23 พฤศจิกายน 2022
10 K

ผศ.ดร.ปิยาภรณ์ เชื่อมชัยตระกูล หรือ อาจารย์จิ๊บ คือผู้อำนวยการสถาบันชาและกาแฟ แห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย

เธอใช้เวลากว่าสิบปีเดินทางศึกษากระบวนการผลิตชาของประเทศต่าง ๆ แล้วนำมาพัฒนาการผลิตชาในเชียงราย จากที่เคยเป็นมือปืนรับจ้างผลิตชาชั้นดี แล้วส่งออกเป็นวัตถุดิบไปให้แบรนด์ชาในจีนและไต้หวัน สู่การสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกชาและแปรรูป ด้วยการสร้างเอกลักษณ์ความเป็นชาไทยที่ไม่เหมือนประเทศอื่น ๆ

อาจารย์จิ๊บปลุกปั้นผู้ประกอบการชาเชียงรายในทุกมิติ แล้วพาไปประกวดชาในเวทีโลกที่ญี่ปุ่น

ชาไทยคว้ารางวัล 3 ปีซ้อน

ปีนี้คว้ามาได้ 4 รางวัล รางวัล Grand Gold Prize ที่เปรียบได้กับแชมป์โลก 1 รางวัล และ Gold Prize อีก 3 รางวัล

อะไรทำให้ชาที่ปลูกในประเทศไทยและแปรรูปโดยชาวไทย ชนะชาจีนและชาญี่ปุ่นซึ่งเป็นต้นตำหรับ

และอาจารย์จิ๊บคือใคร ผ่านอะไรมา ถึงพาชาไทยไปได้ไกลขนาดนี้

มาทำความรู้จักชีวิตของอาจารย์จิ๊บ ผ่านเครื่องดื่ม 5 แก้วที่จะเล่าถึงชีวิตของเธอกัน

ดร.ปิยาภรณ์ เชื่อมชัยตระกูล ผอ.สถาบันชาและกาแฟฯ ผู้พาชาไทยไปคว้าแชมป์โลกที่ญี่ปุ่น
แก้วแรก

น้ำเปล่า

ความบริสุทธิ์ในวัยเยาว์ที่พร้อมเรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ

อาจารย์จิ๊บเป็นสาวเชียงใหม่ผู้เติบโตมาในครอบครัวที่คุณพ่อจบมาจากคณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ทำงานด้านป่าไม้ ส่วนคุณแม่ทำงานด้านการศึกษาในศาลากลางจังหวัด ในวัยเยาว์เธอจึงได้เข้าป่ากับคุณพ่อ ซึมซับพลังของธรรมชาติ และเห็นคุณพ่อเปลี่ยนเขาหัวโล้นให้กลับคืนมาเป็นป่าอีกครั้ง ในขณะเดียวกันเธอก็เป็นเด็กที่เรียนดีได้ที่หนึ่งมาตลอด เป้าหมายของเธอในวัยนั้นคือการเรียนคณะเแพทยศาสตร์ ตามความต้องการของคุณพ่อ ซึ่งเธอก็ไม่ขัดข้อง

“ชีวิตตอนนั้นเป็นเหมือนน้ำเปล่าที่บริสุทธิ์มาก พร้อมเรียนรู้ทุกเรื่อง ใครให้ทำอะไรก็ทำ มีอยู่วันหนึ่งตอน ม.5 คุณพ่อเห็นว่าเราอยู่กับป่า อยู่กับหนังสือ ไม่เคยได้ใช้ชีวิตโลดโผนแบบวัยรุ่น เขาเลยบอกว่า พ่อรู้นะว่าลูกเหนื่อย ไม่ต้องเป็นหมอก็ได้ เพราะการเรียนหมอมันเหนื่อยและหนัก อาจจะไม่เหมาะกับชีวิตลูก ต่อไปลูกอยากทำอะไรก็ทำเลย” อาจารย์จิ๊บเล่าถึงเหตุการณ์ปลดภาระหนักอึ้งที่แบกมาตลอด 15 ปีออกจากบ่า

เธอพยายามค้นหาว่า อะไรคือสิ่งที่เธออยากเรียนจริง ๆ อาจารย์จิ๊บชอบเรื่องเกษตรเหมือนคุณพ่อ แต่สนใจงานด้านแปรรูปอาหารมากกว่า เนื่องจากเพื่อนคุณพ่อแนะนำว่าน่าเรียนเรื่องเกี่ยวกับอาหาร เพราะยังไงคนก็ต้องกินอาหาร ไม่ตกงานแน่นอน เธอจึงเลือกเรียน Food Science ซึ่งเพื่อนคุณพ่ออธิบายงานให้เธอเห็นภาพว่าเป็น ‘หมออาหาร’ เมื่อรวมกับเงื่อนไขว่า อยากเรียนที่เชียงใหม่ นักเรียนระดับท็อปของโรงเรียนก็เลยเลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งเปิดสอนสาขานี้มานานแล้ว

“พอคุณพ่อบอกไม่ต้องเป็นหมอ เราก็ลองไม่อ่านหนังสือ ใช้ความรู้เท่าที่มี คุณพ่อไม่ได้บังคับว่าต้องไปเรียนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ จงเรียนแบบที่มีความสุข สนุก และไม่กดดัน นั่นคือจุดเปลี่ยนในชีวิตเลย”

ดร.ปิยาภรณ์ เชื่อมชัยตระกูล ผอ.สถาบันชาและกาแฟฯ ผู้พาชาไทยไปคว้าแชมป์โลกที่ญี่ปุ่น
แก้วที่สอง

โคล่า

ความสดใสซาบซ่าในวัยเรียน

อาจารย์จิ๊บเป็นลูกคนโตของบ้าน เป็นหลานคนโตของครอบครัว เรียนดีมาโดยตลอด ครอบครัวของเธอจึงคาดหวังว่า น่าจะเรียนจบมหาวิทยาลัยพร้อมเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ช่วงแรกเธอก็ยังอยู่ในเส้นทางนั้นจนกระทั่งขึ้นปี 2 เธอก็เริ่มสนุกกับการทำกิจกรรมของคณะ

“พอทำกิจกรรมมันเหมือนได้พลังอีกด้านหนึ่งกลับมา เราทำแบบหูดับตับไหม้เลย เป็นเลขาฯ สโมสรนักศึกษา ใครชวนทำอะไรทำหมด เกรดเลยเหลือแค่ 3 นิด ๆ แต่ชีวิตเรามีความสุขจังเลย เราเจอสิ่งที่ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อเพื่อน เพื่อมหาวิทยาลัย” เธอเล่าต่อว่า หลังจากเรียน ๆ เล่น ๆ มา 2 ปี เธอกลับมาตั้งใจเรียนอีกครั้งตอนปี 4 โดยตั้งเป้าว่าต้องทำเกรด 4.00 ให้ได้ทั้ง 2 เทอม ซึ่งเธอไม่พลาด

ถ้าเธอเอาจริง อะไรก็ขวางเธอไม่ได้ ทั้งเรื่องงานและเรื่องกิน

“เครื่องดื่มที่เหมาะกับชีวิตช่วงนี้คือโค้ก คนที่สนิทกันจะรู้ว่า ถ้าเห็นเราเหนื่อย สั่งโค้กให้ แป๊บหนึ่งจากหน้าบึ้ง ๆ เราจะยิ้มได้ทันที” อาจารย์จิ๊บบอกว่า ตอนนั้นหรือตอนนี้ก็ต้องเป็นโค้กออริจินัลใส่น้ำแข็งเท่านั้น “ถ้าจะกินก็กินให้มันสุดไปเลย ก็รู้อยู่แล้วว่าสารให้ความหวานคือน้ำตาล ก็กินสิ แต่ระวังว่ากินในปริมาณเท่าไหร่ถึงจะไม่กระทบกับร่างกายเยอะก็พอ”

ดร.ปิยาภรณ์ เชื่อมชัยตระกูล ผอ.สถาบันชาและกาแฟฯ ผู้พาชาไทยไปคว้าแชมป์โลกที่ญี่ปุ่น
แก้วที่สาม

ชาไทยเย็น

สีสันของชีวิตมหาวิทยาลัยที่หวานหอม

“ชาไทย หรือ Signature Thai Tea คือเครื่องดื่มโปรด เอกลักษณ์ของมันคือความหอมหวาน ละมุน และมีสีส้มสะดุดตา จนทำให้ชาไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก” อาจารย์จิ๊บพูดถึงเครื่องดื่มที่เธอกินทุกวันตอนเรียนปริญญาโทและเอก

ในใบชามีสารคาเทชิน เมื่อทำปฏิกริยากับออกซิเจนจะเปลี่ยนเป็นสีส้ม พอทำปฏิกริยาไปเรื่อย ๆ จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ในโลกนี้ยังไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนไหนหยุดปฏิกริยานี้ให้คงไว้ที่สีส้มได้ ทั่วโลกเลยทึ่งที่ประเทศไทยทำชาสีส้มได้ จนนักวิชาการชาติต่าง ๆ พยายามมาถามเคล็ดลับจากอาจารย์จิ๊บ

ความลับนั้นคือ การเติมสี

“กฎข้อหนึ่งในการผลิตชาคือ เติมกลิ่นได้ แต่ห้ามเติมสี คนที่ทำชาไทยก็รู้ เขาเลยไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นชา แต่เป็นเครื่องดื่มภาชนะบรรจุปิดสนิท ซึ่งอนุญาตให้เติมสีผสมอาหารได้ เพราะสีส้มนี่เองที่ทำให้คนจดจำได้ เราเคยลองถอดสีผสมอาหารออก คนต่างชาติชิมแล้วก็ยังบอกว่าเป็น Thai Tea เพราะมันยังหวาน หอม ด้วยกลิ่นวานิลลากับมาริลินที่เป็นเอกลักษณ์”

นั่นคือชาไทยในความทรงจำของคนต่างชาติ

อาจารย์จิ๊บตัดสินใจเรียนปริญญาโทที่ ม.เกษตรศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งต่อยอดจาก Food Science ที่เรียนมาตอนปริญญาตรี

ชีวิตสาวเชียงใหม่ในเมืองหลวงที่ต้องเบียดเสียดกับผู้คนในระหว่างเดินทาง และแย่งกันใช้ชีวิตกับผู้คนมากมายทำเอาเธอน้ำตาตกอยู่หลายหน แต่ไม่ว่ายังไงเธอก็ต้องพยายามปรับตัวให้เข้ากับสังคมใหม่ให้ได้

หนึ่งในการปรับตัวคือ อาสาเป็นผู้ช่วยสอนน้องปริญญาตรี จนติดอันดับผู้ช่วยสอนที่สอนมากที่สุดในภาควิชา จนกลายเป็นหัวหน้าก๊วนของน้อง ๆ

“วินาทีแรกที่เราเข้าไปในมหาวิทยาลัยชั้นนำ เรารู้สึกตัวเล็กมากเลย ทุกคนขยันมาก การจะทำให้คนหันมามอง เราต้องมีอะไรโชว์ สิ่งที่พูดกับอาจารย์เสมอคือ มีอะไรให้หนูช่วยไหมคะ เรายินดีทำให้ทุกอย่าง เพราะเราจะได้เรียนรู้ไปด้วย แล้วอาจารย์ก็จะช่วยเชื่อมคอนเนกชันให้เรา”

พอเรียนจบอาจารย์จิ๊บก็กลับมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง 1 ปี แล้วย้ายไปทำงานที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 3 ปี จึงมีโอกาสได้กลับไปเรียนปริญญาเอกสาขาเดิมที่มหาวิทยาลัยเดิม

ช่วงนั้น ม.แม่ฟ้าหลวง ตั้งสถาบันชา เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมชาในประเทศไทย เพราะเชียงรายเป็นแหล่งปลูกชาที่ดีที่สุดในประเทศไทย อาจารย์จิ๊บผู้มีส่วนร่วมในสถาบันชาด้วยตั้งใจว่า จะไปเรียนปริญญาเอกเรื่องชา

แต่สุดท้าย อาจารย์ที่ปรึกษาของเธอก็ไม่ถนัดเรื่องชา อาจารย์จิ๊บจึงต้องทำธีสิสเรื่องข้าวเหมือนตอนปริญญาตรี

ดร.ปิยาภรณ์ เชื่อมชัยตระกูล ผอ.สถาบันชาและกาแฟฯ ผู้พาชาไทยไปคว้าแชมป์โลกที่ญี่ปุ่น
อาจารย์จิ๊บ ผอ.สถาบันชาและกาแฟ แห่ง ม.แม่ฟ้าหลวง ผู้พาชาไทยคว้าแชมป์โลก Grand Gold Prize ที่ญี่ปุ่น
แก้วที่สี่

ชาเขียวจีน

เดินทางไปเรียนรู้เรื่องชา และพาชาไทยไปสู่สายตาชาวโลก

ปีนี้สถาบันชาและกาแฟ แห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มีอายุครบ 18 ปี โดยพ่วงชื่อกาแฟต่อท้ายเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมานี่เอง

อาจารย์จิ๊บรับตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันชาเมื่อ พ.ศ. 2556 ตอนนั้นเธอเชี่ยวชาญเรื่องข้าว ความรู้เรื่องชามีเพียงแค่ชาไทยเครื่องดื่มแก้วโปรดของเธอเท่านั้น เธอแยกความแตกต่างของชาจีนชนิดต่าง ๆ ไม่ได้ด้วยซ้ำ เมื่อต้องมาบริหารสถาบันชา เธอจึงเริ่มศึกษาเรื่องชาอย่างจริงจังราวกับทำวิทยานิพนธ์

“ผู้บริหารมหาวิทยาลัยให้โจทย์เราว่า ถ้าจะทำเรื่องชา เราต้องไปหาคอนเนกชัน ไปหาเพื่อนที่ประเทศจีน ท่านเลยส่งเราไปยูนนาน ให้ล่ามมาคนหนึ่ง ปล่อยให้เราลุยเลย” อาจารย์จิ๊บบินไปคุนหมิงเพื่อพบกับมหาวิทยาลัยเกษตรยูนนานและสถาบันชายูนนาน ไปคุยกับผู้เชี่ยวชาญเรื่องชาโดยที่ไม่เข้าใจศัพท์แสงอะไรเกี่ยวกับชาเลย เธอได้แต่ตั้งใจจด ๆ ๆ ทุกอย่างมาก่อน และพยายามเรียนรู้ให้ได้มากที่สุด

“เราต้องนั่งรถแวนเข้าไปในป่าในดง เดินทางลำบากมาก สิ่งที่เปิดโลกเราคือ ยูนนานอยู่ติดเชียงราย จีนตอนใต้เหมือนบ้านเรามาก เขามีแหล่งท่องเที่ยวเกี่ยวกับชาที่ขึ้นชื่อระดับ 4 ดาวของประเทศจีน มีชาผู่เอ๋อ หรือ ชาอัดแผ่น เรารู้ว่าไทยส่งวัตถุดิบไปทำชาอัดแผ่นที่จีน เราขอให้เขามาสอนทำได้ไหม เขาก็ไม่สอน แต่ทริปนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีนะ”

หลังจากนั้นอาจารย์จิ๊บก็เดินทางไปเรียนรู้และสร้างความร่วมมือกับไต้หวัน ต่อด้วยไปพรีเซนต์เรื่องชาสมุนไพร และผูกมิตรกับวงการชาญี่ปุ่นในงาน World O-CHA หรือเทศกาลชาโลก ที่จังหวัดชิซึโอกะ ประเทศญี่ปุ่น เธอใช้เวลา 7 ปีสั่งสมความรู้และประสบการณ์เรื่องชาจนเสนอให้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงจัดประชุมวิชาการนานาชาติเรื่องชาในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2557 ซึ่งอาจารย์จิ๊บต้องตอบคำถามผู้บริหารมหาวิทยาลัยให้ได้ว่า ทำแล้วได้อะไร

“มันคือการสร้างแม่เหล็ก สร้างแสงให้มหาวิทยาลัย ให้จังหวัดเชียงราย ให้ประเทศไทย เราต้องการปักหมุดว่า ประเทศไทยมีแหล่งปลูกชาที่ดี ไม่ใช่ถูกจดจำว่า ชาไทยคือชาใส่สีแต่งกลิ่นไม่มีประโยชน์ นักวิจัยต่างชาติบางคนเรียกชาเราว่า ‘ชามะเร็ง’ ด้วยซ้ำ”

อาจารย์จิ๊บอธิบายว่า ชาดี ๆ ที่ปลูกในประเทศไทย ถูกส่งออกไปเป็นวัตถุดิบให้จีนและไต้หวัน เพราะพื้นฐานผู้ประกอบการชาบ้านเรามีบรรพบุรุษเป็นคนยูนนาน ไม่ก็คนไต้หวัน คนในวงการชาต่างประเทศจึงมองว่า ไทยเป็นเพียงมือปืนรับจ้างในการผลิตชา สร้างแบรนด์ของตัวเองไม่ได้

เธออยากเปลี่ยนความคิดนี้ให้ได้

อาจารย์จิ๊บ ผอ.สถาบันชาและกาแฟ แห่ง ม.แม่ฟ้าหลวง ผู้พาชาไทยคว้าแชมป์โลก Grand Gold Prize ที่ญี่ปุ่น
ชาแก้วที่ห้า

Best Cup of Thai Tea

คุณค่าจากบรรพบุรุษสู่การสืบสานของลูกหลาน

บนโลกนี้มีชาอยู่ 2 สายพันธุ์หลัก ๆ คือ ชาจีน หรือ Camellia sinensis var. sinensis กับ ชาอัสสัม Camellia sinensis var. Assamica ชาในโซนจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ส่วนใหญ่เป็นชาจีน ส่วนชาอัสสัมอยู่แถบอินเดีย ศรีลังกา เป็นส่วนใหญ่

ในประเทศไทยปลูกชาอัสสัมมากว่าพันปี บางพื้นที่มีต้นชาอัสส้มอายุหลายร้อยปีที่บรรพบุรุษปลูกไว้ และชาวบ้านจำนวนไม่น้อยตัดทิ้งไปปลูกพืชเศรษฐกิจตัวอื่นอย่างไม่เห็นค่า ทั้งที่ชาอัสสัมพื้นเมืองของไทยถือเป็น 1 ใน 8 พืชชุดแรกที่ถูกเลือกเข้าโครงการอนุรักษ์สายพันธุ์พืชของกรมสมเด็จพระเทพฯ

ส่วนชาจีน คนไต้หวันนำมาปลูกที่ดอยแม่สลองเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา แต่ก็ปรับตัวกับสภาพในเมืองไทยได้ดีมาก

“เราทำงานโดยใช้หลักของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เราต้องเข้าใจชาในโลกนี้ว่ามีมาตรฐานแบบไหน แล้วกลับมาเข้าถึงทรัพยากรของเราว่า บ้านเรามีวัตถุดิบอะไร แล้วพัฒนาด้วยพื้นฐานความรู้เทคโนโลยีที่เรามี ต่อยอดจากตรงนั้น”

แม้จะเป็นชาสายพันธุ์ที่มีต้นกำเนิดเดียวกับประเทศจีนหรือไต้หวัน แต่ปลูกในภูมิประเทศภูมิอากาศที่แตกต่าง รวมถึงมีการพัฒนาสายพันธุ์ ชาเชียงรายจึงแตกต่างจากชาจีน ส่วนขั้นตอนการแปรรูป ถึงจะทำเหมือนประเทศอื่น ๆ แต่ทุกขั้นตอนก็มีเคล็ดลับที่สั่งสมมาจากประสบการณ์อันยาวนาน

ชาที่ปลูกในประเทศไทยจึงไม่เหมือนชาที่ปลูกในประเทศอื่น

“เมื่อวานมีคนจากฝรั่งเศสมาหา เขาถามว่าชาอู่หลงของไทยตอนนี้ผลิตโดยคนจีนหรือคนไต้หวัน ในอดีตน่ะใช่ มีคนจีนคนไต้หวันมาคุมการผลิตแล้วส่งกลับไป แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการที่เป็นทายาทธุรกิจ เขามีประสบการณ์มากพอ ทำชาด้วยตัวเองได้ เขาได้รางวัลในเวทีสากลมา 3 ปีแล้ว สิ่งนี้น่าจะบอกความสามารถในการทำชาของคนไทยได้” อาจารย์จิ๊บหมายถึงชาที่เธอลงพื้นที่ไปทำงานด้วย ทั้งเรื่องการผลิต การนำเสนอ จนถึงขั้นพาไปแข่ง

อาจารย์จิ๊บ ผอ.สถาบันชาและกาแฟ แห่ง ม.แม่ฟ้าหลวง ผู้พาชาไทยคว้าแชมป์โลก Grand Gold Prize ที่ญี่ปุ่น
อาจารย์จิ๊บ ผอ.สถาบันชาและกาแฟ แห่ง ม.แม่ฟ้าหลวง ผู้พาชาไทยคว้าแชมป์โลก Grand Gold Prize ที่ญี่ปุ่น

ชาเชียงราย 4 ตัวที่เพิ่งคว้ารางวัลจากเทศกาลชาโลกในปีนี้ ได้แก่ ชาขาว Forest Elegance White Tea จากโรงงานชาเทียนฮวา คว้ารางวัล Grand Gold Prize ส่วน ชาขาว Summer Vibe และชา White Peony Tea จากร้าน One Tea At A Time, ชาขาว Khiri White Tea จาก ไร่ชาวังพุดตาล และ ชาดำ BOMA Black Tea จากไร่ชา TEA 1×2 – ไร่ชา 1×2 ดอยพญาไพร คว้ารางวัล Gold Prize

ใครจะไปคิดว่า ชาไทยจะชนะชาจีนและชาญี่ปุ่นได้

“อย่าคิดว่าชาเขียวที่ดีที่สุดคือชาญี่ปุ่น อย่าคิดว่าชาดำที่ดีที่สุดคือชาอินเดีย ศรีลังกา คุณต้องเข้าใจวัตถุดิบที่มีในไทย หากระบวนการผลิตที่เหมาะสม แล้วสร้างเอกลักษณ์ต่างๆ ขึ้นมา” ผู้เชี่ยวชาญเรื่องชาของญี่ปุ่นเคยบอกอาจารย์จิ๊บไว้แบบนั้น

“นั่นคือคำพูดจากสวรรค์ที่ให้กำลังใจเรา เราไม่ต้องวิ่งตามญี่ปุ่น จีน หรือประเทศไหนเลย มันทำให้เรากล้าก้าวข้ามการผลิตเพื่อส่งออกแบบเดิม ๆ “

เชียงรายได้เปรียบผู้ผลิตชาในหลายพื้นที่ตรงที่มีทั้งชาอัสสัมและชาจีน จึงมีโอกาสพัฒนาชาเบลนด์กลิ่นรสใหม่ ๆ แบบชาฝรั่ง และชาที่เน้นรสชาติดั้งเดิมแบบชาจีน

“พัฒนาไปได้ทั้ง 2 ทาง ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเจอลูกค้ากลุ่มนั้นได้ยังไงและเราเก่งเรื่องไหน” อาจารย์จิ๊บเริ่มวิเคราะห์โอกาสของชาเชียงราย “เราเพิ่งพาน้อง ๆ ผู้ประกอบการชาไปทริปญี่ปุ่นด้วยกัน พาไปทั้งเกษตรกรผู้ปลูกชา และผู้ที่เอาวัตถุดิบมาเบลนด์ แต่ละคนถนัดกันคนละเรื่อง เมื่อเอามารวมกันคือพลังอันยิ่งใหญ่

“ถ้าเราให้ชาวอาข่าจากดอยพญาไพรซึ่งพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลยไปทำตลาดต่างประเทศ เขาคงทำไม่ได้ แต่มีน้องกลุ่มหนึ่งเอาชาจากดอยพญาไพรมาเบลนด์ เขากำลังจะส่งไปขายที่ญี่ปุ่นแล้ว มันต้องจับมือกันทั้งห่วงโซ่อุปทาน เราสอนน้อง ๆ เสมอว่า ผู้ประกอบการคือผู้ประกอบทุกเรื่องราวเข้าด้วยกัน ไม่มีใครทำได้เองเบ็ดเสร็จทุกขั้นตอน เราคือระบบนิเวศที่สร้างกันขึ้นมา เป็นพันธมิตรที่เกื้อกูลกันทางธุรกิจ”

อาจารย์จิ๊บอยากให้เราลองจิบชาไทยสักแก้ว แล้วมองชาไทยด้วยมุมมองที่ต่างไปจากเดิม มองให้เห็นว่า กว่าเกษตรกรจะดูแลต้นชาของเขาจนได้ใบชาที่ดีนั้นยากแค่ไหน ต้องตื่นแต่เช้ามืดเดินไปบนทางชัน 45 องศาเพื่อเก็บยอดชา แล้วเอามาแปรรูปด้วยขั้นตอนมากมากมาย

“ราคาชาหนึ่งแก้วที่เราจ่ายไปไม่แพงเลย มันคือเรื่องราวของการรักษาและสืบสานคุณค่าดั้งเดิมของสิ่งที่อยู่ในท้องถิ่น มันคุ้มมากเลย เราการันตีว่าชาไทยคุณภาพดี ผลิตได้เทียบเท่ามาตรฐานสากล เพียงแต่รอวันที่คนไทยยอมรับของไทย เพราะเราติดกับความเป็นต่างชาติมานานมาก”

อาจารย์จิ๊บ ผอ.สถาบันชาและกาแฟ แห่ง ม.แม่ฟ้าหลวง ผู้พาชาไทยคว้าแชมป์โลก Grand Gold Prize ที่ญี่ปุ่น

อาจารย์จิ๊บสรุปทิ้งท้ายถึงคุณค่าของชาเชียงรายว่า

“วัฒนธรรมชา คือต้นทุนทางสังคมที่บรรพบุรุษสร้างไว้ให้ ลูกหลานเอานวัตกรรมมาต่อยอดเพื่อสร้างคุณค่า ถ้าเราเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมแล้ว เราจะ สืบสาน-ซาบซึ้ง-ส่งต่อ จนทำให้วัฒนธรรมนั้นคงอยู่ตลอดไป”

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

Avatar

จารุเกียรติ หน่อสุวรรณ

งานประจำก็ทำ ช่างภาพก็อยากเป็น