ทางลาดขนานกับบันได ราวจับขนาบข้างทางเดิน ประตูขนาดกว้างกว่าปกติแต่ไม่มีลูกบิด ห้องน้ำใหญ่พิเศษเพื่อทุกคนโดยไม่ต้องแบ่งแยก

เราไล่มองรายละเอียดต่าง ๆ อย่างประทับใจเมื่อพบเห็นต้นแบบอาคารในฝัน ที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการของผู้พิการแบบไม่ต้องเรียกร้อง

หลังสั่งเครื่องดื่มเมนูโปรดด้วยการจดบนกระดาษ ถูกคิดเงินด้วยพนักงานอัธยาศัยดี และใช้ภาษามือในการส่งต่อออเดอร์ ไม้สุดท้ายคือบาริสต้าใบหน้าเปื้อนยิ้มรับหน้าที่ชงกาแฟให้ถึงมือลูกค้า อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้รสชาติของมันกลมกล่อมกว่าที่ไหน 

คุณพิรุณ ลายสมิต ผู้อำนวยการบริหาร ศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก (ศพอ.) ความร่วมมือไทย-เทศกว่า 20 ปี เพื่อสร้างอาชีพคนพิการ

คุณพิรุณ ลายสมิต ผู้อำนวยการบริหาร ศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก (ศพอ.) บอกกับเราในภายหลังว่า “ลองไปดูที่ร้านกาแฟข้างล่าง แคชเชียร์ผมเป็นออทิสติก ยิ้มแย้ม มีความสุข เขาทำงานได้ ทิ้งปมด้อยว่าเขาเป็นอะไร”

60+ Plus Bakery & Chocolate Cafe คือชื่อร้านกาแฟที่ท่านว่า ส่วน ศพอ. เป็นสิ่งที่เราจะนั่งลงคุยกับท่านในวันนี้ ถึงความเป็นมาและความพิเศษที่ทำให้ศูนย์ฝึกอบรมแห่งนี้ยืนหยัดเพื่อคนพิการมานานกว่า 20 ปี และผ่านการฝึกฝนอาชีพผู้พิการมาแล้วนับ 4,000 คน

ศูนย์อบรมคนพิการแห่งเอเชียแปซิฟิก ความร่วมมือไทย-เทศกว่า 20 ปี เพื่อสร้างอาชีพคนพิการ

ตัดสายสะดือ

ท่านพิรุณพาเราย้อนกลับไปช่วง พ.ศ. 2536 – 2544 หรือเรียกอีกอย่างว่าทศวรรษคนพิการ ผลจากการที่องค์การสหประชาชาติ (UN) เริ่มร่างอนุสัญญาคนพิการขึ้นมาเพื่อพัฒนากลุ่มเปราะบาง รัฐบาลญี่ปุ่นเล็งเห็นว่าจะเป็นการดีหากมีศูนย์พัฒนาศักยภาพคนพิการขึ้นมาสักแห่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จึงร่วมมือกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของของมนุษย์ และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) 

ท่านพิรุณถึงกับบอกว่า 2 องค์กรนี้เปรียบได้กับผู้ตัดสายสะดือให้ ศพอ. ถือกำเนิดขึ้นมาใน พ.ศ. 2545 ตามมติคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ศพอ. ยังได้รับการรับรองจากคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (ESCAP) ให้เป็นศูนย์ประสานงานด้านความพิการระดับภูมิภาคอีกด้วย

ในช่วงปีแรก จะเป็นการทำงานพัฒนาคนพิการระหว่าง JICA กับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ นำความรู้วิทยาการที่รุดหน้าไปไกลของญี่ปุ่น ฝึกอบรมและถ่ายทอดให้กับประเทศต่าง ๆ จึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไม ศพอ. ถึงเป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตาชาวต่างชาติมากกว่าคนไทยเองเสียอีก

ที่สำคัญคือ JICA ไม่เพียงแค่ถ่ายทอดวิชาการอย่างเดียว ตึกที่เรานั่งสนทนากันอยู่ รวมทั้งตึกฝึกอบรมด้านหลัง ก็เป็นตึกที่ทางการญี่ปุ่นส่งมอบให้ โดยใช้หลัก Universal Design ในการออกแบบ ที่ผ่านมาก็มีคณะสถาปัตย์หลากหลายสถาบัน รวมถึงโรงแรมชั้นนำต่าง ๆ เข้ามาขอเรียนรู้งาน เพราะไม่ใช่แค่คนพิการ แต่ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุในไม่ช้า และทุกคนต่างก็ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงภูมิสถาปัตย์

“เราก็ใช้ประโยชน์ในเรื่องพัฒนาคนพิการเยอะ ไม่เพียงแต่คนต่างชาตินะ องค์กรคนพิการไทยก็มาใช้ เราอยู่ชั้น 2 สภาคนพิการแห่งชาติอยู่ชั้น 3 แบ่งกันใช้พื้นที่เพื่อทำงานเรื่องคนพิการโดยเฉพาะ”

พันธมิตรคนต่อไปที่เข้ามาจับมือกับ ศพอ. คือกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) กระทรวงการต่างประเทศ ที่จะช่วยทำให้ศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก เป็นศูนย์ของผู้พิการทั้งภูมิภาคอย่างแท้จริง

ศูนย์อบรมคนพิการแห่งเอเชียแปซิฟิก ความร่วมมือไทย-เทศกว่า 20 ปี เพื่อสร้างอาชีพคนพิการ
คุณพิรุณ ลายสมิต ผู้อำนวยการบริหาร ศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก (ศพอ.) ความร่วมมือไทย-เทศกว่า 20 ปี เพื่อสร้างอาชีพคนพิการ

บ้านพี่ เมืองน้อง

เพียงปีแรกที่เข้ามา กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) ก็ร่วมกับ ศพอ. และ JICA สร้างโครงการ Third Country Training Programme (TCTP) ขึ้นใน พ.ศ. 2557 มีภารกิจสำคัญคือ ฝึกอบรมและถ่ายทอดวิชาการให้แก่กลุ่มผู้พิการเกิดใหม่ในประเทศอาเซียน ได้แก่ ผู้เป็นออทิสติก ดาวน์ซินโดรม และกลุ่มผู้มีปัญหาทางการได้ยิน ภายใต้หลักการพัฒนาชุมชนอย่างมีส่วนร่วม หรือ Community-Based Inclusive Development: CBID โดยมีการดำเนินงาน ดังนี้

พ.ศ. 2557 ฝึกอบรมผู้มีปัญหาทางการได้ยิน

พ.ศ. 2558 ฝึกอบรมผู้เป็นออทิสติก

พ.ศ. 2559 ฝึกอบรมผู้เป็นดาวน์ซินโดรม

พ.ศ. 2560 ใช้กีฬาเข้ามาช่วยในการพัฒนาศักยภาพคนพิการด้านกายภาพ มุ่งเน้นที่กลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง 

พ.ศ. 2561 – 2562 ฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพคนพิการในกลุ่มประเทศอาเซียนทั้งหมด

มาถึงตรงนี้ ท่านพิรุณเน้นย้ำว่า อยากอธิบายเรื่องหลักการฝึกฝนที่ว่าให้เราเข้าใจ 

“แพทย์เข้ามาดูแลรักษาฟื้นฟูความพิการ แต่หลังจากฟื้นฟูแล้ว คนพิการก็ต้องอยู่ในสังคมให้ได้ CBID คือการนำความพิการมามีส่วนร่วมในสังคม ศพอ. จึงใช้ชุมชนเป็นฐานในการพัฒนา

ถ้าเด็กเป็นออทิสติกอยู่บ้าน ให้พ่อแม่สอนอย่างเดียว การพัฒนาช้า ต้องเอาชุมชน หมู่บ้าน หลากหลายองค์กรเข้ามาช่วยบูรณาการ หลัก CBID จะเข้ามาดูแลสภาพจิตใจ ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ตอนที่ผมอบรมคนพิการแรก ๆ เขาไม่กล้าพูด เจียมเนื้อเจียมตัวเหมือนมีปมด้อย ตอนนี้เขาโต้ตอบเหมือนคนทั่วไปแล้ว” ท่านว่า

ส่วน พ.ศ. 2563 – 2565 ที่ทุกประเทศทั่วโลกต่างเจอวิกฤตโควิด-19 เล่นงาน ทั้ง 3 องค์กร ก็ได้จัดตั้งหลักสูตรการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติของคนพิการขึ้นมา เพราะเชื่อว่าผู้พิการจะเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ถูกนึกถึงเสมอ

“ปกติเวลาเกิดภัยพิบัติขึ้นมา โดยธรรมชาติก็ต้องวิ่งหนีเอาตัวรอด แต่คนพิการเขาเคลื่อนไหวลำบาก มีขายังวิ่งไม่ทันเลย แล้ววีลแชร์จะทันเหรอ เราต้องสร้าง Awareness ให้กับเขา และให้วิธีการช่วยเหลือ”

ตลอดระยะเวลา 9 ปี นอกจากจะมีโครงการที่ร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) ยังมีโครงการที่ทำร่วมกับ ศพอ. โดยเฉพาะ อาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศกระจายความช่วยเหลือให้ผู้พิการในประเทศต่าง ๆ อีกด้วย

เห็นได้ชัดใน พ.ศ. 2564 จากโครงการเพิ่มศักยภาพการจัดการเรียนร่วมสำหรับผู้เชี่ยวชาญชาวมัลดีฟส์ สังกัดกรมการเรียนร่วม (IED) และครูจากโรงเรียนแกนนำในเมือง Male และ Atolls ประเทศมัลดีฟส์ โดยได้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมาช่วยปูพื้นฐานเรื่องการศึกษา พัฒนาหลักสูตร และอบรมครูอาจารย์ ศพอ. เองทำหน้าที่เผยแพร่หลักการ CBID คือการเรียนการสอนจะเกิดขึ้นในห้องอย่างเดียวไม่ได้ ชุมชน ผู้ปกครอง จะต้องให้ความร่วมมือด้วยเช่นกัน เช่นเดียวกับที่กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) ให้การช่วยเหลือและประสานงานกับทุกฝ่ายจนโครงการนี้เกิดขึ้น

“หลังเทรนออนไลน์แล้ว TICA ก็มีความเห็นว่า อยากให้ ศพอ. และ มศว ไปดูพื้นที่ในมัลดีฟส์ว่าจะบริหารจัดการยังไง พอได้ไอเดียแล้วก็ให้พวกเขาเดินทางมาดูระบบการศึกษาพิเศษที่ไทย เป็นการแสดงบทบาทของประเทศเราโดยมี TICA เป็นตัวขับเคลื่อน”

ยอมรับตามตรงว่า เราไม่เคยคิดภาพปัญหาคนพิการในประเทศทะเลสีครามอย่างมัลดีฟส์มาก่อน คำถามต่อไปจึงเป็นการขอให้ท่านพิรุณชี้แจงแถลงไข

“จากสถิติขององค์การสหประชาชาติ คนพิการทั่วโลกมี 10 เปอร์เซ็นต์ ไม่นับที่เพิ่มขึ้นจากอุบัติเหตุ 

“ประเทศไทยมี 67 ล้านคน คนพิการก็คงมีประมาณ 6,700,000 คน ซึ่งจริง ๆ มีมากกว่านั้น แต่ในจำนวน 6 ล้าน มีคนมาลงทะเบียนผู้พิการที่กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการประมาณ 2 ล้านกว่าคนแค่นั้นเอง 

“บางครอบครัวเขาไม่ยอมให้คนพิการออกจากบ้าน อาจจะอาย กลัวหลงทาง แต่โลกปัจจุบันคุณไม่ต้องอาย คุณควรให้โอกาสเขาออกมาเจอสายลมแสงแดดบ้าง เก็บตัวแต่ในบ้าน ในโรงพยาบาล ไม่ใช่วิธีแก้ที่ถูกต้อง”

คุณพิรุณ ลายสมิต ผู้อำนวยการบริหาร ศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก (ศพอ.) ความร่วมมือไทย-เทศกว่า 20 ปี เพื่อสร้างอาชีพคนพิการ

พิเศษใส่ไข่

การออกมาเจอสายลมแสงแดด อาจหมายความถึงการเดินทางมาฝึกฝนทักษะที่ ศพอ. ก็เป็นได้

ท่านพิรุณมองเห็นว่า รูปแบบการสอนที่ผ่านมาเน้นเรื่องกายภาพเป็นหลัก หลังท่านเข้ามารับหน้าที่ก็ได้ริเริ่มการนำมิติเศรษฐศาสตร์เข้ามาผสมผสาน เพื่อให้การพัฒนาศักยภาพคนพิการดำเนินไปได้อย่างครบวงจรและยั่งยืน คือ หนึ่ง ต้องสร้างอาชีพ สอง ต้องสร้างรายได้ และสาม ต้องสร้างสังคมที่ทุกคนเข้าถึงได้ 

“ผมยกตัวอย่าง เช่น จักรยานหนึ่งคัน ที่ผ่านมาคุณทำให้องค์ประกอบจักรยานมีสองล้อที่แข็งแรง แต่ถ้าคุณยังต้องลากจูงมันไปก็ไม่ใช่ คุณต้องมีโซ่ที่จะขับเคลื่อนให้เขาไปข้างหน้าได้ด้วยตัวเอง

“ถ้าคุณเอาแต่สุขภาพแข็งแรง แล้วเขาอยู่ยังไง คนพิการก็ต้องมีค่าใช้จ่าย ถ้าเขาได้ใช้ศักยภาพที่มีในตัวเอง ทำงาน หาเงิน ก็จะมีความภาคภูมิใจว่าขนาดเขาพิการยังทำงานมีเงินได้ ไปถึงการสร้างแรงบันดาลใจให้คนทั่วไป”

ธุรกิจเพื่อผู้พิการ (Disability Inclusive Business) เป็นกลยุทธ์หลักที่ ศพอ. เลือกใช้เป็นทางออกของเรื่องนี้ ตัวอย่างที่ใกล้ที่สุด จึงเป็นร้านกาแฟที่มีบาริสต้าเปื้อนยิ้มและแคชเชียร์ออทิสติก

60+ Plus Bakery & Chocolate Cafe เป็นโครงการธุรกิจเพื่อสังคมที่ให้ผู้พิการได้ฝึกภาคปฏิบัติในสนามจริง เสิร์ฟจริง ชงจริง ขายจริง สนับสนุนให้พวกเขาได้เป็นผู้ทำขนมปังด้วยตัวเอง โดยมีแบรนด์ขนมปังชื่อดังอย่าง Yamazaki ให้ความช่วยเหลือในการฝึกสอนให้ได้มาตรฐานเดียวกัน วัตถุดิบเดียวกัน ราคาเดียวกัน เหมือนเป็นอีกหนึ่งสาขาของ Yamazaki ต่างแค่มีผู้เล่นเป็นคนพิการเท่านั้น ผู้พิการบางส่วนถึงกับถูกจ้างให้เป็นพนักงานประจำสาขาต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ด้วยซ้ำไป

ส่วนช็อกโกแลตที่ว่าทำยาก ก็ไม่ยากเกินกว่าจะคณามือคนพิการสักเท่าไร จากความช่วยเหลือของ MarkRin แบรนด์ช็อกโกแลตสัญชาติไทยที่เจ้าของใช้เวลาวิจัยต้นโกโก้มานานถึง 30 ปี ได้ออกมาเป็นขนมฝีมือคนพิการที่วางเรียงรายอยู่หน้าร้านรอให้เลือกซื้อ 

ศูนย์อบรมคนพิการแห่งเอเชียแปซิฟิก ความร่วมมือไทย-เทศกว่า 20 ปี เพื่อสร้างอาชีพคนพิการ
ศูนย์อบรมคนพิการแห่งเอเชียแปซิฟิก ความร่วมมือไทย-เทศกว่า 20 ปี เพื่อสร้างอาชีพคนพิการ

“มือหนึ่งของร้านเราเป็นคนหูหนวก ทั้งชงกาแฟ ทั้งทำช็อกโกแลตเยี่ยมมาก ตอนนี้เขากลายเป็นอาจารย์สอนคนพิการรุ่นใหม่ ๆ” ท่านพิรุณเล่าพร้อมประกายความสุขในแววตา

ผู้เข้าร่วมอบรมส่วนใหญ่ที่มีความหลากหลาย ทั้งพิการทางการมองเห็น การได้ยิน ทางร่างกาย ทางจิตใจ ทางสติปัญญา การเรียนรู้ จะได้รับการว่าจ้างในบริษัทเอกชนมากมาย โดยสิ่งแรกที่ผู้เข้าร่วมต้องเผชิญร่วมกัน คือการละลายพฤติกรรม

“เราต้องละลายพฤติกรรม ให้เขาลืมว่าตัวเองพิการอะไร ขณะเดียวกันก็ต้องเรียนรู้ความพิการประเภทอื่น ๆ ที่เขาต้องอยู่ด้วย คนออทิสติกต้องเรียนรู้เรื่องคนหูหนวกตาบอด”

“Café Amazon เอาคนหูหนวกจากที่นี่ไป 10 กว่าคน ความพิการอย่างเดียวของเขาคือการสื่อสาร แต่แก้ไขได้ด้วยการใช้วิธีเขียนหรือภาษามือง่าย ๆ เขาก็ทำงานได้เกือบเท่าคนปกติ ต่างกันแค่เล็กน้อย”

นอกจากนี้ ที่นี่ยังมีศูนย์ฝึกอบรมโรมแรมสำหรับคนพิการครบวงจรแห่งแรกในประเทศ ด้วยความช่วยเหลือจากโรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ กรุงเทพ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทาราศูนย์ราชการ

และการสนับสนุนจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สอนเรื่องการบริการ การทำความสะอาด การทำรูมเซอร์วิส ห้องอาหาร คอฟฟี่ช็อป ฯลฯ จนโรงแรมระดับ 5 ดาวหลายที่ต้องต่อคิวกันแย่งตัวเลยทีเดียว 

ศูนย์อบรมคนพิการแห่งเอเชียแปซิฟิก ความร่วมมือไทย-เทศกว่า 20 ปี เพื่อสร้างอาชีพคนพิการ

เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว

พูดถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในประเทศกันไปแล้ว หลังได้รับความร่วมมือจากกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) ในการกระจายความรู้สู่คนพิการในภูมิภาค รวมถึงพูดคุยกับฝ่ายนโยบายในกลุ่มประเทศอาเซียน น่าสนใจว่ามีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นให้เห็นบ้าง

“สิ่งที่ผมเดินไปคุยกับหน่วยงานของเขา คือกฎหมายของเขาส่งเสริมคนพิการยังไง ผมคิดว่าของไทยเราไปไกลมาก”

นั่นคือมาตรา 33 ที่ถูกบรรจุใน พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐรับ คนพิการเข้าทำงานตามลักษณะของงานในอัตราส่วนร้อยละ 1

สิ่งที่ทำให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมากขึ้นคือมาตรา 34 ว่าด้วยนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่ไม่ได้รับคนพิการเข้าทำงานตามจำนวน จะต้องส่งเงินเข้ากองทุนตามค่าแรงขั้นต่ำต่อวันใน 1 ปี ราว ๆ 1 แสนบาท

“มาตรา 34 จึงสำคัญมาก ทำให้คนต้องจ้างผู้พิการ นอกจากทำให้นายจ้างคิดถึงคนอื่น ๆ ในสังคม เราต้องการให้คนพิการทำงานได้เหมือนคนปกติ ซึ่งที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เขายังไม่มี คุยกับเขาเสร็จ เขาขอกฎหมายไทยไปดูได้ไหม เขาต้องแก้และพัฒนากฎหมายตัวเอง”

ท่านพิรุณเล่าว่าสถิติการจ้างงานในช่วง 5 ปีนี้ มีการจ้างงานคนพิการในภาคเอกชนประมาณ 75 – 80 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าเยอะพอสมควร แต่ก็ใช่ว่าไม่มีปัญหาหากเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว

“สิ่งที่ผมห่วงคือการจ้างงานของกลุ่มพิการทางสติปัญญา ถ้าทางด้านสายตา หู เขาสมองปกติ ทำงานได้ เพียงแต่การเคลื่อนไหวมีปัญหา แต่ถ้าพิการสติปัญญา บางคนจะเรียนรู้ช้า ทำได้สัก 30 – 40 เปอร์เซ็นต์ของคนหูหนวก คนจะไม่ค่อยจ้าง ถ้ามีความเป็นธรรม เราต้องให้โอกาสคนพิการทุกประเภท และใช้งานในเรื่องที่เขาถนัด”

“วิธีแก้คือข้อสมมติฐาน คุณจะเลือกตามโควต้าหรือลักษณะงาน ถ้าเลือกตามลักษณะงาน ยังไงคุณก็หาคนไม่ได้หรอก แต่ถ้าคุณเลือกจ้างตามโควต้า แล้วคุณค่อยมาหาลักษณะงานที่เขาพอจะทำได้ เช่น งานประชาสัมพันธ์ คอลเซนเตอร์ ขนาดขนมปัง ช็อกโกแลตยังทำได้เลย ทำไมงานบริการจะทำไม่ได้”

ศูนย์อบรมคนพิการแห่งเอเชียแปซิฟิก ความร่วมมือไทย-เทศกว่า 20 ปี เพื่อสร้างอาชีพคนพิการ
ศูนย์อบรมคนพิการแห่งเอเชียแปซิฟิก ความร่วมมือไทย-เทศกว่า 20 ปี เพื่อสร้างอาชีพคนพิการ

ไทย – กล้า

จากการทำงานร่วมกับกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) มาอย่างยาวนาน ประหนึ่งมิตรที่พึ่งพา เกื้อกูล อาศัยกันเสมอ ทำให้ผู้พิการทั่วทั้งภูมิภาคเข้าถึงโอกาส และมองเห็นความหวังในการมีชีวิต เราถามท่านพิรุณว่าอยากเห็นความร่วมมืออะไรอีกจากมิตรแท้ผู้นี้

TICA ช่วยพัฒนามาแล้วทั่วโลก เรื่องเกษตร ท่องเที่ยว หมู่บ้าน เกี่ยวกับการทำมาหากินทั้งหมด ผมอยากให้ TICA มองเรื่องการพัฒนาสังคมมากขึ้นท่านพิรุณตอบคำถามโดยทันที ชี้แจงครบถ้วน ราวกับเตรียมเรื่องนี้มาช้านาน

เริ่มจากด้านทวิภาคี ในแต่ละปีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) จะมีการเจรจากับแผนงานความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ เช่น ไทย-ลาว ไทย-กัมพูชา ท่านพิรุณต้องการให้มองถึงเรื่องความพิการด้วย เพราะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนายังไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าที่ควร หรือไม่มีความรู้ในด้านการพัฒนาคนพิการ อย่างไรก็ดี ศพอ. เปรียบได้กับองค์ผู้รับนโยบายมาปฏิบัติให้เป็นจริง จึงพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกองค์กรเพื่อช่วยพัฒนาคนพิการในอนาคต

ด้านพหุภาคีที่กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) ทำงานร่วมกับ JICA และ มศว ตอนนี้ก็ให้ความสำคัญเรื่องการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ท่านพิรุณเสนอให้ทุกกลุ่มให้ความสำคัญกับเรื่องปากท้องคนพิการเพิ่มด้วย

“โครงการ 60+ plus ก็เป็นโมเดลที่ดี ผมให้เขาเรียนรู้หน้าร้านทั้งหมด การคุย ดูแลลูกค้า แคชเชียร์ การตั้งของ แพ็กเกจจิ้ง ถ้าเขาเบื่อที่จะทำงานก็ไปเปิด Entrepreneurship ของเขาเอง 2 – 3 ปีก่อน เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ก็มาดูโครงการ บอกว่าช่วยมาทำให้เขาได้ไหม มันเป็นโครงการที่จับต้องได้”

ผลงานของ APCD เป็นตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือระหว่างประเทศที่ TICA อยากจะนำเสนอให้ผู้เข้าร่วมงาน GSSD Expo 2022 ได้เห็นถึงความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม รวมทั้ง TICA ได้นำเสนอช็อกโกแลตที่ทำโดยผู้พิการเพื่อแจกให้ผู้เข้าร่วมงานในงาน ระหว่างวันที่ 12 – 14 กันยายน 2565 อีกด้วย

แล้วมีธุรกิจอะไรอีกนอกจากร้านกาแฟที่คนพิการสามารถทำได้ – เราถาม

“มองตามความจริง คุณจะทำอะไรที่ยากมากไม่ได้ แต่ผมมองว่าโรงเรียนสารพัดช่างเป็นสิ่งที่คนพิการทำได้ อย่างช่างแอร์ทำได้แน่ คนพิการก็เหมือนคนทั่วไป ทำบ่อย ๆ ก็ครูพักลักจำ เด็กออทิสติกถ้าทำซ้ำ ๆ เขาก็ทำได้นะ คนหูหนวก มือไม้เขาก็มี พวกงานอิเล็กทรอนิกส์ทำได้แน่” ท่านแนะนำ

“บางคนมองว่าการฝึกคนพิการมันคือการฟื้นฟูสมรรถนะ แต่ผมว่าควรจะคิดให้ไกลกว่านั้น คุณสอนเขาค้าขาย ทำธุรกิจเอง เพิ่มทักษะอาชีพให้ เขาก็จะอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ต้องขอใครกิน”

เป้าหมายสุดท้ายของท่านพิรุณ ผู้อำนวยการบริหารคนปัจจุบันของ ศพอ. จึงเป็นการได้เห็นสังคม Inclusive ที่คนพิการไปไหนมาไหนด้วยตัวเอง ใช้ชีวิตได้อิสระดังเช่นคนปกติ และเป็นส่วนหนึ่งของสังคม 

ด้วยความช่วยเหลือจากนานาประเทศ จากพันธมิตรที่มีอย่างเหนียวแน่นอย่าง TICA เราเชื่อว่าภาพนั้นจะเกิดขึ้นจริงในเร็ววัน

“ผมก็เคยถามตัวเองว่า ทำไมเราต้องทำ แต่ความพิการไม่ใช่ความผิดของคนพิการ ชีวิตมันต้องเดินหน้า ไม่ว่าจะพิการหรือปกติ สิ่งที่เราทำคือการบอกให้เขาอยู่ได้ด้วยตัวเอง เพราะรัฐบาลไทย พ่อแม่ สังคม ดูแลเขาไม่ได้ตลอดชีวิต” ท่านพิรุณแสดงเจตจำนงปิดท้าย

คุณพิรุณ ลายสมิต ผู้อำนวยการบริหาร ศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก (ศพอ.) ความร่วมมือไทย-เทศกว่า 20 ปี เพื่อสร้างอาชีพคนพิการ

Writer

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

นักอยากเขียน บ้านอยู่ชานเมือง ไม่ชอบชื่อเล่นที่แม่ตั้งให้ มีคติประจำใจว่าอย่าเชื่ออะไรจนกว่าหมอบีจะทัก รักการดูหนังและเล่นกับแมว

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ