เนื่องจากวันที่ 15 กันยายนเป็นวันศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยไทย วันนี้เลยจะพาไปชมหนึ่งในผลงานมาสเตอร์พีซของ อ.ศิลป์ พีระศรี ครับ

 หลายคนพอพูดถึงผลงานของ อ.ศิลป์ ก็จะนึกถึงบรรดาอนุสาวรีย์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช พระปฐมบรมราชานุสาวรีย์ หรืออนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แต่จริงๆ แล้วในบรรดาผลงานทั้งหมดของ อ.ศิลป์ มีพระพุทธรูปอยู่ด้วยหนึ่งองค์ ซึ่งเป็นองค์ใหญ่มากๆ ซะด้วย นั่นก็คือพระประธานของ ‘พุทธมณฑล’ จังหวัดนครปฐมนั่นเอง วันนี้เลยจะชวนไปเดินเล่นออกกำลังกาย พร้อมกับชมงานศิลปกรรมที่งดงามที่พุทธมณฑลกันสักหน่อยครับ

พุทธมณฑล : เมกะโปรเจกต์พุทธสถานยุคกึ่งพุทธกาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

จริงๆ แล้วโปรเจกต์การสร้างพุทธมณฑลครั้งแรก ไม่ได้ตั้งใจจะสร้างที่นครปฐมนะครับ แต่เป็นที่จังหวัดสระบุรี โดยรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อ พ.ศ. 2487 แต่สุดท้ายไม่เกิดขึ้นเพราะรัฐบาลหลังยุคจอมพลได้ยกเลิกโปรเจกต์นี้ไป จนกระทั่ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบใน พ.ศ. 2495 จึงได้ปัดฝุ่นโครงการนี้ขึ้นมาใหม่ 

จอมพล ป. พิบูลสงคราม เกิดความคิดที่จะสร้างปูชนียสถานเพื่อเป็นพุทธบูชาและพุทธานุสรณียสถาน เนื่องในวโรกาสมหามงคลกาลที่พระพุทธศักราชเวียนมาบรรจบครบ 2500 ปี ว่าง่ายๆ ก็คือสร้างขึ้นเพื่อฉลองวาระกึ่งพุทธกาลใน พ.ศ. 2500 นั่นเอง ในโอกาสนี้รัฐบาลยังได้กราบบังคมทูลเชิญ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ไปทรงประกอบรัฐพิธีก่อฤกษ์สร้างพุทธมณฑล ณ บริเวณที่ก่อสร้างพระประธานของพุทธมณฑล ซึ่งการก่อสร้างเริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2500 มีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบ แต่การก่อสร้างชะลอตัวลงเพราะปัญหาด้านงบประมาณ

ต่อมาใน พ.ศ. 2521 รัฐบาลของ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้รื้อฟื้นโครงการขึ้นมาอีกครั้ง และกลายเป็นนโยบายที่รัฐบาลจะเร่งดำเนินการ โดยโอนภาระงานไปยังกระทรวงศึกษาธิการ มีกรมศาสนาเป็นเจ้าของงบประมาณ ซึ่งมาจากทั้งรัฐและเงินบริจาคของประชาชน อีกทั้งพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ยังได้รับงานก่อสร้างพุทธมณฑลไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทำให้การก่อสร้างคืบหน้าไปมาก 

การก่อสร้างมาเสร็จสมบูรณ์ในรัฐบาลของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ หลังจากที่พระประธานของพุทธมณฑลสร้างเสร็จ โดยรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี (พระอิสริยยศขณะนั้น) เสด็จประกอบพิธีสมโภชในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2525 ใช้เวลาในการสร้างทั้งสิ้น 25 ปีด้วยกัน เรียกได้ว่าเป็นเมกะโปรเจกต์ที่ยาวนานมากๆ เลย

แน่นอนว่า ถ้าผมพูดถึงพุทธมณฑล สิ่งแรกที่ทุกคนจะนึกถึง ก็คือพระประธานองค์ใหญ่ที่มีชื่อสุดยาวว่า ‘พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์’ เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่สูงถึง 15.875 เมตร ถือเป็นพระพุทธรูปปางลีลาหล่อสำริดที่ใหญ่ที่สุดในสมัยรัตนโกสินทร์เลยครับ 

และด้วยขนาดใหญ่นี้ ปริมาณสำริดที่ใช้จึงมากถึง 17,543 กิโลกรัม และต้องหล่อแยกชิ้นส่วนถึง 137 ชิ้นก่อนนำมาประกอบกับโครงเหล็ก และปรับแต่งให้เป็นเนื้อเดียวกัน เกิดเป็นพระพุทธรูปลีลาที่มีรัศมีเป็นเปลวสูง ครองจีวรแบบมีสังฆาฏิพาด ยกพระหัตถ์ซ้ายขึ้น ขณะที่พระหัตถ์ขวาห้อยลง พระบาทขวากำลังอยู่ในเยื้องย่างโดยอยู่บนฐานบัว ซึ่งมีชื่อของพระพุทธรูปองค์นี้อยู่ที่ฐานล่างสุด

พุทธมณฑล : เมกะโปรเจกต์พุทธสถานยุคกึ่งพุทธกาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

พระพุทธรูปองค์นี้ อ.ศิลป์ พีระศรี ได้แรงบันดาลใจจากพระพุทธรูปปางลีลาศิลปะสุโขทัย ภายในระเบียงคดของวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม แต่ออกแบบให้สมจริงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นริ้วจีวรที่มีสังฆาฏิพาดทับจีวร และมีกล้ามเนื้อเล็กน้อย ซึ่งการทำกล้ามเนื้อเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในศิลปะไทย และพบที่พระพุทธรูปองค์นี้เพียงองค์เดียวอีกด้วย 

ก่อนจะสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ อ.ศิลป์ ได้สร้างองค์ต้นแบบที่มีความสูง 2.14 เมตรขึ้น ก่อนจะขยายเป็น 15.875 เมตร ซึ่งเท่ากับ 2,500 กระเบียด (1 กระเบียด = ¼ นิ้ว) ตรงกับงานฉลองกึ่งกลางพุทธกาล 2500 ปีพอดิบพอดี ทำให้พระพุทธรูปองค์นี้ใหญ่กว่าต้นแบบถึง 7.5 เท่า 

พุทธมณฑล : เมกะโปรเจกต์พุทธสถานยุคกึ่งพุทธกาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

แต่พระประธานพุทธมณฑลไม่ใช่ทั้งหมดของที่นี่นะครับ ภายในพุทธมณฑลยังมีจุดควรชมอีกหลายจุด แถมแต่ละจุดยังอยู่รอบพระประธานของพุทธมณฑลนี้ด้วยครับ ไม่ว่าจะสังเวชนียสถาน 4 ตำบล มหาวิหารประดิษฐานพระไตรปิฎกหินอ่อน และวิหารพุทธมณฑล

สังเวชนียสถาน 4 ตำบล ตั้งอยู่รอบพระประธานของพุทธมณฑล โดยทิศที่สังเวชนียสถานแต่ละแห่งตั้งอยู่นั้นอ้างอิงจากในพุทธประวัติ มีพระประธานของพุทธมณฑลเป็นศูนย์กลาง ซึ่งสังเวชนียสถานนั้น หากแปลตรงตัวจะมีความหมายว่า ‘สถานที่ควรสังเวช’ เป็นสถานที่ที่ทำให้ผู้แสวงบุญเกิดความสังเวชในความอนิจจัง ไม่มีอะไรยั่งยืนแม้แต่พระพุทธเจ้าเองก็ตาม 

สังเวชนียสถานทั้ง 4 ประกอบไปด้วยสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน ของพระพุทธเจ้านี้ ถือเป็นสถานที่ยอดฮิตสำหรับทัวร์แสวงบุญประเทศอินเดียที่คนไทยนิยมเดินทางไปกัน และที่พุทธมณฑลแห่งนี้ก็ได้จำลองสถานที่ทั้ง 4 มาได้อย่างน่าสนใจ ดังนั้น ถ้าใครไม่อยากไปไกลถึงอินเดีย มาชมที่พุทธมณฑลนี้ก่อนได้เลยครับ

ความน่าสนใจและเป็นจุดร่วมของสังเวชนียสถานทั้ง 4 ก็คือ ไม่มีการสร้างรูปพระพุทธเจ้าเอาไว้เลยแม้แต่องค์เดียว แต่มีการเลือกใช้สัญลักษณ์บางอย่างเพื่อแทนเหตุการณ์ทั้ง 4 แทน ซึ่งเป็นสิ่งที่พุทธศิลป์ในระยะแรกเคยทำมาก่อนแล้ว เพราะในยุคที่ยังไม่มีพระพุทธเจ้าเป็นรูปมนุษย์ การจะบอกเล่าพุทธประวัติลงไปบนภาพสลักจะใช้วิธีการนี้เช่นกัน แต่ที่พุทธมณฑลมีการออกแบบที่ผ่านกระบวนการคิดมาแล้วอย่างน่าสนใจมากทีเดียว

เริ่มจากสถานประสูติ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเหนือเฉียงเหนือก่อนนะครับ ที่นี่แสดงเหตุการณ์ตอนประสูติโดยหยิบเอาฉากที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงเดิน 7 ก้าว เทียบได้กับองค์ประกอบของการตรัสรู้ เรียกว่า โพชฌงค์ 7 ดังนั้น ณ ตำบลประสูติแห่งนี้จึงมีดอกบัวอยู่ทั้งสิ้น 7 ดอกด้วยกัน มี 1 ดอกอยู่ตรงกลางและอีก 6 ดอกล้อมรอบ บนดอกบัวแต่ละดอกจะมีรูปรอยพระพุทธบาทเอาไว้ดอกละ 1 รอย แต่ละรอยจะมีชื่อแคว้นทั้ง 7 ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศพระธรรม ประกอบด้วย กาสี โกศล มคธ อังคะ วัชชี มัลละ สักกะ กุรุ และวังสะ โดยที่ขอบของรอยพระพุทธบาทแต่ละรอยจะจารึกด้วยอาสภิวาจาของพระพุทธเจ้าที่ทรงเปล่งในวันนั้นว่า

“อัคโคหะมัสมิ โลกัสสะ เชฏโฐ เสฏโฐหะมัสมิอะยะมันติมา เม ชาติ นัตถิทานิ ปุนัพภะโว”

แปลว่า ในโลกนี้เราเป็นหนึ่ง เราเป็นยอด เราเป็นเลิศประเสริฐที่สุด การเกิดครั้งนี้ของเรา เป็นครั้งสุดท้าย ภพใหม่ต่อไปอีกไม่มีสำหรับเรา

พุทธมณฑล : เมกะโปรเจกต์พุทธสถานยุคกึ่งพุทธกาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม
พุทธมณฑล : เมกะโปรเจกต์พุทธสถานยุคกึ่งพุทธกาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

ถัดมาคือสถานที่ตรัสรู้ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ แน่นอนว่าเหตุการณ์สำคัญที่สุดในตอนนี้ก็คือการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ และที่ตำบลตรัสรู้นี้ก็แสดงฉากนี้ครับ โดยแสดงเป็นพุทธบัลลังก์ดอกบัวทรงสามเหลี่ยมปลายมนว่างเปล่า อยู่ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงปลูกเมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2536 ซึ่งก็เช่นเดียวกับที่ตำบลตรัสรู้ ที่นี่มีจารึกพระคาถาเอาไว้ที่พุทธบัลลังก์ เป็นข้อความอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา คือ อริยสัจ 4 นั่นเอง

ต่อมาคือสถานปฐมเทศนา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกใต้ และก็เช่นเดียวกับที่สถานตรัสรู้ ฉากสำคัญของเหตุการณ์ย่อมเป็นฉากที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 และตำบลปฐมเทศนาได้แสดงฉากนี้เอาไว้ด้วยธรรมจักรขนาดใหญ่ ได้แรงบันดาลใจมาจากธรรมจักรในศิลปะทวารวดี ตั้งอยู่บนฐาน ด้านหน้ามีแท่นอยู่ 5 แท่น แทนปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 โดยแต่ละแท่นจะมีรูปดอกบัวอยู่ 1 ดอกแต่ไม่มีชื่อปัญจวัคคีย์แต่ละรูปกำกับเอาไว้ 

และปิดท้ายที่สถานปรินิพพาน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ที่นี่แสดงฉากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานใต้ต้นสาละคู่ ทำเป็นแท่นพุทธบัลลังก์อยู่ระหว่างต้นสาละ 2 ต้น โดยมีแท่นเล็กๆ ของพระอานนท์อยู่ข้างหนึ่ง 

ซึ่งต้นสาละทั้ง 2 ต้นเป็นคนละสายพันธุ์กันนะครับ ต้นสาละต้นที่ใหญ่กว่าเป็นต้นสาละลังกา เป็นต้นสาละที่พบได้ทั่วไปตามวัดในเมืองไทย มีเอกลักษณ์คือดอกสีชมพูและมีผลเป็นลูกกลมคล้ายปืนใหญ่ ส่วนอีกต้นซึ่งเล็กกว่านั้นเป็นต้นสาละอินเดียที่หาชมได้ยาก มีดอกเป็นช่อสีขาวหรือเหลืองอ่อน (แต่ที่พุทธมณฑลนี้ปักป้ายสลับกันนะครับ ใครไปอ่านป้าย อย่าเผลอเชื่อตามป้ายนะครับ) 

ส่วนแท่นพุทธบัลลังก์เป็นฐานบัวทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านบนแกะสลักเป็นรูปดอกบัวเรียงกัน 3 ดอก ส่วนที่ผ้าทิพย์แกะสลักเป็นลายใบไม้ร่วง พร้อมจารึกข้อธรรมว่า

โย โว อานนฺท มยาธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา หันททานิ ภิกขะเว อามันตะยามิโว วะยะธัมมา สังขารา อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ

แปลว่า ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยใดที่เราได้แสดงแล้วและบัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้นเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย โดยกาลที่เราล่วงลับไป 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่า สังขารทั้งปวงล้วนมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้บริบูรณ์ ด้วยความไม่ประมาทเถิด อันเป็นปัจฌิมโอวาทของพระพุทธองค์

ที่นี่เราลองมาดูอาคารอื่นๆ ที่น่าสนใจกันบ้าง เริ่มกันด้วยพระวิหารประดิษฐานพระไตรปิฎกหินอ่อน ซึ่งอยู่บนเกาะเล็กๆ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2532 โดยวัดปากน้ำและสมาคมศิษย์หลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญได้บริจาคเงินในการจัดสร้างทั้งหมด เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรามหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสที่เจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ และใช้เวลา 9 ปีจึงแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2541 ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 200 ล้านบาท

ตรงกลางมีพระเจดีย์มหารัชมังคลาจารย์ เป็นเจดีย์ 9 ยอดตั้งอยู่กลางอาคารทรงสี่เหลี่ยมย่อมุม บนหลังคามีเจดีย์ทรงระฆังอยู่ 9 องค์ องค์ใหญ่ที่สุดตั้งอยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยเจดีย์ขนาดเล็ก ภายในเจดีย์แต่ละองค์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุของพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ และพระสิวลี รวมถึงพระผงวัดปากน้ำเอาไว้ด้วย ภายในประดิษฐานรูปเหมือนหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ตั้งอยู่ตรงกลาง โดยที่บนหลังคาทรงโดมโค้งนั้น มีการเขียนจิตรกรรมรูปหลวงพ่อสดล้อมรอบด้วยเทพชุมนุม

โดยรอบมีระเบียงคด ซึ่งสำหรับที่นี่เรียกว่าเป็นพระวิหาร เก็บรักษาพระไตรปิฎกหินอ่อนจารึกพระไตรปิฎกทั้ง 84,000 พระธรรมขันธ์ ลงบนแผ่นหินอ่อนจำนวนมากถึง 1,418 แผ่น จารึกเป็นภาษาบาลี 

การสร้างแผ่นจารึกพระไตรปิฎกหินอ่อนแบบนี้ ชวนให้นึกถึงแผ่นจารึกพระไตรปิฎกหินอ่อนทั้ง 729 แผ่น ที่วัดกุโสดอหรือวัดโลกมารชิน เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมาเลยครับ แต่ของที่วัดกุโสดอจะประดิษฐานแผ่นจารึกเหล่านี้เอาไว้ในเจดีย์ที่อยู่ล้อมรอบเจดีย์ประธานของวัดแทน ไม่รู้ว่าของพุทธมณฑลเราได้แรงบันดาลใจจากที่นี่รึเปล่า แต่ที่แตกต่างกันแน่ๆ คือ ที่พุทธมณฑลมีการเขียนจิตรกรรมฝาผนังเอาไว้ด้วย โดยเป็นภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติ ทศชาติชาดก และการสังคายนาพระไตรปิฎกทุกครั้ง 

ส่วนวิหารพุทธมณฑลนั้นตั้งอยู่ทางด้านหน้าสุด เห็นได้จากถนนเลยครับ ถ้ามองดีๆ เราจะเห็นว่า อาคารหลังนี้ได้แรงบันดาลใจจากพระอุโบสถของวัดราชาธิวาส แต่ดัดแปลงให้มีความร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น หน้าบันด้านหน้ามีทั้งรูปพระพุทธเจ้าและธรรมจักร ภายในซุ้มแต่ละซุ้มจะประดิษฐานพระประธาน 

หลักฐานสำคัญเกี่ยวกับวิหารหลังนี้ ก็คือจารึกที่อยู่ด้านหน้าวิหารพุทธมณฑล บอกเล่าถึงประวัติของอาคารหลังนี้ ทั้งปีที่เริ่มสร้าง งบประมาณในการสร้าง ผู้ออกแบบ คือ นายจิตร บัวบุศย์ ประวัติการปรับปรุงแก้ไขและพระประธานภายในวิหารหลังนี้ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางลีลา ที่ได้แรงบันดาลใจจากพระประธานของพุทธมณฑลด้วยครับ

งานศิลปกรรมภายในพุทธมณฑลแห่งนี้ ทำให้ที่นี่นอกจากเป็นสถานที่จัดกิจกรรมและประเพณีทางพุทธศาสนา เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ สำหรับให้คนไปพักผ่อนออกกำลังกายแล้ว ยังเป็นสถานที่ที่นำพาศิลปะโบราณอายุหลายร้อยปีมาพบกับศิลปะสมัยใหม่ แล้วผสมผสานกันจนกลมกล่อม เกิดเป็นงานศิลปกรรมชิ้นใหม่ ที่ยังเหลือกลิ่นอายความงามตามอุดมคติแบบโบราณ แต่ก็มีความทันสมัยด้วยในตัว ซึ่งถือเป็นแนวคิดสำคัญที่จะช่วยพาศิลปะไทยให้ไปข้างหน้าได้โดยไม่ย่ำอยู่กับที่ สถานที่แห่งนี้จึงมีความน่าสนใจ เหมาะกับทั้งคนที่จะไปเพื่อออกกำลังกายและชื่นชมงานศิลปะ หรือจะแค่ไปชื่นชมงานศิลปะเฉยๆ ก็ยังได้ครับ

เกร็ดแถมท้าย

  1. ถ้าใครสนใจเดินทางไปชมพุทธมณฑล ผมแนะนำให้ใช้รถส่วนตัว จะจักรยาน มอเตอร์ไซค์ หรือรถยนต์ก็ได้ เพราะจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งค่อนข้างไกลกันพอสมควร ถ้าไม่คิดจะไปออกกำลังกายไปชมไป มีรถส่วนตัวไว้จะเป็นการดีกว่าครับ
  2. ถ้าใครสนใจเรื่องราวของพระอุโบสถวัดราชาธิวาส ที่กลายเป็นต้นแบบของวิหารพุทธมณฑล ผมเคยเขียนเรื่องราวของวัดนี้ไว้แล้วที่นี่
  3. นอกจาก พุทธมณฑล ที่จังหวัดนครปฐมแล้ว ในประเทศไทยยังมีพุทธมณฑลอยู่ในจังหวัดอื่นด้วยนะครับ ซึ่งพุทธมณฑลแต่ละที่จะมีจุดร่วมกัน คือมีพระพุทธรูปไม่ก็เจดีย์ขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง เช่น พุทธมณฑลอีสาน จังหวัดขอนแก่น พุทธมณฑลอีสาน จังหวัดมหาสารคาม พุทธมณฑลจังหวัดชลบุรี พุทธมณฑล จังหวัดนราธิวาส และพุทธมณฑล จังหวัดเชียงใหม่
  4. สำหรับคนที่ชอบผลงานของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี หรืออยากชมผลงานต้นแบบทั้งพระประธานที่พุทธมณฑลและประติมากรรมอื่นๆ ขอเชิญที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรีและหอประติมากรรมต้นแบบ มหาวิทยาลัยศิลปากรครับ แค่ 2 ที่นี้ก็บอกเล่าเรื่องราวและผลงานของ อ.ศิลป์ ได้เป็นอย่างดีแล้วครับ

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ