ภูเก็ต-ไข่มุกอันดามัน-เกาะสวรรค์แดนใต้

ทะเลงดงาม ธรรมชาติสวย ของกินอร่อย ไปจนถึงเทศกาลกินเจ คือภาพจำที่เรามีต่อเกาะที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย นักท่องเที่ยวทั่วโลกมาเยือนภูเก็ตเฉลี่ยเดือนละนับล้านคน หลังจากยุคเหมืองแร่ดีบุกจบลงราว 30 – 40 ปีที่แล้ว นี่คือเมืองเศรษฐกิจที่ใช้การท่องเที่ยวทางทะเลหล่อเลี้ยงมาโดยตลอด

วันนี้ไข่มุกอันดามันกำลังเปลี่ยนแปลงตัวเองสู่ยุคใหม่ นอกจากมาเที่ยวชมธรรมชาติแล้ว ภูเก็ตกำลังพัฒนาบ้าน พัฒนาคน เพื่อสร้างเมืองที่สามารถจัดงานเทศกาลระดับนานาชาติได้ โดยตั้งเป้าว่าจะเป็น Hub แห่งเทศกาลศิลปวัฒนธรรมระดับสากล

ภูเก็ต ภูเก็ต ภูเก็ต

ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ภูเก็ตเพิ่งจัดงาน Phuket Harmony World Puppet Festival เทศกาลละครหุ่นเปลี่ยนย่านเมืองเก่า พิพิธภัณฑ์ ศูนย์การค้า ไปจนถึงชายหาดริมทะเล ให้กลายเป็นเวทีให้หุ่นจาก 30 กว่าคณะทั่วโลกโลดเต้นอย่างมีชีวิตชีวา ตุ๊กตาหุ่นเชิดจากนานาชาติเล่าเรื่องราวสากลให้นักท่องเที่ยวทุกเพศทุกวัย ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ได้สนุกกับสตรีทอาร์ตแบบฟรีๆ

เบื้องหลังการขยับตัวเปลี่ยนแปลงตัวเองของเมืองซึ่งโด่งดังเรื่องทะเลในระดับโลกคืออะไร ทำไมเกาะสวรรค์ที่ได้รับการจัดอันดับว่าเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหาร หรือ Creative City of Gastronomy จากยูเนสโก ต้องหันมาจับเรื่องศิลปะอีกแขนง

คำตอบอยู่ที่นี่แล้ว

ภูเก็ต

 

เมืองเก่าคืนชีพ

ราว 10 ปีที่แล้ว แม้ภูเก็ตจะมีชื่อเสียงระดับโลก แต่ย่านเมืองเก่าภูเก็ตกลับซบเซาเงียบเหงา

“เมื่อมีการตัดถนนบายพาส คนก็ไม่จำเป็นจะต้องผ่านย่านเมืองเก่าอีกต่อไป กระแสการท่องเที่ยวมาภูเก็ตก็จริง แต่ธุรกิจต่างๆ ไปบูมที่ชายทะเล ไปที่โรงแรม รีสอร์ต ร้านอาหาร ทุกคนมาภูเก็ตก็อยากจะมาชายหาดสวยๆ ไปดำน้ำ เมืองเก่าเลยเงียบลง เหมืองแร่ก็ปิดไปแล้ว ธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวยังปรับตัวอยู่ได้ แต่ร้านค้าไปอยู่ที่ทะเลหมด ไม่จำเป็นก็ไม่มีใครเข้ามาในเมือง”

ภูเก็ต

ดอน ลิ้มนันทพิสิฐ ประธานชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ตย้อนความหลัง

“เป็นที่มาให้เราคิดว่าถ้าเราไม่ทำอะไรสักอย่าง เมืองเก่าก็จะเงียบลง และจะหายไปจากแผนที่โลก แล้วเราเลยเกิดคำถามว่านักท่องเที่ยวภูเก็ตเยอะมาก จะขอ 1% เข้ามาเมืองเก่าได้ไหม ต่อมาภายหลังก็โลภ ขอ 10% ได้ไหม พอคิดอย่างนั้นเราก็ต้องพัฒนาบ้านเรา เตรียมพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวพร้อมๆ กันไป”

กลุ่มชาวบ้านในเมืองเก่ารวมตัวกันก่อตั้งชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ตในปี 2009 เพื่อช่วยกันอนุรักษ์ฟื้นฟูวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม และวิถีชีวิตดั้งเดิม รวมถึงทำหน้าที่เป็นตัวประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับประชาชนในชุมชน และดูแลความสมดุลระหว่างสิ่งที่ต้องรักษาไว้ และสิ่งใหม่ๆ ที่จะเข้ามาในภูเก็ต

ภูเก็ต ภูเก็ต ภูเก็ต

ผลงานที่ชัดเจนที่สุดของชุมชนย่านเมืองเก่าคือการจัดถนนคนเดิน ‘หลาดใหญ่’ ที่ถนนถลาง ใจกลางย่านเมืองเก่าทุกวันอาทิตย์ ตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว ร้านขายของกิน เสื้อผ้า ของใช้ และของที่ระลึก แน่นเอี้ยดเรียงราย ทำให้นักท่องเที่ยวมากมายแบ่งเวลาจากชายหาดเพื่อมาเยี่ยมย่านนี้อย่างคับคั่ง

เมืองเก่ากลับมาคืนชีพอีกครั้ง บรรดาร้านอาหาร คาเฟ่  บาร์ ร้านขายของใหม่ๆ เปิดมากมายเพื่อรองรับความมีชีวิตชีวาที่มาเยือน

 

หุ่นบุกเมือง

หุ่นจาก 70 กว่าประเทศทั่วโลกเคยเดินทางมาแสดงในเมืองไทยตั้งแต่ปี 2014

ภูเก็ต ภูเก็ต

นิมิตร พิพิธกุล ประธานมูลนิธิหุ่นสายเสมาและศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง ได้แรงบันดาลใจการจัดเทศกาลหุ่น เมื่อเขาพาละครหุ่นไทยไปเล่นที่กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก แล้วพบว่าผังเมืองเก่าของเช็กใช้จัดการแสดงหุ่นที่เดินดูได้ทั้งวัน ลักษณะคล้ายคลึงกับการเดินเที่ยวเกาะรัตนโกสินทร์

มูลนิธิหุ่นสายเสมาจึงร่วมมือกับทีมผู้จัดงาน Puppet Carnival ชาวเช็กเกีย และสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (สสปน. หรือ TCEB) จัดเทศกาลหุ่นโลกกรุงเทพฯ ในปี 2014 โดยได้รับการตอบรับท่วมท้นจากผู้ชม

การทำงานครั้งนั้นทำให้มูลนิธิได้สัมพันธ์กับคณะละครหุ่นทั่วโลก และได้เรียนรู้การทำงานและการทำสัญญาการจัดเทศกาลระดับนานาชาติ

ภูเก็ต ภูเก็ต

“เรามักเข้าใจว่าหุ่นคือโชว์สำหรับเด็ก แต่อย่าลืมว่าเมื่อมีเด็กคือมีครอบครัว เมื่อมีครอบครัวคือมีคนรอบข้างที่ชอบงานศิลปะ ชอบวัฒนธรรมหลายๆ ประเทศ นอกจากนี้ยังมีคนอีกมากที่ชอบประวัติศาสตร์ ชอบวิชาการ หุ่นตอบโจทย์คนพวกนี้ได้หมดทุกกลุ่ม เพราะภาษาหุ่นเป็นภาษาสากล ใช้การเคลื่อนไหวสื่อสาร ถ้าเด็กๆ เข้าใจ ทุกคนก็เข้าใจได้”

นิมิตรอธิบายข้อดีของละครหุ่นที่ผูกใจคน ในปี 2017 มูลนิธิหุ่นสายเสมาจัดเทศกาลหุ่นขึ้นอีกครั้งที่กาญจนบุรี โดยเลือกจัดใน Prommitr Film Studio โรงถ่ายภาพยนตร์สมเด็จพระนเรศวรฯ ที่มีขนาดเท่าเมืองย่อมๆ มีพระราชวัง ตลาด ถนนหนทางที่ใช้เป็นเวทีจัดงานได้ทุกอย่าง

ภูเก็ต ภูเก็ต ภูเก็ต

ในปีนี้ Harmony World Puppet Festival จัดขึ้นที่ภูเก็ต เพราะเกาะนี้มีย่านเมืองเก่าที่สวยงาม เดินเท้าง่าย มีพิพิธภัณฑ์และลานสาธารณะให้ตั้งเวที แถมภูเก็ตยังมีคณะหุ่นสายภูเก็ตของตัวเอง เป็นมรดกวัฒนธรรมที่มีมาร้อยกว่าปี มีเรื่องราวอยู่ในพิพิธภัณฑ์ไทหัว

“เราเคลื่อนตนเองไปพื้นที่ที่เราพัฒนาให้ยั่งยืน ภูเก็ตเป็นที่หนึ่งที่ทำได้ ถ้าเราจัดงานที่เกาะรัตนโกสินทร์ตลอดไป ผลประโยชน์ก็ไม่ไปพื้นที่อื่น กรุงเทพฯ ไม่ใช่ประเทศไทย จริงไหม

“เราไปหาคนที่ไม่เคยดูดีกว่า กาญจนบุรีชาวบ้านเขามีความสุขมาก เขาเข้าใจอาร์ต เขาเห็นความตื่นตาตื่นใจแล้วบอกว่าเป็นบุญของชีวิตที่ได้ดู  ภูเก็ตก็เป็น คนเฒ่าคนแก่ก็ตื่นเต้นดีใจมากที่ได้ดู”

ภูเก็ต ภูเก็ต ภูเก็ต

ภายใน 5 วันของเทศกาล หุ่นตัวจิ๋วจ้อยไปจนถึงตัวใหญ่โตเดินทางไปเล่าเรื่องราวตั้งแต่ริมหาด ศูนย์การค้า สวนสาธารณะ ถนนคนเดิน ไปจนถึงพิพิธภัณฑ์ สอดประสานไปกับแหล่งท่องเที่ยวของภูเก็ตอย่างกลมกลืน

“หัวใจสำคัญในการทำงานเราจะดูว่าต้นทุนของพื้นที่ที่มีอยู่คืออะไร อย่างถนนถลางภาพสวยมาก ทุกคนมาเดินเล่นสตรีทอาร์ต นี่คือฉากที่เราต้องการ ดังนั้นภาพที่ออกไป คนจะได้เห็นภูเก็ตในมุมมองใหม่ ได้เห็นว่าภูเก็ตไม่ใช่แค่ Sea Sand Sun แต่มีวัฒนธรรม ในพิพิธภัณฑ์มีหุ่นสายเหมือนมีโมนาลิซ่า แต่ไม่เคยยกออกมาให้คนได้ชม มารอบนี้เรามาช่วยยก อยู่ที่ระยะเวลาต่อจากนี้ว่าคุณจะทำยังไงต่อ”

นิมิตรตบท้ายว่า ช่วงใกล้วันงาน ทางจังหวัด เทศบาล ตลอดจนประชาชน ช่วยกันคนละไม้คนละมือให้งานนี้สำเร็จออกมาได้ เป็นตัวอย่างความร่วมมือร่วมใจที่ส่งผลให้เทศกาลศิลปะได้เติบโตมากขึ้นที่นี่

ภูเก็ต ภูเก็ต ภูเก็ต

 

สร้างเทศกาลไทย

“งานนี้ค่อนข้างแตกต่างจากงานอื่นที่เราทำ เพราะเป็นงานที่เติบโตในไทย คนไทยจัดเอง เพราะเครือข่ายหุ่นของคุณนิมิตรมีทั่วโลก หุ่นไทยเองก็โดดเด่นหลากหลายมาก”

จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสายงานพัฒนาและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) เห็นแววของเทศกาลนี้ตั้งแต่สนับสนุนเทศกาลหุ่นโลกกรุงเทพฯ ครั้งแรกและพบว่ามีผู้เข้าร่วมนับหมื่นคน สสปน. จึงร่วมสนับสนุนการจัดงานมาโดยตลอด เพื่อสร้างฐานคณะศิลปิน ผู้ติดตาม และแฟนๆ ที่รักการชมหุ่นให้จดจำเมืองไทย และเดินทางกลับมาที่นี่อีก

“สสปน. ช่วยประสานงานกับภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวก ประชาสัมพันธ์งานที่เกิดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต และสนับสนุนงบประมาณในการนำศิลปินจากคณะหุ่นนานาชาติที่เข้ามาแสดง”

เป้าหมายของการช่วยเหลือ คืออำนวยความสะดวกให้เทศกาลเติบโตแข็งแรงขึ้น ยกระดับกระบวนการจัดการให้ทัดเทียมนานาชาติ เพื่อให้เทศกาลนี้สร้างประโยชน์กับคนไทยให้มากที่สุด

 

ต้อนรับขับสู้

ชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ตช่วยเหลือสนับสนุนการจัดงานเต็มที่ เนื่องจากมีประสบการณ์จากการจัดเทศกาลใหญ่ๆ อย่างเทศกาลตรุษจีนย้อนอดีตเมืองภูเก็ตหรือเทศกาลกินเจมาแล้ว

“ภาคชุมชนต้องช่วยรัฐ ไม่งั้นมันขับเคลื่อนไม่ได้ บางเรื่องภาครัฐทำได้แค่บนถนนกับทางเท้า พอเป็นเรื่องในบ้านมันเป็นเรื่องของชุมชน”

ภูเก็ต ภูเก็ต

ดอนเอ่ยอย่างจริงจัง สายสัมพันธ์ที่เข้มแข็งของคนในชุมชนทำให้พวกเขาช่วยเสียสละพื้นที่ให้ปิดถนน จอดรถ ไปจนถึงให้ใช้ไฟฟ้าและม้านั่ง ทั้งยังช่วยเป็นเจ้าบ้านให้ข้อมูลกับนักท่องเที่ยว ประธานชุมชนอธิบายว่า ตัวชุมชนยังสามารถจัดกิจกรรมวัฒนธรรมตามโจทย์ เช่น จัดเลี้ยงอาหารท้องถิ่น สอนทำขนม สาธิตตัดกระดาษจีน ไปจนถึงสอนภาษาถิ่นภูเก็ต

ทั้งหมดนี้ชุมชนยินดีทำ เพราะเป้าหมายต่อไปของชาวเมืองเก่าคือนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ซึ่งอยากเดินทางมารู้จักภูเก็ตจริงๆ และได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ กลับไป ธุรกิจชุมชนสำหรับชาวภูเก็ตไม่ได้มีเงินเป็นตัวตั้งเพียงอย่างเดียว แต่คนในชุมชนต้องอยู่ได้อย่างมีความสุขด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นจึงจะยั่งยืนต่อไป

Phuket Harmony World Puppet Festival จบลงไปแล้ว แต่ความตั้งใจของคนทำงานที่จะผลักดันไข่มุกอันดามันสู่เมืองศิลปะยังคงอยู่

ความมุ่งมั่นจากใจที่ไม่มีใครชักเชิดเบื้องหลัง ทำให้เกาะสวรรค์แดนใต้นี้งดงามน่าจับตากว่าที่เคย

ภูเก็ต ภูเก็ต

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Harmony Puppet Thailand ได้ที่นี่
และติดตามข้อมูลเกี่ยวกับ MICE Business ในประเทศไทยได้ที่ https://www.businesseventsthailand.com

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ