7 กุมภาพันธ์ 2022
12 K

เหล่าผู้ทำงานไกลบ้าน หลายครั้ง คงบรรเทาความคิดถึงด้วยการยกหูโทรศัพท์ ต่อสายหาคนสำคัญทางบ้านเป็นครั้งคราว หรือในวันหยุดเทศกาลสำคัญ คงเดินทางไปเยี่ยมบ้านด้วยความรู้สึกโหยหา เช่นเดียวกันกับ ตั้ม-นิพนธ์ พิลา เจ้าของแบรนด์ PILA Farm Studio ผู้หวนกลับบ้านเกิดที่เพชรบูรณ์ด้วยความคิดที่ว่า “การเยี่ยมบ้านไม่ใช่การกลับบ้าน กลับบ้านคือกลับมาอยู่บ้านจริง ๆ”

ตั้มคือเด็กต่างจังหวัดที่เข้าไปทำงานเมืองใหญ่ เริ่มอยู่กับการทำงานในธนาคาร ก่อนจะเริ่มสนใจในแฟชั่นและศึกษาวงการดีไซเนอร์เพียง 2 ปี แบรนด์ PILA Studio ก็เกิดขึ้นภายใต้ความชื่นชอบในงานดีไซน์ ตั้มทำงานอยู่ท่ามกลางแสงสีแห่งวงการแฟชั่นมาได้ 3 ปีก็พบกับวิกฤตของครอบครัว โรคมะเร็งของคุณพ่อทำให้เขาต้องกลับบ้านมาดูแลครอบครัว และได้พบปัญหาทางการเกษตรของที่บ้าน กระทั่งปัญหาระดับชุมชน จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนจาก PILA Studio กลายเป็น PILA Farm Studio จึงเริ่มต้นจาก ‘การกลับบ้านของตั้ม’ ในครั้งนี้

PILA Farm Studio เปลี่ยนแบรนด์แฟชั่นเป็นแบรนด์สินค้าเกษตรเพชรบูรณ์ให้บ้านเกิดขายได้

บ้านในมุมที่ไม่เคยค้นพบ

อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ บ้านเกิดของอดีตดีไซเนอร์ผู้หวนกลับบ้านมาดูแลพ่อที่กำลังพบเจอกับโรคร้าย แม้จะดูแลพ่ออยู่ไม่ห่าง แต่เขาก็พบเจอปัญหาของที่บ้านในแบบที่ไม่เคยพบมาก่อน

“พริกหยวกราคา 0 บาท แม่ขายพริกหยวกไม่ได้ แล้วเกษตรกรที่เขาประสบปัญหาเดียวกันยังมีอีกเยอะ ไหน ๆ เรากลับบ้านแล้ว เราก็สังเกตรอบข้างบ้านว่าเกษตรกรตื่นกี่โมง กำจัดวัชพืช ให้ปุ๋ยพรวนดินยังไง มันเป็นชีวิตที่เราได้กลับไปสังเกตจนมีเสน่ห์สำหรับเรา”

ตั้มเล่าต่อถึงจุดแข็งและจุดอ่อนทางการเกษตรของบ้านเกิด เพชรบูรณ์ปลูกผลิตผลทางเกษตรได้ 12 เดือนต่อปี เช่น 4 เดือนในฤดูฝน เกษตรกรมักปลูกข้าว เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวแล้วจะเปลี่ยนเป็นปลูกยาสูบสายพันธุ์พื้นเมือง และอีก 4 เดือนที่เหลือปลูกพืชหมุนเวียนตามอัธยาศัย ปัญหาคือเกษตรกรปลูกพืชตามกันในช่วง 4 เดือนที่เหลือ อย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผักชี พริกหยวก กะหล่ำ 

“ปัญหาที่มีอยู่ 2 อย่าง คือ ผลผลิตทางการเกษตรเดียวกันออกสู่ตลาดพร้อมกัน จึงเกิดสินค้าล้นตลาดและการหั่นราคา ผลผลิตสวยหรือดีแค่ไหนราคาก็ตก เพราะไม่ได้มีการวางแผนเรื่องฤดูกาลปลูก

“ปัญหาที่ 2 คือ ขณะที่พริกหยวกในซูเปอร์มาร์เก็ตเม็ดละ 20 บาท แต่พริกของแม่กลับราคา 0 บาท เป็นเช่นนั้นเพราะผู้บริโภคยุคปัจจุบันมีกำลังจ่ายเพื่อสินค้าออร์แกนิก แต่ตอนนั้นบ้านเรายังไปไม่ถึงตลาดตรงนั้น”

PILA Farm Studio จึงค่อย ๆ ก่อร่างเป็นโปรเจกต์ที่ไม่เพียงแก้ปัญหาการเกษตรของที่บ้าน แต่มองการแก้ปัญหาของชุมชนบ้านเกิด ด้วยการใช้องค์ความรู้การดีไซน์ที่มีอยู่ พร้อมกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ แล้วนำมาถ่ายทอดสู่ชุมชนและสร้างมูลค่าให้กับสินค้าการเกษตร

PILA Farm Studio เปลี่ยนแบรนด์แฟชั่นเป็นแบรนด์สินค้าเกษตรเพชรบูรณ์ให้บ้านเกิดขายได้
PILA Farm Studio เปลี่ยนแบรนด์แฟชั่นเป็นแบรนด์สินค้าเกษตรเพชรบูรณ์ให้บ้านเกิดขายได้

บ้านที่กำลังถูกต่อเติม

การนำสิ่งที่ชอบนำกลับมาต่อเติมที่บ้านเป็นสิ่งที่ตั้มกำลังทำอยู่ พื้นเพจากวงการดีไซน์ช่วยให้เขาหยิบผลิตผลทางการเกษตรมาแต่งตัวและสร้างบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย น่าจับจ่ายในราคาเป็นมิตร และนอกจากการออกแบบหีบห่อ ตั้มยังวางแผนการตลาดในด้านการโปรโมตและวางแผนการขนส่งสินค้าผ่านช่องทางต่าง ๆ ด้วยตัวเอง

“เราจะอยู่จุดไหนในการเกษตร คิดว่ากลางน้ำถึงปลายน้ำ นั่นคือการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การออกแบบสินค้าเกษตร การยกระดับให้มีมาตรฐาน มีความงาม มีเสน่ห์ หน้าที่ของแฟชั่นดีไซเนอร์คือการทำให้เขาสวย โดดเด่น และแตกต่างขึ้น อยากให้สินค้าเกษตรของเกษตรกรไทยมีความเป็นแฟชั่นนิสต้า”

ระหว่างต่อเติมบ้านเกิดหลังนี้ การก่อสร้างและการแก้ปัญหาคงไม่ง่าย

“อุปสรรคอย่างแรกคือเรื่องการขนส่ง เราเริ่มเรียนรู้การหาบรรจุภัณฑ์ที่คงคุณภาพสดใหม่ของผักให้ถึงมือลูกค้า สองคืออุปสรรคเรื่องการโน้มน้าวชาวบ้าน มันยากเพราะต้องสื่อสารกันเยอะ ต้องทำให้เขาเชื่อในสิ่งที่เรากำลังสร้าง อธิบายว่าเราเป็นนักการตลาด และทำให้เขาเห็นคุณค่าของผลิตผลที่เขาทำอยู่”

ในฐานะคนกลางน้ำ ตั้มสนใจในรายละเอียดเล็ก ๆ ตั้งแต่กระดาษที่ใช้ห่อผลผลิตต้องไม่มีสารเคมีและเป็น Food Grade กล่องที่ใช้หีบห่อต้องมีช่องระบายอากาศ เพื่อคงความสดและอายุของผัก และด้วยความโชคดีของบ้านเกิด เพชรบูรณ์ตั้งอยู่ระหว่างกลางทั้งการขึ้นเหนือหรือส่งมายังกรุงเทพฯ การขนส่งจึงทำได้ภายในไม่กี่วัน

“ตอนนี้อยากทำสินค้าเกษตรออนไลน์ที่หลากหลาย เพราะมีการซื้อขายสินค้าทุกวัน มันเป็นตัวบอกว่าเรามาถูกทาง ตอนนี้ที่ทำอยู่คือสินค้าบริโภค อย่างข้าว มะขามแปรรูป ส่วนสินค้าอุปโภคก็มีเขียง หรือเครื่องครัวเบา ๆ แล้วก็มีสินค้าแฟชั่นที่อย่างรองเท้าแตะจากวัสดุรีไซเคิล มีกางเกงม่อฮ่อม อยากให้ในอนาคตมันเป็นเสื้อผ้าที่สวมใส่ง่าย เป็น Everyday Lifestyle มากกว่า”

ช่วง 1 ปีที่ผ่านมาของ PILA Farm Studio จึงเป็นช่วงที่ตั้มต่อเติมบ้านหลังนี้ผ่านการศึกษาองค์ความรู้ใหม่ โดยนำเอาความรู้เดิมมาประยุกต์ใช้ไปพร้อมกับการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เพื่อสร้างให้ปีที่ 2 เป็นปีแห่งการเริ่มต้น และพัฒนาจากความผิดพลาดของปีแรก

PILA Farm Studio เปลี่ยนแบรนด์แฟชั่นเป็นแบรนด์สินค้าเกษตรเพชรบูรณ์ให้บ้านเกิดขายได้
PILA Farm Studio เปลี่ยนแบรนด์แฟชั่นเป็นแบรนด์สินค้าเกษตรเพชรบูรณ์ให้บ้านเกิดขายได้
PILA Farm Studio เปลี่ยนแบรนด์แฟชั่นเป็นแบรนด์สินค้าเกษตรเพชรบูรณ์ให้บ้านเกิดขายได้

บ้านหลังเดิมที่สมาชิกเพิ่มขึ้น

1 ปีที่ผ่านมาเขาได้พบเจอกับคนหลายช่วงวัย หลายประสบการณ์ที่เข้ามาเป็นทั้งครู เพื่อน และรุ่นพี่ผู้ให้ความรู้ในเรื่องการเกษตร ตั้มเสมือนนักเรียนใหม่ในวงการนี้

“เรารับคำแนะนำมากมายจากพูดคุยกับ Young Smart Farmer คนรุ่นใหม่ที่มีทั้งเกษตรต้นน้ำถึงปลายน้ำในหลายพื้นที่ของเพชรบูรณ์ เราได้สัมผัสและรู้จักกับพวกเขา จนเห็นสิ่งที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำโปรเจกต์ของเรา” 

การได้รู้จักกับคนในวงการการเกษตรมากขึ้น ทำให้ตั้มได้สร้างเครือข่ายกับชุมชนอีกด้วย

“หลัก ๆ คือเครือข่ายรอบหมู่บ้านในหล่มสักก่อน ในอนาคตคงเพิ่มมาอีกหลายอำเภอ เพราะที่บ้านมีของดีเยอะมาก เรามีโกโก้ที่อำเภอนางั่ว อะโวคาโดที่เขาค้อ หรือเมล็ดกาแฟที่หล่มเก่าภูทับเบิก มีเกษตรโคนมจากอำเภอศรีเทพ ทุกอย่างยังอยู่ในเพชรบูรณ์ มีวัตถุดิบที่เราอยากทำแต่ยังไปไม่ทัน เราเลยตื่นเต้นกับแผนและเครือข่ายในอนาคตมาก”

ความหลากหลายและของดีมากมายที่ตั้มอยากเล่าไม่ใช่แค่ผลผลิต แต่รวมถึงคนเพชรบูรณ์ด้วย เขาอยากให้ลูกค้าหรือคนภายนอกมองกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในแง่บวกมากขึ้น จะได้เข้าใจวิถีชีวิตของเกษตรกรอย่างแท้จริงผ่านผลิตภัณฑ์การเกษตร

“เมื่อก่อนเกษตรกรถูกพูดถึงแต่ความยากลำบาก ความแร้นแค้น ความยากจน เสน่ห์ของกลุ่มเราคือใช้คาแรกเตอร์ของคนในกลุ่มที่เขามีความสุขกับการทำงานด้านการเกษตร ให้สินค้าเป็นตัวบอกเล่าเรื่องราวของเกษตรกร อย่างป้าโนดก็เป็น Single Mom ที่เก่งมาก อายุ 60 แล้ว แต่ยังทำงานหนักเหมือนเดิม ขับรถไปมาที่ไร่ทุกเช้า เราถือว่าป้าแกเป็นสาวแกร่งแห่งหมู่บ้านเลย

“เกษตรกรบางคนมีโรคภัยไข้เจ็บเยอะแต่เขาก็สู้ชีวิต ตื่นเช้ามาปลูกผักทำการเกษตร ทำผักให้สวย พูดคุยกับผัก คนปลูกยังรักผักต้นหนึ่งขนาดนี้ แล้วคนกินจะมีความสุขจากฟาร์มเราได้มากแค่ไหน อยากให้ลูกค้าได้สัมผัสความรู้สึกดี ๆ จากชาวบ้านถึงคนเมือง สิ่งนี้คือสิ่งที่ยากที่สุด เพราะเรามีหมื่นพันล้านคำที่อยากใส่ลงไปในผลิตภัณฑ์”

ตั้ม-นิพนธ์ พิลา อดีตนายธนาคารที่เข้าวงการดีไซเนอร์ จนเอาความรู้กลับบ้านเกิดไปช่วยวิกฤตครอบครัว
ตั้ม-นิพนธ์ พิลา อดีตนายธนาคารที่เข้าวงการดีไซเนอร์ จนเอาความรู้กลับบ้านเกิดไปช่วยวิกฤตครอบครัว

บ้านหลังเก่าที่ดัดแปลงได้

แม้เป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ การตลาดและชุมชนก็เริ่มเปลี่ยนแปลงขึ้น ผลผลิตออนไลน์ยังคงขายได้ ทั้งการขายบน Shopee ในชื่อ PILA Farm Studio ทั้งบนเพจ Facebook และ บน Lazada ด้วยชื่อ พิลาฟาร์มสตูดิโอ ทำให้ชาวบ้านเริ่มมองเห็นความเปลี่ยนแปลง

“เราเป็นตลาดทางเลือกให้กับเกษตรกร จากเดิมเขาต้องส่งผักให้เร็วที่สุด ฉีดยาให้มากที่สุดเพื่อขายผักให้ตลาดไทย ตอนนั้นวิถีชีวิตของเกษตรกรไปผูกกับตลาดเดียว เราทำให้เขาเห็นว่ามันขายผ่านช่องทางออนไลน์และเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้นได้ ผู้บริโภคยินดีจ่ายและเราไม่ได้เอาเปรียบผู้บริโภค ตอนนี้เขาก็รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลง และได้เห็นตัวเลือกตลาดเพิ่ม ชาวบ้านจึงเริ่มมาถามไถ่และเข้ามาพูดคุยด้วย”

หลายคนมักคิดว่าการเปลี่ยนแปลงชุมชนเป็นเรื่องที่ยาก แต่ตั้มยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงชุมชนทำได้เพียงคลิกเดียว แค่ต้องลงมือทำและพิสูจน์ให้เห็นเป็นตัวอย่างแก่ชาวบ้าน เพียงเท่านั้นเขาก็ยินดีที่จะปรับเปลี่ยนวิถีทางการเกษตรโดยที่เราไม่ต้องบอกหรือบังคับ เมื่อได้ใจของชาวบ้าน แรงบันดาลใจก็จะเกิดขึ้นกับชุมชนจนเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ในที่สุด

“เมื่อเขาเห็นช่องทางสร้างอาชีพในอีกรูปแบบหนึ่งเขาก็จะดีใจ เด็กต่างจังหวัดที่มาทำงานในเมืองหนึ่ง ในใจพ่อกับแม่ก็อยากให้ลูกกลับบ้าน อย่างตั้มกลับบ้าน เขาเห็นว่ามีเด็กในชุมชนกลับมาและได้ทำอะไรใหม่ ๆ ที่เขาไม่เคยเห็น เขาก็รู้สึกดีใจมาก บางทีเราก็เขินด้วยนะ เพราะอยู่ ๆ เขาก็เดินมาชม แอบมีน้ำตาซึมบ้างจากสิ่งที่เขาพูด เราเองก็ดีใจกับสิ่งที่ลงมือทำ”

ตั้ม-นิพนธ์ พิลา อดีตนายธนาคารที่เข้าวงการดีไซเนอร์ จนเอาความรู้กลับบ้านเกิดไปช่วยวิกฤตครอบครัว

บ้านในอนาคตของทุกคน

จากที่ตั้มพูดไว้ว่าอยากสร้างปีที่ 2 ให้เป็นปีแห่งการเริ่มต้นพัฒนาจากความผิดพลาด การเริ่มต้นที่กำลังเกิดขึ้น ตั้มมองภาพของบ้านเกิดให้เป็นบ้านหลังใหญ่กว่าเดิม

“เรามีความคิดที่ค่อนข้างพุ่งทะยานมาก เพราะอยากให้เพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวงแห่งเกษตรอินทรีย์ และเป็นเมืองแห่งแหล่งท่องเที่ยวเกษตรอินทรีย์ของประเทศเลย”

ตั้มยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นที่มีการพัฒนาแต่ละเมืองให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อย่างฮอกไกโดและโอกินาวาที่มีความโดดเด่นแตกต่างกันด้วยสินค้าเกษตร ตั้มจึงมองประเทศญี่ปุ่นเป็นโมเดลที่ดีในการพัฒนาทั้งเชิงเกษตรและชุมชน

“เราค้นพบว่าเพชรบูรณ์เป็นหนึ่งในโอเอซิสของประเทศ เพชรบูรณ์เอื้อต่อเติบโตของพืชผลการเกษตรมาก ๆ คือดินดี อากาศดี แต่เอาเข้าจริงทุกจังหวัดมีดีหมดเลยนะ อยู่ที่ว่าเราจะมองเห็นมันจริง ๆ หรือเปล่า เราจะหยิบมันมาทำให้โดดเด่นและเตะตาผู้บริโภคได้หรือเปล่า”

ระหว่างที่พูดคุยกันตั้มมักจะย้ำเรื่องการลงมือทำเสมอ หากไม่ลงมือทำและมัวแต่กลัว ทุกอย่างจะไม่เกิดการเริ่มต้นและเรียนรู้

“มันอยู่ที่ทัศนคติของเราที่มีต่อสิ่งแวดล้อมรอบข้าง มันไม่ใช่ว่าเราโลกสวยนะ แต่เราต้องมองว่ามีปัญหาอะไรบ้าง แล้วเราจะทำยังไงให้ปัญหาเป็นโอกาส เพิ่มรายได้ให้ตัวเอง ครอบครัว และชุมชนของเราได้ไหม มันไม่ใช่ว่าโจทย์ของความร่ำรวยแล้ว แต่เป็นโจทย์ของการชนะอุปสรรคและการเห็นคุณค่าของการเห็นของรอบตัวแล้วหยิบขึ้นมา มีวัตถุดิบหลายอย่างที่รอคนมาหยิบยกอยู่”

เราเริ่มมองเห็นภาพบ้านในอนาคตของตั้ม ที่กำลังเติบโตไปด้วยทัศนคติเชิงบวกและกล้าจะเผชิญหน้ากับสิ่งใหม่เสมอ บ้านหลังใหม่ของตั้มจึงเป็นบ้านหลังใหญ่ที่ส่งผ่านด้วยพลังงานอบอุ่น

“เราอยากเป็นศูนย์กลางให้คน 2 กลุ่มมาเจอกันได้ ปีนี้เลยกำลังอยู่ในขั้นก่อสร้างฟาร์มท่องเที่ยว มีการทำอาหารที่ใช้วัตถุดิบท้องถิ่นและเมนูหาทานยากของหล่มสัก มีศูนย์การเรียนรู้และที่พักกึ่งฟาร์มสเตย์ให้นักท่องเที่ยวมาใช้ชีวิตในหมู่บ้านเพื่อสัมผัสตัวตนของชาวบ้าน อยากให้เกิดการถ่ายทอดพลังงานจากนักท่องเที่ยวที่อยากสัมผัสวิถีชีวิตแบบนี้สู่ชาวบ้าน ถ้าเขาได้ไปเจอกัน มันเหมือนเติมเต็มไฟให้กันและกัน แถมทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปเท่าที่จะขับเคลื่อนได้”

ก่อนจากลากันตั้มยังคงยิ้มแย้มและเชิญชวนให้ไปเที่ยว PILA Farm Studio ช่วงท้ายปีนี้อีกด้วย คาดว่าบ้านหลังเก่าที่กำลังจะเป็นบ้านหลังใหญ่ของตั้ม จะได้ให้เราเข้าไปสัมผัสและท่องเที่ยวกับวิถีชุมชนชาวเกษตรของอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้อย่างอบอุ่น ท้ายที่สุดนี้ตั้มยังทิ้งท้ายให้กับเราที่เข้าใจหัวอกเด็กต่างจังหวัดเหมือนกัน ก่อนจบบทสนทนากันไปให้เราได้กลับมาคุยกับตัวเองหลังจากนี้

“มันมีเยี่ยมบ้านกับกลับบ้านนะ ต้องเลือกให้ดี เพราะกลับก็คือกลับ มันคือความสุขคนละแบบ ทุกคนก็มีช่วงเวลากลับบ้านที่เหมาะสมแตกต่างกันไป เพราะฉะนั้นก็ควรเลือกให้ตัวเองดี ๆ”

ตั้ม-นิพนธ์ พิลา อดีตนายธนาคารที่เข้าวงการดีไซเนอร์ จนเอาความรู้กลับบ้านเกิดไปช่วยวิกฤตครอบครัว

ภาพ : PILA FARM STUDIO

Writer

Avatar

กชกร ด่านกระโทก

มนุษย์แมนนวล ผู้หลงใหลในกลิ่นและสัมผัสของหนังสือ ใช้เวลาว่างไปกับการอ่านนิยาย/มังงะ สนุกไปกับการเดินทาง และชื่นชอบในการเรียนรู้โลกทัศน์ของกลุ่มชาติพันธุ์