ถ้าใครติดตามข่าวสารบ้านเมืองช่วงนี้ เราจะเห็นการเรียกร้องประชาธิปไตยจากคนหลายกลุ่ม จากหลายที่มา และเห็นการตอบโต้กันไปมาระหว่างความคิดทั้งสองฝั่ง ดังนั้น ผมจึงอยากนำเสนอเรื่องราวของวัดหนึ่งที่เมื่อแรกสร้าง วัดแห่งนี้มีชื่อ ‘วัดประชาธิปไตย’ แต่ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อของ ‘วัดพระศรีฯ’ หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร

วัดประชาธิปไตย หรือวัดพระศรีฯ วัดบนสนามรบเก่าในฐานะอนุสรณ์ของระบอบประชาธิปไตย, วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร, คณะราษฎร

วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือวัดพระศรีมหาธาตุแห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ทุ่งบางเขน พื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เพราะเคยเป็นสนามรบระหว่างทหารฝ่ายรัฐบาลของคณะราษฎรกับทหารฝ่ายกบฏบวรเดชเมื่อ พ.ศ. 2476 โดยแนวความคิดในการสร้างวัดในบริเวณทุ่งบางเขนนี้เกิดขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2483 ภายใต้การนำของพันเอกหลวงพิบูลสงคราม โดยมีเหตุผลสำคัญก็คือ เพื่อให้เป็นวัดอนุสรณ์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น วัดแห่งนี้จึงมีชื่อเมื่อแรกสร้างว่า วัดประชาธิปไตย

และยังให้เหตุผลอีกว่า ชาติกับศาสนาเป็นของคู่กัน ศาสนาที่ทันสมัยอยู่เสมอเป็นหลักของการปกครองระบอบประชาธิปไตย นอกจากนี้ การที่ฝ่าฟันอุปสรรคในการเปลี่ยนแปลงการปกครองกับงานสร้างชาติภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองและประสบความสำเร็จไปได้เป็นอย่างดี ก็โดยอาศัยพุทธานุภาพคุ้มครองป้องกันประเทศชาติและราษฎร

หลังจากที่พันเอกหลวงพิบูลสงครามได้เสนอต่อที่ประชุมเพื่อขออนุมัติเงินในการสร้างวัด รัฐบาลในเวลานั้นมองว่า เรื่องนี้ควรเป็นงานกุศลของชาติที่ทั้งประชาชนและรัฐบาลมีส่วนร่วมกัน จึงติดประกาศเชิญชวน ได้เงินบริจาคมาทั้งสิ้น 336,535 บาท จากงบประมาณที่ตั้งไว้ 400,000 บาท 

จากนั้นรัฐบาลจึงมอบหมายให้พันเอกหลวงเสรีเริงฤทธิ์และหลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้อำนวยการสร้าง กรมศิลปากรโดยหลวงวิจิตรวาทการและพระพรหมพิจิตรเป็นผู้ออกแบบ ร่วมด้วยนายช่างจากกรมศิลปากรและกรมรถไฟ วัดประชาธิปไตยแห่งนี้ได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2485 ซึ่งตรงกับวันที่มีการเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองพอดิบพอดี

แล้วทำไมวัดนี้ถึงเปลี่ยนชื่อเป็น ‘วัดพระศรีมหาธาตุ’ ทำไมไม่ใช่ชื่อวัดประชาธิปไตยเหมือนเดิม เรื่องมีอยู่ว่า หลังจากที่รัฐบาลได้ส่งคณะทูตพิเศษ นำโดยนาวาเอก หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เดินทางไปยังประเทศอินเดียเพื่อขอพระบรมสารีริกธาตุ ดินจากสังเวชนียสถานทั้งสี่และกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ 5 กิ่ง และรัฐบาลอินเดียได้มอบให้ตามคำขอ รัฐบาลจึงตกลงที่จะอัญเชิญมาประดิษฐานยังวัดที่สร้างขึ้นใหม่นี้ และตกลงที่จะเปลี่ยนชื่อของวัดใหม่เป็นวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ และใช้มาจนถึงปัจจุบัน

วัดประชาธิปไตย หรือวัดพระศรีฯ วัดบนสนามรบเก่าในฐานะอนุสรณ์ของระบอบประชาธิปไตย, วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร, คณะราษฎร

แต่ไม่ว่าจะเปลี่ยนชื่อจากวัดประชาธิปไตย เป็นวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ แต่นั่นก็ไม่ได้ลดทอนสัญลักษณ์ต่างๆมากมายที่แทรกอยู่ภายในวัดแห่งนี้ไปได้เลย

อารัมภบทมายาวมากแล้ว ได้เวลาไปชมวัดกันแล้วครับ

พอเดินทางไปถึงวัด อย่างแรกที่สะดุดตาเราก่อนเลยก็คือเจดีย์ประธานของวัด เพราะแค่เดินมาถึงหน้าประตู เจดีย์ก็ตั้งตระหง่านตรงหน้าแล้ว แม้เจดีย์องค์นี้ได้แรงบันดาลใจมาจากพระเจดีย์ของวัดราชาธิวาส ซึ่งแต่สิ่งที่โดดเด่นอย่างแรกเลย คือความเรียบง่ายของเจดีย์ที่ไม่ได้มีการประดับลวดลายมากมายต่างจากเจดีย์ในอดีต 

อย่างที่สองคือส่วนที่อยู่เหนือองค์ระฆังขึ้นไป ตามปกติแล้ว เจดีย์ในบ้านเราจะต่อด้วยบัลลังก์ทรงสี่เหลี่ยมและปล้องไฉนหรือบัวคลุ่ม แต่เจดีย์องค์นี้ตัดบัลลังก์ออกแล้วต่อด้วยบัวคลุ่มเลย ที่สำคัญ จำนวนชั้นของบัวคลุ่ม คือ 6 ชั้น ซึ่งเลข 6 ถือเป็นตัวเลขที่มีความน่าสนใจ เพราะเลข 6 นี้ดันไปตรงกับ ‘หลัก 6 ประการ’ ของคณะราษฎรพอดิบพอดี เลข 6 นี้ยังถือเป็นรหัสเลขสำคัญที่พบในงานศิลปกรรมโดยคณะราษฎรหลายแห่งด้วย

วัดประชาธิปไตย หรือวัดพระศรีฯ วัดบนสนามรบเก่าในฐานะอนุสรณ์ของระบอบประชาธิปไตย, วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร, คณะราษฎร

พอเข้าไปใกล้ เราก็จะเห็นบันไดทางขึ้นเพื่อเข้าไปข้างในพระเจดีย์ ใช่แล้วครับ เจดีย์องค์นี้เราเข้าไปข้างในได้ แต่ก่อนเข้าไป เราจะเห็นจารึกแผ่นหนึ่งติดอยู่บริเวณทางขึ้น มีข้อความว่า

“เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๔๘๓ เวลา ๐๙.๓๐ น. นายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เรื่องสร้างวัดประชาธิปตัยว่า ข้าพเจ้าอยากจะขออนุมัติเงินสักแสนบาทเพื่อสร้างวัดสักวัดหนึ่งในสมัยประชาธิปตัย และใคร่จะให้แล้วเสร็จทันงานวันชาติ ๒๔ มิถุนายน ศกนี้ และสถานที่ที่สร้างนั้นอยากจะสร้างใกล้ๆ กับอนุสาวรีย์หลวงอำนวยสงคราม ตำบลหลักสี่ ที่ประชุมตกลงเห็นชอบด้วย”

วัดประชาธิปไตย หรือวัดพระศรีฯ วัดบนสนามรบเก่าในฐานะอนุสรณ์ของระบอบประชาธิปไตย, วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร, คณะราษฎร

จารึกนี้จึงถือเป็นหลักฐานที่ยืนยันเรื่องการสร้างวัดแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี และเราจะเห็นเรื่องน่าสนใจ 3 เรื่องในจารึกนี้ อย่างแรกคือการสะกดคำว่า ประชาธิปไตย ที่ในสมัยนั้นยังสะกดว่า ประชาธิปตัย ถัดมาคือเรื่องวันชาติ ที่ในเวลานั้นใช้วันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติอยู่ ต่างจากในปัจจุบันที่ใช้วันที่ 5 ธันวาคม เป็นทั้งวันชาติและวัดพ่อแห่งชาติ และอย่างสุดท้ายคือที่ตั้งที่วัดแห่งนี้สร้างอยู่ใกล้กับอนุสาวรีย์หลวงอำนวยสงคราม หรือที่รู้จักกันในชื่ออื่น บ้างเรียกอนุสาวรีย์หลักสี่ บ้างเรียกอนุสาวรีย์ปราบกบฏ บ้างเรียกอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในเหตุการณ์คราวปราบกบฏบวรเดช ยิ่งย้ำถึงความสำคัญของวัดแห่งนี้ขึ้นไปอีก

อนึ่ง ปัจจุบันอนุสาวรีย์หลักสี่แห่งนี้ได้ถูกเคลื่อนย้ายออกไปจากวงเวียนหลักสี่แล้ว และไม่เป็นที่แน่ชัดว่าย้ายไปที่ใด

พอเข้าไปข้างในเจดีย์ก็จะพบเจดีย์อีกองค์ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ได้มาจากอินเดีย เป็นเจดีย์ซ้อนเจดีย์ เจดีย์ในเจดีย์ จะเรียกอย่างไรก็ช่างแต่หน้าตาของเจดีย์องค์ข้างในไม่ได้ต่างอะไรจากเจดีย์องค์ข้างนอกเลยครับ 

แต่สิ่งที่สำคัญของพระเจดีย์ของวัดแห่งนี้ก็คือผนังด้านในของเจดีย์นี้เองที่เป็นบรรจุอัฐิของบุคคลในคณะราษฎรหรือบุคคลที่มีความเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น จอมพล ป. พิบูลสงคราม, ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม, พระยาพหลพลพยุหเสนา, ปรีดี พนมยงค์ 

จุดประสงค์ที่ทำเช่นนี้ หลวงวิจิตรวาทการได้เสนอความเห็นพร้อมยกตัวอย่าง Pantheon ของประเทศฝรั่งเศส เป็นสถานที่ฝังศพบุคคลผู้มีชื่อเสียงที่ทำประโยชน์แก่ประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ฌ็อง ฌาค รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau), วิกตอร์ อูว์โก (Victor Hugo), อเล็กซองดร์ ดูมาส์ (Alexandre Dumas) เป็นต้น

วัดประชาธิปไตย หรือวัดพระศรีฯ วัดบนสนามรบเก่าในฐานะอนุสรณ์ของระบอบประชาธิปไตย, วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร, คณะราษฎร
วัดประชาธิปไตย หรือวัดพระศรีฯ วัดบนสนามรบเก่าในฐานะอนุสรณ์ของระบอบประชาธิปไตย, วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร, คณะราษฎร
วัดประชาธิปไตย หรือวัดพระศรีฯ วัดบนสนามรบเก่าในฐานะอนุสรณ์ของระบอบประชาธิปไตย, วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร, คณะราษฎร

ทีนี้เราก็จะเข้าสู่ส่วนสำคัญอีกส่วนของวัดแห่งนี้อย่างพระอุโบสถกันแล้วครับ ถ้าเรามองพระอุโบสถจากด้านหน้า และหยิบเหรียญ 5 บาทไทยขึ้นมาเทียบ เราจะเห็นความคล้ายคลึงกันระหว่างสิ่งที่อยู่ตรงหน้ากับสิ่งที่อยู่บนเหรียญ เนื่องจากอาคารหลังนี้ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากพระอุโบสถของวัดเบญจมบพิตรฯ ทั้งการวางผังและรูปแบบ เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะผู้ออกแบบพระอุโบสถหลังนี้ก็คือ พระพรหมพิจิตร สถาปนิกคนสำคัญของยุคและลูกศิษย์ที่ถวายงานใกล้ชิดสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้ออกแบบพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรฯ นั่นเอง

วัดประชาธิปไตย หรือวัดพระศรีฯ วัดบนสนามรบเก่าในฐานะอนุสรณ์ของระบอบประชาธิปไตย, วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร, คณะราษฎร

แม้เค้าโครงคล้ายจะคลึงกันจนสังเกตได้ หรือลวดลายมีความละเอียดอย่างมาก แต่หากมองลึกลงไป เราจะพบความแตกต่างมากมายหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่ถูกลดรูปให้เรียบง่ายขึ้น ซับซ้อนน้อยลง หรือลายไทยที่ถูกลดทอนลงจนดูคล้ายรูปเรขาคณิต เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะวัสดุที่ใช้ในการสร้างนั้นเปลี่ยนจากไม้เป็นคอนกรีต ซึ่งไม่เหมาะกับงานที่มีความพลิ้วไหว แต่อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ การปฏิเสธจารีตดั้งเดิม การแบ่งชนชั้นวรรณะและสถานะทางสังคม ซึ่งในอดีตเคยแสดงออกผ่านความซับซ้อนหรูหราของงานสถาปัตยกรรม

วัดประชาธิปไตย หรือวัดพระศรีฯ วัดบนสนามรบเก่าในฐานะอนุสรณ์ของระบอบประชาธิปไตย, วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร, คณะราษฎร

ไม่เพียงเท่านั้น แม้แต่หน้าบันของพระอุโบสถซึ่งเป็นองค์ประกอบเดียวที่ทำด้วยไม้ยังแกะสลักเป็นรูปพระอรุณเทพบุตร เทพเจ้าที่มีพระวรกายเพียงแค่ครึ่งบน ผู้รับหน้าที่เป็นสารถีของพระอาทิตย์ มองผิวเผินอาจจะรู้สึกเฉยๆ เพราะหน้าบันรูปเทพเจ้าเป็นสิ่งที่เราก็เคยเห็นกันมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นพระอินทร์หรือพระนารายณ์ แต่บอกได้เลยว่า ไม่เคยมีที่ไหนที่ใช้รูปพระอรุณเทพบุตรมาก่อน ถ้าจะมีที่อื่น ที่ที่พอนึกออกก็คือหน้าบันประตูทางเข้าของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งต่างก็สร้างขึ้นโดยคณะราษฎรด้วยกันทั้งคู่

วัดประชาธิปไตย หรือวัดพระศรีฯ วัดบนสนามรบเก่าในฐานะอนุสรณ์ของระบอบประชาธิปไตย, วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร, คณะราษฎร

ในเมื่อในอดีตไม่เคยมี ทำไมพระพรหมพิจิตรถึงเลือกพระอรุณมาประดับหน้าบันวัดแห่งนี้ ถ้าลองมองลึกลงไป พระอรุณเทพบุตรเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นใหม่ ซึ่งสอดรับการการถือกำเนิดของประชาธิปไตยที่เพิ่งถือกำเนิดขึ้นได้เพียงแค่ 10 ปีเท่านั้น นี่จึงอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่เทพเจ้าพระองค์นี้ถูกเลือกมาอยู่บนหน้าบันก็เป็นได้

พอเข้ามาด้านใน ก็จะพบความคล้ายคลึงกับวัดเบญจมบพิตรฯ หลายอย่าง โดยเฉพาะช่องบนผนังซึ่งถ้าเป็นที่วัดเบญจมบพิตรฯ จะวาดรูป 8 จอมเจดีย์ของประเทศ แต่ของที่นี่เป็นงานปูนปั้นผสมจิตรกรรมจำนวน 6 ช่องเป็นรูปเจดีย์สำคัญในประเทศไทย เช่น วัดอรุณราชวราราม วัดพระปฐมเจดีย์ มี 5 ช่องโดยอีกช่องเป็นรูปพระพุทธเจ้าประทับนั่งใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์แทน นอกจากนี้ บนผนังยังมีใบเสมาฝังอยู่เป็นเครื่องยืนยันว่าอาคารหลังนี้คือพระอุโบสถจริงๆ (จริงๆยังมีเสมาที่เป็นเสาอยู่ภายในระเบียงคดอีก 2 หลักด้วยนะครับ)

วัดประชาธิปไตย หรือวัดพระศรีฯ วัดบนสนามรบเก่าในฐานะอนุสรณ์ของระบอบประชาธิปไตย, วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร, คณะราษฎร
วัดประชาธิปไตย หรือวัดพระศรีฯ วัดบนสนามรบเก่าในฐานะอนุสรณ์ของระบอบประชาธิปไตย, วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร, คณะราษฎร

ในส่วนของพระประธานนั้น แม้ความตั้งใจในตอนแรกจะให้เป็นประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์จำลอง แต่ในท้ายที่สุด พระประธานจริงๆ ของวัดนี้คือพระพุทธชินราชจำลองนามพระศรีพุทธมุนี แต่พระพุทธชินราชจำลององค์นี้มีขนาดเล็กกว่าองค์จริงมาก ประดิษฐานอยู่บนฐานสูงขนาบข้างด้วยประติมากรรมรูปเทวดาถือแส้ โดยมีซุ้มโค้งเป็นกรอบอีกที การทำเช่นนี้ทำให้แม้พระประธานจะองค์เล็กแต่ก็ประดิษฐานอย่างโดดเด่นอยู่ภายในอาคารได้อย่างสมบูรณ์โดยไม่ขัดกับองค์ประกอบโดยรอบ ส่วนเหตุที่ใช้พระพุทธชินราชจำลองเป็นพระประธานนั้นก็น่าจะมาจากต้นแบบอย่างวัดเบญจมบพิตรที่มีพระพุทธชินราชจำลองเป็นพระประธานเช่นกัน

วัดประชาธิปไตย หรือวัดพระศรีฯ วัดบนสนามรบเก่าในฐานะอนุสรณ์ของระบอบประชาธิปไตย, วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร, คณะราษฎร

เมื่อพูดถึงพระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตร เราก็จะต้องนึกถึงระเบียงคดใช่ไหมครับ ที่วัดพระศรีมหาธาตุแห่งนี้ก็มีเช่นกัน แต่พระพุทธรูปในระเบียงคดนี้ไม่ใช่พระพุทธรูปที่ถูกอัญเชิญมาจากที่อื่น ไม่ใช่พระพุทธรูปที่ถูกขยายสัดส่วนมา แต่เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด โดยเป็นพระพุทธรูปทั้งหมดเป็นพระพุทธรูปศิลปะไทย ไม่มีศิลปะต่างชาติปะปนแม้แต่องค์เดียว และพระพุทธรูปหลายองค์มีจารึกที่ฐานพระพุทธรูประบุชื่อและตระกูลผู้สร้างและผู้อุทิศส่วนกุศลไปให้ พร้อมปี พ.ศ. กำกับ ที่เก่าที่สุดคือ พ.ศ. 2484 

ความน่าสนใจของพระพุทธรูปกลุ่มนี้คือ แม้จะเป็นศิลปะไทยแต่ก็มีการนำศิลปะจากหลายยุค ไม่ว่าจะเป็นสุโขทัย อยุธยา ล้านนา รัตนโกสินทร์ ซึ่งดูแล้วก็คล้ายที่วัดเบญจมบพิตรที่มีพระพุทธรูปจากกหลายศิลปะ หลายช่วงเวลาอยู่ แต่อีกจุดหนึ่งคือชื่อของผู้สร้าง ซึ่งในจำนวนนั้นมีทั้งพระยาพหลพลพยุหเสนา จอมพล ป. พิบูลสงคราม หนึ่งในคณะผู้ก่อการและผู้มีบทบาทในการเมืองไทยในเวลาต่อมา เช่น พลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชน์ นายพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ รวมถึงจอมพลผิน ชุณหะวันอยู่ในนั้นด้วย

วัดประชาธิปไตย หรือวัดพระศรีฯ วัดบนสนามรบเก่าในฐานะอนุสรณ์ของระบอบประชาธิปไตย, วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร, คณะราษฎร
วัดประชาธิปไตย หรือวัดพระศรีฯ วัดบนสนามรบเก่าในฐานะอนุสรณ์ของระบอบประชาธิปไตย, วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร, คณะราษฎร

เห็นไหมครับ แค่วัดเพียงวัดเดียว เราเห็นการต่อสู้กันทางสัญลักษณ์มากมาย มีการหยิบยืมมาแต่นำประยุกต์หรือตีความใหม่มากมาย แม้ดูภายนอกอาจจะเป็นเจดีย์ธรรมดา อาจจะเป็นพระอุโบสถธรรมดา แต่พอดูให้ลึก เราก็จะเห็นถึงความซับซ้อนในการออกแบบอยู่ ดังนั้น การเดินทางไปชมวัด ไม่ใช่ว่าเราควรจะแต่วัดเก่าแก่ วัดโบราณ วัดที่มีอายุเป็นร้อยๆปี บางครั้ง ความงามและความพิเศษบางอย่างก็มีอยู่เฉพาะในวัดที่สร้างขึ้นใหม่ได้เช่นกันครับ

เกร็ดแถมท้าย

  1. การเดินทางไปวัดพระศรีมหาธาตุทุกวันนี้สะดวกสบายสุดๆครับเพราะมีสถานี BTS วัดพระศรีมหาธาตุ ซึ่งเดินลงจากสถานีนิดเดียวก็ถึงวัดแล้ว หรือจะนั่งรถเมล์มาก็ได้ครับ ซึ่งก็มีหลายสายเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น 26 59 129 185 503 และอีกหลายสายเลยครับ
  2. ไหนๆก็มาดูวัดฝีมือลูกศิษย์มาแล้ว ก็น่าจะไปดูกับวัดฝีมือของอาจารย์ที่กลายเป็นต้นแบบของพระอุโบสถวัดนี้อย่างวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม และต้นแบบเจดีย์วัดนี้อย่างวัดราชาธิวาสกันด้วยนะครับ แล้วลองมาเล่นเกมจับผิดว่า มีตรงไหนเหมือนกัน ตรงไหนต่างกันบ้าง ทั้งข้างนอก ข้างใน และระเบียงคดด้วยเลยนะครับ
  3. แต่ถ้าอยากดูงานสถาปัตยกรรมสมัยคณะราษฎร์ ก็ลองไปเดินเล่นแถวถนนราชดำเนินดูครับ ไม่ว่าจะเป็นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตึกแถวสองข้างทาง โรงแรมรัตนโกสินทร์ หรือตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ได้ครับ
  4. ส่วนใครที่สนใจเรื่องเกี่ยวกับงานศิลปกรรมในยุคของคณะราษฎรต้องเล่มนี้เลยครับ ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร : สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์ ของ ชาตรี ประกิตนนทการ อ่านครบจบในเล่มเดียวเลยครับ ส่วนใครสนใจภาพรวมของศิลปะรัตนโกสินทร์ก็ขอแนะนำเล่มนี้เลยครับ พุทธศิลป์รัตนโกสินทร์ : พัฒนาการของงานช่างและแนวคิดที่ปรับเปลี่ยน ของ ศ. ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ เลยครับ นี่ก็จบในเล่มเดียวเช่นกัน

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ