ปิยะ บุญนำกิจสวัสดิ์ นักออกแบบกลิ่นรส หรือ Flavor Designer เป็นผู้อยู่เบื้องหลังรสชาติและกลิ่นหอมๆ ที่เราคุ้นเคยตามตู้แช่และชั้นวางในร้านค้าต่างๆ ปิยะเชี่ยวชาญด้านการออกแบบกลิ่นที่ให้รสชาติ และการใช้สิ่งนั้นเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการตลาด ทำให้สินค้าดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย และสื่อสารตัวตนได้อย่างที่ตั้งใจมากที่สุด

เขาบอกว่าในประเทศไทยมีคนทำอาชีพนี้อยู่น้อยมากๆ

เหมือนกับที่คำว่า ‘กลิ่นรส’ ในภาษาไทยฟังดูไม่คุ้นเท่าคำว่า ‘Flavor’ ในภาษาอังกฤษ เรื่องกลิ่นรสในประเทศไทยยังไม่ถูกพูดถึงมากเท่าที่ควร แถมบางกรณีการพูดว่าสินค้านี้มีการเติมกลิ่นแต่งรส ยิ่งทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าสินค้านั้นอร่อยน้อยและด้อยค่า ศิลปะและการออกแบบกลิ่นรสจึงไม่ได้รับความนิยม ต้องทำกันอย่างลับๆ และไม่มีองค์ความรู้ด้านนี้ในประเทศไทยมากเท่าที่ควร

ปิยะ บุญนำกิจสวัสดิ์ Flavor Designer ผู้ตั้งใจอยากให้ความเป็นไทยมีกลิ่นและชิมได้

ปิยะเรียนวิชาการออกแบบกลิ่นรสจากการร่วมงานกับบริษัท Givaudan จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นบริษัทอันดับ 1 ของโลกด้านการออกแบบกลิ่น หลังจากเขาจบปริญญาตรีจากภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

ในประเทศไทยยังไม่มีสาขาวิชาด้านการออกแบบกลิ่นรสโดยตรง และในเอเชียมีเพียงญี่ปุ่น เกาหลี จีน สิงคโปร์ เท่านั้นที่มีการเรียนการสอนวิชานี้ 

ปิยะทำงานในองค์กรต่างชาติ และเป็นคนคลุกวงในอยู่หลายปี จนเห็นศักยภาพของกลิ่นรสที่สร้างข้อได้เปรียบทางการตลาดผ่านการกำหนดตัวตน การออกแบบกลิ่นและรสชาติให้โดนใจผู้บริโภค และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า 

แต่ในฐานะบริษัทรับจ้างผลิต ปิยะไม่สามารถเปิดเผยหรือบอกเล่าความน่าตื่นเต้นและไอเดียต่อยอดที่เขามีจากการทำงานนี้ได้มากนัก 

เมื่อถึงวันที่พร้อม ปิยะจึงลาออกจากการเป็นพนักงานบริษัทมาทำสิ่งที่ตั้งใจ คือการออกมาเล่าเรื่องราวเพื่อเป็นแรงผลักให้ผู้บริโภคในประเทศไทยได้เปิดใจยอมรับการออกแบบกลิ่นรสและเห็นศักยภาพของมัน ทั้งในแง่ธุรกิจและความเข้าใจ ผ่านเพจ Flavor Journey By May

ในขณะเดียวกันเขาก็ทำธุรกิจของตัวเองโดยการนำเข้ากลิ่นรสจากต่างประเทศด้วย แล้วพบว่ากลิ่นที่ฝรั่งมองว่าธรรมดาอย่าง สตรอว์เบอร์รี่ เชอร์รี่ แอปเปิ้ล ได้รับความนิยมเหลือเกิน 1 ปีให้หลังเขาเลยใช้ความสามารถที่มีออกแบบกลิ่นรสแบบไทยๆ ส่งไปขายต่างประเทศบ้าง แล้วกลิ่นที่เราคุ้นเคยกันดีอย่างมะกรูด มะม่วง และทุเรียนของไทย ก็ได้รับความนิยมตามคาด ไม่ต่างกับที่คนไทยตื่นเต้นกับรสชาติที่ประเทศเราไม่มี 

วันนี้เรานัดหมายปิยะเพื่อคุยเรื่องกลิ่นรสที่คนไทยคุ้นเคยแต่ยังไม่สนิทใจที่จะยอมรับ ว่าเขามองเห็นศักยภาพอะไร กลิ่นสังเคราะห์น่ารังเกียจจริงไหม การออกแบบรสชาติเขาทำกันอย่างไร และอะไรคือเสน่ห์ของกลิ่นที่เขาบอกว่าเป็นสิ่งเร้าที่ต้านทานได้ยากที่สุด

ที่ห้องรับแขกในออฟฟิศย่านร่วมฤดี เราแอบกังวลว่ากาแฟร้อนหอมฉุยที่ถือติดมือมาด้วยวันนี้จะทำให้สุภาพบุรุษจมูกดีตรงหน้าตีความรสนิยมของเราไปว่าอย่างไรบ้าง

ปิยะ บุญนำกิจสวัสดิ์ Flavor Designer ผู้ตั้งใจอยากให้ความเป็นไทยมีกลิ่นและชิมได้

กลิ่นมีพลังมากกว่าที่เราคิด

เราอาจปิดตาไม่ให้เห็น อุดหูไม่ให้ได้ยิน แต่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงกลิ่นได้ตราบที่เรายังต้องหายใจ และกลิ่นก็เชื่อมโยงเรากับเรื่องราวต่างๆ ในสมองเราได้ทั้งที่เรารู้และไม่รู้ตัว

“กลิ่นพาเราย้อนเวลาได้” ปิยะบอก “มันทำให้เราเชื่อมโยงที่มาของกลิ่นนี้กับประสบการณ์ต่างๆ ในชีวิต กลิ่นเดียวกันอาจมีความหมายที่ไม่เหมือนกันสำหรับแต่ละคน เพราะมีประสบการณ์ต่อกลิ่นนั้นไม่เหมือนกัน”

กลิ่นจึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการตลาดร่วมกับการออกแบบรสชาติ ที่ใช้สร้างตัวตนให้สินค้า ทำให้สินค้าแต่ละยี่ห้อที่คล้ายกันมีความแตกต่างกัน ทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกที่หลากหลาย และที่สำคัญคือ เพิ่มมูลค่าให้สินค้าได้ 

ชั้นวางน้ำชาเขียวสิบกว่าแบบในตู้แช่ ลูกอมที่แตกต่างกันทั้งชั้น น้ำผลไม้ คุกกี้ หมากฝรั่งที่มีความละลานตา เป็นหลักฐานชั้นดีว่ากลิ่นรสสร้างความหลากหลายได้มากเท่าไหร่

การที่ลูกอมรสแปลกๆ จากในเรื่อง แฮร์รี่ พอตเตอร์ กลายมาเป็นสินค้าขายดีในโลกมักเกิล ก็ยืนยันได้ดีว่าคนเราหลงใหลประสบการณ์ที่ได้จากรสชาติกันขนาดไหน

เราไม่สามารถแยกกลิ่นออกจากการรับรู้รสชาติในอาหารที่กิน ผู้เชี่ยวชาญด้านร่างกายมนุษย์อธิบายว่า เวลาเรากินอะไรสักอย่าง ต่อมรับรสที่ลิ้นและต่อมรับกลิ่นที่จมูกจะทำงานร่วมกันเพื่อส่งผลลัพธ์ไปที่สมอง ประมวลค่าและตีความออกมาว่าสิ่งที่เรากินอยู่คืออะไร ทำให้เรารู้สึกแบบไหน และที่สำคัญคือ มันอร่อยหรือเปล่า

คนที่เป็นหวัดย่อมรู้ดีว่าอาหารอร่อยน้อยลงไปหลายเท่าตัว เพียงเพราะไม่สามารถหายใจได้อย่างคล่องจมูก และถ้าใครอยากจะทดลอง ให้อมลูกอมแบบบีบจมูกดู จะพบว่ามันไม่มีรสชาติอะไรเลย

ปิยะ บุญนำกิจสวัสดิ์ Flavor Designer ผู้ตั้งใจอยากให้ความเป็นไทยมีกลิ่นและชิมได้

การตลาดคือการเพิ่มมูลค่าโดยการสร้างความแตกต่าง 

สิ่งที่ปิยะได้เรียนรู้จากการออกแบบกลิ่นในอาหารคือ “กลิ่นที่มีความหมายทำให้ทุกอย่างขายได้แพงขึ้น” 

“สินค้าที่มีความซับซ้อนและความหลากหลายของกลิ่นขายสุนทรียะได้ และคนที่มีกำลังจ่ายก็มักจะยอมจ่ายแพงเพื่อสุนทรียะเสมอ มันเป็นเส้นทางไปสู่การสร้างมูลค่า” 

มูลค่าเกิดจากความเฉพาะตัว ซึ่งสินค้าหลายอย่างก็มีกลิ่นและรสชาติเป็นตัวระบุความแตกต่าง 

ปิยะยกตัวอย่างให้ฟังสองสามเรื่อง 

ปิยะ บุญนำกิจสวัสดิ์ Flavor Designer ผู้ตั้งใจอยากให้ความเป็นไทยมีกลิ่นและชิมได้

เรื่องแรกคือ อุตสาหกรรมไวน์ ปิยะเล่าว่า “การจะแยกว่าเป็น Shiraz, Melot, Cabernet Sauvignon นักชิมไวน์ใช้การดมกลิ่นและชิมรส เพื่อระบุสายพันธุ์ และสายพันธุ์ต่างๆ ก็มีคำอธิบายเพื่อกำหนดตัวตนโดยอ้างอิงจากแหล่งปลูก และพันธ์ุองุ่น พร้อมทั้งมีนักชิมไวน์และคู่มือ เพื่อสร้างมาตรฐานว่ากลิ่นรสที่ต้องมีและต้องไม่มี เขาบรรยายกันออกมาเป็นเรื่องเป็นราวว่าถ้าปลูกที่เบอกันดี ที่บอร์กโดซ์จะให้คาแรกเตอร์อย่างไร รวมถึงวิธีกิน ของที่ต้องกินคู่กัน ทำให้เกิดสินค้าที่ดูเผินๆ เหมือนจะต่างกันเล็กน้อย กลายเป็นสินค้าที่มีที่ทาง มีวาระ และตัวตน เป็นของตัวเอง”

กลับมาที่ประเทศไทย ปิยะชวนให้สังเกตว่า เรารู้ว่าข้าวหอมมะลิของไทยหอม แต่กลิ่นและรสชาติของข้าวหอมมะลิยังไม่มีคำอธิบายหรือเรื่องราวมาใช้สร้างความแตกต่างระหว่างข้าวหอมมะลิจากแหล่งต่างๆ ในประเทศไทย รวมทั้งความแตกต่างของข้าวหอมมะลิไทยและต่างชาติ เช่นบอกว่าข้าวหอมมะลิที่ปลูกในภาคเหนือของไทยมีคาแรกเตอร์นี้ ปลูกที่ทุ่งกุลามีคาแรกเตอร์นี้ กลิ่นต้องเป็นยังไง มีกลิ่นฝน กลิ่นรวงข้าว แตกต่างกันแบบไหน ต้องกินคู่กับอะไรถึงอร่อย ข้าวนาปีจากหน้าฝนให้รสชาติที่ต่างจาก ข้าวนาปรังที่ปลูกนอกฤดูกาลอย่างไร 

“ในขณะที่กาแฟซึ่งเป็นสินค้าเกษตรเหมือนข้าว และมีการสร้างคาแรกเตอร์เหมือนไวน์” ปิยะเล่าให้เห็นภาพ

“ก่อนหน้านี้กาแฟก็เหมือนกันหมด แต่พอมีการแบ่งประเภทเป็นอาราบิก้า โรบัสต้า คั่วเข้ม คั่วกลาง คั่วอ่อน ก็เกิดคาแรกเตอร์ เกิดการกะเกณฑ์แยกแยะกลิ่นต่างๆ อย่างนัตตี้ แอชชี่ ช็อกโกแลตตี้ มีร้านกาแฟที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ มีบาริสต้า มีองค์ความรู้เรื่องกาแฟมากมาย มีความชอบส่วนตัวที่ผู้บริโภคเริ่มเอามาใช้เพื่อเลือกซื้อเมล็ดกาแฟ ผู้บริโภคยอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อรสชาติและกลิ่นหอมของกาแฟที่เหมาะกับโอกาสต่างๆ 

“นี่คือความเป็นไปได้ทางธุรกิจของสินค้าเกษตรอื่นๆ” ปิยะบอกด้วยน้ำเสียงมั่นอกมั่นใจ

ปิยะ บุญนำกิจสวัสดิ์ Flavor Designer ผู้ตั้งใจอยากให้ความเป็นไทยมีกลิ่นและชิมได้
ปิยะ บุญนำกิจสวัสดิ์ Flavor Designer ผู้ตั้งใจอยากให้ความเป็นไทยมีกลิ่นและชิมได้

ความสม่ำเสมอเป็นความจำเป็นทางอุตสาหกรรม

การจะเอากลิ่นมาเป็นตัวกำหนดตัวตนของสินค้า เจ้าของสินค้าจำเป็นต้องมั่นใจว่าเขาจะผลิตสินค้าที่มีลักษณะทางสี กลิ่น รส อย่างนั้นได้สม่ำเสมอ บนต้นทุนที่ควบคุมได้และมีปริมาณที่มากพอ

การสังเคราะห์กลิ่นเพื่อเลียนแบบธรรมชาติจึงเข้ามามีบทบาทกับการตลาด แต่การสังเคราะห์กลิ่นเหล่านี้ก็ต้องการความเชี่ยวชาญในการทำให้กลิ่นและรสชาติที่ทั้งตอบโจทย์ และให้รสชาติที่ดีที่สุด

นี่แหละคืองานของ Flavor Designer 

“กลิ่นรสเหล่านี้ได้จากการสังเคราะห์เคมีที่มีโครงสร้างเดียวกันกับธรรมชาติ” ปิยะเริ่มเล่าวิธีการทำให้กลิ่นมีตัวตน “ยกตัวอย่างที่เห็นชัดๆ ในระดับโลกก็คือวานิลลา ซึ่งเป็นพืชที่ให้กลิ่นและใช้กันทั่วโลก ตอนนี้วานิลลาไม่พอ โตไม่ทัน เลยต้องสร้างส่วนประกอบที่ให้กลิ่น (Aromatic Compound) ในวานิลลาที่เรียกว่า วานิลลิน ขึ้นมา โดยการสร้างสารประกอบทางเคมีที่มีโครงสร้างเดียวกันกับวานิลลินในธรรมชาติ

“เคล็ดลับการสังเคราะห์กลิ่นรสให้อร่อย คือการใส่รายละเอียดให้กลิ่นที่สร้างขึ้นมานี้ใกล้เคียงกับกลิ่นจริงตามธรรมชาติมากที่สุด กลิ่น สี รส มันต้องไปด้วยกัน แม้แต่กลิ่นขั้วเขียวๆ ของมะม่วงก็ต้องใส่เข้าไป หรือแม้แต่ในนมวัวก็ต้องมีกลิ่นหญ้า เพราะวัวกินหญ้า และกลิ่นนั้นจะให้ความรู้สึกสด” ปิยะเล่าให้เห็นภาพการจับเล็กผสมน้อย ผ่านการสังเกตปัจจัยที่ให้กลิ่นตามธรรมชาติ มาสร้างเป็นสิ่งเลียนแบบเพื่อใช้ลดข้อจำกัด

ปิยะ บุญนำกิจสวัสดิ์ Flavor Designer ผู้ตั้งใจอยากให้ความเป็นไทยมีกลิ่นและชิมได้
ปิยะ บุญนำกิจสวัสดิ์ Flavor Designer ผู้ตั้งใจอยากให้ความเป็นไทยมีกลิ่นและชิมได้

“มันคือ ความคงที่ มันคือ ซิกเนเจอร์” 

กลิ่นเป็นตัวแปรที่อธิบายไม่ได้ แต่ทำให้รู้สึกได้ และหลายความรู้สึกก็เป็นตัวขับเคลื่อนโลกใบนี้

อย่างกรณีน้ำอัดลมคู่ปรับกันตลอดกาลอย่างเป๊ปซี่กับโคคาโคล่า ก็คนพยายามอธิบายความแตกต่าง และพยายามหาเหตุผลว่าทำไมถึงชอบแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งมากกว่า จนเกิดการใช้เงินเพื่อแย่งส่วนแบ่งการตลาดเป็นจำนวนมหาศาล มีการสร้างแบรนด์จนเป็นตำนานยาวนานเป็นร้อยปี มีคนรัก มีสาวก จนมีประเด็นใหญ่โตเมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่บอกว่าจะออกแบบรสชาติใหม่ให้เข้ากับยุคสมัย แต่มันไม่ใช่สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ

เรื่องความแตกต่างระหว่างโค้กกับเป๊ปซี่ ปิยะแอบเฉลยให้ฟังว่า “ในเป๊ปซี่มีกลิ่นรสของซีตรัสมากกว่าจึงให้ความรู้สึกซ่า ในขณะที่โค้กมีกลิ่นวานิลลานำ สาวกหลายคนจึงชอบเพราะให้ความรู้สึกหวานมากกว่า แต่รสชาติเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในระดับที่คนจะบอกได้ชัดๆ มันก็เลยถูกสื่อสารออกมาในรูปแบบความรู้สึก

“ในเครื่องดื่มที่น้ำตาลน้อย ก็ใช้ความรู้สึกมาทำให้เรายังรู้สึกว่ามันหวานและให้ความสดชื่นอยู่ โดยการใส่กลิ่นน้ำตาลหรือกลิ่นลูกกวาดลงไปแทนน้ำตาลจริงๆ” ปิยะบอกความลับให้สาวกชูก้าฟรีทั้งหลายได้สบายใจ

สนุกไปกว่านั้น นักออกแบบกลิ่นรสยังเอาความเชื่อมโยงของกลิ่นและรสชาติที่ผู้บริโภคมีต่อสิ่งหนึ่ง มาให้ความหมายในอีกสิ่งหนึ่งด้วย เช่น

ทำให้ยาเป็นยา โดยเติมกลิ่นเชอร์รี่เข้าไปในลูกอมแก้เจ็บคอ เพื่อทำให้คนรู้สึกว่าเป็นยาและเชื่อในประสิทธิภาพ เพราะคนไทยมีความทรงจำว่ารสเชอร์รี่คือรสของยาที่กินตอนเด็กๆ ด้วยกันทั้งนั้น แม้จะไม่ชอบ แต่ก็มีความเชื่อว่าหวานเป็นลม ขมเป็นยาอย่างเหนียวแน่น

และกลิ่นกับรสชาติยังทำให้ยาไม่ใช่ยาได้ด้วย เช่นเครื่องดื่มบำรุงกำลัง ที่เอารสเปรี้ยวๆ หวานๆ มากลบกลิ่นและรสชาติของยา ทำให้ดื่มง่ายขึ้น เพราะในวันที่อ่อนล้า เราคงไม่อยากดื่มเครื่องดื่มที่รสชาติเหมือนยา แต่อยากดื่มอะไรที่ทำให้รู้สึกสดชื่น

ถ้าสังเกตให้ดี เราบอกไม่ได้ว่ารสในเครื่องดื่มบำรุงกำลังคือรสอะไร รู้แต่ว่ารสชาติแบบนี้แหละคือเครื่องดื่มบำรุงกำลัง เพราะมันคือการผสมผสานรสชาติให้เป็นเอกลักษณ์ 

การสร้างซิกเนเจอร์แบบนี้มักจะเริ่มจากแบรนด์เจ้าตลาด แล้วแบรนด์ที่เหลือก็ทำตามๆ กันมา ทั้งกลิ่น รสชาติ แล้วก็สี แม้กระทั่งสีขวด ทุกประสาทสัมผัสที่ได้สัมผัสกับเครื่องดื่มนี้รวมกันแล้วก็ส่งไปประมวลที่สมองว่า เรี่ยวแรงต้องมาแล้วล่ะ เพราะฉันดื่มเครื่องดื่มบำรุงกำลังไปแล้ว เป็นต้น

ปิยะ บุญนำกิจสวัสดิ์ Flavor Designer ผู้ตั้งใจอยากให้ความเป็นไทยมีกลิ่นและชิมได้
ปิยะ บุญนำกิจสวัสดิ์ Flavor Designer ผู้ตั้งใจอยากให้ความเป็นไทยมีกลิ่นและชิมได้

ถ้าประเทศไทยเป็นสินค้าจะมีกลิ่นแบบไหน และมีรสชาติอะไรบ้าง

“หากจะกำหนดค่าให้ความเป็นไทยผ่านกลิ่นรสที่ไม่เคยมีใครกำหนดมาก่อน ก็คงไม่มีใครทำได้น่าเชื่อถือเท่าคนไทย” ปิยะมั่นใจ และเราก็เห็นด้วยว่าเป็นอย่างนั้น

เนื่องด้วยประเทศไทยไม่มีกลิ่นและรสชาติ ปิยะจึงเลือกสังเคราะห์กลิ่นของสิ่งต่างๆ ที่เขาคิดว่าเล่าถึงประเทศไทยได้ ภายใต้แบรนด์ ‘ซิลปิน’ หรือ ‘ศิลปิน’ (Silpin)

‘ศิลปิน’ มีกลิ่นรสอยู่ 9 กลิ่น คือ กลิ่นดอกกุหลาบจุฬาลงกรณ์ มีคาแรกเตอร์เป็นดอกกุหลาบที่มีกลีบซ้อนๆ กัน มีที่มาจากในรั้วในวัง กลิ่นข้าวเหนียวมะม่วงที่มาครบทั้งกลิ่นกะทิ มะม่วง และข้าวเหนียวมูน กลิ่นข้าวหอมมะลิที่ถ้าดมแบบไกลๆ บางๆ จะได้กลิ่นหวดหุงข้าว ทำให้นึกถึงข้าวตอนหุงเสร็จใหม่ๆ กลิ่นลำไยที่ปิยะตั้งใจทำให้เหมือนกลิ่นลำไยแห้ง กลิ่นมะกรูดที่ใช้เป็นซีตรัสแบบไทยๆ กลิ่นทุเรียนหมอนทองสุดฮิตที่อานุภาพรุนแรงไม่แพ้กลิ่นทุเรียนจริงๆ กลิ่นมะขามหวานสีทอง กลิ่นมะพร้าวสมุย และสุดท้ายกลิ่นตะไคร้

กลิ่นรสเหล่านี้อยู่ในรูปแบบของน้ำเชื่อมที่นำไปผสมกับอาหาร ขนม และเครื่องดื่ม เพื่อแปลงให้สิ่งเหล่านั้นมีความเป็นไทยเข้าไปแฝงตัวอยู่ได้ และอาจเกิดเป็นบทสนทนาต่อไปเรื่องความทรงจำหรือความประทับใจที่มีกลิ่นรสนั้นๆ ไปเชื่อมโยง 

ปิยะ บุญนำกิจสวัสดิ์ Flavor Designer ผู้ตั้งใจอยากให้ความเป็นไทยมีกลิ่นและชิมได้
ปิยะ บุญนำกิจสวัสดิ์ Flavor Designer ผู้ตั้งใจอยากให้ความเป็นไทยมีกลิ่นและชิมได้

เหมือนที่โค้กให้ความรู้สึกหวานเพราะวานิลลา เป๊ปซี่ให้ความรู้สึกซ่าเพราะซีตรัส ค็อกเทลบางเมนูก็อาจให้ความรู้สึกถึงความเป็นไทยผ่านกลิ่นกุหลาบจุฬาลงกรณ์ผสมกับกลิ่นข้าวหอมมะลิ และบางทีร้านอาหารไทยก็อาจจะได้เสิร์ฟครัวซองต์หลังมื้ออาหารด้วยการใช้กลิ่นข้าวเหนียวมะม่วง และร้านกาแฟข้ามชาติอาจทำเมนูแบบไทยๆ ด้วยกาแฟที่มีกลิ่นทุเรียนหมอนทองได้ เป็นต้น 

ปิยะเลือกส่งศิลปินออกไปขายในทวีปยุโรปเป็นหลัก เพราะเป็นที่ที่คนยอมจ่ายให้มะขาม มะกรูด มะม่วง มะนาว มากเท่ากับที่คนไทยจ่ายให้แอปเปิ้ล เชอร์รี่ เมล่อน คาราเมล 

เป็นวิธีคิดย้อนกลับ จากปกติที่จะคิดว่าเราจะต้องทำสินค้าแบบไหนให้ตอบโจทย์คนซื้อ มาเป็นเราต้องหาคนซื้อแบบไหนที่จะสนใจสินค้าของเราแทน

“ศิลปินไม่ได้ขายน้ำเชื่อม แต่ขายความเป็นไทย” ปิยะอธิบายภาพใหญ่ที่เขาตั้งใจเอาไว้

“คนยุโรปให้ความสำคัญกับกลิ่นมาก เพราะในสมัยโบราณกลิ่นเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นชนชั้นสูง ชาวยุโรปจึงเชื่อมโยงกลิ่นกับความพิเศษ ผมเชื่อว่าถ้าเราเอาความเป็นไทยมาทำให้มีกลิ่น และผูกให้กลิ่นนี้มันเป็นความพิเศษ สุนทรียะจากกลิ่นก็น่าจะทำให้โลกตะวันตกยอมรับความเป็นไทยมากขึ้นอีกหนึ่งเรื่อง”

ปิยะ บุญนำกิจสวัสดิ์ Flavor Designer ผู้ตั้งใจอยากให้ความเป็นไทยมีกลิ่นและชิมได้

เพิ่มมูลค่าแบบไม่ลดคุณค่า

“ในพระราชนิพนธ์ ไกลบ้าน เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป ทรงเล่าว่า ได้นำความเป็นไทยไปให้ชาวยุโรปรู้จัก ให้ชาวยุโรปเห็นว่าคนไทยก็มีอารยะและทันสมัยทัดเทียมกับเขา ไม่ใช่เดินตามเขา ทุกครั้งที่ผมเอากลิ่นความเป็นไทยไปขาย ผมจะคิดแบบนั้น” ปิยะเล่าให้ฟังเมื่อเราหันไปถามถึงหนังสือที่วางอยู่ใกล้ๆ

“แต่ทำแบบนี้แล้วมันจะลดคุณค่าของความเป็นธรรมชาติไหม คนก็จะไปติดกับสิ่งสังเคราะห์กันหมด” เราถาม

“ผมมองว่ามันทำให้คนเห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้นด้วยซ้ำ เมื่อเราเพิ่มมุมมองว่ามันเพิ่มมูลค่าได้นะ คนไทยจะได้ไม่ต้องพยายามขายของลดราคา หรือต้องขายข้าวราคาถูก หรือมีสินค้าเกษตรล้นตลาด”

ปิยะ บุญนำกิจสวัสดิ์ Flavor Designer ผู้ตั้งใจอยากให้ความเป็นไทยมีกลิ่นและชิมได้

เราขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ตามประสาคนชอบผัดกะเพรา 

สมมติว่าวันหนึ่งมีนักชิมชื่อก้องโลกมารีวิวข้าวหอมมะลิว่า “ข้าวหอมมะลิต้องมาจากทุ่งกุลาร้องไห้ในช่วงนาปีเท่านั้นถึงจะมีรสชาติเข้ากับกะเพราไก่ไข่ดาวมากที่สุด เพราะความแน่นของเม็ดข้าว กลิ่นที่เข้ากันได้ดีกับใบกะเพรา และรสชาติที่เหมาะกับการละเลียดร่วมกับไข่ดาวยางมะตูม” เชื่อว่าข้าวหอมมะลินาปีจากทุ่งกุลาร้องไห้ย่อมมียอดขายเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามยอดขายผัดกะเพราแน่ๆ แต่การจะทำอย่างนั้นได้ เราจำเป็นต้องสร้างมาตรฐานให้ข้าวหอมมะลินาปีจากทุ่งกุลาร้องไห้ให้มีความคงที่ สม่ำเสมอ ทั้งเรื่องผลผลิต กลิ่น และรสชาติให้ได้ก่อน คนกินจะได้ไม่ผิดหวัง และกลับมาซื้อได้อีกซ้ำๆ 

เรื่องนี้ปิยะอธิบายเสริมว่า “การมีกลิ่นรสที่แน่นอนเพื่อใช้ถ่ายทอดออกไปได้ว่า มันเป็นรสชาติที่ได้จากการทำเกษตรแบบนี้ ทำไมต้องปลูกสิ่งนี้ในฤดูนี้ที่จังหวัดนี้ เพราะสภาวะของดิน สภาวะของอากาศ มันเอื้ออำนวยให้พันธุ์นี้เติบโต มีรสชาติอร่อย มีความหอมที่เป็นเอกลักษณ์ ที่ถ้าผิดไปจากนี้ก็คือไม่ใช่ มันคือความแตกต่างที่จะสร้างมูลค่าได้”

สุดท้ายนี้ปิยะเล่าถึงโปรเจกต์เพจ Flavor Journey By May และแบรนด์ศิลปินที่เขาภาคภูมิใจเพิ่มอีกนิดว่า “ผมมีพระโอวาทของรัชกาลที่ 9 เป็นหลักประจำใจว่า จงทำหน้าที่ของตนให้ดี ก็จะถือว่าได้ช่วยเหลือประเทศของเราแล้ว งานของผมคือการออกแบบกลิ่น และผมเห็นว่ามันมีคุณค่า จึงอยากสร้างเมล็ดพันธุ์เล็กๆ นี้ไว้ในสังคมไทย เผื่อว่าวันหนึ่งมันจะเติบโตมาออกดอกออกผลและสร้างร่มเงาให้กับคนไทยได้”

ปิยะ บุญนำกิจสวัสดิ์ Flavor Designer ผู้ตั้งใจอยากให้ความเป็นไทยมีกลิ่นและชิมได้

Writer

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

อดีตนักโฆษณาที่เปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักเล่าเรื่องบนก้อนเมฆ เป็นนักดองหนังสือ ชอบดื่มกาแฟ และตั้งใจใช้ชีวิตวัยผู้ใหญ่ไปกับการสร้างสังคมที่ดีขึ้น

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล