การท่องเที่ยวชักชวนให้เที่ยวเมืองรอง เพื่อให้เมืองรองได้อวดของดีๆ บ้าง เผื่อถูกใจนักท่องเที่ยว เมืองรองจะได้มีที่ยืนในการท่องเที่ยวบ้าง ครั้งนี้ชวนเที่ยวอำเภอโพธาราม ราชบุรี เมืองรองของเมืองรองอีกที ที่ไม่ไกลจากกรุงเทพแค่ 80 กิโลเมตร ไปเช้าเย็นกลับได้ไม่ลำบาก 

อำเภอโพธาราม ราชบุรี คงมีคนรู้จักกันในฐานะที่มีหนังใหญ่วัดขนอน อย่างอื่นก็ไม่แตกต่างจากที่อื่นๆ มีภูเขา มีวัด สวน ทุ่งนา การชวนเที่ยวที่ที่ไม่ใช่เมืองเป้าหมายไม่มีอะไร ก็ดีอย่างเผื่อฟลุกได้อะไรจากสิ่งที่ไม่ได้คาดหวัง 

เที่ยวโพธารามไปเช้าเย็นกลับ ชิมอาหารในร้านที่คนพื้นถิ่นรู้จัก แต่โซเชียลยังไม่รู้จัก, ที่เที่ยวโพธาราม ราชบุรี

เอาเรื่องสิ่งแวดล้อมทางสังคมก่อน จากถนนเพชรเกษมเข้าอำเภอโพธาราม ก็เหมือนเมืองอื่นๆ มีปั๊มน้ำมัน มีร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้าง อู่ซ่อมรถ มีโรงเรียน พอข้ามทางรถไฟก็เป็นย่านธุรกิจ มีหลายยุคสมัย ธุรกิจใหม่เก่าคละๆ กัน ถนนมีหลายสาย แต่จะถูกบังคับให้ไปถึงย่านเก่าแก่ของเมืองที่อยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ที่นั่นเงียบๆ มีร่องรอยความเก่าแก่ ย่านนี้แหละที่เมื่อก่อนนั้นเป็นห้องแถวไม้ แต่ถูกมีไฟไหม้มาเป็นระลอกๆ และครั้งใหญ่สุด ที่เรียกว่าไฟไหม้ตลาดบนเมื่อ 50 ปีก่อน ทำเอาห้องแถวไม้แหว่งไปเยอะ ถ้าอยู่ได้ก็อยู่มาจนทุกวันนี้ ที่ถูกไฟไหม้วอดวายไปก็ปลูกใหม่เป็นตึกแถวสมัยนั้นไม่เกิน 3 ชั้น 

โพธารามเคยเป็นเมืองคนจีนหนาแน่น มีหลายกลุ่มภาษา ทั้งแต้จิ๋ว ไหหลำ แคะ กวางตุ้ง ที่สมัยก่อนมาทางเรือมาตามลำแม่น้ำแม่กลอง แต่ก็ทยอยๆ กันมาไม่ได้พรวดพราดมากันเต็มเมือง มาแล้วต่างฝ่ายก็ทำอาชีพตามที่ตัวเองถนัด ที่แน่ๆ คือค้าขาย จนมีคำกล่าวว่าเหมือนสำเพ็งในกรุงเทพฯ

เมื่อปักหลักถาวรแล้ว แต่ละกลุ่มภาษาก็สร้างศาลเจ้าตั้งเทพรูปเคารพของตัวเอง นั่นเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ต่างคน ต่างมีศรัทธา ที่เห็นๆ จึงมีถึง 5 ศาลเจ้า แต่คนจีนจะเชื่อว่า ไม่ว่าจะเป็นเทพเจ้าองค์ใดก็ให้ความสุข ร่มเย็น ความก้าวหน้า ให้เมืองทั้งนั้น 

โพธารามมีประเพณีประจำปีอย่างหนึ่งที่ทำกันมามากกว่า 100 ปีแล้ว จะอัญเชิญเทพรูปเคารพจากศาลเจ้าต่างๆ มาตั้งรวมกันในโรงเซ่นไหว้ชั่วคราว เป็นงานกุศลใหญ่โตมีความพร้อมเพรียง งานนี้มีขบวนแห่น่าตื่นเต้น น่าศรัทธา มีโรงทาน มีงิ้ว อีกอย่างที่คนจีนให้ความสำคัญมากที่ต้องมีโรงเรียนจีน ดั้งเดิมสำหรับลูกหลานจีน แต่ตอนหลังใครๆ ก็ไปเรียนได้ อีกอย่างตายแล้วไปไหน ก็มีสุสานอยู่แถวบ้านเลือกที่ไม่ไกลจากเมือง

โพธารามเคยเป็นเมืองคนจีนล้วนก็จริง พอผ่านมานานๆ เข้า การผสมผสานโดยการแต่งงานก็มีมาตลอด เป็นคนจีนต่างกลุ่มภาษากัน ทั้งกับคนมอญ คนลาว ที่เป็นคนพื้นถิ่น แต่ความแข็งแกร่งทางวัฒนธรรมจีนก็ไม่คลาย ทุกวันนี้ในเทศกาลตรุษจีน เชงเม้ง สารทจีน และเทศการกินเจ โพธารามจัดเต็ม หยุดปิดกิจการเกือบทั้งเมือง

มาถึงสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ โพธารามจะไม่เหมือนอำเภอริมน้ำที่อื่นๆ ที่ส่วนใหญ่จะมีความเป็นชุมชนเต็มทั้งสองฝั่งแม่น้ำ แต่โพธารามจะมีแค่ฝั่งชุมชนเมืองฝั่งเดียว ฝั่งตรงข้ามยังเป็นต้นไม้หนาแน่น เรียกว่าแน่นจนถึงตลิ่งริมน้ำ ถึงจะมีวัด มีบ้านเรือนเยอะแยะ แต่ทั้งหมดก็ซุกซ่อนใต้ร่มไม้ เดี๋ยวนี้จะมีบางวัดสร้างแพสำหรับเลี้ยงปลา และบางบ้านก็ต่อหน้าบ้างออกนอกแนวต้นไม้บ้าง แต่โดยรวมนั้นถือว่าเป็นเมืองสงบ มีธรรมชาติดีๆ อยู่มาก

จะมีที่อุจาดตาอยู่ที่หนึ่งเท่านั้น ที่มีตึกแท่งหนึ่งสูงโด่เด่อยู่ตีนสะพานแม่น้ำแม่กลอง ถ้าไปสร้างอยู่ในย่านธุรกิจกลางเมืองก็ไม่เป็นไร ในเจตนาคนสร้างคงอยากเห็นวิวเมือง เห็นวิวแม่น้ำ ก็กลับกลายเป็นว่า ตัวเองสร้างเสี้ยนวิวขัดแย้งกับความเก่าแก่ของเมืองกับธรรมชาติเขียวๆ เย็นตา 

เที่ยวโพธารามไปเช้าเย็นกลับ ชิมอาหารในร้านที่คนพื้นถิ่นรู้จัก แต่โซเชียลยังไม่รู้จัก, ที่เที่ยว โพธาราม ราชบุรี
เที่ยวโพธารามไปเช้าเย็นกลับ ชิมอาหารในร้านที่คนพื้นถิ่นรู้จัก แต่โซเชียลยังไม่รู้จัก, ที่เที่ยว โพธาราม ราชบุรี

จากองค์ประกอบเมืองก็ดูเงียบๆ ไม่คึกคัก ส่วนหนึ่งเพราะว่าโพธารามอยู่ตรงกลางระหว่างอำเภอบ้านโป่งกับตัวจังหวัดราชบุรี ที่แต่ละแห่งอยู่ห่างจากโพธารามไม่มาก ด้านบ้านโป่งเป็นอำเภอใหญ่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจสูง อีกด้านหนึ่งเป็นตัวจังหวัดราชบุรีนั่นเป็นศูนย์กลางความเจริญ ฉะนั้น โดยสภาพทางเศรษฐกิจและความเจริญบ้านโป่งจะเชื่อมโยงกับราชบุรีโดยตรง โดยกระโดดข้ามหัวโพธารามไป 

คนโพธารามเองอยากได้อะไร จะซื้ออะไร ก็ไปที่บ้านโป่งหรือราชบุรี เอาง่ายๆ ว่าโพธารามไม่มีโรงแรมสำหรับเซลล์แมนพัก ไม่มีห้องอาหาร เคยมีบ้างก็เปิดประเดี๋ยวประด๋าวสุดท้ายก็เลิก อาหารการกินที่นั่นทุกเช้าจะมีตลาดนัดหน้าเมือง วันอาทิตย์จะคึกคักใหญ่หน่อย สายหน่อยก็วาย นั่นบอกถึงคนจะทำกินเองในบ้าน ถึงกลางคืนมีตลาดนัดอาหารสำเร็จรูปนิดหน่อย ก็เผื่อคนหนีความจำเจหรือคนเดินทาง 

เที่ยวโพธารามไปเช้าเย็นกลับ ชิมอาหารในร้านที่คนพื้นถิ่นรู้จัก แต่โซเชียลยังไม่รู้จัก, ที่เที่ยว โพธาราม ราชบุรี

ถ้าใครอยากเห็นอะไรที่ไม่ค่อยได้เห็นแล้ว จะเห็นได้ที่นั่น อย่างร้านตัดเย็บรองเท้าด้วยมือใช้หุ่นไม้ ร้านขายยาโบราณที่โบราณสมชื่อ เครื่องยายังใส่กระป๋องสังกะสี ชื่อยาเขียนด้วยมือมีภาษาจีนกำกับ แถมมีการปรุงยาแผนโบราณตามที่ต้องการด้วย มีร้านบัดกรีเครื่องสังกะสี มีรางน้ำ มีหม้อซึ้งสำหรับนึ่ง กระบวยตักน้ำรดผัก มีโรงเพาะถั่วงอก มีร้านทำเส้นบะหมี่ไข่ มีโรงน้ำปลา มีโรงเต้าหู้ นั่นเป็นสิ่งเป็นสิ่งที่มี ในความไม่มีอะไรของโพธาราม

เที่ยวโพธารามไปเช้าเย็นกลับ ชิมอาหารในร้านที่คนพื้นถิ่นรู้จัก แต่โซเชียลยังไม่รู้จัก, ที่เที่ยว โพธาราม ราชบุรี
เที่ยวโพธารามไปเช้าเย็นกลับ ชิมอาหารในร้านที่คนพื้นถิ่นรู้จัก แต่โซเชียลยังไม่รู้จัก, ที่เที่ยว โพธาราม ราชบุรี
เที่ยวโพธารามไปเช้าเย็นกลับ ชิมอาหารในร้านที่คนพื้นถิ่นรู้จัก แต่โซเชียลยังไม่รู้จัก, ที่เที่ยว โพธาราม ราชบุรี

มาที่เป็นชื่อเสียงของโพธาราม คือหนังใหญ่วัดขนอน ที่ห่างจากสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลองไปแล้วไม่เกิน 2 กิโลเมตร วัดขนอนมีกิตติศัพท์เรื่องอนุรักษ์หนังใหญ่ที่ยาวนานและครบสมบรูณ์ที่สุด ได้รับรางวัลต่างๆ นานาในฐานะผู้อนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมไทย แต่หนังใหญ่นั้นไม่ใช่นอนนิ่งๆ อยู่ในโรงเก็บ วัดขนอนสร้างโรงแสดงหนังใหญ่โอ่โถง ติดแอร์พร้อม แล้วจัดแสดงทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 10 โมงเช้า ให้ดูฟรี 

แต่ใครที่จะไปดูนั้นต้องมีความตั้งใจที่อยากดูจริงๆ หนังใหญ่เป็นศิลปะการแสดงเรื่องราว รามเกียรติ์ เหมือนกับโขน แต่เมื่อเปรียบเทียบกับโขนแล้ว โขนมีตัวแสดงเป็นคนเป็นๆ ใส่หัวโขน แสดงกริยาท่าทางชัดเจน ทั้งเครื่องแต่งตัวก็ระยิบระยับ โดยทั่วไปยังคิดหนักว่าจะดูดีหรือไม่ เอาง่ายๆ ว่าชวนคน 10 คนไปดูโขน จะมีกี่คนที่ยินดีไปดู 

สำหรับหนังใหญ่ก็เป็นเพียงแผ่นหนังฉลุลวดลายแบนๆ เชิดอยู่หลังฉากผ้ามีไฟส่องจะสนุกอย่างไร นี่แหละที่ต้องเตรียมตัว มีความพร้อมที่จะดู ที่แนะนำให้ดูนั้นเอาสิ่งดีๆ ของหนังใหญ่ก่อน 

อย่างแรกเป็นศิลปะการแสดงเก่าแก่อย่างหนึ่งในวัฒนธรรมไทยแถมหาดูได้ยาก อย่างที่สองวัดขนอนเข้าใจที่หยิบเอา รามเกียรติ์ ตอนที่น่าสนใจ มาแสดงสั้นๆ เพียง 45 นาที ยังไม่ทันเบื่อ อย่างที่สาม เมื่อดูจริงๆ แล้วจะได้อรรถรสของการบรรเลงดนตรีไทย จังหวะจะโคนของดนตรีเป็นการดำเนินเรื่อง เพลงตอนทัพยักษ์ รับกับทัพลิง พัลวันพันตู เพลงสนุกเร้าใจ ทำให้แผ่นหนังแบนๆ สีดำสีเดียวแถมอยู่ในฉากเงามีชีวิตชีวาได้ 

อย่างที่สี่ เป็นสิ่งที่น่าปลื้มใจและภูมิใจว่า การพากษ์ การเชิดหนัง และการบรรเลงดนตรีไทยนี้ เป็นฝีมือเด็กๆ ทั้งสิ้น มีทั้งเด็กผู้หญิง เด็กผู้ชาย ต่างวัยกัน เป็นเด็กๆ ในโรงเรียนในละแวกวัดขนอน ที่ทั้งวัดและครูสอนก็ทุ่มเทฝึกสอน จนปล่อยให้เด็กๆ แสดงฝีมือได้เอง นั่นน่าชื่นชม ดูแล้วคุ้มค่ากับการดูหนังใหญ่

ออกจากวัดขนอน ย้อนทางเก่า จะมีป้ายบอกไปเขาช่องพรานและเขาชะงุ้ม ซึ่งที่นั่นเป็นที่เที่ยวต่อไป เดี๋ยวเดียวเจอวัดเฉลิมอาสน์ทางซ้ายมือ ไปอีก 200 เมตร มีบ้านริมทางเปิดเป็นร้านก๋วยเตี๋ยว สมัยก่อนชาวบ้านจะรู้จักกันว่า ก๋วยเตี๋ยวข้างโรงต่อเรือยาว เดี๋ยวนี้เรียกก๋วยเตี๋ยวป้าฮวย ป้าฮวยนั้นนั่งอยู่ในบ้านมานานนมแล้ว สื่อโซเซียลไปเอาชื่อมาพะเป็นยี่ห้อ

มีก๋วยเตี๋ยวหมู เย็นตาโฟ และก๋วยเตี๋ยวไก่ ก๋วยเตี๋ยวหมูเป็นแบบก๋วยเตี๋ยวไทย ที่ต้องกินหรือที่นิยมกินกัน เป็นเส้นเล็กน้ำต้มยำ ใส่หมูบด หมูต้มหั่น ใส่หัวไชโป๊วหั่น เต้าหู้หั่น กุ้งแห้งตัวเล็กๆ ถั่วลิสงบด พริกแห้ง รสก๋วยเตี๋ยวจะออกหวานนิดๆ ส่วนเย็นตาโฟ น้ำซอสนั้นมีส่วนผสมของเต้าหู้ยี้ด้วย ใส่ปลาหมึกสดบั้ง มีลูกชิ้น ทั้งสองอย่างอร่อย เป็นก๋วยเตี๋ยวหากินยาก เมื่อก่อนขายเรื่อยๆ เงียบๆ พอมีคนเอาไปแนะนำในสื่อโซเซียล คนเลยมากันครึกโครม แต่ก็ดีอย่างที่มีรถจอดหน้าบ้านเป็นที่สังเกตง่าย การแวะกินที่นี่เพื่อตุนใส่ท้องไว้ก่อนสำหรับไปเที่ยวศูนย์ศึกษาเขาชะงุ้ม

ศูนย์ศึกษาเขาชะงุ้มหรือเรียกเต็มๆ ว่า โครงการศึกษาวิธีฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ 

ที่นั่นมีเรื่องเดิมว่า ข้าราชการคนหนึ่งมีที่ดินอยู่ 695 ไร่ เคยปลูกมันสำปะหลัง อ้อย มานานมาก จนพื้นดินหมดสภาพ ปลูกอะไรไม่ได้แล้ว พื้นดินเป็นดินลูกรังแตกระแหง แถมยังขุดบ่อลึกเอาดินลูกรังไปขายอีกด้วย ก็ยกที่ดินนั้นให้รัชกาลที่ 9 ต่อมาก็มีราษฎรคนอื่นๆ ก็ทูลเกล้าฯ ถวายเพิ่มเติม จนมีเนื้อที่ทั้งหมด 869 ไร่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับไว้ แล้วเสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรเมื่อ พ.ศ. 2529 ทรงมีพระราชดำริว่าให้ป่าปลูกป่าเอง เมื่อนานๆ เข้าพื้นที่ดินมันค่อยๆ ฟื้นสภาพ มีหญ้า มีวัชพืช มีพืชล้มลุก การทับถมมีขึ้นเรื่อยๆ ฝนตกเมื่อพื้นดินชุ่มฉ่ำ ต้นไม้สูงๆก็เกิดขึ้นเอง ใบไม้แห้งๆ ร่วงหล่น ย่อยสลาย กลายเป็นปุ๋ยธรรมชาติ ต้นไม้มีมากขึ้นเป็นทวีคูณ พอเริ่มแน่นความชุ่มชื้นก็กลับคืนมาจนเป็นป่าขึ้นมา 

เที่ยวโพธารามไปเช้าเย็นกลับ ชิมอาหารในร้านที่คนพื้นถิ่นรู้จัก แต่โซเชียลยังไม่รู้จัก, ที่เที่ยวโพธาราม ราชบุรี

ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรอีกหลายครั้ง ตอนนี้มีโครงการปลูกต้นไม้ยืนต้นที่ได้ประโยชน์และทนทาน มีไผ่ มะขาม มีแปลงทดลองปลูกหญ้าแฝก โดยรวบรวมสายพันธุ์หญ้าแฝกเพื่อศึกษาความลึกของรากที่สามารถป้องกันการทลายของหน้าดิน มีแปลงพืชไร่ พืชสวน นาข้าว เลี้ยงสัตว์ ระบบนิเวศความเป็นป่านั้น มีการเอื้อหนุนกัน มีป่าก็มีสัตว์อาศัยต้นไม้ ต้นไม้ก็อาศัยสัตว์ 

เดี๋ยวนี้ศูนย์ศึกษาเขาชะงุ้มเป็นป่า มีทางวิ่งชมรอบๆ ร่มรื่นและเย็นตา บ่อลูกรังกลายเป็นอ่างเก็บน้ำเขาชะงุ้ม ด้านหน้าปลูกต้นปอเทืองเต็มเป็นทุ่ง ตรงนั้นจะถูกใจคุณผู้หญิงทุกวัยที่เอาตัวแหวกเข้าไปยืนถ่ายรูปกลางทุ่งสีเหลืองของปอเทือง อีกด้านมีซุ้มขายผลิตผลการเพาะปลูก หน้าไหนมีอะไรก็เอาออกมาขาย โดยสรุปแล้วเป็นสถานที่ต้องมาเที่ยว มาดู สิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงทำไว้ให้ศึกษา ที่น่าไปดูอย่างยิ่งเป็นหน่วยราชการ ที่ปล่อยให้มีการบุกรุกที่ดินสาธารณะ แม้กระทั่งป่าสงวนฯ ก็ยังถูกบุกรุก ไปยึดคืนเอามาแล้วให้ป่าปลูกป่าให้หมด

มาเป็นเรื่องกินบ้าง โพธารามนั้นโด่งดังเจ้าตำรับเนื้อต้มบ้านสิงห์ เมื่อก่อนต้องไปกินที่บ้านสิงห์ เดี๋ยวนี้ไม่รู้ว่าเนื้อต้มบ้านสิงห์จริงๆ อยู่ตรงไหน ทุกคนเป็นเนื้อต้มบ้านสิงห์หมด ทั่วราชบุรีก็มีหลายเจ้า ศาลายาก็มี นครนายก โคราช ภูเก็ต ก็มีหมด ฉะนั้นใครชอบที่ไหน ฝีมือใครดีกว่ากันหรือไม่ อันนี้ต้องว่ากันไป 

เอาร้านที่ยังมีอยู่ในโพธารามดีกว่า ที่แนะนำนั้นเป็นร้านง่ายๆ ซุกซ่อนอยู่บ้าง โพธารามนั้นเคยมีชื่อเสียง มีร้านทำบะหมี่ไข่ ที่นวด ขี่ ขย่ม ด้วยท่อนไม่ไผ่ มีอยู่หลายร้าน ร้านก๋วยเตี๋ยวจากที่อื่นๆ ก็มาเอาบะหมี่จากที่นี่ไปใช้ ร้านหยูไฮ่ก็เป็นร้านหนึ่งที่ทำบะหมี่ไข่ ร้านดั้งเดิมเป็นห้องแถวไม้อยู่ในซอยศรีสวัสดิ์ ด้านปลายของย่านเก่าหน้าเมือง ร้านนี้ขายก๋วยเตี๋ยวเป็ดด้วย บะหมี่ไข่จะซื้อกลับบ้านก็ได้ รู้สึกว่าถุงละ 38 บาท ก๋วยเตี๋ยวเป็ดของร้านนี้อร่อย ตอนหลังน้องชายไปเปิดในถนนเชิดชัย ตรงข้ามวิกครูทวี ชื่อร้านหยูไฮ่ 2 ขายก๋วยเตี๋ยวเป็ด ข้าวหมูแดง หมูกรอบ หมูสะเต๊ะ

 มีอีกร้านชื่อโอชา ตั้งหลักง่ายๆ ก่อนจะข้ามทางรถไฟมีทางซ้ายมือไปโรงพยาบาลโพธาราม ผ่านไฟแดงแรกไปแล้ว เมื่อถึงไฟแดงที่สองก็เลี้ยวซ้าย มีตึกแถวติดต่อเป็นแนว ร้านโอชาอยู่ประมาณกลางๆ ทางซ้ายมือ จะไม่ค่อยเห็นเพราะว่ามีต้นไม้บัง ร้านนี้เปิดเที่ยงตรง ไป 11.45 น. ก็ยังไม่ขาย คนขายเป็นเจ๊สามคน รูปร่าง หน้าตาเหมือนกัน แถมไม่ยิ้มทั้งสามคน ไปบอกก่อนว่าจะเอาอะไรก็ไม่ได้ ถึงคิวจะมาถามเอง

มีข้าวหมูแดง หมูกรอบอร่อย น้ำราดหมูแดงสีแดงๆ ตามสไตล์ราชบุรี นครปฐม ต้องขอต้นหอมกินด้วยจึงครบถ้วน บะหมี่ เกี๊ยว หมูแดง หมูกรอบ อร่อย กินอย่างแห้งก็ยอด ที่น่ากินเป็นเกี๊ยวแห้ง หมูกรอบ ต้องขอถั่วงอกมากๆ ด้วย บางวันจะมีกากหมูใส่ถุงขาย ทอดมาใหม่ๆ ถ้ามีต้องรีบซื้อ เอามาใส่ก๋วยเตี๋ยวกินที่บ้านในวันหลัง หรือเอาไปผัดพริกขิงกากหมู

อีกร้านต้องไปที่เจ็ดเสมียน ริมถนน เยื้องกับวัดเจ็ดเสมียน ห่างจากทางรถไฟนิดเดียว เป็นร้านอาหารตามสั่ง ที่รู้จักกันจะเรียกว่าร้านลุงเสาร์ ทำกันอยู่สองคนผัวเมีย ลุงเสาร์เป็นคนปักษ์ใต้ ส่วนเมียเป็นคนราชบุรี รายการที่ลุงเสาร์ทำมีไก่ต้มขมิ้น คั่วกลิ้งหมู ปลาดุกหรือปลาไหลผัดเผ็ด ส่วนเมียทำหลายอย่างจะเอาอะไรได้ทั้งนั้น ขายตั้งแต่เช้าพอใกล้เที่ยงหลายอย่างอาจจะมีไม่ครบ เป็นร้านที่คนพื้นถิ่นรู้จัก ดียังไม่มีสื่อโซเซียลแนะนำ 

อีกร้านหนึ่งต้องออกจากโพธาราม จะไปราชบุรี แต่ต้องวิ่งเส้นใน สังเกตเห็นทางรถไฟไปเรื่อยๆ จากโพธาราม 3 – 4 กิโล จะเห็นศาลาที่พักริมทาง และสะพานเตี้ยๆ ก่อนถึงสะพานมีป้ายบอกว่า คลองวัดโพธิ์เจริญ ต้องเลี้ยวซ้ายก่อนถึงสะพาน มีร้านที่ไม่เหมือนร้าน เพราะหันหลังร้านออกถนน โต๊ะ เก้าอี้ จะหันไปหาคลอง ชื่อล้านนี้ ที่ต้องกินมีหอยทอดกระทะร้อน หอยบางวันก็ใหญ่ บางวันก็เล็ก ขึ้นอยู่ว่าไปได้ขนาดไหนมา แต่ไม่ว่าเป็นหอยขนาดไหน อร่อยทั้งนั้น ถ้าอยากกินข้าวก็มีข้าวผัดแกงเขียวหวานแห้ง แล้วต้องสั่งไก่ต้มข่ามาด้วย ล้านนี้เสาร์-อาทิตย์ ยังขาย จะหยุดวันพระเท่านั้น

เที่ยวโพธารามไปเช้าเย็นกลับ ชิมอาหารในร้านที่คนพื้นถิ่นรู้จัก แต่โซเชียลยังไม่รู้จัก, ที่เที่ยวโพธาราม ราชบุรี
เที่ยวโพธารามไปเช้าเย็นกลับ ชิมอาหารในร้านที่คนพื้นถิ่นรู้จัก แต่โซเชียลยังไม่รู้จัก, ที่เที่ยวโพธาราม ราชบุรี

นี่เป็นที่เที่ยวแบบเมืองรอง ของกินก็แบบรองๆ ไปแล้วไม่ชอบก็ไม่เป็นไร เพราะเมื่อเป็นรองก็ไม่ได้คาดหวังอยู่แล้ว แต่ถ้าชอบก็ถือว่าฟลุก วันหน้าวันหลัง มาใหม่เท่านั้นเอง

Writer & Photographer

Avatar

สุธน สุขพิศิษฐ์

ศิลปะ-ดนตรี-อาหาร ที่มีอยู่ในโลกนี้ ไม่มีพรมแดน ไม่มีภาษา ไม่มีการเมือง ไม่มีการกีดกัน ไม่มีรวยหรือจน เข้าถึงง่าย มีความสุขเท่าเทียมกัน เอาสามอย่างเท่านี้ก็พอ