ดิฉันมักบรรยายเรื่องธุรกิจญี่ปุ่นที่มีหัวใจ เป็นธุรกิจที่งดงาม มุ่งมั่นตั้งใจทำสิ่งดีๆ ให้ลูกค้าและสังคมเสมอ 

แต่สิ่งหนึ่งที่ดิฉันมักจะเจอเวลาไปบรรยายคือ หลายท่านฟังแล้วถอดใจ เกรงว่าทำไม่ได้ในสังคมไทย เพราะคิดว่าสังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมที่เอื้อเฟื้อกันอยู่แล้ว เลยทำธุรกิจเช่นนี้ง่าย (ซึ่งไม่จริงนะคะ!) 

วันก่อน พี่สาวที่ดิฉันเคารพรักเพิ่งกลับมาจากเวียดนาม เธอกลับมาเล่าเรื่องบริษัทหนึ่งที่มีหัวใจ… มีเจ้าของเป็นคนญี่ปุ่น… และมีลูกน้องเป็นคนเวียดนาม 

พนักงานเวียดนามที่คนญี่ปุ่นเจอ ไม่รู้ว่าการทำงานคือการสร้างความสุขให้ผู้คน ไม่รู้วิธีแยกขยะหรือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่พวกเขาก็ค่อยๆ เปลี่ยนตนเองได้ 

บทความตอนนี้จะยาวมาก แต่ดิฉันคิดว่าเป็นสิ่งที่น่าเรียนรู้สำหรับท่านที่สนใจมีธุรกิจเป็นของตนเอง ท่านที่กำลังทำร้านอาหารอยู่ หรือท่านที่อาจมีโอกาสไปเวียดนาม 

ไปทานพิซซ่า​… เอ้ย ไปอ่านบทความกันค่ะ Bon Appétit! 

Pizza 4P’s ร้านพิซซ่าของชาวญี่ปุ่นผู้หัดทำพิซซ่าจาก YouTube จนอร่อยขนาดต้องจองล่วงหน้า

ร้าน Pizza 4P’s อ่านว่า โฟ-พีซ์ เป็นการเล่นกับคำว่า For Peace 

ตอนแรกที่ได้ยินชื่อร้าน ดิฉันคิดเอาเองว่าเจ้าของร้านคงอยากให้โลกนี้สุขสงบ มีสันติภาพ 

แต่จริงๆ แล้ว Peace ในที่นี้ คือ Inner Peace หรือความสงบภายใน 

ชื่อเต็มๆ ของ Pizza 4P’s คือ Platform of Personal Pizza for Peace เป็นร้านอาหารอิตาเลียนสไตล์ญี่ปุ่น ที่มีตั้งแต่เมนูเบสิกๆ เช่น พิซซ่ามาการิต้า จนถึงเมนูที่ผสมความเป็นญี่ปุ่นอย่าง พิซซ่า Salmon Miso Cream หรือพิซซ่าไก่เทอริยากิ 

Pizza 4P’s เคยลงสื่อมาแล้ว ทั้ง The New York Times, Forbes, BBC และได้รับการโหวตให้เป็นร้านอาหารอันดับ 1 ในเว็บรีวิวอาหารของเวียดนาม ได้รับเลือกเป็น Top 50 Best Restaurant โดยนิตยสาร Monocle 

Pizza 4P’s ไม่เคยทำการตลาดแบบจริงจัง แต่ภายในระยะเวลาเพียง 8 ปี นับตั้งแต่ปี 2011 บริษัทขยายร้านไป 11 สาขาแล้ว และได้รับความนิยมเนืองแน่นขนาดที่ต้องโทรจองที่นั่งก่อนล่วงหน้า 

ที่น่าแปลกคือ เจ้าของร้านเป็นสองสามีภรรยา โยสึเกะ ยาสึโกะ และ ซานาเอะ ยาสึโกะ ที่ไม่เคยทำร้านอาหารมาก่อน ขนาดวิธีทำวัตถุดิบบางตัวยังเรียนจาก YouTube 

อะไรคือสิ่งที่ทำให้ร้านนี้ประสบความสำเร็จเช่นนี้

บทเรียนที่ 1

ไม่เริ่มธุรกิจแค่จาก Passion 

โยสึเกะและซานาเอะพบรักกันตอนทำงานที่บริษัทด้านสื่อและ IT รายใหญ่ในญี่ปุ่น 

วันหนึ่งบริษัทส่งโยสึเกะให้มาทำงานที่เวียดนาม เขามีความฝันอยากมีธุรกิจเป็นของตนเองมานานแล้ว แต่ยังไม่รู้จะทำอะไรดี 

โยสึเกะลองย้อนกลับไปนึกๆ ดู เขาพบว่าสมัยทำงานที่ญี่ปุ่นเขาคลั่งไคล้พิซซ่าขนาดสร้างเตาอบพิซซ่าเองที่บ้าน วันเสาร์-อาทิตย์ก็ชวนเพื่อนมาทานพิซซ่าที่เขาอบเอง 

โยสึเกะชอบบรรยากาศในตอนนั้นมาก แม้ว่าเขาจะทำงานเหนื่อยเพียงใด แต่พอคิดว่าจะได้อบพิซซ่า จะได้เจอเพื่อนๆ เขาก็มีความสุข ยิ่งเวลาเพื่อนชมว่า “พิซซ่าอร่อยสุดๆ ไปเลย” เขาก็จะดีใจมาก 

“พิซซ่าเป็นอาหารที่มีเสน่ห์นะครับ ใครชอบทานหน้าอะไร เราก็โรยวัตถุดิบนั้นบนแผ่นแป้ง แล้วก็อบ ใครชอบทานผัก ก็ใส่ผัก ใครทานผักไม่ได้ เราก็ใส่เนื้อหรือไส้กรอกแทน”

แม้โยสึเกะจะมีแพสชันด้านการอบพิซซ่าเต็มเปี่ยม แต่เขาก็ไม่ได้กระโดดไปลุยธุรกิจพิซซ่าเพียงเพราะความชอบเพียงอย่างเดียว 

“จุดสำคัญที่ทำให้ผมตัดสินใจเริ่มธุรกิจของตัวเองคือ จุดแข็งของผมและสภาพตลาดครับ” 

นอกจากโยสึเกะจะอบพิซซ่าเองเป็น เขายังมีเพื่อนสนิทที่ถนัดเรื่องการทำพิซซ่าอยู่แล้ว และเขายินดีที่จะช่วยเหลือ หากโยสึเกะจะทำร้าน 

นอกจากนี้ โยสึเกะยังสังเกตเห็นว่าคนเวียดนามเพิ่งเริ่มนิยมทานอาหารตะวันตกอย่างไก่ทอด KFC หรือ Pizza Hut คนเวียดนามเองก็น่าจะคุ้นชินกับวัฒนธรรมการทานขนมปังอยู่บ้างแล้ว และที่สำคัญ เศรษฐกิจเวียดนามกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วมาก 

ก่อนเปิดร้าน เขาตระเวนไปประเทศต่างๆ ทั้งอิตาลี เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ อินเดีย ไทย เพื่อดูตลาด และค้นหารสชาติที่ใช่ในแบบตนเอง

เมื่อความรู้พร้อม ตลาดพร้อม โยสึเกะจึงนำเงินเก็บ 10 ล้านเยนของตนเอง (ประมาณ 3 ล้านบาท) มาสร้างร้าน Pizza 4P’s สาขาแรกที่โฮจิมินห์

บทเรียนที่ 2

นำธุรกิจด้วย Purpose 

โยสึเกะมองว่า เขาไม่ได้ทำร้านพิซซ่าเพียงเพราะอยากขายพิซซ่า 

ตัวเขาและภรรยามีเป้าหมาย (Purpose) ที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น นั่นคือการสร้างความสุขสงบภายในจิตใจ 

การที่ธุรกิจมีเป้าหมายในการทำเพื่อคนอื่น จะทำให้ตัวเจ้าของเองและตัวพนักงาน มีพลังในการทำงานมากขึ้น และเป็นเครื่องเตือนสติ ไม่ให้มุ่งหาแต่กำไร จนลืมความสุขของลูกค้า 

ในเว็บไซต์บริษัทมีเขียนไว้ชัดเจนว่า…

Our ambition at Pizza 4P’s is not to simply be “A Great Pizza Restaurant”.

We have a bigger vision – Make the World Smile for Peace.

Our Mission that we stand by and work on daily in order to achieve this vision, is “Delivering Wow, Sharing Happiness”.

Pizza 4P’s ตั้งใจที่จะส่งมอบรอยยิ้มให้กับผู้คน ให้พวกเขาได้เจอกับความสุขสงบในใจ พวกเขาจึงตั้งใจที่จะส่งมอบความรู้สึกตื่นเต้นและแบ่งปันความสุขให้กับผู้คน 

เวลาคนได้ทานอาหารอร่อยๆ คนจะรู้สึกมีพลัง พลังนั้นเป็นพลังบวก เป็นพลังที่ดี

หากคนไม่มีความสุข เขาก็ไม่สามารถทำให้คนที่อยู่ตรงหน้ามีความสุข หากคนตรงหน้ายังไม่มีความสุข เขาก็คงไม่สามารถทำให้คนที่นั่งข้างๆ หรืออยู่รอบๆ ตนเองมีความสุขได้ 

Pizza 4P’s เวียดนาม ร้านพิซซ่าของชาวญี่ปุ่นผู้หัดทำพิซซ่าจาก YouTube จนอร่อยขนาดต้องจองล่วงหน้า

ปัจจุบัน โลกเราเต็มไปด้วยปัญหาต่างๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจิตใจคนเรายังไม่ถูกเติมเต็มนั่นเอง

หน้าที่ของ Pizza 4P’s คือส่งมอบความรู้สึกประทับใจ และส่งมอบความสุขให้กับผู้คน ทำให้คนได้พบกับความสุขในใจตนเอง และสร้างรอยยิ้มในใจ

นี่คือความเชื่อของบริษัท 

บางคนอาจจะหัวเราะว่า แค่ร้านพิซซ่าจะส่งความสุขอะไรขนาดนั้น แต่นั่นคือสิ่งที่สองสามีภรรยาเชื่อจริงๆ และไม่เคยเปลี่ยนแปลงแม้จนทุกวันนี้ 

และรีวิวใน Trip Advisor ก็บอกเราอย่างนั้นเช่นกัน คนที่ไปทานล้วนประทับใจและมีความสุขเหลือเกิน

บทเรียนที่ 3

ใส่ (หัว) ใจ ในทุกจุด 

สำหรับอาหารอิตาเลียนแล้ว องค์ประกอบสำคัญคือ ชีส 

ในเวียดนามยังไม่มีบริษัทหรือร้านไหนจำหน่ายชีสประเภทมอสซาเรลล่า เลยต้องนำเข้าจากอิตาลี ซึ่งทำให้ต้นทุนสูงมาก และอาจทำให้โยสึเกะต้องตั้งราคาพิซซ่าสูงตามไปด้วย หากใช้ชีสแช่แข็งที่นำเข้าจากอเมริกาหรือนิวซีแลนด์รสชาติก็ไม่ได้ตามที่ต้องการ 

โยสึเกะจึงตัดสินใจทำชีสเอง 

…แต่เขาทำชีสไม่เป็น 

โยสึเกะบังเอิญเจอคนญี่ปุ่นคนหนึ่งที่จบด้านเกษตร (แต่ไม่เคยทำชีสเหมือนกัน) ชายหนุ่ม 2 คนจึงขี่มอเตอร์ไซค์ตระเวนทั่วเวียดนามเพื่อหานมคุณภาพดี ตอนกลางคืน ก็เปิดยูทูบเรียนวิธีทำชีส พวกเขาใช้เวลาครึ่งปีกว่าจะค้นพบวิธีทำชีสแบบที่ตนเองพึงพอใจ 

เมื่อธุรกิจเริ่มไปได้ดี โยสึเกะจึงซื้อฟาร์มวัวเป็นของตนเอง 

“ร้านอาหารของผมเกิดขึ้นมาเพื่อทำให้ผู้คนรู้สึกตื่นเต้น และสัมผัสความสุข เพราะฉะนั้น เราถึงต้องทำเกินกว่าสิ่งที่ลูกค้าจะคาดหวัง” โยสึเกะกล่าว 

จากเพียงแค่ความตั้งใจให้ลูกค้าได้ทานชีสอร่อยๆ ที่ดี ในราคาไม่แพง ชีสโฮมเมดของร้าน Pizza 4P’s กลายมาเป็นจุดขาย และในที่สุด กลายมาเป็นอีกธุรกิจหนึ่งของบริษัท นั่นคือธุรกิจจำหน่ายชีสให้กับร้านอาหารและโรงแรมในเวียดนาม 

ความใส่ใจของ Pizza 4P’s มิได้มีเพียงแค่ชีสเท่านั้น 

ทางร้านเลือกใช้ผักปลอดสารพิษ 100 เปอร์เซ็นต์ และเด็ดตอนที่ผักสด อร่อยที่สุด 

หากพิซซ่าถาดไหนไม่กลม ไม่ได้มาตรฐาน ทางร้านก็จะทำใหม่ หรือไม่คิดเงินลูกค้า 

ดีไซน์ร้านก็เช่นกัน ทางร้านตั้งใจออกแบบให้ลูกค้ารู้สึกสบาย ผ่อนคลาย เป็นสถานที่ที่มาแล้วรู้สึกตื่นเต้น ขณะเดียวกันก็รีแลกซ์ 

บรรยากาศสบายๆ ลูกค้าจะนั่งนานเท่าใดก็ได้

Pizza 4P’s เวียดนาม ร้านพิซซ่าของชาวญี่ปุ่นผู้หัดทำพิซซ่าจาก YouTube จนอร่อยขนาดต้องจองล่วงหน้า
บรรยากาศสบาย ๆ ลูกค้าจะนั่งนานเท่าใดก็ได้



Pizza 4P’s เวียดนาม ร้านพิซซ่าของชาวญี่ปุ่นผู้หัดทำพิซซ่าจาก YouTube จนอร่อยขนาดต้องจองล่วงหน้า
เก้าอี้ที่ออกแบบมาพิเศษเพื่อทางร้าน

ทุกองค์ประกอบในร้าน ล้วนมาจากความใส่ใจ เพื่อทำให้ลูกค้ารู้สึกมีความสุขมากที่สุด

บทเรียนที่ 4

คนใน ก่อน คนนอก

เป้าหมายขององค์กรท่านคืออะไร

Pizza 4P’s ให้ความสำคัญกับตัวเลขหนึ่งยิ่งกว่ายอดขาย

นั่นคือ ‘Smile Index’ หรือดัชนีรอยยิ้ม

Smile Index = (จำนวนลูกค้าจากทุกสาขา x ระดับความพึงพอใจ) + (จำนวนพนักงาน x ระดับความพึงพอใจของพนักงาน) 

ระดับความพึงพอใจลูกค้านั้น ทางบริษัทใช้ซอฟต์แวร์ที่ติดตามรีวิว โดยดูตัวเลขรีวิวจากโซเชียลมีเดียและ Trip Advisor อื่นๆ 

ส่วนความสุขของพนักงาน มาจากแบบสอบถาม แบบสอบถามนี้ พนักงานทั้ง 1,500 คนจะเป็นผู้ตอบ โดยมีคำถามเกี่ยวกับความพึงพอใจด้านรายได้ สิ่งแวดล้อมในการทำงาน 

ในปี 2018 Pizza 4P’s ได้ Smile Index 1.7 ล้านคะแนน โดยบริษัทตั้งเป้าว่า ภายในปี 2023 ต้องทำ Smile Index ให้ถึง 10 ล้านคะแนนให้ได้ 

ธุรกิจบริการหลายแห่งย้ำให้พนักงานดูแลลูกค้าให้ดี แต่อาจจะไม่ได้ประเมินผลอย่างชัดเจน หรือมิได้ตั้ง KPI ให้สอดคล้องกับเป้าหมายบริษัท แต่ที่ Pizza 4P’s นั้น ความสุขของลูกค้าถูกนำมาใช้ในการประเมินพนักงาน

พนักงานบริษัทมีโอกาสได้โบนัสร้อยละ 1 ของยอดขาย หากระดับความพึงพอใจลูกค้าได้ถึง 4.5 และหากสามารถยกระดับถึง 4.8 ทางบริษัทจะมีโบนัสแบ่งให้ถึงร้อยละ 5 ของยอดขายเลยทีเดียว 

ส่วนพนักงานคนใดได้รับคัดเลือกเป็นพนักงานยอดเยี่ยม ก็ได้รางวัลเป็นทริปไปเที่ยวญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังมีการจัด Master Pizza Chef แข่งประกวดเชฟที่ทำพิซซ่าได้ดีที่สุด มีการจัดอบรมภาวะผู้นำ และพาพนักงานไปสัมผัสฟาร์มเกษตรกร ฟาร์มนมจริงๆ เพื่อให้พนักงานเข้าใจความเป็น Pizza 4P’s และ Purpose ขององค์กรได้ดียิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน บริษัทก็เชิญเกษตรกรมาที่ร้าน เพื่อมาลองชิมวัตถุดิบของพวกเขาที่ผ่านการปรุงอย่างเอร็ดอร่อย ทำให้พาร์ตเนอร์เกษตรกรทั้งหลายดีใจและมุ่งมั่นในการส่งผักและผลไม้ที่อร่อยสู่ร้านยิ่งๆ ขึ้นไป

ธุรกิจไม่จำเป็นต้องทิ้ง Purpose เพื่อแสวงหาแต่ยอดขายและกำไร เราสามารถเติบโตไปทั้งตัวเลขและการเติบโตทางจิตวิญญาณของพนักงานทุกคน

เป้าหมายทางตัวเลข เป็นเพียงตัวชี้วัดว่าเรากำลังเดินไปในทิศทางที่ถูกต้องตาม Purpose ของเราดีแล้วหรือยัง 

สำหรับ 4P’s แล้ว ตัวเลขที่สูงขึ้น มิได้หมายถึงความร่ำรวยขึ้นของบริษัท แต่คือความสุขของทุกๆ คน 

บทเรียนที่ 5

การเติบโต

ปัจจุบัน Pizza 4P’s มีสาขาทั้งหมด 11 สาขา ทั้งในโฮจิมินห์ ฮานอย และดานัง 

การเติบโตของร้านพิซซ่าทั่วไป คงมีแค่การเพิ่มสาขาหรือเพิ่มเมนูใหม่ แต่ Pizza 4P’s เติบโตไปกับ Purpose 

ตอนเปิดสาขาใหม่ Xuan Thuy ที่โฮจิมินห์นั้น Pizza 4P’s ใส่คอนเซปต์ใหม่ คือ Edutainment เป็นร้านอาหารที่สอนลูกค้าเรื่องความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม

อาจเป็นเพราะซานาเอะและโยสึเกะมีลูก 2 คน เธอจึงใส่ใจปัญหาเรื่องการศึกษาและสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ 

“เด็กๆ เวียดนามไม่ค่อยมีโอกาสได้ใกล้ชิดธรรมชาติค่ะ บางคน ไม่เคยจับดินเลยเสียด้วยซ้ำ ผักแต่ละชนิดเติบโตมาอย่างไร มะเขือเทศโตได้อย่างไร” ซานาเอะ เล่า 

ขยะเปียกในร้านจะกลายเป็นอาหารไส้เดือน ปุ๋ยจากไส้เดือนถูกนำมาปลูกผัก ส่วนไส้เดือนก็กลายเป็นอาหารปลาในบ่อ 

ร้านพิซซ่าของชาวญี่ปุ่นผู้หัดทำพิซซ่าจาก YouTube จนอร่อยขนาดต้องจองล่วงหน้า

ทางร้านมักจะจัดกิจกรรมต่างๆ เสมอ เช่น ชวนครอบครัวมาเก็บผักสมุนไพร แล้วทานสดๆ ที่ร้าน หรือจัดกิจกรรมตกปลา เด็กๆ จะได้เรียนรู้เรื่องห่วงโซ่อาหาร หรือเรื่อง Food Miles (ระยะทางอาหารที่ถูกขนส่งจากแหล่งผลิตถึงผู้บริโภค) 

ร้านพิซซ่าทั่วไปคงไม่ต้องทำขนาดนี้ แต่ชาว 4P’s ทำ… ก็เราอยากให้คนมีความสุขและตื่นเต้นนี่ 

แม้แต่พนักงานเองก็ต้องเรียนเรื่องความสำคัญของการรีไซเคิล และต้องหัดแยกขยะให้เป็น 

4P’s เป็นร้านแรกๆ ในเวียดนามที่เปลี่ยนมาใช้หลอดสเตนเลสแทนหลอดพลาสติก ส่วนถุงพลาสติกที่ใส่อาหารกลับบ้านก็เป็นพลาสติกแบบย่อยสลายได้ ตอนนี้ทางร้านกำลังพยายามพัฒนากล่องพิซซ่าจากชานอ้อย และหาวิธีเปลี่ยนพลาสติกที่ห่อหุ้มทิชชูเปียก 

ความฝันสูงสุดของโยสึเกะและซานาเอะมิใช่การขยายร้านพิซซ่าเป็นพันๆ สาขา แต่อยากทำรีสอร์ตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นรีสอร์ตที่ใกล้ชิดธรรมชาติ มีอาหารดีๆ มีแต่รอยยิ้ม โยสึเกะอยากให้เกาะแห่งนี้เป็นที่พักของคนที่เหนื่อยล้ากับชีวิตในเมือง และสนใจโผเข้าหาอ้อมกอดของธรรมชาติ 

“การเปิดร้านอาหารเหมือนการทำสื่อ การทำธุรกิจเป็นแค่วิธีหนึ่งที่จะทำให้ความฝันของผมเป็นจริง เราต้องทุ่มเทในการสร้างความสุขให้ผู้คน เรามุ่งมั่นที่จะคนที่อยู่ตรงหน้าเรามีความสุข หรือทำให้พวกเขารู้สึกขอบคุณอาหาร ขอบคุณผู้ผลิตได้ เราอยากจะเป็นคนที่ส่งความสุขแต่ละขณะๆ ให้กับผู้คน นั่นคือสิ่งที่ Pizza 4P’s มุ่งหวังที่จะเป็นครับ” 

ธุรกิจที่ไปได้ดี ไม่ได้เริ่มแค่จาก Passion เพียงอย่างเดียว แต่ต้องดูสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ดูความรู้ความสามารถหรือเครือข่ายของเราด้วย 

หลายองค์กร กระโดดไปทำธุรกิจเพียงเพื่อยอดขาย แต่นั่นอาจทำให้ธุรกิจไปได้ลำบาก เมื่อตลาดหดตัวหรือพนักงานไม่มีกำลังใจทำงาน 

โยสึเกะและซานาเอะมิได้ทำธุรกิจอย่างราบรื่น พวกเขามีปัญหาเรื่องวัตถุดิบ แต่นั่นก็นำไปสู่โอกาสของธุรกิจชีส

พวกเขามีปัญหาเรื่องการหาเงินทุนเพื่อใช้ขยายสาขา แต่นั่นก็นำไปสู่การได้พบกับบริษัทลงทุนดีๆ อย่าง Mekong Capital 

ตอนนี้พวกเขาเผชิญกับความท้าทายเรื่องพนักงานเป็นหลัก ทำอย่างไรให้คนญี่ปุ่นกับคนเวียดนามทำงานเป็นทีมเดียวกันได้ หรือจะอบรมพนักงานอย่างไร พนักงานมักลาออกจะทำอย่างไร 

แต่พวกเขาก็ไม่ย่อท้อ พยายามหาทางแก้ปัญหาไปทีละเรื่องๆ เพราะนั่นอาจนำไปสู่โอกาสใหม่ๆ ก็ได้ 

Pizza 4P’s เป็นหนึ่งในองค์กรที่ดี ที่ตัดสินใจตั้ง Mission Vision ตั้งแต่วันแรกที่พวกเขาเริ่มทำธุรกิจ 

พวกเขารู้ดีว่าจะทำร้านพิซซ่าไปเพื่ออะไร 

พวกเขาเข้าใจดีว่ายอดขายเป็นสิ่งสำคัญ แต่มิใช่สิ่งที่ควรไล่ล่าหรือขับดันให้เพิ่ม พวกเขาโฟกัสที่ความสุขของลูกค้าและพนักงานแทน และดึงสองสิ่งนี้เป็นตัววัดความสำเร็จทางธุรกิจ 

สิ่งสำคัญคือ พวกเขาไม่เคยหยุดอยู่กับที่ มิได้นำความสำเร็จจากร้านหนึ่ง ไป Copy & Paste กับร้านอื่นๆ พวกเขายังพยายามหาอะไรใหม่ๆ ทำตลอดเวลา และมุ่งช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี การเรียนรู้ที่ดี และรอยยิ้มที่มีความสุขมากขึ้น

ดังที่โยสึเกะกล่าว ธุรกิจเป็นเพียงแค่เครื่องมือในการแก้ปัญหาสังคม

ภาพ : Pizza 4P’s

Writer

Avatar

เกตุวดี Marumura

อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นผู้หลงใหลในการทำธุรกิจแบบยั่งยืนของคนญี่ปุ่น ปัจจุบัน เป็นอาจารย์สอนการตลาดที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย