เราได้ยินชื่อเมืองลี้ จังหวัดลำพูน มานานแล้ว ที่นี่มีความเป็นปัจเจกด้านวัฒนธรรม เราชอบโรงเรียนเรือนแพในหนังเรื่อง คิดถึงวิทยา มาก โรงเรียนจริงอยู่บนแม่น้ำปิงเหนือเขื่อนภูมิพลที่ลี้ ตอนที่เราเรียนเรื่องเกษตรอินทรีย์มีเพื่อนรุ่นเดียวกันมาจากลี้ เราก็ยิ่งสนใจลี้มากขึ้นเรื่อยๆ

ในฐานะของนักเดินทาง เราไม่ชอบไปสถานที่ที่เป็นที่รู้จัก เราอยากนำเสนอสถานที่ใหม่ๆ ที่คนยังไม่รู้จัก เลยอยากไปลี้เพื่อดูว่าหมู่บ้านที่ปฏิเสธน้ำประปาและไฟฟ้าจากส่วนกลางเพราะอยากอยู่กับธรรมชาติเป็นยังไง

เราไปที่ชุมชนพระบาทห้วยต้ม เป็นชุมชนชาวปกาเกอะญอ คนที่นี่นับถือครูบาชัยยะวงศาพัฒนามาก ท่านเป็นผู้บูรณะวัดพระบาทห้วยต้มเมื่อปี 2513 ท่านสอนธรรมะและปฏิธรรมอย่างเคร่งครัด จึงมีชาวปกาเกอะญอในพื้นที่ที่ท่านเดินทางผ่านขอติดตามมาตั้งถิ่นฐานด้วยที่นี่ ครูบาตั้งข้อแม้ว่าถ้าจะมาอยู่ด้วยกันต้องเลิกเบียดเบียนสัตว์ คนที่อยู่ต้องปวารณาตัวว่าจะเป็นมังสวิรัติ ไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ฆ่าสัตว์ ท่านให้ชาวบ้านที่จะตกลงปลงใจนำอาวุธที่ใช้ล่าสัตว์มาฝังรวมกันหน้าโบสถ์แล้วเทปูนทับ

ชาวบ้านในชุมชนที่นี่จึงปฏิบัติตามคำสอนอย่างเคร่งครัด ไม่มีปัญหาเรื่องการทะเลาะวิวาท ลักขโมย การพนัน และยาเสพติด และชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ยังคงกินมังสวิรัติมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่มีการนำเนื้อสัตว์เข้าไปในเขตวัด มื้อเช้าชาวบ้านจะตักบาตร ส่วนมื้อเพลจะเก็บผักหลังบ้านของตัวเองไปให้โรงครัวของวัดปรุงอาหารถวายพระ

ครั้งหนึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ มาที่หมู่บ้านนี้ เมื่อทรงเห็นว่าคนแก่และเด็กมีปัญหาสุขภาพเพราะขาดโปรตีน จึงมีพระราชประสงค์ให้เด็กๆ ได้บริโภคไข่ โดยทรงถามครูบาว่า ขอให้ชาวบ้านเลี้ยงไก่เพื่อเอาไข่ได้ไหม ครูบาตอบว่า ไม่ได้ เพราะกลัวคนจะใจอ่อน ฆ่าไก่มากิน

เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ กลับไปแล้ว ก็ทรงส่งคนมาสอนชาวบ้านทำเต้าหู้จากถั่วเหลืองเพื่อเป็นแหล่งโปรตีน หลังจากนั้น ชาวบ้านก็มีสุขภาพที่ดีขึ้นเพราะไม่ขาดโปรตีน

เราถ่ายภาพชุดนี้เพื่อเล่าเรื่องชุมชนพระบาทห้วยต้ม มีภาพของชาวปกาเกอะญอซึ่งคงวัฒนธรรมดั้งเดิมของตัวเองเอาไว้ อย่างเช่นการสวมชุดชนเผ่าที่เหมือนกันทั้งด้านหน้าและหลัง ตามคำสอนที่ว่า คนเราไม่ว่าจะอยู่ต่อหน้าหรือลับหลังก็ต้องทำเหมือนกัน

ภายในโบสถ์เป็นกระจกทั้งหมด เพื่อให้คนที่เข้าไปได้เห็นแต่ตัวเอง เนื่องจากปกติแล้วคนทั่วไปมักจะชอบมองความผิดของคนอื่น ไม่มองตัวเอง จึงเป็นกุศโลบายให้เราได้ตรวจสอบตัวเองบ้าง

มีภาพเมืองลี้ที่เป็นแสงสีทอง แสดงถึงความสมบูรณ์ของที่นี่ ชาวบ้านมีชีวิตที่ดีขึ้นเพราะได้รับพระราชทานความช่วยเหลือจากในหลวงรัชกาลที่ 9 และอีกภาพเป็นภาพแสงสีทองอับริบหรี่ที่ส่องลอดช่องแสงมาบนภาพของพระองค์่ท่าน เพราะท่านไม่ได้อยู่แล้ว

ถ้าคุณมีเซ็ตภาพถ่ายที่อยากมาอวดในคอลัมน์นี้ ช่วยส่งเซ็ตภาพพร้อมคำบรรยาย (แบบไม่ยาวมาก) รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Photo Essay’
ถ้าเซ็ตรูปของคุณได้รับการตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดน่ารัก จาก The Cloud ส่งไปให้นะ

Writer & Photographer

Avatar

อุรชา จักรคชาพล

ปัจจุบันอุรชาเป็นนักเดินทาง ช่างภาพ เป็นอาจารย์สอนด้านการถ่ายภาพที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง รวมทั้งเป็นคณะกรรมการบริหารสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเป็นช่างภาพกิตติมศักดิ์ของโซนี่ประเทศไทยด้วย