เห็นสีน้ำเงิน คนรักงานคราฟต์คงคิดถึงผ้าครามจากสกลนครเป็นอันดับแรก

จริงอยู่ที่เมืองอีสานกลายเป็นเมืองหลวงของครามอย่างเต็มตัว ความสำเร็จจากการรวมตัวดีไซเนอร์ท้องถิ่น ช่างฝีมือ และคนหนุ่มสาวกลับบ้านเกิด เป็นตัวอย่างการกระตุ้นเมืองเล็กๆ ให้มีชีวิตชีวา แถมการจัดเทศกาลคราฟต์น่ารักอบอุ่นทุกปลายปีอย่าง สกลเฮ็ด ก็เป็นต้นแบบให้คนทำงานฝีมือและข้าวของดีไซน์จากท้องถิ่นขยับตัว 

แต่สี Indigo ไม่ได้มาจากต้นครามเพียงอย่างเดียว หันมาทางภาคเหนือ แพร่คือเมืองรองที่กำลังเติบโตไปในทิศทางและเฉดสีคล้ายกัน 

แพร่คราฟต์ : เทศกาลรวมของคราฟต์จากดีไซเนอร์ท้องถิ่นชาวแพร่

เมืองเล็กที่หุบเขาและแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งปลูกฮ่อมชั้นดี ทั้งยังเต็มไปด้วยดีไซเนอร์รุ่นใหม่ที่กลับบ้าน งานดีไซน์ร่วมสมัยของแพร่จึงโดดเด่นด้วยม่อฮ่อม พืชให้สีน้ำเงินอินดิโก้ซึ่งรักป่าเขา ชอบแดดรำไรและความชื้น เนื่องจากปลูกเป็นพืชเชิงเดี่ยวไม่ได้ ต้นทุนจึงแพงกว่าครามเป็นเท่าตัว แต่ก็เป็นของดีประจำจังหวัดที่ชาวแพร่ภาคภูมิใจ และตั้งใจพัฒนาคุณภาพสินค้าอย่างต่อเนื่อง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา 

แพร่คราฟต์ : เทศกาลรวมของคราฟต์จากดีไซเนอร์ท้องถิ่นชาวแพร่

ผลงานที่เห็นเด่นชัดคือ ‘แพร่คราฟท์’ เทศกาลเล็กๆ ของกลุ่มนักออกแบบท้องถิ่นที่นำสินค้ามาวางขาย จัดเวิร์กช็อปและเสวนาให้ทั้งชาวเมืองแป้และนักท่องเที่ยวเข้าใจคุณค่างานคราฟต์มากยิ่งขึ้น 

เราไปเยือนเทศกาลเล็กๆ แสนอบอุ่นนี้ในปี 2018 และติดใจจนกลับไปพูดคุยกับดีไซเนอร์เมืองนี้อีกหลายครั้ง จึงขอรวบรวมแบรนด์ท้องถิ่นน่าสนใจของเมืองแพร่ไว้ที่นี่

แพร่คราฟต์ : เทศกาลรวมของคราฟต์จากดีไซเนอร์ท้องถิ่นชาวแพร่
แพร่คราฟต์ : เทศกาลรวมของคราฟต์จากดีไซเนอร์ท้องถิ่นชาวแพร่

แก้ววรรณา

แบรนด์ย้อมฮ่อมออร์แกนิกที่ใช้กระบวนการธรรมชาติทุกขั้นตอนมาตลอด 20 ปี

แพร่คราฟต์ : เทศกาลรวมของคราฟต์จากดีไซเนอร์ท้องถิ่นชาวแพร่

แบรนด์ย้อมฮ่อมเก่าแก่ของ ไกร-วุฒิไกร ผาทอง บัณฑิตเศรษฐศาสตร์ผู้กลับมาทำงานที่บ้านเมื่อสองทศวรรษก่อน เสื้อผ้าของแก้ววรรณาไม่หวือหวาตามกระแสแฟชั่น จุดเด่นอยู่ที่กระบวนการทอและย้อมผ้าที่ใช้วัตถุดิบธรรมชาติทั้งหมด ฮ่อมบริสุทธิ์มาจากทั้งภูเขาเมืองแพร่และไร่ฮ่อมชั้นดีในประเทศลาว น้ำซักผ้าเป็นน้ำหมักผลไม้ ไม่ใช้น้ำยาปรับผ้านุ่ม ด่างในหม้อย้อมมาจากขี้เถ้า ไม่ใช้สบู่ พูดได้เต็มปากว่าออร์แกนิกและพิถีพิถันมาก ไม่น่าแปลกใจที่ลูกค้าญี่ปุ่นจะรักแบรนด์นี้สุดๆ 

แพร่คราฟต์ : เทศกาลรวมของคราฟต์จากดีไซเนอร์ท้องถิ่นชาวแพร่
แพร่คราฟต์ : เทศกาลรวมของคราฟต์จากดีไซเนอร์ท้องถิ่นชาวแพร่

งานของแก้ววรรณามีทั้งผ้าม้วน ผ้าซิ่น ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ เสื้อผ้าตัดสำเร็จ กระเป๋าย่าม แต่ที่เราชอบมากคือหมวกคอลเลกชันสิงห์เหนือเสือใต้ ส่งผ้าเมืองเหนือให้ช่างภาคใต้ตัดเย็บเป็นหมวกกะปิเยาะ ออกมาเป็นหมวกเก๋ที่ใส่ได้ทั้งชายหญิง ซื้อแล้วภูมิใจว่าได้สนับสนุนรายได้ให้ชุมชน เพราะแก้ววรรณาตั้งใจแบ่งปันเงินให้กลุ่มช่างท้องถิ่น โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ให้มีรายได้สม่ำเสมอ

อ่านเรื่องของแก้ววรรณาแบบเต็มๆ ได้ที่นี่

Facebook : แก้ววรรณา หม้อห้อม

Kamon Indigo

เสื้อผ้าย้อมสีธรรมชาติที่เก็บวัตถุดิบและแรงบันดาลใจจากเมืองแพร่

แพร่คราฟต์ : เทศกาลรวมของคราฟต์จากดีไซเนอร์ท้องถิ่นชาวแพร่

กมล อินดิโก้ ของ กุ๊กกิ๊ก-กมลชนก แสนโสภา เป็นแบรนด์เสื้อผ้าที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นและมาแรงมาก เพราะหญิงสาวที่จบแฟชั่นทั้งออกแบบ ตัดเย็บ พิมพ์ลวดลาย และลงมือย้อมเสื้อผ้าทุกชุดเองทุกขั้นตอน ร่วมกับคนรัก สตางค์-จินตพงศ์ สีพาไชย

แพร่คราฟต์ : เทศกาลรวมของคราฟต์จากดีไซเนอร์ท้องถิ่นชาวแพร่
แพร่คราฟต์ : เทศกาลรวมของคราฟต์จากดีไซเนอร์ท้องถิ่นชาวแพร่

เสื้อผ้าของกมล อินดิโก้หลักๆ มี 4 สี คือ สีฟ้าจากฮ่อม สีเหลืองจากใบหูกวางและดอกดาวเรือง สีชมพูจากครั่ง และสีน้ำตาลจากมะเกลือ นอกจากนี้ยังมีสีเขียว สีม่วง และเฉดอื่นๆ ได้จากการย้อมผสมสีธรรมชาติ ลวดลายพิมพ์เทียนบนเสื้อผ้ามีทั้งลายกราฟิกจากแม่พิมพ์ไม้อินเดีย ลายแมลง สัตว์ ใบไม้ ก้อนเมฆ และสารพัดสิ่งจากแม่พิมพ์ที่กุ๊กกิ๊กทำเอง แรงบันดาลใจการดีไซน์มาจากการธรรมชาติและเรื่องราวรอบตัว เสื้อผ้าแบรนด์นี้จึงตอบโจทย์ทั้งเล่าเรื่องพื้นถิ่น สืบทอดภูมิปัญญาดั้งเดิม และเปี่ยมพลังสร้างสรรค์ร่วมสมัยของคนรุ่นใหม่

อ่านเรื่องของกมล อินดิโก้ แบบเต็มๆ ได้ที่นี่

Facebook : Kamon Indigo

สลับ

เสื้อผ้าต่อลายสุดเท่ที่มีแค่ตัวเดียวในโลก ของช่างเย็บผ้าที่มีประสบการณ์ 30 ปี

แพร่คราฟต์ : เทศกาลรวมของคราฟต์จากดีไซเนอร์ท้องถิ่นชาวแพร่

ลุงนิ่มทำงานตัดเย็บมา 30 ปี ช่ำชองการตัดและซ่อมเสื้อผ้าทุกรูปแบบ ทุกแพตเทิร์นทำได้หมด จึงรับงานตัดเสื้อผ้าทั่วไป เนื่องจากแก้ทรง ปรับทรงเสื้อผ้าให้วัยรุ่นบ่อยๆ จนเข้าใจเทรนด์แฟชั่น ประกอบกับใจลุงรักงานวินเทจและงานผ้าต่อร่วมสมัย จึงเปิดแบรนด์ ‘สลับ’ ที่ฉีกแนวมาทำเสื้อผ้าสนุกๆ เอาเสื้อกางเกงเก่ามาตัดเป็นหมวกและกระเป๋า หยิบเสื้อผ้ามือสองมาปรับปก คอเสื้อ กระเป๋าให้ต่าง หรือรื้อเสื้อม่อฮ่อมมาตัดแพตเทิร์นใหม่ กลายเป็นงาน Limited Edition ที่ทุกชิ้นมีตัวเดียวในโลก ที่สำคัญคือลุงรับฟังความต้องการของลูกค้า ดังนั้นนักเลงแฟชั่นตัวจริงควรพรีออเดอร์ ปรึกษาพูดคุยให้ลุงเนรมิตชุดเก๋ให้คุณแต่เพียงผู้เดียว

แพร่คราฟต์ : เทศกาลรวมของคราฟต์จากดีไซเนอร์ท้องถิ่นชาวแพร่
แพร่คราฟต์ : เทศกาลรวมของคราฟต์จากดีไซเนอร์ท้องถิ่นชาวแพร่

Facebook : ลุงนิ่ม ช่างเย็บผ้า

KHRAM

ชุดแฮนด์เมดเก๋มินิมัลของทายาทร้านม่อฮ่อม

แพร่คราฟต์ : เทศกาลรวมของคราฟต์จากดีไซเนอร์ท้องถิ่นชาวแพร่

สีเด่นๆ ของร้านคราม คือสีขาว ครีม และน้ำเงินหลากเฉดที่ดูเรียบง่ายสบายตา เสื้อผ้าทั้งชายและหญิงเป็นแบบเรียบๆ ใส่ได้นานโดยไม่เบื่อ 

แพร่คราฟต์ : เทศกาลรวมของคราฟต์จากดีไซเนอร์ท้องถิ่นชาวแพร่

แม้แบรนด์นี้จะเปิดมาราว 5 ปี แต่ดีไซเนอร์ร้านนี้เติบโตมากับโรงย้อมผ้าของแม่ ผู้ผลิตสินค้าย้อมครามราคาย่อมเยาแบบดั้งเดิมมาโดยตลอด เมื่ออยากเพิ่มมูลค่าให้สินค้าทำมือ จึงเริ่มออกแบบเสื้อผ้า Casual ที่ดีไซน์ดีงาม ใส่ได้ทุกเพศทุกวัย โดยออกคอลเลกชันงานแฮนด์เมดใหม่ปีละครั้ง เป็นเสื้อผ้าที่ทำทีละตัว เย็บชิ้นต่อชิ้น ใช้ผ้าย้อมที่ได้จากเมืองแพร่ ไปจนถึงเมืองอื่นๆ ในภาคเหนือ เช่น น่าน ลำพูน เชียงใหม่ มาผสมผสานเป็นงานชิ้นใหม่ตามสไตล์ของทางร้าน เช่น แจ็กเก็ตหน้าหนาวที่ดีไซน์ใหม่เอง

Facebook : หม้อฮ่อมบาติก KHRAM

บายศรี 

แบรนด์เก่าแก่ของแพร่ที่หยิบต้นทุนวัฒนธรรมมาออกแบบคอลเลกชันใหม่ได้ไม่รู้จบ

แพร่คราฟต์ : เทศกาลรวมของคราฟต์จากดีไซเนอร์ท้องถิ่นชาวแพร่

คนรักงานปักและงานเพนต์ต้องหลงรักเสื้อผ้าของบายศรี โดย อาจารย์ช้าง-ศักดิ์จิระ เวียงเก่า นักออกแบบรุ่นเก๋าที่ผลงานยังทันสมัยวัยรุ่นมากๆ เนื่องจากเจนสนามมานาน และมีโรงงานผลิตเสื้อผ้า เพนต์ผ้า ปักผ้าของตัวเอง ผลงานของบายศรีแต่ละคอลเลกชันจึงสนุกหลากหลายทั้งไอเดียและเทคนิค ลายผ้าได้แรงบันดาลใจจากอาหาร เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ที่อยู่อาศัย การตกแต่ง หรือข้าวของของใช้

แพร่คราฟต์ : เทศกาลรวมของคราฟต์จากดีไซเนอร์ท้องถิ่นชาวแพร่

ด้วยต้นทุนทางวัฒนธรรมไทยที่เพียบพร้อม อาจารย์ช้างจึงมีวัตถุดิบและลูกเล่นใหม่ๆ ในเสื้อผ้าเสมอ เช่น ลายผ้าแบบเซรามิก หรือลายสิงห์สาราสัตว์จากปีนักษัตร ที่สำคัญงานแต่ละชิ้นยังเป็นงานแฮนด์เมด เพนต์มือ เย็บมือ ที่ดีไซน์สวยแม่นยำ แถมในบางโอกาส ยังเปิดเวิร์กช็อปงานปักอิสระที่เท่มากด้วย

อ่านเรื่องของบายศรีเต็มๆ ได้ที่นี่

Facebook : Baisri

ANCHII

แบรนด์แฟชั่นทันสมัยที่ใช้วัตถุดิบและช่างฝีมือชาวแพร่

แพร่คราฟต์ : เทศกาลรวมของคราฟต์จากดีไซเนอร์ท้องถิ่นชาวแพร่

อัญชเกศณรา โพธาราม ทำแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นมานานนับ 10 ปี แต่เพิ่งหันมาจับผ้าไทยเต็มตัวในช่วงไม่กี่ปีมานี้ และยิ่งทำก็ยิ่งหลงรัก เนื่องจากเห็นคุณค่าในผ้าท้องถิ่น แทนที่จะใช้วัตถุดิบสำเร็จรูปนำเข้าจากเมืองจีนอย่างแบรนด์แฟชั่นอื่นๆ เธอเลือกหยิบวัตถุดิบชุมชนมาใช้และจ้างช่างฝีมือท้องถิ่นแพร่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นงานทอมือ ย้อมสีธรรมชาติ ปั๊มเทียน ผลลัพธ์ที่ได้คือเสื้อผ้าชุดลำลองและชุดออกงานของสาวๆ ที่สง่าโมเดิร์น อย่างชุดสูทหรือเบลเซอร์ที่ใส่ทำงานในเมืองได้สบาย แต่ทุกรายละเอียดมีเรื่องราวซ่อนอยู่ 

แพร่คราฟต์ : เทศกาลรวมของคราฟต์จากดีไซเนอร์ท้องถิ่นชาวแพร่

 ANCHII มีลายประจำแบรนด์เป็นเอกลักษณ์ที่สื่อถึงความโชคดี เป็นโลโก้รูปตัว A ต่อกับลายหัวหอกโบราณ จะตัดเป็นเสื้อ กระโปรง กางเกง กระเป๋าก็ได้ และยังมีสารพันเสื้อผ้าคอลเลกชันอื่นที่สนุกไม่แพ้กัน

Facebook : ANCHII

CHA Craft Studio

ผ้าพิมพ์เทียนบล็อกไม้ของลูกช่างไม้ที่ชอบสีคราม

แพร่คราฟต์ : เทศกาลรวมของคราฟต์จากดีไซเนอร์ท้องถิ่นชาวแพร่

ผ้าบาติกสีน้ำเงินลายกราฟิกเก๋ของ ประชา ตันแก้ว ชวนให้นึกถึงผ้าพิมพ์เทียนบล็อกไม้แบบอินเดีย แต่จริงๆ แล้วเขานำความถนัดของคุณพ่อช่างไม้เมืองแพร่กับความชอบสีน้ำเงินของตัวเองมาผนวกกัน เหตุผลที่ผ้าพิมพ์ลายของเขาเส้นคมชัด เพราะใช้ไม้สักเก่าตากแห้งของแพร่เป็นแม่พิมพ์ 

แพร่คราฟต์ : เทศกาลรวมของคราฟต์จากดีไซเนอร์ท้องถิ่นชาวแพร่
แพร่คราฟต์ : เทศกาลรวมของคราฟต์จากดีไซเนอร์ท้องถิ่นชาวแพร่

เสื้อผ้าของแบรนด์ส่วนใหญ่เป็นชุดผู้หญิงที่โครงสร้างเรียบง่าย พิมพ์ลวดลายโมเดิร์นเท่ เก๋แต่ไม่หวาน เนื่องจากคนออกแบบเป็นผู้ชาย ไม่ถนัดงานเย็บปัก แต่ดีไซน์ชุดสวยที่อยากเห็นผู้หญิงใส่ โดยกระบวนการผลิตทั้งหมดใช้คนในชุมชนทุกขั้นตอน เน้นผลิตใต้ถุนบ้านคนแพร่ ให้ชุมชนมีงานทำ

ความพิเศษอีกอย่างคือแบรนด์นี้ชอบจัดเวิร์กช็อปพิมพ์ผ้าด้วยเทียน ลองไปเรียนรู้แล้วจะค้นพบว่ากว่าจะได้ผ้าแต่ละผืน ไม่ง่ายเลยจริงๆ

Facebook : หม้อห้อมเขียนเทียน

ไหมแกมฝ้าย

แบรนด์ผ้า OTOP ร่วมสมัยที่ปรับตัวตามกาลเวลา

ไหมแกมฝ้าย

โบว์-กัญญาภัทร เลื่อนชิต ทำงานผ้าทอมาตั้งแต่ พ.ศ. 2544 ร่วมกับกลุ่ม OTOP ท้องถิ่น จากที่ทำงานทอผ้ามือแบบดั้งเดิมมาตลอด เธอเริ่มหันมาจับเสื้อผ้าสำเร็จรูปและเปลี่ยนผลงานให้ร่วมสมัยขึ้น ทั้งคิดลวดลายใหม่ๆ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพสินค้าทุกกระบวนการให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้สีธรรมชาติและสีเคมีที่ปลอดภัย งานของไหมแกมฝ้ายมีทั้งผ้าถุง เสื้อ เสื้อคลุมแบบญี่ปุ่น และผ้าพันคอ ซึ่งมั่นใจได้ว่าทุกชิ้นนุ่มนิ่มใส่สบาย โดยเฉพาะผ้าย้อมครามหมักโคลน และยังคงเอกลักษณ์ของผ้าเมืองเหนือในลวดลายทอยกดอกและสีสันที่ชวนให้คิดถึงเมืองแพร่เสมอ

Facebook : Maikamfai Kanyapat

Kritsana

แบรนด์ย้อมฮ่อมของดีไซเนอร์รุ่นใหม่แห่งทุ่งโฮ้ง

Kritsana

ทุ่งโฮ้งเป็นแหล่งซื้อเสื้อผ้าม่อฮ่อมที่ขึ้นชื่อแห่งเมืองแพร่ ท่ามกลางร้านเสื้อผ้าม่อฮ่อมละลานตาในย่าน ผลงานของ กฤษณะ วัลลภาชัย โดดเด่นสะดุดตา วัยเด็กขณะเรียนที่โรงเรียนทุ่งโฮ้ง เขาได้รับการปลูกฝังเรื่องการย้อมและเพนต์ผ้าตั้งแต่วัยประถม ซึมซับภูมิปัญญาท้องถิ่นมาเต็มๆ 

Kritsana

เมื่อเติบโต เขาเริ่มออกแบบเสื้อผ้าใส่เอง จนมีคนชอบและสั่งให้ตัดบ้าง แบรนด์กฤษณะจึงกำเนิดขึ้น โดยมีเสน่ห์ของคนทุ่งโฮ้งเด่นชัด เอกลักษณ์ของเสื้อผ้าคือกางเกงขาก๊วยกับเสื้อกระดุมจีน แต่งลวดลายเก๋ไก๋อิสระ มีทั้งแบบสำเร็จรูปและสั่งตัด ซึ่งลูกค้าเลือกแบบตามใจได้ หรือให้กฤษณะช่วยออกแบบตามบุคลิกก็ได้เหมือนกัน กลุ่มลูกค้าของเขาคือคนช่างแต่งตัว ไม่ว่าจะวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ก็เพลิดเพลินกับม่อฮ่อมและความไฉไลของทุ่งโฮ้งได้ทั้งสิ้น

Facebook : Morhomkritsana – หม้อห้อมbyกฤษณะ วัลลภาชัย

SIRIMA LANNA

แบรนด์ผ้าต่อปะมือที่ผสานความเป็นล้านนากับแฟชั่นร่วมสมัย

SIRIMA LANNA
SIRIMA LANNA

แบรนด์ผ้าล้านนาของ ศิริรัตน์ วงศ์อารินทร์ ผสมผ้าทอชิ้นต่างๆ เข้ากันเป็นผืนเดียวด้วยการด้นมือ ปะมือเอง จนกลายเป็นงานคราฟต์แสนประณีตที่ไม่ซ้ำกันทุกตัว เจ้าของแบรนด์เล่าว่าป้าของเธอทำเสื้อผ้าลินินขายส่ง ได้เห็นและซึมซับธุรกิจของป้ามาโดยตลอด จึงนำความรู้มาผสานกับแนวการแต่งตัวที่เธอโปรดปราน ชุดผ้าทอหลวมสบาย เสื้อคลุมผ้าต่อ เป็นแนวที่เธอถนัดและลงฝีเข็มเอง ด้นสดกำหนดลายเอง เพราะให้คนอื่นทำมันไม่แล้วใจ พอได้ทำเองแล้วมีความสุข ทั้งยังได้ผลตอบรับดี ใครเห็นก็ชอบเสื้อผ้าที่ใส่สบาย แต่แฝงความเก๋ประณีตไว้ทุกตะเข็บ

ซิ่นสวาท

ร้านรวมซิ่น เสื้อ และงานชาวเขา สำหรับคนรักงานคราฟต์รุ่นเก่า

รัติวดี ศรีบุญ เป็นผู้หญิงที่ไม่นุ่งกางเกง ผ้าถุงเท่านั้นที่เธอชอบใส่ 

ซิ่นสวาท
ซิ่นสวาท

ความชอบเสื้อผ้าแฮนด์เมด โดยเฉพาะงานคราฟต์ของคนรุุ่นเก่า ทำให้คุณครูอนุบาลเปิดร้านเสื้อผ้าสำหรับคอเดียวกัน จุดเด่นของแบรนด์เธอคือการมิกซ์แอนด์แมทซ์ความเก่าและความใหม่ให้ลงตัว เธอตระเวนหาผ้าจากลาวบ้าง เวียดนามบ้าง บ้างก็ผ้าม่อฮ่อมผืนสวย มาต่อกับชิ้นงานจากชาวเขาทั้งในเมืองจีนเมืองไทย จนกลายเป็นผ้าผืนใหม่ที่ตัวซิ่นและตีนซิ่นสวยแปลกตา พหุวัฒนธรรมในผืนเดียว ลูกค้าแทบทั้งหมดคือผู้หญิงที่รักกลิ่นอายไทยและเอเชีย ประสงค์จะแต่งตัวเก๋ในชีวิตประจำวันหรือออกงานสำคัญโดยเก๋ไม่เหมือนใคร ซิ่นสวาทร่วมสมัยจึงตอบโจทย์ได้อย่างดี

Facebook : ซิ่นสวาท

Facebook : Boon Boon Shop

งานอยู่ดี-มีศิลป์ ของกลุ่มแพร่คราฟท์จัดวันที่ 6 – 8 ธันวาคม 2562 นี้ ตามไปช้อปเสื้อผ้า เครื่องประดับ ของใช้คราฟต์ และอาหารท้องถิ่นได้ ในงานยังมีเวิร์กช็อปและกิจกรรมมากมายให้ร่วมสนุก ติดตามรายละเอียดได้ที่นี่

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล