“ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ จะทำการศึกษาการพัฒนาป่าไม้ พื้นที่ต้นน้ำลำธารให้ได้ผลอย่างสมบูรณ์เป็นหลัก ต้นทางเป็นป่าไม้และปลายทางเป็นการศึกษาการประมงตามอ่างเก็บน้ำต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อราษฎรอย่างแท้จริง ผสมกับการศึกษาด้านสหกรณ์ ด้านเกษตรกรรม ด้านปศุสัตว์โคนมและด้านเกษตรอุตสาหกรรม รวมทั้งด้านการตลาดอีกด้วย เพื่อให้เป็นศูนย์ที่สมบูรณ์แบบก่อให้เกิดประโยชน์แก่ราษฎรที่จะเข้ามาศึกษากิจกรรมต่างๆ ภายในศูนย์ฯ และนำไปใช้ปฏิบัติอย่างได้ผลต่อไป”

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527

หลังจากที่ได้มาศึกษาเรื่องเกษตรแบบยั่งยืน เราก็แบ่งเวลาว่างไปลงมือทำการเกษตร ยิ่งศึกษาก็ยิ่งเข้าใจศาสตร์พระราชามากขึ้น การปลูกป่า 5 ระดับ โดยการปลูกพืชหลากหลายชนิดให้อยู่ในแปลงเดียวกัน แต่มีความสูงต่างระดับกัน เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเดินทางไปที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากเราต้องการพันธ์ุไม้ให้ได้ครบตามทฤษฎี แต่บางพันธุ์ก็หายาก หรือต้องไปซื้อหามา เราเลยออกเดินทางไปที่นี่เพื่อศึกษาธรรมชาติและขอรับพันธ์ุกล้าฟรี

เมื่อเข้าไปถึงศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ก็พบว่าที่นี่คือพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่รวมความรู้เรื่องดิน น้ำ และป่า เข้าไว้ด้วยกัน ที่นี่มีอ่างเก็บน้ำหลายอ่าง เพราะพระองค์ท่านทรงให้ความสำคัญต่อการจัดการน้ำเป็นอย่างมาก และยังเป็นที่ที่ทุกคนแวะมาเที่ยว มาชม มาศึกษาหาความรู้ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ถือเป็นต้นแบบของความสำเร็จในด้านการพัฒนาเกษตรกรรมและอาชีพของเกษตรกรในการประกอบอาชีพของตนเอง ตามแนวคิดของพระองค์ท่านที่อยากให้ประชาชนของพระองค์เข้ามาใช้ประโยชน์แบบ one stop service

ที่นี่จะมีกล้าเจ๋งๆ ให้เราเลือกมากมาย การมารับต้นกล้าก็ทำได้ง่ายๆ แค่นำบัตรประชาชนมาแจ้งว่าขอรับพันธุ์ ที่ศูนย์การเรียนรู้การเพาะขยายพันธุ์และแจกจ่ายกล้าไม้

ที่นี่ยังสอนการทำเกษตรแบบยั่งยืน โดยการปลูกป่า 3 อย่าง ได้ประโยชน์ 4 อย่าง ถ้าใครต้องการจะเริ่มต้นทำการเกษตรและพึ่งพาตนเองแบบยั่งยืน เริ่มศึกษาได้จากที่ศูนย์นี้ สอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ได้ เจ้าหน้าที่ทุกท่านน่ารักและเป็นกันเองมากๆ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชดำรัสความว่า

“…ป่าไม้ที่จะปลูกนั้น สมควรที่จะปลูกแบบป่าใช้ไม้หนึ่ง ป่าสำหรับใช้ผลหนึ่ง ป่าสำหรับใช้เป็นฟืนอย่างหนึ่ง อันนี้แยกออกไปเป็นกว้างๆ ใหญ่ๆ การที่จะปลูกต้นไม้สำหรับได้ประโยชน์ดังนี้ ในคำวิเคราะห์ของกรมป่าไม้รู้สึกจะไม่ใช่ป่าไม้ แต่ในความหมายของการช่วยเหลือเพื่อต้นน้ำลำธารนั้น ป่าไม้เช่นนี้จะเป็นสวนผลไม้ก็ตามหรือเป็นสวนฟืนก็ตามนั่นแหละเป็นป่าไม้ที่ถูกต้อง เพราะทำหน้าที่เป็นป่า คือ เป็นต้นไม้และทำหน้าที่เป็นทรัพยากรในด้านสำหรับให้ผลที่มาเป็นประโยชน์แก่ประชาชนได้…”

ในการปลูกป่า 3 อย่างนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชาธิบายถึงประโยชน์ในการปลูกป่าตามพระราชดำริว่า

“…การปลูกป่า 3 อย่าง แต่ให้ประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งได้ไม้ผล ไม้สร้างบ้าน และไม้ฟืนนั้น สามารถให้ประโยชน์ได้ถึง 4 อย่าง คือ นอกจากประโยชน์ในตัวเองตามชื่อแล้ว ยังสามารถให้ประโยชน์อันที่ 4 ซึ่งเป็นข้อสำคัญ คือ สามารถช่วยอนุรักษ์ดินและต้นน้ำลำธารด้วย…”

และมีพระราชดำรัสเพิ่มเติมว่า

“…การปลูกป่าถ้าจะให้ราษฎรมีประโยชน์ ให้เขาอยู่ได้ ให้ใช้วิธีปลูกไม้ 3 อย่าง แต่มีประโยชน์ 4 อย่าง คือ ไม้ใช้สอย ไม้กินได้ ไม้เศรษฐกิจ โดยรองรับการชลประทาน ปลูกรับซับน้ำ และปลูกอุดช่วงไหล่ตามร่องห้วย โดยรับน้ำฝนอย่างเดียว ประโยชน์อย่างที่ 4 ได้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ…”

นอกจากเรื่องเกษตรแล้ว ที่นี่ยังมีข้อมูลเรื่องการทำปศุสัตว์เกี่ยวกับการเลี้ยงโคนม การเลี้ยงแพะ การเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ เช่น กบ

มีการทำวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ป่า เช่น การเก็บข้อมูลเรื่องฝูงนกยูงป่า นอกจากจะมีนกยูงมากมายแล้ว ยังมีสัตว์อื่นๆ อีก เช่น เก้ง กวาง หมีขอ นกชนิดต่างๆ และมีการทำกาแฟชะมดเช็ด โดยอาหารเช้าของชะมดหรืออีเห็นคือ กล้วยกับกาแฟ ที่ต้องให้กินกล้วยไปพร้อมกันนั้น เพราะว่าจะทำให้กาแฟมีรสหอมและกลมกล่อมมากขึ้น

ทุกครั้งที่ไปเราจะตระหนักดีถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงทำสิ่งนี้ให้พวกเราคนไทยมาตลอด พระองค์ทรงคิดวิธีไว้ให้พวกเราหมดแล้ว เราดีใจและโชคดีมากที่ได้เกิดในประเทศไทยและมีพระมหากษัตริย์ที่ทรงห่วงใยพวกเราขนาดนี้

หลายคนเข้าใจว่าการอยู่แบบพอเพียงคือการอยู่แบบคนจนๆ แต่คนที่คิดแบบนี้อาจยังไม่เข้าใจแก่นของวิถีพอเพียง ที่จริงแล้วคำว่าพอเพียง ก็คือการ ‘พอ’ ในแบบของเรา เราออกแบบสิ่งนี้ในแบบของเราได้ อะไรก็ได้ที่ทำแล้วมีความสุข ทำแล้วไม่เหนื่อย ทำแล้วไม่เกินตัว เราว่านั่นแหละ ใช่แล้ว

จะเห็นได้ว่าเครือข่ายของการทำเกษตรแบบพอเพียงทุกคนมีมิตรไมตรีต่อกัน แบ่งปันพึ่งพาอาศัยกันด้วยรอยยิ้ม สวนนี้มีมะม่วงก็เอามาแลกกับสวนที่มีลำไย บ้านนี้มีผักก็เอามาแลกกับไข่ไก่ไข่เป็ด ต่างกับคนเมืองที่แทบจะหันหลังใส่กัน เหตุเพราะแค่ดูแลตัวเองก็ลำบากแล้ว แต่ถ้าทุกคนมีที่ทำเกษตรเล็กๆ ของตัวเอง จะแบ่งปันใครก็ไม่ได้เสียดายเพราะมันเหลือกินอยู่แล้ว มันเป็นเรื่องเล็กมาก

สำหรับเรา เมื่อลองมาสัมผัสและปฏิบัติเอง ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้เป็นเพียงแค่ทฤษฎีต่อไป แต่มันเป็นความสุขแบบพอดีข้างในที่ไม่สามารถอธิบายได้

สถานที่แห่งนี้เปรียบเสมือนคุณครูและห้องเรียน ที่เราจะเริ่มเรียนรู้และน้อมนำคำสอนของพระองค์ท่านมาปฏิบัติในชีวิตให้มากที่สุด

Writer & Photographer

Avatar

อุรชา จักรคชาพล

ปัจจุบันอุรชาเป็นนักเดินทาง ช่างภาพ เป็นอาจารย์สอนด้านการถ่ายภาพที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง รวมทั้งเป็นคณะกรรมการบริหารสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเป็นช่างภาพกิตติมศักดิ์ของโซนี่ประเทศไทยด้วย