ท่ามกลางขุนเขาที่เงียบสงบ โอบล้อมไปด้วยแมกไม้อันเขียวขจี มีหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อว่า ‘หมู่บ้านอิต่อง’ ซ่อนตัวอยู่อย่างกลมกลืนไปกับผืนป่ากว้าง ในอาณาบริเวณของตำบลปิล็อก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ติดกับพรมแดนระหว่างประเทศไทยและสหภาพเมียนมา

ที่นี่ประกอบไปด้วยคนหลากหลายเชื้อชาติทั้งไทย ลาว พม่า มอญ กะเหรี่ยง และทวาย ที่อาศัยอยู่ร่วมกันมาเนิ่นนาน

คอลัมน์ Public Space ครั้งนี้พิเศษ เพราะเราไม่ได้พาคุณไปเยี่ยมชมพื้นที่สาธารณะเท่ๆ ดีไซน์ล้ำในเมืองอย่างที่เคยเป็นมา แต่เราจะพาคุณเข้าป่า ไปสำรวจ PILOK Community Space อาคารหลังใหม่เอี่ยมของชาวหมู่บ้านอิต่อง ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็น Public Space ของชุมชนกลางป่าเขาแห่งนี้

นอกจากการเป็นพื้นที่ส่วนกลางสาธารณะของชาวชุมชน PILOK Community Space ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัลสารสนเทศ ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นประตูเชื่อมคนภายในชุมชนสู่โลกภายนอกผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจ ส่งเสริมการประกอบอาชีพให้ชุมชนอยู่ได้ด้วยตนเอง ด้วยการใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน

หยิบกุญแจ แพ็กของ เตรียมเข้าป่า เราจะพาทุกคนไปสัมผัสกับความสวยงามของธรรมชาติ สูดกลิ่นอายความบริสุทธิ์แห่งขุนเขา และคุยกับสถาบันอาศรมศิลป์ ผู้อยู่เบื้องหลังกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน ที่ไม่ได้แค่ออกแบบพื้นที่ แต่ออกแบบรูปแบบการใช้ชีวิตที่ยังคงเคารพภูมิปัญญา วัฒนธรรมล้ำค่า และทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งและเป็นฐานในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป

ปิล็อก คอมมูนิตี้สเปซ ภารกิจออกแบบศูนย์ชุมชนที่พัฒนาคนและผืนป่ากาญจนบุรีอย่างยั่งยืน

ความรุ่งโรจน์ในอดีต

‘ปิล็อก’ เป็นชื่อของเหมืองแร่ ในช่วงที่รัฐบาลให้สัมปทานเปิดเหมืองปิล็อก ซึ่งในยุคนั้นแร่ดีบุกถือว่าเป็นแร่ที่สร้างรายได้ให้คนพื้นที่ เกิดการแลกเปลี่ยนค้าขาย มีสถานบันเทิงและโรงหนังสำหรับคนงานที่เข้ามาทำเหมือง จนกระทั่ง พ.ศ. 2528 เกิดวิกฤตการณ์ราคาแร่ดีบุกตกต่ำทั่วโลก พ.ศ. 2534 เหมืองจำนวนมากทยอยปิดตัวลง ทำให้ที่นี่กลายเป็นหมู่บ้านที่เงียบสงบ 

ฟ้าหลังฝนย่อมสดใสเสมอ จากวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ทำให้คนในชุมชนต่างปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติในหมู่บ้านยังไม่ถูกทำลายไป จึงทำให้เกิดการท่องเที่ยว บ้านเรือนของคนในชุมชนปรับเปลี่ยนมาเป็นที่พัก ร้านอาหาร ให้เหล่านักท่องเที่ยวไปได้แวะเยี่ยมเยียน หมู่บ้านจึงกลับมารุ่งโรจน์เหมือนในอดีตอีกครั้ง

ปิล็อก คอมมูนิตี้สเปซ ภารกิจออกแบบศูนย์ชุมชนที่พัฒนาคนและผืนป่ากาญจนบุรีอย่างยั่งยืน

แรกเริ่ม

“อยากมีพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันในชุมชน”

“อยากมีห้องคอมพิวเตอร์ไว้ทำงาน”

“อยากมีพื้นที่สวยๆ ไว้ถ่ายรูปเยี่ยมชมธรรมชาติ”

คำถามมากมายเหล่านี้เหมือนเป็นการย้ำเตือนว่า หมู่บ้านอิต่องยังขาดพื้นที่ส่วนกลางให้คนในชุมชนได้มารวมตัวกัน อีกทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ ที่หมู่บ้านแห่งนี้ยังพัฒนาไปได้มากกว่านี้

โครงการการออกแบบศูนย์บริการสำหรับการให้ความรู้ เพื่อพัฒนาทักษะความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) ณ หมู่บ้านอิต่อง ตำบลปิล็อกจึงเกิดขึ้น กลายเป็น PILOK Community Space พื้นที่การเรียนรู้ เตรียมความพร้อม และส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับชุมชนพร้อมเผชิญความท้าทายกับโลกภายนอก

ภายใต้ความร่วมมือกันของศูนย์ศึกษานโยบายการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, สถาบันอาศรมศิลป์, กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กสทช.)

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นมหาวิทยาลัยเปิดแห่งเดียวของประเทศไทยที่ใช้ระบบการศึกษาทางไกล ซึ่งหมายถึงระบบการเรียนการสอนที่เอื้ออำนวยให้นักศึกษาสามารถใช้เวลาศึกษาด้วยตนเองโดยไม่ต้องเข้าชั้นเรียนตามปกติ แต่ใช้วิธีการศึกษาโดยผ่านสื่อการสอนต่างๆ เพื่อขยายและกระจายโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษา

ปิล็อก คอมมูนิตี้สเปซ ภารกิจออกแบบศูนย์ชุมชนที่พัฒนาคนและผืนป่ากาญจนบุรีอย่างยั่งยืน

ทีมสถาปนิกจากสถาบันอาศรมศิลป์เล่าให้ฟังว่า เมื่อทางอาศรมศิลป์รับโจทย์งานนี้มา เพราะเห็นว่าโครงการนี้มีความน่าสนใจ ทั้งในแง่โจทย์ของโครงการและพื้นที่ชุมชน และด้วยระยะเวลาในการดำเนินงานที่ค่อนข้างจำกัด จึงถือเอาโครงการนี้เป็นโอกาสในการ ‘ลงแขก’ ให้สถาปนิกรุ่นใหม่ของอาศรมศิลป์ ร่วมกันออกแบบ เพื่อเป็นโอกาสในการสร้างสำนึกจิตอาสาให้ทีมสถาปนิกเอง

เพราะเมื่อคนในองค์กรได้ตระหนัก ลุกขึ้นมามีบทบาท แสดงตัวตน ทำงานในพื้นที่จริง เรียนรู้สถานการณ์ ระดมความคิดและรู้จักแก้ปัญหา โดยมุ่งเน้นไปที่ประโยชน์ซึ่งจะเกิดกับชุมชน ย่อมทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน มากกว่าการนั่งทำงานอยู่แค่หน้าคอมพิวเตอร์ของตัวเอง

จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน

ความน่าสนใจของโครงการการออกแบบศูนย์บริการสำหรับการให้ความรู้ เพื่อพัฒนาทักษะความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) หมู่บ้านอิต่อง ตำบลปิล็อก นอกจากเป็นการสร้างพื้นที่ใหม่ใจกลางหุบเขาแล้ว

โครงการนี้ตั้งใจสร้างศูนย์กลางชุมชน ‘ใจบ้าน’ ให้ชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของในการเกิดศูนย์กลางของชุมชน ขึ้นมาเอง โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและคนนอกที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับชุมชน

ทีมสถาปนิกเล่าต่อว่า โครงการนี้มีปัญหาและความท้าทายต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้บทบาทของสถาปนิกที่เป็นมากกว่าแค่นักออกแบบ

การเริ่มต้นทำความเข้าใจโจทย์ และนำพาไปถึงจุดที่สร้างอาคารสำเร็จเป็นรูปร่างไม่ใช่เรื่องง่าย การทำกระบวนการมีส่วนร่วมซึ่งให้ได้ข้อมูลมา ปัญหาเรื่องการสื่อสาร ความต่างทางวัฒนธรรม ทำให้การเข้าถึงผู้คนในพื้นที่เป็นเรื่องยากและท้าทาย

ทุกการสื่อสารจำเป็นต้องมีล่ามในการช่วยนำเสนองาน ทางทีมออกแบบจึงคิดวิธีทำกระบวนการให้คนในชุมชนเข้าใจสิ่งที่พวกเขาต้องการจะสื่อ ออกมาเป็นรูปแบบต่างๆ และแบ่งผู้ใช้ออกเป็น กลุ่มเด็ก กลุ่มผู้ใหญ่ และกลุ่มนักท่องเที่ยว ที่แต่ละกลุ่มก็มีวิธีการในการเข้าถึงข้อมูลแตกต่างกัน

กระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม แบ่งออกเป็น 3 ครั้งหลักๆ คือ

ครั้งที่หนึ่ง เป็นการลงพื้นที่เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่คนในชุมชน โดยการเข้าไปร่วมพูดคุยกับคนในชุมชนทั้งพระ คุณครู ผู้ใหญ่บ้าน เด็กในชุมชน ศึกษาวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตของคนในชุมชน รวมไปถึงการมองหาสถานที่สำหรับสร้างศูนย์การเรียนรู้

ปิล็อก คอมมูนิตี้สเปซ ภารกิจออกแบบศูนย์ชุมชนที่พัฒนาคนและผืนป่ากาญจนบุรีอย่างยั่งยืน
ปิล็อก คอมมูนิตี้สเปซ ภารกิจออกแบบศูนย์ชุมชนที่พัฒนาคนและผืนป่ากาญจนบุรีอย่างยั่งยืน

ครั้งที่สอง เป็นการต่อยอดกระบวนการการมีส่วนร่วม เพื่อค้นหารูปแบบของสถาปัตยกรรม ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของคนในชุมชนเข้ามาร่วมด้วย 

โดยเริ่มจากการสำรวจความต้องการ (Requirement) ทำกิจกรรมกับเด็กเพื่อให้เข้าใจพฤติกรรม วิถีชีวิต โดยให้เด็กๆ ในชุมชนวาดรูปสถานที่ในฝันขึ้นมา และเก็บข้อมูลที่ตั้งศูนย์การเรียนรู้ไปต่อยอด ค้นหารูปแบบของสถาปัตยกรรม สังเกตการใช้พื้นที่ของชุมชน ระดมความคิด ความเป็นไปได้ในการสร้างศูนย์การเรียนรู้ ก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุม

ต่อมาเป็นการออกแบบในสถานที่จริง (Design at Site) และนำเสนอต่อที่ประชุมชุมชนเพื่อหารูปแบบที่ดีที่สุดในการสร้างศูนย์การเรียนรู้ จัดทำผัง Zoning ว่าพื้นที่การใช้งานประกอบไปด้วยรูปแบบใด อยู่ตำแหน่งไหนจึงจะตอบโจทย์คนในชุมชนมากที่สุด และปิดท้ายกระบวนการด้วยการระดมความคิดกับผู้ออกแบบและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาข้อสรุปในการทำศูนย์การเรียนรู้ที่ชัดเจนเป็นหุ่นจำลอง (Model) และเตรียมนำไปเสนอให้กับชุมชน

ปิล็อก คอมมูนิตี้สเปซ ภารกิจออกแบบศูนย์ชุมชนที่พัฒนาคนและผืนป่ากาญจนบุรีอย่างยั่งยืน
ปิล็อก คอมมูนิตี้สเปซ ภารกิจออกแบบศูนย์ชุมชนที่พัฒนาคนและผืนป่ากาญจนบุรีอย่างยั่งยืน

มาสู่ความร่วมมือกัน ครั้งที่สาม ของคนในชุมชนกับทีมอาศรมศิลป์ โดยใช้ ‘เครื่องมือการนำเสนอ’ ผ่านแผ่น Flip Chart หรือกระดาษชาร์ต เป้าหมายหลักคือเพื่อให้ชุมชนเห็นภาพจริงจากแบบจำลองและหาข้อมูลเพิ่มเติม

โดยแบ่งคนในชุมชนออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มผู้ใหญ่และกลุ่มเด็ก ผลลัพธ์จากการนำเสนอต่อชุมชน เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างวัย สร้างความเข้าใจร่วมกันให้แก่คนในชุมชน สถาปนิกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาแบบให้สมบูรณ์

ปิล็อก คอมมูนิตี้สเปซ ภารกิจออกแบบศูนย์ชุมชนที่พัฒนาคนและผืนป่ากาญจนบุรีอย่างยั่งยืน
ปิล็อก คอมมูนิตี้สเปซ ภารกิจออกแบบศูนย์ชุมชนที่พัฒนาคนและผืนป่ากาญจนบุรีอย่างยั่งยืน

และผลลัพธ์จากกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม คือแนวคิด Connect to Re-connect พื้นที่เชื่อมต่อแห่งใหม่ที่ทำให้การเชื่อมความสัมพันธ์กลับมาอีกครั้ง ทั้งระหว่างผู้คนในชุมชน ระหว่างชุมชนกับธรรมชาติแวดล้อม รวมถึงการเชื่อมโยงกับโลกภายนอกผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ และทำให้เกิด PILOK Community Space ขึ้น

จากปัญหาสู่คำตอบสร้างสรรค์

ทีมสถาปนิกอธิบายว่า โจทย์หนักของการออกแบบคือ เรื่องงบประมาณ เพราะด้วยงบประมาณที่จำกัด ทำให้แทบเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะเนรมิตอาคารตามแบบที่ทุกคนฝันได้ ดังนั้นทีมงานจึงต้องทำการบ้านหนักขึ้น และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับช่างพื้นบ้าน ในการหาวิธีลดสเปควัสดุเพื่อคุมราคาให้อยู่ตามงบประมาณ เพื่อสร้างอาคารในฝัน

ตามแบบเดิมที่จะเป็นอาคารกระจกรอบทิศ เพื่อให้มีเส้นสายมาบดบังทัศนียภาพน้อยที่สุด ทีมสถาปนิกจำเป็นต้องเปลี่ยนมาใช้อลูมิเนียม ซอยแยกระยะกระจกแทน เพื่อลดต้นทุน โดยกันส่วนผนังไม้หุ้มตัวอาคารที่จะช่วยลดความแข็งกระด้างของหน้าตาอาคารที่เป็นเส้นอลูมิเนียมไปไว้ในเฟสที่ 2 เมื่อมีงบเพิ่มเติมภายหลัง  

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องสภาพภูมิอากาศ ฝน 8 แดด 4 (ทีมสถาปนิกอาศรมศิลป์ใช้เวลาออกแบบโครงการ 3 เดือน และก่อสร้าง 4 เดือน)

ในการทำกระบวนการออกแบบแรกๆ ทางทีมออกแบบต้องทำงานตามเวลาที่วางไว้ และต้องให้ทันการช่วงหน้าฝน แต่ไม่เป็นอย่างที่คิด แบบเสร็จไม่ทันประกอบกับปัญหาเรื่องการคุมงบประมาณวัสดุ ทำให้กระบวนการนี้ยืดยาวออกไปเป็น 5 เดือน จากแผนตอนแรกที่ 3 เดือน

พอในเดือนที่ 5 หน้าฝนมาแล้ว อากาศที่ตำบลปิล็อก มีความชื้นสูงมาก ขนาดปิดประตูห้อง พื้นห้องยังเปียก ผู้รับเหมาก่อสร้างจึงไม่แนะนำให้ดำเนินการช่วงนี้ แต่ด้วยระยะเวลาที่จำกัด ผู้รับเหมาจำเป็นต้องทำงานต่อ ทีมสถาปนิกจึงออกแบบวิธีก่อสร้างแบบหนีฝน

โดยใช้แนวคิดเดียวกับการกางร่มเพื่อกันฝน​ ส่วนประกอบสำคัญที่ต้องก่อสร้างและดำเนินการขึ้นมาก่อนในช่วงต้นฝน คือการทำฐานราก ตั้งเสา และทำพื้นชั้น 2 (เนื่องจากพื้นชั้น 2 จะเปรียบเสมือนร่มที่กางคลุมพื้นที่ชั้น 1) วิธีนี้จะทำให้ผู้รับเหมาสามารถทำงานบนพื้นชั้น 1 ได้โดยไม่เปียก

ทันทีที่ฝนหยุดหรือมีความชื้นน้อย ผู้รับเหมาก่อสร้างจะรีบดำเนินการก่อสร้างส่วนอื่นๆ ทันที พอฝนตกมาอีกที ก็กลับเข้ามาทำในพื้นที่ชั้น 1 ต่อ สลับแบบนี้ไปเรื่อยๆ

สถาบันอาศรมศิลป์ตั้งใจใช้บริการผู้รับเหมาก่อสร้างในพื้นที่ เพราะอยากให้คนในชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของ แต่ความท้าทายที่ตามมาคือ หัวหน้าผู้รับเหมาก่อสร้างเป็นชาวเมียนมา ทำให้การสื่อสารระหว่างกันค่อนข้างลำบาก แม้จะสามารถส่งไลน์คุยงานกันได้ แต่แบบก่อสร้างทั้งหมดก็เป็นภาษาไทยอยู่ดี

เลยต้องคิดวิธีสื่อสารเป็นจุดสี ระบุว่าสีนี้แทนวัสดุอะไร และให้ช่างชาวไทยช่วยแปลให้อีกที แบบนี้ทีมสถาปนิกและหัวหน้าผู้รับเหมาก่อสร้างก็สามารถสื่อสารถึงกันได้ด้วยภาษาจุดสี

พื้นที่เล็ก กลางป่าใหญ่

พื้นที่ศูนย์การเรียนรู้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่ใช้สำหรับการเรียนรู้ของคนในชุมชน ประกอบไปด้วยห้องคอมพิวเตอร์โทรทัศน์ดิจิทัล ซึ่งมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชและสำนักงาน กสทช. ออกแบบหลักสูตรเพื่อสอนการใช้งานอินเทอร์เน็ต โปรแกรมเพื่อช่วยเหลือชุมชนชายขอบ ส่งเสริม พัฒนา ต่อยอดไปจนถึงการค้าขาย

ปิล็อก คอมมูนิตี้สเปซ ภารกิจออกแบบศูนย์ชุมชนที่พัฒนาคนและผืนป่ากาญจนบุรีอย่างยั่งยืน
ปิล็อก คอมมูนิตี้สเปซ ภารกิจออกแบบศูนย์ชุมชนที่พัฒนาคนและผืนป่ากาญจนบุรีอย่างยั่งยืน

ส่วนที่ใช้สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ เป็นพื้นที่เนินแนวดิ่งบนศูนย์การเรียนรู้ มองเห็นขุนเขาได้ 360 องศา เสมือนขุนเขาโอบล้อมเราอยู่ พูดง่ายๆ คือจุดชมวิวดีๆ นั่นเอง 

พื้นที่บริเวณใกล้เคียงมีอาคารห้องสมุดเก่าที่คนในชุมชนร่วมสร้างและปรับปรุงขึ้นใหม่ ห้องสมุดแห่งนี้คนในชุมชนล้วนเคยร่ำเรียนมาแล้วทั้งสิ้น ถือเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ของคนในชุมชนเช่นเดียวกัน

ศูนย์บริการสำหรับการให้ความรู้เพื่อพัฒนาทักษะความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) หมู่บ้านอิต่อง ตำบลปิล็อก PILOK Community Space นอกจากเป็นความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐเพื่อเข้าไปช่วยเหลือคนในชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว คนในชุมชนต่างก็ให้ประสบการณ์และการทำงาน ผ่านการเรียนรู้แลกเปลี่ยนความคิดร่วมกัน

ปิล็อก คอมมูนิตี้สเปซ ภารกิจออกแบบศูนย์ชุมชนที่พัฒนาคนและผืนป่ากาญจนบุรีอย่างยั่งยืน

ในฐานะนักออกแบบ ทีมสถาปนิกบอกว่า โครงการนี้ทำให้พวกเขาได้สัมผัสผู้คน เรียนรู้โลก และสร้างจิตสำนึกในการเป็นสถาปนิกในตัวเอง ทำให้มองโลกกว้างขึ้น รู้จักแก้ปัญหา รู้จักคัดสรรสิ่งที่นำมาทดแทนเพื่อให้เกิดประโยชน์ ภายใต้ข้อจำกัดด้านต่างๆ

ตอนนี้โครงการในเฟสที่ 1 ส่วนของอาคารภายนอก ดำเนินมาจนเสร็จเป็นรูปร่าง เหลือการก่อสร้างในส่วนภายในและรายละเอียดอื่นๆ ที่จะเสร็จสมบูรณ์ในการดำเนินการเฟสที่ 2 ซึ่งคณะผู้จัดกำลังระดมทุนและจัดหางบประมาณอยู่อย่างขะมักเขม้น

น่าดีใจแทนชาวหมู่บ้านอิต่อง ที่มีสเปซดีๆ ไว้ใช้งานกลางหุบเขา ทั้งยังเป็นพื้นที่เชื่อมบุคคลภายในสู่บุคคลภายนอก ลดช่องว่างระหว่างคนเมืองและคนในท้องถิ่น ยกระดับสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ในพื้นที่เก่า เสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่คนในชุมชนมากขึ้นไปอีกขั้น

Writer

Avatar

พิชญาภัค เจริญวัง

ชอบอ่านเรื่องความรัก ชอบคิดเรื่องเพ้อฝัน ชอบเขียนคำคมและบทกลอน วันว่างๆ ชอบวาดรูปธรรมชาติเก็บไว้เป็นไดอารี่ของตัวเอง