สะพานด้วนจะไม่ด้วนอีกต่อไป!

คำว่า ‘สะพานด้วน’ เป็นชื่อเล่นของสะพานที่อยู่ตรงกลางระหว่างสะพานพระปกเกล้า แต่เดิมเป็นโครงการก่อสร้างทางรถไฟฟ้าลาวาลินตั้งแต่ปี 2524 ด้วยเหตุผลบางประการ ทำให้โครงการหยุดชะงักและเงียบหายไป กลายเป็นสะพานที่ไม่มีทางขึ้นและทางลง มีแต่ตัวสะพานลอยอยู่เฉยๆ กลางน้ำ

ในช่วง 3 – 4 ปีที่แล้ว สำนักผังเมือง กรุงเทพฯ กรมทางหลวงชนบท และศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) จับมือกันร่วมแปลงโฉมสะพานด้วนให้เป็นสะพานเดินเท้าข้ามแม่น้ำ เชื่อมระหว่างเกาะรัตนโกสินทร์ฝั่งพระนครและชุมชนกะดีจีน-คลองสานฝั่งธนบุรี รวมถึงเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจเหนือแม่น้ำ

หากสะพานนี้เสร็จ จะเปิดให้เกิดโอกาสดีๆ มากมาย ทั้งการสัญจรที่สะดวกขึ้น การเพิ่มพื้นที่สาธารณะสีเขียวให้เมือง การเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ รวมถึงในแง่การเป็นต้นแบบในการพัฒนาเมืองของไทยเองอีกด้วย

ตอนนี้การก่อสร้างสวนลอยฟ้าแห่งนี้ใกล้แล้วเสร็จ เราก็เลยชวน ผศ. ดร.นิรมล เสรีสกุล หัวเรือของ UddC เพื่อชวนคุยถึงเบื้องหลังโครงการ โดยมี ปิยา ลิ้มปิติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ผู้เป็นสถาปนิกผังเมืองประจำโครงการกรุงเทพฯ 250 มาช่วยเล่า

และนี่คือเรื่องราวการทอดสะพานที่เราได้ฟังจากพวกเขา

 
01

รีไซเคิลสะพาน

หากมองไปรอบๆ จะพบว่าเมืองใหญ่แบบกรุงเทพฯ มีสิ่งก่อสร้างที่ไม่ได้ใช้งานอยู่เพียบ

อ.นิรมล เรียกสิ่งนี้ว่า Leftover Asset หรือสิ่งก่อสร้างเดิมที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว ซึ่งเป็นของปกติในพื้นที่เมืองซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่เมื่อก่อสร้างขึ้นมาแล้ว จะให้ทุบทิ้งเลยก็เสียดาย

อย่างสะพานด้วนของโครงการลาวาลิน ที่เดิมตั้งใจให้รองรับรถไฟฟ้า ทำให้มีความแข็งแรงสูง และตั้งตระหง่านทานทนมากว่าเกือบ 40 ปี หากนำมาต่อหัวท้ายให้เป็นบันไดเดินขึ้นลงที่ไม่ต้องการระยะพื้นดินมากเท่าสะพานรถ แล้วสร้างทางเดินสาธารณะทับลงไปอีกชั้นหนึ่ง ก็น่าจะพอมีความเป็นไปได้

ถ้างานนี้สำเร็จ ลองนึกถึงสิ่งก่อสร้างเหลือใช้อีกมากมายทั่วกรุงเทพฯ สิ

จะสร้างใหม่ทำไม ในเมื่อรีไซเคิลได้

02

ฟังเสียงจากชุมชน

ที่จริง แนวคิดว่าจะใช้สะพานนี้มาจากในชุมชน

เมื่อมีโจทย์ว่าจะพัฒนาพื้นที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำตามโครงการกรุงเทพฯ 250 ทีมจาก UddC ก็ลงไปพูดคุยและทำเวิร์กช็อปกับชุมชนบริเวณกะดีจีน-คลองสานอยู่หลายครั้ง จนวันหนึ่ง ลุงประดิษฐ์ ห้วยหงส์ทอง ประธานชุมชนบุปผาราม ก็ถามขึ้นมาว่า “สะพานนี้มันด้วนอยู่ ทำไมเราไม่ใช้งานมัน?”

นั่นคือเสียงที่ทำให้เกิดโครงการในวันนี้

หลังจากวันนั้น ทีมก็หยิบแนวคิดของลุงประดิษฐ์มาคิดต่อ และให้ชุมชนช่วยกันเสนอว่าหากจะปรับปรุงสะพานแห่งนี้จะทำอะไรได้บ้าง ผู้ที่มาร่วมกันคิดมีทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะเด็กๆ ในโรงเรียนแถวนั้นที่ออกไอเดียกันอย่างสนุกสนาน

ไอเดียที่ได้มามีหลากหลาย ทั้งการเป็นทางเดินสัญจรข้ามแม่น้ำ ทางจักรยาน และจุดชมวิว ในขณะเดียวกันก็มีไอเดียที่ต้องตัดทิ้ง เช่น ลานสเก็ต หรือลานกีฬา ที่จะนำไปใส่ในสวนบริเวณตีนสะพานแทน

สวนลอยฟ้าของชุมชนจึงก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ

UddC, พระปกเกล้าฯ สกายปาร์ค, สะพานด้วน
03

ทางเดินตรงที่ไม่ตรง

เมื่อได้โจทย์คร่าวๆ แล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการออกแบบ

ปิยาเริ่มจากการเล่าเรื่อง Viaduc des Arts ที่ปารีสให้ฟัง พื้นที่สาธารณะแห่งนี้เกิดก่อนใครเพื่อน เพราะสร้างตั้งแต่ปี 1988 โดยนำทางรถไฟเก่ามาทำทางเดินยาว 3 กิโลเมตร เชื่อมต่อจัตุรัสกลางเมืองกับวงแหวนรอบนอกทางทิศตะวันออก และใต้ทางเดินก็เป็นพื้นที่ให้ศิลปินเช่าอยู่ ทำให้ย่านนั้นไม่เหงาหงอย เป็นการช่วยฟื้นฟูเมืองไปด้วยในตัว

แม้ว่าโครงการสะพานด้วนที่ยาวแค่ 280 เมตรจะสั้นกว่ามาก แต่ก็ใช้แนวคิดการเชื่อมต่อเมืองได้เหมือนกัน เพราะสะพานนี้จะช่วยเชื่อมพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำที่สั้นนิดเดียว แต่ข้ามยากเหลือเกิน แถมทั้งสองฝั่งแม่น้ำยังมีโรงเรียนอยู่เยอะมาก และมีเด็กที่ต้องข้ามฝั่งน้ำไปเรียนทุกวัน หากไม่ต้องรอเรือข้ามฟากอีกต่อไป ก็จะมีโอกาสเกิดเส้นท่องเที่ยวและเส้นคมนาคมใหม่ๆ อีกมากมาย

ในทางกลับกัน ความกว้างของสะพานที่ปารีสกับที่กรุงเทพฯ ใกล้กันมาก คือประมาณ 9 – 12 เมตร ทำให้เผชิญปัญหาคล้ายคลึงกันว่าจะทำยังไงให้การเดินไม่น่าเบื่อ Viaduc Des Arts รับน้ำหนักได้มาก จึงใช้วิธีตกแต่งด้วยต้นไม้ให้เกิดความหลากหลาย แต่สะพานด้วนเป็นสะพานลอยเหนือน้ำ ใช้ต้นไม้ได้จำกัด จึงต้องหาทางอื่นแทน

จักรดาว นาวาเจริญ สถาปนิกจาก N7A ใช้วิธีทำทางเดินคนและทางเดินจักรยานให้เป็นตัวเอสไขว้กันไปมา โดยมีหลักการว่า เมื่อทางเดินมี Blind Spot ไม่ได้เห็นไกลสุดทาง จะดูเหมือนกว้างขึ้นมาถนัดตา

นี่จะเป็นทางเดินตัดตรงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ชวนให้คนเดินข้ามอย่างไม่ตรงไปตรงมา

04

ปลูกต้นไม้เหนือน้ำ

แม้ปลูกต้นไม้ยาก แต่ก็ต้องหาทางปลูกให้ได้

ในส่วนนี้ ทีมศึกษาตัวอย่างจาก The High Line โครงการสุดโด่งดังกลางนิวยอร์ก เมื่อกลุ่มพลเมืองคิดว่าทางรถไฟเก่ามีคุณค่าเกินกว่าจะทุบทิ้ง และผลักดันให้ปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้า พื้นที่แห่งนี้โดดเด่นด้านการเลือกใช้พืชพรรณให้เหมาะกับสภาพอากาศและสถานที่ และทำให้แทบไม่มีปัญหาด้านการดูแลรักษาเลย

สำหรับโครงการสะพานด้วน กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกจาก LANDPROCESS พบว่าบนสะพานมีทั้งปัญหาลมแรง และปัญหาการรดน้ำ เนื่องจากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเค็มเกินกว่าที่จะนำมาใช้ได้ ทีมจึงต้องสรรหาต้นไม้ที่มีความทนแดดทนฝนทนแล้ง และจัดการกับระบบรดน้ำโดยปรับเอาระบบเดิมที่ทำไว้คู่กับสะพานมาใช้งาน

ทีนี้ก็ได้ภาพของสะพานและต้นไม้บนสะพานแล้ว

06

คิดให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม

คิดถึงโครงสร้างเดิมกับการปลูกต้นไม้แล้วยังไม่พอ ต้องคิดถึงทัศนียภาพรอบด้านด้วย

เป้าหมายของการทำสะพานนี้ นอกจากให้ข้ามแล้ว ยังอยากให้คนได้ใช้เวลาอยู่บนแม่น้ำนานๆ เพื่อดื่มด่ำกับสุนทรียะแห่งเมือง แต่อย่างที่ทุกคนรู้ดี กรุงเทพฯ ช่างร้อนเสียเหลือเกิน ให้ยืนกลางแดดนานๆ ก็คงไม่ไหว ทางสถาปนิกเลยออกแบบผนังกึ่งหลังคาที่ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง คือมีลักษณะโค้งๆ ทั้งใช้กันแดดกันฝน เป็นที่นั่งพักผ่อน แล้วก็เดินขึ้นไปชมวิวได้ด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น ตัวสะพานเองก็ต้องสวยงามเข้ากับบริบทของกรุงเทพฯ ด้วย ทีมจึงทำโครงสร้างให้เป็น 3 เนิน ล้อกับโครงเหล็กของสะพานพระพุทธยอดฟ้าที่อยู่ข้างกัน เวลามองจากที่ไกลๆ ก็จะเห็นเป็นคลื่นที่สอดประสานกันพอดี

การเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจก็ทำให้ต้องคำนึงถึงเรื่องรถที่วิ่งขนาบข้างสองฝั่งด้วย ไม่แปลกหากกรมทางหลวงชนบทจะกังวล ในเมื่ออาจเกิดกรณีคนขับรถอยู่แล้วหันไปมองคนเดิน หรือมีคนโยนของลงไปบนถนน ทีมจึงออกแบบให้ทางเดินคนหลบเข้าไปห่างจากทางเดินรถ พร้อมมีรั้วกันคนโยนของและคอยบล็อกสายตาคนขับรถเป็นช่วงๆ รวมถึงมีป้ายกำกับตลอดทาง

สะพานด้วนในฝันของทุกคนเริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้ว

07

ทำให้กลายเป็นจริง

เมื่อได้แบบที่ภูมิใจออกมา ก็ถึงขั้นตอนที่ยากที่สุด คือการเจรจาอนุมัติ

ในโครงการแบบนี้มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายส่วนมาก ทั้งกรมทางหลวงชนบท หน่วยงานผู้ดูแลสะพานพระปกเกล้า การทางพิเศษ ผู้ลงทุนในโครงสร้างสะพานด้วนเดิม สำนักผังเมือง กทม. ผู้ดูแลการพัฒนาเมือง เขตทั้งสองเขตที่ตีนสะพานตั้งอยู่ และกรมเจ้าท่าผู้ดูแลผืนน้ำเจ้าพระยา แต่ละฝ่ายมีสิ่งที่คาดหวังและความกังวลของตัวเองแตกต่างกันไปตามหน้าที่

อ.นิรมล อธิบายว่าขั้นตอนนี้ละเอียดอ่อนเสมอในทุกโครงการพัฒนาเมือง ขนาดที่ว่าในสาขาวิชาผังเมืองมักจะสอนวิชาการต่อรอง (Negotiation) โดยหัวใจของวิชาคือ ทำให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่าประโยชน์มากกว่าข้อเสียยังไง

“สิ่งหนึ่งที่ได้จากกระบวนการร่วมวางแผน นอกจากข้อสรุปที่เป็นรูปธรรมแล้ว คือความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และความเข้าใจกัน พอมานั่งคุยโต๊ะเดียวกัน ก็เหมือนกันนี่ มีข้อจำกัดเหมือนกัน อยากได้อะไรคล้ายๆ กัน และจะทำให้เกิดความรู้สึกของการร่วมกันเป็นเจ้าของ” อ.นิรมล บอก

งานใหญ่ขนาดนี้ หากไม่ได้รับการร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างเต็มกำลัง ก็คงไม่มีทางเกิดขึ้นได้

ขอขอบคุณ : UddC

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan