30 พฤศจิกายน 2019
42 K

‘ตำหนักตึก’ เป็นหนึ่งในอาคารสำคัญของบ้านปลายเนินอันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้ทรงได้รับการถวายพระสมัญญานามว่า ‘นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม’ 

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2490 สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์สิ้นพระชนม์ลงโดยสงบ ขณะทรงมีพระชันษาได้ 83 ปี ในห้องบรรทมบนชั้นสองของตำหนักตึกแห่งนี้

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ แห่งบ้านปลายเนิน
สิ่งที่ค้นพบในตำหนักตึก อาคารทรงยุโรปอายุร้อยกว่าปีที่เป็น Time Capsule แห่ง บ้านปลายเนิน

ย้อนไปในอดีต เมื่อ พ.ศ. 2474 อาคารทรงยุโรปหลังนี้สร้างขึ้นโดยความคิดริเริ่มของหม่อมราชวงศ์โต จิตรพงศ์ พระชายา ด้วยพิจารณาแล้วว่าสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงมีพระพลานามัยไม่แข็งแรงเช่นแต่ก่อน กอปรกับทรงเจริญพระชนมายุมากขึ้น ก่อนหน้านี้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เคยประทับอยู่เพียงพระองค์เดียวที่ตำหนักไทย ภายในเขตบ้านปลายเนิน ต่อมาเมื่อทรงพระชราและพระพลานามัยถดถอยดังที่กล่าวไป หม่อมราชวงศ์โต จิตรพงศ์ จึงดำริที่จะปลูกตำหนักตึกขึ้น แล้วเชิญเสด็จมาประทับเพื่อถวายการดูแลอย่างใกล้ชิด

ในตอนแรก สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์จะเสด็จมาประทับเฉพาะช่วงกลางคืน เพื่อพักผ่อนพระอิริยาบถและบรรทม แต่เมื่อทรงงานก็จะเสด็จพระดำเนินไปที่ตำหนักไทย ต่อมาจึงเสด็จมาประทับที่ตำหนักตึกตลอดเวลาเป็นการถาวรจวบจนสิ้นพระชนม์

สิ่งที่ค้นพบในตำหนักตึก อาคารทรงยุโรปอายุร้อยกว่าปีที่เป็น Time Capsule แห่ง บ้านปลายเนิน
สิ่งที่ค้นพบในตำหนักตึก อาคารทรงยุโรปอายุร้อยกว่าปีที่เป็น Time Capsule แห่ง บ้านปลายเนิน

ประตูห้องบรรทมปิดสนิทมาเป็นเวลานานกว่ากว่า 70 ปีหลังจากที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์สิ้นพระชนม์ลงเมื่อ พ.ศ. 2490 ตามด้วยการถึงแก่อนิจกรรมของหม่อมราชวงศ์โต จิตรพงศ์ พระชายาใน พ.ศ. 2502 จากนั้นที่ตำหนักตึกจึงมีเพียงพระธิดาสองพระองค์คือหม่อมเจ้าดวงจิตร จิตรพงศ์ และ หม่อมเจ้ากรณิกา จิตรพงศ์ ประทับอยู่จนสิ้นชีพิตักษัยลงใน พ.ศ. 2548 และ พ.ศ. 2558 ตามลำดับ จากนั้นประตูของตำหนักตึกก็ปิดสนิทมาโดยตลอด

ในปีนี้ (พ.ศ. 2562) ทายาทในราชสกุลจิตรพงศ์ ซึ่งเป็นพระปนัดดา (เหลน) ในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ตัดสินใจเปิดประตูตำหนักตึกขึ้นอีกครั้ง เพื่อสืบค้นร่องรอยว่านายช่างใหญ่แห่งกรุงสยามพระองค์นี้ทรงเรียนอย่างไร อ่านอย่างไร ฝึกฝนพระองค์อย่างไร จึงได้ทรงเป็นนายช่างใหญ่แห่งกรุงสยามที่ทรงพระปรีชาสามารถเช่นนี้ ด้วยความหวังว่าหากได้ค้นพบ และศึกษาถึงองค์ความรู้ที่สั่งสมในตำหนักตึกอันเปรียบเสมือน Time Capsule นี้ อย่างจริงจังแล้วล่ะก็ จะสามารถนำมาจัดแสดงในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์เพื่อสร้างประโยชน์กับผู้สนใจในศาสตร์และศิลปะทุกแขนงต่อไป

พระทายาทในราชสกุลจิตรพงศ์ ซึ่งเป็นพระปนัดดา (เหลน) ในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
พระทายาทในราชสกุลจิตรพงศ์ ซึ่งเป็นพระปนัดดา (เหลน) ในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

วันนี้การสืบค้นเพิ่งเริ่มต้นขึ้นในอาคารโบราณล้ำค่าหลังนี้ เศษกระดาษใบเล็ก สมุดจดเล่มน้อย ตลอดจนของจิปาถะมากมายที่เก็บรักษาไว้ในกล่องกระดาษ หีบ ปี๊บ หรือซุกซ่อนอยู่ตามซอกเล็กมุมน้อยทุกๆ ชิ้นล้วนได้รับการดูแลอย่างเบามือ พร้อมกับการศึกษาอย่างละเอียดถึงความเป็นมาและเป็นไป ภาพสเกตช์ดินสอเส้นบางเบาแทบจะเลอะเลือนหลายต่อหลายภาพที่ปรากฏบนซองจดหมาย กระดาษแผ่นเล็กๆ กลับกลายมาเป็นภาพฝีพระหัตถ์ทรงร่างที่พัฒนาเป็นสถาปัตยกรรมสำคัญของแผ่นดินไทยมากมาย

The Cloud ได้รับการเชิญชวนให้มาชมสรรพสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เพิ่งค้นพบ พร้อมกับเสพเรื่องราวและที่มาอันยิ่งใหญ่จากการสืบค้นอย่างละเมียดละไมในครั้งนี้ 

สิ่งที่ค้นพบในตำหนักตึก อาคารทรงยุโรปอายุร้อยกว่าปีที่เป็น Time Capsule แห่ง บ้านปลายเนิน
สิ่งที่ค้นพบในตำหนักตึก อาคารทรงยุโรปอายุร้อยกว่าปีที่เป็น Time Capsule แห่ง บ้านปลายเนิน

สมุดร่างภาพ (Sketch book)

ขนาด 9 x 14 ซม. ด้านในทรงร่างภาพเพื่อทรงร่างแบบพระอุโบสถและส่วนต่าง ๆ ของวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร

สิ่งที่ค้นพบในตำหนักตึก อาคารทรงยุโรปอายุร้อยกว่าปีที่เป็น Time Capsule แห่ง บ้านปลายเนิน

สมุดร่างภาพเล่มเล็กนี้พบในห้องนอนของหม่อมราชวงศ์โต จิตรพงศ์ พระชายาในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งห้องนี้อยู่บนชั้นสอง ติดกับห้องบรรทมของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ห้องนี้จะเป็นห้องเล็กๆ แคบๆ และมีประตูเปิดทะลุเข้าห้องบรรทมสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ได้เลย

สมุดนี้เก็บอยู่ภายในปี๊บลักษณะคล้ายปี๊บขนมปังที่มีฝาบานพับด้านบนปิดสนิทและคล้องกุญแจอยู่ ลักษณะกระดาษในสมุดไม่ใช่กระดาษเปล่า แต่เป็นกระดาษที่ประกอบด้วยตารางเล็กๆ และสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงใช้ตารางเหล่านี้เทียบสัดส่วนเพื่อทรงร่างแบบพระอุโบสถตลอดจนส่วนต่างๆ ของวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร โดยทรงร่างแบบฟรีแฮนด์ ไม่ได้ใช้อุปกรณ์อย่างเช่นไม้บรรทัดช่วยแต่อย่างใด แต่ละหน้าจะเป็นแบบรายละเอียดของแต่ละส่วนของตัววัด เช่น รั้ว ประตู เป็นต้น

สิ่งที่น่าสนใจคือสมุดร่างภาพเล่มนี้เล็กมากๆ ภาพฝีพระหัตถ์ทรงร่างนั้นละเอียด ปราศจากรอยลบหรือขูดขีดใดๆ หมายถึงว่าทรงร่างอย่างแม่นยำในครั้งเดียว ก่อนขยายแบบเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพื่อทอดพระเนตรและพระราชทานพระราชวินิจฉัยก่อนพระราชทานพระราชานุมัติให้สร้างจริงใน พ.ศ. 2441 

สิ่งที่ค้นพบในตำหนักตึก อาคารทรงยุโรปอายุร้อยกว่าปีที่เป็น Time Capsule แห่ง บ้านปลายเนิน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่ดินระหว่างคลองผดุงกรุงเกษมจนถึงคลองสามเสน เพื่อสร้างที่ประทับพักผ่อนพระอิริยาบถส่วนพระองค์ โดยพระราชทานนามว่า ‘สวนดุสิต’ (พระราชวังดุสิตในปัจจุบัน) ซึ่งบริเวณที่ดินที่ทรงซื้อนั้นมีวัดโบราณ 2 แห่ง คือ วัดดุสิตซึ่งอยู่ในสภาพทรุดโทรมโดยถูกใช้เป็นที่สร้างพลับพลา และวัดร้างอีกแห่งซึ่งจำเป็นต้องใช้ที่ดินของวัดสำหรับตัดเป็นถนน พระองค์จึงทรงทำผาติกรรม สร้างวัดแห่งใหม่เพื่อเป็นการทดแทนตามประเพณี โดยทรงเลือกวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร เป็นวัดที่ทรงสถาปนาตามพระราชดำริว่า การสร้างวัดใหม่หลายวัดยากต่อการบำรุงรักษา ถ้ารวมเงินสร้างวัดเดียวให้เป็นวัดใหญ่ และทำโดยช่างฝีมือประณีตจะดีกว่า จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้ทรงออกแบบก่อสร้างพระอุโบสถและถาวรวัตถุอื่นๆ และมีพระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) เป็นนายช่างก่อสร้าง

สิ่งที่ค้นพบในตำหนักตึก อาคารทรงยุโรปอายุร้อยกว่าปีที่เป็น Time Capsule แห่ง บ้านปลายเนิน

สิ่งก่อสร้างสำคัญคือพระอุโบสถที่ประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลอง ซึ่งใช้หินอ่อนที่ประดับตกแต่งพระอุโบสถ พระระเบียง ตลอดจนสถานที่อื่นๆ โดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบ วัดขนาด และทำแบบส่งไปเป็นตัวอย่าง เพื่อเรียกประกวดราคาโดยตรงจากบริษัทขายหินอ่อนในประเทศอิตาลี และใช้หินอ่อนจากห้างโนวี จุสเซปเป้ (Novi Giuseppe) เมืองเจนัว (Genoa) กับหินอ่อนจากเมืองคาร์รารา (Carrara) ประเทศอิตาลี ซึ่งถือว่าเป็นเมืองที่มีหินอ่อนมากและดีที่สุด วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร เป็นวัดสำคัญที่มีชื่อเสียงระดับโลก รู้จักกันดีในภาษาอังกฤษกันว่า Marble Temple 

ตัวอย่างตาข่ายมะลิประดิษฐ์

จากพระยาเทวาธิราช ตามคำขอของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

สิ่งที่ค้นพบในตำหนักตึก อาคารทรงยุโรปอายุร้อยกว่าปีที่เป็น Time Capsule แห่ง บ้านปลายเนิน

ตัวอย่างตาข่ายมะลิประดิษฐ์นี้พบในห้องนอนของหม่อมราชวงศ์โต จิตรพงศ์ พระชายาในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เช่นกัน อยู่ในกล่องกระดาษกล่องหนึ่งที่เก็บแยกไว้ต่างหาก โดยบรรจุรวมอยู่ในกล่องกระดาษกล่องใหญ่ซึ่งมีเอกสารและสิ่งของอื่นๆ อีกมากมายอยู่ด้วยกัน 

พระยาเทวาธิราช มีนามเดิมว่า หม่อมราชวงศ์โป้ย มาลากุล เป็นโอรสในพลเรือโท พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ และ หม่อมสุ่น มาลากุล ณ อยุธยา ในวัยเยาว์ท่านบิดาได้ถวายตัวพร้อมกับพี่น้องทั้งหมดให้อยู่ภายใต้ร่มพระบารมีของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระยาเทวาธิราชเคยรับราชการในตำแหน่งกรมวัง และเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นหัวหน้ากองวังและพระราชพิธี สำนักพระราชวัง ตามลำดับ และเคยเติบโตมาจากสำนักสมเด็จพระศรีพัชรินราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเพราะเหตุนี้เลยรู้จักข้าราชสำนักในพระองค์ท่านดี สามารถเสาะหาคนที่สามารถประดิษฐ์ตาข่ายดอกมะลิ ดอกพุด และลายต่างๆ ได้

สิ่งที่ค้นพบในตำหนักตึก อาคารทรงยุโรปอายุร้อยกว่าปีที่เป็น Time Capsule แห่ง บ้านปลายเนิน

ที่พบเป็นตัวอย่างตาข่ายประดิษฐ์ลวดลายต่างๆ ตามที่ข้าหลวงในสมเด็จพระศรีพัชรินราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ร้อยขึ้นตามพระราชประสงค์ เป็นการร้อยตาข่ายมะลิตามแบบในวังหลวง ณ เวลานั้น ซึ่งเป็นลายที่งดงามและหาชมยากยิ่งในปัจจุบัน 

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเป็นปราชญ์ ก่อนทรงเริ่มต้นทำเรื่องใด จะทรงศึกษาอย่างลึกซึ้งถึงที่มาที่ไป วิชาดั้งเดิมที่เป็นองค์ความรู้ โดยทรงขอความรู้จากผู้ที่ไว้พระทัยว่าสามารถหาข้อมูถวายได้ เมื่อทรงศึกษาของเดิมจนเข้าพระทัยแล้ว จึงจะทรงนำมาพัฒนาแบบใหม่ๆ และต่อยอดจากองค์ความรู้เดิม ในกรณีนี้จะเห็นว่าเมื่อทรงได้ลายประดิษฐ์ตาข่ายตามอย่างโบราณแล้ว ได้ทรงนำมาร่างลายเขียนละเอียดลงบนแผ่นกระดาษ เพื่อบันทึกและพัฒนาลายใหม่ๆ  ขึ้น

ต้นแบบเหรียญรัชมงคล ร.ศ. 126

ขนาดใหญ่กว่าเหรียญจริง 5 เท่า

สิ่งที่ค้นพบในตำหนักตึก อาคารทรงยุโรปอายุร้อยกว่าปีที่เป็น Time Capsule แห่ง บ้านปลายเนิน

เหรียญงานพระราชพิธีรัชมงคล ร.ศ. 126 พบบนหิ้งในห้องห้องนอนของหม่อมราชวงศ์โต จิตรพงศ์ พระชายาในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เช่นกัน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีรัชมงคล เมื่อ พ.ศ. 2450 ตรงกับรัตนโกสินทร์ศกที่ 126 เพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติเสมอด้วยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา ความปรากฏใน ‘พระราชบัญญัติเหรียญรัชมงคลรัตนโกสินทรศก ๑๒๖’ ตอนหนึ่งว่า

 “มีพระบรมราชโองการตรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า จำเดิมแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในปีมะโรง สัมฤธิศก จุลศักราช ๑๒๓๐ นับเรียงปีมาถึงรัตนโกสินทรศก ๑๒๖ นี้ รัชพรรษาพอบรรจบสี่สิบปี เสมอด้วยรัชกาลแห่งสมเด็จพระรามาธิบดีพระองค์ที่ ๒ ซึ่งได้ครอบครองราชสมบัติในกรุงศรีอยุธยา ผู้มีรัชกาลยืนยาวกว่าพระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์ อันมีปรากฏในพระราชพงศาวดาร เป็นเหตุให้ทรงพระปีติเบิกบานพระราชหฤทัย จึงจะได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในกรุงศรีอยุธยา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายสมเด็จพระรามาธิบดีพระองค์นั้น ตามรัชสมัยได้เท่าทันเสมอภาค ยากที่จะเทียมถึงจึงจัดว่าเป็นพระราชกุศลรัชมงคลอันอุดม สมควรจะมีสิ่งซึ่งเป็นที่รฦกถึงบุญญาภินิหาร แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไว้ ให้อยู่ชั่วกาลนานจึงทรงพระราชดำริห์ให้สร้างเหรียญที่รฤก”

ในการนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้ทรงออกแบบถวาย ด้านหน้าของเหรียญเป็นรูปพระครุฑพ่าห์ มีพระจุลมงกุฎซ้อนบนอก ส่วนด้านหลัง มีอักษรจารึกไว้ว่า “ที่รฤกรัชกาลที่ ๕ กรุงรัตนโกสินทร์ เสมอรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ กรุงศรีอยุทธยา ร.ศ. ๑๒๖”

เหรียญรัชมงคล ร.ศ. 126 นี้ พระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำขึ้นเพื่อพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทในการพระราชกุศลรัชมงคล รัตนโกสินทร์ศก 126 โอกาสเดียว โดยผู้ใดสมควรจะได้รับพระราชทานเหรียญสำคัญนี้ขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัย แล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

เหรียญรัชมงคล ร.ศ. 126 นี้ ปั้นแบบโดย ออกุสต์ พาเทย์ ซึ่งเป็นนายช่างคนเดียวกับที่ทำเหรียญประพาสยุโรป ถ้าสังเกตดีๆ จะพบลายเซ็นนายออกุสต์อยู่ตรงขอบ และเหรียญรัชมงคล ร.ศ. 126 นี้ ผลิตโดยโรงงานเหรียญกษาปณ์ Monnaie de Paris ประเทศฝรั่งเศส

La Monnaie de Paris สถาบันที่อายุยาวนานที่สุดในฝรั่งเศสและเป็นวิสาหกิจที่เก่าแก่ที่สุดของโลก โดยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 ทรงมีพระราชบัญชาให้ก่อตั้งโรงผลิตเหรียญขึ้นในปารีสเมื่อ ค.ศ. 864 เพิ่มเติมจากโรงกษาปณ์เดิมอีก 8 แห่งที่มีอยู่ในแคว้นต่างๆ ปัจจุบันโรงกษาปณ์นี้ผลิตเฉพาะเหรียญที่ระลึกสวยงามเท่านั้น

เนื่องจากสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ต้องทรงงานกับช่างชาวต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ในสมุดภาพร่างมักจะเห็นว่าทรงใช้ภาษาอังกฤษเขียนกำกับและอธิบายรายละเอียดไว้ให้ช่างเข้าใจ เพื่อสานต่องานได้ตามพระประสงค์

สมุดทรงบันทึกคำศัพท์ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน

สิ่งที่ค้นพบในตำหนักตึก อาคารทรงยุโรปอายุร้อยกว่าปีที่เป็น Time Capsule แห่ง บ้านปลายเนิน

พบในห้องนอนของหม่อมราชวงศ์โต จิตรพงศ์ พระชายาในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เช่นกัน  โดยเก็บรักษาไว้ในในปี๊บที่ลักษณะคล้ายปี๊บขนมปังที่มีฝาบานพับด้านบนปิดสนิทและคล้องกุญแจอยู่

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเริ่มศึกษาภาษาอังกฤษกับแหม่มแอนนา (แอนนา ลีโอโนเวนส์) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระราชบิดาได้ทรงเสาะหาครูสอนภาษาอังกฤษเพื่อถวายการสอนแก่พระราชโอรส พระราชธิดา และเจ้าจอม มิสเตอร์อดัมสัน ผู้จัดการบริษัทบอร์เนียวที่สิงคโปร์จึงแจ้งให้ทรงทราบว่า มีแหม่มสอนภาษาอังกฤษที่มีความสามารถเหมาะสม จึงทรงทาบทามให้เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อถวายการสอนภาษาอังกฤษในพระราชวัง

แหม่มแอนนา รับราชการอยู่ 4 ปี 6 เดือน จึงถวายบังคมลาออกจากหน้าที่เนื่องจากสุขภาพทรุดโทรม และเดินทางกลับอเมริกา 

สิ่งที่ค้นพบในตำหนักตึก อาคารทรงยุโรปอายุร้อยกว่าปีที่เป็น Time Capsule แห่ง บ้านปลายเนิน

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงศึกษาภาษาอังกฤษด้วยพระวิริยะอุตสาหะด้วยพระองค์เอง จากภาพสมุดบันทึกคำศัพท์ภาษาอังกฤษเล่มนี้ จะเห็นว่าทรงคัดลอกคำและประโยคภาษาอังกฤษ ทรงบันทึกคำอ่านและคำแปลเป็นภาษาไทยไว้ด้วย เพื่อจะได้ทรงฝึกฝนเมื่อทรงมีเวลา

พระองค์ทรงศึกษาภาษาอังกฤษจนแตกฉานด้วยพระองค์เอง ในสมุดร่างภาพจะมีข้อความอธิบายเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดเพื่อทรงใช้สื่อสารกับช่างชาวยุโรปที่จะนำภาพฝีพระหัตถ์ที่ทรงออกแบบไปพัฒนาต่อได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ยังทรงศึกษาตำราต่างๆ และทรงสะสมหนังสือที่เป็นภาษาอังกฤษไว้เป็นจำนวนมาก หนังสือทรงสะสมหลายเล่มที่พบในตำหนักตึกนี้ยังสามารถสืบค้นและหาซื้อได้จากแหล่งต่างๆ เช่น เว็บไซต์ amazon  

รูปภาพราชรถและพระโกศทองน้อย

รัชกาลที่ 4 ส่งมาจากกระทรวงวัง

สิ่งที่ค้นพบในตำหนักตึก อาคารทรงยุโรปอายุร้อยกว่าปีที่เป็น Time Capsule แห่งบ้านปลายเนิน
สิ่งที่ค้นพบในตำหนักตึก อาคารทรงยุโรปอายุร้อยกว่าปีที่เป็น Time Capsule แห่งบ้านปลายเนิน

พบในลังเอกสารจิปาถะในห้องนอนของหม่อมราชวงศ์โต จิตรพงศ์ พระชายาในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เช่นกัน โดยวางรวมอยู่กับจดหมายต่างๆ

สันนิษฐานว่ามีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ทรงออกแบบหรือซ่อมแซมราชรถและพระโกศทองน้อยเพื่อนำไปใช้งาน และด้วยนิสัยของผู้ใฝ่หาความรู้ พระองค์จึงทรงขอให้กระทรวงวังส่งข้อมูลราชรถน้อยและพระโกศทองน้อยของรัชกาลที่ 4 มาให้ทรงศึกษาอย่างละเอียดก่อนซ่อมแซม นิสัยนี้มีติดพระองค์ตลอดพระชมน์ชีพ ไม่โปรดทำอะไรขึ้นโดยปราศจากความเข้าพระทัยและรู้ลึกรู้จริง

แบบร่างงานฝีพระหัตถ์ต่างๆ บนเศษกระดาษและซองจดหมาย

สิ่งที่ค้นพบในตำหนักตึก อาคารทรงยุโรปอายุร้อยกว่าปีที่เป็น Time Capsule แห่งบ้านปลายเนิน

พบได้ทั่วไปทุกหนแห่ง ในห้องนอนของหม่อมราชวงศ์โต จิตรพงศ์ พระชายาในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เช่นกัน รวมทั้งในตู้เก็บเอกสารตรงโถงบันได ปะปนไปกับเอกสารทั่วไป

ภาพนี้สื่อให้เห็นว่าทรงงานอยู่ทุกขณะ ทรงใช้ความคิดและจินตนาการในการออกแบบตลอดเวลา บางทีหากทรงงานอื่นๆ อยู่หรือขณะทรงพระสำราญ ถ้าหากทรงมีไอเดียขึ้นมา ท่านก็จะทรงหยิบสิ่งของใกล้ตัวมาทรงร่างทันที ที่เห็นบ่อยคือซองจดหมายที่ส่งมาถวาย ทรงวาดไอเดียนั้นลงอย่างคร่าว ๆ เพื่อกันลืม ทรงเป็นผู้มัธยัสถ์เพราะกระดาษทุกแผ่นไม่ว่าแผ่นเล็กแค่ไหน จะเป็นเพียงเศษกระดาษหรือซองใส่อะไรก็ตาม จะทรงนำมาใช้ทั้งด้านหน้าด้านหลัง ไม่ปล่อยทิ้งว่างไว้เลย และภาพฝีพระหัตถ์ทรงร่างมากมายที่พบก็ปรากฏต่อมาว่าเป็นงานศิลป์ชิ้นสำคัญของประเทศ

Diary 1946 พระนิพนธ์ชิ้นสุดท้าย

ก่อนสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์สิ้นพระชนม์ 

สิ่งที่ค้นพบในตำหนักตึก อาคารทรงยุโรปอายุร้อยกว่าปีที่เป็น Time Capsule แห่งบ้านปลายเนิน

พบในห้องห้องนอนของหม่อมราชวงศ์โต จิตรพงศ์ พระชายาในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เช่นกัน เก็บรักษาไว้ในปี๊บที่มีฝาบานพับปิดได้ คล้องกุญแจอยู่

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงมีพระคุณลักษณะนิสัยสำคัญประการหนึ่งนั่นคือ ทรงจดบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ เป็นประจำในทุกวัน โดยจะทรงบันทึกข้อมูลอันเป็นสถิติ เช่น น้ำหนักของพระองค์ อุณหภูมิของสถานที่นั้น ที่ประทับอยู่ ตลอดจนเวลาที่ฝนตกและปริมาณน้ำฝนเป็นมิลลิเมตร นอกจากนั้นยังทรงบันทึกพระราชกรณียกิจในวันนั้นๆ ว่าเสด็จไปไหน ทรงงานอะไร มีใครมาเฝ้า และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในและนอกประเทศ ทรงบันทึกด้วยลายพระหัตถ์เรียบร้อย เป็นระเบียบงดงาม 

หม่อมเจ้าดวงจิตร จิตรพงศ์ พระธิดาผู้ทรงสนองพระกรุณาเป็นดั่งเลขานุการิณีในพระองค์ได้ทรงบันทึกเกี่ยวกับ Diary 1946 อันเป็นไดอารี่เล่มสุดท้ายของพระองค์ท่านไว้ว่า

“ยิ่งทรงพระชรา ลายพระหัตถ์ที่เคยประณีตถี่ถ้วนก็ค่อยๆ สั้นและเลอะเลือน จนถึงวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2489 ถึงเวลาที่ทรงเขียนก็ทรงหยิบสมุดพลิกเปิดตรงที่คั่นไว้ หยิบดินสอเขียนคำว่า ‘บางกอก’ ลงได้เพียงคำหนึ่ง แล้วจรดนิ่งอยู่หลายนาทีจึงทรงเงยพระพักตร์ขึ้นจ้องดูหน้าลูกซึ่งคอยปรนนิบัติอยู่ตรงนั้นนิ่งอยู่นาน น้ำพระเนตรคลอ พระหัตถ์กำดินสอแน่น ตรัสบอกว่า ‘เขียนไม่ได้’ ต้องช่วยแกะดินสอออกจากพระหัตถ์และเก็บสมุดถวาย”

ใน Diary 1946 ที่พบยังปรากฏลายพระหัตถ์ที่ทรงเขียนไว้ว่า ‘บางกอก’ ด้วยดินสอ อันเป็นพระนิพนธ์คำสุดท้ายในพระองค์

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์มิได้ทรงเป็นเอกศิลปินทางด้านภาพจิตรกรรมหรือสถาปัตยกรรมเท่านั้น พระองค์ท่านยังทรงเป็นเอกทางด้านวรรณศิลป์อีกด้วย ทรงพระนิพนธ์บทละครดึกดำบรรพ์ไว้หลายเรื่อง เช่น อิเหนา ตอนตัดดอกไม้ฉายกริช ตอนไหว้พระ และตอนบวงสรวง รามเกียรติ์ ตอนศูรปนขาตีสีดา สังข์ทอง ตอนเผาพระขรรค์ ตอนชุบตัว และตอนหึง รวมทั้งสังข์ทอง ตอนทิ้งพวงมาลัย ตอนตีคลี และตอนถอดรูป เป็นต้น คำร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีที่เราใช้กันในปัจจุบันนี้ ก็มาจากคำร้องที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงนิพนธ์ไว้เป็นต้นแบบ

สิ่งที่ค้นพบในตำหนักตึก อาคารทรงยุโรปอายุร้อยกว่าปีที่เป็น Time Capsule แห่ง บ้านปลายเนิน

“ตั้งแต่ผมเกิดมา ผมก็พอทราบแล้วว่าท่านเก่ง แต่ตอนนี้ไม่ใช่เวลาจะมาพูดแล้วว่าทวดเราเก่ง แต่อยู่ในจุดที่ค้นหาว่าทำไมท่านเก่ง และถ้าคนๆ หนึ่งอยากเก่งเหมือนท่านต้องทำอะไรบ้าง ต้องหมั่นลักจำ หมั่นสังเกต กล้าพลิกแพลงพิสดารที่ไม่หลุดกรอบจนเกินไป”

สิ่งที่ค้นพบในตำหนักตึก อาคารทรงยุโรปอายุร้อยกว่าปีที่เป็น Time Capsule แห่ง บ้านปลายเนิน

หม่อมหลวงตรีจักร จิตรพงศ์ ตัวแทนพระปนัดดาเอ่ยถึงเหตุผลเบื้องหลังโครงการใหญ่ต่อไปของทายาทแห่งบ้านปลายเนิน คือการสร้างพิพิธภัณฑ์ที่ทำให้ชาวไทยและชาวต่างชาติไม่เพียงได้เห็นผลงานฝีพระหัตถ์ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ แต่ได้เห็นผลงานที่ทรงสร้างร่วมกับศิลปินอื่นๆ โบราณวัตถุสะสม สถาปัตยกรรมของบ้านปลายเนิน และสำคัญที่สุดคือวิถีชีวิตของนายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม

พระทายาทในราชสกุลจิตรพงศ์ ซึ่งเป็นพระปนัดดา (เหลน) ในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

การสืบเรื่องราวในตำหนักตึกยังมีต่อไปเรื่อยๆ อย่างระมัดระวัง กระดาษทุกชิ้นล้วนมีคุณค่าที่ต้องสืบหาให้ได้ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร เป็นภารกิจที่ใช้เวลาและความพากเพียรอย่างยิ่งยวด แต่องค์ความรู้ที่ได้มานั้นจะเผยแพร่ให้คนไทยได้รับรู้ว่า นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยามพระองค์นี้ทรงเรียนอย่างไร อ่านอย่างไร ฝึกฝนพระองค์อย่างไร จึงได้ทรงเป็นนายช่างใหญ่แห่งกรุงสยามที่ทรงพระปรีชาสามารถเช่นนี้ และองค์ความรู้นี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาทักษะทั้งศาสตร์และศิลป์ต่อไปในอนาคต


ข้อมูล : หม่อมหลวง อนุวาต ไชยันต์

สืบค้นข้อมูล : หม่อมหลวง ตรีจักร จิตรพงศ์, หม่อมหลวง สุธานิธิ จิตรพงศ์

สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม : โลจน์ นันทิวัชรินทร์

ถ่ายภาพ : หม่อมหลวง ตรีจักร จิตรพงศ์

เรียบเรียง : โลจน์ นันทิวัชรินทร์

Writer

Avatar

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่ค่อยมีใครอยากไป เลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker Instagram : LODE_OAK

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล