13 พฤศจิกายน 2020
12 K

ถ้าหากภาพจำที่คุณมีต่อจังหวัดภูเก็ตยังปรากฏแค่ชายหาดและเกาะแก่งสวยๆ ตามแบบฉบับทะเลอันดามันเหมือนอย่างที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ในโลกรู้จัก ขอเชิญชวนให้คุณพลิกหาวันที่ 1 ถึง 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีน เคลียร์ธุระปะปังให้ว่าง แล้วลองมาภูเก็ตช่วงนี้ เผื่อว่าจะได้รับประสบการณ์แปลกออกไปของเมืองไข่มุกอันดามันติดตัวกลับไปด้วย

“ด้วยเป้าหลักของที่เส็บมุ่งนำเสนอจุดหมายใหม่ เพิ่มพื้นที่ใหม่ๆ สำหรับการจัดกิจกรรม พร้อมชูศักยภาพเมือง MICE ด้วยการยกระดับงานเด่นในไมซ์ซิตี้ เทศกาลถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต ถือเป็นหนึ่งใน Flagship Event ที่สำคัญ และเป็นเทศกาลที่ชาวไทยรู้จักกันมากที่สุดเทศกาลหนึ่ง ประกอบกับข้อได้เปรียบของภูเก็ต ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่รู้จักมายาวนาน ทีเส็บจึงมีเป้าหมายในการยกระดับงานประเพณีท้องถิ่นนี้ให้เป็นงานเทศกาลระดับนานาชาติ และขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังกลุ่ม NEW WORLD TRAVELERS หรือนักเดินทางรุ่นใหม่” นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการสายงานพัฒนาและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB กล่าวถึงเทศกาลเก่าแก่ของภูเก็ต

เมืองลานตาไปด้วยธงสีเหลืองโบกไสว ผู้คนสวมใส่ชุดสีขาวเดินขวักไขว่ ดูตัดกับเศษประทัดสีแดงเรี่ยรายบนพื้นราวผืนพรมซึ่งทอดยาวไม่มีที่สิ้นสุด เหล่าคนทรงเจ้าในชุดเอี๊ยมเดินเทิ่งๆ อย่างไม่ยี่หระต่อของมีคมที่ทิ่มแทงร่างท่ามกลางเสียงระเบิดของประทัดและเพลงสวดที่เปิดสร้างบรรยากาศ หรือแม้แต่อาหารเจที่ปรุงสดๆ ร้อนๆ ก่อนนำเสิร์ฟไม่อั้น โดยไม่จำกัดฐานะ เพศ หรือวัย ของผู้มารับประทาน 

“ความพิเศษของเทศกาลท้องถิ่นนี้มีหลากหลายในทุกมิติ สิ่งน่าสนใจที่พร้อมให้ทุกคนมาสัมผัสคืออาหารเจี๊ยะจ่ายและชุมชนอ๊ามโบราณที่รอการค้นพบและทำความรู้จักจากคนทั่วโลก”

เทศกาลเจี๊ยะฉ่าย ประเพณีถือศีลกินผักของภูเก็ตที่เป็นต้นแบบการกินเจทั่วไทย

ที่นี่คือบ้านเกิดของเทศกาลถือศีลกินผักบนผืนแผ่นดินไทย ซึ่งในวันนี้ที่ภูเก็ตมีสถานะเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดฮิตแห่งหนึ่งของโลก เราจึงอยากแนะนำสิ่งน่าทำหากมาท่องเที่ยวภูเก็ตในช่วงเทศกาลกินผัก เพื่อที่คุณจะได้อิ่มกาย-อิ่มใจ-อิ่มสมอง ในแบบที่ไม่เหมือนจังหวัดอื่นในช่วงเทศกาลเดียวกันนี้

1. สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อ๊าม

เมื่อไหร่ที่ได้ยินคำว่า ‘เจี๊ยะฉ่าย’ กับ ‘อ๊าม’ จากปากคนท้องที่ อย่าได้แปลกใจไป พึงรู้ไว้ว่า 2 คำนี้มีความหมายว่า ‘กินผัก’ กับ ‘ศาลเจ้า’ ในภาษาจีนฮกเกี้ยนนั่นเอง

เทศกาลเจี๊ยะฉ่าย ประเพณีถือศีลกินผักของภูเก็ตที่เป็นต้นแบบการกินเจทั่วไทย
บรรยากาศการทำพิธีบูชาเทวดาดาวนพเคราะห์ (โก้ยชิดแช้) ณ ศาลเจ้าจุ้ยตุุ่ยเต้าโบ้เก้ง

เทศกาลถือศีลกินผักซึ่งกินระยะเวลา 9 วันแรกของเดือน 9 นี้ ดั้งเดิมเป็นประเพณีพื้นบ้านของมณฑลฮกเกี้ยน (ฝูเจี้ยน) เชื่อกันว่าเป็นช่วงเวลาที่กิ้วอ๋องไต่เต่หรือเทพพระราชาธิราชทั้ง 9 พระองค์ตามความเชื่อของลัทธิเต๋าจะเสด็จมาเยือนโลกมนุษย์  

ประเพณีนี้แผ่มาสู่ประเทศไทยพร้อมๆ กับการอพยพระลอกใหญ่ของชาวจีนฮกเกี้ยนที่รอนแรมมาแสวงโชคที่ภูเก็ตด้วยการเป็นกุลีขุดแร่ดีบุก อ๊ามทั้งหมด 3 แห่งที่ถือได้ว่าเป็นแหล่งบุกเบิกการจัดงานถือศีลกินผักในจังหวัดภูเก็ต ประกอบด้วย อ๊ามกะทู้ อ๊ามจุ้ยตุ่ย และอ๊ามบางเหนียว

เทศกาลเจี๊ยะฉ่าย ประเพณีถือศีลกินผักของภูเก็ตที่เป็นต้นแบบการกินเจทั่วไทย
หล่ายทู้เต้าโบ้เก้งหรืออ๊ามกะทู้
เทศกาลเจี๊ยะฉ่าย ประเพณีถือศีลกินผักของภูเก็ตที่เป็นต้นแบบการกินเจทั่วไทย
บ่างเหลียวเต้าโบ้เก้งหรืออ๊ามบางเหนียว

ทุกปีที่เทศกาลเจี๊ยะฉ่ายเวียนมาบรรจบ อ๊ามหลายแห่งในจังหวัดภูเก็ตจะคึกคักด้วยสาธุชนในชุดขาวที่ต่างมุ่งหน้ามาสร้างเสริมบุญบารมีให้กับตนเอง อย่าลืมเตรียมชุดขาวให้พร้อม เนื่องจากทางอ๊ามไม่อนุญาตให้ผู้ที่สวมเสื้อผ้าสีเข้าบริเวณอาคารประกอบพิธี และเมื่อได้เข้าไปในอ๊ามแล้ว โปรดสักการะเทพประธานของเทศกาลอย่างองค์กิ้วอ๋องไต่เต่ ซึ่งทางอ๊ามมักใช้ผ้าม่านสีเหลืองบังที่ประทับไว้ รวมทั้งเทพเจ้าองค์อื่นๆ ซึ่งมีมากมายในอ๊ามแต่ละแห่ง ก่อนไปสำรวจดูเสาโกเต้งหรือเสาไม้ไผ่ปิดทองประดับตะเกียงน้ำมัน 9 ดวง อันเป็นสัญลักษณ์ของเทศกาลกินผัก รับประกันได้ว่าบรรยากาศความขลังของบรรดาอ๊ามในจังหวัดภูเก็ตช่วงนี้จะช่วยจารจดลงในความทรงจำของคุณไปอีกนานเท่านาน

เทศกาลเจี๊ยะฉ่าย ประเพณีถือศีลกินผักของภูเก็ตที่เป็นต้นแบบการกินเจทั่วไทย
ตำหนักในหรือไหล่เตี่ยน คือที่ประทับขององค์กิ้วอ๋องไต่เต่ซึ่งจะคลุมม่านสีเหลืองไว้ ไม่อนุญาตให้คนนอกเข้า

ปีนี้พิเศษกว่าปีอื่น เพราะเทศบาลนครภูเก็ตริเริ่มจัด ‘โพถ้อง’ หรือรถสองแถวอันลือชื่อของจังหวัดมาให้บริการส่งรับส่งคนฟรี ในชื่อ ทัวร์อิ่มบุญ “โพถ้องท่องอ๊าม เจี๊ยะฉ่าย เป่งอ๊าน 2020” รถโพถ้อง 2 คันจะแปลงโฉมเป็นชัทเทิลบัสคันน้อย นำนักท่องเที่ยวแสวงบุญตามศาลเจ้าสำคัญๆ ในตัวเมืองภูเก็ต รวมทั้งสิ้น 8 แห่ง อันเป็นเลขนำโชคของชาวจีน โดยเริ่มจากลานนวมินทร์ วันหนึ่งมี 2 รอบ เช้าพาไป 4 ศาลเจ้า บ่ายอีก 4 ศาลเจ้า โดยในปีต่อๆ ไปก็ทางเทศบาลฯ ก็ตั้งใจจัดรถอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวและผู้มีจิตศรัทธาไปอ๊ามแบบนี้เช่นกัน

เทศกาลเจี๊ยะฉ่าย ประเพณีถือศีลกินผักของภูเก็ตที่เป็นต้นแบบการกินเจทั่วไทย

2. ชมขบวนอิ้วเก้งริมถนน

ตลอดทั้ง 9 วันของเทศกาลถือศีลกินผักเต็มไปด้วยพิธีกรรมที่หลากหลายและสลับซับซ้อน บ้างทำกันอยู่ในศาลเจ้า บ้างออกมาทำกันนอกศาลเจ้า

หากไม่สะดวกเข้าไปไหว้พระในอ๊ามต่างๆ ก็ไม่เป็นไร เพราะยังมีโอกาสได้รับพรจากเทพเจ้าจีนอีกมากมาย หนึ่งในพิธีกรรมที่เราอยากแนะนำคือพิธีอิ้วเก้ง อันเป็นไฮไลต์ของงานเจี๊ยะฉ่าย ซึ่งรายการโทรทัศน์มักรายงานข่าวอยู่เสมอๆ

อิ้วเก้งเป็นพิธีสำคัญนอกอ๊าม จัดขึ้นทุกวันที่ 2 ถึง 9 ค่ำ เดือน 9 คือพิธีแห่พระรอบเมืองที่อ๊ามจะจัดขบวนเทพเจ้าออกเยี่ยมเยียนและอวยพรสาธุชนที่มารอรับพร โดยแต่ละอ๊ามจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันออกมาแห่ในช่วงเช้า ทำให้ทั้ง 8 วันนั้นมีขบวนอิ้วเก้งทุกวัน และไม่ซ้ำอ๊าม

ชื่อพิธี ‘อิ้วเก้ง’ เป็นชื่อที่ใช้กับทุกอ๊าม ยกเว้นอ๊ามกะทู้ซึ่งจะเรียกพิธีนี้ของอ๊ามตนว่า “เฉี้ยเหี่ยวโห้ยเหี่ยวเอี๊ยน” มีความหมายว่าพิธีรำลึกถึงการอัญเชิญควันธูปและไฟศักดิ์สิทธิ์จากมณฑลกังไสเมื่อ พ.ศ. 2368 อันเป็นต้นกำเนิดของเทศกาลถือศีลกินผักในจังหวัดภูเก็ต

เทศกาลเจี๊ยะฉ่าย ประเพณีถือศีลกินผักของภูเก็ตที่เป็นต้นแบบการกินเจทั่วไทย
ขบวนธงเปิดทางนำหน้าขบวนแห่ทั้งหมด
เทศกาลเจี๊ยะฉ่าย ประเพณีถือศีลกินผักของภูเก็ตที่เป็นต้นแบบการกินเจทั่วไทย
ม้าทรงมักรายล้อมไปด้วยบรรดาพี่เลี้ยงพระ (ชิ้วเอ๋) คอยอำนวยความสะดวก และผู้มีจิตศรัทธาต่อเทพที่ม้าทรงคนนั้นๆ ประทับทรงอยู่ซึ่งมักจะอุ้มองค์พระติดตามไปตลอดทาง

ขบวนอิ้วเก้งของทุกอ๊ามจะประกอบไปด้วย ‘ขบวนธงเปิดทาง (ค่ายหล่อกี๋)’ เขียนนามองค์เทพบนผืนธง เดินนำหน้าเพื่อประกาศว่ามีเทพเจ้าองค์ใดร่วมมาในขบวนแห่ม้าทรง (กี่ต๋อง)’ ซึ่งมักแวะให้พรและแสดงอภินิหารโดยใช้อาวุธทำร้ายร่างกายตน นัยว่าเป็นการรับเคราะห์แทนผู้มาร่วมงาน ‘เสลี่ยงเล็ก (ไท้เปี๋ย)’ ประดิษฐานเทวรูปที่ผู้มีศรัทธามักโยนประทัดใส่เพื่อแสดงการต้อนรับ ‘ฉัตรจีน (หนิ่วสั่ว)’ ปิดท้ายด้วย ‘เกี้ยวใหญ่ (ตั่วเหลียน)’ ซึ่งสลักเสลาอย่างวิจิตรอลังการ เป็นที่ประทับขององค์กิ้วอ๋องไต่เต่ ซึ่งคนสองข้างทางต้องนั่งลงรับเสด็จ และจะเป็นส่วนที่ประทัดถูกจุดขึ้นมากที่สุด

เทศกาลเจี๊ยะฉ่าย ประเพณีถือศีลกินผักของภูเก็ตที่เป็นต้นแบบการกินเจทั่วไทย
เสลี่ยงเล็กหรือไท้เปี๋ย
เทศกาลเจี๊ยะฉ่าย ประเพณีถือศีลกินผักของภูเก็ตที่เป็นต้นแบบการกินเจทั่วไทย
เกี้ยวใหญ่หรือตั่วเหลียน

นอกจากชมความอลังการของริ้วขบวนแล้ว อย่าลืมยลความงามของบรรดาตั๋ว’ หรือโต๊ะรับพระที่ชาวบ้านนำออกมาตั้งรับขบวนอิ้วเก้งด้วย โต๊ะเหล่านี้มักคลุมด้วยผ้าแดงอันเป็นสีมงคลของชาวจีน จะมีการจุดธูปเทียนบูชา ตั้งน้ำชา ดอกไม้ ลูกอม และผลไม้ที่ชื่อมีความหมายดี เพื่อรอให้ม้าทรงเข้ามารับเครื่องสักการะพร้อมกับประทานพรให้ผู้มาตั้งโต๊ะต้อนรับ

เทศกาลเจี๊ยะฉ่าย ประเพณีถือศีลกินผักของภูเก็ตที่เป็นต้นแบบการกินเจทั่วไทย

3. เจี๊ยะฉ่ายอย่างชาวภูเก็ต

กฎเหล็กข้อที่หนึ่งของการมาภูเก็ต คืออย่าได้ปริปากคำว่า ‘กินเจ’ ออกมาเลยเชียว เพราะที่นี่เขาใช้คำว่า ‘กินผัก’ สื่อถึงการรับประทานอาหารลักษณะนี้มาตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว

ตามธรรมเนียมปฏิบัติของชาวภูเก็ต เมื่อถึงเทศกาลถือศีลกินผัก ผู้คนจะหิ้วปิ่นโตไปยังศาลเจ้าที่เป็น ‘ฉ้ายตึ๋ง’ หรือสถานที่ประกอบพิธีกินผัก เพื่อรับอาหารที่ปรุงขึ้นสำหรับแจกจ่ายฟรี เพราะเชื่อว่าอาหารที่ปรุงจากฉ้ายตึ๋งเป็นอาหารบริสุทธิ์ ทานแล้วจะเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง พร้อมกันนั้นก็ต้องไปบริจาคเงินเพื่อลงทะเบียนเป็น ‘ก่าวเอี่ยนสุ้ย’ หรือผู้ร่วมกินผักของศาลเจ้านั้นๆ อันจะทำให้การเจี๊ยะฉ่ายสมบูรณ์

เทศกาลเจี๊ยะฉ่าย ประเพณีถือศีลกินผักของภูเก็ตที่เป็นต้นแบบการกินเจทั่วไทย
เทศกาลเจี๊ยะฉ่าย ประเพณีถือศีลกินผักของภูเก็ตที่เป็นต้นแบบการกินเจทั่วไทย

ทุกๆ อ๊ามที่จัดพิธีกินผักจะตั้งโรงครัวเพื่อประกอบอาหารที่ถูกต้องตามหลักการถือศีล คือไม่มีเนื้อสัตว์ ผลผลิตใดๆ จากสัตว์ ผักฉุน 5 ชนิด ตลอดจนกรรมวิธีการปรุงทั้งหมดจะต้องบริสุทธิ์ ไม่เบียดเบียนสิ่งมีชีวิต โรงครัวของอ๊ามจะเนืองแน่นด้วยสาธุชนในทุกมื้ออาหาร ทุกคนไม่ว่ายากดีมีจนอย่างไรก็รับประทานอาหารจากหม้อเดียวกันได้ นับเป็นการสร้างเสริมสามัคคีในสังคมตลอดช่วงเทศกาลนี้

ถ้าคุณเป็นสายกิน แล้วคิดว่าโรงครัวของอ๊ามมีเมนูให้เลือกน้อยไปล่ะก็ เราขอเสนอให้คุณไปเดินถนนระนองตั้งแต่วงเวียนสุริยเดชไปจนถึงหัวถนนอีกฝั่ง บริเวณอ๊ามจุ้ยตุ่ยและอ๊ามปุดจ้อ ตลอด 9 วัน 9 คืนของเทศกาล ถนนเก่าแก่สายนี้เป็นที่ตั้งของถนนคนเดิน ซึ่งคับคั่งด้วยร้านอาหารทั้งคาวและหวาน ทุกร้านล้วนประดับธงเหลือง เขียนอักษร ‘เจ’ ทั้งไทยและจีนสีแดงทั่วหน้า

ความพิเศษของถนนคนเดินสายนี้อยู่ที่เมนูอาหารภูเก็ตขนานแท้ ซึ่งได้รับการดัดแปลงให้ถูกหลักอาหารเจี๊ยะฉ่าย ไม่ว่าจะเป็น โอต้าว โลบะ เกี๊ยวทอด และอีกสารพัดเมนูที่รอคุณไปลิ้มรส

เทศกาลเจี๊ยะฉ่าย ประเพณีถือศีลกินผักของภูเก็ตที่เป็นต้นแบบการกินเจทั่วไทย
เทศกาลเจี๊ยะฉ่าย ประเพณีถือศีลกินผักของภูเก็ตที่เป็นต้นแบบการกินเจทั่วไทย
โอต้าว อาหารพื้นเมืองของชาวภูเก็ต

4. เยี่ยมพิพิธภัณฑ์เก่าที่เล่าเรื่องกินผัก

เทศกาลถือศีลกินผักเป็นที่เชิดหน้าชูตาของจังหวัดภูเก็ตมาช้านาน ในยุคที่การถือศีลกินผักในช่วง 9 วันแรกของเดือน 9 จีน ได้กลายเป็นเทศกาลสำคัญของชาวไทยเชื้อสายจีนที่ทั่วประเทศคุ้นเคยกับชื่อ ‘เทศกาลกินเจ’ แล้วนั้น ผู้คนไม่น้อยได้หันกลับมาให้ความสนใจกับภูเก็ตในฐานะเมืองต้นตำรับเทศกาลกินผัก หลายๆ หน่วยงานที่นี่จึงได้สร้างแหล่งการเรียนรู้ไว้รองรับผู้ที่สนใจความเป็นมาของงานเจี๊ยะฉ่ายให้ได้ตักตวงองค์ความรู้ดีๆ กลับไป

เทศกาลเจี๊ยะฉ่าย ประเพณีถือศีลกินผักของภูเก็ตที่เป็นต้นแบบการกินเจทั่วไทย

เริ่มจาก ‘พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว’ โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมแบบชิโน-ยูโรเปียนอายุกว่า 80 ปี ในอดีตตึกสวยหลังนี้เคยเป็นที่ตั้งของโรงเรียนภูเก็ตไทยหัวมาจนกระทั่ง พ.ศ. 2538 ที่โรงเรียนย้ายไปอยู่ที่ตั้งใหม่ มูลนิธิกุศลสงเคราะห์ จังหวัดภูเก็ต ร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ตกลงกันปรับปรุงอาคารเพื่อจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์เชิงวัฒนธรรมของชาวภูเก็ต ที่บอกเล่าขนบธรรมเนียม ประเพณี วิถีชีวิตของชาวจีนภูเก็ตในอดีตไว้อย่างครบครัน โดยมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อต้น พ.ศ. 2551

เทศกาลเจี๊ยะฉ่าย ประเพณีถือศีลกินผักของภูเก็ตที่เป็นต้นแบบการกินเจทั่วไทย

‘พิพิธภัณฑ์เพอรานากันนิทัศน์’ เป็นอีกแห่งหนึ่งที่ควรไปเยือนหากต้องการรู้จักเมืองภูเก็ตและประเพณีเจี๊ยะฉ่ายให้มากขึ้น ตึกอายุร่วมร้อยปีสีเหลืองที่ตั้งเด่นอยู่ทั้งสองหัวมุมถนนพังงานี้ ในอดีตเคยใช้เป็นที่ทำการของธนาคารชาร์เตอร์ ก่อนจะได้รับการบูรณะซ่อมแซม และได้รับพระราชทานนามพิพิธภัณฑ์จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ (พระยศขณะนั้น) ว่า ‘เพอรานากันนิทัศน์’ ใน พ.ศ. 2558

พื้นที่ชั้น 1 ของพิพิธภัณฑ์นี้เป็นที่จัดนิทรรศการเวียน ซึ่งจะหมุนเวียนเปลี่ยนไปในแต่ละช่วง สำหรับในช่วงเทศกาลเจี๊ยะฉ่าย ทางพิพิธภัณฑ์ก็จะจัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับเทศกาลกินผัก ทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษร ภาพถ่าย หรือแม้แต่สิ่งของ เพื่อเล่าพัฒนาการของประเพณีนี้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

เทศกาลเจี๊ยะฉ่าย ประเพณีถือศีลกินผักของภูเก็ตที่เป็นต้นแบบการกินเจทั่วไทย
เทศกาลเจี๊ยะฉ่าย ประเพณีถือศีลกินผักของภูเก็ตที่เป็นต้นแบบการกินเจทั่วไทย
เทศกาลเจี๊ยะฉ่าย ประเพณีถือศีลกินผักของภูเก็ตที่เป็นต้นแบบการกินเจทั่วไทย

หากสาระความรู้จากทั้งสองพิพิธภัณฑ์ยังไม่เต็มอิ่ม เราขอพาไปเยือนพิพิธภัณฑ์น้องใหม่ล่าสุดอย่าง ‘พิพิธภัณฑ์จุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง’ ที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้

ที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์นี้คือตึกแถวชั้นเดียวตรงข้ามอ๊ามจุ้ยตุ่ย เกิดขึ้นจากดำริของ คุณกิตติวงศ์ จันทร์สัทธรรม ประธานศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง ที่ต้องการนำเสนอข้อมูลความรู้และวัตถุโบราณต่างๆ ของอ๊ามให้สาธารณชนได้รับรู้ จึงได้ขอซื้อห้องแถวจากชาวบ้านเพื่อสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์

ภายในพิพิธภัณฑ์นี้แบ่งพื้นที่การจัดแสดงออกเป็น 4 ห้องตามหัวข้อ บอกเล่าประวัติอันยาวนานของอ๊ามจุ้ยตุ่ย ความหมายของข้าวของเครื่องใช้ในประเพณีเจี๊ยะฉ่าย เรื่องราวของม้าทรงผู้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้า รวมไปถึงเมนูอาหารและร้านอาหารเจี๊ยะฉ่ายในย่านอ๊ามนี้ การันตีว่าสายหาความรู้จะได้รับเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของเทศกาลอย่างจุใจทีเดียว

เทศกาลถือศีลกินผัก พ.ศ. 2563 ผ่านพ้นไปแล้ว ขอให้ทุกๆท่าน “เป่งอ๊าน เป่งอ๊าน” โดยทั่วหน้า

เจี๊ยะฉ่ายปีหน้า อย่าลืมมาเที่ยวเพื่อสั่งสมบุญบารมีที่ภูเก็ตกันนะ

เทศกาลเจี๊ยะฉ่าย ประเพณีถือศีลกินผักของภูเก็ตที่เป็นต้นแบบการกินเจทั่วไทย

ขอขอบคุณ

  • คุณประเสริฐ ขาวกิจไพศาล ประธานศาลเจ้ากะทู้
  • ดร.ศุภชัย แจ้งใจ ผู้แทนศาลเจ้ากะทู้
  • คุณกิตติวงศ์ จันทร์สัทธรรม ประธานศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง
  • อ.ธำรงค์ บริเวธานันท์ ผู้จัดนิทรรศการพิพิธภัณฑ์จุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง
  • คุณสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต
  • คุณจอมนาง คงรัตน์ หัวหน้าพิพิธภัณฑ์เพอรานากันนิทัศน์
  • คุณประเสริฐ ฟักทองผล ประธานชมรมอ๊ามจังหวัดภูเก็ต

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ