The Cloud x การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

หลายคนบอกว่าจังหวัดเลยเป็นเมืองหนาวสุดในสยาม 

ถึงไม่ใช่ฤดูกาลท่องเที่ยว แต่อากาศของจังหวัดเลยก็อยู่ระดับที่สบายๆ และจะทวีความเย็นยิ่งขึ้นเมื่อล่วงเข้าสู่ช่วงท้ายปี จนกลายเป็นปลายทางของนักเดินทางต่างถิ่น ที่ถวิลหาอากาศเย็นท้าให้ลมไล้ผิวตามยอดภูต่างๆ 

แม้บางปีไม่หนาวที่สุดในประเทศ แต่ก็อยู่ในลิสต์ต้นๆ ของพื้นที่อุณหภูมิต่ำเสมอ

“แต่ปีนี้หนักมากเลยนะ เข้าฤดูฝนแต่กลับยังไม่มีฝน ปกติฤดูหนาวที่นี่จะเริ่มตั้งแต่ตุลาคมถึงพฤศจิกายน อยู่ดีๆ ก็มาหนาวเอาต้นปี เลื่อนมาตั้งแต่ธันวาคม มกราคม แล้วยังหนาวถึงกุมภาพันธ์ ทุกอย่างงงไปหมด ฤดูกาลมันเปลี่ยนไป” 

สัญญาณปัญหาสิ่งแวดล้อมจากปากเจ้าถิ่นอย่าง หนูดี-จิตชนก ต๊ะวิชัย เจ้าของบ้านสาวแห่ง ‘ดินแดน เพียง พอ สุข’ ทำเอาภาพในหัวของเราและคนต่างถิ่นที่วาดฝันภาพเมืองหนาวของอำเภอภูเรือ ชะงักไปชั่วครู่

จะไม่เชื่อก็กระไรอยู่

หนูดีเกิดในอำเภอภูเรือ เล่าเรียนขั้นพื้นฐานที่นี่และจากบ้านเกิดไปเรียนด้านสังคมสงเคราะห์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนบัณฑิตสาวจะย้อนเส้นทางเดิมมุ่งตรงมาบ้านเกิดอีกครั้ง เพื่อมาช่วยคุณแม่ดูแลที่พักของครอบครัว เรียกว่าเกือบทั้งชีวิตของเธอต้องอยู่ในเมืองท่องเที่ยวแห่งนี้ ตอนนี้เธอเป็นเกษตรกรที่ต้องพึ่งดินฟ้า นี่คงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและธรรมชาติที่กำลังเกิดขึ้นส่งผลต่อสิ่งที่เธอทำอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“เราจำได้ว่าตอนเด็กเราเห็นแม่คะนิ้งบ่อยมาก จากนั้นก็เริ่มหาย มันไม่หนาวเท่าเดิม เลยเริ่มมีข้อสงสัยกับคำว่า หนาวสุดในสยาม ซึ่งตอนนี้ที่ที่เราอยู่มันไม่ใช่แล้ว” เธอสำทับถึงสิ่งที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นหลายปีมานี้

ดินแดน เพียง พอ สุข นาข้าวอินทรีย์และคาเฟ่ Zero Waste ที่ตั้งใจให้ จ.เลย ไร้ขยะได้สักวัน

ด้วยหลากหลายคำเตือนจากธรรมชาติ หนูดีจึงคิดเปลี่ยนแปลง โดยเริ่มจากภายในบ้านของตัวเองก่อน หวังใจว่าเมื่อคนอื่นๆ ให้ความสนใจ และขยายออกไปเป็นวงกว้าง ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นอาจทุเลาลงบ้าง ผ่านแนวคิดรักษ์โลกหลากหลายวิธี ทั้งวิถีเกษตรอินทรีย์ที่ไม่พึ่งสารเคมี การลดขยะและขยะเศษอาหารในพื้นที่ด้วยหลักการ Zero Waste และ Zero Food Waste รวมถึงความพยายามปลูกจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมให้กับเยาชนในพื้นที่และแขกเหรื่อที่มาเยือน

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในพื้นที่ที่เรียกว่า ‘ดินแดน เพียง พอ สุข

ดินแดน เพียง พอ สุข

ดินแดน เพียง พอ สุข ก่อรูปจาก ‘ภูเรือเรือนไม้’ รีสอร์ตขนาดกะทัดรัด แล้วขยับขยายเป็นคาเฟ่ พร้อมศูนย์การเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมและเกษตรอินทรีย์ จะเรียกว่าสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและการเกษตรร่วมสมัยก็ใช่

แปลงนารอบบ้านค่อยๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนแห่งนี้ 

เริ่มแรกมีเพียง 3 ไร่ ปัจจุบันมีอาณาเขตรวมกันขึ้นเลข 2 หลัก ซึ่งหนูดีปักหมุดหมายเริ่มต้นตั้งแต่ 10 ปีก่อน สมัยที่เธอเรียนจบแล้วกลับมาทดลองทำการเกษตรอย่างมือสมัครเล่น เพราะพื้นที่รอบบ้านล้อมด้วยนาข้าวสีเขียวขจีเป็นทุน หากสาวภูเรือคนนี้ทำอย่างอื่น คงดูผิดแผกจากวิถีกสิกรรมดั้งเดิมของชาวภูเรือที่เธอเห็นมาจนชินตา

“ตอนได้ที่ดินมา ข้างล่างเป็นทุ่งนาหมดเลย เราไม่สามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ตรงนี้เป็นอย่างอื่นได้ ถ้าเราถมเป็นที่พักหรือทำการเกษตรที่ไม่เกี่ยวกับนา มันน่าจะกระทบนาแปลงใหญ่ของคนอื่นแน่ๆ เพราะจุดที่เราอยู่คือทางลาดภูเขา ดินเราอาจจะไหลเข้านาของเขาก็ได้ บวกกับความรู้สึกที่อยากทำการเกษตร ก็เลยตัดสินใจทำนาตรงที่ผืนนี้”

ดินแดน เพียง พอ สุข นาข้าวอินทรีย์และคาเฟ่ Zero Waste ที่ตั้งใจให้ จ.เลย ไร้ขยะได้สักวัน

ถึงจะอยู่ในแผ่นดินที่คนในพื้นที่ทำเกษตรกรรมโดยเฉพาะปลูกข้าวเป็นอาชีพหลักมานมนาน แต่สองคนแม่ลูกแทบไม่มีความรู้ด้านนี้เลย ในขวบปีแรกของความคิดริเริ่ม ‘อยาก’ ลองทำนาแบบคนที่จับพลัดจับผลูได้ผืนนามา หนูดีตัดสินใจใช้วิถีออร์แกนิกร้อยเปอร์เซ็นต์ และเลือกใช้การทำนาแบบโยนกล้า ซึ่งเป็นวิธีใหม่มากในขณะนั้น

“มันน่าจะทุ่นแรงเราที่เป็นผู้หญิงและแม่ที่เป็นคนเกือบชราได้” เธอเล่าติดตลก

แต่ย้อนกลับไปช่วงแรกของการฟื้นฟูสภาพดินไม่ใช่เรื่องง่าย 

จากนาข้าวเดิมที่ใช้สารเคมีในการดูแลสู่นาข้าวอินทรีย์ หนูดีทดลองเปลี่ยนแปลงอย่างหักดิบ ผลผลิตจึงออกมาน้อยจนน่าตกใจ กว่าจะเริ่มเข้าที่เข้าทางก็ต้องรอหลังจากนั้นอีกหลายปี ความยากอีกอย่างคือการดูแลให้ข้าวในนาปราศจากสารเคมีจากเพื่อนบ้านข้างเคียง ซึ่งพวกเขายังจำเป็นต้องใช้วิธีการแบบเก่าอยู่เพื่อให้ได้ผลผลิต

“นารอบข้างเราเขายังเป็นนาเคมีอยู่ มองไปไม่กี่แปลงก็ฉีดยาฆ่าหญ้ากันหมด เราเลยต้องหาวิธีป้องกันไม่ให้สารเคมีไหลเข้ามาในนา โดยทำคันนาให้กว้างขึ้น บำบัดดิน แล้วก็ใช้พืชดูดซับสารเคมี อย่างกล้วย มะละกอ”

ดินแดน เพียง พอ สุข นาข้าวอินทรีย์และคาเฟ่ Zero Waste ที่ตั้งใจให้ จ.เลย ไร้ขยะได้สักวัน

น่าสนใจว่าทั้งคู่เริ่มต้นโดยมีเพียงอินเทอร์เน็ตและรายการโทรทัศน์เป็นคุณครูคอยแนะนำ สองแม่ลูกค่อยๆ ปรับปรุงกันเองมาเรื่อยๆ พร้อมกับซื้อที่นาเพิ่มขึ้นจากคนในละแวกใกล้เคียง หลังจากนั้นจึงขอความช่วยเหลือด้านองค์ความรู้และพันธุ์ข้าวต่างๆ จากปราชญ์ชาวบ้านที่มีความรู้เรื่องการทำนาแบบอินทรีย์อย่าง อาจารย์เชาว์วัฒน์ หนูทอง แห่งศูนย์เรียนรู้กสิกรรมไร้สารพิษละโว้ธานี จังหวัดลพบุรี และผู้มีความรู้อีกหลายท่าน โดยนำวิธีการที่ได้มาปรับใช้ให้เข้ากับพื้นที่ของตัวเอง จนปลุกปั้นดินแดน เพียง พอ สุข ขึ้นมา ปัจจุบันผืนนาของที่นี่มีข้าวหลายชนิด เช่น ข้าวกล้องพันธุ์สังข์หยดอินทรีย์ ข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่ มีปลูกทั้งนาปรังและนาปี ด้วยการดูแลแบบออร์แกนิกอย่างเป็นระบบ

ผลลัพธ์ที่ได้คือความสมบูรณ์ของระบบนิเวศในพื้นที่อย่างเห็นได้ชัด

“หลังจากเราเริ่มปรับระบบนิเวศได้แล้ว ก็ทำให้บรรยากาศดีขึ้น อากาศดีขึ้น พอน้ำหลากปลาก็มา นกก็ชอบ ตอนกลางคืนก็มีกบเขียด” เธอพูดถึงความสำเร็จที่ได้รับ เสมือนดอกผลที่งอกเงยกำลังกระซิบว่าที่ลงแรงไปไม่สูญเปล่า

คาเฟ่ปลายนา ที่อยากให้ จ.เลย ไม่มีขยะ

ดินแดน เพียง พอ สุข นาข้าวอินทรีย์และคาเฟ่ Zero Waste ที่ตั้งใจให้ จ.เลย ไร้ขยะได้สักวัน

ฟากหนึ่งของดินแดน เพียง พอ สุข ปันส่วนเป็นคาเฟ่เล็กๆ ไว้ต้อนรับผู้แวะพักก่อนเดินทางต่อไปยังอุทยานแห่งชาติภูเรือ ได้จิบกาแฟทอดสายตากับวิวต้นข้าวเขียวขจีสุดสายตา และชายนาจรดขอบเชิงเขาที่อยู่ไกลออกไป 

คาเฟ่ดีมีนา (Cafe De Mena) เกิดขึ้นจากสะพานโยนกล้าข้าวกลางนา แลนด์มาร์กประจำคาเฟ่ที่กลายเป็นจุดถ่ายรูปยอดฮิต แต่เดิมทีสะพานไม้นี้สร้างขึ้นเพื่อใช้ในกิจกรรมการเกษตร จากการหาข้อมูล หนูดีพบว่าหากโยนข้าวจากที่สูง วิถีการโยนจะทำให้กล้าข้าวไปได้ไกลกว่าบนพื้นดิน เมื่อมีคนแวะมาขอถ่ายภาพกับสะพานนี้บ่อยเข้า จึงเกิดไอเดียเปิดเป็นร้าน ที่เสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ โดยหยิบจับของที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาเป็นวัตถุดิบหลัก

ดินแดน เพียง พอ สุข นาข้าวอินทรีย์และคาเฟ่ Zero Waste ที่ตั้งใจให้ จ.เลย ไร้ขยะได้สักวัน

ถ้ามาเยือนจะได้พบมื้ออาหารที่ใช้ข้าวปลอดภัยไร้สาร ผลิตผลจากนาที่เห็นด้านหน้า เป็นข้าวหลากสีจากข้าวต่างพันธุ์ พืชผักที่ส่งตรงจากแปลงผักด้านหลัง เธอตั้งใจคำนวณพื้นที่ของแปลงและจำนวนสมาชิกผักสวนครัวให้พอดีกับการใช้ในร้านอาหาร ไม่ทำเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ โดยต้องการให้ลูกค้ามั่นใจว่าจะได้ผักสดใหม่และปลอดภัย

“เช้ามาพี่ๆ ในครัวก็จะไปเก็บกะเพรา จิงจูฉ่าย หอม พริก ซึ่งเป็นผักที่ใช้วันต่อวัน ถ้าอันไหนใกล้จะหมดก็ต้องเตรียมปลูกใหม่ บางอย่างเป็นพืชผักตามฤดูกาล อย่างฤดูก่อนมัลเบอร์รี่เยอะมาก เราก็เอามาทำขนม ส่วนเมนูของที่นี่ไม่มีรูปให้ดู เพราะเมนูค่อนข้างสวิง แล้วแต่ผลผลิตที่ได้ ที่สำคัญ เราอยากให้คนได้กินอาหารตามฤดูกาลจริงๆ”

หนูดีออกตัวว่า ด้วยเหตุผลด้านการควบคุมคุณภาพและขนาดพื้นที่ เธอยังไม่มีกำลังในการทำสวนผักขนาดใหญ่เชิงพาณิชย์ แต่หากมีผลผลิตพอแบ่งปัน เธอจะรวบรวมผักผลไม้จากสวนอินทรีย์หลังบ้านจับใส่ลงกระทงใบตอง พร้อมให้ชื่อเก๋ไก๋ว่า ‘กระด้งผักบ้านนา’ แถมเขียนไกด์เมนูจากผักแต่ชนิดติดไปด้วย ซึ่งเดินทางจากเชิงภูถึงปากประตูบ้าน แบ่งปันให้ลูกค้าได้นำไปทำอาหารจานสุขภาพได้เองที่บ้าน ในช่วงกักตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ดินแดน เพียง พอ สุข นาข้าวอินทรีย์และคาเฟ่ Zero Waste ที่ตั้งใจให้ จ.เลย ไร้ขยะได้สักวัน

พอกลับมามองอีกมุมหนึ่ง วิธีการปลูกพืชผลที่วางแผนปลูกไว้แบบพอกินพอใช้ หรือหากเหลือเกินกินก็แบ่งปันให้กับลูกค้า เป็นอีกวิธีง่ายๆ ที่ช่วยหลีกเลี่ยงการสร้างขยะเศษอาหารที่เกิดขึ้นในดินแดน เพียง พอ สุข ได้ไม่น้อย

อีกหนึ่งความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม คือความพยายามลดจำนวนขยะพลาสติกในร้านให้ได้มากที่สุด เริ่มจากแก้วพลาสติกสู่แก้วกระดาษ จากหลอดพลาสติกสู่หลอดฟางข้าว เธอทดสอบด้วยการซื้อหลายๆ แบบ แล้วลองมาปักทิ้งไว้เพื่อรอดูการย่อยสลาย หนูดีเน้นกับเราว่า การดื่มน้ำในคาเฟ่หนึ่งครั้งสร้างขยะอย่างน้อยถึง 3 ชิ้น 

เธอจึงลองใช้วิธีข้างต้นนั้นทันที เพื่อช่วยลดขยะให้กับโลกมากที่สุด ผ่านการคิดแคมเปญรักษ์โลกใหม่ๆ ออกมา เช่น ชวนลูกค้าลดการใช้วัสดุที่ไม่จำเป็น หันมาใช้หลอดฟางข้าวจากธรรมชาติหรือไม่ก็เลี่ยงฝาปิดแก้ว

ดินแดน เพียง พอ สุข นาข้าวอินทรีย์และคาเฟ่ Zero Waste ที่ตั้งใจให้ จ.เลย ไร้ขยะได้สักวัน

“ฝาปิดเราก็ไม่ปิดให้ในทันที เพราะว่าเราสังเกตพฤติกรรมผู้บริโภค ถ้าดื่มหมดแล้วก็ไม่จำเป็นต้องใช้ฝาปิด แต่ถ้าลูกค้าจะกลับค่อยมารับฝาปิด มันให้ทีหลังได้โดยที่เราไม่ต้องเพิ่มภาระให้กับโลก ตอนนี้ก็เลยเหลือขยะแค่แก้วกับหลอด ทุกอย่างย่อยสลายได้ ส่วนพวกกล่องขนมก็พยายามใช้ที่ย่อยสลายได้เหมือนกัน

“เราพยายามทำทุกอย่างให้เป็นปัจจุบัน ใช้คำพูดเชิญชวนมากกว่า พยายามทำในบ้านก่อน เราต้องทำได้ก่อน เราถึงจะพูดได้ เสียงถึงจะดังขึ้น ถ้าเรายังทำไม่ได้ เสียงไม่มีทางดัง เราคิดว่ามันจะใหญ่ขึ้นได้ มันต้องสร้างอิมแพค ต้องมีใครสักคนที่มีองค์ความรู้ ไม่ใช่แค่รู้สึกว่าเราชอบแบบนี้แล้วเราทำ ถ้าเกิดมีคนที่เข้ามา เรายินดีเป็นพื้นที่ให้ มาทำเลย ทำยังไงให้เมืองท่องเที่ยวเป็นเมือง Zero Waste ได้จริงๆ” หนูดีเล่าความตั้งใจด้วยน้ำเสียงและแววตามุ่งมั่น

แต่กระนั้น เธอก็ยังแอบทิ้งท้ายว่า จะดีกว่าถ้าหากลูกค้าช่วยกันใช้แก้วที่ดื่มในร้าน

ดินแดนนี้เป็นมิตรกับมนุษย์และธรรมชาติ

“เป็นมิตรกับโลกใบนี้ เป็นมิตรกับมนุษย์และระบบนิเวศทั้งหมด ที่สำคัญ มนุษย์ต้องไม่ทำลายธรรมชาติ” 

คำนิยามของดินแดนนี้ดูยิ่งใหญ่ แต่หลังจากที่เราได้พูดคุยกับหญิงสาวเจ้าของบ้าน ก็รู้สึกได้ว่าสิ่งที่เธอตั้งใจไม่ไกลเกินจริงนัก ความคิดรักษ์โลกและเป็นมิตรกับทุกสรรพสิ่งล้วนเกิดจากสิ่งที่เธอประสบพบเจอมาจากหลากหลายวาระ ทั้งการเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่นที่เห็นมาตลอดตั้งแต่เด็ก รวมถึงประสบการณ์จากนอกพื้นที่ด้วย

 “ตั้งแต่เราเริ่มดำน้ำ มันทำให้เราเห็นว่าสิ่งของต่างๆ ลงไปอยู่ในทะเลได้หมดเลย และทุกครั้งเราก็จะเอาถุงไปเก็บขยะพวกนั้นด้วย เพราะเรารู้สึกว่าทุกอย่างมันไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ สิ่งที่เราทิ้งหรืออะไรก็ตาม ไม่ได้กระทบแค่มนุษย์ แต่กระทบสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่เขาอยู่บนโลกเดียวกันกับเราด้วย” หนูดีเล่าถึงปัญหาที่กลายเป็นจุดเปลี่ยน

ด้วยเหตุนี้ภายในดินแดน เพียง พอ สุข จึงพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้เราอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้โดยไม่ทำร้ายกันในทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้น หนูดีเล่าให้เราฟังว่าพอลงมาทำเกษตรอย่างเอาจริงเอาจัง แค่ก้นบุหรี่หรือเศษพลาสติกที่ตกลงไปในนาข้าวก็ถือว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม ถ้าหากลดขยะได้ ปัญหาเหล่านี้ก็น่าจะหมดไป จึงนำไปสู่ความตั้งใจแยกขยะออกเป็นประเภทอยากละเอียดยิบ อาทิ น้ำเหลือทิ้ง เศษอาหาร ฝาหรือช้อนพลาสติก หลอดกระดาษ ขยะติดเชื้อ ฯลฯ

อาจเพราะหนูดีสนิทกับธรรมชาติจนเข้าใจความต้องการของพืชพันธุ์ในบ้าน เธอจึงมีภารกิจเพิ่มคุณค่าจากเศษขยะในบ้านด้วยวิธีสนุกสนาน น่าเอาเยี่ยงเอาอย่าง หยิบเอานู่นนิดนี่หน่อยมาแปรรูป และนำไปใช้ต่อยอดในงานเกษตรอินทรีย์ได้เสียหมด ไม่ว่าจะเป็นถ่านไบโอชาร์ วัสดุชีวภาพที่มีคุณประโยชน์ช่วยบำรุงดินได้ดีเยี่ยม เธอนำเอาแกลบออร์แกนิกจากโรงสีข้าวขนาดเล็กในบ้าน มาแปลงโฉมใหม่ กลายเป็นหนึ่งในวัตถุดิบทำปุ๋ยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ดินแดน เพียง พอ สุข นาข้าวอินทรีย์และคาเฟ่ Zero Waste ที่ตั้งใจให้ จ.เลย ไร้ขยะได้สักวัน

ส่วนขยะเศษอาหาร หรือ Food Waste ที่เกิดขึ้นในคาเฟ่ก็ไม่น้อยหน้าขยะพลาสติก หนูดีไม่มัดลงถุงดำทิ้งให้เสียเปล่า เธอจัดการแยกออกเป็นประเภทๆ แล้วจึงนำไปทำให้เกิดประโยชน์มากขึ้นตามแนวทาง Zero Food Waste ด้วยการลดปริมาณขยะเศษอาหารให้เหลือน้อยที่สุด ผลพลอยได้คือปุ๋ยหมักชีวภาพที่มีวัสดุหลักเป็นเศษผักผลไม้จากในครัว โดยใช้ตัวช่วยการย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ที่ได้มาจากวัสดุธรรมชาติ อย่างจาวปลวกและหน่อกล้วย นอกจากนี้ยังมีจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง อีกหนึ่งสารอาหารบำรุงพืชซึ่งได้จากเศษเปลือกไข่ไก่จากในครัวมาใช้เป็นหัวเชื้อด้วย

อ้อ ลืมบอกไปอีกอย่าง ในดินแดน เพียง พอ สุข ยังมีสมาชิกเป็นน้องควายอีก 4 ตัว ทำหน้าที่เป็นทีมงานช่วยผู้ผลิตวัตถุดิบทำปุ๋ยชั้นดีให้อีกหลายแรง โดยส่งมอบมูลจากอาหารออร์แกนิกประจำวัน เสร็จแล้วเปลี่ยนเป็นปุ๋ยที่ตีตรา ‘ดดพพส.’ ใช้ดูแลพืชผักในสวนของตัวเอง และแบ่งปันให้กับเพื่อนๆ ชาวออร์แกนิกได้นำกลับไปดูแลต้นไม้ในบ้าน โดยมีกติกาคือขอถุงกระดาษใส่เมล็ดกาแฟที่ใช้แล้วเพียง 10 ใบ มาแลกกับปุ๋ยได้โดยไม่คิดสตางค์ เพราะเธอก็จะนำเอาถุงกระดาษเหลือใช้มาใส่ปุ๋ยไว้รอส่งต่อให้กับคนอื่นๆ อีกทีหนึ่ง โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มการใช้ถุงพลาสติก

“เรารู้สึกว่าทุกอย่างมันเริ่มทำได้จากตัวเรา อยากให้ลองทำเรื่องยากๆ ดูก่อน แม้มันจะเสียเวลาในตอนแรก แต่ท้ายสุดมันจะกลายเป็นเรื่องปกติและติดเป็นนิสัย” เธอฝากคำแนะนำสำหรับมือใหม่อยากลดสารพัด Waste

Happy Life, Happy Land

สาวภูเรือตรงหน้าเราเอ่ยปากว่าช่วงนี้ สถานการณ์โควิด-19 ทำเอากิจกรรมต่างๆ ภายในต้องหยุดชะงักพักไป แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นกว่านี้ เวิร์กช็อปสนุกๆ จะกลับมา ไม่ว่าจะเป็นงานหัตถกรรมทอผ้าฝ้ายกับคุณยายนักทอมือฉมัง  ทอเสื่อจากต้นกกที่ปลูกในพื้นที่ หรือระบายสีที่ทำจากวัสดุธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่น ทั้งสีสันสดใสจากดอกไม้หลากชนิด สีหม่นจากดิน และสีดำจากถ่าน

“เราปลูกดอกไม้ไว้เต็มเลย ดาวกระจาย ดอกกุหลาบ อัญชัน” เธอบอกใบ้สีผ่านชนิดของดอกไม้ในบ้าน

แต่ก็มีบางกิจกรรมที่ไม่หยุดไปพร้อมโรคภัยตัวร้าย คืองานด้านเกษตรกรรมที่ยังคงดูแลเป็นปกติ เป็นวัฏจักรหมุนเวียนที่ทำให้บรรยากาศของดินแดนแห่งนี้ยังมีชีวิตชีวาอยู่ตลอด

“เกษตรหมุนเวียนยังมีอยู่เรื่อยๆ ทำอยู่ตลอดเวลา ช่วงนี้ทำปุ๋ย ช่วงต่อไปปรับปรุงดิน ต่อไปเดี๋ยวดำนา โยนนา มีเกี่ยวข้าว ใส่ปุ๋ย มีถอนหญ้า ดายหญ้า ทำอยู่ตลอดเวลา ถ้าเกิดเราเริ่มให้คนปฏิสัมพันธ์กันเยอะขึ้น ระหว่างปราชญ์ชาวบ้านกับนักท่องเที่ยว กิจกรรมจะกลับมา แต่เราอยากให้จองเป็นกรุ๊ปส่วนตัวล่วงหน้าไว้ก่อน”

เมื่อปีก่อน ดินแดน เพียง พอ สุข มีกิจกรรมใหม่ๆ ที่จัดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราว อย่างโครงการ ‘Work and Travel’ เปิดโอกาสให้เยาวชนมาเป็นเกษตรกรอาสาสมัคร ลองใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ ช่วยงานตามความถนัด พร้อมกับเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ที่ปลอดภัยกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ทำนาอินทรีย์ เลี้ยงควาย เลี้ยงไก่ ทำปุ๋ย จนถึงช่วยงานในคาเฟ่ดีมีนา

“เราคุยกับเด็กเพื่อให้เขาเห็นความแตกต่างระหว่างเกษตรเคมีและเกษตรอินทรีย์ ซึ่งแต่ละอันก็มีข้อดีข้อเสีย พวกเคมีอาจจะได้ผลผลิตไว แต่มีปัญหาต่อสุขภาพและระบบนิเวศ เราทำแบบอินทรีย์อาจจะช้าและใช้แรงเยอะ

“ซึ่งเราพยายามเสนอทางเลือกให้กับเขาตั้งแต่แรก ให้เขาค่อยๆ เก็บเป็นประสบการณ์ของเขาเอง แน่นอนว่าเราบังคับเขาไม่ได้ เขาอาจจะชอบแบบที่พ่อแม่เขาทำ หรืออาจจะสนใจแบบที่เราทำก็ได้” หนูดีเล่าที่มาที่ไป

ส่วนอีกไอเดียบรรเจิดนอกจาก Work and Travel แล้ว คือ ‘Work from ภูเขา’ เธอเต็มใจเปิดบ้านให้เหล่าพนักงานออฟฟิศ ที่จำเป็นต้อง Work From Home ในช่วงโควิด-19 เปลี่ยนสถานที่ทำงานจากผนังห้องสี่เหลี่ยมสุดอุดอู้ มาที่จังหวัดเลย ปล่อยให้ภูเขา สายลม และแสงแดด ช่วยเติมเต็มแรงกายแรงใจในการทำงานให้สุขเกินร้อย

จริงๆ แล้ว ดินแดนแห่งนี้ยังมีกิจกรรมอีกมากโข ตามแต่ช่วงเวลาที่วัตถุดิบและความพร้อมของหลายๆ สิ่งจะเอื้ออำนวย ไปเดือนนี้อาจไม่เหมือนเดือนก่อน ไปอีกครั้งอาจจะเจอกิจกรรมใหม่ๆ ที่หนูดีตั้งใจสร้างเพื่อผู้มาเยือน

สุขที่เพียงพอ

หากย้อนกลับไปเมื่อแรกตั้งชื่อ

“เพียงพอสุขของเราคือ ณ ขณะนั้น ขณะที่อยู่ตรงนี้ทำให้เราสุขแค่นี้ พอ ถ้าแสวงหาความสุขก็จะต้องทำเพิ่ม ทำแค่นี้เรามีความสุขแล้ว สุขตรงนี้พอแล้ว ถ้าทำมากกว่านี้เราจะทุกข์แล้วนะ เราเพียงพอสุขแค่เท่านี้แหละ”

น่าสงสัยว่า แล้วความสุขที่ได้ตอนนี้เพียงพอแล้วหรือยัง

“พอนะ ถ้ามากไปกว่านี้จะทุกข์แล้ว ณ ตอนนี้ก็โอเคแล้ว แต่อนาคตก็ยังไม่รู้” หนูดีหัวเราะตาหยี

ดินแดน เพียง พอ สุข

ที่ตั้ง : 471 หมู่ 7 ตำบลหนองบัว อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย 42000 (แผนที่)

โทรศัพท์ : 08 1954 2915

Facebook : ดินแดน เพียง พอ สุข – “Piangporsook” Land

Writer

Avatar

พณิช ตั้งวิชิตฤกษ์

นักลองฝึกพิสูจน์อักษร ผู้แสร้งเป็นนักลองฝึกเขียน อดีตเป็นนักเรียนภาษา ผู้สนใจเป็นนักเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ รักในมวลรอบข้างที่ดี กาแฟ ชาเขียว และแมวเหมียว

Photographer

Avatar

ทศพล คามะดา

เรียนจบมหาลัย ปี 2555 ทำอาชีพช่างภาพ มาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน เป็นคนอารมณ์ดี ชอบเลี้ยงแมวไว้ 2 ตัว