ธุรกิจ : บริษัท เอเซียแพค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด

ประเภทธุรกิจ : ออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าและบรรจุภัณฑ์ขนส่งจากกระดาษ

ปีก่อตั้ง : พ.ศ. 2528 

อายุ : 36 ปี 

ผู้ก่อตั้ง : วิสุทธิ์ ศรกาญจน์

ทายาทรุ่นสอง : นันทวุฒิ ศรกาญจน์ และ ณัชกมล เสถียรถิระกุล (หุ้นส่วน) บริษัท พิค อะ บ็อกซ์ บรรจุภัณฑ์ จำกัด (พ.ศ. 2563)

“ผมโตมาก็เห็นเศษกระดาษลูกฟูกกองเป็นภูเขา ซึ่งเป็นกระดาษสำหรับทำไส้ในกล่องลัง เราสนุกกับการเล่นมาก เพราะมันเหมือนกองทราย เราทั้งกระโดด วิ่งเล่นอยู่บนนั้น”

บรรยากาศที่ ฮัท-นันทวุฒิ ศรกาญจน์ ถ่ายทอดให้เราฟังเป็นการเปิดบทสนทนาที่พาเราย้อนกลับไปในความทรงจำกว่า 30 ปีที่เขามีต่อโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ย่านพระราม 3 ของพ่อ รากฐานสำคัญที่ผลักดันเขาให้ครุ่นคิดเกี่ยวกับธุรกิจบรรจุภัณฑ์ เรียนรู้ปัญหาความท้าทาย กลายเป็นจุดตั้งต้นของไอเดียธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรชื่อ Pick A Box ที่แก้ปัญหาทั้งหมดของธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบเก่า และเอาวิธีคิดบริหารแบบมหาชนมาใช้

โรงงานบรรจุภัณฑ์ของพ่อก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2528 ขับเคลื่อนด้วยความกล้าของ คุณพ่อวิสุทธิ์ ศรกาญจน์ อดีตพนักงานโรงงานถ้วยชามที่มองเห็นโอกาสธุรกิจไส้กระดาษลูกฟูกสำหรับล็อกสินค้า ซึ่งโรงงานของตัวเองต้องสั่งผลิตเป็นประจำ คุณพ่อวิสุทธิ์จึงลงทุนซื้อเครื่องจักรผลิตบรรจุภัณฑ์ลูกฟูกแม้จะใช้เครื่องไม่เป็น ไม่มีประสบการณ์การสร้างโรงงาน และเทรนพนักงานคนแรกด้วยการไปฝากโรงพิมพ์อื่นเลี้ยงดู

Pick a Box ทายาทรุ่นสองโรงงานกล่องลัง กับการสร้างธุรกิจใหม่ในวิกฤตโดยการบริหารแบบบ.มหาชน

ฟังดูเป็นจุดเริ่มต้นที่บ้าบิ่นไม่ใช่น้อย แต่แนวทางการทำธุรกิจนั้นไม่มีผิดถูกและไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว โรงงานบรรจุภัณฑ์ที่รับผลิตแค่ไส้ในบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกในวันแรก ขยับขยายกลายเป็นโรงงานกล่องที่รับงานทั้งงานพิมพ์ งานผลิต ให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมใหญ่ในช่วงระยะเวลา 10 ปีแรก ท่ามกลางบรรยากาศของเศรษฐกิจที่เฟื่องฟูในเวลานั้น 

จากกองกระดาษลัง

“ตอนที่ผมอายุห้าหกขวบ ประมาณ พ.ศ. 2535 เป็นช่วงบูมของธุรกิจบรรจุภัณฑ์ยุคแรกเลยครับ” ฮัทเล่า “ตอนนั้นเศรษฐกิจดีมาก ทุกอย่างบูมไปหมด ทั้งธุรกิจผลิตไปจนถึงส่งออก คนใช้เงินกันเยอะ จากตอนเริ่มต้นที่มีพนักงานประมาณสิบห้าคน ไต่ขึ้นไปถึงเจ็ดสิบถึงแปดสิบคน ในช่วงที่พีกที่สุด”

นอกจากการกระโดดโลดเต้นบนกองกระดาษแล้ว การเติบโตมากับโรงงานบรรจุภัณฑ์ฝากฝังอะไรไว้ในดีเอ็นเอของเขามากกว่าที่คิดไว้ นั่นคือสัญชาตญาณของการคิด การออกแบบโครงสร้าง จากการเฝ้ามองพ่อทำงานมานาน 20 ปี

“ตอนเด็ก ผมใช้เวลาอยู่บ้านตลอดช่วงปิดเทอมซัมเมอร์ เราก็เห็นพี่ๆ พนักงานที่อยู่กันแบบครอบครัวตามสไตล์โรงงานคนจีน และได้เห็นป๊านั่งออกแบบกล่องทั้งวัน ตอนนั้นไม่มีคอมพิวเตอร์ ป๊าใช้คัตเตอร์เล่มเดียวออกแบบกล่อง ใช้สมองคิดแล้ววาดออกมาเลย 

“ผมเคยเห็นจานดาวเทียมวางอยู่ที่บ้าน ตอนแรกผมก็สงสัยว่าซื้อมาทำไม ปรากฏว่ามีลูกค้ามาจ้างป๊าออกแบบกล่องดาวเทียมไทยคมเพื่อส่งออกไปอินเดีย เขารู้ว่าป๊าเก่งทำเรื่องกล่องล็อก แต่ป๊านอนไม่หลับอยู่สองถึงสามวัน เพราะคิดไม่ออก เพราะจานเดียวเทียมมันมีทั้งจาน เสา กล่องรับสัญญาณ แต่อยู่ดีๆ ป๊าก็คิดออกกลางดึกตอนตีสาม แล้วลุกขึ้นมานั่งตัดนั่งพับเลย” ฮัทเล่าถึงวีรกรรมการทำงานของป๊าอย่างสนุกสนาน 

“ตอนนั้นผมก็ไม่รู้สึกตัวหรอก แต่เหมือนทุกอย่างที่ป๊าทำมันซึมเข้าไปในตัวผมเอง ผมเลยชอบตัวต่อ เลโก้ กันดั้ม ชอบมองหลักการในการประกอบ ล็อกตรงไหน หมุนตรงไหน”

แต่โรงงานบรรจุภัณฑ์ของป๊าก็ต้องฝ่ามรสุมทางธุรกิจไม่ต่างจากโรงงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นวันที่วิกฤตต้มยำกุ้งมาเยือนใน พ.ศ. 2540 ทำให้โรงงานต้องลดขนาดลงจนเหลือพนักงานแค่ 20 คน วันที่โดนลูกค้ารายใหญ่เบี้ยวไม่จ่ายค่าจ้างจนทำให้ซวนเซไป แต่ป๊าก็ยังยืนหยัดดำเนินธุรกิจเรื่อยมาเพื่อหาเลี้ยงปากท้อง ในขณะเดียวกันนั้น ฮัทที่เฝ้ามองอยู่ได้แต่สงสัย ว่าทำไมพ่อจึงต้องอดทนทำงานหนักในอุตสาหกรรมแบบนี้ นั่นทำให้เขาเลือกเบนเข็มออกไปทำงานในธนาคาร และศึกษาด้านการเงินจนจบปริญญาโท เพื่อมองหาทางเลือกให้กับตัวเอง

โดยที่ไม่นึกไม่ฝัน ว่าวันหนึ่งจะได้หวนกลับมาที่จุดเริ่มต้นของทุกอย่าง คือกองกระดาษลังที่เห็นมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก

ทางเลือกบนทางแยก

Pick a Box ทายาทรุ่นสองโรงงานกล่องลัง กับการสร้างธุรกิจใหม่ในวิกฤตโดยการบริหารแบบบ.มหาชน

ในวันที่เรียนจบกลับมาจากสหราชอาณาจักร ฮัทพบกับทางแยกของชีวิตที่เกิดจากความท้าทายด้านสภาพเศรษฐกิจและการเมืองของไทยใน พ.ศ. 2556 ทำให้เส้นทางอาชีพด้านการเงินของเขาไม่ใช่ตัวเลือกปลอดภัยอย่างที่หวังไว้

“เวลาเราเรียนด้านการเงินในต่างประเทศก็สนุกครับ ได้ฝึก Critical Thinking เรียนรู้เรื่องการลงทุนในระบบเศรษฐกิจโลก แต่พอกลับมาไทย ช่วงนั้นมีวิกฤตในประเทศ มีการปฏิวัติ เศรษฐกิจอยู่ในขาลง ธุรกิจเกี่ยวกับการเงินหรือการปล่อยกู้ก็เริ่มน่ากลัว 

“ตอนนั้นเองถึงเริ่มมองกลับมาว่า ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่บ้านผมเป็นธุรกิจปลายน้ำ เวลาได้รับผลกระทบจะโดนหลังสุด เพราะยังไงทุกธุรกิจก็ต้องใช้บรรจุภัณฑ์ ผมเลยตัดสินใจว่าจะกลับมาช่วยธุรกิจที่บ้านดูสักตั้ง”

ฮัทสละบทบาทนักการธนาคาร กลับเข้าสู่กงสีของครอบครัวที่มีพ่อเป็นหัวเรือใหญ่ และได้เผชิญกับปัญหาคลาสสิกที่ทายาทธุรกิจทุกคนรู้สึกเชื่อมโยงได้ เมื่อคลื่นลูกใหม่กับคลื่นลูกเก่าเข้าปะทะกัน ฮัทเริ่มต้นมองหาทางเดินที่เป็นของตัวเองอีกครั้ง ทับทิม-ณัชกมล เสถียรถิระกุล แฟนสาวที่เฝ้ามองการเติบโตของฮัทมายาวนานตั้งแต่สมัยเรียน ได้เข้ามาสะกิดเขาให้มองเห็นศักยภาพในตัวเอง

“จริงๆ ตั้งแต่เรียนมหาลัยมาด้วยกัน ฮัทเป็นคนชอบคิดนอกกรอบ ตอนอยู่คณะ เขาเป็นคนครีเอตป้ายกิจกรรม เขาชอบศิลปะ ดีไซน์เวที แผ่นป้าย เราก็ถามเขาตลอดว่า ทำไมเธอไม่ไปเรียนทางนั้น

“จนจังหวะที่เขาเริ่มอยากทำธุรกิจอะไรสักอย่างของตัวเอง มันประจวบเหมาะกับเราที่ทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านการวางระบบให้บริษัทใหญ่มานาน ก็อยากเริ่มต้นทำอะไรเองด้วยเหมือนกัน เราสองคนเลยมานั่งหาข้อมูล และวิเคราะห์ด้วยกันอยู่เป็นปีว่าจะทำอะไรกันได้บ้าง ศึกษาทั้งเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร เพราะที่บ้านทับทิมมีธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตร เทกสตาร์ทอัพเพราะมันเป็นเทรนด์ของยุคสมัย แต่สุดท้ายเราก็กลับมามองที่ต้นทุนที่ฮัทมีอยู่ในตัวเอง คือความรู้เรื่องบรรจุภัณฑ์ แม้เขาจะไม่เคยรู้ตัวว่ามีอยู่ก็ตาม”

Pick a Box ทายาทรุ่นสองโรงงานกล่องลัง กับการสร้างธุรกิจใหม่ในวิกฤตโดยการบริหารแบบบ.มหาชน

มุมมองที่แตกต่าง

“ผมไม่เคยรู้ว่าตัวเองมองกระดาษไม่เหมือนคนอื่น” ฮัทว่า

“คนอื่นมองกระดาษหรือป้ายเป็นแผ่น แต่ผมมองที่โครงสร้างของมัน ขัดกันยังไง ทำอย่างไรให้ตั้งได้แข็งแรง พอคิดกันว่าเราน่าจะเริ่มจากต้นทุนที่เรามี ผมก็มาคิดต่ออีกว่า เวลาทำงานในโรงงานของป๊า มีหลายเรื่องที่ผมอยากทำแต่ยังไม่มีโอกาสได้ลอง หนึ่งในนั้นคือการทำบรรจุภัณฑ์ที่มีดีไซน์ซับซ้อนและการพิมพ์จำนวนน้อย เพราะโรงงานเรารับลูกค้าธุรกิจหรืออุตสาหกรรมใหญ่เป็นหลัก แบบค่อนข้างตายตัว ไม่มีการพิมพ์อะไรมากมาย เครื่องจักรของเราจึงไม่ได้ซัพพอร์ตการทำชิ้นงานละเอียดหรืองานจำนวนน้อยไปด้วย”

ฮัทและทับทิมจึงเห็นช่องว่างทางธุรกิจ 

“เราเอาข้อมูลนี้มาประกอบร่างกับเทรนด์ต่างๆ ที่เรารีเสิร์ชกันมา กลายเป็นคอนเซปต์ของโรงพิมพ์บรรจุภัณฑ์ ซึ่งเน้นเรื่องความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และมีบริการที่ใส่ใจกับความต้องการของลูกค้าให้มากที่สุด”

ทางเลือกบนทางแยกสำคัญในชีวิตของฮัท จึงเป็นการเก็บเกี่ยวเอาเมล็ดพันธุ์ประสบการณ์ด้านบรรจุภัณฑ์ที่เห็นมาตั้งแต่เล็ก มาประกอบร่างกับประสบการณ์ทางการเงินของตน และประสบการณ์ด้านการวางระบบธุรกิจของคนรัก เพื่อสร้างเป็นทางเดินใหม่ในแบบของตัวเอง จนกลายเป็นโรงงานบรรจุภัณฑ์หน้าใหม่ที่ชื่อ Pick A Box ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์มาแก้ปัญหาให้กับลูกค้า ทั้งงาน Customization บรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์แบรนด์ต่างๆ นวัตกรรมกล่อง SuperLock ปกป้องสินค้าที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ และใช้เทคโนโลยี Drop Test มาสร้างความมั่นใจว่ากล่องที่ออกแบบกับ Pick A Box นั้นไม่ว่าจะตกท่าไหน ก็ไม่ทำให้ของข้างในเสียหายแน่นอน

แนวทางธุรกิจใหม่นี้ไม่กระทบโรงงานเก่าของพ่อ แม้จะต้องหาฐานลูกค้าใหม่ทั้งหมด แต่พวกเขาตั้งใจจะทำสิ่งใหม่อย่างดีที่สุด

การเดินทางครั้งใหม่ในช่วงวิกฤต

แต่การตั้งไข่ในธุรกิจ Red Ocean อย่างสิ่งพิมพ์-บรรจุภัณฑ์ นั้นไม่ใช่งานง่าย เมื่อธรรมชาติของลูกค้าคุ้นชินกับการค้นหาเจ้าที่ให้ราคาถูกที่สุด โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์โลกไม่เป็นใจ ส่ง COVID-19 มาเป็นความท้าทาย จึงน่าสนใจว่าทั้งคู่ผ่านความท้าทายเหล่านี้มาได้อย่างไร

“ผมกับทับทิมวางแผนกันมาตั้งแต่ก่อน COVID-19 จะระบาด แต่ไม่นานหลังเครื่องจักรเครื่องแรกที่เราสั่งมาส่งถึงโรงงานก็มีประกาศล็อกดาวน์ในประเทศไทย ตอนแรกเราเครียดกันมาก แต่เมื่อมาลองทบทวนถึง Business Model ที่คิดกัน ถามตัวเองว่ามันยังไปต่อได้หรือไม่ในสถานการณ์นี้ คำตอบก็คือ ได้”

ทับทิมเล่าต่อไปถึงการเอาตัวรอดของโรงงานบรรจุภัณฑ์ใหม่ในวิกฤตการณ์ระดับโลก

“โชคดีที่เครื่องพิมพ์เครื่องแรกที่มาถึงเป็นเครื่องพิมพ์ระบบดิจิทัล ทำให้เราได้ทดลองงานสเกลเล็กก่อน ในวันที่ยังไม่มีอะไรพร้อมเลยสักอย่าง งานแรกของเราเป็นงานพิมพ์กล่องส่งยาให้กับโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งในตอนนั้นโรงพยาบาลเป็นศูนย์รับผู้ป่วย COVID-19 ทำให้ต้องขอความร่วมมือผู้ป่วยที่รับยาเป็นประจำให้รับยาทางไปรษณีย์แทน อันนี้เป็นงานการกุศล เราไม่ได้คิดเงินกับเขา แต่มันคือโปรเจกต์ที่ทำให้เราได้เรียนรู้และปรับตัวกับเครื่องจักร”

Pick a Box ทายาทรุ่นสองโรงงานกล่องลัง กับการสร้างธุรกิจใหม่ในวิกฤตโดยการบริหารแบบบ.มหาชน

โอกาสที่มาถึงพร้อมกับวิกฤตโรคระบาด คงหนีไม่พ้นเทรนด์การเติบโตของบรรจุภัณฑ์สำหรับขนส่ง ในวันที่ทุกคนออกจากบ้านได้ยากขึ้น การซื้อสินค้าออนไลน์ก็ขยายตัวตาม ฮัทเองใช้ทักษะนักการเงินที่มีอยู่ในตัววิเคราะห์เรื่องนี้ไว้ในใจ เขาจึงไม่ถอยแม้ธุรกิจสายการผลิตอื่นๆ จะได้รับผลกระทบจนต้องลดกำลังการผลิตลง

ส่วนทับทิมเองมองว่า นี่เป็นโอกาสที่ทำให้จุดเด่นของ Pick A Box แข็งแรงขึ้นไปอีก 

“เราเป็นโรงพิมพ์บรรจุภัณฑ์ที่ Customer-centric มากค่ะ ยิ่ง COVID-19 ทำให้การซื้อขายออนไลน์บูมกว่าที่เคยเป็นมา เรามีบริการครบวงจรเอาไว้รองรับลูกค้ารายย่อยหรือแบรนด์ร้านค้าออนไลน์ ตั้งแต่การใช้ประสบการณ์ของตัวเองในฐานะที่ปรึกษา วางแนวทางการตลาดให้ลูกค้า มีบริการให้คำปรึกษาฟรีอย่างใส่ใจโดยทีมบริการลูกค้ากว่าสิบคน และทีมกราฟิกสี่คนที่ทำบรีฟสองบรรทัดของลูกค้าให้กลายเป็นภาพได้ แก้แล้วแก้อีกจนลูกค้าพอใจโดยไม่คิดค่าบริการเพิ่ม ไปจนถึงดูแลการผลิตอย่างครบวงจรตามงบที่ลูกค้ามี

“เราเน้นเรื่อง Creativity กับ Innovation มากๆ และสอดแทรกเข้าไปในสินค้าและบริการด้วยเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นกล่อง SuperLock ที่นำ Know-how ของโรงงานป๊ามาพัฒนา เพื่อช่วยรักษาสภาพสินค้าภายในของลูกค้าให้ไม่บุบสลาย แถมยังผ่านการทำ Drop Test จนมั่นใจว่าหล่นแล้วหล่นอีกก็ไม่เป็นอะไร ตกมุมไหนก็ไม่แตก แล้วก็ใช้เทคนิคเคลือบที่ใช้ในงานพิมพ์มาใช้กับบรรจุภัณฑ์เพื่อให้เกิดกล่องกันน้ำได้ อันนี้ก็เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในประเทศไทย ที่เราต้องส่งของกันแม้วันฝนตก”

และอีกความต้องการหนึ่งของลูกค้ายุคใหม่ที่แบรนด์ต้องตอบโจทย์ให้ได้คือ เรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ฮัทขยายความกับเราว่า โรงงานของเขาจะเสนอให้ลูกค้าใช้กระดาษรีไซเคิลแล้วก่อนเสมอ รวมถึงมีทางเลือกกระดาษจากป่าปลูกหมุนเวียน หมึกพิมพ์ชนิดน้ำ และหมึกถั่วเหลืองให้ลูกค้าได้เลือกใช้ เพราะเชื่อว่าจะช่วยลดสารเคมีในกระบวนการผลิตไปจนถึงขั้นตอนการย่อยสลายของบรรจุภัณฑ์ให้กลับคืนสู่ผืนดินได้อย่างเป็นมิตร

“เหมือนเราเป็นหมอฟันเลยค่ะ เรารับฟังอาการว่าฟันผุตรงไหน ปวดตรงไหน จะใช้อะไรแก้ เลือกกระดาษแบบไหนจะตอบโจทย์ แล้วก็รักษาให้หาย คือจัดการผลิตกล่องให้ด้วย ตั้งแต่กล่องไปรษณีย์ กล่องพัสดุ กล่องเสื้อผ้า รองเท้า กล่องปฏิทิน ไปจนถึงกล่องเครื่องสำอาง กล่องอาหาร กล่องครัวซองต์ กล่องพวงมาลัยรถวินเทจที่ส่งขายต่างประเทศ 

“ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่เรามีโอกาสได้เจอลูกค้าจริงๆ เราเลยให้เวลากับแต่ละรายเต็มที่ ถึงไหนถึงกันเลย” รอยยิ้มของทับทิบช่วยเสริมให้เรารู้ว่า เธอเพลิดเพลินกับงานนี้มากเหลือเกิน

Pick a Box ทายาทรุ่นสองโรงงานกล่องลัง กับการสร้างธุรกิจใหม่ในวิกฤตโดยการบริหารแบบบ.มหาชน
Pick a Box ทายาทรุ่นสองโรงงานกล่องลัง กับการสร้างธุรกิจใหม่ในวิกฤตโดยการบริหารแบบบ.มหาชน

ปลูกสร้างกระดูกสันหลังของธุรกิจ

นอกจากเรื่องการผลิตและลูกค้า ปัญหาปราบเซียนต่อมาคือการหาทีมงานที่รู้ใจ ซึ่งฮัทแง้มกับเราว่า นี่เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เซอร์ไพรส์ เพราะแทนที่ COVID-19 จะเป็นวิกฤต กลับกลายเป็นโอกาสให้เขาได้คัดคนคุณภาพมาร่วมงาน

“ผมจำได้เลยว่าเราติดประกาศหน้าโรงงานแค่สองวันเท่านั้น แต่มีคนมาสมัครงานกับโรงงานใหม่แกะกล่องของเราเกือบสี่สิบคนตั้งแต่วันแรก เวลานั้นโรงงานส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ มีแต่จะลดวันผลิตลง พนักงานก็ได้รับเงินเดือนแค่เจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ ทำให้พวกเขาต้องมองหางานใหม่ แต่ด้วยงบประมาณที่เราวางกันไว้ เราสามารถจ่ายค่าจ้างได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์”

การได้พนักงานที่ทำงานในโรงงานสายการผลิตมาก่อน ย่อมเป็นผลดีสำหรับธุรกิจเริ่มใหม่ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นความท้าทาย ทั้งฮัทและทับทิมต้องทำงานหนัก กะเทาะเปลือกความเคยชินเดิมๆ เพื่อสร้างระบบการทำงานอย่างที่พวกเขาฝันไว้ให้เกิดขึ้นจริง

พวกเขาใช้แนวคิดแบบบริษัทใหญ่เข้ามาจัดระเบียบโรงพิมพ์เพิ่งสร้างแห่งนี้ตั้งแต่แรกเริ่ม เทรนพนักงานแบบ 1 ต่อ 1 ให้เข้าใจความสำคัญของระบบตรวจวัดประสิทธิภาพในการทำงาน การจัดการเอกสารอย่างมีระบบ เพราะเชื่อว่ารากฐานหลังบ้านที่ดี จะเป็นกุญแจสำคัญไปสู่ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้

Pick a Box ทายาทรุ่นสองโรงงานกล่องลัง กับการสร้างธุรกิจใหม่ในวิกฤตโดยการบริหารแบบบ.มหาชน
Pick a Box ทายาทรุ่นสองโรงงานกล่องลัง กับการสร้างธุรกิจใหม่ในวิกฤตโดยการบริหารแบบบ.มหาชน

“จริงๆ มันไม่ง่ายสำหรับผมนะครับ เพราะเดิมทีโรงงานที่บ้านเป็นระบบจีน หนึ่งคนทำทุกอย่าง แต่ผมรู้ว่าการมีระบบมันสำคัญ และจะช่วยให้เราเห็นปัญหาได้เร็ว แก้ปัญหาได้ตรงจุด ผมกับทับทิมเลยเป็นผู้บริหารที่ไม่ได้นั่งออฟฟิศ แต่เราลงไปทำงานควบคู่กับพนักงานทุกคน เพื่อให้เขาเห็นว่าเราจริงจังแค่ไหน”

ทับทิมเสริมพร้อมรอยยิ้มว่า “เราพยายามทำให้ระบบเป็นเรื่องสนุกให้ได้ รวมถึงการสร้างวัฒนธรรมที่ดี ให้พนักงานสื่อสารกันภายใน และเข้าใจกันให้มากที่สุด เราวางระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) และ KPI (Key Performance Indicator) เพื่อให้บริษัทและทีมงานพร้อมผลิต และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเสมอ”

แม้ในวันที่เราได้คุยกับทายาทและพาร์ตเนอร์ธุรกิจของเขานั้น เพิ่งผ่านวันครบรอบ 1 ปีของบริษัทมาได้ไม่นาน และพวกเขายังเผยให้ฟังว่า มีการปรับระบบภายในกันอยู่เสมอ แต่ก็เห็นได้ชัดว่า Pick A Box ก็เป็นธุรกิจที่ก้าวผ่านช่วงเวลาที่เริ่มต้นจากสถานการณ์ติดลบมาได้แล้วอย่างงดงาม 

Pick a Box ทายาทรุ่นสองโรงงานกล่องลัง กับการสร้างธุรกิจใหม่ในวิกฤตโดยการบริหารแบบบ.มหาชน

ทายาทรุ่นสองผู้ขอลองสยายปีกด้วยตัวเอง

“แม้ว่าป๊าจะไม่ได้เข้ามาช่วยในการสร้าง Pick A Box เลย แต่ป๊าก็มองดูอยู่ห่างๆ ครับ ในวันที่ผมทำงานกับเขา เราต้องยอมตามเขาตลอด แต่วันนี้พอเขาได้เห็นว่าเราต่อยอดสิ่งนี้ขึ้นมาเองได้ เขาก็ดูจะฟังผมมากขึ้นนะ” 

หลังจากเติบโตผ่านการเฝ้ามองโรงงานกล่องกระดาษของป๊าที่มีแต่ลูกค้ารายใหญ่มาอย่างยาวนาน ผ่านการบ่มเพาะและเพิ่มเติมทักษะ ประสบการณ์ที่หลากหลาย ได้พาร์ตเนอร์ทางธุรกิจที่เป็นส่วนประกอบใหม่ ทายาทรุ่นสองก็พร้อมจะลองสยายปีกด้วยตัวเองในที่สุด

“ถ้าถามว่าวันนี้ลูกค้าเยอะหรือยัง ก็บอกได้แค่ว่าค่อนข้างแน่นครับ และถ้าถามว่าเหนื่อยไหม ทุกวันนี้ผมเดินแค่ในโรงงานก็วันละหนึ่งหมื่นห้าพันก้าว

“ทั้งหมดนี้เพื่อให้ Pick A Box บรรลุเป้าหมาย ไม่ใช่เป็นแค่โรงงานผลิต แต่เป็นพาร์ตเนอร์ผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษที่ทำงานเคียงข้างลูกค้าให้คำปรึกษาและดูแลลูกค้าอย่างดีที่สุดทั้งในด้านความสร้างสรรค์และนวัตกรรมครับ”

ฮัทยิ้มบางและตอบคำถามของเราด้วยท่าทีพึงใจ ราวกับจะสื่อสารว่า แม้การเริ่มธุรกิจใหม่นี้จะเหนื่อยแค่ไหนก็เป็นความเหนื่อยที่คุ้มค่าอยู่นั่นเอง

Writer

Avatar

เกวลิน ศักดิ์สยามกุล

นักออกแบบ-สื่อสารเพื่อความยั่งยืน ที่อยากเล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านชีวิต บทสนทนา และแบรนด์ยาสีฟันเม็ดเล็กๆ ของตัวเอง

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน