The Cloud x OKMD

1
ความฝันของหญิงสาวคนรักที่ผมมาสร้างทำและดูแล

ร้านหนังสือฟิลาเดลเฟียคือฝันของผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งเกิดจากความฝังใจในวัยเด็กที่ได้ไปเรียนโรงเรียนประจำจังหวัดแล้วเกิดความแปลกเปลี่ยวไม่มั่นใจ ทั้งจากความเป็นเด็กบ้านนอก ความอัตคัดขัดสน แต่สิ่งเหล่านี้ได้รับการโอบกอดปลอบโยนจากร้านหนังสือเช่าข้าง ๆ โรงเรียน เธอใช้โลกหนังสือหลบเร้นและป้องกันตัวเองจากความแปลกเปลี่ยวนั้น เงินค่าขนมถูกนำมาเป็นค่าเช่าหนังสือตลอดการเรียนมัธยม จนกระทั่งไม่มีหนังสือให้เช่ากลับบ้านอีกแล้ว

และเมื่อมีร้านหนังสือชั้นนำ (ในยุค 90) มาเปิดแถวนั้น เธอก็เข้าไปอ่าน (แน่ล่ะ เธอไม่มีเงินซื้อแบบด่วน ๆ ถ้าอยากได้ก็ต้องเก็บเงินหลายเดือนจึงจะพอค่าหนังสือสักเล่ม) แต่ถูกไล่ทั้งจากข้อความ “ไม่ซื้อห้ามแกะ” ทั้งจากสายตาจับผิดของเจ้าของร้านและการเดินตามประกบของพนักงาน และคอยไล่ถ้าเห็นคนนั่งหรือยืนอ่านนาน ๆ เธอไม่เข้าใจว่าทำไมความมีเสน่ห์ของร้านหนังสือที่เมื่อเข้าไปแล้วมันเหมือนอยู่อีกโลกหนึ่ง โลกที่มีหนังสืออยู่รอบตัวเรา ความเย้ายวนของเรื่องราวที่เก็บซ่อนในหนังสือ และจินตนาการที่ฟุ้งอยู่ในทุกช่องไฟในแถวอักษรเหล่านั้นจึงมักถูกทำลายไปด้วยลักษณะกีดกันกันแบบนี้

เมื่อเรียนจบทำงาน มีโอกาสไปเที่ยวตามเมืองต่าง ๆ เธอก็พบว่าตัวเองชอบเข้าร้านหนังสือ ด้วยความที่หลงรักกลิ่นชาและกาแฟและชอบกินขนม เธอจึงฝันถึงการมีร้านหนังสือที่อบอวลไปด้วยกลิ่นหอมของชาและกาแฟที่จะหย่อนกายลงผ่อนพัก หลังกลับจากงานและในวันหยุดจะได้ชิลล์อยู่ในนั้นตลอดวัน

ที่ตั้งใจที่สุดคือจะไม่มีใครถูกกีดกันออกจากร้าน ไม่ว่าจะยากไร้หรือร่ำรวย มือทุกมือต้องแกะพลาสติกที่ห่อหนังสือได้ และจะไม่มีมือใดถูกดึงกลับจากการเปิดหน้าหนังสืออ่าน ก้นทุกคนย่อมมีสิทธิ์นั่งลงในมุมใดมุมหนึ่งของร้าน เพื่อที่จะอ่านหนังสือในมือโดยไม่มีข้อจำกัดด้านเวลา และไม่มีการตำหนิหรือว่ากล่าวถ้าเขาหรือเธอไม่ซื้อหนังสือเล่มนั้น ขอเพียงแต่อ่านมันอย่างถนอม ไม่พับ ไม่กางจนหนังสือแตกชำรุด

ฟิลาเดลเฟีย ร้านหนังสือที่เป็นทั้งบ้านและความฝันของคนรัก กลางสวนดอกไม้ที่อุบลฯ
ฟิลาเดลเฟีย ร้านหนังสือที่เป็นทั้งบ้านและความฝันของคนรัก กลางสวนดอกไม้ที่อุบลฯ

“แบบนี้มันก็ให้อารมณ์เหมือนอยู่บ้านสิ” ผมเย้าด้วยความรู้สึกของคนที่เคยเรียนภูมิสถาปัตย์มาบ้าง และในความที่เป็นคนรักหนังสือเหมือนกัน

“มันควรเป็นแบบนั้น” เธอยืนยัน

นั่นแหละ ผมจึงใช้ความที่เป็นคนรู้จักและสะสมหนังสือและร่ำเรียนมาทางพืชสวน (ไม้ดอกไม้ประดับ) และจัดสวนมาออกแบบฟิลาเดลเฟียให้กลายเป็นร้านหนังสือในสวนดอกไม้ (ผมเพิ่มเปลในสวนให้ด้วย) ให้อารมณ์ความรู้สึกภายในร้านเหมือนอยู่บ้าน (ผมเพิ่มที่นอนอ่านหนังสือให้ด้วย) หรือให้ความรู้สึกเหมือนมาเยี่ยมบ้านเพื่อน/พี่/น้องหรือญาติที่ห้องรับแขกเต็มไปด้วยหนังสือ โดยเราเสิร์ฟชาเป็น Welcome Drink และบอกกับทุกคนที่มาว่า “Make yourself at home”

ฟิลาเดลเฟีย ร้านหนังสือที่เป็นทั้งบ้านและความฝันของคนรัก กลางสวนดอกไม้ที่อุบลฯ

2
สตอรี่และตัวตนของเจ้าของร้าน คือเสน่ห์ของร้านหนังสืออิสระ

ร้านเสร็จปลาย พ.ศ. 2551 แต่ผมเลื่อนไปเปิดแบบเป็นทางการในวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2552 เพื่อรำลึกถึงวันแต่งงานกับหญิงสาวคนรักเมื่อ 2 ปีก่อนหน้า ซึ่งถ้าไม่มีเธอแล้ว ฟิลาเดลเฟียก็ไม่อาจเกิดมีขึ้นได้

เราสร้างฝันนี้ด้วยเงินกู้สหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขของเธอ 2 แสนบาท เช่าห้องแถวที่มีแต่หลังคา และสร้างมันขึ้นมาให้เป็นร้านหนังสือ ผมลาออกจากงานกองบรรณาธิการนิตยสารทางเลือกฉบับหนึ่งในกรุงเทพฯ โดยมีเงินเดือนสุดท้าย 1 หมื่นบาทมาด้วย และหนังสือจากสำนักพิมพ์สวนเงินมีมาและเคล็ดไทย (สายส่ง) ผ่านน้องคนหนึ่งที่เคยเรียนและทำกิจกรรมด้วยกันซึ่งทำงานที่นั่น โดยไม่มีเงินวางมัดจำ ดังนั้นหนังสือในร้านตอนนั้นจึงมีแค่ 4 ชั้น ยาวชั้นละ 3.5 เมตร

เราเลี้ยงร้านด้วยเครื่องชง!

นักเขียนหนุ่มที่เปิด ฟิลาเดลเฟีย ร้านหนังสือตามความฝันของคนรัก จนกลายมาเป็นร้านและบ้านกลางสวนดอกไม้

นั่นเป็นความปวดร้าวลึก ๆ เพราะเราไม่อยากได้ชื่อว่าเปิดร้านหนังสือให้เป็นพร็อพ เพื่อจะขายเครื่องชงและเครื่องเคียงต่าง ๆ แต่ก็นั่นแหละ ผมให้สัญญากับคนรักว่า ความฝันนี้อย่างน้อยที่สุดผมจะทำให้มันเลี้ยงตัวเองได้ ไม่ให้มันกัดกินเรา แต่ก็ไม่รับปากว่ามันจะปันผลกำไรให้เราตอนไหน ดังนั้นในช่วงแรกนี้ เรา (ผมกับเธอ) ก็หารายได้ของตัวเอง เธอเป็นพยาบาล ผมเขียนหนังสือ (มีคอลัมน์เล็ก ๆ และรับจ๊อบงานเขียน) โดยมีร้านหนังสือเป็นออฟฟิศ (คนรักบอกว่า คร้านตอบสังคมว่าแฟนทำงานอะไร เพราะคนส่วนใหญ่ไม่รู้จักนักเขียน) และเลี้ยงลูกในร้านหนังสือ (ไม่ให้เข้าเนอสเซอรี่)

ช่วงแรก ๆ ที่หนังสือยังขายได้ไม่ดีนัก ผมก็คร้านตอบคำถามผู้คน เลยบอกว่าผมเปิดร้านหนังสือประหนึ่งเป็นห้องสมุดให้ลูก คือเราไม่มีเงินซื้อหนังสือดี ๆ ให้ลูกได้ทุกเล่มตามที่เราและลูกต้องการ ก็อาศัยทำร้านหนังสือรับหนังสือเข้าร้าน เอามาให้ลูกได้อ่านได้ดู เมื่อขายไม่ได้ (หลังได้อ่านแล้ว) ก็ส่งคืนสายส่ง

ถึงที่สุดแล้วผมเรียนรู้ว่า ไม่ว่าจะอย่างไร ถ้าเราซื่อสัตย์และมั่นคงในวิถีของตัวเองแล้ว เราก็ไม่สามารถเป็นอื่นไปจากตัวตนเราได้

ร้านหนังสือฟิลาเดลเฟียก็เช่นกัน ด้วยความที่ผมเป็นนักกิจกรรมมาแต่เป็นนักศึกษา ทำงานเคลื่อนไหวเรื่องศิลปวัฒนธรรม (การอ่าน/เขียน) การเมืองและสิ่งแวดล้อม เมื่อมาทำร้านหนังสือมันจึงกลายเป็นจุดพักของนักเดินทาง นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว แล้วกิจกรรมหลักของร้านก็คือการตั้งวงเสวนา เพียงแต่เราจะไม่เริ่มต้นบทสนทนาด้วยคำถามแรกว่า “มีแรงบันดาลใจอะไรในการเขียนหนังสือเล่มนี้” เพราะนั่นเป็นคำถามที่เราได้ยินมาตลอด ผ่านไป 30 – 40 ปี เราก็ยังถามคำถามเดิม 

นักเขียนหนุ่มที่เปิด ฟิลาเดลเฟีย ร้านหนังสือตามความฝันของคนรัก จนกลายมาเป็นร้านและบ้านกลางสวนดอกไม้
นักเขียนหนุ่มที่เปิดร้านหนังสือตามความฝันของคนรัก จนกลายมาเป็นร้านและบ้านกลางสวนดอกไม้

วงเสวนาของฟิลาเดลเฟียจึงเริ่มจากการหยิบยกประเด็นชีวิตและสังคมเชื่อมโยงกับหนังสือ หรือประเด็นหลักในหนังสือที่เชื่อมโยงกับประเด็นทางสังคม และไม่เน้นการสื่อสารทางเดียวของผู้บรรยายหรือวงเสวนา โดยไม่ให้เวลานานมากนักและให้พูดภาพรวม แต่จะให้ความสำคัญกับการพูดคุยถกเถียงอย่างใกล้ชิดกันหลังการบรรยายหรือวงเสวนา ซึ่งจะได้แพสชันมากกว่า

เราเรียนรู้ว่าเวลาที่ผ่านไปนั้น นอกจากได้เพิ่มพูนมิตรสหายของร้าน ช่วยกระจายชื่อเสียงออกไปผ่านคำบอกเล่า ยังสะสมเรื่องราวมากขึ้น ๆ พร้อม ๆ กับปริมาณที่มากขึ้น ๆ ของหนังสือในร้าน และเราก็ถึงเวลาลดบทบาทของเครื่องชง (ซึ่งจะว่าไปแล้ว พอปลายปีที่ 2 ยอดก็ตกจากวันละ 30 – 40 แก้ว เหลือไม่ถึง 10 แก้ว เพราะคนเปิดร้านกาแฟในรัศมี 1 กิโลเมตรจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รวมแล้วมากกว่า 30 ร้าน) จนกระทั่งทุกวันนี้เรามีแค่กาแฟเมนูร้อนอยู่ 3 สูตรหลักเท่านั้น ยกเว้นพิเศษจริง ๆ จึงจะทำอากาเป กาแฟสูตรพิเศษของเรา

แต่เราเจอปัญหาใหม่!

แต่นั่นจะกลายเป็นจุดพลิกเปลี่ยนของฟิลาเดลเฟีย จนได้มาสร้างร้านใหม่เป็นหมุดหมายอย่างในปัจจุบัน และที่สำคัญคือร้านหนังสือจะเริ่มให้ดอกผลตั้งแต่นั้น

นักเขียนหนุ่มที่เปิดร้านหนังสือตามความฝันของคนรัก จนกลายมาเป็นร้านและบ้านกลางสวนดอกไม้

3
ชะตากรรมของร้านหนังสืออิสระ!

“คุณอยากทำร้านหนังสือไปอีกนานเท่าไร” ผมไม่คิดว่าจะได้ยินคำถามนี้จากหญิงสาวคนรัก ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของความฝันในวันที่เจ้าของห้องเช่าเริ่มเยอะขึ้นเรื่อย ๆ

เมื่อผมรู้ว่าหญิงสาวคู่ทุกข์ไม่เคยอยากจบความฝันนี้ ผมจึงบอกเธอว่า โดยส่วนตัวผมมีความสุขที่เมื่อตื่นมาทุก ๆ เช้าได้อยู่กับชีวิตที่ปรารถนา คือการอ่านและเขียนหนังสือในที่ที่มีสิ่งที่รักคือหนังสือมากมายแวดล้อม ในกลิ่นหอมของกาแฟ ในความละมุนของชา ได้มีชีวิตอยู่บนแผ่นดินอีสาน และมีคนคอหนังสือเดียวกันผ่านมาได้พูดคุยผูกพัน (แน่ล่ะ หนังสือในร้านมันคัดกรองคนที่จะเข้ามา)

“งั้นดีเลย เราไปสร้างบ้านกัน เป็นบ้านเราจริง ๆ ทำร้านหนังสือที่นั่นด้วยเลย หารายได้เพิ่มอีกหน่อย เราก็ผ่อนบ้านได้แล้ว เช่าเขาไปตลอดเท่ากับหาเงินให้เขา ถ้าผ่อนบ้าน วันหนึ่งบ้านก็เป็นของเรา” แล้วเธอก็ไปทำเรื่องกู้สร้างบ้าน

สาบาน! ชั่วชีวิตผมไม่เคยมีไอเดียแบบนี้เลย แต่อาจเพราะพ่อผมตายตั้งแต่ผมเด็กมาก ๆ จึงโตมากับแม่ ผมจึงค่อนข้างไว้วางใจเรื่องความคิดถึงความมั่นคงของผู้หญิง พอดีกับจังหวะนั้นเริ่มเข้าสู่ยุค Facebook ผมลองลงขายหนังสือในหน้าเฟซบุ๊กตัวเอง มันก็พอขายได้ เป็นการเพิ่มรายได้จากหน้าร้าน

แต่เมื่อต้องย้ายร้าน ผมจึงเคลียร์หนังสือคืนสายส่ง สิ่งที่ผมตกใจมาก ๆ คือเงินที่ได้จากสายส่ง 25 เปอร์เซ็นต์ มันน้อยเหลือเกิน ยกตัวอย่างง่าย ๆ จากร้านปัจจุบัน ผนังที่ใหญ่สุดกว้าง 3.5 เมตร มีชั้นหนังสืออยู่ 8 ชั้น ถ้าหนังสือที่รับจากสายส่งเต็มชั้นราคารวม (จากราคาปก) ตกประมาณ 250,000 บาท ถ้าตีเป็นจำนวนเล่ม ก็ตกที่ชั้นละประมาณ 160 – 165 เล่ม (หนาเฉลี่ยประมาณเล่มละ 200 หน้า) รวมทุกชั้นก็ประมาณ 1,280 – 1,300 เล่ม ตีไปที่เล่มละ 200 บาท ทั้งหมดในนั้น ซึ่งถ้าเรารับหนังสือจากสายส่งในระบบฝากขาย เราจะได้ส่วนแบ่งที่ 25 เปอร์เซ็นต์ พูดง่าย ๆ ว่า ถ้าเราทำยอดได้ 1 แสน เราจะได้ 25,000 บาท อีก 75,000 บาทต้องคืนให้สายส่ง

นักเขียนหนุ่มที่เปิดร้านหนังสือตามความฝันของคนรัก จนกลายมาเป็นร้านและบ้านกลางสวนดอกไม้

นั่นหมายความว่า ถ้าเราอยากได้เงิน 25,000 บาท/เดือน เราต้องขายหนังสือให้ได้ 500 เล่ม/เดือน หรือเฉลี่ย 16 เล่ม/วัน ดูจำนวนเล่มอาจจะไม่มาก แต่ในประเทศที่ฐานคนอ่านหนังสือไม่มากนัก และไม่ต้องพูดถึงคนที่มีกำลังซื้อ มันก็เป็นเรื่องยากอยู่พอสมควร คิดง่าย ๆ อย่างเราเป็นคนอ่านหนังสือและซื้อหนังสือเป็นประจำ เราก็ยังไม่สามารถซื้อหนังสือได้ทุกวัน ส่วนหนึ่งเพราะว่าเราไม่สามารถอ่านหนังสือจบเล่มทุกวันได้

แต่เอาล่ะ เพื่อไม่ให้ภาพฝันมันโหดร้ายเกินไป ผมตีให้ว่า ถ้าเราขายหนังสือทั้งแผงนั้นได้หมดทุกเล่มภายใน 1 ปี ซึ่งจะเป็นเงินทั้งหมด 250,000 บาท แต่เราจะได้เงินเพียง 62,500 บาท (25 เปอร์เซ็นต์) ส่วนสายส่งหนังสือจะได้ 187,500 บาท (75 เปอร์เซ็นต์) ถามว่ามีใครอยู่ได้ด้วยเงิน 62,500 บาท/ปี นั่นคือเดือนละ 5,208 บาท หรือวันละ 171 บาท หรือต่อให้เราขายหนังสือบนผนังนั้นได้หมดทุกเล่ม 2 ครั้งต่อปี เราก็จะได้เงินค่าหนังสือสือ 500,000 บาท แต่เราจะได้ส่วนแบ่ง 125,000 บาท/ปี หรือเดือนละ 10,400 บาท ถ้าคิดเป็นวัน ก็วันละ 346 บาท (เกินค่าแรงขั้นต่ำมา 46 บาท) แต่สายส่งหนังสือจะได้ส่วนแบ่ง 375,000 บาท ต่างกันถึง 3 เท่า ทั้งที่ใช้พื้นที่ร้านของเรา!

นักเขียนหนุ่มที่เปิดร้านหนังสือตามความฝันของคนรัก จนกลายมาเป็นร้านและบ้านกลางสวนดอกไม้

ชะตากรรมนี้ไม่ต่างจากชาวนาไทย ที่ข้าวเปลือก 1 ตันหรือ 1,000 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 5 – 6 บาท ก็จะได้ 5,000 – 6,000 บาท แต่ข้าวเปลือก 1 ตันที่โรงสีรับซื้อไปในราคาที่ว่า พอสีออกมาเป็นข้าวเกรด A จะได้ข้าวสารประมาณ 500 – 600 กิโลกรัม แต่ขายกิโลกรัมละ 35 – 40 บาท ได้เงิน ประมาณ 17,500 – 24,000 บาท นั่นหมายความว่าถ้าอยู่ในระบบนี้ โรงสีหรือพ่อค้าข้าวจะได้มากกว่าชาวนา 4 เท่า ทั้ง ๆ ที่ข้าวมาจากที่ดินและแรงงานของชาวนา!

เมื่อมาทำร้านใหม่ ผมจึงวางแผนจะปลดแอกจากสายส่งหนังสือ โดยการค่อย ๆ ลดพื้นที่จำนวนหนังสือของสายส่งลงทุก ๆ ปี เพื่อก้าวไปให้ถึงจุดที่ 70 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ภายในร้านเป็นหนังสือของร้าน (ที่หาซื้อขาดมาโดยคัดเลือกจากรสนิยมและมาตรฐานของผม) พื้นที่อีก 10 เปอร์เซ็นต์เป็นของสำนักพิมพ์เล็ก ๆ ที่รักและนับถือเกื้อกูลกันมา และอีก 20 เปอร์เซ็นต์เป็นพื้นที่ของอีสาน ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรมสมัยใหม่ (เน้นผลงานของนักเขียนอีสานอิสระที่ปฏิเสธส่วนกลาง โดยการพิมพ์งานเองและไม่ถูกพูดถึง) สารคดี วิชาการ และวรรณคดีอีสานและภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งเป็นจุดเด่นของร้าน

ฟิลาเดลเฟียอยู่ที่เก่า 4 ปี พอย่างเข้าสู่ปีที่ 5 เราก็มาสร้างร้านใหม่เสร็จปลาย พ.ศ. 2556 พอปีรุ่งขึ้น เกิดรัฐประหาร ทุกอย่างก็พัง!

4
วันนี้ของฟิลาเดลเฟีย

ด้วยรูปทรงของร้านและการออกแบบให้ชั้นบนเป็นห้องสมุดและแกลเลอรี่ และแบ่งครึ่งหนึ่งเป็นที่พัก 2 ห้อง ทุกอย่างกำลังจะไปได้ดี โลกของเฟซบุ๊กทำให้เราประชาสัมพันธ์ร้านได้โดยตรง และลูกค้าก็เข้าถึงเราได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังสร้างฐานลูกค้าได้ดี การปลดแอกจากสายส่งน่าจะสำเร็จได้ไม่เกินสิ้นปีที่ 2 

แต่เมื่อเกิดรัฐประหาร พ.ศ. 2557 และเรายืนยันต่อต้านชัดเจน (ผมแสดงจุดยืนตั้งแต่ พ.ศ. 2553 แล้ว ด้วยความที่รับไม่ได้กับการล้อมฆ่าประชาชนแดง ก็ทำให้กิจกรรมของร้านเข้มข้นขึ้นมากในทางการเมืองและถูกโจมตีจากอีกฝ่ายอยู่บ้าง) โดยปฏิกิริยาตอบโต้แรกของเราคือ โละหนังสือของนักเขียนนักวิชาการที่ไม่เลือกข้างประชาธิปไตยออกจากร้านให้หมด สิ่งที่ตามมาคือ อยู่ ๆ เฟซบุ๊กเราก็ถูกรายงานฐานข้อมูลหายไปหมด ขอคืนไม่ได้ และลูกค้าที่ไม่ชอบเรื่องการเมืองหรือมีจริต (ที่ตอนหลังมาเรียกสลิ่ม) หายไปเกือบจะ 100 เปอร์เซ็นต์ บวกรวมกับในยุค คสช. นั้นเศรษฐกิจค่อนข้างย่ำแย่ ทุกคนล้วนได้รับผลกระทบ ถือว่าอยู่ในช่วงยากลำบากที่สุดช่วงหนึ่ง นั่นหมายความว่ากำหนดเวลาของการปลดแอกจากสายส่งต้องเลื่อนออกไป

แต่เราก็ได้เรียนรู้ว่า ไม่ว่าจะถูกคุกคามจากฝ่ายอำนาจเท่าไร แต่เมื่อเรายังมั่นคงในจุดยืน เราก็ได้พบเพื่อนใหม่ ๆ ที่เดินทางเข้ามาหา ไม่นับเพื่อนแท้ที่ในยามยากก็ไม่เคยทอดทิ้งกันซึ่งก็มีอยู่ไม่ใช่น้อย

นักเขียนหนุ่มที่เปิดร้านหนังสือตามความฝันของคนรัก จนกลายมาเป็นร้านและบ้านกลางสวนดอกไม้

ทุกอย่างเริ่มต้นขึ้นใน พ.ศ. 2559 เมื่อ อาจารย์วรรณวไล อธิวาสน์พงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่ร่วมร่างหลักสูตรนักเรียนโครงการ วมว. (ม.4 – 6) ศูนย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีกิจกรรมให้ทุนนักเรียนปีละ1,000 บาท/คน ให้ซื้อหนังสืออ่านและนำเสนอทั้งในห้องเรียนและในเพจหนอนหนังสือของโครงการ ที่สำคัญ อาจารย์ใช้ร้านหนังสือฟิลาเดลเฟียเปิดกิจกรรมนี้ในรุ่นแรก มันเลยกลายเป็นธรรมเนียมว่านักเรียนโครงการ วมว. ต้องมาซื้อหนังสือที่นี่ พูดคุยแลกเปลี่ยนจนผูกพันมาทุก ๆ รุ่น

ผมปลดแอกจากสายส่งได้เมื่อนักเรียนโครงการ วมว. รุ่นแรกจบ และนับจากวันนั้น ความฝันของผู้หญิงของผมก็เริ่มให้ดอกผลกำไร เหมือนต้นไม้ในสวนหน้าร้านที่โตให้ร่มกรองแดดให้ร้านไม่ร้อน และเชื้อเชิญนกมาร้องเพลงให้ฟัง เหมือนต้นดอกไม้ที่เริ่มให้ดอก และทำให้ผีเสื้อมาเป็นแขกประจำของบ้าน

เมื่อขบวนการประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่เริ่มต้นขึ้น ฟิลาเดลเฟียก็กลายเป็นแหล่งพบปะและซื้อหาหนังสือสายก้าวหน้าของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ตั้งแต่มัธยมต้นไปจนถึงนักศึกษามหาวิทยาลัย ถึงขนาดว่ามีบางช่วงที่ผมไม่มีหนังสือพอขายตามแรงปรารถนาที่จะอ่านของเยาวชนเหล่านี้ เช่นเดียวกับหนังสือเกี่ยวกับอีสานที่มีมาเท่าไรก็ขายหมด และนี่คือปัญหาล่าสุดของร้านหนังสืออิสระและเป็นปัญหาสำคัญ คือเราหาหนังสือดี ๆ ทั้งเก่าและใหม่ได้ยากขึ้นมาก พูดอีกแบบก็คือปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าหนังสือขายยากหรือขายไม่ได้ ผมขายได้ แต่ผมไม่มีหนังสือจะขาย

หลายต่อหลายคนที่เป็นคนอุบลฯ คนอีสานไปเรียนต่างถิ่นเดินทางกลับมาที่นี่ มาพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องของอีสานที่ผมศึกษามาตลอดชีวิต และเขียนลงในคอลัมน์ที่ The Isaan Record และที่เคยเขียนลงสื่อออนไลน์อื่น ๆ เพราะเขาและเธอไม่เคยได้รับรู้ข้อมูลแบบนี้เลย และบ่อยครั้งที่ผมต้องปิดร้านพาพวกเขาไปดูพื้นที่จริงของเรื่องราวต่าง ๆ

ผมและหญิงสาวคนรักพาฟิลาเดลเฟียเดินทางมาไกลแล้วนะ คุณเห็นความหวังเหมือนอย่างที่ผมเห็นไหม

นักเขียนหนุ่มที่เปิดร้านหนังสือตามความฝันของคนรัก จนกลายมาเป็นร้านและบ้านกลางสวนดอกไม้

หนังสือแนะนำ

1

เจ้าชายน้อย

นักเขียน : อังตวน เดอ แซงเต็กซูเปรี

นักแปล : อริยา ไพฑูรย์

สำนักพิมพ์ : สามสี

ราคา : 300 บาท

นักเขียนหนุ่มที่เปิดร้านหนังสือตามความฝันของคนรัก จนกลายมาเป็นร้านและบ้านกลางสวนดอกไม้

ที่ต้องให้ เจ้าชายน้อย เป็นหนังสือเล่มแรก นั่นเพราะว่าหนังสือเล่มนี้ทำให้คุณทอฟฟี่สนใจตัวผม ตอนที่เธอไปดูละครเวทีเรื่องนี้ที่โรงละครคณะศิลปศาสตร์ และได้ฟังผมพูดบนเวทีเสวนาหลังละครจบ และพอใครก็ตามที่ได้ฟังเรื่องราวความรักของผมกับผู้หญิงคนนี้ ซึ่งต่อมาจะเป็นเจ้าของความฝัน (ร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย) ก็มักจะซื้อหนังสือเล่มนี้มาฝากในทุก ๆ ภาษา ที่แปลเป็นไทยมีหลายสำนวนและพิมพ์กับหลายสำนักพิมพ์ต่างกรรรมต่างวาระ โดยส่วนตัวผมชอบสำนวนแปลของ อริยา ไพฑูรย์ (สนพ.สามสี ตุลาคม พ.ศ. 2537) และ สมบัติ เครือทอง (สนพ.ประพันธ์สาส์น เมษายน พ.ศ. 2535)

2

นิทานสังข์สินไซ

นักเขียน : จินดา ดวงใจ ปริวรรตจากอักษรธัมในใบลาน

จัดพิมพ์ : บริษัท ขอนแก่น คลังนานาธรรม จำกัด (พ.ศ. 2544)

ราคา : 250 บาท

นี่เป็นมหากาพย์โดยแท้ เทียบได้กับ รามายณะ และ โอดิสซี แต่ที่เท่คือเรียกตัวเองว่านิทาน (ดูบ้าน ๆ ออกจะกระจอกด้วยซ้ำในความรู้สึกของคนไทย แต่นั่นแหละคือความเหยียด และเมื่อผมเหลือบแลไปในวรรณคดีไทยแล้ว ผมยังไม่เห็นเรื่องไหนเทียบได้กับเรื่องนี้) นี่คือความน่าตื่นตาตื่นใจและความภาคภูมิของคนลาวลุ่มน้ำโขงทั้งสองฝั่ง

3

ผาแดงนางไอ่

จัดพิมพ์ : กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ โรงพิมพ์คุรุสภา

ราคา : 200 บาท

นักเขียนหนุ่มที่เปิดร้านหนังสือตามความฝันของคนรัก จนกลายมาเป็นร้านและบ้านกลางสวนดอกไม้

ผมชอบทุกสำนวน (ซึ่งออกมาจากการปริวรรตหรือมีต้นธารมาจากอักษรธัมในใบลาน) โดยเฉพาะฉบับที่เป็นหนังสือส่งเสริมการอ่าน ระดับมัธยมศึกษา กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2522 ที่มีนายสิริวัฒน์ คำวันสา เป็นผู้รวบรวมและเรียบเรียง 

ฉบับนี้ทำให้เห็นข้อสำคัญ 2 อย่าง คือในช่วง พ.ศ. 2517 – 2524 เป็นที่น่าสังเกตว่า ‘อีสาน’ ได้รับความสนใจจากส่วนกลางค่อนข้างสูง แต่ภายหลังสงครามเย็นสิ้นสุดลงก็เหมือนถูกหมางเมินทอดทิ้ง และในฐานะคนทำงานวรรณกรรม นิทานเรื่องนี้โดยเฉพาะตอนสุดท้ายที่ไม่ค่อยมีกล่าวถึงเวลาเอาไปแปลงเป็นสื่อศิลปะอย่างอื่น เช่น ละคร หมอลำ คือมันเป็นวรรณกรรมแบบสัจนิยมมหัศจรรย์ที่ตื่นตาตื่นใจและสนุกสุด ๆ เท่าที่เคยอ่านมา และถ้าใครทะลึ่งเอามาเขียนใหม่ โดยปรับภาษาให้เป็นสมัยใหม่เท่านั้น มันจะเป็นงาน Magical Realism ดี ๆ นี่เอง

4

นิทานพระยาคันคาก

เรียบเรียง : เตชวโร ภิกขุ (อินตา กวีวงศ์) น.ธ.เอก

จัดพิมพ์ : บริษัท ขอนแก่นคลังนานาธรรม จำกัด (พ.ศ. 2543)

ราคา : 150 บาท

นักเขียนหนุ่มที่เปิดร้านหนังสือตามความฝันของคนรัก จนกลายมาเป็นร้านและบ้านกลางสวนดอกไม้

นี่เป็นการต่อสู้กับ ‘แถน’ คนและเหล่าสรรพสัตว์ทุกประเภท เพื่อทวงความถูกต้อง สิทธิ์อันพึงได้ของตัวเองจากผู้ที่อยู่บนฟ้า เป็นสงครามสั่งสอนของภาคประชาชน แต่ความเท่ของวรรณกรรมหรือนิทานเรื่องนี้คือ ความไม่มีจริยธรรมแบบไทยหรือแบบพุทธ (แม้คนที่คัดลอกชั้นหลัง ๆ มาจะสวมจีวรเปิดหัวปิดท้ายให้บ้าง แต่ก็ไม่มิด) นั่นคือธรรมชาติของมนุษย์และความเลวแห่งสงครามและผู้ชนะ นั่นคือเมื่อมนุษย์และสรรพสัตว์รบชนะแถนบนฟ้าแล้ว ลูกเมียแถนก็ถูกเหล่ามนุษย์ข่มขืน และแย่งชิงเอาเป็นเมียต่อหน้าต่อตาแถนผู้ผัว

5

ฆาตกร และเรื่องสั้นอื่น ๆ

นักเขียน : วิทยากร โสวัตร

จัดพิมพ์ : จัดพิมพ์แบบไม่มี ISBN โดยร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย (พ.ศ.2562)

ราคา : 180 บาท

ไม่มีอะไรมากไปกว่า ผมก็แค่อยากขายหนังสือตัวเองครับ

ร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย

ที่อยู่ : 397 หมู่ 3 ตำบลเมืองศรีไค อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี 34190 (แผนที่)

โทรศัพท์ : 09 9474 2626

Facebook : ฟิลาเดลเฟีย ร้านหนังสือในสวนดอกไม้

เวลาทำการ : 10.00 – 22.30 น. (ปิดในวันที่มีธุระ โทรสอบถามก่อนมาได้)

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาร้านหนังสือเป็นแหล่งควมรู้สร้างสรรค์ โดยความร่วมมือของ The Cloud และ OKMD

Writer

Avatar

วิทยากร โสวัตร

เขาเป็นนักเขียน นักอ่าน นักขายหนังสือ และเป็นนักเล่านิทาน เขาจะมีอายุ 45 ปี ในปี 2022 ปัจจุบันอาศัยอยู่ในบ้านที่มีหนังสือนับหมื่นเล่ม กับผู้หญิง 3 คน และแมว 2 ตัว

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล