บาส-ภุชงค์ ซ้ายอุดมศิลป์ นั่งวีลแชร์ด้วยท่าทางสบายๆ โดยมีเจ้า ‘ขนเงิน’ แมวอ้วนขี้อ้อนนอนขดตัวทิ้งน้ำหนัก 7 กิโลกรัมอยู่บนตักมาราวชั่วโมงกว่า ขนสีขาวของมันหลุดร่วงติดเต็มกางเกงช่วงต้นขา อวัยวะส่วนสำคัญที่พาให้เจ้านายคว้าแชมป์จักรยานเสือภูเขาตั้งแต่อายุ 13 กวาดถ้วยรางวัลรุ่นเยาวชนและติดทีมชาติตอนอายุ 19 ก่อนทะยานสู่นักปั่นดาวรุ่งคนที่ 2 ของไทยที่ได้ออกไปเทิร์นโปรค้าแข้งในรายการระดับนานาชาติ รวมถึงทำสถิติสูงสุดซึ่งยังไม่เคยมีนักปั่นไทยคนใดสามารถ ในการแข่งขันร่วมสนามกับสิงห์นักปั่น ตูร์ เดอ ฟรองซ์ (Tour de France)
ทว่านับจากประสบอุบัติเหตุเมื่อกลางปีผ่านมา ขาทั้งสองข้างของบาสก็กลายเป็นอวัยวะไร้ความรู้สึกรู้สา

ผมมาถึง Sai Cycling Bike Shop พร้อมสายฝนเทกระหน่ำ ร้านจำหน่ายอุปกรณ์จักรยานขนาดย่อมแห่งนี้เป็นที่รู้จักมักคุ้นกันดีในกลุ่มคนรักจักรยาน และเป็นจุดหมายปลายทางที่บรรดานักปั่นต่างหาโอกาสแวะยามปักหมุดเยือนพะเยา เพราะไม่เพียงสารพัดสินค้าคัดสรรบนชั้นวางที่ดึงดูด แต่หลายคนอยากมาที่นี่เพื่อพบปะพูดคุยกับบาส ชายหนุ่มผู้เป็นเจ้าของร้านและไอดอลของพวกเขา
แม้วันนี้สภาพร่างกายจะยังไม่ฟื้นคืนเต็มร้อย แต่จิตใจของบาสดูมั่นคงเกินกว่า เขายิ้มแย้มทักทายผมขณะกำลังปั่นจักรยานกายภาพบำบัดไฟฟ้า พลันขยับมาแบ่งปันเรื่องราวตลอดเส้นทางนักปั่นที่ผ่านมา บทเรียนสำคัญในวันที่ล้ม ตลอดจนการลุกขึ้นเผชิญหน้ากับวิถีชีวิตใหม่อย่างมีความหวัง

เข้าวงการ
เด็กหลังห้อง ตัวผอมกะหร่อง ชอบเล่นฟุตบอลแต่วิ่งไม่เอาไหน ครั้นลองว่ายน้ำได้ไม่เท่าไรก็ถอดใจเลิกล้ม
หากหมุนเวลาย้อนกลับไป บาสเล่าว่าเขาเป็นเด็กผู้ชายธรรมดาที่ไม่เก่งทั้งทักษะวิชาการ ส่วนกีฬาก็ไม่โดดเด่น จนช่วงประมาณชั้นประถม 6 นั้นเองที่เขาเริ่มหันมาเอาดีกับการปั่นจักรยาน เมื่อบังเอิญได้ดูการถ่ายทอดการแข่งขันจักรยานทางไกล ตูร์ เดอ ฟรองซ์ เกมกีฬาอันทรหดบนเส้นทางท้าทายและการขับเคี่ยวชิงไหวชิงพริบ จุดประกายความชื่นชอบ
กอปรกับคำขอซื้อจักรยานคันแรกในชีวิตผ่านการอนุมัติ ทุกเย็นหลังสัญญาณออดเตือนหมดคาบเรียนสุดท้าย บาสจะรีบพุ่งกลับบ้าน สลัดชุดนักเรียนเปลี่ยนชุดกีฬา แล้วควบจักรยานเสือภูเขาคันเก่งออกมารวมกลุ่มซ้อมกับเพื่อนชมรม ‘ธนกรจักรยาน’ ที่มี ธนกร วัฒนปรีดา และ สมศักดิ์ พรพรรณ สองอดีตนักปั่นทีมชาติเป็นผู้ก่อตั้งและฝึกสอน ก่อนจะติดสอยห้อยตามก๊วนสมัครลงแข่ง แทบทุกสนามเขาได้รับเพียงความพ่ายแพ้เป็นกำนัล แต่ในทางกลับกัน สิ่งนี้คือแรงผลักดันให้บาสหมั่นฝึกซ้อม ซ้อมเสริมนอกรอบ และพยายามซ้อมหนักกว่าใคร จนกระทั่งปีถัดมา เขาก็สามารถกำชัยชนะแรกจากการแข่งขันจักรยานเสือภูเขา รุ่นอายุ 13 ปี รายการสิงห์-คาลเท็กซ์ เมาเท่นไบค์ ไทยแลนด์โอเพ่น
จักรยานไม่เพียงปลดล็อกเด็กชายปวกเปียกให้กลายเป็นนักกีฬาที่เข้มแข็ง ทว่ายังหล่อหลอมความมีระเบียบวินัย ซึ่งส่งผลให้การเรียนของเขาดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จวบเลื่อนชั้นมัธยมปลาย บาสขยับมาจับจักรยานเสือหมอบ และถูกดึงตัวร่วมสังกัดทีมสยามไบค์ ต่อด้วยสยามบารา เขาค่อยๆ เติบโตเป็นหนุ่มพร้อมโชว์ฟอร์มการปั่นที่จัดจ้าน โดยทำผลงานโดดเด่น อาทิ แชมป์รุ่นเยาวชน 2 สมัยและแชมป์รุ่นทั่วไปจากการแข่งขันจักรยานชิงแชมป์แห่งประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทาน คิงส์คัพ รวมถึงก้าวขึ้นมาเป็นตัวแทนทีมชาติ คว้าอันดับ 5 จากการแข่งขันจักรยานประเภทถนน ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 24 ด้วยวัยเพียง 19 ปี
ความมุ่งมั่น เงินรางวัล และเหรียญกีฬาซีเกมส์ เปิดโอกาสให้บาสได้ลงมือทำ 2 สิ่งที่ใฝ่ฝัน
หนึ่ง ปลุกปั้นร้านจักรยาน Sai Cycling Bike Shop ธุรกิจที่ก่อร่างจากความรักและความสุข
สอง ประลองฝีแข้งในดินแดนต้นกำเนิด ตูร์ เดอ ฟรองซ์ เพื่อไต่เต้าสู่เส้นทางนักปั่นระดับมืออาชีพ
เทิร์นโปร
“พอจบซีเกมส์ ก็มีนักปั่นชาวญี่ปุ่นแนะนำว่า ถ้าผมอยากพัฒนาไกลกว่านี้ ต้องไปเก็บประสบการณ์ที่ฝรั่งเศสให้ได้สักครั้ง ผมเลยลองปรึกษากับทีมต้นสังกัดและครอบครัว ซึ่งทุกคนพร้อมสนับสนุนเต็มที่ เลยได้ไปใช้ชีวิตอยู่ฝรั่งเศสสามเดือน โดยเข้าร่วมกับทีมระดับสโมสร ตระเวนแข่งหลายรายการ ยอมรับว่าหินกว่าที่คาด เหนื่อยแต่ก็คุ้มค่า เพราะเราได้เรียนรู้อะไรเยอะมากเหมือนกัน” บาสเล่าประสบการณ์เทิร์นโปรครั้งแรกด้วยน้ำเสียงแจ่มใส ในวัย 20 ต้นๆ เขาเป็นนักปั่นไทยหมายเลขสองรองจาก ประจักษ์ มหาวงศ์ ที่ได้ลงสนามค้าแข้งยังต่างแดน


ในศึกจักรยานทางไกลนานาชาติ ทัวร์ ออฟ ไทยแลนด์ 2009 บาสกลับมาฉายแววร้อนแรงอีกครั้งและกลายเป็นที่จับตามองทันที เมื่อเขาคว้าตำแหน่งรองแชมป์ พ่วงรางวัล Best ASEAN ซึ่งถือเป็นนักปั่นไทยคนแรกที่คว้ารางวัลนี้ โดยสามารถทำ GC (General Classification) หรืออันดับเวลารวมจากจุดสตาร์ทถึงเส้นชัยได้ยอดเยี่ยมที่สุดในอาเซียน ทำให้ปีต่อๆ มาเขาถูกทาบทามร่วมทีมจักรยานอาชีพ อย่าง Geumsan Ginseng Asia เกาหลี Terengganu Cycling Team มาเลเซีย และ OCBC Singapore Continental Cycling Team สิงคโปร์ สร้างชื่อในตำแหน่ง All Rounder หรือนักปั่นเก่งฉกาจรอบด้าน และโลดแล่นในแวดวงการแข่งขันจักรยานระดับนานาชาตินานกว่า 6 ปี ก่อนกลับมาเสริมทัพนักปั่นชุดบุกเบิกประจำทีม Thailand Continental Cycling Team ทีมจักรยานอาชีพทีมแรกและทีมเดียวของประเทศไทย
“พอย้ายมาทีมไทยแลนด์ คอนติฯ ผมก็สลับมาเป็น Super Domestique ผู้ช่วยหัวหน้าทีมและช่วยเพื่อนร่วมทีมให้คว้าชัยชนะ รวมทั้งวิเคราะห์เกมเฉพาะหน้า เพื่อสร้างเปอร์เซ็นได้เปรียบให้กับทีม” บาสเสริมต่อว่า ล่าสุดเขายังสร้างสถิติใหม่ของนักปั่นไทยที่ร่วมรายการ Japan Cup Cycle Road Race 2019
“รายการนี้เป็นรายการที่ผมชอบมาก เพราะได้ดวลกับนักปั่นระดับโปรทัวร์เก่งๆ ที่มีประสบการณ์ปั่นตูร์ เดอ ฟรองซ์ ซึ่งปีก่อนผมทำผลงานได้อันดับสามสิบสาม ดีที่สุดเท่าที่นักปั่นไทยเคยทำมา แล้วก็เป็นคนไทยคนเดียวที่ปั่นจนจบรายการแข่งขันครั้งนั้นด้วย” น้ำเสียงของเขาเปิดเผยความภูมิใจ
ขณะที่ทุกอย่างดูกำลังไปได้สวยบนเส้นทาง พายุนิรนามก็เหวี่ยงซัดชีวิตบาสให้กระเด็นหล่นในจุดที่ไม่คาดฝัน
ต่ำกว่าปกติ
11 นาฬิกาโดยประมาณ บนเส้นทางขากลับที่ใช้ซ้อมปั่นมาตั้งแต่เด็ก ระหว่างโฉบลงเนินบริเวณจุดชมทิวทัศน์กว๊านพะเยาด้วยความเร็ว 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จู่ๆ บาสก็รู้สึกเหมือนมีสายลมประหลาดพัดวูบ พลันกระชากสัมปชัญญะของเขาให้ดับราวสับสวิตช์ ก่อนสะลึมสะลือคืนสติยังโรงพยาบาล ท่ามกลางสายตาคนรอบข้างที่ไม่อาจเก็บซ่อนอาการวิตกกังวล
นอกจากสไตล์การปั่นที่หลายคนยกให้เป็นสายบู๊ลุยแหลก กล้าแลก และกล้าเสี่ยงสู้หลังชนฝา เพื่อนฝูงทุกคนต่างรู้ดีว่าบาสเป็นนักกีฬาที่มีวินัยสูงและขยันซ้อมจนเป็นนิสัย กระนั้นการฝึกซ้อมนี้เองก็ทำให้เขาประสบอุบัติเหตุครั้งใหญ่มาแล้ว 2 หน
อุบัติเหตุหนแรกเกิดขึ้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2561 ระหว่างฟิตซ้อมสำหรับลงแข่งศึกเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 18 ในจังหวะที่กำลังเร่งทำความเร็วลงเขา บาสก็เสยเข้ากับท้ายรถกระบะที่จอดแอบริมทาง แรงปะทะส่งร่างลอยละลิ่วขึ้นไปอัดกระแทกกับมอเตอร์ไซต์ที่รถคันดังกล่าวบรรทุกมา จนทำให้ไหปลาร้าหัก กรามร้าว และปากฉีก
“การซ้อมครั้งนั้นถือเป็นครั้งแรกที่ผมเจ็บตัวหนักสุดเลยครับ ตอนถูกหามส่งโรงพยาบาลมีแวบคิดเหมือนกันนะว่า คงถึงเวลาที่เราต้องเลิกแล้วละมั้ง” บาสตรองความทรงจำ “แต่พอมาคิดดูอีกที เราก็อดไม่ได้ที่จะไม่ปั่นจักรยาน”
บาสหัวเราะแล้วเล่าให้ฟังต่อว่า ทันทีที่หมอดามเหล็กไหปลาร้าเสร็จสรรพ เขาก็กลับมาจับจักรยาน แล้วในไม่ช้าก็สามารถรับใช้ทีมชาติและคืนฟอร์มดังเดิม
กระทั่งอีก 2 ปีถัดมา ขณะเตรียมร่างกายลุยศึกจักรยานประเภทถนนชิงแชมป์ประเทศไทย รายการที่บาสตั้งใจอยากนำถ้วยแชมป์มามอบแด่พ่อผู้ลาลับ ทว่าเขากลับต้องมาพบเจออุบัติเหตุที่พลิกผันชีวิตอย่างเกินความคาดหมาย
“มันเป็นการสูญเสียสองครั้งติดต่อ เพราะพ่อเพิ่งเสียกุมภาพันธ์ แล้วกรกฎาคมผมก็มาล้มอีก” บาสเรียกน้องชายให้หยิบหมวกจักรยานที่เขาสวมในวันนั้นออกมาให้ผมดู สภาพหมวกยับเยิน ปริร้าว และแตกหัก
“ทุกคนต่างบอกว่าไม่น่ามาพลาดเส้นทางบ้านตัวเอง โชดดีที่ยังมีชีวิตรอด ต้องขอบใจหมวกใบนี้ เพราะถ้าไม่มีมัน หัวคงเละ”

บาสฟื้นตื่นขึ้นที่โรงพยาบาลในสภาพแขนขาหัก กรามหัก มีเลือดคั่งในสมอง ซี่โครงทิ่มปอด และกระดูกสันหลังหักทับเส้นประสาท ส่งผลให้ช่วงล่างไร้ความรู้สึก โดยสันนิษฐานว่าต้นตอของเหตุการณ์เกิดจากก้อนหินลักษณะคล้ายถูกใช้รองซ่อมล้อรถซึ่งทิ้งไม่พ้นทาง หินเจ้ากรรมพาบาสสะดุดพุ่งเสียหลักหลังฟาดราวกั้นถนน
“ตอนแรกเราคิดว่าแค่กระดูกหัก รักษาตัวสักพักก็คงกลับมาใช้งานได้ แต่พอหาข้อมูลเรื่องกระดูกสันหลังกับแม่ เราก็เริ่มรู้แล้วว่าเปอร์เซ็นที่จะหายเป็นปกติมีน้อยมาก แม้แต่หมอยังไม่กล้าบอกว่าจะกลับมาเดินได้หรือไม่ได้ ช่วงนั้นเราเลยเครียดมาก คิดตลอดว่าทำไมต้องเป็นขา คือเราดูแลรักษาขาอย่างดีมาตลอดชีวิต รักษามันมากกว่าอวัยวะทุกส่วนในร่างกาย เพราะเป็นเหมือนเครื่องมือหากิน แต่ตอนนี้กลับใช้การไม่ได้” บาสสะอึก
“เหมือนเราไต่จนสูงแล้วตกลงมาต่ำกว่าคนปกติ ทุกอย่างในชีวิตมันล่มสลายไปเลยครับ”
การตกลงมาต่ำกว่าคนปกติบั่นทอนความรู้สึกเขาอย่างสาหัส และมีบ่อยครั้งที่เขายอมรับว่าอยากทิ้งชีวิตนี้ไปเสียที แต่…
วัคซีนใจ
‘แม้ขาจะไร้ความรู้สึก ก็ต้องฝึกยืน’
ปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 บาสโพสสเตตัสสั้นๆ ลงเฟซบุ๊กพร้อมรูปภาพตัวเองในชุดผู้ป่วย ติดอุปกรณ์พยุงหลัง มือทั้งสองข้างกำชับราวจับมั่น เพื่อหัดทรงตัวยืนด้วยสีหน้าแจ่มใสและแววตาทอประกายความหวัง
บาสบอกว่าตลอดช่วงระยะเวลาการพักฟื้น เขาเฝ้ามองแม่ที่พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้เขายังมีชีวิตอยู่ต่อ แม่ลางานมาเยี่ยมบ่อยครั้ง จนตัดสินใจเช่าหอพักรายเดือนหน้าโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และคอยอยู่เคียงข้างเป็นกำลังใจเขาเสมอ สิ่งนี้ส่งแรงพลังให้บาสอยากกลับมาฮึดสู้ เปลี่ยนมุมมองต่อข้อจำกัด ด้วยการยอมรับแต่ไม่สยบยอม เขาเพียรกายภาพบำบัด ฟื้นฟูความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน และปรับตัวเรียนรู้วิถีชีวิตใหม่บนวีลแชร์อย่างมุ่งมั่น
“หลังกายภาพที่เชียงใหม่ครบแล้ว อาจารย์หมอที่รักษาผมยกให้ผมเป็นคนไข้ดีเด่นเลยนะ เพราะเวลานักกายภาพสอนอะไรมา บางคนอาจทำไม่ได้หรือใช้เวลาฝึกนาน แต่ผมทำได้เลย” บาสเล่ากลั้วหัวเราะ

“ตอนนี้เราก็พยายามทำกายภาพทุกวัน แต่ไม่ได้หวังเรื่องจะกลับมาเดินมากนัก แค่ขอให้มันกลับมามีความรู้สึกบ้างก็ถือเป็นกำไรชีวิตแล้ว เหมือนที่ผมปั่นจักรยานกายภาพบำบัดไฟฟ้าเมื่อกี้ คือมันช่วยให้ขาผมขยับ กล้ามเนื้อจะได้ไม่ลีบ จากเมื่อก่อนตอนปั่นจักรยานช่วงบนเล็ก ช่วงขาเป็นกล้ามทั้งนั้น ตอนนี้พลิกกันช่วงบนกล้ามเยอะ ส่วนขาเริ่มเล็กลง”
บาสส่งโทรศัพท์มือถือให้ดูภาพที่เขาถอดเสื้อยกวีลแชร์ ด้วยท่าทางคล้ายคนกำลังรีดกล้ามเนื้อหน้าอกในฟิตเนส พลันหัวเราะร่วนตอนผมแซวว่าหุ่นเฟิร์มอย่างกับ เดอะ แพ็คแมน (แมนนี ปาเกียว)
บาสย้ายกลับมาอยู่บ้านกับครอบครัวเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เขายอมรับว่าการเริ่มต้นชีวิตในรูปแบบใหม่นี้ไม่ใช่เรื่องง่าย
“ช่วงแรกๆ ผมคิดสั้นบ่อยมากเลยครับ แต่พอมานึกทบทวนดูว่าหมออุตส่าห์ยื้อชีวิตเราให้ฟื้นขึ้นมา แล้วถ้าเราตายไป แม่ น้องชาย และสำคัญที่สุดคือลูก จะเป็นยังไง ทุกวันนี้ผมจึงคิดว่าอยู่เพื่อลูก เพื่อแม่ และน้องชาย”

ทุกเช้าบาสจะตื่นขึ้นมาทำกิจวัตร จัดแจงชงกาแฟและทานอาหารด้วยตัวเอง จากนั้นช่วยน้องชายจัดการธุระภายในร้าน เสร็จสรรพจึงใช้เวลาไปกับการปั่นจักรยานกายภาพบำบัดไฟฟ้า ฝึกยืนโดยใช้ Standing Wheelchair เล่นเวทแขน พอตกเย็นอากาศปลอดโปร่ง บาสจะยกวีลแชร์ขึ้นรถที่ปรับแต่งแฮนด์คอนโทรล ขับออกไปริมกว๊านพะเยา เข็นวีลแชร์ออกกำลังกาย ผ่อนคลายอารมณ์และปลดปล่อยความรู้สึก ก่อนกลับมาซิทอัป 150 ครั้ง เป็นโปรแกรมสุดท้ายของวันเพื่อเสริมแรงการทรงตัว
“ต่อให้ใช้ชีวิตอยู่บนนี้ เราก็ยังมีมือ มีแขน และมีสมอง ทำอะไรได้อีกหลายอย่าง ถึงตอนนี้ประมาณเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ ผมทำทุกอย่างเองได้โดยไม่ต้องมีใครช่วยเหลือแล้วครับ”
เขาบอกอีกว่า นอกเหนือจากครอบครัวที่เป็นเสมือนวัคซีนใจให้เขาไม่ท้อถอย สิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือเรื่องของการปรับมุมมองความคิด และเรียนรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบัน
“ถ้าเรามัวมานั่งนึกถึงแต่อดีต คิดว่าเราเคยทำสิ่งนั้นได้ เคยมีความสุขกับอะไรหลายๆ อย่าง แต่ตอนนี้เราทำไม่ได้ มันจะยิ่งท้อ ยิ่งคิดลบ และรู้สึกด้อย ฉะนั้น เราต้องพยายามอย่าหมกมุ่น และคิดเสียว่าเหมือนเกิดใหม่ เมื่อก่อนผมวางแผนอนาคตไว้เยอะ เช่น เรื่องการแต่งงานที่พอพ่อเสียก็เลื่อน แล้วตอนนี้เหมือนแทบจะยกเลิก สิ่งที่เราสูญเสียไม่ใช่แค่ขา แต่สูญเสียหลายอย่างที่มันเคยดี ทุกวันนี้ก็เลยพยายามลบลืมมันบ้าง บอกกับตัวเองว่าไม่เป็นไร และอยู่กับปัจจุบันให้ได้มากที่สุด”

พลิกสังเวียนสู้
ทุกครั้งที่ล้ม เขาจะต้องลุกขึ้นสู้ หากอุบัติเหตุครั้งนี้ไม่หนักหนา บาสยืนยันว่ายังไงเขาก็ต้องกลับมาจับจักรยานอยู่วันยังค่ำ แต่ในเมื่อไม่อาจเป็นได้ดังใจคิด ก็คงถึงคราวต้องพลิกสังเวียนสู้
คอร์ส ‘Training Camp Online by ภุชงค์’ คือโปรแกรมการฝึกสอนปั่นจักรยานออนไลน์ที่บาสเพิ่งเปิดรับลูกศิษย์ชุดแรกไปหมาดๆ และมีผู้สนใจเข้าร่วม 17 คน โดยในโปรแกรมนี้บาสจะรับหน้าที่เป็นโค้ชออกแบบตารางการฝึกซ้อมระยะ 3 เดือน ให้ตอบโจทย์กับความต้องการของแต่ละคนมากที่สุด อาทิ ซ้อมเพื่อเตรียมตัวแข่งขัน ซ้อมเพื่อพัฒนาศักยภาพการปั่น หรือปั่นเพื่อลดความอ้วน ซึ่งผู้ร่วมโปรแกรมจะต้องฝึกซ้อมตามตาราง และส่งรายงานผลผ่านแอปพลิชัน Strava เพื่อให้บาสตรวจประเมิน เสริมคำแนะนำ ปรับปรุงแผนให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงจัดวางโปรแกรมการกินอย่างเหมาะสม

“คือทุกคนพยายามแนะนำว่าไหนๆ เราก็มีประสบการณ์เยอะ น่าจะแบ่งปันให้เกิดประโยชน์ดีกว่า ตอนนี้เราเลยลองทำโค้ชออนไลน์ เอาความรู้และทักษะที่เก็บเกี่ยวตลอดชีวิตมาสอนสำหรับคนที่รักการปั่นจักรยาน หรืออยากจริงจังกับการปั่น เพื่อนำไปปรับพัฒนาการฝึกซ้อมอย่างถูกต้อง”
การแบ่งปันทำให้อิ่มเอมใจและช่วยให้ไม่คิดฟุ่งซ่าน แต่สำหรับบาส ความสุขและเป้าหมายเดียวในชีวิตของเขา ณ ตอนนี้ คือการได้ใช้เวลาอันมีค่าอยู่กับครอบครัวให้มากที่สุด

Phuchong Saiudomsin Page พื้นที่แบ่งปันสารพันเรื่องราวเกี่ยวกับจักรยาน เทคนิคการปั่น และการฝึกซ้อม พร้อมไลฟ์สดเพื่อตอบทุกข้อสงสัยที่คนรักจักรยานอยากรู้ โดย บาส-ภุชงค์ ซ้ายอุดมศิลป์ และสำหรับใครที่สนใจเข้าร่วมคอร์ส Training Camp Online by ภุชงค์ เร็วนี้ๆ กำลังจะมีเปิดรับรุ่นสอง ติดตามสอบถามผ่านช่องทางนี้ได้เลย