The Cloud X ไทยประกันชีวิต

เวลา 4 โมงเย็นเป็นเวลาเลิกเรียน เด็กๆ ถูกเรียกแถวเพื่อเตรียมตัวกลับบ้าน หากลองนับดู โรงเรียนบ้านท่าตาสี จังหวัดสระแก้ว มีนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงชั้นประถม 6 เพียง 145 คนเท่านั้น 

เมื่อเห็นเด็กๆ ขี่จักรยานเรียงแถวกลับบ้านแล้ว เรากลับเห็นเด็กๆ บางคนกลับมาใหม่พร้อมเปลี่ยนเสื้อผ้าอยู่ในชุดเตรียมพร้อมเพื่อซ้อมกีฬา เมื่อสอบถามจึงทราบว่าถึงเวลาที่พวกเขาต้องซ้อมวอลเลย์บอลแล้ว และมักซ้อมกันอย่างนี้เป็นประจำทุกเย็น คล้ายเป็นกิจวัตรประจำวันหนึ่งอย่างของพวกเขาไปแล้ว

และคุณครูผู้อยู่เบื้องหลังการฝึกซ้อม การสร้างทีมวอลเลย์บอลเพื่อพาเด็กๆ บ้านท่าตาสีไปแข่งขันจนได้รับแชมป์และรางวัลมาหลายต่อหลายครั้งแล้ว ก็คือ ครูเบิ้ม-ภิญโญ ไชยภา ครูสอนภาษาอังกฤษที่อยากส่งเสริมเด็กๆ ในด้านกีฬาเพื่ออนาคตที่ดีกว่า ด้วยใจที่ศรัทธาในอาชีพและคำว่า ‘ครู’ ที่เขาได้รับ

ทีมวอลเลย์บอลโรงเรียนบ้านท่าตาสี นักตบลูกยางจากวิถีเกษตรเพื่อความร่วมมือของคนในชุมชน, ครูเบิ้ม-ภิญโญ ไชยภา

“เพราะการเป็นครูคืออาชีพที่ทรงเกียรติมาก เรามีความรู้สึกว่าเราจะต้องเต็มที่ ต้องศรัทธา และเชื่อมั่นในอาชีพครูของเรา เพราะอาชีพเรามีหน้าที่ในการส่งเสริมเด็ก ไม่ใช่แค่เรื่องของการเรียน แต่เราต้องส่งเสริมเด็กทุกคนให้เท่าเทียมกันในเรื่องของความสามารถ ดังนั้น เราต้องทำให้เด็กที่เรียนอยู่กับเรามีอาชีพที่ดี มีครอบครัวที่ดี มีจิตสำนึกที่ดีในการที่จะกลับมาพัฒนาชุมชนของเขา จึงเป็นอาชีพที่เราภูมิใจที่ได้เป็น”

เซตที่ 01

เริ่มต้นเสิร์ฟ

ครูเบิ้มเริ่มต้นเป็นเด็กที่เติบโตมาในวิถีชนบทจังหวัดศรีสะเกษ ในครอบครัวที่เป็นชาวนามาก่อน “เราโตมากับครอบครัวที่ถือว่ายากจน เพราะว่าตอนนั้นพ่อกับแม่ก็ยังไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง ต้องอาศัยบ้านยายอยู่ด้วยกัน เติบมาโดยการเป็นเด็กในวิถีชนบท แต่เราเป็นคนที่ชอบการทำกิจกรรม กล้าแสดงออกตั้งแต่ตอนที่เรียนอยู่ประถม พอโตมาก็เป็นเด็กกิจกรรมของโรงเรียนระดับมัธยมอีก เราไปแข่งวิชาการ ประกวดมารยาทบ้าง ไปแข่งขันอ่านทำนองเสนาะ อาขยานบ้าง ตอนเด็กๆ เรามีโอกาสได้ทำกิจกรรมที่โรงเรียนเยอะ เลยกลายเป็นคนที่ชอบทำกิจกรรมไปเลยครับ แล้วก็เรื่องกีฬาด้วย” 

แต่แล้วไม่นานครูเบิ้มก็พบอุปสรรคครั้งใหญ่ในชีวิต

“ตอนที่ผมอยู่ปอหนึ่ง พ่อเขาโดนจับในเรื่องของอาวุธสงคราม ตอนนั้นชีวิตครอบครัวก็เริ่มแยกจากกัน แม่ต้องไปทำงานที่กรุงเทพฯ เพื่อที่จะหาเงินมาส่งพ่อ แล้วก็ส่งเราด้วย ตอนนั้นเราต้องอยู่กับยายแล้วก็หลานๆ แค่ไม่กี่คน ตอนนั้นสิ่งที่เราต้องทำก็คือ พยายามใช้ชีวิตให้ไม่เป็นภาระของยาย พยายามทำมาหากิน พยายามฝึกหาปู หาปลา กินเอง อยู่ด้วยตัวเองให้ได้มากที่สุด 

ทีมวอลเลย์บอลโรงเรียนบ้านท่าตาสี นักตบลูกยางจากวิถีเกษตรเพื่อความร่วมมือของคนในชุมชน, ครูเบิ้ม-ภิญโญ ไชยภา

“ตอนนั้นมันไม่อบอุ่นเหมือนคนอื่นเลยครับ มันเหมือนฝันร้ายที่เราไม่ตื่นสักที แต่ว่าเราไม่เคยใช้สิ่งนี้มาเป็นปมด้อย เราไม่เคยโกรธเลยนะว่าคนจะพูดถึงเราแบบไหน เขาจะพูดยังไงก็เรื่องของเขา แต่สิ่งที่เราทำได้คือ เราจะไม่ทำให้พ่อแม่เราเสียใจเลย” 

จากนั้นครูเบิ้มที่สอบได้ลำดับดีมาตลอดก็เข้ามหาวิทยาลัยในจังหวัดสุรินทร์

“จนเราจะขึ้นมหาวิทยาลัย พ่อออกจากเรือนจำมา ก็มีโอกาสได้อยู่กับครอบครัวแค่แป๊บเดียวแล้วเราก็ต้องไปเรียนต่อ ตอนนั้นผมเรียนคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ ผมไม่ได้เรียนครูมาโดยตรง เพราะตอนนั้นเราอยากทำงานโรงแรม ไม่ได้คิดว่าจะทำงานสายอาชีพครู แล้วญาติพี่น้องเราทุกคนเป็นครูหมดเลยนะ ซึ่งความต้องการของเราค่อนข้างขัดแย้งกับความต้องการของคนในครอบครัว เพราะว่าญาติๆ ก็อยากให้เรารับราชการ แต่เราเองเรามีความรู้สึกว่าเราอยากทำงานที่เรารัก คือการทำงานโรงแรม เราอยากทำงานที่ใช้ภาษา เราเป็นคนที่ชอบความท้าทาย ชอบการเรียนรู้ใหม่ๆ เลยอยู่โรงแรมประมาณได้ปีสองปี พอแม่บอกว่าอยากให้กลับมาเรียนครูเพิ่ม เลยตัดสินใจออกจากงานที่โรงแรมมาเรียนครู”

เซตที่ 02

ความเป็นครู

การตัดสินใจออกจากงานโรงแรมที่รักในตอนแรกเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากมาก “เพราะเรารู้สึกว่างานนี้เลี้ยงครอบครัวเรามาตั้งหลายปี อีกอย่างมันทำให้เราเป็นคนมั่นใจในตัวเองมากขึ้น ตอนต้องเขียนใบลาออก เราร้องไห้เลย วินาทีที่ต้องลาออกจากโรงแรม ต้องคืนชุด ต้องลาเพื่อน มันเสียดายงานที่เรารัก ไม่รู้ว่าถ้าเรามาเป็นครู เราจะชอบเหมือนกับที่เป็นงานนั้นหรือเปล่า แต่ว่าสุดท้ายที่ตัดสินใจเพราะว่าเพื่อครอบครัว พ่อแม่อยากให้เรากลับไปอยู่บ้าน อยากให้มารับราชการ เพราะเป็นอาชีพที่มั่นคง เราก็มาเริ่มต้นการเรียนครูใหม่อีกปีครึ่ง ส่วนตัวเราชอบการสอนเด็กอยู่แล้วส่วนหนึ่ง เพราะเคยสอนเด็กที่หมู่บ้านช่วงปิดเทอมตอนเรียนมหาวิทยาลัย ตอนนั้นผมพาเด็กทั้งหมู่บ้านมาสอนภาษาอังกฤษฟรี

“พอตัดสินใจมาใช้คำว่าครูแล้ว ชีวิตมันเปลี่ยนไปเลย แต่เราได้ใช้ทักษะที่ได้จากการทำโรงแรมมามากทีเดียว ทั้งในเรื่องความมั่นใจในการสอนหน้าชั้นเรียน แล้วก็เรื่องการใช้ภาษาที่จะมาใช้สอนเด็ก”

แล้วชีวิตความเป็นครูของครูเบิ้มก็เริ่มต้นขึ้น จากการเป็นครูอัตราจ้างที่โรงเรียนโคกกลางเหนือพิทยาสรรพ์ ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ 

ทีมวอลเลย์บอลโรงเรียนบ้านท่าตาสี นักตบลูกยางจากวิถีเกษตรเพื่อความร่วมมือของคนในชุมชน, ครูเบิ้ม-ภิญโญ ไชยภา

“สอนหนังสือที่แรกก็สนุก ตอนนั้นทางโรงเรียนเขาไม่ได้จ้างเรา แต่เราไปขอเขาสอน สอนตั้งแต่ชั้นปอหนึ่งถึงปอหกเพราะเราทำทีมวอลเลย์บอลให้กับโรงเรียน แต่ท่านผอ. เขาให้ค่าจ้างเราเดือนละหนึ่งพันบาท แม้จะน้อย แต่เราเอาเงินหนึ่งพันนั้นมาใช้จ่ายกับนักวอลเลย์บอลของโรงเรียน 

“ประมาณ พ.ศ. 2553 ผมก็ย้ายไปอยู่ไปอยู่กับคุณครูบัญญัติ ภูพาที ที่เป็นคนช่วยให้ผมเรียนจบจนมาเป็นครู และขยับมาทำตำแหน่งครูอัตราจ้างที่ได้เงินเดือนเยอะขึ้น ที่โรงเรียนอนุบาลลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ที่นั่นเขาทำทีมวอลเลย์บอลด้วย เราเลยได้ไปสอนอนุบาลด้วย เด็กๆ เก่งกันมาก ไปแข่งจนได้แชมป์ประเทศไทย

ทีมวอลเลย์บอลโรงเรียนบ้านท่าตาสี นักตบลูกยางจากวิถีเกษตรเพื่อความร่วมมือของคนในชุมชน, ครูเบิ้ม-ภิญโญ ไชยภา

“ไม่นานผมก็ได้เป็นพนักงานราชการ ตอนนั้นเงินเดือนขยับมาอยู่ที่หมื่นห้า มาสอบได้ที่โรงเรียนที่อยู่ใกล้ๆ บ้าน ก็สอนภาษาอังกฤษด้วย สอนวอลเลย์บอลด้วยเหมือนกัน พอ พ.ศ. 2557 เราโดนเรียกตัวมาที่สระแก้ว เลยได้มาบรรจุอยู่ที่นี่”

ครูเบิ้มมีความสุขมากที่โรงเรียนบ้านท่าตาสี เขาบอกกับเราทั้งน้ำตาด้วยความภูมิใจว่ารักที่นี่เหมือนเป็นบ้านหลังที่สอง

“เรามีความสุขกับการเป็นครูที่นี่มาก เรามีความภาคภูมิใจกับการเป็นข้าราชการครูที่ท่าตาสี เรารักที่นี่ ผมกินนอนใช้ชีวิตอยู่ที่นี่เหมือนอยู่บ้านเลย เพราะที่นี่ให้โอกาสเราทุกอย่าง ชุมชนเองก็รักเรามาก ผอ. ให้โอกาสเรา เด็กๆ ทุกคนเชื่อฟังเรา การเป็นข้าราชการครูในแบบของเรา คือเราได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำ ได้สอนในสิ่งที่เด็กชอบ เราได้ใช้เวลาทุ่มเทกับเขา ถ้าผมยังอยู่ตรงนี้ ผมก็อยากเต็มที่กับคำว่าครูให้ได้มากที่สุด”

เซตที่ 03

โค้ชเบิ้มทำทีม

มาถึงตรงนี้คุณก็คงสงสัยเช่นเดียวกับเราว่าทำไมครูเบิ้มถึงสนใจส่งเสริมเด็กด้วยกีฬาวอลเลย์บอล เป็นเพราะความชอบส่วนตัวของครูคนเก่งคนนี้หรือไม่

ทีมวอลเลย์บอลโรงเรียนบ้านท่าตาสี นักตบลูกยางจากวิถีเกษตรเพื่อความร่วมมือของคนในชุมชน, ครูเบิ้ม-ภิญโญ ไชยภา

“ตอนแรกผมไม่ได้ชอบวอลเลย์เป็นพิเศษ เพราะเราชอบเล่นกีฬาทุกอย่างเลย ทั้งฟุตบอล ตะกร้อ วอลเลย์บอล แบดมินตัน มาเล่นกีฬาวอลเลย์บอลจริงจังตอนอยู่มัธยม ผมเป็นตัวแทนของโรงเรียนไปแข่งขัน พอเรามาจับกีฬาวอลเลย์บอลแล้วรู้สึกว่ามันเป็นกีฬาที่คนนิยม เด็กๆ รู้จักและอยากเล่น เพราะเขามีวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติเป็นไอดอล เราเลยคิดว่าน่าจะเอามาสอนและส่งเสริม ให้เด็กๆ มีโอกาสเรียนต่อง่ายกว่ากีฬาชนิดอื่น

“ตอนผมมาบรรจุที่ท่าตาสี ตอนแรกยังไม่มีทีมวอลเลย์บอลเลย มีแค่สนามปูนเฉยๆ ตาข่ายก็ไม่มี ลูกวอลเลย์บอลก็ไม่มี แรกๆ ผมก็สอนภาษาอังกฤษอย่างเดียวในห้อง ไม่ได้ทำกิจกรรมอื่นเลย แต่เราด้วยความที่เราเคยทำทีมวอลเลย์บอลมาตลอด ผมก็เลยขออนุญาต ผอ. ว่าผมขอทำทีมวอลเลย์บอลนะครับ ผอ. ก็ให้โอกาสเราได้ทำ เราเรียกประชุมทีมเด็กๆ เลย บอกว่าครูอยากทำทีมวอลเลย์บอลนะ มาเล่นวอลเลย์บอลกับครูไหม ครูมีลูกศิษย์ที่ไปแข่ง ได้ออกในยูทูบด้วยนะ แล้วเราก็เปิดวิดีโอให้เด็กๆ ได้ดู เด็กเห็นเราในทีวี เห็นเด็กที่อายุรุ่นเดียวกันเล่นกีฬา เขาก็รู้สึกอยากเล่นตาม”

ทีมวอลเลย์บอลโรงเรียนบ้านท่าตาสี นักตบลูกยางจากวิถีเกษตรเพื่อความร่วมมือของคนในชุมชน, ครูเบิ้ม-ภิญโญ ไชยภา
ทีมวอลเลย์บอลโรงเรียนบ้านท่าตาสี นักตบลูกยางจากวิถีเกษตรเพื่อความร่วมมือของคนในชุมชน, ครูเบิ้ม-ภิญโญ ไชยภา

ในตอนแรกมีเด็กๆ มาเล่น เป็นเพียงเด็กผู้ชาย 10 คนเท่านั้น และนั่นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะฝึกฝนเด็กๆ ที่มีพื้นฐานเท่ากับศูนย์สำหรับกีฬาชนิดนี้

“แรกๆ เด็กเขาเล่นไม่เป็นเลยครับ แรกๆ ก็เหนื่อยมากพอสมควร เพราะการสร้างคนให้เป็นคนเก่งและคนดีในเวลาเดียวกัน ต้องใช้เวลาในการสร้างนานมาก อย่างถ้าเราสร้างบ้าน เดือนสองเดือนเราก็เห็นเป็นรูปเป็นร่างแล้ว แต่การสร้างคนให้เป็นคนเก่งไม่พอ ต้องเป็นคนดีด้วย ผมใช้เวลาสร้างทีมอยู่ประมาณสี่ห้าเดือนเลย เพราะเราต้องศึกษาเด็กๆ ศึกษาบริบทชุมชน ศึกษาผู้บริหาร ศึกษาว่าเราจะทำทีมได้ไหม เด็กจะเล่นให้เราไหม บริบทชุมชนเป็นยังไงบ้าง เพราะเวลาเราซ้อมมันจะต้องจริงจัง ต้องเลิกค่ำ มีซ้อมวันเสาร์และอาทิตย์ ซ้อมตอนปิดเทอมด้วย” 

เพราะการซ้อมอย่างจริงจังทำให้ครูไม่ได้กลับบ้าน และต้องละทิ้งเวลาส่วนตัวทุกอย่างให้กับเด็กทั้งหมด เพราะอุดมการณ์ที่เชื่อว่าการใช้เวลาอยู่กับเด็กยิ่งมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้พวกเขาเก่งได้เร็วขึ้นเท่านั้น 

และแล้วความพยายามและทุ่มเทของครูเบิ้มก็สัมฤทธิ์ผล

ทีมวอลเลย์บอลโรงเรียนบ้านท่าตาสี นักตบลูกยางจากวิถีเกษตรเพื่อความร่วมมือของคนในชุมชน, ครูเบิ้ม-ภิญโญ ไชยภา

“ปีแรกที่สร้างทีมขึ้นมาคือตอน พ.ศ. 2558 เราได้ไปแข่ง ได้รางวัลมาเยอะมากเลยนะ ได้ที่สองระดับภาคมา ได้ที่ สองระดับจังหวัดมา ได้ถ้วยใบแรกมาก็เป็นถ้วยใบใหญ่เลย ทีนี้เราก็เริ่มทำมาเรื่อยๆ จนเด็กเราเรียนจบจากที่นี่แล้วมีโอกาสได้ไปเรียนต่อ

“เป้าหมายหลักในการทำทีมวอลเลย์บอลของผม คือการสร้างโอกาสให้กับนักเรียน นักเรียนเรามีความสามารถต่างกันครับ เด็กบางคนเรียนเก่ง บางคนเรียนไม่เก่ง บางคนปานกลาง บางคนชอบกีฬา บางคนชอบเกษตร เราก็มาดูว่า เราจะส่งเสริมเด็กยังไงให้เขาเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองเท่าๆ กันในแต่ละความสามารถของเขา 

“เราเริ่มพาเด็กที่เรียนไม่เก่ง เด็กหลังห้อง มาซ้อมกีฬา เด็กที่เก่งเราก็ดันวิชาการเขา ถ้าเขาสนใจจะมาเล่นเพิ่มเติมศักยภาพก็ได้ แต่ที่เราทำส่วนมากคือการพาเด็กที่อาจบกพร่องทางการเรียนรู้หรือเรียนรู้ช้าให้มาเล่นกีฬา ถ้าเขาเก่งแล้ว ก็จะมีโรงเรียนดังๆ ในกรุงเทพฯ เข้ามาดูตัวและพาเขาไปเรียนต่อ เพราะเด็กที่นี่สูงสุดของเขาจบปอหก เขาไปต่อแค่ชั้นมัธยมในตัวอำเภอ แต่เด็กที่เป็นนักกีฬา พอเขาเรียนจบไปแล้ว เขาก็จะมีโอกาสได้ไปไกลกว่า”

ทีมวอลเลย์บอลโรงเรียนบ้านท่าตาสี นักตบลูกยางจากวิถีเกษตรเพื่อความร่วมมือของคนในชุมชน, ครูเบิ้ม-ภิญโญ ไชยภา

เซตที่ 04

นักตบลูกยางบ้านท่าตาสี

“การเล่นกีฬาที่นี่ เราไม่ได้บังคับ คุณอยากเล่นก็มาเล่น ไม่อยากเล่นก็ไม่เป็นไร แต่คุณต้องทำกิจกรรมอย่างอื่นที่มันมีประโยชน์นะ แต่ถ้าอยากใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ก็มาเป็นนักกีฬาวอลเลย์บอล เราจะฝึกให้คุณทุกอย่าง ถ้าเด็กคนไหนเก่งๆ เราก็เลือกให้เป็นตัวหลักของทีมและพาไปแข่ง แต่เราต้องให้เหตุผลกับเด็กว่าทำไมตัวหลักถึงได้ลงสนามก่อน ต้องบอกเด็กว่าพี่เขาขยันนะ พี่เขาเก่ง ถ้าเราอยากลงสนามบ้าง เราก็ต้องขยัน เราต้องมีการคุยกันกับเด็กเพื่อสร้างความเข้าใจให้เขาด้วย”

“พอผ่านไป เด็กๆ ก็เริ่มมีพัฒนาการ เราก็สบายขึ้น เพราะเด็กเก่งกันแล้ว รุ่นน้องที่เข้ามา พอเห็นพี่ๆ เล่นกีฬา เขาก็สนใจอยากเล่นตาม เขาเก่งได้โดยการสังเกต เห็นพี่ๆ ไปแข่งแล้วได้รางวัล ไปสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียน ได้รับการชื่นชมหน้าเสาธง มันเลยกลายเป็นกระแสด้านบวกที่ดี”

ทีมวอลเลย์บอลโรงเรียนบ้านท่าตาสี นักตบลูกยางจากวิถีเกษตรเพื่อความร่วมมือของคนในชุมชน, ครูเบิ้ม-ภิญโญ ไชยภา

และสำหรับกิจวัตรในหนึ่งวันของเด็กๆ ทั้งการเรียนและการซ้อมวอลเลย์บอลเริ่มต้นตั้งแต่เช้ายันเย็น

“เราเริ่มซ้อมตอนเช้าก่อน เด็กจะนอนค้างที่โรงเรียน ตื่นเช้ามารดน้ำผัก ซ้อมตอนเช้าหกถึงเจ็ดโมง ซ้อมเสร็จให้กลับบ้านไปกินข้าว แปดโมงก็มาเข้าเรียนตามปกติ เลิกสี่โมงเย็นเด็กก็มาซ้อมกีฬาปกติ วันเสาร์อาทิตย์จะซ้อมได้ยาวนานนิดหนึ่ง

 “แต่ช่วงนี้เนื่องจากติด COVID-19 รายการแข่งขันมันไม่ค่อยชัดเจน ก็อาจจะปรับเปลี่ยนการซ้อมไป แต่ว่าเมื่อก่อนเด็กจะนอนที่โรงเรียน เพราะเราไม่มีห้องพักนักกีฬา ครูเองก็นอนที่ห้องเรียน ผมนอนอยู่ที่ห้องเรียนตั้งแต่เข้ามาบรรจุปีแรก แต่พอช่วง COVID-19 เด็กก็ต้องนอนอยู่บ้านตามสถานการณ์” 

นอกจากการซ้อมกีฬา เด็กๆ จะได้ทำกิจกรรมอื่นอีกด้วย ทั้งการปลูกผัก รดน้ำผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ทำขนม เพื่อให้เด็กรู้จักการพึ่งพาตนเอง

ทีมวอลเลย์บอลโรงเรียนบ้านท่าตาสี นักตบลูกยางจากวิถีเกษตรเพื่อความร่วมมือของคนในชุมชน, ครูเบิ้ม-ภิญโญ ไชยภา
ทีมวอลเลย์บอลโรงเรียนบ้านท่าตาสี นักตบลูกยางจากวิถีเกษตรเพื่อความร่วมมือของคนในชุมชน, ครูเบิ้ม-ภิญโญ ไชยภา

“พอเด็กๆ ได้ทำกิจกรรม อย่างปลูกผัก รดน้ำ เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เด็กก็จะนำผลผลิตที่ได้ไปขายในชุมชน ตอนเช้ามาก็รดน้ำผัก ซ้อมกีฬา ตอนเย็นก็รดน้ำผัก แล้วซ้อมกีฬา วันเสาร์และอาทิตย์ ครูก็จะพาทำกิจกรรม ทำขนม เอาไปขายที่ตลาดนัด ที่เราทำแบบนี้เพราะเราอยากสอนเด็กให้รู้จักกล้าแสดงออก หารายได้ให้ตัวเอง พึ่งหาตัวเองให้ได้มากที่สุด ลดภาระค่าใช้จ่ายให้โรงเรียน ซึ่งมันก็ได้ผลครับ เงินที่ไปแข่งได้มา เราเอาเข้ากองทุนออมไว้ ตอนนี้เรามีกองทุนนักกีฬาที่พาเขาไปแข่งได้” 

นอกเหนือจากกิจกรรมทางด้านกีฬาและการเกษตร ครูเบิ้มยังช่วยผลักดันในเรื่องของดนตรีให้กับเด็กๆ ด้วย

ทีมวอลเลย์บอลโรงเรียนบ้านท่าตาสี นักตบลูกยางจากวิถีเกษตรเพื่อความร่วมมือของคนในชุมชน, ครูเบิ้ม-ภิญโญ ไชยภา

“ผมเป็นคนที่ชอบร้องเพลงอยู่แล้วครับ เป็นเด็กสายประกวดร้องเพลงลูกทุ่งมาตั้งแต่เด็กๆ ความฝันคืออยากเป็นนักร้อง มีโอกาสได้ทำเพลงแต่มันก็ไม่ดัง เรารู้ว่ามันไม่เหมาะกับเราแล้วแหละ แต่เราก็ไม่ทิ้งงานร้องเพลง เราไปประกวดตามรายการต่างๆ แล้วนำประสบการณ์ตรงนั้นมาถ่ายทอดให้กับนักเรียน เคยพานักเรียนของเราไปแข่งรายการ ไมค์ทองคำ พานักเรียนไปออกรายการ ซูเปอร์เท็น ไปร้องเพลงขอบ้านใหม่ ขอลูกวอลเลย์บอลมาให้น้องๆ เล่น

“ตอนแรกผมกังวลมากเลย เรากลัวว่าพอมาทำทีมกีฬาแล้วเด็กจะเสียในเรื่องของผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาไหม เรากลัวว่าผู้ใหญ่ห่วงในเรื่องของผลการเรียนของเด็กๆ แต่เราเองกลับมองว่าเด็กจะประสบความสำเร็จได้ ไม่จำเป็นต้องมีเกรดเฉลี่ยสูง ผมมองว่ามันไม่เกี่ยวกับตัวเลข เด็กที่มีความสามารถด้านอื่นนอกเหนือจากการเรียน เขาอาจจะได้ดีเหมือนกัน ถ้าเราส่งเสริมเขาเต็มที่ นี่คือจุดประสงค์ในการทำกิจกรรมต่างๆ ในโรงเรียนของผม”

ทีมวอลเลย์บอลโรงเรียนบ้านท่าตาสี นักตบลูกยางจากวิถีเกษตรเพื่อความร่วมมือของคนในชุมชน, ครูเบิ้ม-ภิญโญ ไชยภา

เซตที่ 05

วอลเลย์บอลกระชับมิตร

“เราส่งเสริมเรื่องกีฬาวอลเลย์บอลมาตลอด และนำวอลเลย์บอลมาบูรณาการกับการทำเกษตรด้วย เพราะโรงเรียนเรามีพื้นที่การทำเกษตรเยอะ ก็มาบูรณาการให้เขาได้ทำกิจกรรมต่างๆ นอกห้องเรียน มากกว่าการเรียนหนังสือในห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ 

“พอเรามาอยู่ตรงนี้ สิ่งที่จะช่วยให้เด็กนำไปใช้ในชีวิตได้จริง ก็คือเรื่องของการทำศาสตร์พระราชา เพราะบริบทชุมชนเราเป็นเกษตรกรกันหมดเลย ดังนั้นการสอนลูกหลานเขาในเรื่องใกล้ตัว เป็นอะไรที่เข้าใจง่ายที่สุด อีกอย่างหนึ่งคือมันตอบโจทย์ครอบครัวเขาด้วย เพราะอย่างน้อยวันหนึ่งเมื่อเขาต้องออกจากงานมาอยู่บ้าน เขาต้องทำเป็น เขาต้องปลูกผักได้ เขาต้องเลี้ยงไก่เป็น เขาต้องใช้สอยประโยชน์จากพื้นที่ที่เขามีเป็น ต้องช่วยเหลือตัวเองให้ได้” 

ครูเบิ้มบอกกับเราว่าวัดผลสัมฤทธิ์ได้จากแปลงผักของเด็กๆ

“การทำแปลงเกษตรบอกอะไรเราได้หลายอย่าง เช่น ความรับผิดชอบ ถ้าเด็กรับผิดชอบได้ แปลงผักเด็กจะสวย ผักที่ออกจะงาม แต่ถ้าเด็กไม่มีความรับผิดชอบ แปลงผักก็เละ ไม่รดน้ำก็ตาย แปลงผักแปลงหนึ่งวัดเด็กได้เลยเขาเป็นคนยังไง เริ่มจากเราทำให้ดูแล้วก็ให้เขาฝึกดูแลเอง ให้เด็กเขาฝึกสังเกตและให้เขาได้เรียนรู้ เพราะเด็กที่บ้านเรา พ่อแม่เขาทำเกษตรเกือบทุกคน แต่เขาอาจจะไม่พาลูกลงพื้นที่กับเขาทุกคน แต่เราก็อยากให้เขาทำเป็น อย่างน้อยก็ขั้นพื้นฐาน เพราะโดยรากเหง้าของเขาจริงๆ แล้วคือการทำเกษตรกรรม เราอยากให้เขารู้จักกับรากเหง้าเขาก่อนว่าเขาเป็นอะไร”

สำหรับการวัดผลในด้านกีฬาก็เช่นกัน

เหมือนการปลูกผักเลย ผมจะให้เด็กวัดศักยภาพตัวเอง ว่าก่อนมาเป็นนักกีฬากับการมาเป็นนักกีฬาระยะหนึ่งแล้ว มีความเปลี่ยนแปลงยังไงบ้าง ความสำเร็จของการทำทีมวอลเวลย์บอลของที่นี่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับต้องได้ถ้วยรางวัล แต่สิ่งที่เราอยากได้มากกว่า คือให้เด็กรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ฝึกวินัย ความรับผิดชอบ” 

จากกิจกรรมในโรงเรียน ขยายมาสู่ความร่วมมือของคนในชุมชน

“ตอนแรกคนในชุมชนก็ไม่รู้ว่าการซ้อมกีฬาแบบจริงจังทำยังไง เราก็ทำให้เขาเห็น นัดเด็กมาซ้อม พาเด็กวิ่งในหมู่บ้าน เขาเห็นเด็กวิ่งตลอด พอเด็กเริ่มซ้อมทุกวัน เขาก็เริ่มเห็นว่าเด็กมันเก่ง ไปแข่งมาก็ชนะ มีการขึ้นป้ายหน้าโรงเรียน ผมใช้วอลเลย์บอลเปลี่ยนวิถีชีวิตเด็กในชุมชนไปหมดเลย เด็กจากเลิกเรียกกลับบ้าน ตอนนี้เลิกเรียนมาซ้อมกีฬา เช้าเย็นเสาร์อาทิตย์ก็มาอยู่ที่โรงเรียน โรงเรียนกลายเป็นบ้านหลังที่สองที่ผู้ปกครองไว้ใจ เพราะเขาเห็นว่าเราจริงจังกับสิ่งที่ทำ เขาก็ยิ่งเชื่อมั่น เข้ามาช่วยเข้ามาสนับสนุน ทั้งเรื่องของเงินบ้าง ของบ้าง อาหารบ้าง” ซึ่งครูเบิ้มก็เล่าต่อว่า กีฬาวอลเลย์บอลเหมือนตัวเชื่อมสัมพันธ์ของทั้งคุณครูทุกท่าน ผู้ปกครอง คนในชุมชน และนักเรียน ให้เน้นเฟ้นเข้าด้วยกันมากยิ่งขึ้น 

ทีมวอลเลย์บอลโรงเรียนบ้านท่าตาสี นักตบลูกยางจากวิถีเกษตรเพื่อความร่วมมือของคนในชุมชน, ครูเบิ้ม-ภิญโญ ไชยภา

สุดท้ายแล้วการพาทีมวอลเลย์บอลเด็กๆ โรงเรียนบ้านท่าตาสีมาได้ไกลจนถึงวันนี้ มีเพียงจุดประสงค์เดียวก็เพื่ออนาคตของเด็กทุกคนที่นี่

“เราอยากเห็นลูกศิษย์ของเราทุกคนเป็นคนดี ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับสังคม เอาตัวรอดได้ อยู่กับสังคมได้อย่างมีความสุข ไม่จำเป็นต้องมีอาชีพที่ใหญ่โต แต่ให้เขาเลี้ยงดูตัวเขาเองได้ เลี้ยงครอบครัวเขาได้ และที่สำคัญคือเราอยากเห็นลูกศิษย์ของเราเป็นคนที่มีจิตสำนึกที่ดี ในการที่จะกลับมาพัฒนาโรงเรียน พัฒนาชุมชน นี่คือสิ่งที่เราอยากเห็นจากลูกศิษย์เรา ความคาดหวังของครูทุกคนคืออยากเห็นลูกศิษย์ของตัวเองประสบความสำเร็จในชีวิตในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เขาพึงพอใจ ที่เขาอยากทำ แล้วก็ไม่เป็นภาระของสังคม”

“ถ้าวันหนึ่งผมต้องย้ายกลับบ้าน ก็คงเป็นการจากแบบลำบากใจเหมือนตอนที่เราออกจากโรงแรม เพราะ ณ ตอนนี้ความสุขของชีวิตผมคือที่นี่ คือโรงเรียนนี้ ภูมิใจทุกครั้งที่ได้บอกตัวเองว่าเป็นครูที่โรงเรียนบ้านท่าตาสี เราภูมิใจมากกับสิ่งที่เราทำ” ครูเบิ้มยิ้มพร้อมน้ำตาแห่งความภาคภูมิใจ ซึ่งเราสัมผัสได้ถึงความรักและความศรัทธาที่ครูเบิ้มมีในอาชีพครู ผู้อุทิศตนเพื่อเด็กๆ มาโดยตลอด

ทีมวอลเลย์บอลโรงเรียนบ้านท่าตาสี นักตบลูกยางจากวิถีเกษตรเพื่อความร่วมมือของคนในชุมชน, ครูเบิ้ม-ภิญโญ ไชยภา

Writer

ฉัตรชนก ชโลธรพิเศษ

ฉัตรชนก ชโลธรพิเศษ

ชาวนนทบุเรี่ยน ชอบเขียน และกำลังฝึกเขียนอย่างพากเพียร มีความหวังจะได้เป็นเซียน ในเรื่องขีดๆ เขียนๆ สักวันหนึ่ง

Photographer

Avatar

อิสรีย์ อรุณประเสริฐ

จบ Film Production ด้าน Producing & Production Design แต่ชอบถ่ายภาพและออกแบบงานกราฟิกเป็นงานอดิเรก มีครัว การเดินทาง และ Ambient Music เป็นตัวช่วยประโลมจิตใจจากวันที่เหนื่อยล้า