พูดถึงผัดกะเพราเจ้าดัง หนึ่งในร้านที่นึกถึงคงต้องมี ‘เผ็ดมาร์ค’
ร้านห้องเล็กๆ หน้าขนส่งเอกมัย ผัดทีละกระทะ มีแค่ 2 เตา
8 ที่นั่งที่เวียนกันอย่างกับเก้าอี้ดนตรี
ร้านนี้ไม่ได้มีชื่อเสียงแค่ในหมู่นักกินชาวไทย แต่มีนักชิมชาวต่างชาติแวะเวียนมาลองของรสเผ็ดสมชื่ออยู่เสมอ
ที่เห็นจะเยอะกว่าคนนั่งกินในร้าน ก็คือเหล่านักบิดเดลิเวอรี่ที่นั่งรอยืนรอกันแน่นขนัดหน้าร้าน
เผ็ดมาร์คเป็นผัดกะเพราที่คนส่วนใหญ่นิยมสั่งกลับไปกินที่บ้าน
ในขณะที่ COVID-19 พ่นพิษกับธุรกิจร้านอาหาร
เผ็ดมาร์คก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน แต่ที่น่าสนใจคือหลังจากเจอปัญหาไม่นาน เผ็ดมาร์คก็พาตัวเองกลับมาได้อย่างรวดเร็วและเหมือนจะยิ่งขายดีมากขึ้น
ผมได้คุยกับ ITAN หนึ่งในสี่หุ้นส่วนของร้าน
ITAN หรือ แทน-กิตติเดช วิมลรัตน์ เป็นนักชิมและนักวิจารณ์อาหารชื่อดัง
นอกเหนือจากนั้น เขายังเป็นนักธุรกิจและเป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจอาหารด้วย
เขาสร้างเผ็ดมาร์คร่วมกับเพื่อนอีก 3 คนคือ เทพ-พงศ์เทพ อนุรัตน์ นักแสดง นักชิม ที่เคยมาร่วมกันจัดพอดแคสต์รายการ ขอลายแทง ของ The Cloud มาร์ก วีนส์ (Mark Wiens) นักกินผู้โด่งดังไปทั่วโลก และ เชฟกิ๊ก-กมล ชอบดีงาม เชฟอาหารจีนเจ้าของร้านเลิศทิพย์
ช่างเหมาะเจาะที่ทั้งสี่คนมองเห็นเทรนด์เดลิเวอรี่ไว้ล่วงหน้า และเตรียมพร้อมเอาไว้ในยุคที่เดลิเวอรี่เฟื่องฟูที่สุดในประวัติศาสตร์
เรานั่งคุยเรื่องร้านเผ็ดมาร์คขณะที่วิกฤตกำลังเกิดขึ้นแบบยังมองไม่เห็นปลายทาง ร้านอาหารเปิดตัวและปิดตัวกันมากมาย การแก้ปัญหาวิกฤตยังสร้างความสับสนให้กับผู้ประกอบการ
ผมเลยอยากให้เขาเล่าถึงการทำร้านอาหารในมุมมองของนักชิม ที่ปรึกษาธุรกิจอาหาร และเจ้าของร้านผัดกะเพราที่ยังเอาตัวรอดได้ในวิกฤตครั้งนี้
1
ทำอย่างไรก็ได้ให้เป็น Top of Mind ในใจคน
เผ็ดมาร์คมีอยู่แค่ 2 เมนู คือกะเพราเนื้อสับและกะเพราหมูสับ รสชาติเข้มข้น ถึงเครื่อง และผัดแบบแห้ง ใส่ส่วนผสมที่ทั้งทีมช่วยกันเลือกสรร แล้วให้เชฟกิ๊กเป็นคนลงมือทดลองผัดกะเพราในอุดมคตินี้ออกมา ช่วยกันชิม ค่อยๆ ปรับแก้รสชาติจนได้รสที่นักชิมระดับพระกาฬทั้งสามคนเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นรสที่อร่อย กลายเป็นผัดกะเพราที่ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามที่พูดถึงกันทั้งบ้านทั้งเมือง
“พฤติกรรมของลูกค้าเผ็ดมาร์คแปดสิบเปอร์เซ็นต์เป็นลูกค้าเดลิเวอรี่ แล้วแบรนดิ้งเราชัดเจนเพราะเราขายกะเพราแค่อย่างเดียว”
“เนื่องจากเผ็ดมาร์ควางให้แปดสิบเปอร์เซ็นต์ของการขายเป็นการสั่งไปกินที่บ้าน ดังนั้นช่วงแรกที่เกิดวิกฤต ร้านก็ได้รับผลกระทบบ้าง ยอดขายก็ลดลงไปเห็นๆ จากการที่เราปิดร้านทันทีก่อนที่รัฐบาลจะสั่งให้ปิด
“หลังจากนั้นยอดก็ตกอีกรอบหนึ่งตอนที่ทุกคนจำเป็นต้องหันมาทำเดลิเวอรี่กันหมด ทั้งร้านปกติ คนที่อยู่บ้าน หรือไม่มีงานทำก็มาทำเดลิเวอรี่ส่งกัน คู่แข่งเพิ่มขึ้นมาก
“แต่ที่เรากลับมาเร็วมาก แค่อาทิตย์เดียวยอดขายกลับมาเท่าเดิม เราคิดว่าเมื่อคนกินนึกถึงกะเพรา เขาจะนึกถึงเราก่อน เรากลายเป็น Top of Mind ในใจคนไปแล้ว สิ่งเหล่านี้มันน่าจะเกิดจากที่เราตั้งต้นสร้างแบรนด์ร้านขายกะเพราเมนูเดียวที่ส่งถึงบ้านตั้งแต่เปิดร้านวันแรก’
“แต่เหตุการณ์มันเปลี่ยนไปด้วยนะ สิ่งที่คิดไม่ถึงคือคนเข้าสู่แพลตฟอร์มเดลิเวอรี่มากขึ้น มีร้านเข้าไปอยู่ในแอปฯ Wongnai หมื่นสามพันร้าน เฉพาะเดือนมีนาคม อยู่ดีๆ มีคู่แข่งเพิ่มขึ้นอีกเป็นหมื่นคน เราต้องทำให้ตัวเองอยู่ในสายตาคนให้ได้ อาจจะทำแคมเปญกับเดลิเวอรี่แพลตฟอร์ม ยอมลดราคาเพื่อที่จะอยู่ในหน้าแรก ทำมาร์เก็ตติ้งในโซเชียลมีเดีย หรือให้อินฟลูเอนเซอร์รีวิวก็ตาม” แทนเล่า
2
ทำเดลิเวอรี่
“ตอนแรกเราคิดแค่อยากทำกะเพราอย่างเดียว ไม่ได้คิดเรื่องเดลิเวอรี่ แต่เดลิเวอรี่มันมาจากที่ความต้องการมันมากกว่าที่นั่งในร้าน
“ตามการคาดการณ์ เทรนด์เดลิเวอรี่จะต้องโตขนาดนี้อยู่แล้ว แต่ไม่ได้เร็วขนาดนี้ มันควรจะต้องโตเท่าที่เห็นในปัจจุบันนี้ในอีกสามถึงห้าปีข้างหน้า แต่ว่า COVID-19 ดันเป็นตัวเร่งปฏิกริยาให้มันโตเร็ว ในระยะเวลาอันสั้นมาก
“เราเห็นตั้งแต่การเข้ามาแข่งกันของเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มมากขึ้น แล้วก็เห็นในจีน ที่แพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ของเขาโตกว่าเราไม่รู้กี่สิบเท่าแล้ว เราเห็นแล้วว่าเทรนด์ของเอเชียมันต้องมาแบบนี้ แต่ไม่ได้คิดว่าจะมาวันนี้
“แต่สิ่งเราเห็นจากเทรนด์แล้วทำเลยก็คือ ถึงจะวางเผ็ดมาร์คให้เป็นร้านกะเพราข้างทาง แต่เราทำแพ็กเกจจิ้งพร้อมสำหรับเดลิเวอรี่ตั้งแต่วันแรกที่เปิดร้านเลย ในแพ็กเกจบอกประเภทของเนื้อสัตว์ การบอกระดับความเผ็ด การทำฝาซีลไม่ให้หก การทำถุง เราคิดเรื่องแพ็กเกจมาตั้งแต่แรก เพราะเรารู้ว่าตลาดมันจะต้องโต เราแค่ทำรอไว้ว่าแบรนดิ้งมันต้องแข็งแรง แค่คนเห็นกล่อง จะต้องทำให้เขาคิดว่า ถ้าจะสั่งอาหารมากินที่บ้านต้องสั่งเผ็ดมาร์ค
“เราคำนวณถึงรสชาติของอาหารที่จะต้องไม่เปลี่ยน ที่ร้านกับที่บ้านแทบจะไม่ต่างกัน เราคิดตั้งแต่ประเภทอาหารที่ขาย อาหารอย่างอื่นคุณภาพอาจจะดรอปลงมากถ้าเป็นการสั่งไปกินที่บ้าน แต่กะเพราเราคำนวณแล้วว่าน่าจะเป็นอาหารที่คุณภาพลดลงไม่มาก รวมถึงเห็นแล้วว่าเดลิเวอรี่มันมาแน่ เราเลยไม่ทำเมนูที่กินได้แต่ที่ร้านอย่างเดียว” แทนเล่า
“ทุกอย่างของเผ็ดมาร์คมันเกิดจากประสบการณ์ของคนสี่คน เชฟกิ๊กมีประสบการณ์ด้านทำอาหาร รู้ว่าจะทำอย่างไรให้อาหารอร่อยและให้รสชาติออกมาสม่ำเสมอ รวมถึงคิดว่าเมื่อเดลิเวอรี่แล้วรสชาติจะไม่เปลี่ยน ส่วนแทน มาร์ค และเทพ ที่มีประสบการณ์ทางด้านการกินและเป็นผู้บริโภค ก็เอาประสบการณ์นั้นมาใช้กับที่ร้านว่ากินแบบไหนแล้วคนจะประทับใจ”
3
คอนเทนต์ออนไลน์เป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานแล้ว
พูดว่าได้เปรียบกว่าร้านอื่นๆ ก็ไม่ผิดนัก ที่เจ้าของร้านแต่ละคนมีที่มาจากการเป็นบล็อกเกอร์ มีฐานคนติดตามมหาศาล แม้กระทั่งเชฟกิ๊กซึ่งเป็นเชฟไม่ใช่นักชิมก็มีคนติดตามจำนวนมาก แต่ข้อได้เปรียบนี้ก็บอกได้ว่า การสื่อสารในช่องทางออนไลน์มีผลอย่างมากกับโลกในยุคใหม่ โดยเฉพาะยุคหลังจากนี้
“การทำคอนเทนต์ออนไลน์ ถ่ายรูป หรือวิดีโอกลายเป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานไปแล้ว เห็นชัดในช่วงที่ทุกร้านต้องปิดร้านพร้อมๆ กัน คุณไม่มีหน้าร้านให้คนเดินผ่านแล้วลองแวะกิน สิ่งที่คนเห็นอย่างเดียวคือรูปหรือวิดีโอบนคอนเทนต์ออนไลน์ คุณไม่มีโอกาสที่จะให้คนลองชิมหน้าร้านเหมือนเดิม
“เพราะฉะนั้นคนที่คนแข่งกัน คือรูปของใครหรือคอนเทนต์ของใครดึงดูดใจคนให้อยากมาลองที่นี่ได้มากที่สุด มันเปรียบเสมือนโลเคชันในสมัยก่อน ที่ร้านอยู่ริมถนน อยู่หัวมุม หรือใช้วิธีตกแต่งร้านให้เตะตาแบบสมัยก่อน เดี๋ยวนี้ทุกคนตัดสินกันที่รูป กะเพราร้านนี้น่ากิน เพราะฉะนั้นมันเป็นปัจจัยสำคัญของทุกวันนี้ไปแล้ว” แทนเล่าทั้งในฐานะ Food Blogger ที่มีคนติดตามการกินของเขาเป็นแสนคน
4
ทำเล็กแต่คุมคุณภาพ ไม่มีสาขา เราจะปรับตัวได้เร็วกว่า
ต่อให้ขายดี เผ็ดมาร์คก็ยังรับออเดอร์ต่อวันได้เท่าเดิมตั้งแต่วันแรก ไม่เพิ่มที่นั่ง ไม่เพิ่มเตา และไม่คิดจะเพิ่มสาขาด้วย
“เผ็ดมาร์คคงไม่ขยายตัวไปมากกว่านี้ เพราะความตั้งใจเราต้องการทำอะไรที่เล็กแต่มีคุณภาพ มุมมองเราคือเราอยากให้มันแข็งแรงที่สาขาเดียวไปเลย ทั้งแบรนดิ้ง คอนเซปต์ แบบถ้าคุณอยากกินคุณต้องมาที่นี่ที่เดียว
“มันไม่เชิงว่าเป็นสูตรสำเร็จนะ เพราะร้านที่เขาเปิดสิบสาขาแล้วประสบความสำเร็จทุกสาขาก็มีเยอะ แต่ในมุมของเราคือการทำให้แข็งแรงด้วยความเสถียรของอาหาร ทุกคนที่มากินต้องได้รสชาติเดียวกัน”
เพราะหุ้นส่วนของร้านมีเชฟเป็นหุ้นส่วนแค่คนเดียว ที่เหลือเป็นนักกินที่ไม่ทำกับข้าวหมดเลย แต่ทุกคนให้ความสำคัญกับประสบการณ์การกินมากเป็นพิเศษ
“จากประสบการณ์การไปกินสาขาหนึ่งอร่อย แต่สาขาสองเป็นอีกอย่างหนึ่ง เราไม่อยากให้เหตุการณ์อย่างนั้นเกิดขึ้นกับเผ็ดมาร์ค ถ้ามีรสชาติของอาหารที่ไม่คงที่ขึ้นมา เราปรับตัวได้เร็วกว่า
“เราคิดแค่จะทำกะเพราทีละแปดที่นั่ง แล้วเวียนรอบเอา วันหนึ่งขายไม่กี่จาน ร้านสิบห้าตารางเมตร มีกระทะแค่ สองใบ ทุกวันนี้ก็ยังเป็นแบบนั้นอยู่ ปริมาณการผัดต่อวันมันก็ได้เท่านั้น จะเพิ่มเตาอีกเตายังไม่มีที่เพิ่มเลย ร้านเราสร้างมาไว้ให้ขายเท่านี้”
ถึงเผ็ดมาร์คเลือกที่จะไม่ขยายสาขา แต่ก็เลือกจะทำโปรดักต์ใหม่ขึ้นมาแทนกะเพราแบบที่ 3 ที่ไม่ซ้ำกับเมนูของร้าน เฉพาะซื้อกลับบ้านเอาเข้าไปอุ่นด้วยไมโครเวฟ กินที่บ้านได้เลยเท่านั้น
“เผ็ดมาร์คออกแบบข้าวกะเพราไก่แบบ Ready to Eat ขายที่ Mini Big C ทุกสาขา สำหรับซื้อกลับบ้านกินคนเดียวแบบไม่ต้องกลัวห้างฯ ไม่ต้องกลัวการนั่งติดกัน แต่การจะทำผลิตภัณฑ์แบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกแบรนด์ การสร้างแบรนด์เพื่อให้คิดถึงกะเพราของร้านเผ็ดมาร์คเป็นคนแรก เป็นการสร้างความมั่นใจที่จะให้ผู้ประกอบการมาร่วมลงทุนด้วยได้” แทนเล่า
5
ไม่จำเป็นต้องเลือกเมนูเดียว แต่เมนูที่เลือกมาต้องอร่อยทั้งหมด
ในช่วงวิกฤตที่ยิ่งลดทุกอย่างลงได้ยิ่งดี ถ้าต้องให้คำแนะนำร้านอื่นๆ ที่มีหลายเมนู เขาจำเป็นจะต้องตัดเมนูอื่น ออก แล้วโฟกัสเมนูแค่เมนูเดียวเหมือนเผ็ดมาร์คไหม ผมถามแทนในฐานะที่เขาเป็นที่ปรึกษาธุรกิจอาหาร
“อย่างร้านเลิศทิพย์ของเชฟกิ๊ก ทำเมนูเดลิเวอรี่หลายเมนู แต่เขาเลือกออกมาจากเป็นร้อยๆ เมนู ถ้าอยากรู้จักร้านเลิศทิพย์ สิบเมนูที่เลือกมาต้องบอกตัวตัวของร้านเลิศทิพย์ได้หมด นี่คือสิ่งสำคัญมาก เราอย่าเอาของที่เราไม่ถนัดออกไปเป็นตัวชูโรง เพราะวันนี้โอกาสที่เขาจะลองร้านเรามันอาจจะเป็นครั้งเดียว เพราะถ้าเขาลองแล้วเขาไม่ชอบ เขามีโอกาสอีกเป็นแสนๆ ให้ลอง
“ให้ดึงเอาจุดเด่น เมนูซิกเนเจอร์ เมนูที่ขายดีที่สุดออกมาก่อนเลยนะ จะกี่เมนูก็ตาม แล้วทำการตลาดไปกับเมนูนั้นๆ ให้คนรู้จักฝีมือหรือรสมือของคุณจากเมนูซิกเนเจอร์ของคุณ ถ้าคุณถนัดพาสต้า เมนูที่ควรจะให้เขาชิมควรจะเป็นพาสต้า
“กำลังซื้อลดลง คนจะเลือกอาหารทีหนึ่งต้องเลือกสิ่งที่เขารู้สึกคุ้มค่าที่สุด อร่อยที่สุด อยากกินที่สุด เลยทำให้เกิดการเข้าถึงคนได้ยากขึ้นอีก มันเปลี่ยนแปลงไปเลย คุณต้องเอาตัวเองให้ไปอยู่ในสายตาเขา ให้เขานึกถึงเมนูนี้ของเราเป็นคนแรก ทำเมนูที่เขากินแล้วจะสั่งอีกแน่ๆ บางร้านมีเป็นสิบเมนู แต่วันนี้เขาเลือกจากสิบเมนูมาเหลือแค่สาม เพื่อให้คนกินแล้วรู้เลยว่าร้านนี้ กินแล้วอร่อย” แทนตอบ
6
ต้องประเมินตัวเอง
รัฐบาลเพิ่งเริ่มผ่อนปรนให้ร้านอาหารเปิดขายได้ แต่ต้องมีมาตรการป้องกัน มีร้านเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เปิดขาย ในฐานะผู้ที่ต้องสังเกตการณ์เทรนด์ตลอดเวลาของแทน เขาก็มีคำแนะนำสำหรับเจ้าของร้านอื่นๆ ที่ต้องปรับตัวในสถานการณ์นี้
“พอรัฐบาลบอกให้เปิดร้าน อย่าคิดว่ามันจะกลับมาเหมือนเดิมในทันที คนเปลี่ยนพฤติกรรมไปแล้ว ยังวิตกกังวลในการออกไปนอกบ้านอยู่ และอีกปัจจัยหนึ่งคือนักท่องเที่ยวยังไม่กลับมา สามปัจจัยนี้ก็มีผลกับการเปิดร้าน
“คนยังตกงานเท่าเดิม รายได้คนส่วนใหญ่ลดน้อยลง ก็ต้องประเมินตัวเองเหมือนเดิม การเปิดร้านมันจะมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น คุ้มที่จะเปิดไหม
“ถ้าร้านตอนที่ปิดหน้าร้านไปทำเดลิเวอรี่แล้วดี แปลว่ามันดีตั้งแต่วันนี้แล้ว ไม่ใช่ว่าจะดีตอนที่ร้านกลับมาเปิดอีกครั้งได้ การเปิดร้านมันดีสำหรับบางคน มันไม่ใช่ดีสำหรับทุกคน
“ค่าใช้จ่ายของที่ร้านมีเงินหมุนเวียนเพียงพอสำหรับอีกกี่เดือน ถ้ามันไม่เพียงพอถึงตอนที่ให้สถานการณ์ดีขึ้นไหม ถ้าทำเดลิเวอรี่แล้วมันครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดไหม ถ้าครอบคลุมก็ทำต่อไป ใครก็อยากให้ทำต่ออยู่แล้วทั้งนั้น กันอีกทางเลือกหนึ่งคือปิดเสียก่อน แล้วเก็บเงินที่มีไว้ทำในช่วงที่สถานการณ์นั้นดีขึ้น อันนี้ต้องประเมินตัวเอง อย่าประมาทกับสถานการณ์ เพราะมันไม่ได้อยู่กับเราแค่แป๊บเดียวแน่ๆ”
7
ถ้าจะเปิดธุรกิจอาหารหลังจากนี้ต้องครอบคลุมทุกช่องทาง
“ที่คาดเดาไม่ได้เลยคือจำนวนร้านค้าที่จะยังอยู่ เราไม่รู้ว่าร้านอาหารจะลดลงเท่าไหร่ ร้านดังๆ จะเจ๊งไหม ร้านแฟรนไชส์จะอยู่ได้หรือเปล่า ตอนนี้มีข่าวว่าร้านอาหารปิดตัวเยอะมาก มันเหมือนจะทำให้คู่แข่งน้อยลง แต่ในความเป็นจริง ผู้บริโภคก็น้อยลงไปด้วย
“เดลิเวอรี่โตขึ้นเป็นเท่าตัวจากก่อนที่จะเกิดวิกฤต หลังจากนี้ร้านอาหารเปิดให้กลับมานั่งกินที่ร้านได้ เดลิเวอรี่อาจจะลดลงนิดหน่อย เพราะคงมีคนที่ออกไปกินที่ร้าน แต่เดลิเวอรี่ไม่ลดลงไปเท่าเดิมแน่นอน คนรู้จัก New Normal คือการสั่งไปกินที่บ้าน ใช้ชีวิตง่ายขึ้น สะดวกขึ้น
“ตอนนี้เรารู้แล้วว่าเราคงต้องอยู่กับ COVID-19 ไปอีกสักพัก พฤติกรรมคนเปลี่ยนไป คนจะเริ่มใส่ใจความสะอาดมากขึ้น สิ่งที่ควรปรับตัวคือการทำตัวให้พร้อมและดีที่สุดในรูปแบบเดลิเวอรี่ ตั้งแต่ความสะอาด รสชาติ แพ็กเกจ การส่ง อะไรก็ตามที่เป็นองค์ประกอบส่งเสริมให้เดลิเวอรี่ของคุณดีกว่าเดิม ดีกว่าคู่แข่งประเภทเดียวกัน ต้องทำตั้งแต่วันนี้ ต่อให้ร้านคุณจะกลับมาขายดีเท่าเดิม วันนี้คุณก็ต้องสนใจเดลิเวอรี่ไว้แล้ว”
ผมทราบมาว่า หลังจากวิกฤตคลี่คลายไปในทางที่ดี พวกเขากำลังจะเปิดร้านข้าวมันไก่ เขาบอกว่าข้าวมันไก่เป็นอาหารอีกแบบหนึ่งที่ไม่มีปัญหากับการเดลิเวอรี่ แต่การคิดจะทำร้านไม่ใช่เริ่มต้นด้วยการเดลิเวอรี่เป็นอย่างแรกและอย่างเดียว แต่เดลิเวอรี่เป็นส่วนหนึ่งของการคิดให้รัดกุมที่สุดถ้าจะเปิดร้านอาหาร
“มันมาจากการคิดให้ครอบคลุมทุกช่องทางมากที่สุดตั้งแต่วันเปิดร้านเลย ถ้าทำได้ เป็นเป็ดตั้งแต่แรกเลย เราก็จะพร้อมกับหลายๆ สถานการณ์ เราอาจจะไม่ได้เก่งเท่าร้านอื่น แต่พร้อมกับการปรับตัว ทำร้านหนึ่งร้านต้องครอบคลุมรสชาติการกินที่ร้าน รสชาติการส่งถึงบ้าน การทำการตลาดออนไลน์ในโซเชียลมีเดีย การถ่ายรูปที่ร้าน การถ่ายรูปอาหารที่บ้าน รวมถึงการเดินทาง มารถส่วนตัว รถสาธารณะ แม้กระทั่งเรื่องเศรษฐกิจดี ร้านขายดี แต่ถ้าเศรษฐกิจแย่ คนก็ควรเข้าถึงอาหารของร้านเราได้ด้วย จะวิกฤตไหนเราก็จะรับมือกับมันได้ง่ายขึ้น” แทนแนะนำปิดท้าย พร้อมเน้นย้ำว่าทั้งหมดเป็นประสบการณ์ระหว่างเกิดวิกฤต เป็นสิ่งใหม่ที่ทุกคนเผชิญพร้อมกันหมด ต้องเรียนรู้และประเมินสถานการณ์ด้วยตัวเอง และไม่มีสูตรไหนเป็นสูตรสำเร็จ
เผ็ดมาร์ค
สั่งได้ทาง
LINE MAN : เผ็ดมาร์ค (phedmark)
โทร 08 3893 8989
Facebook : phedmark
Instagram : @phedmarkBKK
เปิด 10.30 – 20.00 น.
หยุดทุกวันพุธ