Cloud x Sustainable Development Goals

Sustainable Development Goals หรือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คือข้อตกลงระหว่างองค์การสหประชาชาติ (UN) กับประเทศต่างๆ ว่าจะร่วมมือสร้างโลกให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกันใน 17 เป้าหมาย

กลุ่มอาคารกลางท้องทุ่งเบื้องหน้าคือ ‘Pimali Hospitality Training Center’ ที่นี่คือศูนย์ฝึกวิชาชีพการโรงแรมและงานบริการให้เด็กกำพร้าและเด็กด้อยโอกาส จังหวัดหนองคาย ที่เปิดทำการมากว่า 3 ปีแล้ว

เด็กๆ ส่วนใหญ่ที่เข้าเรียนที่นี่มาจากครอบครัวยากไร้ในชนบทของภาคอีสาน และเด็กกำพร้าในความดูแลของมูลนิธิต่างๆ เพราะที่นี่เรียนฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย โดยมีจุดมุ่งหมายหลักคือมอบความมั่นคงด้าน Career Path ให้เด็กที่ไม่มีโอกาสเข้าศึกษาระดับมหาวิทยาลัยไปได้ไกลว่าแรงงานอัตราจ้างขั้นต่ำ เพราะบ่อยครั้งที่พวกเขามักถูกนายจ้างใช้ช่องว่างทางกฎหมายเอาเปรียบอัตราค่าจ้าง หรือถูกหลอกเข้าสู่อุตสาหกรรมทางเพศ

คอลัมน์ Sustainable Development Goals พาคุณไปทำความรู้จัก มะลิ หรือ Stéphanie des Arts-Loup ลูกครึ่งไทย-สวิตเซอร์แลนด์ ผู้เกิด เติบโต และใช้ชีวิตอยู่ที่ยุโรปมากกว่าครึ่งชีวิต

มะลิ หรือ Stéphanie des Arts-Loup

จนวันหนึ่งเธอมีโอกาสได้มาเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสที่ประเทศแม่หลังที่ 2 ได้เห็นความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาและอาชีพ และรู้ตัวทันทีว่าตัวตนและจิตวิญญาณของเธออยู่ที่ประเทศไทย

เธอเปิด Pimali Foundation เพื่อระดมทุน และ 7 ปีต่อมาจึงย้ายกลับมาอยู่ที่นี่ถาวร พร้อมเปิดศูนย์ฝึกวิชาชีพแห่งนี้ ด้วยความตั้งใจอย่างเต็มเปี่ยมว่ามันจะเป็นฟันเฟืองชิ้นเล็กที่หมุนช้าๆ อย่างมั่นคง และสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาในสังคมให้ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน

เพื่อผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 4 Quality Education ภายใน พ.ศ. 2573 สร้างหลักประกันว่าหญิงและชายทุกคนจะเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมในระดับเทคนิคศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา รวมถึงมหาวิทยาลัย ในราคาที่จ่ายได้ เพิ่มจำนวนเยาวชนและผู้ใหญ่ที่มีทักษะที่เป็นประโยชน์ เช่นทักษะทางการช่างและทักษะทางวิชาชีพสำหรับการจ้างงาน อาชีพที่มีคุณค่าและการเป็นผู้ประกอบการ รวมถึงยุติความเหลื่อมล้ำทางเพศด้านการศึกษา และสร้างหลักประกันว่ากลุ่มเปราะบางเข้าถึงการศึกษาและการฝึกอาชีพในทุกระดับได้

หากคุณเคยเป็นผู้รับ และได้รับโอกาสมาอย่างเพียงพอแล้วในชีวิต ลองเปลี่ยนจากการผู้รับมาเป็นผู้ให้อย่างมะลิดู ไม่จำเป็นต้องเป็นข้าวของชิ้นใหญ่โต หรือเป็นผู้มั่งคั่งเท่านั้นจึงจะให้ได้

ลองสำรวจตัวเองว่าคุณมีความรู้ความสามารถอะไรที่จะมอบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนอื่นๆ ให้ดีขึ้น เช่น อ่านนิทานให้ฟัง ร้องเพลงให้ฟัง สอนภาษาอังกฤษ สอนวาดรูป เพราะทุกคนคือฟันเฟือง และสังคมจะขับเคลื่อนไปอย่างยั่งยืนได้เมื่อฟันเฟืองหมุนไปพร้อมๆ กัน

01

อาวุธที่ทรงพลัง

“ฉันมาประเทศไทยครั้งแรกตอน พ.ศ. 2552 ตอนนั้นรู้แค่ว่าอยากช่วยเหลือเด็กกำพร้าและเด็กด้อยโอกาส ฉันจึงกูเกิลดูว่ามีที่ไหนในประเทศไทยที่จะไปเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือเด็กๆ ได้บ้าง และได้พบกับบ้านซารนิลลี่ เฮาส์ จังหวัดหนองคาย”

ซารนิลลี่ เฮาส์ ก่อตั้งใน พ.ศ. 2509 เป็นบ้านสงเคราะห์สำหรับเด็กที่ถูกทอดทิ้ง หรือได้รับผลกระทบจากครอบครัวผู้ติดเชื้อเอชไอวี เพื่อให้เด็กได้รับการเลี้ยงดูที่ดี และพัฒนาศักยภาพของตัวเองเพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต

“หลังจากเป็นอาสาสมัครอยู่นานสามสัปดาห์ ฉันก็ต้องกลับไปทำงานที่สวิตเซอร์แลนด์ หลังจากนั้นทุกครั้งที่มีวันหยุด ฉันจะกลับมาที่หนองคาย หลายปีที่เป็นอาสาสมัครดูแลเด็กๆ ฉันช่วยระดมเงินทุนสนับสนุนมูลนิธิจากครอบครัวและเพื่อนๆ ที่ยุโรป และทุกครั้งที่ฉันกลับมา ฉันจะนำของขวัญเล็กๆ น้อยๆ อย่างช็อกโกแลตมาฝากพวกเขา

“ฉันเห็นความยากลำบากในการหางาน เนื่องจากปัจจัยหลายๆ อย่าง เพื่อหาเงินหล่อเลี้ยงชีพของเด็กกำพร้าและเด็กด้อยโอกาสหลังจบชั้นมัธยมปลาย ทั้งที่พวกเขามีความตั้งใจ จนถึงวันหนึ่งฉันก็ตระหนักว่าเงินและของขวัญพวกนั้น มันช่วยพวกเขาในระยะยาวไม่ได้เลย ฉันจึงเริ่มมีความคิดที่จะทำอะไรบางอย่างเพื่อแก้ปัญหาในจุดนี้” มะลิเล่าย้อนความหลัง 

มะลิ หรือ Stéphanie des Arts-Loup

“ฉันหยุดคิดเรื่องนี้ไม่ได้เลย มันวนเวียนอยู่ในหัวฉันตลอดเวลาว่าจะทำอย่างไรให้เด็กๆ มีงานและมีชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน จนมีอยู่คืนหนึ่ง ฉันตื่นขึ้นกลางดึกที่สวิตเซอร์แลนด์ ปลุกสามี (Alexandre des Arts ผู้ร่วมก่อตั้ง) และบอกเขาว่า ฉันรู้แล้วว่าชีวิตต่อจากนี้ฉันต้องการทำอะไร ฉันจะเปิดศูนย์ฝึกวิชาชีพการโรงแรมและงานบริการให้เด็กกำพร้าและเด็กด้อยโอกาส”

เพราะอาวุธที่ทรงพลังที่สุดที่จะมอบให้เด็กๆ ด้อยโอกาสไว้ใช้ดูแลตัวเองในระยะยาวได้ คือความรู้และทักษะอาชีพ

02

การเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง

เมื่อมีความตั้งใจจะเปิดศูนย์ฝึกวิชาชีพเพื่อเด็กกำพร้าและเด็กด้อยโอกาส นั่นหมายถึงมะลิและครอบครัวจำเป็นต้องย้ายมาลงหลักปักฐานอย่างถาวรที่ประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะทั้งเธอและสามีต่างเติบโตและคุ้นเคยกับวัฒนธรรมของอีกซีกโลก

“เราวางแผนอย่างค่อยเป็นค่อยไป ยังคงทำงานประจำอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ และเริ่มมาเซอร์เวย์รูปแบบการทำงานบริการโรงแรม รวมถึงหาพาร์ตเนอร์ในประเทศไทย” มะลิเคยมีประสบการณ์ทำงานเป็นทีมผู้บริหารในโรงแรมระดับห้าดาวที่สวิตเซอร์แลนด์ 

“ด้วยตำแหน่งงาน ฉันจำเป็นต้องรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับงานบริการแขก จะรู้ว่าลูกจ้างทำงานดีน่าพอใจหรือไม่ ฉันเองก็ต้องรู้ด้วยว่างานแต่ละอย่างทำยังไง ปูเตียงยังไง ทำความสะอาดยังไง ฉันเป็นเจ้านายประเภทที่ต้องทำงานไปพร้อมๆ กับลูกจ้าง ไม่ใช่แค่ชี้นิ้วสั่งอย่างเดียว” มะลิเล่าพร้อมรอยยิ้ม

มะลิ หรือ Stéphanie des Arts-Loup

ในขณะที่ยังทำงานประจำ มะลิก็เริ่มระดมเงินทุนสำหรับศูนย์ฝึกวิชาชีพของเธอ

“ตอนนั้นฉันหอบกระดาษหนึ่งแผ่นที่บรรจุความฝันและความตั้งใจของฉันเอาไว้ แล้วไปเล่าให้พวกเขาฟังว่าฉันไปเห็นอะไรมา ความตั้งใจของฉันจะช่วยแก้ไขสิ่งเหล่านั้นได้ยังไงบ้างและเงินระดมทุนจะถูกนำไปใช้ทำอะไรบ้าง

“เริ่มจากครอบครัวและเพื่อนๆ สู่การจัดงาน Charity Night ซึ่งคนที่สวิตเซอร์แลนด์ให้ความสนใจเยอะมาก และก่อตั้ง Pimali Foundation ขึ้น เราระดมเงินทุนอยู่เป็นเวลาสองสามปี จนในที่สุดเมื่อได้งบประมาณแปดสิบเปอร์เซ็นต์ของค่าวัสดุและค่าก่อสร้างซึ่งคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในหนึ่งปี ฉันและครอบครัวก็เห็นตรงกันว่าถึงเวลาย้ายบ้านไปอยู่ประเทศไทยแล้ว

“ชีวิตของครอบครัวเรากำลังจะเปลี่ยนไป และเราหวังว่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงดีๆ ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยได้บ้างไม่มากก็น้อย” มะลิเอ่ยด้วยแววตามุ่งมั่น

03

โอกาสที่ไปได้ไกลกว่าแรงงานอัตราจ้างขั้นต่ำ

5 ปีเต็มหลังจากที่มะลิตัดสินใจว่าจะเปิดศูนย์ฝึกวิชาชีพการโรงแรมและงานบริการให้เด็กกำพร้าและเด็กด้อยโอกาส ‘Pimali Hospitality Training Center’ ก็เปิดทำการที่กลางทุ่งนาไม่ไกลจากตัวเมืองหนองคายและแม่น้ำโขง

ทำไมจึงเลือกตั้งศูนย์ที่นี่?

Pimali โรงเรียนกลางทุ่งที่สอนทักษะงานบริการให้เด็กด้อยโอกาสไปได้ไกลกว่าแรงงานอัตราจ้างขั้นต่ำ

นอกจากมะลิจะคุ้นเคยกับจังหวัดหนองคาย เพราะเคยมาเป็นอาสาสมัครที่นี่แล้ว หนองคายยังตั้งอยู่ในภูมิภาคที่มีความยากจนเฉลี่ยมากที่สุดในประเทศไทย ที่สำคัญคือ บริเวณนี้มีโรงเรียนอาชีวะหรือสถานที่ฝึกสอนอาชีพสำหรับเด็กผู้หญิงน้อยมาก 

มะลิอธิบายว่า “เมื่อเรียนจบการศึกษาภาคบังคับ (ชั้นมัธยมศึกษาปีที่หก) เด็กๆ ด้อยโอกาสและยากจนส่วนใหญ่จะเริ่มทำงานเลย เพราะไม่มีทุนทรัพย์ในการศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย โดยงานส่วนใหญ่เป็นงานในท้องไร่ท้องนา และมีจำนวนไม่น้อยที่มุ่งหน้าเข้าเมืองใหญ่ เพื่อหางานอัตราจ้างขั้นต่ำตามโรงงาน แต่เนื่องจากขาดคุณวุฒิทางการศึกษา ทำให้บ่อยครั้งพวกเขาถูกนายจ้างใช้ช่องว่างทางกฎหมายเอาเปรียบอัตราค่าจ้าง หรือถูกหลอกเข้าสู่อุตสาหกรรมทางเพศ”

Pimali โรงเรียนกลางทุ่งที่สอนทักษะงานบริการให้เด็กด้อยโอกาสไปได้ไกลกว่าแรงงานอัตราจ้างขั้นต่ำ

มะลิมองว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทยนั้นเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้มีวุฒิการศึกษาและทักษะภาษาอังกฤษมีโอกาสถูกจ้างงานสูง อย่างเช่นงานบริการในโรงแรมที่ยังเติบโตไปสู่ตำแหน่งอื่นๆ ได้หากมีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญและความมุมานะ

Pimali Foundation จึงมีเป้าหมายสูงสุดในการมอบความมั่นคงของ Career Path ด้านการโรงแรมและงานบริการ ที่จะทำให้เด็กกำพร้าและเด็กด้อยโอกาสที่ไม่มีโอกาสเข้าศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ไปได้ไกลว่าแรงงานอัตราจ้างขั้นต่ำ เพื่อเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ซึ่งดูแลตัวเองได้อย่างยั่งยืน

04

ความมั่นคงทางรายได้ที่ไม่เคยได้รับ

ที่นี่เปิดทำการมา 3 ปีเต็ม มีเด็กๆ เรียนจบหลักสูตรไปแล้ว 60 คน

“ตอนเริ่มต้นแบตช์แรกเรามีนักเรียนแค่หกคน จากนั้นจำนวนนักเรียนก็เพิ่มขึ้นทุกแบตช์ เรารับเด็กๆ มาเข้าหลักสูตรได้ครั้งละไม่มาก เพื่อให้แน่ใจว่าเราดูแลและให้เวลาพวกเขาได้เต็มที่ และหลังจากจบหลักสูตร ทุกคนจะต้องมีสถานที่ฝึกงานดีๆ เพราะการฝึกงานที่ดีจะนำไปสู่โอกาสที่ดีในการได้รับเข้าทำงานในอนาคต” 

Pimali โรงเรียนกลางทุ่งที่สอนทักษะงานบริการให้เด็กด้อยโอกาสไปได้ไกลกว่าแรงงานอัตราจ้างขั้นต่ำ

โดยเด็กๆ ส่วนใหญ่ที่มาเข้าเรียนมาจากครอบครัวยากไร้ในชนบทของภาคอีสาน และเด็กกำพร้าในความดูแลของมูลนิธิต่างๆ เช่นซารนิลลี่ เฮาส์ และมูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ซึ่งทำงานช่วยเหลือเด็กกำพร้าที่สูญเสียพ่อแม่ ไร้ญาติพี่น้อง หรือครอบครัวดั้งเดิมเลี้ยงดูไม่ได้ ในรูปแบบครอบครัวทดแทนระยะยาว 

“สองความท้าทายหลักคือนักเรียนแต่ละคนมีพื้นฐานความรู้ที่แตกต่างกัน เราสอนเด็กๆ ด้วยการไม่แบ่งลำดับว่าใครเก่งกว่าใคร เพราะเชื่อว่าทุกคนตั้งใจและพัฒนาตัวเองได้ ที่ผ่านมา เรามีทั้งเด็กๆ ที่อ่านเขียนภาษาไทยไม่ได้ ไปจนถึงเด็กเรียนดีที่ไม่ได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยเพราะไม่มีเงินสำหรับจ่ายค่าเทอม

Pimali โรงเรียนกลางทุ่งที่สอนทักษะงานบริการให้เด็กด้อยโอกาสไปได้ไกลกว่าแรงงานอัตราจ้างขั้นต่ำ

“เด็กทั้งสองประเภท ถ้ามาจากครอบครัวที่ยากจน ทางบ้านและตัวพวกเขาเองอยากให้เข้าทำงานเร็วที่สุด เพื่อหาเงินไปจุนเจือครอบครัว หลักสูตรงานบริการในโรงแรมสิบเอ็ดเดือนของเราถือว่านานไปสำหรับพ่อแม่เด็กบางคน เพราะเขามองว่าเวลาแต่ละเดือนที่เสียให้การศึกษา ทำให้ลูกของเขาเสียโอกาสที่จะทำมาหากิน

“เราต้องค่อยๆ อธิบายให้เขาเข้าใจว่า การส่งลูกเข้าไปผจญในเมืองหลวงโดยไม่มีวุฒิใดๆ รับรองนั้น งานที่หาได้เป็นแรงงานอัตราจ้างขั้นต่ำ ซึ่งเติบโตและสร้าง Career Path ไม่ได้ บางคนเข้ากรุงเทพฯ มาทำงานในตลาดและตามท้องถนน ได้เงินเดือนละสามถึงห้าพันบาทก็ต้องส่งให้ที่บ้านอีก 

Pimali โรงเรียนกลางทุ่งที่สอนทักษะงานบริการให้เด็กด้อยโอกาสไปได้ไกลกว่าแรงงานอัตราจ้างขั้นต่ำ

“มันเทียบไม่ได้เลยกับการที่เด็กๆ จะมีทักษะ มีความสามารถเฉพาะทาง จนมีงานประจำและสวัสดิการซึ่งคุ้มครองชีวิต ป่วยไข้ก็เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ หากโดนเชิญให้ออกจากงานก็ได้รับเงินชดเชย เป็นความมั่นคงทางรายได้ที่พวกเขาอาจนึกภาพไม่ออก เราก็ต้องค่อยๆ สร้างความเข้าใจให้เขาเพราะเราอยากช่วยให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน  และเราเข้าใจว่ามันต้องใช้เวลา” 

มะลิยิ้มพร้อมเล่าต่อว่า ครอบครัวของเด็กๆ เริ่มเข้าใจหลังนักเรียนแบตช์แรกๆ จบหลักสูตรไปฝึกงาน และได้งานประจำทำที่โรงแรมและรีสอร์ตตามจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย ศิษย์เก่าของ Pimali Hospitality Training Center เริ่มส่งเงินกลับมา มีงานที่มั่นคงทำและมีชีวิตที่ดีขึ้น

05

โรงเรียนฝึกทักษะกลางท้องทุ่ง

  Pimali Hospitality Training Center คือกลุ่มอาคารหน้าตาเรียบง่าย มีกลิ่นอายของวัฒนธรรมอีสานประดับประดาอยู่ตามมุมต่างๆ ประกอบไปด้วยห้องเรียนทักษะงานบริการประเภทต่างๆ

หลังแรกเป็นอาคารทำการที่เชื่อมกับห้องอาหาร ห้องครัวเต็มรูปแบบ และคาเฟ่ ถัดไปไม่ไกลคือบังกะโลรับรองแขกจำนวน 4 หลัง ภายในบรรจุอุปกรณ์อำนวยความสะดวกได้มาตรฐานสวยงามครบครัน ล้อมรอบไปด้วยต้นไม้นานาชนิด พื้นที่เกษตรกรรม นาข้าว และพื้นที่บำบัดของเสียประเภทต่างๆ

Pimali โรงเรียนกลางทุ่งที่สอนทักษะงานบริการให้เด็กด้อยโอกาสไปได้ไกลกว่าแรงงานอัตราจ้างขั้นต่ำ
Pimali โรงเรียนกลางทุ่งที่สอนทักษะงานบริการให้เด็กด้อยโอกาสไปได้ไกลกว่าแรงงานอัตราจ้างขั้นต่ำ

หลักสูตรของที่นี่เป็นการเรียนฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายตลอด 11 เดือน นักเรียนแต่ละคนจะได้เรียนทักษะงานบริการ ตั้งแต่พื้นฐาน โดยลักษณะการเรียนการสอนคือ ตอนเช้าจะลงมือภาคปฏิบัติ และตอนบ่ายเข้าคลาสภาคทฤษฎี

“เราไม่เก็บค่าเล่าเรียน มีหอพักให้อยู่ตลอดหลักสูตร อย่างเดียวที่ครอบครัวหรือมูลนิธิของนักเรียนต้องเสียคือ Commitment Fee จำนวนห้าร้อยบาทต่อเดือน

“เงินก้อนนี้เราคืนให้เด็กๆ ทุกบาททุกสตางค์เมื่อจบหลักสูตร ถือเป็นเงินก้นถุงให้เขาไว้ใช้จ่าย รวมถึงเป็นค่าเดินทางตอนเขาไปฝึกงานจริงที่โรงแรม มีเด็กบางคนที่ยากจนมากและจ่าย Commitment Fee ไม่ได้ เราก็ให้เขาเก็บหอมรอมริบจากทิปที่ได้รับเวลามีแขกมาเข้าพักที่ศูนย์ เราพยายามสอนให้เด็กๆ มีความรับผิดชอบและรู้จักใช้จ่ายเงิน”

Pimali โรงเรียนกลางทุ่งที่สอนทักษะงานบริการให้เด็กด้อยโอกาสไปได้ไกลกว่าแรงงานอัตราจ้างขั้นต่ำ

Pimali Hospitality Training Center เรียนด้วยการปฏิบัติจริง โดยเน้น 3 ทักษะงานบริการคือ Food & Beverage, Housekeeping และ English & Life Skills 

ทักษะแรกคือ Food & Beverage หรืองานบริการในร้านอาหาร โดยเริ่มจากการสอนทำ Basic Drink อย่างลาเต้ คาปูชิโน และค็อกเทล การทำอาหารประเภทต่างๆ รวมถึงสอนพื้นฐาน Waitress ทั้งการจัดโต๊ะดินเนอร์ การวางช้อนส้อม แก้วน้ำ แก้วไวน์ ไปจนถึงสอนการ Pairing อาหารแต่ละชนิด เช่นไวน์แต่ละชนิดไหนควรกินกับอะไร และเรียนรู้การอ่านเมนู การเขียนเมนู การอธิบายเมนูอาหารแต่ละชนิดให้แขกทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติฟัง

Pimali โรงเรียนกลางทุ่งที่สอนทักษะงานบริการให้เด็กด้อยโอกาสไปได้ไกลกว่าแรงงานอัตราจ้างขั้นต่ำ

“ห้องอาหารของเราเสิร์ฟอาหารไทย อาหารอีสาน และอาหารตะวันตกบางชนิด โดยเสิร์ฟทั้งอาหารเช้า อาหารเที่ยง และอาหารค่ำในวันธรรมดา ในขณะที่วันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดเราจะเปิดเมื่อมี Special Request เท่านั้น

Pimali โรงเรียนกลางทุ่งที่สอนทักษะงานบริการให้เด็กด้อยโอกาสไปได้ไกลกว่าแรงงานอัตราจ้างขั้นต่ำ
Pimali โรงเรียนกลางทุ่งที่สอนทักษะงานบริการให้เด็กด้อยโอกาสไปได้ไกลกว่าแรงงานอัตราจ้างขั้นต่ำ
Pimali โรงเรียนกลางทุ่งที่สอนทักษะงานบริการให้เด็กด้อยโอกาสไปได้ไกลกว่าแรงงานอัตราจ้างขั้นต่ำ

“ครัวของเราเป็น Full Kitchen มีทั้งเตาอบและอุปกรณ์มากมายที่เด็กๆ จะต้องเรียนรู้ทั้งหมด อย่างน้อยเวลาเขาได้ไปเห็นของจริงในที่ทำงาน จะได้ไม่ตกใจทำอะไรไม่ถูก เพราะคุ้นเคยอยู่แล้ว แม้กระทั่งอุปกรณ์ทำความสะอาด น้ำยาต่างๆ เราก็ใช้มาตรฐานเดียวกับโรงแรม เพราะด้วยระยะเวลาสิบเอ็ดเดือนของหลักสูตรนั้นถือว่าไม่มาก เราเลยพยายามช่วยให้เด็กๆ เคยชินและรู้วิธีใช้ข้าวของในโรงแรมเหล่านั้นให้มากที่สุด” มะลิอธิบายอย่างกระตือรือร้น

ทักษะที่ 2 คือ Housekeeping โดยแบ่งเป็นอีก 4 แผนกย่อย คือการดูแลพื้นที่สาธารณะ การดูแลห้องพัก Laundry และ Front Reception โดยเริ่มตั้งแต่เรียนวิธีจองห้องพัก วิธีต้อนรับแขก ซึ่งถือเป็นด่านแรกในการเจอลูกค้า  

“บังกะโลสี่ห้อง ขนาดสี่สิบแปดตารางเมตร เราเปิดให้คนทั่วไปเข้าพักได้ เพราะอยากให้นักเรียนคุ้นเคยและไม่ประหม่าเวลาต้องเจอแขกจริง นอกจากนี้ยังเป็นการเช็กฟีดแบ็กด้วยว่า นักเรียนให้บริการแขกได้ดีตามมาตรฐานหรือไม่ ตอนนี้แขกส่วนใหญ่ที่มาพักคือสปอนเซอร์ที่สนับสนุน Pimali Foundation ทั้งจากเมืองไทยและต่างประเทศ แต่ถ้าใครสนใจก็ติดต่อเพื่อมาเข้าพักได้ค่ะ”

Pimali โรงเรียนกลางทุ่งที่สอนทักษะงานบริการให้เด็กด้อยโอกาสไปได้ไกลกว่าแรงงานอัตราจ้างขั้นต่ำ

มะลิบอกว่า การเรียนทักษะเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องใช้ในโรงแรมเสมอไป ถ้าถึงวันหนึ่งเด็กๆ มีเงินทุนมากพอ อยากจะเปิดร้านอาหารหรือคาเฟ่เล็กๆ ของตัวเองก็ทำได้เพราะมีทักษะการชงเครื่องดื่ม การปรุงอาหาร ติดตัวอยู่แล้ว ที่สำคัญคือ ต้องรู้ว่าจะประยุกต์ใช้ทักษะเหล่านั้นกับงานที่แตกต่างได้อย่างไร

ทักษะที่ 3 คือ  English & Life Skills

“นอกจากสอนทักษะงานแล้ว เราก็ต้องสอนทักษะชีวิตให้เด็กๆ ไปพร้อมกัน Mindset แรกที่เราต้องปลูกฝังให้พวกเขาเลย คือความสะอาดและสุขอนามัย ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำงานบริการ โดยเฉพาะการดูแลห้องพัก การเป็นแม่บ้านในโรงแรมมันมีอะไรมากกว่าที่หลายคนเข้าใจ ทั้งเรื่องเทคนิคในการทำความสะอาด ความเร็ว ความแม่นยำ เด็กๆ ต้องรู้ว่าผ้าแต่ละผืนใช้ทำความสะอาดวัสดุต่างชนิดกันอย่างไร”

มะลิบอกว่า ในหลักสูตรมีการทัศนศึกษาที่พาเด็กๆ เข้ากรุงเทพฯ ไปดูระบบการทำงานในโรงแรมใหญ่ๆ

“สิบเอ็ดเดือนที่อยู่กับเรา เด็กๆ ได้เรียนรู้และปฏิบัติงานในบังกะโลสี่ห้อง แต่พวกเขาส่วนใหญ่ไม่เคยไปเมืองใหญ่ๆ มาก่อน ไม่เคยเห็นโรงแรมระดับห้าดาวที่มีห้องพักเป็นร้อยเป็นพันห้อง เราจึงต้องพาเขาไปสัมผัสตรงนี้

มะลิ หรือ Stéphanie des Arts-Loup

“เพื่อให้เขารู้ว่า ตอนจบหลักสูตรไป ตัวเขาอยากไปฝึกงานและทำงานในสภาพแวดล้อมแบบไหน อยากทำงานในเมืองใหญ่ที่มีห้องพักเยอะๆ หรือไปทำงานในรีสอร์ตเล็กๆ ที่มีห้องพักไม่กี่ห้อง สิ่งที่เราพยายามบอกเขาคือ ถ้าคุณมีทักษะ ชีวิตนั้นมีโอกาสและทางเลือกเสมอ” มะลิเล่ายิ้มๆ

อีกอย่างที่สำคัญมากคือ ทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ มะลิอธิบายว่า ด้วยระยะเวลาที่จำกัดของหลักสูตร ที่นี่จึงเน้นสอนบทสนทนาพื้นฐานเกี่ยวกับงานบริการ ซึ่งง่ายต่อการนำไปใช้ในชีวิตการทำงาน มากกว่าเริ่มต้นเรียนไวยากรณ์ใหม่ตั้งแต่ต้น 

“เด็กๆ อาจจะยังพูดประโยคยากๆ ไม่ได้จากการเรียนด้วยเวลาเท่านี้ แต่เราเชื่อมั่นว่าพวกเขาสื่อสารและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จริงๆ เรื่องการใช้ภาษามันสอดคล้องกับเรื่องความมั่นใจ ถ้าเขามั่นใจ เขาจะกล้าพูด กล้าเรียนรู้ และกล้าบอกแขกต่างชาติว่าเขาไม่เข้าใจ

“จากประสบการณ์สอนนักเรียนไทยมาหลายแบตช์ บางทีเวลาเขาไม่เข้าใจว่าประโยคภาษาอังกฤษที่เรากำลังพูดแปลว่าอะไร เขาก็จะ Yes ไว้ก่อน จากนั้นก็ทำผิดคำสั่งเพราะไม่เข้าใจ 

“เรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นเสมอในภัตตาคารหรือโรงแรมเพราะมีแขกหลายเชื้อชาติ สำเนียงต่างกันย่อมฟังยากเป็นธรรมดา ดังนั้น ถ้าไม่เข้าใจต้องกล้าที่จะถาม ‘Could you repeat your order slowly please?’ หรือถ้ายังไม่เข้าใจอาจจะเรียกหัวหน้างานมาช่วยรับออร์เดอร์ ‘May I ask my supervisor to come?’ ทั้งหมดนี้คือวิธีรับมือกับสถานการณ์เฉพาะหน้าที่นักเรียนต้องเรียนรู้” มะลิอธิบาย

06

ยั่งยืนยาวนาน

Pimali Foundation เชื่อเรื่องความยั่งยืน ที่นี่ตั้งใจจ้างงานคนในพื้นที่ให้มากที่สุด ตั้งแต่ผู้จัดการศูนย์ไปจนถึงเชฟที่ประจำการอยู่ที่ห้องอาหารของ Pimali Hospitality Training Center

มะลิบอกว่า เธออยากให้ศูนย์ฝึกวิชาชีพเพื่อเด็กกำพร้าและเด็กด้อยโอกาสแห่งนี้คงอยู่ต่อไปตราบที่ปัญหาความเท่าเทียมเรื่องการศึกษาและจ้างงานยังคงมีอยู่ในสังคม 

ความยั่งยืนอีกประการคือ ที่นี่พยายามใช้พลังงานทดแทน อย่างพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อเปลี่ยนเป็นไฟฟ้าและน้ำอุ่นที่ใช้ในศูนย์ นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่กักเก็บน้ำฝนในรูปแบบแท็งก์และบ่อน้ำ เพื่อใช้เป็นน้ำชะล้างทำความสะอาดและรดน้ำต้นไม้ รวมถึงมีการทำปุ๋ยหมักชีวภาพจากเศษอาหารในครัว เพื่อนำไปใช้ในแปลงเกษตรออร์แกนิก

“นักเรียนแต่ละคนมีแปลงผักเป็นของตัวเอง ซึ่งเขาต้องรับผิดชอบตลอดสิบเอ็ดเดือนของหลักสูตร ใครอยากปลูกอะไรก็ได้ ให้นำเสนอไอเดียมา จะเป็นสมุนไพรพื้นบ้านหรือพืชผักสวนครัวได้หมด ผักออร์แกนิกและข้าวจากนาข้าวออร์แกนิกของเราจะนำไปใช้ในครัวของศูนย์ โดยวัตถุดิบบางชนิดแทบไม่ต้องซื้อเลยตลอดทั้งปี” มะลิกล่าวทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้ม

ที่ผ่านมา มีอาสาสมัครจากทั่วโลกมาแลกเปลี่ยนความรู้กันใน Pimali Hospitality Training Center อย่างที่บอกไปในตอนต้นว่า ถ้าคุณเคยได้รับโอกาสมาอย่างเพียงพอแล้ว ลองเปลี่ยนมาเป็นผู้ให้อย่างที่มะลิเดินทางข้ามทวีปมาเปิดศูนย์ฝึกวิชาชีพ เพื่อมอบความรู้กับคนที่ด้อยโอกาสกว่าในสังคมดู แล้วคุณจะค้นพบว่าชีวิตนั้นมีคุณค่าได้มากกว่าแค่ที่ตัวเอง

Pimali Foundation กับการผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 4 Quality Education จะดำเนินต่อไปตามปณิธานของมะลิ โดยเป้าหมายที่ใหญ่กว่านั้นในอนาคต คือการช่วยลดความยากจนของผู้คนในภาคอีสาน ซึ่งถือเป็นการผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 1 No Poverty อย่างยั่งยืน

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Facebook : Pimali Association

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน

Photographer

Avatar

รักอิสระ มุกดาม่วง

เป็นคนจังหวัดอุดรธานี-ถิ่นภาคอีสาน โดยกำเนิด รักอิสระเคยดร็อปเรียนตอนมัธยมแล้วไปเป็นเด็กล้างจานที่ร้านอาหารไทยในอเมริกา 1 ปี ชอบเดินทางท่องเที่ยว ถ่ายรูป และสนใจภาพเชิงสารคดีเป็นพิเศษ