เมื่อได้ยินคำว่าวรรณคดีไทย หลายคนอาจเบือนหน้าหนี คิดว่าเชยและน่าเบื่อหน่าย โบก็เคยเป็นหนึ่งในนั้น จนกระทั่งวันที่พยายามหาเส้นเวลาของอาหารในประวัติอาหารไทยจากการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโท จึงลองเปิดวรรณคดีไทยเพื่อหาอาหารที่บันทึกในวรรณคดี ในยุคก่อนที่จะมีการตีพิมพ์ตำรับตำราอาหารไทยอย่างจริงจัง

วรรณคดีในยุคต้นรัตนโกสินทร์​หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ขุนช้างขุนแผน หรือ พระอภัยมณี ล้วนมีอาหารสอดแทรกอยู่ทั้งนั้น อาหารใน ขุนช้างขุนแผน สะท้อนวิถีชาวบ้านลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างอย่างสุพรรณบุรี อาหารงานบวช-งานแต่ง ก็สอดแทรกในคำกลอนอย่างประดามี (แปลว่ามีเยอะมาก)

เรื่องแฟนตาซีกว่า ขุนช้างขุนแผน ก็ต้อง พระอภัยมณี ตัวละครมีหลากหลายทั้งมนุษย์และอมนุษย์ หลายเชื้อชาติและมากไปด้วยชนชั้นในสังคม อาหารการกินจึงไม่ได้จำกัดอยู่ที่แบบไทย ๆ เท่านั้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนมากคือ ตอนอภิเษกหัสไชย ซึ่งเป็นพิธีแต่งงานระหว่างพระหัสไชยกับนางสร้อยสุวรรณและนางจันทร์สุดา พร้อมทั้งสุดสาครกับนางเสาวคนธ์ เป็นงานที่กษัตริย์ทั้ง 4 เมือง คือ ผลึก ลังกา รมจักร และการะเวก มารวมตัวกันที่เมืองลังกาเพื่อร่วมอวยพร งานนี้เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นงานรวมญาติแบบนานาชาติ โดยดูได้จากบทนี้

“ฝ่ายลูกสาวเจ้าลังกาเกณฑ์ฝรั่ง

แต่งโต๊ะตั้งเลี้ยงกษัตริย์ล้วนจัดสรร

กับข้าวแขกแทรกเนื้อแพะผัดน้ำมัน

มัสมั่นข้าวบุหรี่ลู่ตี่โต

กับข้าวไทยใส่ต้มส้มแกงต้มขิง

นกคั่วปิ้งยำมะม่วงด้วงโสน

แกงปลาไหลไก่พะแนงแกงเทโพ

ผัดปลาแห้งแตงโมฉู่ฉี่มี”

“รมจักรนคเรศวิเสทเจ๊ก

ต้มตับเหล็กเกาเหลาเหล้าอาหนี

เป็ดไก่ถอดทอดม้าอ้วนแต่ล้วนดี

แกงร้อนหมี่หมูต้มเค็มใส่เต็มจาน

ตั้งโต๊ะเรียงเลี้ยงวงศ์พงศ์กษัตริย์

สารพัดเหล้าข้าวของคาวหวาน

ต่างเสวยเนยนมน้ำชัยบาน

พนักงานฟ้อนรำต่างบำเรอ”

อ่านบทนี้แล้ว โอ้โห เจ้าเมืองลังกาเกณฑ์ฝรั่งให้มาจัดโต๊ะได้ ต้องมีอะไรดี ๆ แน่ ๆ หรือไม่ฝรั่งตอนนั้นคงไม่ออกล่าอาณานิคมเหมือนสมัยต่อมา เพราะถ้าเป็นฝรั่งช่วงล่าอาณานิคมคงไม่ยอมมาจัดโต๊ะให้ แต่โบคิดผิด เพราะบทความของ วิภา จิรภาไพศาล เรื่อง ข้างหลัง “พระอภัยมณี” สุนทรภู่ ซ่อนความคิดต้านชาติตะวันตก กล่าวความไว้ว่า

“เกาะลังกาในจินตนาการของสุนทรภู่นั้น มีต้นเค้ามาจากประเทศศรีลังกา ที่แม้ว่าจะเคยเป็นเมืองพุทธ และปัจจุบันมีประชาชนจำนวนมากนับถือศาสนาพุทธ แต่ในช่วงที่สุนทรภู่แต่งพระอภัยมณี ศรีลังกาเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ และเมืองลังกาในพระอภัยมณีก็ไม่ใช่เมืองพุทธเช่นกัน”

และลูกสาวเจ้าเมืองลังกา คือนางละเวงวัณฬา ซึ่งเป็นผู้ปกครองเมืองลังกาในเวลาต่อมา ไม่น่าล่ะ ถึงมีสิทธิ์สั่งฝรั่งได้

ส่วนกับข้าวก็มากมี นับได้กว่า 20 อย่างในกลอนไม่กี่บท ทั้งกับข้าวไทย กับข้าวแขก และกับข้าวจีน สิ่งที่ชวนให้คิดตามคือความหลากหลายของโปรตีนที่กินกัน ทั้งแพะในอาหารแขก เป็ด ไก่ หมูในอาหารจีน นก ด้วง และปลาในอาหารไทย แกงเทโพที่ตำราโบร่ำโบราณใช้ พื้นท้องปลาเทโพก็เป็นข้อสังเกตว่า งานที่จัดในเมืองลังกาน่าจะกินปลาทะเล แต่การประดิษฐ์คิดเพิ่มเติมในอาหารไทยก็มีมานานโขแล้ว ตั้งแต่สมัยเรายอมรับพริกเทศมาผสานกับอาหารตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยาโน่น

และบทนี้ยังพูดถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างหลากหลายอีกด้วย ทั้งเหล้าอาหนีและน้ำชัยบาน ก็ชวนให้ตีความกันอย่างสนุก เหล้าอาหนีอาจเป็นเหล้ารสอะนีซ (Anise) ในที่นี้อาจหมายถึงเหล้าที่ทำโดยมีส่วนผสมของเทียนสัตตบุษย์อยู่ด้วย ซึ่งไม่ใช่โป๊ยกั๊ก (จันทน์แปดกลีบ) หรือ Star Anise เหล้าอาหนีที่ปรุงด้วยเทียนสัตตบุษย์นิยมดื่มกันแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ยุโรป เรื่อยมาจนถึงเปอร์เซียและตุรกี บางทีก็รู้จักกันในชื่อ อารัก (Arak)

ส่วนน้ำชัยบานที่อยู่วรรคท้าย ๆ ยังมีใช้อยู่ในภาษาอีสาน ปัจจุบันเรียกชื่อน้ำชนิดหนึ่งว่า ไชยบาน หมายถึงน้ำดื่มสาบาน หรือชัยบานอาจหมายถึงเครื่องดื่มแห่งการมีชัย จึงตีความว่าอาจจะเป็นแชมเปญเพราะเสียงคล้ายคลึงกัน และไว้ดื่มในงานเฉลิมฉลองอย่างงานแต่งนี่แหละ แต่จะเป็นวินเทจไหน จะเป็นแชมเปญบ้านใด ทุ่งไหน สุนทรภู่ก็ไม่ได้ทิ้งเบาะแสให้สืบต่อได้แต่อย่างไร

แต่ที่แน่ ๆ สุนทรภู่เป็นนักดื่มที่มีองค์ความรู้น่าดู เพราะรู้จักเหล้าฝรั่งหลายชนิด รู้จักอาหนี ดื่มบรั่นดี และยังชนแก้วด้วยน้ำชัยบาน

กลอนใน พระอภัยมณี ยังพูดถึงความหลากหลายทางชีวภาพของข้าวที่ปลูกอยู่บนเกาะแก้วพิสดาร ทั้งข้าวสาลี ซึ่งอาจหมายถึงข้าวโพด ข้าวเจ้า ข้าวฟ่าง ข้าวเหนียว ข้าวหางช้าง รายชื่อข้าวหลายสายพันธุ์นี้สะท้อนถึงความรุ่มรวยของพันธุ์ข้าว ไม่เพียงในวรรณคดี แต่ในสังคมไทยยุคนั้นด้วย โบคิดว่าเป็นช่วงที่สยามประเทศมั่นคงและมั่งคั่งทางอาหารสูงมาก ๆ ดูไม่สั่นคลอนเหมือนในปัจจุบัน ไม่ว่าจะทั้งจากนโยบายรัฐบาลด้านเมล็ดพันธุ์ หรือการที่บ้านเราเอื้อต่อการรวมทุนผูกขาด

“อันเกาะแก้วพิสดารสถานนี้

โภชนาสาลีก็มีถม

แต่คราวหลังครั้งสมุทรโคดม

มาสร้างสมสิกขาสมาทาน

เธอทำไร่ไว้ที่ริมภูเขาหลวง

ครั้นแตกรวงออกมาเล่าเป็นข้าวสาร

ได้สืบพืชยืดอยู่แต่บูราณ

จงคิดอ่านเอาเคียวมาเกี่ยวไป”

“ให้โยคีตีเคียวไปเกี่ยวข้าว

สานกระเช้าให้ทุกคนขนข้าวสาร

กลางคงคาสารพันจะกันดาร

จงคิดอ่านเอาเสบียงไปเลี้ยงกาย”

“ถึงที่กว้างหว่างเวิ้งในเชิงเขา

เห็นรวงข้าวขาวค้อมหอมนักหนา

ไม่เคยเห็นเป็นข้าวสารทั้งลานนา

กษัตราชมเพลินดำเนินพลาง

ถึงธารนำลำเนาภูเขาโขด

มีข้าวโพดข้าวเจ้าแลข้าวฟ่าง

ทั้งข้าวเหนียวเขียวขาวข้าวหางช้าง

แลต่างต่างตละไร่สุดสายตา”

การที่เกาะแก้วปลูกข้าวได้หลายชนิด น่าจะเป็นข้อเท็จจริงได้โดยไม่พิสดารมาก หากใช้หลักฐานการปลูกข้าวบนเกาะในฝั่งทะเลอันดามันปัจจุบัน ทั้งเกาะสุกร จังหวัดตรัง หรือเกาะยาวน้อย จังหวัดพังงา การมีน้ำจืดบนเกาะกลางทะเลมันก็พิสดารอย่างธรรมชาติจัดสรร ซึ่งปัจจุบันก็ยังทำนาบนเกาะกันอยู่

ส่วนเกาะแก้วพิสดารเอง สุจิตต์ วงษ์เทศ ตีความว่า เป็นเกาะที่อยู่ฝั่งทะเลอันดามันมากกว่าเกาะเสม็ด จากตอนที่ท้าวสิลราชเจ้าเมืองผลึกกับลูกสาวคือสุวรรณมาลี ติดมรสุมอยู่กลางมหาสมุทร (อินเดีย) ปู่เจ้าบอกทางรอดว่า “จงตัดคลื่นฝืนไปทิศอิสาน จะพบพานผู้วิเศษข้างเพทไสย”

เมื่อมุ่งไปทางทิศอีสานก็พบพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดารจริง ๆ แสดงว่าเกาะนี้อยู่ในเขตทะเลอันดามันหรือที่ใดที่หนึ่งของมหาสมุทรอินเดีย

อาหารการกินในวรรณคดีสะท้อนการเกิดขึ้นซ้ำในประวัติศาสตร์ เกิดแล้วก็เกิดได้เหมือนกระแสแฟชั่นที่วนซ้ำได้เรื่อย ๆ ผู้คนมีรสนิยมการกินแบบวนซ้ำ โดยมีหลักฐานร่วมสมัยให้พอจับแพะชนแกะได้กับวิถีการกินที่เป็นกระแสร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็น Plant-based อย่างฤาษีที่บวชมาเป็นพันปี กินแต่ผลหมากรากไม้ ในตอนที่พระอภัยมณีกับสินสมุทรมาอยู่ที่เกาะและขอบวชเป็นฤๅษีด้วย จึงฉันอาหารของนักบวช โดยมีพวกแขกฝรั่งเรือแตกที่เป็นลูกศิษย์ของพระฤๅษีจัดหาอาหารมาให้ ดังบทนี้

“แล้วรีบรัดจัดแจงแต่งสำรับ

น้ำผึ้งกับมันเผือกล้วนเลือกสรร

ทั้งกล้วยอ้อยน้อยหน่าสารพัน

ประเคนสองนักธรรม์ฉันสำราญ”

และยังมีกลุ่ม Pescatarian คือกินแต่อาหารทะเลอย่างเดียว เช่น ผีเสื้อสมุทรที่จับพ่อแม่นางเงือกกิน (นางเงือกถือว่าเป็นอาหารทะเลไหมนะ) และนางเงือกเองก็น่าจะกินอาหารทะเลด้วย อันนี้ตีความเอง

ชาวเมืองวาหุโลมกินสัตว์ปีกเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็ด ไก่ นก และไข่ การกินแบบนี้อาจยังไม่เป็นกระแสในสังคมร่วมสมัยเท่าไรนัก แม้ว่าเราจะกินอกไก่ปั่นเพื่อเพิ่มมวลกล้ามเนื้อกันเป็นปกติแล้ว

“นายด่านเล่าว่าเจ้าเมืองวาหุโลมราช

กษัตริย์ชาติเชื้อยักษ์มักกะสัน

เลี้ยงนกไก่ไว้กินสิ้นทั้งนั้น

สารพันสัตว์ที่มีปีกบิน

อันกุ้งปลาสาครเรียกหนอนน้ำ

ไม่กรายกล้ำเกลียดคิดพินิจถวิล

ทั้งสัตว์อื่นหมื่นแสนในแดนดิน

ก็ไม่กินกินแต่ไข่เป็ดไก่นก”

กินแต่สัตว์ปีกกันขนาดนี้ ต้องมีภูมิปัญญาดีในการป้องกันโรคเกาต์ ไม่งั้นแย่แน่นอน เพราะสัตว์อื่นหมื่นแสน ชาววาหุโลมก็ไม่กิน

ส่วนสายยักษ์อย่างเจ้าละมาน เป็นสาย Raw Food คือกินอาหารที่ไม่ผ่านความร้อน และยังเป็นสายคีโตอีกด้วย เพราะน่าจะกินแต่เนื้อสัตว์และไม่สนใจคาร์บเท่าไรนัก จากบทนี้

“ฝ่ายลำหนึ่งถึงละมานสถานถิ่น

เมืองทมิฬฟันเสี้ยมเหี้ยมหนักหนา

ไม่กินข้าวชาวบุรินทร์กินแต่ปลา

กินช้างม้าสารพัดสัตว์นกเนื้อ

ถึงเวลาฆ่าชีวิตเอามีดเชือด

แล้วคลุกเลือดด้วยสักหน่อยอร่อยเหลือ

ทั้งน้ำส้มพรมพล่าน้ำปลาเจือ

ล้วนเถือเนื้อดิบกินสิ้นทุกคน”

แม้จะเป็นยักษ์ ดูกินแบบไม่มีอารยะ ป่าเถื่อน แต่การกินเนื้อดิบก็มีวัฒนธรรมในการหมักน้ำส้ม ทำน้ำปลาเพื่อเอามาพรมใส่เนื้อดิบ อีกบทยังพูดถึงการใช้ผักชีหรือเครื่องเทศอย่างยี่หร่าโรยบนเนื้อดิบด้วย

รายชื่ออาหารในยุคต้นรัตนโกสินทร์นี้ เป็นหนึ่งในบันทึกสำคัญของผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยาด้านอาหาร ซึ่งใช้อ้างอิงถึงการมีอยู่ของอาหารในห้วงเวลานั้นได้เป็นอย่างดี และสะท้อนวัฒนธรรมในสังคม รวมถึงใช้ตีความบริบทต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคนั้นได้ด้วย แม้ไม่ได้แสดงรายการวัตถุดิบหรือวิธีปรุงไว้ในรายละเอียด แต่ก็เป็นหลักฐานเชิงบันทึกได้ ปะติดปะต่อความเป็นพหุวัฒนธรรมในอาหารการกิน ความหลากหลายทางชีวภาพในอาหาร และเป็นส่วนสำคัญที่ใช้ตีความอาหารไทยในปัจจุบัน โบเลยขอตั้งชื่อว่าเป็น ‘โภชนวรรณคดี’

อนึ่ง บทความนี้ได้รับความกรุณาจากบทความของ รองศาสตราจารย์ มาลิทัต พรหมทัตตเวที เรื่อง อาหารการกินในวรรณกรรมเรื่องพระอภัยมณี ที่ลงไว้ใน วารสารราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ 37 ฉบับที่ 2 เม.ย.-มิ.ย. 2555 หน้า 124 – 145 ได้จัดประเภทของอาหารใน พระอภัยมณี และรวบรวมบทกลอนตามอาหารแต่ละอย่างไว้ครบถ้วน เป็นวิทยาทานให้แก่ผู้เขียนอย่างข้าพเจ้า รวมถึง คุณกิตติพงษ์ สารสมบูรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริการลูกค้าและการตลาด บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่อยากจะเห็นสำรับอาหารจากวรรณคดีอย่าง พระอภัยมณี ผู้เขียนจึงได้มีโอกาสค้นคว้าเรื่องอาหารการกินอีกครั้งหนึ่ง

Writer

Avatar

ดวงพร ทรงวิศวะ

ดวงพร ทรงวิศวะ เกิดและโตที่กรุงเทพฯ จบการศึกษาทางด้านโภชนศาสตร์จากประเทศออสเตรเลีย อาหาร ประวัติศาสตร์ นโยบายการเมือง วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น การทำเกษตร และเรื่องราวของสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่เชฟโบสนใจและนำมาประยุกต์ใช้กับการปรุงอาหารที่โบ.ลาน เชฟโบได้รับเกียรติเป็นเชฟหญิงที่ดีที่สุดของเอเชีย เมื่อปีพุทธศักราช 2556 หลังจากเปิดโบ.ลานได้ 4 ปี ทุกวันนี้เชฟยังมีความสุขกับการค้นหาสูตรอาหารที่คนหลงลืม ชิมรสชาติของพืชผักพื้นบ้าน และตีความอาหารไทยไปในทิศทางต่างกันตามแต่ละกรณี

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์