“ขาขาวมานั่งใกล้เหม็นคาวฮากสิออก
ขาลายมานั่งใกล้หอมเนียมอ้มทะบ่ปาน”
กลอนผญาโบราณของชาวอีสาน เล่าถึงคนรุ่นคุณย่าคุณยายว่าเขากรี๊ดหนุ่มๆ ที่สักขาลายกันขนาดไหน ถ้าให้แปลก็จะประมาณว่า “เนี่ย! พวกขาขาวๆ น่ะ ไม่ต้องมานั่งใกล้ๆ เลย ฉันรังเกียจ เหม็น จะอ้วก แต่สำหรับผู้บ่าวที่สักขาลายถ้าจะมานั่งใกล้ๆ ก็ยินดีมากจ้ะ ก็แหม มันหอมเหมือนกลิ่นใบเนียมอ้มอย่างไรอย่างนั้น”

เกือบ 10 ปีที่ศึกษาเรื่องวัฒนธรรมอีสาน ฉันเคยเห็น ‘ผู้บ่าวขาลาย’ จากเพียงภาพถ่ายหรือภาพสเก็ตช์จากสมุดบันทึกของครูบาอาจารย์เท่านั้น จึงเป็นความใฝ่ฝันมาโดยตลอดว่า อยากจะเห็นตำนานหนุ่มฮอตแห่งยุคสมัยให้เป็นบุญตาสักครั้งหนึ่งในชีวิต
มาสบโอกาสเอาก็ตอน…
“หมอ อาจารย์ชาญพิชิต พงษ์ทองสำราญ สิมาบรรยายเรื่องสักขาลาย แล้วมื่ออื่นสิไปนำหาผู้บ่าวขาลายที่ภูผาม่าน ไปนำกันบ่” พี่สาวในแวดวงวัฒนธรรมที่รักใคร่กันเอ่ยชวน
แหม! เรื่องแบบนี้ไม่เห็นต้องถาม ฉันใช้เวลาตัดสินใจเพียง 0.000 วินาทีเท่านั้นก็ตอบตกลง
ถึงวันออกเดินทาง ฝนที่ตกหนักมาตั้งแต่กลางไม่อาจละลายความมุ่งมั่นของเราได้ อาจารย์ชาญพิชิตหรือที่เราถือวิสาสะเรียกเขาว่า ‘อาจารย์โบ้’ เล่าว่า เมื่อ 6 ปีที่แล้ว เขามีโครงการถ่ายรูปต้นไม้ใหญ่ทั่วประเทศ ในขณะเดียวกันได้มีโอกาสไปทำงานสตรีทอาร์ตที่จังหวัดน่าน และมีโอกาสไปชมภาพปู่ม่านย่าม่าน ที่วัดภูมินทร์ แต่จุดที่เขาให้ความสำคัญกลับอยู่ที่รอยสักที่ต้นขาของปู่ม่าน จึงเริ่มค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการสักขาลาย
ในขณะที่เดินทางไปทั่วประเทศเพื่อถ่ายภาพต้นไม้ใหญ่ ก็สืบหาผู้ที่สักขาลายไปด้วย โดยส่วนใหญ่มักจะได้รับคำตอบว่าเสียชีวิตไปแล้ว ทำให้รู้สึกว่า ‘เรามาช้าไป’ โปรเจกต์ต้นไม้จึงต้องพับลงลิ้นชักไปก่อน และหันมาจริงจังกับโปรเจกต์สักขาลาย
“ผมใช้วิธีสืบหาข้อมูลทั้งจากการถามและอินเทอร์เน็ต แล้วติดต่อ อบต. ให้ช่วยนำทางไป เพราะเขามีความชำนาญในการใช้เส้นทางท้องถิ่นมากกว่าเรา” อาจารย์หนุ่มผู้หลงเสน่ห์รอยสักเล่าถึงวิธีการทำงานของเขา
อำเภอเมืองขอนแก่นอยู่ห่างจากอำเภอภูผาม่านเพียง 113 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางเพียง 2 ชั่วโมงก็มาถึงที่หมาย ท้องฟ้าที่หมาดฝนไปแล้ว เป็นนิมิตหมายอันดีว่าภารกิจในวันนี้จะสำเร็จลุล่วง
เรามุ่งหน้าสู่วัดสว่างอารมณ์ หลวงพ่อเจ้าอาวาสจะเป็นผู้นำทางเราไปพบผู้บ่าวขาลายแห่งภูผาม่าน ที่จริงอาจารย์โบ้เคยมาเก็บภาพรอยสักขาลายของคุณตาไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ครั้งนี้เป็นการนำหนังสือภาพที่แสดงในงานนิทรรศการสักอีสานมามอบให้ และถ่ายภาพบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ในแต่ละช่วงปี

โดยชื่อสว่างอารมณ์ ท่านเจ้าอาวาสให้ข้อสันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะเคยมีพระนักปฏิบัติเคยใช้สถานที่แห่งนี้เพื่อพบความสงบสว่างในใจ
ระหว่างที่รอหลวงพ่อปฏิบัติกิจสงฆ์กับญาติโยม เราจึงแวะไปชมภาพจิตรกรรมที่เพื่อนของเราได้มาฝากฝีมือไว้ที่โบสถ์ เมื่อฉันผลักประตูไม้หนาหนักเข้าไป แสงสีที่สะท้อนออกมาจากภายในโบสถ์ทำให้ฉันต้องร้องว้าว เพราะภาพวาดนั้นฉีกขนบของภาพจิตรกรรมเสียกระจุยกระจาย นับตั้งแต่ลายเส้นที่ไม่ได้อยู่ในอิริยาบถร่ายรำแบบโบราณ แต่เป็นลายเส้นอย่างที่วัยรุ่นเขาเรียกตะมุตะมิอย่างไรอย่างนั้น รวมถึงสีสันสะท้อนแสงสุดจ๊าบ

ห่มสวรรค์ อู่ม่านทรัพย์ ศิลปินผู้วาดและทีมงานเล่าว่า
“เหตุที่สื่อภาพพุทธประวัติออกมาในลักษณะนี้ เพราะต้องการให้เข้าถึงได้ง่ายทุกเพศทุกวัย ไม่น่าเบื่อ”
ถึงเวลาต้องเดินทางไปพบคุณตาเจ้าของรอยสักในตำนาน แต่ญาติโยมยังหลั่งไหลมากราบหลวงพ่อไม่ขาดสาย โชคดีที่เพื่อนศิลปินของเรามีความชำนาญเส้นทางในพื้นที่ จึงรับมอบหมายจากหลวงพ่อให้นำทางเราด้วยความยินดี ถนนคอนกรีตเล็กๆ ของหมู่บ้านนำเราไปยังบ้านนาฝาย รถนำทางแล่นผ่านโรงเรียนประจำหมู่บ้านซึ่งร้างนักเรียนเพราะเป็นวันอาทิตย์ ก่อนจะไปหยุดนิ่งที่หน้าร้านขายของชำแห่งหนึ่ง
ทุกคนในบ้านล้วนหันมามองอาคันตุกะแปลกหน้าเป็นตาเดียว เมื่อชายชราที่นอนอยู่บนตั่งลุกขึ้นนั่งห้อยขา เห็นรอยสักจากต้นขาถึงหัวเข่าคล้ายเป็นกางเกงอีกตัว ทำให้เราทราบในทันทีว่า นี่ละ คุณตาปุ่น ตู้สมบัติ ผู้บ่าวขาลายในตำนาน

ลายสักขาของกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคอีสานนั้นมีความแตกต่างกันออกไป ที่อาจารย์โบ้ได้บันทึกภาพไว้นั้น ได้แก่ เผ่ากะตาก กะเลิง ผู้ไท และไท-ลาว ส่วนลายสักบนขาของคุณตาปุ่นนั้นเป็นลักษณะลายอย่างชาติพันธุ์ไท-ลาว เน้นไปที่ลวดลายมอม สัตว์ในจินตนาการ มากกว่าลายพรรณพฤกษา

ลายสักต้นขานี้พ่อใหญ่บางท่านสักลายถึงหัวเข่าจนคล้ายกางเกงขาสั้น แต่บางท่านสักยาวเหมือนสวมกางเกงขายาวก็มี ทั้งนี้เพื่อความสวยงามเท่านั้น ซึ่งต่างจากรอยสักที่หวังผลทางพุทธคุณ จึงต้องสักในส่วนที่สูงกว่าเอวขึ้นไป
ดังที่ได้เล่าไปเมื่อตอนต้นว่า ผู้บ่าวขาลายนั้นเป็นที่นิยมชมชอบในหมู่สาวๆ รุ่นคุณย่าคุณยาย เป็นเพราะการสักในบริเวณนั้นผู้สักจะได้รับความเจ็บปวดมาก สาวๆ จึงมองว่าผู้บ่าวขาลายนั้นมีความอดทนและดูแลครอบครัวได้
“ในยุคสมัยที่ยังไม่มีหมึกสำหรับสักโดยเฉพาะ ช่างจะใช้น้ำว่าน เขม่าก้นหม้อ และน้ำดีของสัตว์ เช่น งูจงอาง งูเหลือม หมี ปลาช่อน มาเป็นส่วนประกอบของน้ำหมึกแล้วแต่สูตรของช่างแต่ละคน” อาจารย์โบ้เล่า ทำให้ฉันอดคิดถึงเรื่องสุขอนามัยไม่ได้ ซึ่งต่อมาจึงได้ทราบว่า คนที่สัก 10 คน จะมีผู้เสียชีวิตราว 2 – 3 คน
คุณตาปุ่นปีนี้อายุ 107 ปีแล้ว ร่างกายไม่ได้แข็งแรงดังเดิม ลูกหลานจึงได้พามาดูแลใกล้ชิด โดยคุณตาอยู่บ้านหนึ่ง และคุณยายคู่ชีวิตอยู่อีกบ้านหนึ่ง ภารกิจของเราวันนี้จึงไม่เพียงนำหนังสือภาพถ่ายสักอีสานมามอบให้ท่าน ถ่ายรูปแล้วกลับ แต่ยังเพื่อถ่ายภาพของท่านและคู่ชีวิตไว้เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ 2 ปีหลังจากทำหนังสืออีกด้วย เมื่อคุณตายินยอมร่วมทาง เราจึงยกโขยงมุ่งหน้าไปตามเส้นทางแคบๆ ที่ฉันสันนิษฐานว่าอาจจะเคยเป็นทางเกวียนของหมู่บ้านมาก่อน
บ้านของคุณยายอยู่ห่างออกไปราว 5 กิโลเมตร ข้ามสะพานผ่านฝายน้ำล้นมุ่งหน้าสู่บ้านนาฝายเหนือ แต่เราทำความเร็วมากนักไม่ได้ ต้องค่อยๆ ไปช้าๆ แบบเต่ากัดยาง เพราะเกรงว่าคุณตาปุ่นจะเมารถ คุณยายกำลังนั่งเล่นกับลูกหลานที่หน้าบ้าน เมื่อเห็นว่าใครนั่งรถเข็นเข้ามา ดวงตาฝ้าฟางก็ฉายแววยินดี
“จำได้บ่ว่านี่ใคร” อาจารย์หนุ่มจากกรุงเทพฯ เปิดหนังสือไปที่รูป (อดีต) บ่าวขาลาย ที่ใส่แว่นตาสีเหลืองสุดเฟี้ยว
ผู้อาวุโสทั้งสองยิ้มอารมณ์ดี ตอบเบาๆ ว่า “จำได้ๆ”

เอาล่ะ! เริ่มงานกันได้ เราช่วยกันจัดฉากแบบง่ายๆ แค่ใช้เก้าอี้ยาวและติดผ้าด้ายดิบเป็นฉากหลัง เมื่อกล้องพร้อม พระเอกนางเอกพร้อมเข้าฉาก ลูกชายคนหนึ่งของคุณยายจึงช่วยอุ้มท่านมาวางไว้บนเก้าอี้อย่างเบามือ ส่วนคุณตาเมื่อเดินมาถึงและนั่งลงเรียบร้อยดีแล้ว ฝ่ายคอสตูมจำเป็นจึงได้เข้ามาช่วยจัดแต่งเสื้อผ้าหน้าผมให้เรียบร้อย จัดแจงกางเกงขาสั้นของคุณตาพับขึ้นอีก ให้เผยรอยสักสวยงาม เมื่อเสียงชัตเตอร์ดังขึ้น ภาพน่ารักๆ แบบยังเป็นข้าวใหม่ปลามันก็ทำให้เรายิ้ม ความชื่นมื่นหน้าตาเป็นเช่นนี้เอง

Write on The Cloud
Trevlogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ