11 กุมภาพันธ์ 2022
2 K

บ้านที่จากมา

ฉันโตพอจะรับรู้ว่าชุมชนไม่ได้มีเพียงภาพสวยงามของทุ่งข้าวเขียว สายลม และท้องฟ้า เบื้องหลังรอยยิ้มของผู้ที่ถูกเรียกว่าชาวบ้าน ยังมีน้ำตา หนี้สิน การถูกเอารัดเอาเปรียบ โครงสร้างอันบิดเบี้ยวภายใจในผู้คนและคำถามมากมายผลักให้ฉันเตรียมตัวและเตรียมใจ เก็บกระเป๋าเดินทางอีกครั้ง

ตามบัณฑิตอาสาไปเรียนรู้ความหมายของ ‘บ้าน’ กับคนกลับบ้าน ณ หมู่บ้านเล็ก ๆ จ.ลำปาง

ฉันตัดสินใจเป็นอาสาสมัครในวัย 24  ช่วงวัยที่เชื่อมั่นในกำลังกายและกำลังใจ แม้จะเติบโตมาในยุคสมัยที่ใครต่างสนใจการสร้างตัวตนของตนเองเพื่อความอยู่รอด แต่เสี้ยวหนึ่งของชีวิต ฉันตัดสินใจใช้เวลาสนใจผู้คนและโครงสร้างสังคม ภายใต้โครงการบัณฑิตอาสาสมัครจากแนวคิดและปณิธานของ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ หากชีวิตฉันจะพอเป็นประโยชน์ต่อใคร ๆ ได้บ้าง นอกจากความคิดฝันและแสวงหาอย่างอุดมคติ การใช้ชีวิตและลงมือทำ คือการพิสูจน์ตัวเองที่ดีที่สุด แม้เป็นการโยกย้ายอีกครั้ง แม้ไม่รู้ว่าจะต้องไปอยู่ที่ไหน หากที่นั่นชื่อว่าบ้านนอกหรือชนบท  ฉันไม่เคยกลัวเลย 

ก่อนออกเดินทาง

ตามบัณฑิตอาสาไปเรียนรู้ความหมายของ ‘บ้าน’ กับคนกลับบ้าน ณ หมู่บ้านเล็ก ๆ จ.ลำปาง

ก่อนถูกส่งไปเป็นอาสาสมัครในพื้นที่ชุมชน 3 เดือนแรก ฉันและเพื่อนร่วมรุ่นอีก 7 คน ในนามบัณฑิตอาสาสมัคร เราเรียนทฤษฎีเกี่ยวกับงานพัฒนาสังคม การเปลี่ยนแปลงของชนบท กระบวนการทำงานชุมชน ความหลากหลายของวัฒนธรรม รวมทั้งบทเรียนเพื่อปรับการใช้ชีวิตให้พร้อมเป็นอาสาสมัคร และทดลองใช้ชีวิตในชุมชน ตลอด 3 เดือนในวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เรื่องเล่า เรื่องราว ประสบการณ์จากคณาจารย์และรุ่นพี่ถูกถ่ายทอดให้หัวใจเราพองโต นับวันรอที่จะได้ลงพื้นที่ แม้ไม่รู้ว่าเราแต่ละคนนั้นจะได้ไปใช้ชีวิต 7 เดือนข้างหน้าที่ตรงไหนของประเทศไทย 

ตามบัณฑิตอาสาไปเรียนรู้ความหมายของ ‘บ้าน’ กับคนกลับบ้าน ณ หมู่บ้านเล็ก ๆ จ.ลำปาง

หมวก 3 ใบ กับภารกิจอาสาสมัคร

นอกจากหัวใจของอาสาสมัคร การเสียสละ การยอมรับความแตกต่าง การไปใช้ชีวิตในชุมชนในนามบัณฑิตอาสาสมัคร เรายังมีภารกิจหลักที่คอยเป็นเครื่องย้ำเตือนไม่ให้ไหวเอนไปกับอุปสรรค เป็นตัวกำหนดบทบาทและการวางตัว พวกเราเรียกว่าหมวก 3 ใบ ที่ต้องจำให้ขึ้นใจและสลับสวมให้ถูกเวลา หมวกใบที่ 1 คือบทบาทลูกหลานชาวบ้านในชุมชน  หมวกใบที่ 2 คือผู้ประสานงานโครงการที่รับมอบหมาย หมวกใบที่ 3 คือสมาชิกในองค์กรที่ลงไปปฏิบัติงาน 

ตามบัณฑิตอาสาไปเรียนรู้ความหมายของ ‘บ้าน’ กับคนกลับบ้าน ณ หมู่บ้านเล็ก ๆ จ.ลำปาง

แม้ในตอนแรกเราต่างอยู่ในสภาวะกล้า ๆ กลัว ๆ เมื่อได้ยินภารกิจที่ต้องลงไปปฏิบัติด้วยตัวคนเดียว แต่ก็ยังมีเรื่องให้หัวเราะทั้งน้ำตา เพราะพี่ ๆ บัณฑิตอาสาสมัครรุ่นก่อน ๆ ที่ผ่านการลงพื้นที่แล้ว มักเล่าให้ฟังว่าเมื่อลงไปอยู่ในหมู่บ้านจริง ๆ แล้ว ราวกับมีหมวกเป็นพันใบที่ต้องสวม มีหลายเรื่องให้เราต้องทำและรับผิดชอบ เราต้องมีสติและเลือกสวมให้เหมาะกับสถานการณ์ หมวกจะได้ช่วยบังแดดร้อนมากกว่าเป็นเครื่องประดับหรือเป็นภาระที่ต้องสวมไว้

คนกลับบ้าน

ตามบัณฑิตอาสาไปเรียนรู้ความหมายของ ‘บ้าน’ กับคนกลับบ้าน ณ หมู่บ้านเล็ก ๆ จ.ลำปาง

ก่อนเวลาที่ลงไปใช้ชีวิต 2 สัปดาห์ พวกเราบัณฑิตอาสาสมัครก็ได้รู้พื้นที่ปฏิบัติงานของตัวเอง นั่นเป็นเวลาไม่มากไม่น้อยเกินไปที่จะพอหาข้อมูลเพื่อเตรียมตัวก่อนเดินทาง ฉันได้ขึ้นเหนือ พื้นที่บ้านนากว้าว (กิ่ว) ม.4 ต.บ้านกิ่ว อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ปฏิบัติงานภายใต้โครงการ คนรุ่นใหม่ใส่ใจชุมชน องค์กรฮักกรีน (HugGreen)  เป็นกลุ่มคนทำงานพัฒนาในบ้านเกิด หมู่บ้านที่ฉันจะไปอยู่ เมื่อค้นข้อมูลก็ได้รู้ว่ามีชื่อเสียงอยู่บ้าง มีบันทึกไว้ในสื่อต่าง ๆ ทั้งบทสัมภาษณ์และรายการโทรทัศน์ ภาพการทำงานกับชาวต่างชาติ ดูเป็นหมู่บ้านที่พัฒนาไปไกลมากแล้ว ฉันแอบหวั่นใจ เพราะอาจไม่ใช่ชนบทในภาพฝันที่เงียบสงบและมีชาวบ้านในภาพจำ แต่เป็นชนบทที่มีคนกลับบ้านพร้อมกับความรู้ไปพัฒนาหมู่บ้าน

แต่นั่นคงเป็นโอกาสดีที่ฉันจะได้เรียนรู้งานพัฒนาของคนกลับบ้านตามหัวข้อที่ฉันสนใจ 

ตามบัณฑิตอาสาไปเรียนรู้ความหมายของ ‘บ้าน’ กับคนกลับบ้าน ณ หมู่บ้านเล็ก ๆ จ.ลำปาง

Pickbaanproject โครงการชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่กลับบ้าน 

กลุ่มฮักกรีน (HugGreen) หรือองค์กรที่ลงมาปฏิบัติงาน เป็นกลุ่มลูกหลานเกษตรกรที่กลับบ้านมาใช้ชีวิตและช่วยต่อยอดด้านการตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การท่องเที่ยวชุมชน ให้กับกลุ่มฮักน้ำจาง กลุ่มเกษตรอินทรีย์รุ่นพ่อแม่ พี่ ๆ ทุกคนในกลุ่ม แรกมารวมตัวกันทำงานในรูปแบบอาสาสมัคร ไม่มีเงินเดือนตอบแทนเหมือนพนักงานประจำ มีเพียงใจรักและแนวคิดที่อยากแบ่งปันสิ่งที่ตนเองมีให้กับคนรอบตัว 

เริ่มจากการเข้ามาช่วยงานด้านเอกสาร การทำมาตรฐานเกษตรอินทรีย์  การประสานงาน เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างคนในชุมชนและคนนอกชุมชน พี่ ๆ ในกลุ่มเรียกการใช้ชีวิตช่วงนี้ว่าเป็นเสมือนโครงการชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่กลับบ้าน 

ปิ๊ก ในภาษาถิ่นเหนือ หมายถึง กลับ และ Pick ในภาษาอังกฤษ หมายถึง การยกระดับ การเลือกสรร Pickbaan Project  คือโครงการชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่เลือกกลับมายกระดับบ้านเกิด มากกว่าการกลับมาอยู่บ้านแบบธรรมดา กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นลูกหลานตัวจริง เคยเติบโตและอาศัยอยู่ในพื้นที่ เรียกได้ว่าเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ช่วยต่อแล้วเติมเต็มงานพัฒนาชุมชน ความเข้าใจบริบทพื้นที่ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะไม่สร้างงานที่ฉาบฉวย เพื่อผลประโยชน์ชั่วคราวหรือส่งผลกระทบด้านลบให้กับพื้นที่ ถือเป็นจุดเด่นยิ่งของกลุ่มคนรุ่นใหม่กลับบ้าน

ตามบัณฑิตอาสาไปเรียนรู้ความหมายของ ‘บ้าน’ กับคนกลับบ้าน ณ หมู่บ้านเล็ก ๆ จ.ลำปาง

From H to N  Philosophy of HUGGREEN

“HUG ไม่ได้แปลแค่ว่า กอด และ GREEN ไม่ได้แปลแค่ว่า สีเขียว”

ก่อนเรียนรู้สิ่งอื่นใดในองค์กร อย่างแรกเราต้องเข้าใจความหมายของชื่อก่อน พี่โย ผู้ริเริ่มสร้างแนวคิดและพื้นที่กลุ่มฮักกรีน (HugGreen) เล่าว่าทุก ๆ ตัวอักษรก่อนประกอบเป็นชื่อ มีที่มาเกี่ยวโยงกับแนวคิดงานพัฒนาทั้งหมด HUGGREEN ไม่ใช่เพียงชื่อที่ตั้งขึ้นให้พ้องกับกลุ่มฮักน้ำจาง กลุ่มเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่เพียงอย่างเดียว 

HUG ไม่ได้แปลแค่ว่า กอด และ GREEN ไม่ได้แปลแค่ว่า สีเขียว มีอะไรซ่อนอยู่มากกว่าความหมายของการโอบกอดดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมรอบตัว และ H ถึง N มีความหมายที่ซ่อนอยู่เพื่อเป็นเป้าหมายการดำเนินกิจกรรมของกลุ่ม

ตามบัณฑิตอาสาไปเรียนรู้ความหมายของ ‘บ้าน’ กับคนกลับบ้าน ณ หมู่บ้านเล็ก ๆ จ.ลำปาง
ตามบัณฑิตอาสาไปเรียนรู้ความหมายของ ‘บ้าน’ กับคนกลับบ้าน ณ หมู่บ้านเล็ก ๆ จ.ลำปาง

H – Happiness ส่งเสริมให้ผู้ที่สนใจในการเกษตรอินทรีย์ได้มีส่วนร่วมกิจกรรมอย่างมีความสุข U – Understanding ช่วยสร้างความเข้าใจและให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจในเรื่องเกษตรอินทรีย์ G – Gender ส่งเสริมความเท่าเทียมในกลุ่มเกษตรกร G – Give ส่งเสริมให้เกิดสังคมการแบ่งปันในชุมชน R – Responsibility ส่งเสริมให้ทุกคนเกิดความรู้สึกรับผิดชอบ ต่อตัวเอง สังคม และสิ่งแวดล้อม ผ่านกิจกรรมที่ทุกคนได้ทำร่วมกัน E – Earth ส่งเสริมให้เกิดความตระหนักต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม รู้ถึงคุณค่า รวมถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม E – Engagement ส่งเสริมให้แต่ละภาคส่วนได้มีส่วนร่วม ผูกพันต่อชุมชน และพร้อมจะร่วมกันพัฒนาสังคมให้ยั่งยืนร่วมกัน N – Network ให้ความสำคัญต่อการทำงานร่วมกับเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

เห็นได้ว่าทุกความหมายที่ซ่อนอยู่ในตัวอักษร นอกจากจะเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมงานเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นประเด็นพัฒนาหลักในพื้นที่ ยังเป็นแนวคิดที่ใช้ได้กับชีวิตและการอยู่ร่วมกันในสังคม

ชีวิตในคอนเทนต์

วันแรกที่มาเป็นอาสาสมัคร มีเพียงหัวใจที่เปิดรับการเรียนรู้ จะว่าไปฉันเชื่อว่านี่เป็นชีวิตที่หลายคนใฝ่ฝัน การได้ทำงานในชุมชนเกษตรอินทรีย์ ตื่นเช้ามาเห็นแปลงผักเขียวและงดงามทุกวันจากการดูแลของชาวบ้าน 

ตามบัณฑิตอาสาไปเรียนรู้ความหมายของ ‘บ้าน’ กับคนกลับบ้าน ณ หมู่บ้านเล็ก ๆ จ.ลำปาง

ฉันพักในบ้านพักโฮมสเตย์ เป็นบ้านไม้หลังน้อยที่สร้างขึ้นเป็นหลังแรกของพี่เลี้ยงในพื้นที่ ร่องรอยภายในบ้านทำให้ฉันพอนึกภาพตามจากคำบอกเล่าได้ว่า บ้านหลังนี้เคยมีอาสาสมัครมาพักก่อนหน้าแล้วทั้งไทยและต่างชาติ พื้นที่ทำงานหลักของฉันเป็นร้านกาแฟเล็ก ๆ ในชุมชน ชื่อ Café HugGreen งานหลักเป็นการทำความรู้จักและเรียนรู้งานในคาเฟ่ เริ่มตั้งแต่ดูแลพื้นที่ ทำความสะอาด จนถึงทำเครื่องดื่ม นอกจากชาและกาแฟที่ต้องเรียนรู้ ชุมชนยังมีเครื่องดื่มผักเชียงดา ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผักพื้นบ้านในหมู่บ้าน มีทั้งสูตรดั้งเดิมและปรุงผสมสมุนไพร ที่คิดค้นจากการเรียนรู้และทดลองของคนในชุมชน  

ตามบัณฑิตอาสาไปเรียนรู้ความหมายของ ‘บ้าน’ กับคนกลับบ้าน ณ หมู่บ้านเล็ก ๆ จ.ลำปาง

นอกจากนี้บทบาทของบัณฑิตอาสาสมัครไม่เพียงแต่การทำงานในองค์กร เมื่อมีเวลาว่าง ฉันใช้เวลาช่วงหนึ่งปั่นจักรยานไปในหมู่บ้าน เพื่อเข้าไปเรียนรู้วิถีชีวิต เข้าร่วมงานประเพณีต่าง ๆ ทั้งงานบุญ งานขึ้นบ้านใหม่ พิธีสืบชะตา ฯ ส่วนหนึ่งเพื่อการเรียนรู้ และส่วนหนึ่งเป็นภารกิจมอบหมายในการบันทึกข้อมูลชุมชน  

บันทึกตลอด 7 เดือนของการเรียนรู้ชีวิต กับ #Pickbaanproject โครงการชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่กลับบ้าน

ในแต่ละวันดูจะเป็นชีวิตที่สุขสบาย ตื่นเช้ารับไอหมอก เดินไปเก็บผักมาทำอาหาร พักบ้านโฮมสเตย์ ใช้ชีวิตในพื้นที่คาเฟ่ แต่ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัวแบบนี้ อาจกล่าวได้เช่นนั้น ถ้าหากฉันมาในฐานะนักท่องเที่ยวหรืออาสาสมัครสุดสัปดาห์ แต่ในบทบาทบัณฑิตอาสาสมัคร เราต้องเตรียมพร้อมเสมอ ราวกับไม่มีวันเวลาหยุดตลอดระยะการปฏิบัติงาน 

บันทึกตลอด 7 เดือนของการเรียนรู้ชีวิต กับ #Pickbaanproject โครงการชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่กลับบ้าน

เราไม่ได้เดินทางมาเพื่อเป็นผู้เสพเพียงอย่างเดียว การลงมาใช้ชีวิตในชุมชนในฐานะอาสาสมัคร หลายสิ่งที่ได้รับจากชุมชน ทำให้เราไม่อาจเพิกเฉยแม้แต่วินาที สิ่งที่ต้องเรียนรู้อื่น ๆ เช่น การประสานงานกับหน่วยงานชุมชน การดูแลเอกสารให้กับชาวบ้าน การเขียนจดหมายให้องค์กร เก็บข้อมูลและทำโครงการร่วมกับเด็กและเยาวชน การรับและดูแลแขกที่เข้ามาพักและเรียนรู้ในชุมชน จึงไม่ใช่ภาพงดงามทุกขณะ วันเวลาทำให้เราได้เรียนรู้และเห็นความจริงมากขึ้น แต่ฉันไม่เคยรู้สึกว่าเสียเวลาเลยสักวินาทีที่นี่ แม้ฉันต้องเตรียมพร้อมและเพิ่มความรู้เสมอเพื่อการดำรงอยู่ในแต่ละวัน

บันทึกตลอด 7 เดือนของการเรียนรู้ชีวิต กับ #Pickbaanproject โครงการชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่กลับบ้าน

7 เดือนเหมือนฝัน

ก่อนออกเดินทาง ไม่มีใครรู้ว่า 7 เดือนข้างหน้า ชีวิตจะเป็นอย่างไร 

7 เดือนที่นี่มีทั้งเสียงหัวเราะและหยาดน้ำตา การลงมาอยู่ในชนบท ใช้ชีวิตอาสาสมัคร ไม่ใช่ภาพฝันเมื่อเราเดินทางมาถึงวันสุดท้ายที่ครบกำหนดปฏิบัติงาน กว่าจะผ่านครึ่งแรกของช่วงเวลาลงพื้นที่ ฉันได้แค่ขอบคุณทุกคนที่แม้ไม่ได้อยู่ใกล้ ๆ แต่ยังคอยรับฟังและให้กำลังใจ บ้านที่ฉันจากมา เพื่อน พี่ น้อง คณาจารย์ที่มอบโอกาสและเครื่องมือในการใช้ชีวิต ที่สำคัญที่สุดคงเป็นทุกชีวิตในพื้นที่ปฏิบัติงาน ชาวบ้าน เด็ก ๆ พี่เลี้ยงและพี่ ๆ ในองค์กร ที่มอบโอกาสให้ฉันได้เรียนรู้ ใช้ชีวิตและวันเวลาร่วมกัน มอบโอกาสให้ฉันได้ทำงาน เติบโต เป็นผู้รับและผู้ให้ 

เคยได้ยินมาว่าถ้าเรามีความสุข เวลาจะผ่านไปเร็ว 7 เดือนที่นี่จึงเหมือนพริบตาเดียว 

บันทึกตลอด 7 เดือนของการเรียนรู้ชีวิต กับ #Pickbaanproject โครงการชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่กลับบ้าน

อย่าพยายามตามหาความหมายของชีวิต จงใช้ชีวิต

ในช่วงแรกฉันเป็นเช่นหนุ่มสาวนักแสวงหา ใช่รู้ว่าชีวิตจริง ๆ นั้นเป็นเช่นไร ติดอยู่ในโลกความคิด ตรรกะและระแวงระวัง สังคมและแวดล้อมที่ฉันเติบโตมา บางครั้งราวกับถูกบีบอัดและผลักไสตลอดเวลา ไม่อาจดำรงอยู่ได้อย่างเบาสบาย เราใฝ่ฝันและคาดหวังความสำเร็จ อยากได้ มี เป็น เช่นคนอื่นอย่างเนรมิต เมื่อผิดหวังก็ล่มสลายอย่างง่ายดาย แหลกลาญเกินกอบกู้ อาจโทษสังคมบิดเบี้ยวที่หล่อหลอม อาจโทษหัวใจที่ไหวเอนของตนเอง 

วันหนึ่งในพื้นที่ปฏิบัติงาน พี่เลี้ยงบอกฉันว่า “อย่าพยายามตามหาความหมายของชีวิต จงใช้ชีวิต” 

แรกทีเดียวฉันไม่เข้าใจ ชีวิตที่ใช้ไปวัน ๆ นั้นจะเรียนรู้ได้อย่างไร หากวันเวลาผ่านไปอย่างไร้หลัก ปราศจากสิ่งเป็นเช่นคนอื่น ๆ เขาเป็น ต่อเมื่อฉันได้เรียนรู้ที่จะทำตามหัวใจและใช้ชีวิต อยู่กับชาวบ้าน เรียนและเลียนเอาจากเขา ฉันจึงเข้าใจสิ่งหนึ่ง สิ่งซึ่งเรียกว่า ‘ธรรมชาติ’ สิ่งที่สมควรให้ชีวิตได้เป็น ปล่อยให้ได้เป็น

บันทึกตลอด 7 เดือนของการเรียนรู้ชีวิต กับ #Pickbaanproject โครงการชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่กลับบ้าน

ถ้าเรามีความสุข เวลาจะผ่านไปเร็ว

บทเรียนสำคัญจากการมาเป็นอาสาสมัคร ใช่เพียงแนวคิดทฤษฎีในการใช้ชีวิตในชนบท ชุดความรู้ในการดำรงชีวิตที่เกี่ยวข้องกับงานพัฒนา งานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และความรู้ต่าง ๆ เป็นเพียงเครื่องมือให้ได้ใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายและสนุกขึ้น แต่การได้ลงมาใช้ชีวิตในสถานที่ที่ไม่อาจได้มีเวลาเตรียมตัวมาก่อน ผู้คนที่ไม่รู้จัก การดำรงอยู่และการสร้างสัมพันธ์บนฐานความเป็นมนุษย์ ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย การเรียนรู้ที่จะปรับตัว เปิดใจเห็นผู้คนอื่น ๆ มากกว่าตนเอง บทเรียนเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะโอกาสที่ได้เข้ามาเรียนรู้ การได้ใช้ชีวิตจริงลดทอนภาพจำอุดมคติ

ฉันเชื่อมั่นว่า ไม่ว่าวันเวลาจะผ่านไปนานเท่าไร แต่สำนึกอาสาสมัครจากช่วงหนึ่งที่เราได้ลงมาใช้ชีวิตในนามบัณฑิตอาสาสมัครจะอยู่ในใจของเราตลอด แม้ฉันอาจไม่ใช่อาสาสมัครที่สมบูรณ์พร้อมในทุกช่วงเวลา  

บันทึกตลอด 7 เดือนของการเรียนรู้ชีวิต กับ #Pickbaanproject โครงการชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่กลับบ้าน

ที่สำคัญ การมาอยู่กับคนกลับบ้าน ทำให้ฉันค้นพบความหมายของบ้านที่มากกว่าที่อยู่อาศัย ที่เกิดหรือเพียงที่เติบโต บ้านไม่ใช่เพียงสถานที่เดิมที่เราจดจำ คุ้นเคย หรือยึดติด บ้านเป็นความรู้สึกและสำนึกในใจบางอย่างที่ทำให้เราอบอุ่นเมื่อได้ใช้ชีวิต บ้านที่งดงามคงเป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันสร้าง เช่นเดียวกับ ครอบครัว ชุมชน สังคม ที่เป็นหน่วยใหญ่ขึ้นไป

เคยได้ยินมาว่าถ้าเรามีความสุข เวลาจะผ่านไปเร็ว มาถึงตรงนี้ฉันก็ยอมรับว่าเวลาของการเป็นอาสาสมัครกว่าครึ่งปีผ่านไปเร็วจริง ๆ ในช่วงชีวิตหนึ่ง เราได้คิดฝันถึงสิ่งใดบ้าง งานการใดจะมอบพลังให้เราหรือลดทอนพลังของเรา

อาจารย์ท่านหนึ่งกล่าวกับพวกเราเสมอว่า “ไม่มีสิ่งใดดำมืดหรือขาวบริสุทธิ์ ล้วนแล้วแต่ระคนปนกันเป็นสีเทา” การอยู่ร่วมอย่างไม่ตัดสิน ยอมรับในความไม่สมบูรณ์พร้อมทั้งตนเองและผู้อื่น เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราอยู่ร่วมกันได้ในสังคม สมบัติสำคัญของอาสาสมัคร อาจเพียงหัวใจความเป็นมนุษย์ ที่มีความรักความเข้าใจ ความเคารพในวิถีและตัวตนของผู้คนอื่น ๆ หากใช่ชุดความรู้มากมายเพื่อการเปลี่ยนแปลงยิ่งใหญ่ แต่ไร้ซึ่งความเมตตาอาทร 

บันทึกตลอด 7 เดือนของการเรียนรู้ชีวิต กับ #Pickbaanproject โครงการชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่กลับบ้าน

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

รดา วัชรพลชัย

อาสาสมัครไกลบ้าน ที่ใช้ชีวิตตามธรรมชาติและธรรมดาในชนบท