาหกรรมเราไม่ต้องพูดอยู่แล้ว เพราะมีมาตรฐานรับรอง แต่พอเรามาพูดกับระดับผู้บริโภค เขาไม่รู้หรอกว่ามันมีเกณฑ์อะไรกันบ้าง เขาแค่ห่วงว่าสีที่ลูกฉันเอาเข้าปาก มันต้องปลอดภัย

“คำถามคือ เราจะเอาคอนเทนต์พวกนี้ไปพูดให้แม่เข้าใจได้ยังไง ซึ่งนี่มันก็เป็นสิ่งที่เราพยายามคิดที่จะทำมาโดยตลอด แต่เราก็ยังคิดไม่ออก” โกสินทร์เล่าถึงความยากในแง่การสื่อสารของแปลนทอยส์ ก่อนที่ประสิทธิ์จะเสริม

“เราอยากเล่าปรัชญาในการทำงานของแปลนทอยส์ แต่นี่คือสิ่งที่ขายไม่ได้ ลูกค้าก็บอกอยู่แล้ว เพราะเขาขายอย่างนี้มาตั้งนาน แต่ขายไม่ได้ คนนอกมักจะมองว่าฟุ่มเฟือย เพราะสิ่งที่แปลนทอยส์ทำมันเกินของเล่นเด็กไปเยอะ ปกติเราซื้อของเล่น มันก็เอาไว้เล่น ทำไมเราต้องเอาสตางค์ไปจ่ายเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อมาตรฐาน เพื่อสังคม” นี่คือหลักการและเหตุผลที่ประสิทธิ์สรุปได้จากการทำงานนี้

เม้ง-ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ และ เป้า-ไพรัช เอื้อผดุงเลิศ ผู้ก่อตั้งบริษัทชูใจ กะกัลยาณมิตร ยอร์ช-สรศาสตร์ วิเศษสินธุ์ และ เป๊ก-อภิสิทธิ์ คำเป๊ก แห่งลองดูโปรดักชั่น

แต่เมื่อได้ใช้เวลาในการตกตะกอนอย่างถี่ถ้วน ประสิทธิ์และไพรัชก็กลับไปหาแปลนทอยส์พร้อมกับไอเดียใหม่ ซึ่งพวกเขาบอกว่าเป็นไอเดียที่เกิดจากสัญชาตญานความเป็นพ่อล้วนๆ

“ถ้างั้นเราก็พูดไปเลยสิว่า สิ่งที่แม่คิดกับสิ่งที่แปลนทอยส์ทำมันคือเรื่องเดียวกัน” 

Mission 02 พูดให้แม่ทั่วโลกฟัง

“เราต้องการสร้าง Brand Awareness ให้คนในประเทศ พร้อมกับเล่าสารชุดนี้ให้คนทั่วโลกรับรู้ด้วย” ด้วยโจทย์เช่นนี้ ทั้งแปลนทอยส์และชูใจจึงร่วมกันทำรีเสิร์ชผ่านการพูดคุยกับแม่ๆ หลากหลายชาติ เพื่อทำความเข้าใจหัวอกคนเป็นแม่อย่างแท้จริง อีกนัยก็เพื่อให้ประสิทธิ์และไพรัชได้แน่ใจว่า สิ่งที่พวกเขาคิดจะนำเสนอนั้นถูกต้อง

“จากรีเสิร์ชของเรา เราก็ได้เจอว่าแม่ส่วนมากก็เป็นห่วงลูกในเรื่องคล้ายๆ กัน แม้ว่าแต่ละคนอาจจะมีภูมิหลังที่ต่างกัน แต่ผลส่วนมากก็เป็นสิ่งเดียวกับที่แปลนทอยส์ทำเพื่อที่จะไปแก้ Concern ของแม่อยู่แล้ว” โกสินทร์เล่า

“ถ้าอย่างนั้นชูใจเลือกประเด็นที่จะนำเสนอออกมาได้ยังไง” เราถามต่อ

หนังโฆษณาตัวแรกในรอบ 40 ปีของ PlanToys บริษัทของเล่นที่คิดและทำเหมือนแม่ๆ

“จริงๆ 4 ข้อนี้ก็เป็นสิ่งที่ทางคุณโกสินทร์ให้มาแล้วส่วนหนึ่ง อีกส่วนก็คือเรามาช่วยกันพิจารณากันโดยดูจากว่า Shared Value ตรงกลางที่แปลนทอยส์มีร่วมกับผู้บริโภค ประเด็นอะไรเกี่ยวกับแปลนทอยส์ที่คนน่าจะสนใจ ส่วนบางประเด็นที่เบาเราก็ค่อยเอาออก 

“อย่างเรื่องแรก ในฐานะบริษัทของเล่น พัฒนาการเด็กก็ต้องสำคัญที่สุด ด้วยคาแรกเตอร์ที่แตกต่างด้วยนะ เพราะแปลนทอยส์ทำของเล่นเพื่อพัฒนาการเด็ก แต่ไม่ได้ทำตามเทรนด์ความนิยม เขาไม่ทำปืน ไม่ใส่ถ่านเพื่อให้มีเสียงและแสง ซึ่งมันเป็นจุดยืนที่ชัดมากในความเห็นของเรา

“ประเด็นที่สองก็คือ เราเห็นความพยายามของลูกค้า ที่พยายามจะทำเกินมาตรฐานเรื่องความปลอดภัย คือสินค้าของเขามันผ่านเกณฑ์ต่างๆ มาตั้งนานแล้ว แต่เพราะเขารู้ว่าเด็กชอบอมของเล่น เลยพยายามใช้สีที่ปลอดภัยกับเด็กที่สุด พยายามลดสารเคมีให้ได้มากกว่านั้นอีก ยอมให้ต้นทุนแพงขึ้นเพื่อ Over Standard ทั้งที่เขาสามารถลดต้นทุนลงก็ได้” ไพรัชแชร์ถึงความดีงามของแปลนทอยส์ที่เขาอยากนำเสนอ ก่อนที่ประสิทธิ์จะเสริมต่อ

หนังโฆษณาตัวแรกในรอบ 40 ปีของ PlanToys บริษัทของเล่นที่คิดและทำเหมือนแม่ๆ
หนังโฆษณาตัวแรกในรอบ 40 ปีของ PlanToys บริษัทของเล่นที่คิดและทำเหมือนแม่ๆ

“เรื่องที่สามคือ สิ่งแวดล้อม เรื่องนี้ผมว่ามันเป็นเทรนด์ ยิ่งในปีนี้เรื่องสิ่งแวดล้อมมาแรงมาก ในขณะที่ทางแปลนทอยส์เองก็ทำมาตั้งนานแล้ว อย่างการที่เขาสร้างโรงผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่เท่าสนามบอล โดยใช้เศษไม้ที่เหลือจากการทำของเล่นมาผลิตไฟฟ้าอีกครั้ง เราคิดว่าการพูดเรื่องนี้มันก็น่าจะดี

“ส่วนเรื่องที่สี่คือ สังคม เป็นประเด็นที่เราได้รับฟังจากพ่อแม่ต่างชาติเยอะ เราได้เห็นว่าเขาให้ความสำคัญเรื่องนี้เยอะเหมือนกันนะ ถ้าเทียบกับตัวผมเอง เราไม่เคยคิดมาก่อนเลย เวลาเราเห็นเหตุการณ์รุนแรง เราก็คิดว่าเป็นเรื่องของคนอื่น แต่กับพ่อแม่ที่เราไปสัมภาษณ์ เขาคิดว่าคนที่ขาดโอกาสหรือด้อยโอกาส เรามีหน้าที่ช่วยสนับสนุนพวกเขา เพราะสุดท้ายลูกเราก็ต้องโตขึ้นไปอยู่กับสิ่งเหล่านั้นอยู่ดี” ไพรัชเล่าถึงมุมมองใหม่ๆ ที่เขาได้เรียนรู้จากการพูดคุยกับพ่อแม่หลายท่าน ในระหว่างการทำโฆษณาชิ้นนี้

Mission 03 เล่าเรื่องให้น่าดู

ถึงตรงนี้ ความกลัวก็ได้แผ่เข้าปกคลุมจิตใจของทั้งทีมครีเอทีฟและผู้กำกับกันอย่างถ้วนหน้า

“หนังเรื่องนี้ใครจะดูวะ” นี่คือความกังวลที่ใหญ่หลวงที่สุดสำหรับประสิทธิ์ 

“เราคิดเยอะมาก กลัวคนไม่ดู กลัวคนไม่ตื่นเต้น ทำหนังขายของเล่นแล้วมาเล่าเรื่องโลก เล่าเรื่องลูก คนจะดูไหม เราคิดกันจนเตลิดเปิดเปิง” 

“เตลิดเปิดเปิงยังไง” เราสงสัย 

“คือตอนแรกเราอยากเล่าว่า ความกังวลของแม่คืออะไร แล้วก็ถ่ายให้ดูว่าแปลนทอยส์ทำอะไร เป็นการเปรียบเทียบ เราส่งต่อไอเดียนี้ให้สองผู้กำกับ เขาก็ทำหน้ากังวลแล้วถอนหายใจ เพราะเขาบอกว่าเขากลัวเอาคนดูไม่อยู่

“พอผู้กำกับกลับมาพร้อมกับไอเดียว่า หรือเอาเสียงแม่มาสวมกับพนักงานล่ะ ซึ่งเราก็คิดว่าอันนี้น่าสนใจ” ไพรัชเล่าให้ฟังถึงวันที่พวกเขาได้ไอเดียเรื่องนี้มา พร้อมกับเสริมว่าก่อนหน้าที่จะมาเป็นแบบนี้ พวกเขาเคยคิดไปไกลชนิดที่ว่า จะให้มีนกแก้วและโลมาพูดได้เลยทีเดียว

“แต่หลังจากนั้นทีมผู้กำกับก็หายไปสัก 2 – 3 อาทิตย์ แล้วก็กลับมาพร้อมไอเดียใหม่อีก” ไพรัชเล่าพร้อมกับเสียงหัวเราะ เมื่อพวกเขาดูจะยังไม่มั่นใจกับไอเดียเดิมเท่าไรนัก กระทั่งสองครีเอทีฟอย่างประสิทธิ์และไพรัชตัดสินใจมานั่งจับเข่าคุยถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง

หนังโฆษณาตัวแรกในรอบ 40 ปีของ PlanToys บริษัทของเล่นที่คิดและทำเหมือนแม่ๆ

“สุดท้ายผมมานั่งคุยกันว่า นี่เราขายอะไรกันอยู่ จนสรุปได้ว่ายังไงเราก็ต้องขายกระบวนการของแปลนทอยส์ เพราะนี่คือสิ่งที่มีคุณค่าที่สุด หนังเรื่องนี้ต้องเล่ากระบวนการผลิตของเขาให้ออกมาให้ได้ เพราะคุณค่ามันจะอยู่ตรงนี้” 

ที่สุดแล้ว พวกเขาก็ตัดสินใจที่จะเชื่อมั่นในสิ่งที่แปลนทอยส์ทำมาตลอด 38 ปี

Mission 04 โฆษณาให้เหมือนจริง

“ทำไมมู้ดโทนของหนังถึงดูฉีกจากตัวตนของแปลนทอยส์ที่เราคุ้นเคย” เราตั้งคำถามกับสรศาสตร์

“เพราะเรามีข้อมูลเยอะมาก เราเลยต้องคิดว่าจะทำยังไงให้คนดูสนุก เราตัดสินใจเคลือบมันด้วยสีสันต่างๆ เพื่อให้คนรู้สึกอยากดูต่อ” สรศาสตร์เล่าถึงความกังวลของเขาในฐานะผู้กำกับ หลังจากที่ทำการสัมภาษณ์เหล่าพ่อแม่จำนวนมาก จนได้ข้อมูลหนาเท่าเล่มวิทยานิพนธ์ และเทปสัมภาษณ์ที่ใช้เวลาตั้งแต่เช้าจรดเย็น

“กิมมิกของมันคือ Toys Factory ซึ่งผมว่านี่แหละคือสิ่งที่ขายผ่านยากที่สุด” ประสิทธิ์เกริ่นถึงด่านสุดหิน

หนังโฆษณาตัวแรกในรอบ 40 ปีของ PlanToys บริษัทของเล่นที่คิดและทำเหมือนแม่ๆ

“เพราะคุณวิฑูรย์ วิระพรสวรรค์ (ผู้ก่อตั้งบริษัท) เองก็อยากสะท้อนภาพโรงงานตามจริงให้มากที่สุด แต่เราก็คิดว่ามันจะเอาข้อมูลไม่อยู่ ในมุมคนทำโฆษณานะ คือเราก็รู้ว่าข้อมูลมันเป็นตับเลย เราก็เลยคิดว่าต้องเอาอาร์ตไดเรกชันเข้ามาช่วย” 

“สุดท้ายแล้วทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ยังไง” เราสงสัย เมื่อมองเห็นว่าประเด็นนี้ดูจะตัดสินได้ยาก

หนังโฆษณาตัวแรกในรอบ 40 ปีของ PlanToys บริษัทของเล่นที่คิดและทำเหมือนแม่ๆ

“สุดท้ายคุณวิฑูรย์ก็บอกว่า งั้นคุณก็บอกมาว่าจะทาสียังไง แล้วผมจะทาอย่างนั้นจริงๆ คือพออาร์ตไดเรกชันมันเป็นไปทางนั้น เขาก็ถือโอกาสรีโนเวตโรงงานไปเลย หรืออย่างชุดพนักงาน ล่าสุดเขาก็จะเปลี่ยนให้เป็นเอี๊ยมแบบในหนังจริงๆ ถือโอกาสทำใหม่ไปเลย” ประสิทธิ์เล่าถึงแง่มุมในการประนีประนอมที่น่ารัก เมื่อผู้กำกับอยากเซ็ตฉาก แต่ลูกค้าอย่างแปลนส์ทอยก็ต้องการให้ทุกอย่างสมจริง ทางออกของเรื่องนี้ก็คือ 

ทำของจริงให้เป็นไปตามที่ผู้กำกับอยากเซ็ต!

Mission 05 คิดให้รอบคอบ

วันออกกอง ที่โรงงานแปลนทอยส์ จังหวัดตรัง คือด่านสุดท้ายที่หินที่สุดสำหรับทีมงานทุกคน

หนังโฆษณาตัวแรกในรอบ 40 ปีของ PlanToys บริษัทของเล่นที่คิดและทำเหมือนแม่ๆ

เพื่อความสมจริงที่สุด ทางผู้กำกับและครีเอทีฟจึงตัดสินใจให้พนักงานแปลนทอยส์จริงๆ มาแสดง ฟังแค่นี้ก็รู้แล้วว่างานนี้ไม่ง่ายแน่นอน

“ตรงนี้ยากมากๆ เพราะทีมแคสติ้งก็ต้องลงไปอยู่กับพนักงานจริงๆ เราต้องไปแคสต์คนที่จะมาพูดได้ มางับปากได้จริงๆ ยิ่งในวันถ่ายทำ ด้วยความที่เขาไม่ใช่นักแสดง และเขาก็ไม่ใช่คนนอนดึก ปกติก็ทำงาน กลับบ้าน นอนเร็ว ในขณะที่กองถ่ายของเราคือมันต้องถ่ายกันยันเช้า” สรศาสตร์เล่าตอนที่เขาต้องกำกับพนักงานที่ใกล้สัปหงกให้งับปากตามเสียงของเหล่าคุณแม่

หนังโฆษณาตัวแรกในรอบ 40 ปีของ PlanToys บริษัทของเล่นที่คิดและทำเหมือนแม่ๆ

ไม่เพียงแต่ขั้นตอนการกำกับเท่านั้น เพราะการที่พวกเขาตัดสินใจให้พนักงานพูดออกมาเป็นเสียงแม่ หมายความว่าพวกเขาจำเป็นต้องเลือกคำพูดจากบทสัมภาษณ์มาก่อนทั้งหมด เพื่อซักซ้อมให้พนักงานทีละคน

“ก่อนหน้าที่จะบินไปถ่ายทำที่โรงงานวันหนึ่ง เราทั้งหมดมารวมตัวกันเพื่อเลือกคำที่จะเอาไปใช้ในหนัง ซึ่งต้องคัดจากสิ่งที่เราสัมภาษณ์กันมาร้อยกว่าหน้า แล้วพอไปถึงเราก็ต้องไปซ้อมเขาตรงนั้นเลย

หนังโฆษณาตัวแรกในรอบ 40 ปีของ PlanToys บริษัทของเล่นที่คิดและทำเหมือนแม่ๆ

“และมันจะยากอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราสามารถใช้ได้แค่เท่าที่เขาพูด เราต้องมั่นใจแล้วว่าคำนี้มันต้องได้นะ เพราะตอนตัดต่อเราก็แก้อะไรไม่ได้แล้ว” อภิสิทธิ์อธิบายถึงความซับซ้อนของการถ่ายทำ

“แปลว่าเราไม่สามารถแก้ลำดับภาพอะไรได้เลยถูกไหม” เราถามย้ำ

หนังโฆษณาตัวแรกในรอบ 40 ปีของ PlanToys บริษัทของเล่นที่คิดและทำเหมือนแม่ๆ

“ใช่ เราแก้อะไรไม่ได้แล้ว ปกติแล้วเราจะไม่ค่อยห่วงขั้นตอนการทำเสียงหรอก เพราะเราถ่ายเผื่อไปได้ เราลองได้หมด แต่งานนี้เราทำไม่ได้เลย เหมือนเราต้องทำทุกอย่างให้ไฟนอลก่อน แล้วไปถ่ายตามนั้น ตัดต่อตามนั้น” ประสิทธิ์ขยายความจนเราเข้าใจว่า กว่าจะออกมาเป็นงานนี้ พวกเขาต้องคิดและวางแผนมาแล้วอย่างถี่ถ้วนในทุกช็อต ทุกซีน

“เป็นงานที่ยากที่สุดเท่าที่เราเคยทำมา ยากที่สุดจริงๆ” อภิสิทธิ์ย้ำ

หนังโฆษณาตัวแรกในรอบ 40 ปีของ PlanToys บริษัทของเล่นที่คิดและทำเหมือนแม่ๆ
หนังโฆษณาตัวแรกในรอบ 40 ปีของ PlanToys บริษัทของเล่นที่คิดและทำเหมือนแม่ๆ

Mission in Common

“ถ้าแปลนทอยส์จะทำโฆษณา เราก็อยากให้ชูใจทำให้” คุณวิฑูรย์เคยบอกกับเราไว้อย่างนั้น

“ถ้าเป็นงานจากแปลนทอยส์ ยังไงเราก็ทำ ถ้าไม่ทำก็เท่ากับว่าเราโกหกตัวเอง” ประสิทธิ์ออกตัวเช่นกัน

“ทำไม” เราสงสัย

เม้ง-ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ และ เป้า-ไพรัช เอื้อผดุงเลิศ ผู้ก่อตั้งบริษัทชูใจ กะกัลยาณมิตร ยอร์ช-สรศาสตร์ วิเศษสินธุ์ และ เป๊ก-อภิสิทธิ์ คำเป๊ก แห่งลองดูโปรดักชั่น

“ชูใจกับแปลนทอยส์เป็นองค์กรที่มี Vision และ Mission ร่วมกันหลายอย่าง แม้ว่าอาจจะไม่ใช่สิ่งเดียวกันเสียทีเดียว แต่เวลาที่คุยกันเรื่องสังคม เราคิดอะไรคล้ายกัน มันก็ไปกันได้ง่าย

“พอมาถึงโปรเจกต์นี้ ซึ่งเราอยากพูดกับแม่ ก็เลยคิดว่าเราน่าจะต้องการคนที่มีจริตคล้ายกัน เพราะฉะนั้น พอเราเลือกชูใจเข้ามา ผมก็เลยคิดว่ามันเป็นอะไรที่คลิกกันง่าย แต่ผมก็ไม่รู้เขาคลิกกับผมหรือเปล่านะ” โกสินทร์ทิ้งท้ายพร้อมเสียงหัวเราะ พลางโยนคำถามไปให้ทีมชูใจ

“งานจากแปลนทอยส์นี่เราไม่สามารถปฏิเสธได้ ยังไงชูใจก็ต้องทำ เพราะเราจะหาบริษัทที่มีปรัชญาตรงกับบริษัทเราขนาดนี้ไม่ได้อีกแล้ว แปลนทอยส์คือลูกค้าที่เราตามหาเลยนะ เพราะนอกจากนี้มันไม่มีหรอก ลูกค้าที่เขาคิดของเขาแบบนี้อยู่แล้ว งานธรรมดาที่แปลนทอยส์ทำ ยังดีกว่าการทำ CSR ของที่อื่นอีก

“และถ้าย้อนกลับไป โครงการ Mom-Made Toys ของแปลนทอยส์คือโปรเจกต์ที่ทำให้มีชูใจขึ้นมา เป็นงานแรกของชูใจ ที่เราตัดสินใจออกจากบริษัทเก่ามาตั้งชูใจก็เพราะโปรเจ็กต์นี้” ไม่เพียงแต่พูดจากันรู้เรื่องเท่านั้น ประสิทธิ์ยังเท้าความไปถึงจุดเริ่มต้นของชูใจ ซึ่งมีแปลนทอยส์เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ

“แปลนทอยส์คือบริษัทที่ทำงานเนี้ยบทุกอย่าง รับผิดชอบตัวเองแบบสุดๆ เพียงแต่ว่ายังไม่เคยมีใครออกมาบอกเรื่องเขาเท่านั้นเอง เขาเก็บความดีของเขาไว้นานมากแล้ว” ไพรัชเสริมในมุมมองของเขา

เม้ง-ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ และ เป้า-ไพรัช เอื้อผดุงเลิศ ผู้ก่อตั้งบริษัทชูใจ กะกัลยาณมิตร ยอร์ช-สรศาสตร์ วิเศษสินธุ์ และ เป๊ก-อภิสิทธิ์ คำเป๊ก แห่งลองดูโปรดักชั่น

แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง คุณโกสินทร์ก็บอกกับเราว่า ความดีของแปลนทอยส์ถือกำเนิดขึ้นจากความคิดที่ว่า

สังคมเรายังไม่ดีพอ

“เราต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมเราให้ดีขึ้น ทุกวันนี้เราก็หวังไว้เล็กๆ ในใจว่าอยากสร้างโลกนี้ให้มันดีขึ้นผ่านเด็ก อย่างที่เราบอกเสมอว่า Better Kids, Better World เพราะสุดท้ายสังคมเราจะอยู่ไม่ได้ ถ้าเราไม่กลับมาสร้าง Core Value ตรงนี้

“ดังนั้น กิจกรรมต่างๆ ของแปลนทอยส์ เราจึงพยายามที่จะสื่อสารให้ทั้งพ่อแม่และเด็กๆ ได้เข้าใจว่าเราควรต้องทำอะไรต่อไปในอนาคต” โกสินทร์อธิบายถึงปรัชญาที่มั่นคงของแปลนทอยส์ ซึ่งแม้ว่าพวกเขาจะยังคงวางตัวในฐานะธุรกิจการผลิตของเล่นที่ต้องการผลกำไร แต่โกสินทร์ก็บอกว่าภารกิจหลักของเขาไม่ใช่การปั๊มยอดขายเพื่อทำกำไรสูงสุด พวกเขาต้องการเพียงกำไรจำนวนหนึ่งเพื่อต่อยอดในการทำสิ่งดีๆ ให้แก่สังคมและโลกใบนี้ และหนังโฆษณาตัวนี้เอง ก็น่าจะช่วยสื่อสารความตั้งใจของแปลนทอยส์ได้เป็นอย่างดีเช่นกัน

Writer

Avatar

สาริศา เลิศวัฒนากิจกุล

เด็กนิเทศ เอกวารสารฯ กำลังอยู่ในช่วงหัดเขียนอย่างจริงจัง แต่บางครั้งก็ชอบหนีไปวาดรูปเล่น มีไอศครีมเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจในยามอ่อนล้า

Photographer

Avatar

ลักษิกา จิรดารากุล

ช่างภาพที่ชอบกินบะหมี่ ถูกชะตากับอาหารสีส้ม และรักกะเพราไก่ใส่แครอท