14 มีนาคม 2025
2 K

หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ กอเตย-ปิญชาดา ผ่องนพคุณ ได้รับความสนใจ เพราะเธอเป็นนักวางแผนการตายดี (Death Planner) อาชีพที่อาจจะยังไม่ได้รับความนิยมในไทย กอเตยเปิดธุรกิจที่ชื่อว่า ‘Baojai Family อยู่อย่างเบาใจ จากไปอย่างใจเบา’ ให้บริการรับวางแผนความตายอย่างครบวงจร

ส่วนตัวเราชินกับประโยคที่บอกว่า สิ่งใดที่เกี่ยวกับความตาย คนซื้อมักไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ซื้อ อย่างเช่นโลงศพ แต่การผลักดันของกอเตยที่ร่วมกับเพื่อนอีกหลายคนเพื่อบอกสังคมว่า ‘ทุกคนออกแบบการตายได้’ และ ‘ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะตายดี’ ช่วยเปลี่ยนความคิดกระแสหลักที่มองว่าความตายเป็นเรื่องอัปมงคล แต่วัฏจักรธรรมชาติเหมือนการเกิดหรือเจ็บป่วย ไม่มีใครหนีความตายพ้น 

กอเตยเป็นหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลัง ‘Death Fest 2025’ งานแฟร์ที่รวบรวมบริการและองค์ความรู้เพื่อการอยู่ดี-ตายดี ไว้อย่างครบวงจร จัดโดย Peaceful Death, The Cloud และ ชูใจ กะ กัลยาณมิตร นั่นจึงเป็นเหตุผลให้เราได้มาคุยกับเธอ

เรายอมรับตรง ๆ ว่า ก่อนมาคุย เราคิดจนหัวแทบระเบิดว่าควรคุยอะไรกับเธอดี เพราะเธอให้สัมภาษณ์กับสื่อไว้มากมาย คิดไปมาหลายตลบก็นึกได้ว่าทุกสรรพสิ่งบนโลกล้วนมีต้นสายปลายเหตุ เราเลยชวนเธอมาคุยถึงจุดเริ่มต้นอาชีพ ‘นักวางแผนการตายดี’ ที่ย้อนไปไกลถึงวัยเด็ก และอาชีพนี้ที่ส่งผลกับเธอโดยตรง ให้เธอได้จัดการกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับตัวเองและกับคนอื่น ซึ่งเธอบอกว่านี่เป็นหนึ่งในขั้นตอนเตรียมตัวตายดี

พรวนดินเตรียมปลูกต้นเตย

คนมักถามถึงอาชีพนักวางแผนการตาย เราเลยอยากย้อนไปในวัยเด็กของคุณ คนที่จะโตมาเป็นนักวางแผนการตายมีวัยเด็กอย่างไร

เท่าที่จำความได้เราเป็นเด็กที่โตมาด้วยความรู้สึกโดดเดี่ยว เหมือนอยู่ตัวคนเดียวบนโลกนี้ แล้วก็ชอบตั้งคำถามกับตัวเองว่าเกิดมาทำไม แต่เพราะยังเด็กมาก ๆ เราเลยไม่รู้จะจัดการสิ่งนี้อย่างไร ประกอบกับมีพี่ชายคนหนึ่ง อายุห่างประมาณ 8 – 9 ปี เราเลยรู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่ลูกรัก เพราะพ่อเคี่ยวเข็ญเรามากกว่าพี่ชาย 

สิ่งเหล่านี้ผสมกันเป็นก้อนความรู้สึกที่ทำให้เราเป็นเด็กขี้น้อยใจ ยิ่งเป็นเด็กอ้วนด้วย โดนบูลลี่บ่อย แต่เพราะรู้สึกว่าโดดเดี่ยวมั้ง เราถึงอยากถูกมองเห็นบ้าง เลยกลายเป็นเด็กกิจกรรม ทำทุกอย่างที่ไม่ใช่การเรียน (หัวเราะ) 

คุณคิดว่าอะไรคืออิทธิพลสำคัญในชีวิตวัยเด็ก

(นิ่งคิด) น่าจะเป็นการที่เราถูกเลี้ยงโดยแม่เป็นหลัก เพราะพ่อรับราชการและต้องไปทำงานต่างจังหวัดบ่อย ๆ พ่อแทบไม่ได้อยู่บ้านเลย ตอนเด็กเราไม่เข้าใจว่านี่เป็นเงื่อนไขการทำงานของพ่อ เรารู้สึกแค่ว่าแม่เป็นคนเลี้ยง แม่เลยค่อนข้างมีผลต่อการประกอบสร้างตัวเราจนถึงทุกวันนี้ แม่เลี้ยงเราด้วยการให้อิสระมาก ๆ (เน้นเสียง) แม่ไม่เคยบังคับว่าเราต้องเรียนแบบนี้นะ แต่คอยดูเราอยู่ห่าง ๆ มากกว่า

แม่มักสอนให้เราอดทนเวลาเจอปัญหาอุปสรรค ตอนเด็กบ้านเรามีปัญหา แม่จึงสอนให้เราอยู่กับมันด้วยการใช้ชีวิตของเราไป แม่เป็นพื้นที่ปลอดภัยของเรา สิ่งนี้ทำให้เราใช้ชีวิตรอดมาจนถึงทุกวันนี้

ระหว่างที่เติบโตพร้อมมีคำถามว่าเกิดมาทำไม ณ เวลานั้นเด็กหญิงกอเตยรับมือกับคำถามนี้อย่างไร

จริง ๆ เราอยู่กับคำถามมาตลอดชีวิตนะ แต่คำถามเปลี่ยนไปตามอายุ อย่างตอนเด็กถามว่าเกิดมาทำไม เป็นคำถามที่จะเกิดตอนทุกข์มาก ๆ เช่น โดนบูลลี่จากญาติ ซึ่งประหลาดนะ แต่มันดันแย่ตรงที่เราคิดไปถึงว่าทำไมพ่อแม่ถึงให้เราเกิดมา

เราว่าหลายคนก็คงเคยตั้งคำถามแบบนี้ พอโตขึ้นมาหน่อย ช่วงที่บ้านเกิดปัญหา เราก็ตั้งคำถามเหมือนเดิมว่าเกิดมาทำไม แต่ปรับประโยคใหม่ คือเรามีความหมายอะไรกับโลกใบนี้ เป็นจุดตั้งต้นให้เราไปตามหาคำตอบ ฉะนั้น เราถามคำถามกับตัวเองในทุกช่วงวัย แต่ประโยคจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ

น่าคิดต่อว่าทำไมบางครั้งเราถึงรับมือกับความทุกข์ด้วยการตั้งคำถาม

ในมุมเราคิดว่าเพราะคนอยากหนีความทุกข์ คนรู้สึกว่าการไม่เกิดหรือการไม่อยู่คือจะไม่ทุกข์ ซึ่งเราก็เคยคิดแบบนั้นตอนที่ยังเด็ก แต่พอโตขึ้น เรารู้เลยว่าที่ตั้งคำถามแบบนั้นเพราะต้องการจะหนี ทั้งที่ความทุกข์มีไว้ให้เห็น แต่เราไม่อยากเห็น เราอยากหันหลังให้ ถ้างั้นการไม่เกิดหรือไม่อยู่เลยอาจจะดีกว่า

 ถ้าเลือกทางนี้เราอาจไม่ได้เห็นคำตอบว่าช่วยได้จริง ๆ ไหม เพราะเราคงไม่ได้อยู่จนเห็นผลลัพธ์

มันจะมีวันที่เรารู้สึกว่าแย่มาก ๆ รู้สึกว่าคนอื่นเติบโตกันหมด แต่เรายังอยู่ที่เดิม มันคือการเปรียบเทียบนั่นแหละ เราเคยคิดไม่อยากอยู่ด้วยนะ เราตั้งคำถามว่าถ้าไม่อยู่แล้วจะเป็นยังไง แต่โชคดีที่พอคิดแบบนี้ก็คิดขึ้นได้อีกว่า แต่แม่ยังอยู่ ผู้ทรงอิทธิพลอันดับ 1 ของเรายังอยู่ (ยิ้ม) เราเลยข้ามจุดนั้นมาได้

แม่เป็นผู้ช่วยชีวิตคุณ

เขาเป็นขุมพลัง แต่บางทีที่ทุกข์มาก ๆ เราก็ลืมขุมพลังนี้ไปเหมือนกัน

ช่วงเวลานั้นคุณรับมือกับความทุกข์ที่เกิดขึ้นอย่างไร

เราคิดว่าตัวเองเป็นคนจมอยู่กับความทุกข์ได้ดี (เน้นเสียง) เราอยู่กับมันได้จริง ๆ เป็นคนที่จะทุกข์ให้พอ เสียใจให้พอ แล้วสักพักจะเด้งกลับมาเอง เหมือนมีปุ่มกดหยุดความดิ่งได้ เราเลยไม่ค่อยหนีความทุกข์ แต่เลือกที่จะอยู่กับมัน อาจเพราะชีวิตเจอเรื่องยาก ๆ มาเยอะมั้ง เจอจนรู้สึกว่าก็เข้ามาดิ มาอีกได้เลย 

ความสัมพันธ์กับพี่ชายของคุณเป็นไงบ้าง

เป็นความสัมพันธ์แบบห่างเหิน ด้วยความที่อายุห่างกันมากด้วยแหละ เลยไม่มีโมเมนต์พี่ชายน้องสาวดูแลกัน ต่างคนต่างใช้ชีวิต และเราค่อนข้างสนิทกับคุณอามากกว่าเลยไปอยู่บ้านคุณอาบ่อย ๆ

เพราะเรารู้สึกว่าตัวเองโดดเดี่ยวด้วย พ่อก็ไม่ค่อยรัก เราเลยเกิดความรู้สึกไม่ชอบพี่ชาย อาจจะใช้คำว่าถึงขั้นเกลียดเลยก็ได้ ขณะที่เราตั้งคำถามกับตัวเองว่าเกิดมาทำไม เราก็ตั้งคำถามว่าเขาเกิดมาทำไมเหมือนกัน ซึ่งเรารับรู้เลยว่าแม่ก็ไม่สบายใจกับความสัมพันธ์ของเรากับพี่ชาย เราเลยเลือกที่จะต่างคนต่างอยู่ ถ้าไม่ทะเลาะกันแม่จะได้ไม่เครียด

วัยเด็กทำให้คุณเจอเรื่องยากมากมาย แต่ก็จุดประกายให้อยากโตมาเป็นนักสิทธิมนุษยชน

ใช่ มาจากพ่อกับปู่ ปู่เราเป็นนักการเมืองท้องถิ่น สิ่งที่เราเห็นจนชินตาคือปู่ช่วยเหลือสังคมตลอด ใครโดนเอาเปรียบปู่จะไปช่วยทันทีทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่เรื่องของเขา ปู่ดูแลทุกข์สุขของคนในพื้นที่ ทำให้เราชอบและอยากทำสิ่งที่มีประโยชน์เหมือนปู่ ตอนมัธยมเราเป็นประธานชมรมต่อต้านยาเสพติด (หัวเราะ) จัดค่ายพาคนไปเที่ยวให้ห่างไกลจากยาเสพติด งานที่เราทำมาเรื่อย ๆ จึงเป็นงานพัฒนาสังคม 

อีกเหตุผลหนึ่งที่เราอินกับงานสิทธิมาก ๆ เพราะเราชอบโดนเอาเปรียบ หรือไม่ค่อยได้รับความเท่าเทียม กลายเป็นแรงขับเคลื่อนข้างในผสมกับสิ่งที่ปู่ทำแล้วเกิดประโยชน์ เป็นที่มาให้เราสนใจเรียนรู้ด้านนี้จนมาถึงทำงาน

ต้นเตยค่อย ๆ โต

การป่วยของพ่อถือเป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนชีวิตคุณ

เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเลยล่ะ อย่างแรกทำให้เราเห็นความตายใกล้ตาที่สุดตอนที่หมอบอกว่า พ่อจะอยู่ได้อีกแค่ 6 เดือน เราได้ยินแล้วสั่นไหวมากนะ ขนาดเรารู้สึกว่าพ่อไม่ค่อยรัก แต่ความตายอยู่ใกล้คนที่เรารักมาก ๆ เราจำไม่ได้ว่าเดือนที่หมอบอกเป็นเดือนอะไร แต่เรารีบเปิดปฏิทินแล้วนับเลยว่าอีก 6 เดือน มันสั้นมาก ๆ ที่ผ่านมาชีวิตเจอแต่เรื่องทุกข์ เราอยากให้เวลาผ่านไปไว ๆ แต่ ณ วันที่หมอบอกว่าพ่ออยู่ได้อีก 6 เดือน เราอยากหยุดเวลา แต่ความโชคดีคือพ่ออยู่ได้อีกประมาณ 3 ปี เพราะพ่อก็สู้เหมือนกัน 

พอพ่อป่วย เราเลยได้กลับมาใกล้ชิดดูแลเขา แต่เราก็เคยทำตัวไม่ดีเหมือนกัน เวลาพ่อโทรศัพท์มาที่บ้าน ถ้าเรารับสายแล้วรู้ว่าเป็นพ่อ สิ่งที่ทำคือบอกให้แม่ไปคุยแทน แล้วเราก็ไปทำอย่างอื่น ตอนนั้นเราเจ็บปวดนะที่เคยทำแบบนี้ จึงเป็นจุดที่ทำให้ตัดสินใจว่า อยากใช้เวลาอยู่กับพ่อให้มากที่สุด เลยตัดสินใจดูแลพ่อด้วยตัวเอง 

มีเกิดอะไรขึ้นบ้างในช่วงที่กลับมาอยู่ใกล้ชิดพ่อ

เราเคยรู้สึกว่าพ่อไม่รักเรา ตอนที่ดูแลพ่อก็ยังมีความรู้สึกนี้อยู่ บางครั้งที่เหนื่อยมาก ๆ เราจะตั้งคำถามว่าทำไมต้องมาดูแลเขานะ นี่เป็นสิ่งที่เกิดกับผู้ดูแลได้และไม่ใช่เรื่องผิดด้วย เพราะเราเหนื่อยไง เราจะพูดกับพ่อตรง ๆ เลยว่า ทำไมต้องเป็นเตยที่เหนื่อย พ่อก็ตอบว่า ขอโทษที่ทำให้เตยเหนื่อย แต่เตยเป็นความไว้วางใจของพ่อ เราก็พูดต่อว่าแต่ที่ผ่านมาเตยรู้สึกว่าพ่อไม่เคยรักเตยเลย พ่อถามกลับว่าพ่อไม่รักเตยตอนไหน เราก็บอกว่าไม่รู้หรอก แต่ที่รู้คือพ่อแสดงออกกับพี่ชายมากกว่า พ่อพูดมาประโยคหนึ่งว่า แล้วเวลาที่พ่อซื้อของกินที่เตยชอบให้นั่นไม่ใช่ความรักเหรอ 

เราถึงเข้าใจเลยว่าไม่มีวันไหนที่พ่อไม่รักเรา แต่ภาษารักของเราไม่เหมือนกัน ตัวเราต้องการการบอกรัก ต้องการเวลาที่มีคุณภาพ แต่ความรักของพ่อคือรู้ว่าเราชอบอะไรก็จะซื้อมาให้ เราถึงไม่รู้ว่าพ่อกำลังแสดงความรัก การได้ดูแลพ่อตอนป่วยช่วยให้เราได้ปรับความเข้าใจ จัดการกับความสัมพันธ์ที่ค้างคา ได้เห็นตัวตนของพ่อจริง ๆ เราว่าเราเพิ่งรู้จักนิสัยพ่อจริง ๆ ก็ตอนที่เขาป่วย ช่วงเวลานี้เริ่มเปลี่ยนเราหลายอย่าง เอาเป็นว่าเราได้คำตอบแล้วว่ากอเตยเกิดมาเพื่ออะไร

คำตอบมาได้ยังไง

เพราะเราคิดว่าตัวเองโดดเดี่ยวมาตลอดไง แต่วันที่เรามาดูแลพ่อ การตื่นตี 4 มาเปลี่ยนแพมเพิร์สให้พ่อ คนอื่นอาจรู้สึกว่าเป็นภาระ แต่สำหรับเรารู้สึกว่าได้รับเกียรติจากมนุษย์คนหนึ่ง แล้วเราก็มีส่วนร่วมในการตัดสินใจของพ่อหลาย ๆ อย่าง พ่อไว้วางใจเรา ทำให้รู้สึกว่าความโดดเดี่ยวน้อยลง ถึงแม้ว่าเราจะรู้ว่ามีความโดดเดี่ยวลอยอยู่ข้างหน้า แต่เราโฟกัสกับช่วงเวลาที่ครอบครัวได้อยู่ด้วยกันมากกว่า มีแต่ความรู้สึกว่าอยากทำทุกวันให้ดีที่สุด เลยรู้ได้คำตอบว่าจริง ๆ เราอาจเกิดมาเพื่อทำทุกวันให้ที่สุด จนกว่าเราตายจากไปก็ได้ 

ขณะที่คุณได้ดูแลพ่อ ได้เริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่ แล้วความสัมพันธ์กับพี่ชายเป็นไงบ้าง

เราเป็นคนทำอะไรได้ทีละอย่าง ฉะนั้น ตอนที่พ่อป่วย เราทุ่มเทการดูแลให้พ่อเป็นหลัก ตัดการทำงานร่วมกับความสัมพันธ์พี่ชายไปเลย เพราะว่าเขาก็แยกตัวออกไปด้วย เขาคงมีช่วงเวลาที่ยากเหมือนกัน

หลังพ่อจากไป ความสัมพันธ์เรากับพี่ชายก็ไม่ดีเหมือนเดิม ไม่รู้ว่าเคยมีประสบการณ์เหมือนกันไหมที่ปิดประตูดัง ๆ เดินกระทืบเท้าขึ้นบันได (หัวเราะ) ใช้เสียงเล่าเรื่องให้พี่ชายรับรู้ความรู้สึกเรา จนถึงขั้นทำให้พี่ชายย้ายไปอยู่ที่อื่นเลย ถึงตอนที่ดูแลพ่อเราจะได้เรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์ รู้วิธีจัดการ รู้สึกว่าตื่นรู้แล้ว แต่ด้วยความเป็นมนุษย์เราก็มีโอกาสหลับได้อีก

ตอนคุณพ่ออาจมีปัจจัยเรื่องเวลาที่ทำให้คุณต้องรีบจัดการสิ่งที่ค้างคา แล้วกับพี่ชาย มีจุดไหนที่ทำให้กอเตยคิดว่าถึงเวลาจัดการความสัมพันธ์ 

ช่วงที่ดูแลพ่อ เราได้รู้จัก ‘สมุดเบาใจ’ และ ‘สิทธิการตายดี’ ตัวเราเองก็ทำงานเป็นนักสิทธิมนุษยชนด้วย ทำให้เราสนใจอยากผลักดันเรื่องนี้ให้ทุกคนเข้าถึงการตายดี เราพยายามเรียนรู้ให้มากขึ้นจนได้มีโอกาสเข้าเวิร์กช็อปชื่อว่า ‘Living and Dying with Dignity’ ของ ครูวิคตอเรีย สุบิรานา เป็นเวิร์กช็อปสอนเรื่องความตายโดยให้ไปสัมผัสความตายของตัวเองมากที่สุด ทำให้ได้เห็นตัวเองชัดขึ้นว่า เรายังตายไม่ได้ เพราะยังไม่ได้เคลียร์กับพี่ชาย ต่อให้คิดว่าตัดเขาออกไปจากชีวิตแล้ว แต่วันที่เราได้เผชิญความตาย เรารู้เลยว่ายังมีสิ่งที่เราต้องจัดการมันก่อน 

เราใช้เวลา 2 วันหลังจากที่จบคอร์สนั้นโทรศัพท์ไปขอโทษเขา จนมารู้ว่าลึก ๆ เรารักพี่ชาย ถึงอยากเคลียร์สิ่งที่ค้างคา พี่ชายพูดมาคำเดียวว่า ไม่เคยโกรธเราเลย เขารักมาตลอดและโอเคที่เราจะเป็นยังไงก็ได้ อย่างที่บอกตลอดว่าเราโตมาด้วยความรู้สึกโดดเดี่ยว เราอยากได้รับการยอมรับ และอยากได้รับการยอมรับในสายตาพี่ชายด้วย พอพี่พูดว่าเขารับเราได้ทุกอย่าง เขาเห็นด้านแย่ที่สุดของเราแล้ว เหมือนความเป็นมนุษย์ของเราได้รับมองเห็น

เมื่อกลับมาเคลียร์กัน ถึงขั้นแลกเปลี่ยนช่วงเวลาในเด็กกันไหม เพราะพวกคุณน่าจะโตมาในสภาพแวดล้อมคล้าย ๆ กัน

เคยนะ พี่บอกว่าเขาก็รู้สึกถึงแรงกดดันจากการเลี้ยงดูมาก ๆ เพราะเป็นพี่ชายคนโตเลยถูกคาดหวังหลายอย่าง ในขณะที่เราเกิดมาพี่ชายก็รู้สึกว่าแม่ให้ความรักกับเรา ตอนนั้นเขา 9 ขวบ ไม่มีใครมาดูแล แต่สิ่งที่ต่างกันคือข้างในพี่ชายแข็งแกร่งกว่าเราเยอะ เขาไม่เคยคิดว่าพ่อแม่ไม่รัก

เห็นเลยว่าครอบครัวเราไม่มีการสื่อสารเรื่องนี้ เราไม่เคยพูดถึงความรู้สึกให้อีกฝ่ายรับรู้ กลายเป็นความเข้าใจผิดและแสดงออกด้วยการทำร้ายกัน

แสดงว่าความสัมพันธ์เป็นเรื่องที่เราควรคุยกันตั้งแต่เด็ก พอ ๆ กับเรื่องความตาย

ใช่ เราพยายามบอกทุกคนที่มีลูกว่า ดูแลความสัมพันธ์ของเขาให้ดีนะ เพราะมันส่งผลต่อการเติบโตของเขามาก ๆ (เน้นเสียง) ทำให้เด็ก ๆ เข้าใจเรื่องการสูญเสียว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ มีผู้ใหญ่หลายคนรับมือกับเรื่องพวกนี้ได้ไม่ค่อยดี เพราะตอนเด็ก ๆ ไม่ได้ถูกปลูกฝังมา

หรือแม้กระทั่งว่าเราใช้ชีวิตกันบนความคาดหวังต่อการมีชีวิตของอีกคนหนึ่ง ไม่ใช่แค่ลูกเท่านั้น แต่พ่อแม่หรือคู่ชีวิตเอง เราถูกคาดหวังและเอาความคาดหวังของเราไปใส่ไว้กับคนอื่น เราคาดหวังจนไม่คิดว่าวันหนึ่งคนต้องเจอกับความตาย แต่บางคนยังไม่ได้ใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการ ซึ่งเราเจอมาหลายคนแล้ว 

แต่รู้ไหมว่าหลังจากที่ครอบครัวเราพูดเรื่องความตาย เราไม่เคยขึ้นเสียงใส่กันอีกเลยนะ ไม่ใช่แค่เพราะชวนเขาทำสมุดเบาใจหรอก แต่เราได้คุยกัน การแบ่งปันความคิดกันทำให้เราเปลี่ยนไป พี่ก็เปลี่ยน ความสันติเกิดขึ้นในครอบครัว แม่ก็มีความสุข

ต้นเตยเริ่มแตกกิ่งก้านใบ

นอกจากมีโอกาสเผชิญความตายของคนใกล้ตัว มีเหตุผลอื่นด้วยไหมที่ทำให้คุณตัดสินใจเบนเข็มชีวิตมาทำอาชีพนักวางแผนการตาย 

  อย่างที่บอกว่าเราอยากทำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับคนอื่น และเห็นว่าการได้เตรียมตัวตายมันดีแค่ไหน พ่อจากไปอย่างสมศักดิ์ศรี เขาได้เลือกทุกอย่างเองตั้งแต่การรักษา งานศพ จนกระทั่งการจัดการอัฐิ เราอยากให้คนอื่นเข้าถึงสิ่งนี้เหมือนกัน เรียกว่าตอนนี้เป็นภารกิจชีวิตของเราไปแล้ว

กังวลไหมว่าอนาคตภารกิจชีวิตอาจเปลี่ยนไป

ไม่เลย วันข้างหน้าเราอาจจะเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นก็ได้ แต่เชื่อเสมอว่า ไม่ว่าเราจะไปอยู่ ณ ที่แห่งไหน ความตายจะตามเราไป เพราะเรารู้แล้วว่าความตายแน่นอนที่สุดในชีวิตของมนุษย์คนหนึ่ง ต่อให้เราเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น การทำงานเรื่องความตายก็จะคงดำรงอยู่ในตัวเรา 

อาชีพนักวางแผนการตายคล้ายกับนักวางแผนงานแต่งไหม 

ถ้าถามเรา เราว่าคล้ายนะ เพราะการช่วยวางแผนการตายให้คนคนหนึ่ง ต้องดูบริบทชีวิตของเขาก่อน เขาแวดล้อมไปด้วยใคร เขามาวางแผนเพราะอะไร ทำให้สิ่งที่สนุกมาก ๆ ในการทำงานนี้ คือเราได้ออกแบบกระบวนการที่ช่วยให้เขาวางแผนการตายของตัวเองได้ และสิ่งที่เหมือนกันมาก ๆ คือ มีเรื่องความสัมพันธ์และมีความรักอยู่ในกระบวนการวางแผนนั้นด้วย

เราวางแผนการตายแบบ Private Session มากว่า 300 เคส ซึ่งกระบวนการแต่ละคนไม่เหมือนกันเลย เราออกแบบกระบวนการที่พาเขาไปทบทวนชีวิต แล้วก็ให้ความรู้เกี่ยวกับการเตรียมตัวตายที่จำเป็น เช่น การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) 

สมุดเบาใจน่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงานของคุณ

ใช่ เราเคยใช้สมุดเบาใจตั้งแต่เวอร์ชันที่เล่มหนามาก ๆ จนปัจจุบันปรับให้บางขึ้น ปรับคำถามให้กึ่งสำเร็จรูปคนตอบได้ง่ายขึ้น แล้วทุกคนทำได้ ไม่ว่าจะวัยไหน ผู้ป่วยทำได้ สุขภาพยังแข็งแรงดีก็ทำได้

ซึ่งสมุดเบาใจกำลังจะมีเวอร์ชันพิเศษเกิดขึ้น

เป็นสมุดเบาใจเวอร์ชันสำหรับงาน Death Fest 2025 โดยเฉพาะ ความพิเศษแรกคือสีปก เราทำเป็นสีส้มซึ่งไม่เคยใช้มาก่อน เพราะพวกเรามองว่าสีส้มสื่อถึงความสดใส อยากให้คนมองความตายในมุมใหม่ ๆ นอกจากสีทึบๆ หม่น ๆ ส่วนปกหลังมีคำสอนของ ท่านพุทธทาส เพราะการตายของท่านถือเป็นจุดเริ่มต้นพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตราที่ 12 ผู้ป่วยที่อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิตแสดงความประสงค์ที่จะไม่รับบริการทางการแพทย์ได้ ทำให้เราทุกคนเข้าถึงสิทธิ์การตายดี ทุกคนเป็นเจ้าของชีวิตตัวเอง

หน้าสุดท้าย เมื่อก่อนเป็นหน้าว่างเปล่า ให้คนเขียนอะไรก็ได้ แต่ พี่เม้ง-ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ เสนอว่า น่าจะใส่เรื่องขอบคุณ ขอโทษ และให้อภัย เพื่อให้สมุดเบาใจเล่มนี้ช่วยเจ้าของจัดการความสัมพันธ์ได้อย่างหมดจดจริง ๆ 

เวลาพูดเรื่องการเตรียมตัวตาย หลายคนไปโฟกัสช่วงเวลานั้นโดยเฉพาะคิดว่าจะทำอะไรดี แต่เท่าที่คุยกันมา คุณบอกว่าการตายดีสัมพันธ์กับตอนที่ยังมีชีวิต 

ถูกต้อง เราอยากพูดเรื่องนี้เพราะคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนความตาย คนชอบมาถามเราว่า จะคุยเรื่องความตายกับที่บ้านยังไง คุยกับพ่อแม่ยากจังเลย เราถามกลับว่าทำไมไม่ลองคุยเรื่องป่วยล่ะ บางทีเราก็ไปมุ่งว่าเขาอยากจัดงานศพแบบไหน หรืออยาจะยื้อชีวิตหรือไม่

ลองเริ่มคุยกันก่อนว่า ถ้าต้องไปรักษาที่โรงพยาบาล อยากไปเองหรืออยากให้ใครไปด้วย ถ้าวันหนึ่งเจ็บป่วยเข้าสู่ระยะท้ายอยากอยู่ที่บ้าน หรือไปโรงพยาบาล ก่อนที่จะไปพูดเรื่องงานศพ เพราะยิ่งถ้าพูดกับคนใกล้ตัว เขาจะรู้สึกถึงการพรากจากกัน บางบ้านอาจยังไม่พร้อมเปิดรับ

กอเตย

สิทธิการตายดีที่คุณกำลังผลักดันไปถึงไหนแล้ว 

เราทำเรื่อง ‘สิทธิการตายดี’ ทำร่วมกับ Peaceful Death และคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร พวกเราเห็นว่าใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ มาตรา 12 ยังมีรอยรั่วที่ต้องอุดอีกมาก ที่สำคัญ อยากให้คนรู้เรื่องนี้มากขึ้น ถึงจะทำให้เขาตายดีจริง ๆ เช่น ตัวระบบการรักษาเองต้องออกแบบให้คนเข้าถึงสิ่งนี้ได้ง่าย ถ้าเจ็บป่วย เขาต้องเข้าใจเพียงพอที่จะเลือกการดูแลแบบประคับประคองได้ หรือชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยได้ เราอยากให้ชุมชนแบบชุมชนกรุณาเกิดขึ้นเยอะ ๆ

ตอนนี้เทศบาลนครสมุทรสาครบ้านพี่รับเรื่องนี้แล้วในการเตรียมตัวตายของผู้สูงอายุในจังหวัด เพราะฉะนั้น นโยบายไม่ใช่แค่ว่ารัฐบาลเป็นใคร แต่สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในชุมชน หรือแม้กระทั่งนโยบายระดับจังหวัดก็ตาม

ความยากและง่ายในการทำงานเกี่ยวกับสิทธิการตายดีคืออะไร 

ผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายอาจยังไม่ได้เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ ถ้าเขาไม่เคยเผชิญความสูญเสีย เขาอาจจะเข้าใจได้ยาก ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ งานของเราจึงไม่ใช่แค่ไปบอกว่านโยบายนี้ดี ทำเลย แต่ต้องทำให้เขาเห็นว่าดียังไง ส่วนความง่ายอยู่ที่มีคนมากมายเปิดใจรับฟังเรา แต่จะรับฟังจนถึงขั้นออกเป็นนโยบายเลยไหม คงต้องขึ้นอยู่กับว่าเขาเห็นความสำคัญแค่ไหน

นโยบายหนึ่งที่พวกเราพยายามผลักดัน คือ ‘นโยบายลาไปบอกลา’ ถ้าที่บ้านมีคนเจ็บป่วยก็ลาไปดูแลในช่วงระยะสุดท้ายได้ เราคิดว่าหลายคงจะอยากได้สิ่งนี้ เพราะตอนเรา เราเลือกลาออกมาดูแลพ่อ ที่ทำงานก็กลัวว่าการตัดสินใจของเราจะกระทบกับงาน เราจึงไม่อยากให้คนดูแลคนอื่น ๆ ต้องมาเจอเรื่องแบบนี้ 

คุณตั้งปลายทางในการผลักดันสิทธิตายดีไว้อย่างไร 

ในวันนี้อยากให้ทุกคนรู้จัก พ.ร.บ. ที่มีอยู่ให้มากที่สุด เพื่อให้ทุกคนรู้ว่าเขามีสิทธิ์ที่จะตายดี และออกแบบทุกขั้นตอนก่อนจะตายได้เอง ที่สำคัญ อยากทำให้กระบวนการเตรียมตัวตายง่ายขึ้น ทุกคนเข้าถึงได้ 

คุณคิดว่าสมุดเบาใจมีความจำเป็นสำหรับใครบ้าง

ลองจินตนาการว่า หากคุณเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย ถ้าสติสัมปชัญญะยังดี สื่อสารบอกความต้องการได้ แบบนี้ไม่น่าห่วง เพราะคุณสามารถแสดงเจตจำนงในช่วงวาระท้ายกับแพทย์ได้ด้วยตัวเอง แต่กลับกัน ถ้าถึงวันที่คุณไม่รู้สึกตัว คุณคงบอกไม่ได้ด้วยซ้ำว่าจะให้แพทย์ยื้อชีวิตหรือไม่

มีผู้ป่วยระยะท้ายจำนวนมากที่ไม่มีโอกาสสื่อสารกับแพทย์ ส่วนญาติก็อาจจะไม่รู้ว่าคนไข้ต้องการอะไรถ้าไม่เคยคุยกันไว้ก่อน บางคนอาจจะเลือกยื้อไปก่อนหรือไม่ยื้อก็ได้ แต่ถ้าเราทำสมุดเบาใจหรือวางแผนการตายไว้แล้ว ญาติก็ไม่ต้องลำบากใจ ทำตามที่เขียนไว้ได้เลย

เรื่องยื้อชีวิตค่อยข้างถูกหยิบมาพูดถึงบ่อย ๆ เมื่อพูดถึงเรื่องสิทธิการตายดี บางคนอาจมองว่าเลือกยื้อไปก่อน คุณคิดเห็นยังไงบ้าง 

เราไม่เคยบอกนะว่ายื้อหรือไม่ยื้อดีกว่ากัน แต่ละคนคงมีเหตุผลของตัวเอง บางคนรอคนที่รักกลับมาเจอครั้งสุดท้าย หรือต้องจัดการบางอย่างก่อนไป แต่สิ่งที่เราให้ความสำคัญ คือเจ้าตัวต้องเป็นคนตัดสินใจเรื่องนี้ให้ชัดเจน 

เพราะหากใส่ท่อช่วยหายใจไปแล้ววันหนึ่งอยากเอาออก มันมีความไปได้ยาก ทั้งบริบทของสังคมเรา และผู้ที่จะตัดสินใจแทนคุณในช่วงเวลานั้น ฉะนั้น คุยกันตั้งแต่ตอนยังมีสุขภาพดี ๆ ดีกว่าว่าอยากเลือกทางไหน ถ้าป่วยอยู่ในระยะท้ายของชีวิตต้องการให้ใส่ท่อไหม ต้องการยื้อชีวิตหรือเปล่า จริง ๆ สมุดเบาใจไม่ได้ทำแล้วทำเลย เราแก้ไขหรืออัปเดตสิ่งที่เขียนไปแล้วได้ตลอด ที่สำคัญ อย่าลืมสื่อสารกับครอบครัวว่าทำสมุดเบาใจไว้แล้วด้วย

พอยกตัวอย่างเรื่องการยื้อชีวิตก็เห็นเหตุผลเลยว่าทำไมถึงต้องวางแผนการตาย เพื่อลดภาระและความยากลำบากของคนข้างหลัง

ถ้าไม่ได้เตรียมแผนการตายไว้ ไม่ได้บอกญาติว่าอยากให้เลือกแบบไหน ถ้าวันหนึ่งเขาต้องมาตัดสินใจแทนเรา สิ่งที่เกิดขึ้นคือเขาจะรู้สึกผิด เขาจะตั้งคำถามว่าสิ่งที่เลือกดีหรือยัง จะเกิดคำถามกับเขาตลอดไป ฉะนั้น แค่ให้เกิดความรู้สึกเสียใจที่คนรักจากไป แต่ไม่ต้องเสียดาย เพราะได้ทำอย่างดีที่สุดแล้ว ได้ทำตามความต้องการของเจ้าของร่างกายแล้ว 

การวางแผนการตายไม่ได้ทำเพื่อตัวเองอย่างเดียว แต่เป็นของขวัญให้คนที่คุณรักอย่างมหาศาลจริง ๆ 

การวางแผนการตายอาจจะยากตรงที่เราไม่ได้เห็นผลลัพธ์ ไม่รู้ว่าแผนการที่วางไว้ดีหรือไม่ดี

ใช่ เราถึงต้องทำงานกับจิตใจตัวเองด้วย ต้องวางใจในสิ่งที่ตัดสินใจไว้แล้ว จะดีหรือไม่ ไปเป็นตามแผนหรือไม่ เราไม่ได้อยู่รับรู้แล้ว การเตรียมจิตใจเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้เราวางทุกอย่างได้ และพร้อมเดินทางต่อไปได้อย่างสวยงาม

ตอนนี้ความสัมพันธ์กับตัวเองของคุณเป็นอย่างไร

เรายังอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ มีหลายเรื่องที่ยังต้องศึกษา เราไม่ใช้คำว่าตื่นรู้ เพราะอย่างที่บอกเราอาจหลับได้อีกเรื่อย ๆ (หัวเราะ) ในเรื่องความสัมพันธ์กับตัวเอง เราว่าเรามองเห็นตัวเองแล้ว รับรู้การมีอยู่ของตัวเองได้แล้ว แต่ก็ยังอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ที่จะเท่าทันอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง ฝึกฝนที่จะทำความรู้จักความตายให้ดีขึ้นอีก

ขอสารภาพตรงนี้เลยนะว่า เราทำงานกับความตายก็จริง แต่เพราะกลัวตายไง ถึงต้องเผชิญหน้าและเรียนรู้กับมัน ที่เรากลัวเพราะไม่อยากพลัดพรากจากคนที่รัก ทุกวันนี้เรารู้สึกว่าความสัมพันธ์กับคนอื่นดีนะ กับแม่ กับเพื่อน กับคนรอบตัว เราถึงกลัวว่าวันหนึ่งความตายจะพรากมันไป 

ทุกวันนี้เราเริ่มโดยทำให้ทุกวันมันหมดจดที่สุด เคยโทรไปขอโทษเพื่อนสนิทที่เคยทะเลาะกัน ทุกวันนี้ไม่โกรธ ไม่ฝังใจกับใคร และอยู่ด้วยการภาวนาว่า ถ้ามีใครขัดข้องหมองใจต่อฉัน เกิดความรู้สึกใด ๆ มากระทบใจ ก็ขอให้เขาจัดการใจและอารมณ์ของตัวเองให้ได้ ไม่อยากติดค้างสิ่งนี้กับใคร

คุณรู้จักกับความตายเป็นอย่างดี แต่ไม่ได้แปลว่าไม่กลัวตาย 

ใช่ ต่อให้เป็นวันสุดท้ายของเรา เราก็อาจจะกลัวมันอยู่ดี เพราะสิ่งที่ทำให้เรารับมือกับความตายได้ดีที่สุด คือรู้ว่ากลัวมัน แล้วลองหาต่ออีกนิดว่ากลัวเพราะอะไร จะได้เริ่มเห็นทิศทางว่าต้องเดินไปทางไหน ทำอะไรที่ทำให้รับมือกับมันได้ เช่น ถ้าฉันกลัวว่าฉันจะเจ็บปวดทรมานในช่วงท้ายของชีวิต คงต้องคิดแล้วว่าถ้าถึงตอนนั้นจะขอยาระงับปวดขนาดไหน แต่ถ้ากลัวมากจนรับมือไม่ได้ กังวลเรื่องทรัพย์สิน คุณก็ต้องไปทำพินัยกรรม หรือกลัวว่าจะเสียใจ มันเสียใจอยู่แล้ว 

ตอนนี้คุณยังรู้สึกถึงความโดดเดี่ยวไหม

ไม่มีแล้ว หายไปเลย พอเรารู้จักความตาย ย้อนกลับไปคิดว่าที่เคยรู้สึกโดดเดี่ยว เพราะไม่เห็นตัวเอง ไม่ใช่ไม่เห็นคนอื่นนะ แต่ไม่เห็นการมีอยู่บนโลกใบนี้ การทำความรู้จักความตายทำให้เราผ่านกระบวนการมากมาย ได้ทำงานกับข้างในตัวเอง ได้จัดการกับความสัมพันธ์กับตัวเองและกับคนอื่น ได้รู้ว่าเราอยู่บนโลกนี้ไปเพื่ออะไร ที่สำคัญ เราได้รู้จักคนที่เชื่อเหมือนกัน ความโดดเดี่ยวเลยหายไป 

ถ้าความตายของเรามาถึง เราเชื่อว่าคนที่เราไว้วางใจให้เป็นผู้ช่วยในกระบวนการตายของเรา เขาจะอยู่ตรงนั้นไม่ด้วยทางกายภาพ ก็ทางจิตวิญญาณ ทำให้ช่วงเวลาที่ยังมีสติรับรู้ก่อนจากไป กระบวนการเปลี่ยนผ่านช่วงเวลานั้นจะเป็นปรากฏการณ์ที่งดงาม เราจะไม่โดดเดี่ยวแน่นอน

Movie Time 

เนื่องจากเรามีความเชื่อว่า สื่อบันเทิงโดยเฉพาะภาพยนตร์ช่วยให้เข้าใจเรื่องต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น เราเลยชวนกอเตยมาแนะนำหนังและซีรีส์ที่ทำให้คนดูเข้าใจความตายมากขึ้น เธอแนะนำมาให้ 4 เรื่องด้วยกัน

  1. Departures ภาพยนตร์เล่าเรื่องราวสัปเหร่อที่ญี่ปุ่น กอเตยบอกว่า นอกจากรู้ว่าสัปเหร่อญี่ปุ่นเป็นอย่างไร การดูหนังเรื่องนี้ยังเข้าใจคุณค่าและความหมายของชีวิต
  2. Move to Heaven ซีรีส์จากประเทศเกาหลีใต้ ถ่ายทอดชีวิตของอา-หลานที่ประกอบอาชีพเป็นนักทำความสะอาดบ้านคนตาย ในแต่ละตอนเล่าชีวิตเจ้าของบ้านก่อนเสียชีวิต ซีรีส์เรื่องนี้ทำให้กอเตยกลับมาคิดเรื่องการจัดข้าวของของตัวเองก่อนจากไป หรือ Death Cleaning ซึ่งเป็นอีกเรื่องสำคัญในการเตรียมตัวตาย
  3. Plan 75 ภาพยนตร์จากญี่ปุ่น เล่าเกี่ยวกับโลกอนาคตที่เกิดปัญหาประชากรล้น จึงต้องหาวิธีแก้ไข หนึ่งในนั้น คือรัฐต้องออกนโยบายให้คนอายุ 75 ปีขึ้นไปลาจากโลกนี้ได้ กอเตยบอกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เธอเห็นคุณค่าที่แต่ละคนมี และวันหนึ่งมันอาจเป็นตัวชี้วัดว่าเราควรหรือไม่ควรมีชีวิตอยู่ต่อไป 
  4. The Last 10 Years ภาพยนตร์จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกอเตยบอกว่าเนื้อหาในเรื่องสัมพันธ์กับงานที่เธอทำอยู่มาก ๆ ตัวเอกของเรื่องรู้ว่าตัวเองมีชีวิตอยู่ได้ 10 ปี เรื่องราวในภาพยนตร์จึงนำเสนอว่าตัวเอกจัดการกับชีวิตอย่างไรก่อนจะจากไป การดูหนังเรื่องนี้เลยทำให้เข้าใจความหมายและความสำคัญของการเตรียมตัวตายจริง ๆ

Writer

เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

ชีวิตขับเคลื่อนด้วยแสงแดดและหวานร้อย

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล