เทคโนโลยีทำให้เราสื่อสารได้ง่ายขึ้น แต่กลับแยกความรู้ความเข้าใจออกเป็นส่วน แม้อ่านข้อความเดียวกันกลับมีภาพในหัวที่ต่างกัน ความอดทนที่น้อยลง และการไม่เห็นภาพรวม คือช่องว่างขนาดใหญ่ทางการสื่อสาร
‘Pictures Talk’ คือธุรกิจที่ใช้กระบวนการคิดและสื่อสารด้วยภาพในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ผ่านวิธีการต่าง ๆ ทั้งการจดบันทึกเนื้อหาในงานสัมมนา การจดบันทึกการประชุม การช่วยวางแผน ไปจนถึงการใช้เป็นเครื่องมืออธิบายเรื่องละเอียดอ่อนให้เห็นภาพชัดเจนและนำไปสู่การแก้ไข โดยมี ตุลย์ เล็กอุทัย เป็นผู้ก่อตั้ง

ตุลย์เป็นนักวาดที่เชี่ยวชาญด้านการเล่าเรื่องยากให้เข้าใจง่าย สรุปเรื่องยาวให้กระชับ และคลี่คลายความซับซ้อนให้เห็นภาพ
เขายึดทักษะนี้เป็นอาชีพมาตั้งแต่ปี 2013 และมีการต่อยอดธุรกิจที่น่าสนใจ คอลัมน์ The Entrepreneur เลยจะมาเล่าให้ทุกคนฟังว่า ทักษะที่ดูไม่จริงจังอย่างการวาดรูป กลายมาเป็นเป็นธุรกิจที่ยืนยาวมานับสิบปี ทำงานมากว่า 400 งานใน 11 ประเทศ และบันทึกเรื่องเล่าจากวิทยากรมาแล้วไม่ต่ำกว่า 1,000 คน ได้อย่างไร
ไหน ๆ ก็จะพูดถึงภาพ บทความตอนนี้เราเลยขอใช้ภาพมาช่วยพูดสักหน่อย

ก่อนจะมาทำงานด้านภาพจริงจัง ตุลย์เคยทำงานด้านการออกแบบและเป็นคอลัมนิสต์ให้ โพสต์ทูเดย์ @Weekly คอลัมน์ Life and Design อยู่ 5 ปี แต่พอเขียนไปสักพักก็เริ่มเบื่อ เลยขอบรรณาธิการวาดเป็นการ์ตูน เอาเรื่องที่น่าสนใจมาย่อยเป็นภาพแทน แม้ตอนนั้นการเขียนเรื่องธุรกิจผ่านภาพจะยังไม่ค่อยมีใครทำเพราะอาจมีผลกับเรื่องความน่าเชื่อถือ แต่ทางบรรณาธิการก็ยินดีให้ตุลย์ได้ลองวิธีการเล่าเรื่องใหม่ ๆ
และเวทีแรกที่เขาได้บันทึกงานสัมมนาเป็นภาพวาด คือเวที TEDxChiangMai 2013 ซึ่งผู้จัดเคยเห็นคนวาดรูปจากเนื้อหาบนเวทีแบบสด ๆ ในต่างประเทศ ก็อยากจะทำอย่างนั้นบ้าง ตุลย์จึงยกมืออาสาไปวาดให้ และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาชีวิตของเขาก็เปลี่ยนไป
“หลังจากนั้นมาก็เจอว่า ในต่างประเทศมีคนทำสิ่งนี้เป็นอาชีพ บริษัทใหญ่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Google, Microsoft มีคนแบบนี้เป็นพนักงานในออฟฟิศ บอร์ดบริหารเวลาประชุมก็จะมีคนจดบันทึกด้วยภาพแบบนี้ ก็เลยเชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นอาชีพได้” ตุลย์บอก


บันทึก (ด้วย) ภาพ
ธุรกิจหลักของ Pictures Talk คือ Visual Recording เป็นการสรุปประชุมให้เสร็จในภาพเดียว ทั้งจากงานสัมมนา การประชุมบอร์ดบริหาร หรือเวิร์กช็อป โดยทีมงานของ Pictures Talk จะไปฟัง จับประเด็น และสรุปออกมาเป็นภาพ
ธุรกิจนี้เริ่มต้นจากปีละ 1 งาน และมีรายได้ติดลบ
ตุลย์เล่าว่า “ตอนปี 2013 ไม่มีใครเข้าใจเลย นึกว่าเป็นการวาดการ์ตูน ช่วงแรกผมไปขอทำฟรี คนยังไม่เอาเลย เวลาที่ผมไปอธิบาย คนก็ไม่เข้าใจ ขนาดบอกว่าเดี๋ยวออกตั๋วเครื่องบินเองไปทำให้ฟรีเขาก็ยังไม่เอา”
กว่างานทำฟรีเหล่านั้นจะผลิดอกออกผลก็เข้าปีที่ 4 ซึ่ง Pictures Talk มีอัตราการเจริญเติบโตสูงมาก ในปีนั้น มีงาน 140 งาน เริ่มขยายทีม และขยายบริการไปทำงานรูปแบบอื่น ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตุลย์ได้เข้าไปเป็นบอร์ดบริหารสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพด้านการสื่อสารด้วยภาพนานาชาติ (International Forum of Visual Practitioner : IFVP) เพื่อร่วมผลักดันวิชาชีพนี้ในระดับโลก

Visual Recording เป็นงานที่พาลูกค้า 70 – 80% มาใช้บริการ เพราะเป็นจุดตั้งต้นให้เห็นถึงศักยภาพของการใช้ภาษาภาพมาคลี่คลายการสื่อสารที่มีเนื้อหาเยอะ แล้วลูกค้าก็แนะนำกันไปปากต่อปาก โดยมีชิ้นงานที่บันทึกมาจากงานสัมมนาเป็นการโฆษณาไปในตัว
จนถึงปัจจุบัน Visual Recording ยังคงเป็นบริการที่มีลูกค้ามาใช้งานมากที่สุด และเป็นบริการที่ทำให้ Pictures Talk เติบโตทั้งในและต่างประเทศ แม้ในช่วงที่ไม่มีงานสัมมนาแบบ On-site ปกติเลย
“ช่วงโควิดที่การประชุมและสัมมนาเปลี่ยนมาเป็นออนไลน์หมด เราก็เปลี่ยนไปเป็นการฟังทางออนไลน์และวาดบนไฟล์ดิจิทัลแทน และเนื่องจากภาพเป็นภาษาสากล เพียงแค่เราฟังภาษาที่ผู้ประชุมใช้กันได้ เราก็บันทึกออกมาเป็นภาพเพื่อให้คนทั้งโลกเข้าใจได้ บริการนี้จึงมีลูกค้าจากต่างชาติติดต่อเข้ามาใช้บริการทั้งแบบ Online และ On-site ทำให้เราเห็นโอกาสมากขึ้น” ผู้ก่อตั้งเล่า
เมื่อลูกค้าเริ่มเข้าใจศักยภาพของการบันทึกด้วยภาพแล้ว Pictures Talk จึงต่อยอดธุรกิจเป็นบริการอื่น ๆ เพิ่ม โดยมีแนวคิดเพื่อลดกำแพงการสื่อสาร ให้คนเห็นภาพรวม และมีรู้สึกมีส่วนร่วมมากขึ้น

แผน-ภาพ
การสรุปเป็นภาพ นอกจากจะสวยงามน่าดูแล้ว ยังใช้เป็นเครื่องมือแสดงความเชื่อมโยงประเด็นต่าง ๆ ได้ด้วย จึงเริ่มมีลูกค้ามาขอให้ช่วยย่อยเอกสารที่ข้อมูลเยอะ ๆ อย่างรายงานประจำปี ให้ออกมาเป็นภาพที่เข้าใจง่าย เป็น Data Story ซึ่งทำได้หลายแบบ ทั้งภาพนิ่ง หนังสือ แอนิเมชัน หรือเกม แล้วแต่ว่าจะเอาไปใช้กับกลุ่มเป้าหมายแบบไหน รวมทั้งมีการจัดสอนวาดภาพเพื่อบำบัดและบันทึก รวมถึงจัดเวิร์กช็อปให้องค์กรต่าง ๆ
แต่งานที่เราว่าน่าสนใจเป็นพิเศษ คือการไปเป็นที่ปรึกษาการวางแผน เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพร่วมกันและลดความขัดแย้ง ซึ่งเป็นการต่อยอดจากการไปจดบันทึกและเชื่อมโยงประเด็นหรือเนื้อหาต่าง ๆ มาหลายปี
บริการด้านการให้คำปรึกษาของ Pictures Talk เติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญใน 2 – 3 ปีมานี้ เพราะปัญหาที่องค์กรส่วนใหญ่มักเผชิญเวลาที่มีการทำงานข้ามแผนกกันเยอะ ๆ คือการสื่อสารในองค์กร และ Pictures Talk ก็ใช้การเล่าเรื่องด้วยภาพไปแก้ปัญหาระหว่างหน่วยงานที่หลากหลายได้ ด้วยการทำให้เห็นภาพร่วมกัน

พวกเขาจะเชิญทุกหน่วยงานรวมทั้งผู้บริหารมาประชุมร่วมกัน ให้แต่ละฝ่ายอธิบายงานที่ตัวเองทำ เพื่อให้ทีมงานสรุปใจความสำคัญแล้วนำมาวาด และเชื่อมโยงให้เห็นว่าแต่ละหน่วยงานมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร มีผลกระทบต่อกันอย่างไร และแต่ละฝ่ายต้องการความร่วมมือกันแบบไหน
การบันทึกด้วยภาพยิ่งใช้ได้ผลดีเป็นพิเศษในการวางแผนอนาคต เพราะบางอย่างเมื่อเล่าออกมาเป็นตัวหนังสืออาจเข้าใจไม่ตรงกัน หรือที่เราพูดกันเสมอว่า ‘ไม่เห็นภาพ’ แต่การเล่าด้วยภาพจะทำให้ทุกคนมีภาพที่ตรงกัน แล้วก็ยังออกแบบกระบวนการสนุก ๆ อย่างการเล่นเป็นเกมได้ด้วย
ตุลย์อธิบายเพิ่มว่า “การทำให้ออกมาเป็นภาพจะทำให้คนเข้าใจสิ่งเดียวกัน และแก้ปัญหาได้ดีอย่างคาดไม่ถึง ความเป็นภาพจะช่วยลดอคติของแต่ละฝ่ายไปได้มาก และลดบรรยากาศความตึงเครียดได้ เพราะมันจะเห็นความเป็นมนุษย์อยู่ในนั้น มากกว่าการใช้กราฟไดอะแกรมหรือตัวหนังสือเพียงอย่างเดียว”
การใช้ภาพเป็นเครื่องมือในการประชุมวางแผนยังนำความเห็นที่ขัดแย้งมาไกล่เกลี่ยร่วมกันได้อีกด้วย เพราะการให้ทุกคนสื่อสารงานที่ตัวเองทำ ปัญหาที่ตัวเองเจอ หรือคุณค่าที่แต่ละฝ่ายยึดถือออกมา จะแสดงถึงคุณค่าที่ทุกฝ่ายมีร่วมกัน และรวมกันได้เป็นภาพใหญ่ในที่สุด ทุกคนจะรู้สึกมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของสิ่งนั้น เพราะมันมีคุณค่าของเขาอยู่ในนั้น
“เคยมีฟีดแบ็กจากผู้เข้าร่วมว่า ไม่เคยรู้เลยว่าปัญหาของฝ่ายตัวเองกลายเป็นปัญหาให้ฝ่ายอื่น พอเขาได้เห็นภาพรวมแล้วก็จะยินดีมาแก้ไปด้วยกัน เพราะเห็นแล้วว่ามันแก้ฝ่ายเดียวไม่ได้ ทุกฝ่ายต้องร่วมกันหมด” ตุลย์เล่าความสำเร็จเล็ก ๆ ที่เขาและทีมงานร่วมกันสร้างอย่างภาคภูมิใจ


เห็นภาพ
การเล่าเรื่องด้วยภาพมีพลังมากกว่าที่เราคิดไว้มาก งานหนึ่งที่ Pictures Talk ได้ทำและตุลย์บอกว่าเป็นงานที่เขาภาคภูมิใจ คือการทำสื่อเพื่อให้ความรู้เด็ก ๆ ทั่วโลกว่า จะต้องปฏิบัติอย่างไรหากถูกล่วงละเมิดทางเพศบนอินเทอร์เน็ต
Pictures Talk ทำงานนี้ร่วมกับ Hug Project ซึ่งได้รับทุนจากมูลนิธิ World Childhood ประเทศสวีเดน แล้วทำงานร่วมกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ อย่างสำนักงานอัยการสูงสุด ศาลฎีกา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานสอบสวนกลาง (FBI) และ Homeland Security
เขาว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่อ่อนไหว สื่อสารลำบาก และต้องทำให้จดจำได้ง่าย เพื่อให้หากเกิดเหตุ ผู้เสียหายจะยังจำสิ่งที่ควรปฏิบัติได้แม้สติจะกระเจิดกระเจิง
“ความท้าทายคือ ในประเทศไทยมีเด็กโดนล่วงละเมิดทางเพศเยอะ แต่ว่าไม่ได้มีการแจ้งความ มีแค่ 7% ที่แจ้ง ที่เหลือไม่กล้าแจ้งเพราะอับอาย จึงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแต่คนไม่รู้ แล้วเนื้อหามันดาร์ก ถ้าเล่าตรง ๆ ใช้ภาพจริงมันก็คงจะไม่น่าดู”

หลังจากศึกษาว่าเด็กมัธยมต้น ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเป้าหมายไม่นิยมอ่านคู่มือแต่ชอบเล่นเกม ตุลย์จึงเสนอว่าให้สื่อสารเรื่องนี้ผ่านเกมมือถือแทน
ตุลย์เล่าว่า “เราเล่าเรื่องราวจากผู้เสียหายจริง ๆ ว่าเขาโดนหลอกยังไง รวมทั้งไปคุยกับฝั่งคนร้ายว่ามีกลเม็ดแบบไหน มีแผนยังไงเพื่อให้เหยื่อตายใจ แล้วก็เอาเรื่องมาเขียนเป็นเกม พาคนเล่นผ่านแต่ละด่านว่าจะเจอสถานการณ์ยังไงบ้าง การเลือกแก้ปัญหาแต่ละแบบของเขามันจะส่งผลแบบไหน การเก็บหลักฐาน การขอความช่วยเหลือควรทำอย่างไร การแจ้งตำรวจ เมื่อแจ้งไปแล้วตำรวจจะจัดการยังไงบ้าง ไปจนถึงแสดงให้เห็นการเข้ากระบวนการยุติธรรมจนกับคนร้ายได้และคนร้ายได้รับการลงโทษ
“เป็นการสอนเด็ก ๆ ไปในตัวว่า หากเล่นผิดพลาดในเกมก็ไม่เป็นไร เล่นใหม่ได้ แต่การผิดพลาดในชีวิตจริง หลายคนที่เราเห็นคือพังทั้งชีวิต”
ภาพที่ชัดในเวลาที่ใช่

ตุลย์เล่าว่าสิ่งที่ทำให้เขามุ่งมั่นทำสิ่งนี้เป็นอาชีพมีอยู่ 2 เรื่อง คือการมีคนมาบอกว่าภาพที่พวกเขาวาดสร้างความกระจ่างให้เขามากแค่ไหน และการได้ฟังวิทยากรหรืออยู่ร่วมในการประชุมสำคัญ ๆ ทำให้เขารู้สึกเหมือนได้อ่านหนังสือ เติมความรู้ใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา
แม้ในตอนเริ่มธุรกิจเขาจะพบกับคำปฏิเสธมากกว่าคำชม แต่มาถึงวันนี้ เขาได้เรียนรู้เรื่องการยืนระยะและรอจังหวะให้ถูกเวลาอย่างมีกลยุทธ์ ก็ทำให้เขาได้ทำสิ่งที่ตั้งใจในวันนี้

