ขออนุญาตเริ่มบทความด้วยเรื่องส่วนตัว,

เมื่อทราบว่า The Cloud ชวนผมไปสัมภาษณ์ ปอ-ภราดล พรอำนวย อีกครั้ง ผมไม่ลังเลที่จะตอบปฏิเสธ – เป็นการดีกว่าถ้า The Cloud จะไปชวนนักเขียนท่านอื่น

ไม่ใช่เพราะไม่สะดวกใจ หรือผมไม่ได้ชอบอะไรชายผู้นี้ เหตุผลจริงคือตลอดเกือบสิบปีที่ผ่านมา ผมสนทนากับเขาทั้งอย่างเป็นและไม่เป็นทางการนับครั้งไม่ถ้วน จนแทบไม่เหลือเรื่องอะไรให้คุยกันอีกแล้ว 

หลายคนทราบดี นอกจากการเป็นนักดนตรีและเจ้าของบาร์แจ๊ส North Gate Jazz Co-Op ชายหนุ่มชาวเชียงใหม่ผู้นี้ยังเป็นจิตรกร นักเขียน นักเดินทางแบบ Hitchhiking นักกิจกรรมด้านการศึกษา นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนเมืองเชียงใหม่ รวมถึงบทบาทล่าสุดซึ่งผมก็เพิ่งสัมภาษณ์เขาลง The Cloud ไปหมาด ๆ อย่างนักธุรกิจเพื่อสังคม เจ้าของแบรนด์เครื่องดื่มจากเมล็ดข้าว YoRice Amazake 

ปอ ภราดล กับ 15 ปีธุรกิจบาร์แจ๊ส North Gate และบาร์เวิลด์มิวสิกแห่งใหม่ของเชียงใหม่

เมื่อลองไล่เรียง โดยเฉพาะเมื่อย้อนกลับไปในยุคที่ประเทศนี้ยังมีสิ่งที่เรียกว่านิตยสาร ผมสนทนากับปอต่างกรรมต่างวาระลงสื่อสิ่งพิมพ์หลายฉบับเรื่อยมาจนถึงสื่อออนไลน์ ครอบคลุมบทบาทที่ว่ามาเกือบหมด

แต่ก็นั่นล่ะ เมื่อได้ฟังโจทย์ที่ The Cloud ต้องการ และลองไล่เรียงกับตัวเองดี ๆ อีกที ก็พบว่าท่ามกลางเรื่องราวมากมายที่เคยสนทนา ผมกลับไม่เคยคุยถึงบทบาทที่เป็นพื้นฐานจริง ๆ ของเขา อย่างการเป็นนักดนตรีและเจ้าของบาร์แจ๊ส ซึ่งนอกจากการรับรู้ว่าปอเป็นมือเป่าแซกโซโฟนและเจ้าของบาร์แจ๊สที่ผมมองว่าเป็นหนึ่งในที่ที่เจ๋งที่สุดของเมือง ผมก็แทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับปอในมุมนี้

เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ปอร่วมหุ้นกับเพื่อนนักดนตรี 2 คน พัน-พันธวัจน์ นาวิก และน้อยหน่า-พชร ตั้นวัฒนา รีโนเวตตึกแถวเก่าบนถนนพระปกเกล้า ใจกลางย่านเมืองเก่า ไม่ไกลจากสี่แยกกลางเวียง และไม่ไกลจากที่ตั้งของนอร์ทเกท เขาตั้งชื่อว่า มโหรี ซิตี้ ออฟ มิวสิก (Mahoree City of Music) 

ทราบข่าวจากเจ้าตัวมาสักพักแล้ว หากก่อนหน้านี้ ผมเข้าใจมาตลอดว่านั่นคือบาร์แจ๊สแห่งใหม่ของปอ ก็แน่ล่ะ เขาเป็นนักดนตรีแจ๊สนี่นะ แต่ผิดถนัด บาร์แห่งนี้เล่นดนตรีสดประเภทเวิลด์มิวสิก (World Music) ครอบคลุมตั้งแต่ดนตรีพื้นเมืองล้านนา บทเพลงชนเผ่า หมอลำ อีสานฟิวชัน ยิปซีแจ๊ส เปียโนบาโรก ไปจนถึงเพลงคลาสสิก ซึ่งสร้างความแปลกใจไม่น้อยว่าปอไปหาศิลปินหลากหลายขนาดนี้จากไหน 

“คงจะดี ถ้าได้ฟังเพลงซอล้านนาในร้านเหล้า ไม่ใช่แค่จากในงานบุญหรือในวัดเท่านั้น” ผมนึกถึงคำพูดของปอเมื่อหลายเดือนก่อน ไม่คาดคิดมาก่อนว่ารูปธรรมของสิ่งที่เขากล่าว เกิดขึ้น ณ บาร์แห่งนี้

และใช่ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไม สุดท้ายผมก็ตกปากรับคำ The Cloud กลับมาสนทนากับปออีกครั้ง เป็นบทสัมภาษณ์ครั้งที่เท่าไหร่ก็จำไม่ได้ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้คุยถึงตัวตนแรกของเขา – เส้นทางของการเป็นนักดนตรี เจ้าของร้านเหล้า และหนึ่งในผู้บุกเบิกพื้นที่ทางดนตรีใหม่ ๆ ให้กับค่ำคืนของเมืองเชียงใหม่

ตอนที่ 1
ความทรงจำของนักดนตรีที่มีเพื่อนเป็นคนหูหนวก

คุณเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า คุณฝันอยากเดินทางท่องเที่ยว ดนตรีเป็นเพียงเครื่องมือที่ทำให้คุณไปถึงความฝันนั้น คิดอย่างไรว่าในท้ายที่สุด ผลลัพธ์ในทุกวันนี้ คุณกลายเป็นเจ้าของร้านเหล้าที่มีพื้นที่ให้คุณและเพื่อน ๆ ได้เล่นดนตรี แทนที่จะเป็นเจ้าของบริษัทเอเจนซี่ทัวร์สักแห่ง

ย้อนกลับไปสมัยเป็นวัยรุ่น ผมไม่มีความคิดที่จะทำธุรกิจเลย ขอแค่ได้เล่นดนตรีและได้เดินทางเพื่อให้ได้เห็นโลก ผมเปิดนอร์ทเกทเมื่อ 15 ปีก่อน เพราะอยากมีพื้นที่เล่นดนตรีประจำของตัวเอง และมันก็กลายเป็นสิ่งที่สร้างรายได้ให้ผมจนทุกวันนี้ อย่างไรก็ตาม ความคิดเรื่องเปิดบริษัททัวร์ไม่เคยอยู่ในหัวผมมาก่อน

ปอ ภราดล กับ 15 ปีธุรกิจบาร์แจ๊ส North Gate และบาร์เวิลด์มิวสิกแห่งใหม่ของเชียงใหม่

เพราะคุณชอบเดินทางคนเดียว

เพราะผมไม่ค่อยมีตังค์น่ะ อย่างที่รู้ ผมเดินทางและเล่นดนตรีเปิดหมวกเพื่อหาเงินมาเดินทางต่อ ในหลาย ๆ ทริปก็ค่อนข้างลำบาก จึงไม่คิดจะชวนใครมาเดินทางด้วยกันเท่าไหร่ อีกอย่างคือ ตอนเด็ก ๆ ผมโตมากับแม่และน้าที่เช่าบ้านเปิดร้านซักอบรีด อยู่ติดกับโรงเรียนคนหูหนวกในย่านสันติธรรม (โรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทร) เพื่อนในวัยเด็กของผมจึงมีแต่คนหูหนวก เราดีดลูกแก้วด้วยกัน ตีปิงปอง และอื่น ๆ แต่เราไม่เคยสนทนากันเลย เป็นกิจกรรมไม่มีเสียง ไม่มีคำพูด ซึ่งเป็นความทรงจำที่แปลกดี ประสบการณ์นี้ทำให้ผมมาคิดว่า การเดินทางเนี่ย นอกจากไปเพียงลำพังได้ เรายังสื่อสารกับคนแปลกหน้าโดยไม่ต้องพูดก็ได้ ต่อให้เดินทางไปประเทศที่เขาไม่พูดภาษาอังกฤษ ผมก็ไม่ค่อยกังวล เพราะผมเคยมีเพื่อนที่ไม่เคยพูดกันเลย แต่กลับเล่นด้วยกันได้ และเข้าใจกันได้

มีเพื่อนเป็นคนหูหนวก แล้วคุณเริ่มสนใจเล่นดนตรีได้อย่างไร

น้าผมเป็นนักดนตรีกลางคืน เขาเล่นโฟล์กประจำอยู่ที่ริเวอร์ไซด์ (The Riverside Bar & Restaurant) ความที่ผมอยู่กับแม่และน้า บางคืนแม่ไม่ว่าง ผมก็ตามน้าไปร้านที่น้าเล่นดนตรี บางคืนน้าไปเล่นที่บาร์ของโรงแรม ผมก็ไปนอนรอตามล็อบบี้ ตั้งแต่เป็นนักเรียนอนุบาลจนถึงประถม ผมโตมาแบบนี้ ฟังเพลงที่น้าเล่น มีกีตาร์ของน้าวางอยู่ที่บ้าน ว่าง ๆ ผมก็หยิบมาหัดเล่น

น้าเล่นเพลงอะไร

เพลงสากลที่ฮิต ๆ สมัยนั้น Bee Gees, The Carpenters, Eagles ประมาณนี้

ไม่มีแจ๊สเลย

ไม่เลย แจ๊สมาตอนผมโตมาก ๆ แล้ว ตอนเด็ก ๆ ก็หัดเล่นเพลงที่น้าเล่นนี่แหละ

ให้น้าสอน

เขาไม่สอนน่ะสิ (หัวเราะ) แม่เป็นคนส่งผมไปเรียนที่ยามาฮ่า แม่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว หาเช้ากินค่ำ แต่ถ้าผมสนใจอยากเรียนอะไร แกพร้อมจะสนับสนุนทุกอย่าง อย่างช่วงหนึ่งเพื่อน ๆ ฮิตเรียนเทควันโดกัน แม่ก็ส่งผมไปเรียน ซื้อชุดให้ด้วย ผมเล่นแค่ 2 ครั้ง แล้วเบื่อ เลยเลิก ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดหรอกว่าแม่ลำบาก แต่มาเรียนดนตรีนี่แหละที่ผมอยู่กับมันได้นาน

อะไรที่ทำให้คุณอยู่กับดนตรีได้นาน

ตอนนั้นน่าจะอายุ 13 ผมเรียนกีตาร์กับ อาจารย์มนูญ​ พลอยประดับ มีคำพูดหนึ่งของอาจารย์ที่กระทบใจมาก เขาบอกว่า ดนตรีที่เราเล่นเนี่ยเป็นสิ่งสำคัญนะ ทำให้คนที่โกรธอยู่หายโกรธ คนที่เศร้าอยู่หายเศร้า ตอนนั้นเป็นเด็ก ผมไม่เข้าใจทั้งหมดหรอก แต่ก็ทำให้ตระหนักว่าตัวโน้ตที่เราเล่นมีความศักดิ์สิทธิ์ เพราะมันเปลี่ยนชีวิตคนได้ ดนตรีจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผมตั้งแต่วันนั้น

ปอ ภราดล กับ 15 ปีธุรกิจบาร์แจ๊ส North Gate และบาร์เวิลด์มิวสิกแห่งใหม่ของเชียงใหม่

แต่พอจบมัธยม คุณเลือกเรียนต่อทางสถาปัตยกรรม ไม่ใช่ดนตรี

ผมไม่คิดที่จะเป็นศิลปินน่ะ แค่ชอบเล่นดนตรี ไม่คิดอยากเป็นศิลปินออกอัลบั้มเลย

ทำไมล่ะ

ไม่รู้สิ แค่เล่นดนตรีแล้วสนุกมั้ง ได้แจมกับเพื่อน เป็นการเล่นอย่างหนึ่ง จนป่านนี้ผมก็ยังไม่เคยทำเพลงหรือออกซิงเกิลของตัวเอง ขอแค่ให้ได้เล่นสนุกกับเพื่อนก็พอ

แล้วทำไมเรียนด้านสถาปัตย์

จับพลัดจับผลูน่ะ ถ้านึกย้อนกลับไป ผมกำหนดขอบเขตอะไรในชีวิตไม่ได้เลยนะ พอพูดถึงอนาคตสำหรับชีวิตคนคนหนึ่ง เราต้องมี 2 สิ่ง คือทรัพยากรและเวลา ตอนนั้นผมตอบเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะแทบไม่มีทั้งสองอย่าง เงินก็ต้องกู้มาเรียน ถ้ามีเวลาว่าง ผมก็ต้องทำงานพิเศษเพื่อหาเงินมาใช้ เป็นเด็กเสิร์ฟ เป็นคนล้างจาน คนงานแบกหาม ผมเป็นมาหมดแล้ว ตอนนั้นก็มาคิดว่าเราจะเรียนอะไรที่จบมามีรายได้มั่นคงเพื่อเอาไปใช้หนี้ ความที่ผมมีพื้นฐานทางการวาดเขียน และมีคนบอกกันว่าเรียนสถาปัตย์มีงานทำ ก็เลยเลือกสอบเข้า ปวช. สาขานี้ก่อน

แต่จนแล้วจนรอด คุณก็ไม่เคยทำงานสถาปนิก

ใช่ ช่วงเรียน ปวช. นี่แหละที่ทำให้ผมฝันอยากเป็นนักเดินทาง ผมบังเอิญชนะการประกวดวาดรูปรายการหนึ่ง และได้ทุนไปทัศนศึกษาที่เกียวโต 10 วัน ผมเรียนด้านสถาปัตย์ ที่ผ่านมามีโอกาสได้เห็นรูปถ่ายสถาปัตยกรรมระดับโลกมามากมาย แต่ไม่เคยเห็นของจริงสักที จนมาเห็นจากวัดวาอารามในเกียวโต เหมือนเรียนหนังสือจากตำรามาทั้งเทอม ยังได้ไม่เท่าการได้ไปเห็นของจริงตรงหน้าแค่วันเดียว

ก็เลยเริ่มตั้งธงว่า ถ้าเราจะประสบความสำเร็จในการเป็นสถาปนิก เราควรต้องเห็นโลกมากกว่านี้ แต่ขณะเดียวกัน ความที่ต้นทุนผมมีจำกัด ถึงจบมา ผมก็อาจทำได้แค่ดราฟต์แมนเขียนแบบในออฟฟิศ ก็เลยตั้งธงใหม่ไว้ว่า ต้องให้เวลาเพื่อค้นหาตัวเอง การเดินทางทำให้ผมได้เรียนรู้และรู้จักตัวเอง ก็เลยฝันว่าจะต้องเดินทางรอบโลกให้ได้

ปอ ภราดล กับ 15 ปีธุรกิจบาร์แจ๊ส North Gate และบาร์เวิลด์มิวสิกแห่งใหม่ของเชียงใหม่

คุณเพิ่งบอกไปว่ามีต้นทุนจำกัด แต่การเดินทางรอบโลกนี่ต้องอาศัยต้นทุนอย่างไม่จำกัดเลยนะ

ตลกดี แต่เรื่องนี้ทำให้ผมหันเหสู่การเล่นดนตรีเต็มตัว หลังจากกลับจากญี่ปุ่นมา มีอยู่วันหนึ่ง ผมนั่งรถแดงไปทำธุระสักที่ แล้วคนขับรถแดงเขาเปิดวิทยุ ผู้ดำเนินรายการบอกว่าเดี๋ยวจะมีคอนเสิร์ตนักแซกโซโฟนมาเล่นที่เชียงใหม่ ผมจำไม่ได้แล้วว่าศิลปินคนนั้นชื่ออะไร แต่ผู้ดำเนินการเขาบอกว่าคนนี้เก่งมาก เดินสายเล่นคอนเสิร์ตมาแล้วรอบโลก เท่านั้นเลย ผมคิดว่าเออ ถ้าเราเล่นดนตรี เราก็อาจมีโอกาสเดินทางไปรอบโลกแบบเขาได้

ต้องเป็นนักแซกโซโฟนด้วย

ใช่ ตอนนั้นผมไม่รู้จักอะไรเกี่ยวกับดนตรีแจ๊สเลย ก็ถามตัวเองว่า กูอ่านการ์ตูนมากไปหรือเปล่าวะ หลังจากนั้นผมก็เอาเงินเก็บจากการทำงานพิเศษมาซื้อแซกโซโฟนมือสอง ตัวละ 7,000 บาท ซื้อมาโดยไม่รู้ว่าจะเป่ามันยังไง

ก่อนหน้านี้ไม่เคยฟังแจ๊สเลย

ไม่เชิง ผมเคยมีวงดนตรีกับเพื่อน ก็เล่นป๊อป เล่นร็อก ตามสมัยนิยม แต่แจ๊สนี่ห่างไกลจากชีวิต อาจมีเพลงฮิตที่เคยได้ฟังบ้างอย่าง Just the Two of Us ที่ Bill Withers ร้อง แต่พวกแจ๊สลึก ๆ ที่เขาบรรเลงอย่างเดียวนี่เหมือนอยู่คนละโลก

ถ้าตอนนั้นในวิทยุบอกว่าเป็นนักดนตรีโปงลาง คุณก็จะซื้อโปงลางมาหัดเล่นใช่ไหม

ก็น่าจะอย่างนั้น  

ตอนที่ 2
การเดินทางของมือแซกโซโฟนสมัครเล่นที่โคตรเอาจริงเอาจัง

คุณแทบไม่เคยฟังแจ๊สมาก่อน และไม่เคยมีแพสชันเกี่ยวกับมัน ไม่คิดว่าเป็นการฝืนเกินไปหรือที่หันมาเป่าแซกโซโฟน

ผมชอบเล่นดนตรีและมีความรู้เรื่องโน้ตอยู่แล้ว เลยเริ่มต้นได้ไม่ยาก แต่ที่ยากจริง ๆ คือตอนซ้อม ผมได้ อาจารย์ป้อม-ดร.ภัทร ชมภูมิ่ง เป็นคนสอนเป่าแซกโซโฟน อาจารย์บอกว่าพื้นฐานต้องแน่น ถ้าเป่าแล้วเสียงไม่ดี ก็ไม่มีประโยชน์จะเล่นโน้ตอื่น เขาให้ผมฝึกลองโทนอยู่โน้ตเดียวเป็นครึ่งปี คือตลอดช่วงเวลานั้นผมเป่าอยู่เสียงเดียวเลยนะ เจออาจารย์ 3 เดือนครั้ง แกมาดูพัฒนาการ แล้วก็ให้กลับไปซ้อมมาใหม่ ระหว่างนั้นผมก็หาเทป หาซีดีของศิลปินแจ๊สมาฟังว่าเขาเล่นกันยังไง ศึกษาไปเรื่อย ๆ

เป่าโน้ตเดียวอยู่ครึ่งปี ไม่ท้อบ้างหรอ

โคตรท้อเลย ตอนนั้นอายุประมาณ 18 ปี ผมซ้อมเฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมง ซ้อมจนไม่ค่อยได้เรียน ไม่ค่อยได้เที่ยวกับเพื่อน ซ้อมจนแฟนบอกเลิก บ่อยครั้งที่กลับมาถามตัวเองว่าจะเป่าแซกไปทำไม แต่มันเริ่มต้นไปแล้วน่ะ ช่วงเวลานั้นแหละที่ทำให้ผมตระหนักว่า ไม่ว่าจะทำอะไร พื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าพื้นฐานคุณไม่แน่น ก็ไม่มีทางสำเร็จ จากนั้นก็เริ่มเล่นโน้ตอื่น ๆ จนประกอบเป็นเพลงได้ และมาเข้าเรียนต่อปริญญาตรีที่คณะศึกษาศาสตร์ มช. ผมก็ยังซ้อมให้อาจารย์ป้อมดูอยู่ จนเขาเห็นว่าเราน่าจะไปต่อได้ ทีนี้เขาก็หาทุนให้ไปเวิร์กชอปดนตรีที่โอไฮโอ สหรัฐอเมริกา เฉยเลย

ปอ ภราดล กับ 15 ปีธุรกิจบาร์แจ๊ส North Gate และบาร์เวิลด์มิวสิกแห่งใหม่ของเชียงใหม่

เป่าแซกโซโฟนจนได้เดินทางสมใจ

เออ เหมือนถูกหวย ผมได้ไปเรียนที่ Ohio State University เป็นเวิร์กชอปนักศึกษาดนตรีต่างชาติระยะเวลา 2 สัปดาห์ พอจบโครงการ ผมก็หาเรื่องอยู่อเมริกายาว 6 เดือนจนครบวีซ่า 

ไปทำอะไรนานขนาดนั้น

หางานทำและไปเรียนดนตรีเพิ่มด้วย พอจบจากโอไฮโอ จำได้ว่าตอนนั้นมีเงินติดตัวอยู่ 97 เหรียญฯ มีตั๋วไปนิวยอร์กแล้วแต่ไม่มีตั๋วกลับ แต่พอดีรู้จักคนไทยที่ย่านควีนส์ เขาทำงานก่อสร้างและกำลังรีโนเวตบ้านหลังหนึ่ง ผมก็ไปของานเขาทำ ช่วยเขาก่อสร้างบ้านหลังนั้น ตกกลางคืนก็นอนที่ไซต์ก่อสร้างนั่นเลย

เอางั้นเลย

ใช่ ขออภัย… แต่เหี้ยมาก คุณนึกออกไหม ไซต์ก่อสร้างมันเป็นฝุ่นทั้งหมด เตียงนอนก็เป็นฝุ่น เลยต้องหาผ้ามาคลุมไว้ พอจะนอนก็เอาผ้าที่คลุมฝุ่นออก ห้องน้ำก็ไม่มี ต้องไปใช้น้ำก๊อกในสวนสาธารณะ ถ้าจะเข้าห้องน้ำก็ต้องเดินไปอีก 2 บล็อก ลำบากชะมัด

ที่ทำทั้งหมดเพราะจะได้อยู่อเมริกาได้นานขึ้นอย่างนั้นหรอ

ไม่ ผมเรียนดนตรีด้วย ไปรู้จักกับนักดนตรีแจ๊สคนหนึ่งชื่อ Jason Gillenwater กำลังเรียนปริญญาโทที่ Manhattan School of Music เขาแนะนำให้ผมมาที่นิวยอร์กเพื่อเรียนดนตรีต่อกับเพื่อนของเขา วันไหนไม่ได้ไปเรียนก็ทำงานก่อสร้าง แล้วพออยู่ไปสักพักก็ได้ทำงานที่ร้านสัก ไปทำความสะอาดเครื่องมือ ล้างห้องน้ำ จนเจ้าของร้านเห็นว่าผมวาดรูปได้ ก็จ้างให้วาดรูปสำหรับทำรอยสัก ได้มาชั่วโมงละ 7.5 เหรียญฯ ก็เก็บเป็นค่าเรียน และอีกส่วนเป็นค่าตั๋วเครื่องบินกลับ

คุณได้เรียนรู้อะไรจากการไปอเมริกาครั้งนั้น

รู้ว่าจะเอาตัวรอดยังไง ทำยังไงก็ได้ให้ไม่ป่วยและไม่ตาย อันนี้สำคัญ ความที่เราไม่มีต้นทุน อยู่เชียงใหม่ว่าลำบากแล้ว อยู่ที่นิวยอร์กลำบากกว่าหลายเท่า แต่มันทำให้ผมเข้มแข็งขึ้นเยอะ ขณะเดียวกัน นอกจากได้พัฒนาฝีมือทางดนตรี ผมยังได้รู้อีกว่านักดนตรีที่นี่โคตรเก่ง พวกเขาเอาจริงเอาจัง เป็นมืออาชีพมาก ๆ และนั่นทำให้ผมตระหนักอยู่เสมอว่าเราแม่งกระจอก เราต้องซ้อมให้หนักกว่านี้ เล่นให้เก่งกว่านี้

ปอ ภราดล กับ 15 ปีธุรกิจบาร์แจ๊ส North Gate และบาร์เวิลด์มิวสิกแห่งใหม่ของเชียงใหม่

หลังจากกลับจากอเมริกา คุณทำอะไรต่อ

กลับมาเรียนจนจบ แล้วก็รับจ้างทั่วไป ใครจ้างให้วาดรูปอะไรก็วาด ตกกลางคืนก็เล่นดนตรี ผมมีวงอยู่สุดสะแนน และเล่นกับวงแจ๊สที่ริเวอร์ไซด์ทุกวันอาทิตย์ แต่เล่นที่หลังได้ประมาณ 2 – 3 ครั้ง เขาก็ไล่ผมออก บอกให้ผมไปซ้อมมาก่อน

นี่ขนาดไปซ้อมจากนิวยอร์กมาแล้วเนี่ยนะ

ใช่ คุณคิดว่ากลับมาจากอเมริกาแล้วคุณจะเก่งเลย ไม่ได้! ซึ่งผมก็ยอมรับสภาพนะ เหมือนชั่วโมงบินยังน้อย ก็ซ้อมหนักเข้าไปอีก แล้วระหว่างนั้นพอทำงานเก็บเงินได้จำนวนหนึ่ง ก็ไปโบกรถเดินทาง เล่นดนตรีเปิดหมวกหาเงิน จบทริปก็กลับมาก็หางานทำวนเวียนอยู่อย่างนี้ 

ช่วงนั้นคุณเดินทางไปไหนมาบ้าง

เริ่มจากใกล้ ๆ ก่อน จากเชียงใหม่ลงกรุงเทพฯ โบกไปทั่วประเทศ จากนั้นก็ไปลาว เวียดนาม กัมพูชา อีกทริป กลับมาทำงานได้อีกสักพักก็ไปจีน ไปญี่ปุ่น จนตอนหลังมาทำนอร์ทเกท ก็ไปทรานไซบีเรีย รัสเซีย และยุโรป ค่อย ๆ ไกลออกไปเรื่อย ๆ ว่าไปก็เหมือนการซ้อมเป่าแซกนะ คุณเริ่มจากโน้ตง่าย ๆ แล้วก็ค่อยพัฒนาไปโน้ตยาก ๆ จนพื้นฐานแน่น คุณก็จะอิมโพรไวซ์ต่อได้เอง

แล้วความคิดที่จะเปิดนอร์ทเกทนี่มาตอนไหน

ตอนอยู่ญี่ปุ่น ปีนั้นคือปี 2007 ผมกลับไปที่เกียวโตอีกครั้ง และเล่นดนตรีเปิดหมวกอยู่ที่นั่นประมาณ 3 เดือน ระหว่างนั้นก็ซ้อมไปด้วย ช่วงนั้นผมซ้อมจนรู้สึกตกผลึก รู้สึกพร้อมที่จะเล่นดนตรีจริงจังแล้ว แต่จะให้เล่นที่ไหนล่ะ ก็เลยคิดกลับมาทำแจ๊สบาร์ที่เชียงใหม่   

ปอ ภราดล กับ 15 ปีธุรกิจบาร์แจ๊ส North Gate และบาร์เวิลด์มิวสิกแห่งใหม่ของเชียงใหม่

ตอนที่ 3
บาร์แจ๊สแห่งแรกของนักดนตรีผู้ไม่เคยคิดจะทำธุรกิจ

พอตัดสินใจเปิดนอร์ทเกท ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นที่คุณต้องอยู่กับร้านเพื่อคอยบริหารและบริการลูกค้า สิ่งนี้ไม่ขัดแย้งกับชีวิตของคุณที่ชอบการเดินทางไปเรื่อย ๆ บ้างหรือ

แน่นอน แต่ผมคิดว่าชีวิตเราก็ควรมีหลักแหล่ง มีความมั่นคงในระดับหนึ่งได้แล้ว ตอนนั้นผมก็มีแฟน และคิดว่าถ้าเราทำแบบเดิมต่อไป ก็คงไปไม่รอด หนี้สินจากการกู้มาเรียนก็ยังใช้ไม่หมด ไม่มีเงิน ไม่มีบ้าน ไม่มีรถ ไม่มีเหี้ยอะไรเลย (หัวเราะ) ผมเริ่มธุรกิจแรกของตัวเองจากศูนย์

แล้วเริ่มได้ยังไง

ยืมเงินยายมา 7,000 บาท ที่เหลือใช้การลงขันกับเพื่อน ความที่มีเพื่อนนักดนตรีอยู่หลายคน ลงกันคนละหมื่น สองหมื่น ขายไอเดียให้ว่ามาหุ้นกัน มาเล่นดนตรีด้วยกัน และขายเครื่องดื่ม พอร้านมีกำไร ก็แบ่งเงินกัน โชคดีที่ไปเจอตึกให้เช่าตรงประตูช้างเผือก ทุกคนก็เอาเครื่องดนตรีมารวมกัน ซ้อมกันสักพัก แล้วก็เปิดร้าน จำได้ว่าเปิดวันแรกยังไม่มีโต๊ะเก้าอี้ คนดูยืนกันไปก่อน แต่วันเปิดคนมาเยอะมาก เราขายเครื่องดื่มได้ประมาณ 26,000 บาท ก็เอาเงินมาทำร้าน ซื้อโต๊ะ ซื้อเก้าอี้ จากนั้นพอขายได้อีก ก็เอามาซื้อเครื่องดนตรี

นอร์ทเกทเป็นบาร์แจ๊สแห่งแรกในเชียงใหม่ที่มีวงเล่นสดเลยไหม

ไม่ใช่ ผมไม่รู้ว่าบาร์แจ๊สแห่งแรกคือที่ไหน แต่ก่อนผมเปิดนอร์ทเกทมีบาร์ชื่อบาริโทน ของ อาจารย์เต๊ะ-อิทธินันท์ อินทรนันท์ แต่ปิดตัวไปได้สักพักใหญ่แล้ว ตอนนอร์ทเกทเปิดนี่ เชียงใหม่ยังไม่ค่อยมีบาร์ที่มีไลฟ์แจ๊สอย่างเดียว นักดนตรีแจ๊สส่วนหนึ่งเขาไปเล่นเปิดหมวกที่ถนนคนเดินวันอาทิตย์ ผมก็ไปเล่นด้วย เลยรู้จักเพื่อนนักดนตรีเยอะ จึงมั่นใจว่าอย่างน้อยเรามีวงดนตรีมาเล่นที่ร้านแล้ว

แล้วกับลูกค้าล่ะ ตอนนั้นมั่นใจว่าจะมีไหม 

ไม่เลย ไม่มั่นใจ แค่คิดว่าต้องทำก่อน จำได้ว่าก่อนเปิดร้านมีเพื่อนคนไทยคนหนึ่งเอาเงินมาหุ้นด้วย แต่พอร้านจะเปิดแล้ว เขามาขอถอนหุ้นคืน บอกว่าน่าจะไม่เวิร์ก ตึกเราอยู่ใกล้หัวมุมในคูเมือง ที่จอดรถไม่มี และย่านนั้นเมื่อ 15 ปีก่อน ก็มืด ๆ ไม่พลุกพล่านเหมือนทุกวันนี้ ในฐานะผู้ประกอบการก็ล้มลุกคลุกคลานหนักอยู่ แต่ก็ผ่านมาได้

Mahoree City of Music (มโหรี) จ.เชียงใหม่

จำได้ว่าพอนอร์ทเกทเปิด คนก็มาฟังเพลงที่พวกคุณเล่นกันแน่นทุกคืน ล้มลุกคลุกคลานยังไง

ผมไม่เคยทำธุรกิจเลย ทำบัญชีก็ไม่เป็น พอขายเครื่องดื่มได้ ก็ให้พนักงานเอาเงินใส่ถุงพลาสติก ร้านปิดก็แบ่งเงินให้นักดนตรี แบ่งให้หุ้นส่วน แล้วก็เอาไปซื้อเครื่องดื่มมาขายต่อ สิบปีแรกนี่เราขายดี แต่ผมไม่ได้กำไร มีแค่พอใช้ และมารู้ทีหลังอีกว่าโดนพนักงานโกงเงินไปเป็นล้าน เขาโกงเรามาหลายปีแล้ว ตอนนั้นโคตรเฟลเลยนะ โดนโกงก็เรื่องหนึ่ง แต่เราไว้ใจเขา มองเขาเป็นน้องเป็นเพื่อนน่ะ คุณเคยดูคลิปรายการโคตรเฟลไหม อยากให้ผู้จัดมาเชิญผมไปออกรายการที

นี่ขนาดคุณบริหารร้านเอง

อย่าเรียกว่าบริหาร เรียกว่าปล่อยปละละเลยดีกว่า

ไม่ได้กำไรจริง ๆ หรอ

จนมาจัดการใหม่ ทำบัญชีเอง จดสต็อกสินค้าเป็นแล้ว ก็พบว่ากำไรโคตรเยอะ อันนี้ฝากกับผู้อ่านทางบ้านเลยนะครับ ถ้าใครจะทำธุรกิจ คุณจำเป็นต้องไปเรียนรู้เรื่องบัญชี รู้จักออร์แกไนซ์ แล้วเรื่องการจัดการความสัมพันธ์กับทีมงานก็สำคัญ

ผมว่าผู้อ่านทางบ้านเขาตระหนักเรื่องนี้อยู่แล้วนะ

เออก็จริง อาจเพราะผมเรียนรู้เรื่องนี้ด้วยตัวเอง เจ็บเองมาก่อน เลยเพิ่งตระหนัก  

แล้วนอกจากเรื่องรายได้ กับการมีพื้นที่ให้คุณเล่นดนตรีของตัวเอง คุณคิดว่ามีจุดไหนอีกที่บ่งชี้ว่า การที่คุณเลือกเปิดนอร์ทเกทมันประสบความสำเร็จ 

นอร์ทเกทมีส่วนก่อรูปคลื่นสังคมคนเล่นดนตรีในเชียงใหม่ขึ้นมา เรามีนักดนตรีทั้งคนไทยและต่างชาติมาเล่นให้ และมีเครือข่ายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เราได้เล่นด้วยกัน ได้ฝึกซ้อม ได้พัฒนาทักษะทุกวัน ผมมองว่านอร์ทเกทคือหมุดหมายเล็ก ๆ หมุดหนึ่ง เหมือน พี่ตุ๊ก (วัชร เจริญพร) เคยทำที่ร้าน Brasserie หรืออาจารย์ของผม อย่างอาจารย์มนูญและอาจารย์ป้อมพยายามผลักดัน เหมือนผมปลูกต้นไม้ในที่ดินที่ใหญ่พอ อย่างน้อยในสังคมดนตรีเชียงใหม่ก็มีของเราตรงนี้อีกหนึ่งต้น ซึ่งขึ้นพร้อมกับอีกหลาย ๆ ต้นที่มีคนปลูกมาก่อน ไม่ได้มีแค่เรา 

อีกเรื่อง ซึ่งสำคัญมาก คือการได้เล่นดนตรีให้คนฟัง ผมนึกถึงคำพูดของอาจารย์มนูญเสมอที่บอกว่าดนตรีเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ มันเปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกคนได้ ถ้าเรามีที่เล่นประจำ เล่นดนตรีในแบบที่เราอยากเล่น และคนดูเอ็นจอยกับมัน มีคนจากทั่วโลกเดินทางมาเชียงใหม่ และมาดูเราเล่นดนตรี แค่นี้เลย ความสำเร็จ

แล้วในเชิงรูปแบบร้าน เป็นอย่างที่ตั้งใจไว้แต่แรกไหม

ตั้งใจไว้แต่แรกคือมีที่ให้ผมและเพื่อนได้เล่นดนตรีและหารายได้ แต่นอร์ทเกทตอนนี้ผมมองว่าไม่ใช่แค่พื้นที่ดนตรีแจ๊ส พูดให้ดูดีหน่อยคือ มันเป็น World Community จุดพักของนักเดินทางที่มาในเชียงใหม่ คล้ายกับ Twitter ในพื้นที่จริงที่มีคนจากทั่วโลกมา Tweet ข้อความในเชิงบวกน่ะ สมัยก่อนร้านเราจะมีวัน Jam Session เปิดให้ใครก็ได้มาแจมบนเวที นอกจากนักดนตรีแล้ว ยังมีคนมาเล่นมายากล เดี่ยวไมโครโฟน บางคนเล่นกายกรรมถึงกับเอาเชือกมาขึงกลางร้านและเดินไต่โชว์ แม่งโคตรหลอนเลย (หัวเราะ)

Mahoree City of Music (มโหรี) จ.เชียงใหม่

เพราะบรรยากาศแบบนี้ด้วยไหม เมื่อคุณทำนอร์ทเกทจนอยู่ตัวแล้วคุณร่วมกับเพื่อนเปิดบาร์ท่าแพอีสต์ (Thapae East) ต่อที่เวิ้งเหล็กแดง

ส่วนหนึ่งก็ใช่ นอร์ทเกทถูกจดจำในฐานะพื้นที่ดนตรีแจ๊สไปแล้ว แล้วสิ่งที่หลุดไปจากนั้นมันไม่ค่อยทำงานเลย อย่างที่บอกว่าเราเคยทำ Jam Session และมีคนเอาสิ่งต่าง ๆ มาแจมเยอะไปหมด แต่เอาเข้าจริง อาจด้วยบรรยากาศ สถาปัตยกรรม และ Circulation ภายใน นอร์ทเกทไม่ตอบโจทย์กับสิ่งอื่นที่ไม่ใช่แจ๊สโชว์ ก็เลยคุยกับเพื่อนว่าน่าจะทำอีกที่ให้เป็น Free Improvisation เรามีดนตรีสดยืนพื้น แต่คุณจะมาโชว์ มาทอล์กอะไรก็เปิดหมด เราเลยตั้งชื่อให้เป็น Thapae East – Venue for Creative Arts เพราะตั้งใจให้ฟังก์ชันเป็นอย่างนั้น ปีนี้ท่าแพอีสต์เปิดมา 7 ปี และผมก็เพิ่งขายหุ้นไปแล้ว

ทำไมล่ะ

สุดท้ายผมคิดว่าผมถนัดกับการทำโชว์ดนตรีมากกว่า ท่าแพอีสต์ผลตอบรับดีมากเลยนะ แต่ส่วนตัวผมเอง ผมมองว่าตัวเองทำได้ไม่สุด เหมือนมีเชลโลอยู่ แต่ว่าผมเล่นไม่เป็น ไม่รู้จะจัดการกับ String Quartet นี้ยังไง เลยคิดว่าให้คนอื่นที่เขาถนัดมาทำต่อดีกว่า แล้วก็พอดีกับที่จะเปิดมโหรี เราก็ต้องแบ่งเวลามาบริหาร จึงเพิ่งตัดสินใจก่อนเปิดร้านนี้ไม่นาน 

ตอนที่ 4
มโหรี เวิลด์มิวสิก ผลผลิตจากการเดินทาง

คุณเป็นนักดนตรีแจ๊สที่เปิดบาร์แจ๊ส คิดยังไงถึงหันมาเปิดบาร์ที่เล่นเวิลด์มิวสิก

ผมมองในภาพรวมของเมืองน่ะ อย่างที่รู้กันเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับนานาชาติ ขณะเดียวกันเมืองก็มีรากทางวัฒนธรรมที่สั่งสมมานานมาก ทั้งวัฒนธรรมล้านนาและกลุ่มชาติพันธุ์ ขณะเดียวกัน ความที่ผมเคยโบกรถเดินทางไปที่ต่าง ๆ ก็มีโอกาสได้ฟังดนตรีพื้นถิ่นของที่นั่น และเมื่อต้องไปเล่นดนตรีเปิดหมวก และไปแจมกับนักดนตรีตามเมืองนั้น ๆ ด้วย ผมจึงต้องพยายามเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ Harmony และ Rhythm ที่หล่อหลอมพวกเขาไว้ จากความผูกพันตรงนี้ ทำให้ผมพบว่าดนตรีของโลกเป็นเรื่องใหญ่ เป็นศักดิ์ศรีของมนุษย์ในแต่ละวัฒนธรรม และเชียงใหม่ควรมีพื้นที่นำเสนอดนตรีเหล่านี้ออกมา

Mahoree City of Music (มโหรี) จ.เชียงใหม่

เหมือนรวบรวมดนตรีพื้นถิ่นที่เมืองเรามีมาเล่นในที่เดียว

อีกเรื่องคือ ผมมองว่ามันคือการทำให้เท่าเทียมด้วย ก่อนหน้านี้ไม่นาน คุณได้ข่าวดราม่าวงคลีโพ (Klee Bho) ไหม วงดนตรีชาวปกาเกอะญอที่ไปเล่นในเทศกาลดนตรีชนเผ่างานหนึ่ง แล้วผู้จัดงานเขาก็พูดจาแบบไม่ให้เกียรติ แถมยังประกาศชื่อวงเขาออกเวทีแบบขำ ๆ ว่า ‘คลีโพพัตรา’ อีกน่ะ

มันเป็นเพนพอยต์หนึ่งของสังคมเหมือนกันนะ แม้ช่วงหลัง ๆ เราพยายามเปิดพื้นที่ให้ความหลากหลาย โดยเฉพาะกับพื้นที่ทางวัฒนธรรมชนเผ่า แต่ในขณะเดียวกัน ทัศนคติของผู้จัดงานด้านศิลปวัฒนธรรมบางส่วนยังมองพี่น้องชนเผ่าว่าอยู่ในสถานะที่ต่ำกว่า ไม่มีความศิวิไลซ์ ไม่ถูกยอมรับให้เป็นศิลปะในระดับสากล ผมเลยตั้งใจชวนกลุ่มคนเหล่านี้มาเล่นดนตรีในแบบของพวกเขาที่ร้านเรา วงดนตรีทุกวงไม่ว่าจะเล่นดนตรีแนวไหนย่อมมีศักดิ์ศรีที่เท่าเทียม รวมถึงคนเล่นและผู้ฟังก็เท่าเทียมกัน 

เห็นว่าคุณทำเทศกาล Chiang Mai Street Jazz Festival และพยายามนำดนตรีพื้นถิ่นมาผสานกับแจ๊ส คุณเปิดมโหรีเพราะอยากมีพื้นที่แสดงประจำให้ดนตรีเหล่านี้หรือ

อย่างที่บอก Chiang Mai Street Jazz คือความพยายาม สถานที่จัดแสดงในเทศกาลก็ไม่ใช่ที่ทางของเวิลด์มิวสิกจริง ๆ เหมือนแนวคิดทางสถาปัตยกรรม ถ้าพยายามเอาทุกอย่างมายัดรวมกันไม่เวิร์กหรอก

ด้วยเหตุนั้น คุณจำเป็นต้องออกแบบพื้นที่ใหม่ให้มัน ผมเชื่อเรื่องการออกแบบพื้นที่เฉพาะเพื่อรองรับจิตวิญญาณเฉพาะ ให้เขามีชีวิตของเขาเอง ซึ่งในที่นี้หมายถึงพื้นที่เพื่อการแสดงและรับฟังเวิลด์มิวสิก ก็เลยคุยกับทีมงานอยู่ 6 เดือน หาที่ตั้งร้าน การตบแต่งภายใน คัดสรรศิลปินที่มาเล่น และออกแบบเครื่องดื่มที่รับกับบรรยากาศ

และอีกแรงบันดาลใจสำคัญก็คือเทพบาร์ในซอยนานาที่กรุงเทพฯ ผมชื่นชมเขามาก เขานำดนตรีไทยเดิมมาแสดง พร้อมกับออกแบบสถาปัตย์ อาหาร และเครื่องดื่ม ให้มีความเป็นไทยร่วมสมัย ทำให้สิ่งที่คนมองว่ามันพ้นยุคไปแล้วกลับมามีชีวิตชีวา ผมก็หยิบโมเดลนี้มาใส่กับความเป็นเมืองเชียงใหม่ด้วย

Mahoree City of Music (มโหรี) จ.เชียงใหม่

แล้วนักดนตรีล่ะ คุณไปหาศิลปินจากไหนมาเล่นกับคุณได้หลากหลายแนวขนาดนี้

เชียงใหม่เรามีศิลปินหลากหลายมากนะ ทั้งคนเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ หรือคนต่างถิ่นและต่างชาติที่มาอยู่ แป้ง-รัสมี เวระนะ ที่เอาดนตรีโซลมาร้องด้วยสำเนียงอีสาน ก็เริ่มต้นที่เชียงใหม่ ขณะเดียวกันดนตรีพื้นถิ่นก็มีคนเล่นเยอะ แต่ส่วนใหญ่เขาจะเล่นในงานบวช ดนตรีเหล่านี้คือความบันเทิง เป็นศิลปะ และมันควรเผยแพร่ให้กว้างกว่าพื้นที่ทางพิธีกรรมหรือความเชื่อ นอกจากนี้ พัน (พันธวัจน์ นาวิก) หุ้นส่วนร้านเราก็เป็นอาจารย์สอนดนตรีที่มหาวิทยาลัยพายัพ เลยได้เจอลูกศิษย์เก่ง ๆ ที่เล่นดนตรีในกรอบของเวิลด์มิวสิกหลากหลายอยู่ไม่น้อย เรื่องวงดนตรีเลยไม่มีปัญหา

มีวงดนตรีเล่นให้ร้านคุณกี่วง

ตอนนี้มี 24 วง เล่นคืนละ 3 วง บางวันก็มีดีเจมาเปิดเพลงด้วย

แม้หลายคนจะรู้ว่าเวิลด์มิวสิกคืออะไร แต่กับลูกค้าบาร์ของคุณล่ะ เขาเข้าใจในสิ่งที่คุณนำเสนอไหม เพราะในคืนคืนหนึ่งคุณอาจมีทั้งวงที่เล่นระนาด อีกวงมาเล่นสะล้อ ซอ ซึง หรือมีคนมาฟ้อนรำ ก่อนจะมีอีกวงมาเล่นบลูส์ แจ๊ส หรือเดี่ยวเปียโนไปเลย 

ผมแทบไม่กังวล มโหรีคือร้านที่ต้องอยู่ที่เชียงใหม่ ถ้าไปอยู่เมืองอื่นอาจไม่รอด ธรรมชาติของคนเชียงใหม่ หรือคนที่มาเชียงใหม่เขาพร้อมเปิดรับสิ่งเหล่านี้อยู่แล้วนะ เมืองเรามีคนฟังเพลงที่หลากหลาย และถ้าไม่ใช่เพราะเหตุนี้ นอร์ทเกทก็อยู่มาได้ไม่นานขนาดนี้หรอก

ผมตั้งใจให้มโหรีมีความ Chaotic ประมาณหนึ่ง มีความอิมโพรไวซ์แบบแจ๊ส อย่างวงของเพื่อนผมชื่อ Gypsy Lanna ที่เล่นแนวยิปซีแจ๊ส เล่น ๆ อยู่ คนที่ฟังเพลงอีสานเขาก็อาจมี Perception ว่าเฮ้ย จริง ๆ ดนตรีอีสานเอามาทำแนวยิปซีก็ได้นี่ เพราะท่วงทำนองเชื่อมกันได้ เหมือนที่ผมเดินทางไปเล่นเปิดหมวกที่ต่างประเทศมา หลาย ๆ คนที่ผมแจมกับเขา เราก็พูดกันคนละภาษา คุยกันไม่รู้เรื่อง แต่พอเล่นดนตรี เรากลับเชื่อมโยงกันได้ มันก็สัมพันธ์กับเรื่องบรรยากาศของเมืองเชียงใหม่ด้วย เราเป็นเมืองที่มีวัฒนธรรมและพื้นฐานความเชื่ออันหลากหลาย แต่มันก็อยู่มาได้อย่างกลมกล่อมมาหลายร้อยปี

เหมือนมาดื่มเหล้าพร้อมกับเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ทางดนตรี

การออกแบบพื้นที่ก็สำคัญ ที่บอกไปว่าเราใช้เวลาเตรียมร้านนี้ถึงครึ่งปี หลัก ๆ คือการออกแบบสถานที่ เรารีโนเวตร้านจากตึกเก่าความสูง 2 ชั้นที่เคยเป็นเนอร์สเซอรี่ เป็นความโชคดีที่ผมบังเอิญมาเจอตอนที่เขาติดป้ายประกาศให้เช่า และเป็นโชคดีอีกที่ตึกหลังนี้มีพื้นที่สวนยาวด้านหลัง ผมก็เลยขอให้ เม (วรวิทย์ นนทิกรนารีรัตน์) เพื่อนที่เป็นสถาปนิกช่วยคุมงานรีโนเวตร้านนี้ ให้ช่างคว้านผนังด้านหลังให้ทะลุไปถึงสวนด้านหลัง 

เราไม่ได้อยากให้ที่นี่เป็นแค่บาร์ให้คนมาฟังเพลง แต่ยังมาคุยกันที่สวนหลังร้าน หรือในขณะเดียวกัน ถ้าคุณไม่เข้าใจดนตรีของวงที่กำลังเล่นบนเวที หรือไม่อยากปะทะกับมันมากไป คุณก็เลือกมานั่งคุยกันข้างหลังได้ เหมือนพื้นที่ให้ได้พัก

Mahoree City of Music (มโหรี) จ.เชียงใหม่

วงคุณเล่นที่นี่ด้วยไหม

ไม่ได้เล่นประจำ จะมาแจมบ้าง แต่หลัก ๆ ก็เล่นที่นอร์ทเกท ผมว่าเล่นที่นี่ยากกว่านอร์ทเกทนะ เพราะมันใกล้กับผู้ชมมากกว่า ถ้าเล่นผิดนี่คนดูจับได้ทันทีเลย นอร์ทเกทเป็นบาร์เปิดที่อยู่ริมถนน มี Noise เข้ามาเยอะ มันดูดิบกว่า แต่ในเชิงคนเล่นก็ดูผ่อนคลายมากกว่า

นอกจากสถาปัตยกรรมและบรรยากาศ ทำเลของร้านมีส่วนกับสิ่งที่คุณอยากนำเสนอไหม

โคตรสำคัญ ร้านเราอยู่ในสี่เหลี่ยมคูเมือง ผมชอบย่านคูเมืองนะ ใจเราอยู่ที่ไหน ก็อยากทำร้านตรงนั้น ตอนทำท่าแพอีสต์ซึ่งอยู่ท่าแพ ซึ่งห่างจากคูเมืองไม่เท่าไหร่ ผมยังรู้สึกว่าไกลไปด้วยซ้ำ ผมชอบบรรยากาศที่นี่ ตึกเก่า วัดเก่า ผู้คนหลากเชื้อชาติที่ใช้ชีวิตร่วมกับคนพื้นถิ่น และพื้นที่ของร้านก็โอเค ทั้งเล็กพอดี และใหญ่มากพอทำให้ดนตรีสร้างความสัมพันธ์ 

เห็นว่าคุณเป็นตัวตั้งตัวตี ชวนผู้ประกอบการแถวนี้จัดเทศกาลด้วย

ใช่ ต้องบอกอย่างนี้ ร้านผมอยู่ย่านกลางเวียง บนถนนพระปกเกล้าตัดกับถนนราชดำเนิน ตรงนี้เป็นศูนย์กลางของย่านเมืองเก่า มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาเยอะมาก ทีนี้พอมีโควิด-19 ธุรกิจแถวนี้ก็ล้มหายตายจากกันไปเกือบหมด แล้วพอโควิดเริ่มซา ก็มีผู้ประกอบการรุ่นใหม่เห็นศักยภาพของย่าน เลยเข้ามาเช่าทำธุรกิจกันใหม่ รวมถึงร้านของผมด้วย

ผมมองว่าไหน ๆ แล้ว เราน่าจะรวมกลุ่มคุยกัน ปรึกษาหารือกัน เป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกันดีกว่า คุณนึกออกไหม เราไม่อยากเห็นบรรยากาศที่คุณไปนั่งร้านอาหารตามสั่งกับเพื่อน แต่อยากกินก๋วยเตี๋ยวอีกร้าน ปรากฏว่าสั่งมาไม่ได้เพราะเจ้าของร้านเขาไม่ถูกกัน ก็เลยชวนผู้ประกอบการในย่านมาทำความรู้จักกัน พูดคุยกันในสวนหลังร้านนี้ และชวนทำกิจกรรมด้วยกันเสียเลย

ผมเพิ่งจัดเทศกาล ‘เข้าซอย’ (Khao Soi Art & Music Festival) ไปเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน เป็นเทศกาลเชิงครีเอทีฟเล็ก ๆ ที่ให้ผู้ประกอบการมาร่วมกับคนในย่านและผู้มาเยือน มี Walking Tour มินิคอนเสิร์ต ฉายหนัง แสดงงานศิลปะ และอื่น ๆ คล้ายชวนคนในย่านเปิดบ้านให้ผู้มาเยือนได้ร่วมกิจกรรมกัน นอกจากได้รู้ว่าใครทำอะไร มีอะไรสวย ๆ งาม ๆ และสนุก ๆ ให้ชม คนในย่านก็ยังได้สานสัมพันธ์กัน เป็นงานเล็ก ๆ แต่เสียงตอบรับค่อนข้างดี และคิดว่าจะจัดกันทุกปีหลังจากนี้

เหมือนเปิดตัวภาพลักษณ์ใหม่ของย่านที่คุณอยู่ด้วย    

ผมมองว่าโลกยุคใหม่เขาไม่ได้พูดถึงประเทศ แต่เขาพูดถึงเมือง ยิ่งไปกว่านั้นคือเรื่องย่าน หลายคนมาประเทศไทย เขาอาจไม่ได้มองว่ามาเที่ยวเมืองไทย แต่เขาคิดว่าจะมาเที่ยวเชียงใหม่ หรือกรุงเทพฯ หรือภูเก็ต หรือเมืองอะไรก็ว่าไป ยิ่งไปกว่านั้นเขาอาจมีย่านที่เขาอยากไปพักหรืออยากไปเที่ยว 

ไอ้โลกยุคหลังโควิดเนี่ย มันโหดตรงที่ว่าเมืองไหนออร์แกไนซ์เมืองหรือย่านของตัวเองไม่ได้ มันก็จะฟื้นตัวยาก และย่านมันเป็น Collective Minds บางทีคุณอาจอยากไปเที่ยวเมืองใดเมืองหนึ่ง เพียงเพราะเห็นว่าย่านนี้ช่างมีเสน่ห์ก็เป็นได้ หรือในทางกลับกัน อย่างโศกนาฏกรรมจากปาร์ตี้ฮาโลวีนที่อิแทวอนในโซลก็ส่งผลกระทบโดยรวมกับย่านทั้งย่าน รวมถึงเมืองทั้งเมืองด้วยเช่นกัน

การมีโอกาสได้โบกรถเดินทางมีส่วนต่อโลกทัศน์ของผมอย่างมีนัยสำคัญ ยิ่งเดินทางมาก ก็ยิ่งเห็นว่าโลกนี้คือหนึ่งเดียวกัน แน่นอน คุณไม่มีทางทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้นได้ทั้งหมดหรอก แต่ถ้าเราทำชุมชน ทำย่านของเราให้ดี อย่างน้อยที่สุด โลกของคุณก็อาจน่าอยู่ขึ้นมาได้

Mahoree City of Music (มโหรี) จ.เชียงใหม่

โอเค คำถามสุดท้าย กลับมาเรื่องธุรกิจบาร์ คุณทำนอร์ทเกทมาแล้ว 15 ปี ท่าแพอีสต์อีก 7 ปี และมโหรีที่เพิ่งเริ่มนี้ ความท้าทายที่สุดของธุรกิจประเภทนี้คืออะไร

(นั่งคิดสักพัก) การเข้าใจจิตวิญญาณของศิลปินน่ะ หัวใจของธุรกิจคือการแสดงสด ซึ่งมีฟันเฟืองหลักคือนักดนตรี และคุณเข้าใจใช่ไหมว่าอาร์ติสต์ เขาติสต์กันจริงๆ ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาเป็นคนเรื่องมากหรือเอาใจยาก แต่ในฐานะผู้ประกอบการ คุณต้องมองเห็นคุณค่าแบบเดียวกับที่ศิลปินที่มาเล่นให้คุณเห็น ถ้ามองคุณค่าไม่ตรงกันก็ไปกันไม่รอด เหมือนต้องซื้อใจเขานั่นแหละ แต่จะซื้อด้วยอะไรก็ไปคิดเอาเอง

หลายปีก่อน มีผู้ประกอบการรายหนึ่งหันมาเปิดบาร์แจ๊สแถวนิมมานเหมินท์ เขาทำทุกอย่างเหมือนที่เราทำกับนอร์ทเกทเป๊ะ กระทั่งจ้างวงดนตรีที่เล่นประจำให้เรามาเล่นให้เขาด้วย ไลน์อัปเดียวกันเลย ปรากฏว่าอยู่ได้ไม่นานก็ปิดตัวไป ผมไม่รู้เรื่องภายในของเขาหรอก แต่คิดว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้บาร์แห่งนี้ไม่ยั่งยืน อาจเป็นเพราะเขาซื้อใจนักดนตรีที่เล่นให้เขาไม่ได้

กลับมาเรื่องเดิม เพราะเขาอาจไม่ได้ออกแบบพื้นที่ทางจิตวิญญาณที่เป็นของเขาเอง จิตวิญญาณในที่นี้หมายรวมทั้งนักดนตรีและเสียงดนตรี มันต้องการพื้นที่สิงสถิต แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะสิงที่ไหนก็ได้ เราสิงในพื้นที่ที่มันใช่ ขณะเดียวกันพื้นที่ก็ต้องยอมให้จิตวิญญาณสิงด้วยนะ ต้องมาคู่กันในเวลาที่เหมาะสม เหมือนเป็นพิธีกรรม หลายวงที่เล่นให้นอร์ทเกทก็เล่นมาตั้งแต่เปิดร้าน บางวงแยกตัวไปแล้ว แต่สมาชิกบางส่วนก็วนเวียนมาแจมกับเราอยู่ เรื่อยมาจนถึงมโหรี ก็มีศิลปินจากนอร์ทเกทไปเล่นด้วยเช่นกัน

แล้วอะไรที่ทำให้คุณซื้อใจนักดนตรีได้นานขนาดนี้

ไหนคุณบอกเมื่อกี้คำถามสุดท้ายแล้วไง

เออ ไม่รู้สิ… ผมเป็นนักดนตรีด้วยมั้ง เราเล่นดนตรีด้วยกัน เข้าใจกัน และเป็นเพื่อนกัน แค่นั้นเลย  

Mahoree City of Music (มโหรี) จ.เชียงใหม่

Mahoree City of Music (มโหรี)

ที่ตั้ง : 208 1 ถ.พระปกเกล้า ต.ศรีภูมิ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ เยื้องกับโชว์รูมบริษัทเจริญมอเตอร์ (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ​ : เปิดทุกวัน 18.30 น. – เที่ยงคืน

Writer

Avatar

จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์

ประกอบอาชีพรับจ้างทำหนังสือ แปลหนังสือ และผลิตสื่อ ใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีงานอดิเรกคือเขียนเรื่องสั้นและนวนิยาย ผลงานล่าสุดคือรวมเรื่องสั้น ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ