ชีวิตก็เหมือนม้วนกระดาษทิชชูบนฝาผนังส้วม – ยิ่งใช้จนใกล้หมดม้วน มันก็ยิ่งหมุนเร็วขึ้นเท่านั้น”

ท่ามกลางยุคที่ผู้คนเทขายทอง หุ้น แต่กลับกว้านซื้อทิชชูหรือกระดาษชำระจนเกลี้ยงชั้นวางในซูเปอร์มาร์เก็ต วันนี้เราคงรู้แล้วว่าผู้คนทั่วโลกล้วนมอง ‘กระดาษชำระ’ หรือ ‘กระดาษทิชชู’ เป็นของสามัญประจำบ้าน ที่มีความสำคัญไม่แพ้แอลกอฮอล์ล้างมือและหน้ากากอนามัย

ถึงกระนั้น กระดาษชนิดหนึ่งที่ชวนให้ศึกษา ในวันที่เราทุกคนยังไม่รู้ว่าการออกไปร้านจิ้มจุ่ม ชาบู กับเพื่อนหลายๆ คนพร้อมหน้ากันจะมาถึงวันไหน ได้แก่กระดาษที่เรามักเห็นตามสวนอาหารต่างจังหวัด และนิยมเอามาเช็ดจานเมลามีนก่อนรับประทานอาหาร ด้วยความกังวลว่าจานนั้นจะไม่สะอาด หรือที่เราเรียกกันว่า ‘ทิชชูชมพู’

ทิชชูก็มีอดีต

ย้อนอดีต 'ทิชชูชมพู' ความเป็นไทยคู่สวนอาหารต่างจังหวัด ว่าทำไมต้องเป็นสีชมพู, กระดาษทิชชูสีชมพู

หลายคนหารู้ไม่ว่า ทิชชูชมพูในกล่องไม้จิ้มฟันที่แสนคุ้นตาคนไทยนั้นผลิตมาจากสิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยไม่สะอาดมาก่อนเช่นกัน

ทิชชูหรือกระดาษชำระแทบทั้งหมด ผลิตจากส่วนผสมของเยื่อไม้และกระดาษรีไซเคิลในสัดส่วนที่มากน้อยต่างกัน เจ้ากระดาษทิชชูชมพูของเราด้วยเช่นกัน ซึ่งส่วนมากมีอดีตชาติเป็นเอกสาร A4 ที่เปื้อนหมึกแล้ว และถูกนำมาผ่านกระบวนการ ‘ดีอิงก์’ (De-ink) หรือการต้มในอุณหภูมิ 200 องศาเซลเซียส เพื่อขจัดหมึกและคาร์บอนออกไป หลังจากนั้นจึงจุติเป็นทิชชูคู่สวนอาหารที่เราคนไทยทุกคนคุ้นตา

ถึงตอนนี้ เราอาจจะพอเดาได้ว่า การที่ทิชชูสีชมพูต้องมีสีสันก็เพื่อปกปิดความไม่ขาวเนียนของมัน เนื่องจากส่วนผสมของกระดาษ A4 เปื้อนหมึกถูกทิ้งมาจากทุกหนทุกแห่ง และอาจเป็นได้ตั้งแต่จดหมายรัก จดหมายเขียนถึงมหาเศรษฐี จนไปถึงใบเสร็จสั่งซื้อเรือดำน้ำ

แต่คำถามที่สำคัญคือ ‘ทำไมเลือกสีชมพู’ ตรงนี้ต่างหากที่เป็นจุดเริ่มต้นของบทความที่กำลังจะชวนคนไทยไปสำรวจทิชชูสีชมพูและความเป็นไทยสไตล์สวนอาหารต่างจังหวัดร่วมกัน

ทำไมต้องชมพู

หากเราหลับตานึก ‘ภาพข้าวของสีชมพู’ ในชีวิตคนไทย เราจะค้นพบว่า สีชมพูเป็นสีที่คุ้นตาในชีวิตประจำวันของเรา ตั้งแต่สีชมพูหวานๆ ของน้ำยาอุทัยทิพย์ จนเป็นถึงสีชมพูเผ็ดร้อนของเย็นตาโฟ

ทิชชูก็เช่นกัน ท่ามกลางสีสันสะอาดตามากมายที่มีให้เลือกผสม ‘สีชมพู’ กลับเป็นสีที่ถูกเลือกให้ผสมกับอดีตเศษกระดาษเปื้อนหมึก จนกลายมาเป็นไอคอนแห่งทิชชูตามร้านอาหารไทยจนถึงทุกวันนี้

คำตอบของคำถามที่ว่า ทำไมทิชชูไทยๆ ต้องใส่สีชมพู อาจจะไม่ได้อยู่ที่ประเทศไทยเสมอไป

ย้อนอดีต 'ทิชชูชมพู' ความเป็นไทยคู่สวนอาหารต่างจังหวัด ว่าทำไมต้องเป็นสีชมพู, กระดาษทิชชูสีชมพู

ย้อม-ยุค

ย้อนกลับไปในยุค 50 กระดาษทิชชูไม่ได้มีแค่สีขาวอย่างเดียว แต่ผู้คนในยุคนั้นนิยมเลือกใช้ทิชชูให้แมตช์เข้ากับสีของกระเบื้องห้องน้ำและสุขภัณฑ์เป๊ะๆ ทิชชูจึงมีหลากหลายสี ตั้งแต่สีม่วงลาเวนเดอร์ สีส้มพีช สีฟ้าอ่อน ตามกระแสนิยมของงานตกแต่งภายในในยุคนั้น ซึ่งนิยมใช้สีพาสเทลกันทั่วบ้านทั่วเมือง (และทั่วทุกห้องน้ำ)

ย้อนอดีต 'ทิชชูชมพู' ความเป็นไทยคู่สวนอาหารต่างจังหวัด ว่าทำไมต้องเป็นสีชมพู, กระดาษทิชชูสีชมพู

ความนิยมของกระดาษชำระสีลูกกวาดค่อยๆ เสื่อมไปในยุค 80 ด้วยหลายปัจจัย ตั้งแต่ความกังวลที่คนมีต่อสีย้อมเคมี จนไปถึงงานดีไซน์ที่เปลี่ยนแปลงไป พูดง่ายๆ ว่า เมื่อโถส้วม อ่างล้างมือ สีลูกกวาด เอาต์! ทิชชูสีพาสเทลก็เอาต์ไปพร้อมๆ กัน

ย้อนอดีต 'ทิชชูชมพู' ความเป็นไทยคู่สวนอาหารต่างจังหวัด ว่าทำไมต้องเป็นสีชมพู, กระดาษทิชชูสีชมพู

ความแมนของสีชมพู

สีชมพูที่ทุกวันนี้ถูกผูกเข้ากับวัฒนธรรมและความรู้สึกต่างๆ มากมาย ตั้งแต่ความอีโรติก ความเป็นเพศหญิง หรือแม้กระทั่งความรัก แท้ที่จริงแล้วในเชิงประวัติศาสตร์ สีชมพูไม่ได้เป็นสีหวานๆ ของตุ๊กตาบาร์บี้มาตั้งแต่อ้อนแต่ออก

“สีชมพู เป็นสีที่แสดงออกถึงการเปลี่ยนผ่าน และเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นทัศนคติของคนในสังคมในยุคนั้นๆ เสมอมา” 

วาเลรี่ สตีล (Valerie Steele) ผู้เขียนหนังสือ Pink: The History of a Punk, Pretty, Powerful Color กล่าวตอนให้สัมภาษณ์กับ CNN

คำว่า ‘พังก์’ ที่นำมาเชื่อมโยงกับสีชมพูเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ

แต่อาจจะไม่น่าแปลกใจเท่ากับการที่ในยุคอดีตกาลนั้น สีชมพูไม่ใช่สีที่ใช้บ่งบอกเพศใดเพศหนึ่ง เพราะในยุค 1700 แม้กระทั่งเครื่องแบบทหารก็ยังเป็นสีชมพูจางๆ เช่นเดียวกับการใส่สีชมพูคู่กับลายดอกของขุนนางชาย ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ

ย้อนอดีต 'ทิชชูชมพู' ความเป็นไทยคู่สวนอาหารต่างจังหวัด ว่าทำไมต้องเป็นสีชมพู, กระดาษทิชชูสีชมพู
ย้อนอดีต 'ทิชชูชมพู' ความเป็นไทยคู่สวนอาหารต่างจังหวัด ว่าทำไมต้องเป็นสีชมพู, กระดาษทิชชูสีชมพู

การป้ายความเป็นสตรีให้กับสีชมพูนั้น เริ่มขึ้นในช่วงกลางยุค 1900 ที่ทหารและขุนนางชายเริ่มหันมาใส่สีเข้มขรึม และปล่อยให้สีโทนอ่อนเป็นตัวเลือกของเพศตรงข้ามแทน

ชนชั้นของสีชมพู

สีชมพูเริ่มถูกนำไปใช้แพร่หลายในทุกชนชั้น ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่สีย้อมเฉด Magenta ราคาถูก และนำไปผสมสร้างเฉดสีชมพูต่างๆ ได้ไม่รู้จบ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสิ่งทอ สีชมพูที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสีของชนชั้นสูง ก็ถูกหยิบไปใช้ในชนชั้นกรรมมาชีพ จนไปถึงโสเภณี พูดง่ายๆ คือ สีชมพูเป็นสีแห่งความยั่วยวนชวนยิ้มได้สำหรับคนทุกหย่อมหญ้า

และการเตรียมทาห้องนอนของลูกด้วยสีชมพูถ้าเป็นผู้หญิง หรือสีฟ้าถ้าเป็นผู้ชาย ก็เริ่มกลายมาเป็นธรรมเนียมปฏิบัติยอดนิยมในยุค 50 ยุคเดียวกันกับการก่อกำเนิดของทิชชูสีลูกกวาดนั่นแล

ย้อนอดีต 'ทิชชูชมพู' ความเป็นไทยคู่สวนอาหารต่างจังหวัด ว่าทำไมต้องเป็นสีชมพู, กระดาษทิชชูสีชมพู

พิงก์ = พังก์

ในโลกศิลปะไทย หนึ่งในงานสีชมพูที่น่าจะเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากที่สุด ได้แก่งานชื่อ Pink Man ของ มานิต ศรีวานิชภูมิ น่าจะถูกรวมอยู่ในการใช้สีชมพูที่แสบสันที่สุดงานหนึ่ง

ย้อนอดีต 'ทิชชูชมพู' ความเป็นไทยคู่สวนอาหารต่างจังหวัด ว่าทำไมต้องเป็นสีชมพู, กระดาษทิชชูสีชมพู

งานชุด Pink Man เป็นรูปถ่ายของผู้ชายคนหนึ่งในชุดผ้าไหมแวววาวสีชมพูทั้งตัว เดินทางและปรากฏตัวไปทั่ว พร้อมกับรถเข็นซูเปอร์มาร์เก็ต (สีชมพูเช่นกัน) ถือเป็นการวิพากษ์ระบบบริโภคนิยม ซึ่งเกิดขึ้นหลังวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 ซึ่งทำออกมาได้อย่างเจ็บแสบ ยียวน ใช้สีชมพูซึ่งเป็นตัวแทนของรสนิยมราคาถูกและชนชั้นในวัฒนธรรมการบริโภคของไทยเสมอมาได้พังก์มากๆ จนชวนให้เราคิดว่า พิษเศรษฐกิจหลังยุค COVID-19 Pink Man จะใส่หน้ากากผ้าไหมเข้าชุดกัน (เหมือนท่านนายกฯ) แล้วออกมาเดินในโลกแบบไหน

ย้อนอดีต 'ทิชชูชมพู' ความเป็นไทยคู่สวนอาหารต่างจังหวัด ว่าทำไมต้องเป็นสีชมพู, กระดาษทิชชูสีชมพู

สี = สังคม

สังคม เป็นผู้ตัดสินว่า ‘สี’ สื่อถึงอะไร

เราเริ่มเห็นการเดินทางของสีชมพู ที่เดินออกมาจากภาพจำหวานๆ ของสตรีเพศมากขึ้นในวัฒนธรรมร่วมสมัย ตั้งแต่สี Rose Gold ของ iPhone จนถึงมิวสิกวิดีโอ Hotline Bling ของ Drake แร็ปเปอร์ชายหนุ่มขวัญใจสาวๆ ที่ขึ้นอันดับหนึ่งของชาร์ตเพลง ปีเดียวกันกับสี Rose Quartz ที่เป็นสียอดนิยมของแพนโทนในปีนั้น

อาจจะพูดได้ว่า เด็กๆ ชาวมิลเลนเนียลไม่กลัวสีชมพู ถึงขั้นมีเทรนด์ Millennial Pink ผุดขึ้นมาทุกหนทุกแห่ง ตั้งแต่ร้านอาหาร บาร์ ที่ชวนให้ถ่ายรูปลงอินสตาแกรม จนไปถึงบนรันเวย์เสื้อผ้าผู้ชายของ Gucci ซึ่งอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า เรากำลังเดินทางมาถึงยุคที่สีชมพูกำลังจะเปลี่ยนความหมายจากสายตาของผู้ถูกมองอีกครั้ง

เคนดัลล์ เจนเนอร์ (Kendall Jenner) กล่าวอ้างถึงสีชมพูที่ชื่อว่า Baker Miller Pink ซึ่งเป็นการทดลองทาสีชมพูในคุกของนักโทษชายในยุค 70 ว่ามันทำให้เธอรู้สึกสงบ เช่นเดียวกับผลทดลองในยุคนั้นที่ค้นพบว่า นักโทษชายที่ถูกกักขังในกรงสีชมพูมีอาการก้าวร้าวและความเครียดน้อยกว่ากรงสีปกติ

ชีวิตก็เหมือนม้วนกระดาษทิชชูบนฝาผนังส้วม ยิ่งใช้ใกล้หมดม้วน มันก็ยิ่งหมุนเร็วขึ้นเท่านั้น”

เป็นไปได้ไหมว่า ชีวิตเราสั้นเกินกว่าที่จะให้ ‘สังคม’ เป็นตัวบ่งบอกว่า เราควรจะรู้สึกกับสีใดสีหนึ่งอย่างไร โดยเฉพาะในโลกที่หมุนเร็วขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน

ในสังคมไทยที่สีของเสื้อมีนัยมากกว่าแฟชั่น ลามไปถึงจุดยืนทางการเมือง ไม่แน่ว่าครั้งหน้า ตอนที่เราทุกคนออกจากบ้านไปกินจิ้มจุ่มกับเพื่อนพร้อมหน้าพร้อมตา ในกล่องไม้จิ้มฟัน ทิชชูราคาถูกอาจกลายเป็นสีอื่นไปแล้ว หรือถ้ามันยังเป็นสีชมพูเหมือนเดิมอยู่  มุมมองของเราที่มีต่อสีชมพู ไม่ว่าจะเป็นทิชชู วันอังคาร จนไปถึงหัวนม อาจจะเปลี่ยนไปพร้อมๆ กับโลกใบใหม่ก็เป็นได้

ข้อมูลและภาพประกอบ

blog.toiletpaperworld.com/where-did-all-the-colored-toilet-paper-go/

www.theatlantic.com/sexes/archive/2013/08/pink-wasnt-always-girly/278535/

Writer & Photographer

Avatar

ศรัณย์ เย็นปัญญา

นักเล่าเรื่อง ผู้ร่วมก่อตั้ง 56thStudio ที่รักในความเป็นคนชายขอบ หมารองบ่อน และใช้ชีวิตอยู่ตรงตะเข็บชายแดนของรสนิยมที่ดีและไม่ดีอย่างภาคภูมิมาตลอด 35 ปี ชอบสะสมเก้าอี้ ของเล่นพลาสติก และเชื่อในพลังการสื่อสารของงานออกแบบและงานศิลปะ