5 พฤศจิกายน 2021
2 K

มหาสมุทรกำลังเผชิญวิกฤต ทรัพยากรถูกทำลาย สัตว์น้ำกำลังจะหมดไป

ก่อนที่สังคมจะตื่นตัวและรณรงค์กันอย่างจริงจัง นี่คือสิ่งที่ ปิยะ เทศแย้ม ครุ่นคิดตั้งแต่เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน เขาคือชาวประมงพื้นบ้าน นายกสมาคมประมงพื้นบ้านทุ่งน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเจ้าของร้านคนทะเล ที่สรรหาสัตว์น้ำคุณภาพดีด้วยกรรมวิธีเป็นมิตรต่อท้องทะเล ส่งตรงให้ผู้บริโภคทานอย่างสบายใจ 

เขาคือหนึ่งในแกนนำเครือข่ายที่ต่อสู้เรียกร้องเพื่อความเป็นธรรมด้วยชีวิต ต่อต้านประมงเชิงพาณิชย์ที่มุ่งทำลายล้างทรัพยากรอย่างมหาศาลเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ระดมกำลังและสื่อสารกับสังคมให้เห็นความสำคัญของการปกป้องผืนทะเลให้อุดมสมบูรณ์ 

แม้จะเคยต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวในวันที่คนไม่เข้าใจปัญหา แต่การรณรงค์ของเขาค่อยๆ ทำให้คนเห็นความสำคัญมากขึ้น จนวันนี้เกิดเป็นเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านที่เข้มแข็ง ทำงานเลี้ยงชีพโดยรักษาธรรมชาติไปด้วย และวันนี้ ความตั้งใจของเขาก็ได้ส่งต่อไปยังทายาทที่เข้ามารับช่วงต่อและพัฒนาการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้น

ในปีที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวมถึงอุตสาหกรรมการประมง เรานัดพูดคุยกับสมาชิกชาวประมงของครอบครัวเทศแย้ม เพื่อพูดคุยถึงเส้นทางการต่อสู้ของพวกเขาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กับภารกิจที่ยังคงต้องดำเนินต่อเพื่อความยั่งยืน
ก่อนจะสายเกินแก้ และไม่หลงเหลืออะไรอยู่ในท้องทะเลอีกเลย

ปิยะ เทศแย้ม ชาวประมงทุ่งน้อย แกนนำมหาสมุทร ผู้ต่อสู้เพื่อทะเลไทยยั่งยืนกว่า 20 ปี

วิกฤตของท้องทะเล

“ผมเริ่มออกเรือกับครอบครัวตั้งแต่ก่อนจบ ป.6 ตอนแรกไม่ชอบ แทบจะวิ่งหนีเรือ แต่ถึงจุดหนึ่งเราถูกปลูกฝังจนวันนี้อยู่ในทะเล ทำเป็นอาชีพมาแล้วกว่าสามสิบแปดปี” ลูกทะเลเล่าความทรงจำในวัยเยาว์ 

ช่วงแรกเริ่ม ปิยะมีโอกาสเข้าทำงานกับประมงเชิงพาณิชย์ในเรือขนาดใหญ่ มุ่งเน้นการจับสัตว์ทะเลแบบอุตสาหกรรม เขาเป็นประจักษ์พยานของการถูกเอารัดเอาเปรียบด้วยประสบการณ์ของตัวเอง และเห็นการใช้เครื่องมือที่ไม่เหมาะสม จึงออกมาเริ่มกิจการประมงขนาดเล็กของตัวเองในช่วงวัย 19 ปี ตระเวนทั่วผืนทะเลไทยฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน โดยเน้นปลาทูเป็นหลักนานอยู่เกือบ 20 ปี

การประมงของปิยะเป็นไปตามวิถีประมงพื้นบ้าน เน้นการใช้เครื่องมือพื้นบ้าน จับสัตว์น้ำที่โตแล้วทีละชนิดๆ ด้วยเครื่องมือแต่ละแบบ จะจับปูก็ใช้อวนปู จับปลาทูก็ใช้อวนปลาทูที่ขนาดอวนใหญ่เหมาะสม เพื่อปล่อยให้สัตว์น้ำวัยอ่อนได้เติบโตขยายพันธุ์ ไม่กว้านหมดทุกประเภท ทุกวัย จนทำให้ผืนทะเลว่างเปล่า ทำลายระบบนิเวศและการพึ่งพากันและกันของธรรมชาติ

ปิยะยึดถือแนวทางนี้ด้วยตัวเองมาโดยตลอด จนช่วงราว พ.ศ. 2547 ทะเลเริ่มส่งสัญญาณบางอย่าง ให้เขาตระหนักถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นอย่างชัดแจ้งแบบรีรอไม่ได้ 

“เราพบว่าปลาทูหายไปเยอะ มีเรือประมงขนาดใหญ่จับลูกปลาวัยอ่อนเต็มไปหมด เรารู้สึกได้ถึงวิกฤตที่กำลังจะเกิดขึ้น” ปิยะกล่าว พร้อมวิเคราะห์สาเหตุ
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สัตว์น้ำสูญหายไปจากท้องทะเล คือ การเพิ่มขึ้นของประมงเชิงพาณิชย์ที่ไร้ความรับผิดชอบ ใช้เรือหรือเครื่องมือผิดกฎหมายอย่างอวนรุน อวนลาก คราดหอย หรือเครื่องมือที่เน้นปริมาณอย่างอวนตาถี่ผิดขนาด จับหมดไม่มีเหลือ รวมถึงมีการลักลอบทำประมงผิดกฎหมาย 

ปิยะ เทศแย้ม ชาวประมงทุ่งน้อย แกนนำมหาสมุทร ผู้ต่อสู้เพื่อทะเลไทยยั่งยืนกว่า 20 ปี
ปิยะ เทศแย้ม ชาวประมงทุ่งน้อย แกนนำมหาสมุทร ผู้ต่อสู้เพื่อทะเลไทยยั่งยืนกว่า 20 ปี

เช่น จับสัตว์น้ำในช่วงฤดูกาลปิดอ่าวที่เป็นช่วงฟื้นฟูทะเล หรือในระยะห้ามใช้เครื่องมือบางประเภทอย่างไม่เกรงกลัว ภายใต้ระบบที่ปราศจากการควบคุมและตรวจสอบอย่างเคร่งครัด แม้จะมีพยานครบ แต่ก็จับผู้กระทำผิดไม่ได้ จนใน พ.ศ. 2558 สหภาพยุโรปเคยให้ใบเหลืองกับไทยในเรื่องนี้ ก่อนจะได้รับการปลดใน 4 ปีต่อมา

“ประเทศเราขาดการคำนึงถึงความยั่งยืนและความเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากร เมื่อนโยบายไม่เข้มแข็ง คนที่มือยาวก็สาวได้สาวเอา กอบโกยความร่ำรวย คิดว่าทะเลเป็นของตัวเอง มองแต่การแปรสินทรัพย์ให้เป็นทุนระยะสั้น แล้วรัฐจะบอกว่าเราเดือดร้อนอยู่คนเดียว ไม่เห็นมีใครเดือดร้อน แต่จริงๆ ธรรมชาติเดือดร้อน”

เมื่อประกอบกับนานาปัจจัย เช่น เทคโนโลยีและความชำนาญในการจับปลาที่พัฒนาขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เหล่ากุ้งหอยปูปลาที่เคยแหวกว่ายอยู่เต็มทะเลก็ค่อยๆ บางตาลงไปเรื่อยๆ 

“ก่อนหน้านั้นเล่าให้คนฟัง บอกว่าถ้าเราไม่ทำอะไรสักอย่าง คงหมดทะเลจริงๆ แต่คนไม่ค่อยเชื่อ จนกระทั่งช่วงห้าถึงสิบปีที่ผ่านมานี้ ไม่มีใครเถียงได้แล้ว เพราะสัตว์น้ำน้อยลงอย่างชัดเจนทุกปี”

หากดูตัวเลขยอดการจับปลาทูในช่วง พ.ศ. 2554 – 2561 จะเห็นว่าปริมาณการจับทั้งปีลดลงจากราว 140,000 ตัน เหลือเพียง 20,000 ตัน หรือ 7 เท่า และยังมีขนาดเล็กลงด้วย สัตว์น้ำอีกหลายประเภทก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตามการเตือนของปิยะตั้งแต่เมื่อหลายสิบปีก่อน

ปิยะ เทศแย้ม ชาวประมงทุ่งน้อย แกนนำมหาสมุทร ผู้ต่อสู้เพื่อทะเลไทยยั่งยืนกว่า 20 ปี

รวมพลประมงพื้นบ้าน

เพื่อรับมือกับประมงเชิงพาณิชย์และทำให้ข้อเรียกร้องมีน้ำหนัก พ.ศ. 2551 ปิยะจึงจัดรวมตัวชาวประมงจัดตั้งสมาคมประมงพื้นบ้านทุ่งน้อย และได้รับการเลือกให้เป็นนายกของสมาคม เป็นปากเป็นเสียงให้กับชาวประมงพื้นบ้าน
“เวลาที่เราจะเปลี่ยนแปลงสังคม เราต้องสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนและเครือข่ายของคนที่คิดเหมือนกัน เราชวนชาวบ้านมาวิเคราะห์สถานการณ์ว่าถ้าไม่สู้จะเกิดอะไรขึ้น ประเมินสิ่งที่เราทำได้และถอดบทเรียน” แกนนำผู้ปลุกให้ชาวประมงฮึกเหิมกล่าว

ปิยะร่วมกับเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน เรียกร้องเชิงนโยบายและคอยสอดส่องผู้กระทำผิด เขาเคยนำชาวบ้านตรวจจับการทุจริตของโครงการภายใต้กรมประมง เรียกร้องการปรับเขตห้ามเรือคราดหอยทำการประมง ต่อต้านการประมงที่ทำลายล้าง และกฎหมายที่เอื้อประโยชน์แก่ภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ปฏิเสธสินบนเพื่อให้อยู่เงียบๆ อย่างหนักแน่นในอุดมการณ์

ปิยะ เทศแย้ม ชาวประมงทุ่งน้อย แกนนำมหาสมุทร ผู้ต่อสู้เพื่อทะเลไทยยั่งยืนกว่า 20 ปี

แต่การเรียกร้องมักขัดขวางใครสักคนที่แสวงหาผลประโยชน์เสมอ ปิยะจึงตกเป็นเป้าและเคยถูกกลุ่มประมงที่ทำผิดกฎหมายรุมชกต่อย ทำร้ายรุนแรงจนบาดเจ็บสาหัสเมื่อ พ.ศ. 2556 แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เขาเกรงกลัวแต่อย่างใด 

การเรียกร้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับสถานการณ์สังคมที่กดดันภาครัฐ จน พ.ศ. 2558 มีการออกพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560) ที่วางระเบียบและควบคุมการทำประมงที่จริงจังขึ้น แต่ก็ยังคงมีข้อจำกัดที่ไม่เอื้อต่อประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก 

เช่น การพิจารณาความเป็นประมงพื้นบ้านจากขนาดเรือ กำหนดให้เรือที่ต่ำกว่า 10 ตันกรอส นับเป็นการทำประมงพื้นบ้าน และกำหนดเขตทำประมงที่ไม่เกิน 3 ไมล์ทะเลนับจากชายฝั่ง กลายเป็นพื้นที่ช่วงชิงทรัพยากรของเรือที่ใช้เครื่องมือผิดประเภท หรือการขาดข้อกำหนดขนาดพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนที่ห้ามจับอย่างชัดเจน แม้จะผ่านการออกกฎหมายมาแล้ว 6 ปีก็ตาม 

การเมืองและกฎหมายจึงเกี่ยวพันกับเรื่องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างแยกจากกันไม่ขาด การมีอยู่ของเครือข่ายประมงพื้นบ้านที่ต่อสู้เรียกร้องเพื่อท้องทะเล แม้ตัวเองจะเผชิญอันตราย จึงถือเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลง

แต่เท่านั้น ยังไม่พอ

สื่อสาร ทำงานร่วมกับผู้บริโภค

นอกเหนือจากจรรยาบรรณของผู้ประกอบการประมง รวมถึงข้อบังคับที่เข้มงวดและเข้าใจจริงจากภาครัฐแล้ว อีกหนึ่งผู้เล่นสำคัญที่ช่วยสร้างความยั่งยืนให้ผืนทะเล คือ ผู้บริโภค ซึ่งมีสิทธิ์เลือกสนับสนุน สร้างรายได้ให้ชาวประมงที่คิดดี ทำดี ผ่านการจับจ่ายใช้สอยผลิตภัณฑ์คุณภาพ และกดดันผู้กระทำผิดในทางธุรกิจ
“แนวร่วมของเราคือผู้บริโภค ต่อให้เข้มแข็งขนาดไหน แต่ถ้าสังคมไม่รับรู้ เราก็สู้ไม่ได้ จะไปบังคับประมงเชิงพาณิชย์หรือรัฐบาล ให้ทำตามแนวคิดเราทั้งหมดคงไม่ได้ เราจึงเดินทางไปขายตามที่ต่างๆ ไปเล่าให้เขาเห็นวิธีการได้มาของสัตว์น้ำที่ดูเผินๆ ราคาแพงกว่า แต่เป็นเพราะเราจับปลาใหญ่ที่สด สะอาด ทั้งในเชิงวัตถุดิบและกรรมวิธี พร้อมได้ดูแลทะเลไปด้วย เราสื่อสารให้คนรับรู้แล้วชวนกันมาส่งเสียง ไม่สนับสนุนการประมงที่ผิด” เจ้าของร้านคนทะเลผู้สรรหาปลาทู ปลากะพง ปลาเต๋าเต้ย ปลาอินทรีย์ ปลากุเล กุ้ง หมึกกล้วย และอีกหลายพันธุ์อย่างมีคุณภาพกล่าว และรายได้จากร้านนี้ส่วนหนึ่งนำไปทำกิจกรรมที่ช่วยฟื้นฟูทะเล

อาจมีคนที่รู้สึกว่าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลมีราคาสูงขึ้นเทียบกับเมื่อหลายปีก่อน นั่นเป็นหนึ่งในสัญญาณว่า สัตว์น้ำเหล่านี้กลายเป็นชีวิตที่หาได้ยากขึ้น ถ้าผู้บริโภคสนับสนุนประมงพื้นบ้าน และร่วมส่งเสียงให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทะเลให้ยั่งยืน สัตว์น้ำเต็มท้องทะเล ราคาของผลิตภัณฑ์ต่อหน่วยจะถูกลงเอง

ปิยะ เทศแย้ม และลูกชาย กับภารกิจต่อกรประมงพาณิชย์ผิดกฎหมาย ผลักดันประมงพื้นบ้านเพื่อผู้บริโภคและธรรมชาติยั่งยืน

ในขณะเดียวกัน ทางฝั่งชาวประมงอย่างปิยะก็ไม่ได้นิ่งเฉยรีรออย่างเดียว พวกเขามองหาทางพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค เช่น หาวิธีการจัดเก็บที่ทำให้ปลา หมึก กุ้ง ยังคงสดใหม่ ไม่สูญเสียความอร่อย และการแปรรูปต่างๆ เช่น ทำแดดเดียว

รวมถึงการพัฒนาระบบคิวอาร์โค้ดที่กำลังดำเนินการอยู่ ต่อไปผู้บริโภคจะตรวจสอบได้เลยว่าสัตว์น้ำที่ซื้อมาจากแหล่งใด จับตอนไหน ใช้เครื่องมือและวิธีจัดเก็บแบบใด ต่อยอดมาจากระบบติดตามเรือที่สมาคมใช้อยู่แล้ว เพื่อตรวจสอบความซื่อตรงของชาวประมงที่คบค้าด้วย 

และมีการเปิดเป็นหมู่บ้านนักท่องเที่ยว ต้อนรับคนเข้ามาเรียนรู้วิถีการประมงพื้นบ้าน เห็นที่มาที่ไปของอาหารทะเล และช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ซึ่งคงจะกลับมาดำเนินงานอย่างจริงจังอีกครั้งเมื่อเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซาลง
เป็นภารกิจที่ชาวประมง ภาคธุรกิจ ผู้บริโภค และภาครัฐ ต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพื่อความยั่งยืนทางอาหารและความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล

ปิยะ เทศแย้ม และลูกชาย กับภารกิจต่อกรประมงพาณิชย์ผิดกฎหมาย ผลักดันประมงพื้นบ้านเพื่อผู้บริโภคและธรรมชาติยั่งยืน

ลูกทะเลตัวจริง

ทุกวันนี้ ปิยะในวัย 50 ปียังคงทำการประมงอยู่ด้วยความเชื่อแบบเดิม
แต่เขาเริ่มแบ่งเวลา หันไปทำงานสวนควบคู่เป็นอาชีพเสริม รวมถึงงานเพื่อส่วนรวมอย่างธนาคารปูม้าที่ปิยะลงทุนสร้างด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง ให้ชาวประมงนำปูม้าที่มีไข่นอกกระดองมาขายให้ธนาคารได้ทุกขนาด เลี้ยงไว้ในถังหรือบ่อพักที่เรียงรายหลายสิบ เฝ้ารอวันสลัดไข่และนำไปปล่อยกลายเป็นชีวิตใหม่ในท้องทะเล​ ซึ่งปัจจุบันมีการปล่อยลูกปูลงทะเลไปแล้วมากกว่าร้อยล้านตัว เกิดเป็นปรากฏการณ์ปูเต็มแถบชายฝั่งแบบที่คนในพื้นที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

ส่วนคนที่เข้ามารับไม้ต่อและพัฒนาการประมงของร้านและชุมชนให้ดีขึ้นไปอีกระดับคือ นิสสัน-กิตติเดช และ ไฟฟ้า-ธันวา เทศแย้ม สองหนุ่มคนรุ่นใหม่ที่ออกเรือโลดแล่นในท้องทะเลไปกับพ่อตั้งแต่เด็ก 

ปิยะ เทศแย้ม และลูกชาย กับภารกิจต่อกรประมงพาณิชย์ผิดกฎหมาย ผลักดันประมงพื้นบ้านเพื่อผู้บริโภคและธรรมชาติยั่งยืน

“ผมเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทะเล เห็นว่าบางคนที่ทำประมงในหมู่บ้านมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ทุกวันนี้คุณภาพชีวิตเขาก็ยังไม่ดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขากำหนดราคาเองไม่ได้ หากต้องผ่านคนกลางที่ไม่เข้าใจกระบวนการ ผมคิดว่าเราน่าจะยกระดับสินค้าได้อีก แปรรูป ทำแบบใหม่ไม่ให้ของเราด้อยค่า ซึ่งตอนเริ่มแรกมันไม่ง่ายเพราะไม่ค่อยมีใครทำ เราต้องทำให้เขาเห็นก่อน

“ผมชอบงานนี้เพราะรู้สึกว่าตรงกับชีวิตตัวเองดี ไม่ต้องพยายามเป็นคนอื่น เราเป็นลูกทะเลอยู่แล้ว แค่หาทางทำให้มันพิเศษขึ้นกว่าเดิม” นิสสันเล่าสาเหตุที่กลับมาทำประมงเหมือนพ่อ 

พวกเขาเข้ามาดูแลการออกเรือ พัฒนาการจัดเก็บและแปรรูปร่วมกับชาวประมงในชุมชน รวมถึงสื่อสารทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อให้ความรู้ผู้บริโภคเกี่ยวกับเส้นทางของสัตว์น้ำก่อนจะถึงมือคุณ และวิธีการดูแลเพื่อให้รับประทานได้อย่างเอร็ดอร่อย

ปิยะ เทศแย้ม และลูกชาย กับภารกิจต่อกรประมงพาณิชย์ผิดกฎหมาย ผลักดันประมงพื้นบ้านเพื่อผู้บริโภคและธรรมชาติยั่งยืน

“เราต้องพูดคุยกันในชุมชนให้พร้อมปรับเปลี่ยน ถ้าของเราไม่ดี ผู้บริโภคไม่ชอบ ไม่กิน เราคงขายปลาราคาดีไม่ได้กันหมด ผมมีโอกาสได้เจอกับผู้บริโภค ก็จะสื่อสารสิ่งที่ทำตลอด ให้เขาเห็นที่มา ถึงไม่ซื้อก็ไม่เป็นไร แล้วเราจะนำความต้องการของเขากลับมาบอกคนในชุมชนเพื่อช่วยกันพัฒนา” 

แต่ความท้าทายที่เขาต้องเผชิญนั้นไม่ต่างอะไรกับรุ่นพ่อเลย การสร้างแนวร่วมที่เข้มแข็งและเห็นความสำคัญของแนวคิดที่ถูกต้องในวงกว้าง ยังคงเป็นภารกิจที่ต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจ ผลักดันให้เกิดขึ้นจริง

“บางส่วนในชุมชนก็ยังมีคนที่ไม่ได้เห็นความสำคัญของงานที่เราทำ เช่น เรามีธนาคารปูที่ช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่กลับไม่ร่วมกันดูแล และยังไปจับปูตัวเล็กอีกเหมือนเคย ตรงนี้ก็ต้องทำงานและสื่อสารกันต่อไป” นิสสันกล่าวอย่างมุ่งมั่น 

ภารกิจยังไม่จบ

จากประสบการณ์ในวิชาชีพกว่า 38 ปี ปิยะสรุปสิ่งที่ตัวเองยินดีชื่นใจเกี่ยวกับงานที่ทำเป็น 3 เรื่องหลัก

หนึ่ง สร้างประมงพื้นบ้านให้อยู่ในระบบและมีตัวตน
สอง สร้างการรับรู้ให้สังคมเข้าใจว่า ประมงพื้นบ้านเป็นการทำงานที่ดูแลทะเลอย่างยั่งยืน และสร้างอาหารหล่อเลี้ยงผู้คน เกิดการสนับสนุนและร่วมมือกัน
สาม ทำให้สังคมเห็นว่าชุมชนที่พวกเขาอยู่เป็นหนึ่งในครัวของคนไทย เชื่อถือได้เรื่องประมงที่สะอาดและปลอดภัย

แต่หากภาครัฐและสังคมยังนิ่งนอนใจเรื่องการอนุรักษ์ ไม่บังคับใช้กฎหมายที่จำเป็น เช่น การกำหนดขนาดพันธุ์สัตว์น้ำที่จับได้ การลงโทษผู้กระทำผิดอย่างเหมาะสม มุ่งหวังแต่การเติบโตทางเศรษฐกิจ ในอีกไม่เกิน 5 ปีข้างหน้า เราอาจเผชิญวิกฤตทั้งเรื่องความมั่นคงทางอาหารและสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลง จนต้องบริโภคสัตว์น้ำที่มาจากประมงเพาะเลี้ยง ทั้งที่เป็นประเทศที่เคยมีทรัพยากรล้นหลาม

การต่อสู้ของพวกเขาเพื่อปกป้องรักษาผืนทะเลยังไม่จบ เราต้องทำงานร่วมกันทั้งห่วงโซ่อุปทานเพื่อช่วยสร้างความยั่งยืน รักษาความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลให้คงอยู่สืบไป เพื่อตัวเราเอง คนรุ่นหลัง และธรรมชาติ

ปิยะ เทศแย้ม และลูกชาย กับภารกิจต่อกรประมงพาณิชย์ผิดกฎหมาย ผลักดันประมงพื้นบ้านเพื่อผู้บริโภคและธรรมชาติยั่งยืน

ภาพ : ปิยะ เทศแย้ม

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป