พันธุ์ศักดิ์ จักกะพาก คือพฤกษศิลปิน (Botanical Artist) ระดับปรมาจารย์ ผู้บุกเบิกวงการพฤกษศิลป์ (Botanical Art) คนแรกๆ ในประเทศ

เทคนิคการลงสีน้ำโดยไม่ใช้ดินสอร่างโครงจัดองค์ประกอบล่วงหน้า การวาดภาพพรรณพฤกษาบนพื้นหลังสีขาวสะอาด รวมทั้งสารพัดหมัดเด็ดอันเอกอุชนิดหาตัวจับยาก ซึ่งได้รับถ่ายทอดโดยตรงจาก อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ ในฐานะศิษย์ก้นกุฏิ ทำให้ผลงานเขาโดดเด่นเข้าตา ดร.เชอร์ลีย์ เชอร์วูด (Dr. Shirley Sherwood OBE) นักพฤกษศาสตร์และนักสะสมภาพพฤกษศิลป์ชาวอังกฤษชื่อดัง ผู้สะสมผลงานของพันธุ์ศักดิ์มากถึง 45 ภาพ ใน The Shirley Sherwood Collection คอลเลกชันซึ่งดีที่สุดในโลกที่ Royal Botanic Gardens Kews

chakkaphak

เพียงได้มีภาพเขียนจัดเก็บอย่างพิถีพิถันในคอลเลกชันระดับโลกนั้นว่ายากแล้ว แต่ทุกคราวที่ ดร. เชอร์วูด แปรอาร์ตพีซในคลังส่วนตัวเป็นหนังสือหรือนิทรรศการ พันธุ์ศักดิ์คือศิลปินลำดับต้นๆ ผู้ได้รับเลือกผลงานไปจัดแสดงด้วยสัดส่วนมากเป็นพิเศษเสมอ 

พันธุ์ศักดิ์​ จักกะพาก พฤกษศิลปินไทยคนเดียวที่มีผลงานใน Shirley Sherwood Collection
พันธุ์ศักดิ์​ จักกะพาก พฤกษศิลปินไทยคนเดียวที่มีผลงานใน Shirley Sherwood Collection

ภาพดอกบัวสวรรค์ ได้จัดแสดงคู่กับภาพของ มาร์กาเร็ต มี (Margaret Mee) พฤกษศิลปินรุ่นใหญ่ และภาพดอกบัวหลวง ได้รับเลือกให้เป็นภาพปก Press Kit ในการประชุมของสมาคมพฤกษศิลป์ฝรั่งเศส (Société Française d’Illustration Botanique) ประจำ ค.ศ. 2016 ต่างตะโกนกึกก้องถึงฝีไม้ลายมือที่นานาชาติให้การยอมรับได้ด้วยตัวมันเอง

และนั่นทำให้รางวัลนักออกแบบแห่งปี (Designer of the Year) สาขา Honor Awards ตกเป็นของเขาโดยดุษณี

วันนี้เราขอบุกสตูดิโอแหล่งสร้างสรรค์งานชั้นครู สนทนากับอาจารย์พันธุ์ศักดิ์ถึงเส้นทางชีวิตบนถนนสายศิลปะ แกะแนวคิดและถอดบทเรียนสู่ศิลปินรุ่นหลัง ผ่านประสบการณ์รังสรรงานอันทรงคุณค่า

01 “จะให้ได้ดีอะไรสักอย่างต้องใช้เวลา อย่าไปเสียเวลากับอย่างอื่นเลย”

ชีวิตหลังจบคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ของพันธุ์ศักดิ์นั้นแสนสนุกซับซ้อน เขาบินไป-กลับไทย-สหรัฐอเมริกาหลายครั้ง ทั้งเพื่อไปเรียนและทำร้านอาหาร จึงต้องเข้า-ออกงานในบริษัทโฆษณาชื่อดังสัญชาติอเมริกันหลายคราว แต่จุดเปลี่ยนสำคัญคือการได้รู้จัก อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ตั้งแต่ก่อนจบมหาวิทยาลัย ไปมาหาสู่บ้านอาจารย์อยู่เนืองๆ จนตอนท้ายจึงตัดสินใจลาออกมาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงช่วยอาจารย์อย่างเต็มตัว

ภาพ : จำนงค์ ศรีนวล

“วันหนึ่งมีคนนำดอกกุหลาบสีขาวช่อหนึ่งมาฝากกราบอาจารย์ ผมก็จัดแจงใส่แจกันเตรียมไว้ให้ท่านบูชาพระตอนเย็น อาจารย์มาเห็นผมว่างระหว่างรอเผาเครื่องเซรามิกที่รับผิดชอบ เลยบอกให้ลองเขียนสีน้ำจากกุหลาบช่อนั้นดู แต่ให้โจทย์สองข้อ คือไม่ต้องใช้ดินสอร่างแบบก่อน และไม่ต้องเขียนภาพพื้นหลัง ปล่อยเป็นสีขาวทิ้งไว้อย่างนั้น”

เมื่อศิษย์เชื่อคำครู จึงใช้ทักษะอดีตครีเอทีฟไดเรกเตอร์แก้ปัญหา เขียนเสร็จในเย็นวันนั้นได้โดยไม่เคยฝึกเขียนสีน้ำมาก่อน ลงลายเซ็นเอาตอนเส้นยาแดงผ่าแปด ทันท่วงทีพร้อมส่งผู้มอบหมาย

“อาจารย์ดูภาพแล้วพูดกับผมว่า พรุ่งนี้ไม่ต้องไปทำเซรามิกหรอก มาเขียนดอกไม้ดีกว่า ผมบอกว่าทำคู่กันไปได้ ท่านจึงบอกว่า จะทำอะไรให้ดีสักอย่างต้องใช้เวลานะ อย่าไปเสียเวลากับอย่างอื่นเลย จากนั้นก็ติชมทีละจุด ค่อยๆ สอนวิธีใช้สีอย่างละเอียด พอมาเห็นลายเซ็นสุดท้าย ท่านบอกว่าเซ็นแบบนี้ไม่ได้นะ อะไรอยู่ในรูปต้องดีที่สุด ไม่สวยห้ามอยู่เด็ดขาด

“วันนั้นผมกระจ่างเลย นี่คือหัวใจของทั้งหมด” ผู้สร้างสรรค์ภาพดอกไม้สีงามสดถ่ายทอดประสบการณ์ด้วยแววตาวาววับ เรื่องราวพรูพรั่งออกจากปากฉะฉาน แจ่มชัดราวกับเหตุการณ์ของเมื่อวาน ทั้งที่ล่วงมาแล้วถึงสามทศวรรษ

02 “เราทำงานศิลปะนะ เพราะฉะนั้นชุ่ยไม่ได้”

หลังจากฝึกฝนวิทยายุทธ์กับศิลปินชั้นครูไม่นาน พันธุ์ศักดิ์ก็ได้รับทาบทามจาก ชาลี-ชุลิตา อารีย์พิพัฒน์กุล บรรณาธิการนิตยสาร พลอยแกมเพชร ผ่านการแนะนำของอาจารย์จักรพันธุ์ ให้ร่วมเป็นหนึ่งในทีมนักวาดภาพประกอบตั้งแต่ฉบับปฐมฤกษ์

พันธุ์ศักดิ์​ จักกะพาก พฤกษศิลปินไทยคนเดียวที่มีผลงานใน Shirley Sherwood Collection
พันธุ์ศักดิ์​ จักกะพาก พฤกษศิลปินไทยคนเดียวที่มีผลงานใน Shirley Sherwood Collection
ภาพประกอบนิยายเรื่อง อุทยานเครื่องเทศ

เรื่องแรกที่ได้รับมอบหมายคือนิยาย อุทยานเครื่องเทศ ผลงานจากปลายปากกาของ กฤษณา อโศกสิน ซึ่งถือว่าเข้ามือจิตรกรฝึกหัดผู้เริ่มต้นเขียนภาพจากพฤกษชาติอย่างเหมาะเหม็ง ก่อนขยับขยายมาสร้างสรรค์ภาพประกอบให้นักเขียนคนอื่นๆ มีตั้งแต่นวนิยายแนวจีนไปจนถึงเรื่องมโนสาเร่เบาอารมณ์

“ช่วงนั้นผมฝึกเขียนจนคล่องแคล่วแล้ว แต่กว่าจะกลับจากบ้านอาจารย์ก็ค่ำ จึงนำดอกไม้ไปเขียนต่อตอนกลางคืนเพราะไฟแรงมาก ปรากฏว่าเอามาให้อาจารย์ดู ท่านก็รู้เลยว่าเขียนกลางคืน และเตือนว่าอย่าทำ เพราะสีที่แท้จริงของดอกไม้มาจากแสงธรรมชาติ 

“แล้วภาพ Still Life แบบนี้ต้องเขียนสดจริงๆ แต่บางรูปผมก็เขียนจากภาพถ่ายเอา เพราะไม่มีของจริง ท่านก็ดูรู้อีก และสอนว่า ถ้าเขียนจากรูปถ่ายมันก็เป็นรูปถ่ายนะ จะแบน ไม่มีระยะ และสีมันไม่จริง อย่าทำเพราะจะสับสนเรื่องสี

“แต่ผมจะนำมาให้อาจารย์ดูก่อนทุกครั้งเสมอ เพื่อฝึกสันดานให้เป็นคนละเอียด”

พันธุ์ศักดิ์เผยเคล็ดวิชาจากประสบการณ์ตรง พลางขันความไม่รู้ประสาของตัวเองในอดีต ก่อนเราแสดงความสงสัยออกไปอย่างโจ่งแจ้งว่า-แล้วตอนนั้นคุณนิยามตัวเองว่าเป็นศิลปินหรือนักวาดภาพประกอบ

“อาจารย์จักรพันธุ์ก็ถามคำถามนี้ตั้งแต่วันแรกที่ทาบทามเหมือนกัน” เขาเฉลยด้วยนำเสียงประหลาดใจ

“ผมตอบไปว่าอยากเป็นศิลปินครับ อาจารย์แนะว่า ไม่ว่าจะเลือกทางไหนก็เป็นเหมือนมีดทั้งสองคมนะ แต่ถ้าตั้งใจจะเป็นศิลปิน แปลว่าเราทำงานศิลปะ เพราะฉะนั้นชุ่ยไม่ได้ ต่อจากนี้ผลงานจะออกไปสู่ประชาชนหมู่มาก ทำอย่างไรออกไปก็จะตราหน้าเราว่าอย่างนั้น ตอนนี้ได้รับโอกาสแล้ว อย่าฮึกเหิมไปนะ”

นี่คือคัมภีร์ชีวิตที่เขายึดถือมาตลอดการเป็นศิลปิน

03 “ไม่ใช่หวงวิชานะ แต่คุณน่ะจะสับสน”

1998 คือเลขปีคริสต์ศักราชอันเป็นจุดหักเหครั้งสำคัญ เมื่อคุณแม่ของเขาเสียชีวิต สบกับนิยายที่เขาเขียนภาพประกอบให้จบลง พันธุ์ศักดิ์จึงถือโอกาสพักงาน ลาไปเยี่ยมญาติพี่น้องที่ซานฟรานซิสโกกว่า 6 เดือนเต็ม

ขณะเดินเล่นอยู่กลางร้านขายอุปกรณ์ศิลปะ เขาพบว่ามี California Watercolor Association เปิดรับสมัครสมาชิก และจะมีงาน San Francisco Flower Show เกิดขึ้นในเร็ววัน จึงตัดสินใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับสมาคมอย่างรวดเร็ว พร้อมใช้สิทธิประโยชน์ของสมาชิกชมรม เขียนภาพดอกไม้ไปวางขายในงาน ปรากฏว่าผลงานชิ้นจิ๋วจากปลายพู่กันนักวาดชาวไทย ซึ่งแปะป้ายราคาค่างวดไว้สูงลิ่วถึง 2,000 เหรียญ กลับขายได้อย่างน่าอัศจรรย์ ศิลปินคนอื่นๆ ผู้ได้สบประมาทปรามาสเอาไว้แต่ต้นต่างฮือฮาเป็นผึ้งแตกรังหลังรู้เรื่อง

ระหว่างนั้น เขาบังเอิญไปพบบูทของ American Society of Botanical Artist ขณะเดินเตร็ดเตร่ในงานดอกไม้ และใช้เวลาในซุ้มนั้นยาวนานเพียงพอจนตกตะกอนได้ว่า รูปพรรค์นี้ที่เจ้าตัวเพียรเขียนมาตลอดหลายปี ฝรั่งเรียกกันว่า ‘Botanical Art’ ไม่รอช้า เขาคว้าโอกาสทอง ลงเรียนวาดภาพพฤกษศิลป์ขั้นพื้นฐานกับ มิเชล ไมเออร์ (Michele Meyer) ประธานสมาคมขณะนั้นเอาไว้ เพื่อสร้างสัมพันธ์และศึกษาแนวทางการเขียนภาพของคนในอีกหนึ่งมุมโลก

“เป็นคอร์สพื้นฐาน เรียนห้าสัปดาห์แล้วจะได้ผลงานหนึ่งชิ้น แต่อาทิตย์แรกผมเขียนเสร็จไปเลยหนึ่งภาพ มิเชลจึงให้ผมสาธิตวิธีการเขียนโชว์เพื่อน แล้วเขาจะบรรยายคู่กันไป มีคนถามเทคนิคมากมาย แต่ผมไม่ได้วาดและจัดองค์ประกอบก่อนลงสี สวนทางกับคนทั้งโลก ผมจึงสอนใครไม่ได้ ไม่ใช่หวงวิชานะ แต่คุณน่ะจะสับสนเอง” น้ำเสียงเรียบนิ่งสื่อความซื่อตรงแห่งนัยยะได้จนเราเชื่อสนิทใจ

ช่วงเวลานั้น ศิลปินหนุ่มจากเอเชียยังได้รู้จักองค์กรระดับสากล ซึ่งมีบทบาทด้านงานพฤกษศิลป์ในโลกตะวันตกอีกหลายเจ้า โดยเฉพาะ Hunt Institute of Botanical Documentation แห่งมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้ เมลลอน (Carnegie Mellon University) ซึ่งจัดนิทรรศการ International Exibition of Botanical Art and Illustration ครั้งที่ 14 เมื่อ ค.ศ. 2013 และได้เชิญเขาให้ส่งผลงานไปจัดแสดงร่วมกับศิลปินนานาชาติอีก 39 คน จาก 10 ประเทศทั่วโลก

แนวคิดและประสบการณ์ของพันธุ์ศักดิ์ จักกะพาก พฤกษศิลปินไทยคนเดียวที่มีผลงานสะสมใน Shirley Sherwood Collection
แนวคิดและประสบการณ์ของพันธุ์ศักดิ์ จักกะพาก พฤกษศิลปินไทยคนเดียวที่มีผลงานสะสมใน Shirley Sherwood Collection
แนวคิดและประสบการณ์ของพันธุ์ศักดิ์ พฤกษศิลปินไทยคนเดียวที่มีผลงานสะสมใน Shirley Sherwood Collection

04 “But I can tell you one thing; your leaves are the best.’”

พันธุ์ศักดิ์พัฒนาแนวทางของตนให้ชัดเจนขึ้นเมื่อกลับมาตุภูมิ มาวาดภาพประกอบให้นิตยสารดังเดิม แต่เติมลูกเล่นให้สนุกสนานชวนชมยิ่งขึ้น โดยมีหนังสือรวมภาพพฤกษศิลป์ของ ดร.เชอร์ลีย์ เชอร์วูด เป็นต้นเค้า ลับเหลี่ยมคมจนชำนิเชี่ยวชาญ ถึงขั้นอาจารย์จักรพันธุ์เอ่ยปากชมว่า “สีน้ำแบบนี้ไม่คุ้นเลย ทำอย่างไรให้ใบบัวมีนวลได้แบบนี้”

วันหนึ่ง เจ้าของร้านซาลอนชื่อดังประจำโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล ผู้ใช้ภาพผลงานพันธุ์ศักดิ์วางประดับหลังเคาน์เตอร์ต้อนรับในร้าน ติดต่อมาว่ามีคนต้องการพบศิลปินเจ้าของสีสันอันคมคายรายนี้ โดยทิ้งโน้ตไว้ว่า “For Dr. Shirley Sherwood.”  พอได้รู้เรื่องราวเหนือปาฏิหาริย์เช่นนั้นก็ดีใจเป็นลิงโลด รีบรัดนัดหมายและรุดเข้าพบเจ้าของคอลเลกชันโบทานิคัลอาร์ตที่เจ๋งที่สุดในโลก พร้อมขนผลงานตัวเองไปเต็มเหนี่ยวเพื่ออวดโฉม

“พันธุ์ศักดิ์ ฉันขอบอกอะไรอย่าง” คู่สนทนาของเรายังไม่ลืมประโยคที่ ดร.เชอร์วูด พูดกับเขาตั้งแต่แรกพบ

“งานพฤกษศิลป์ชิ้นเยี่ยมจากพฤกษศิลปินชั้นยอดที่ผ่านตาฉันมาทั้งหมด ไม่ใช่แค่หลักพันหรือหลักหมื่นนะ แต่เป็นหลักแสน But I can tell you one thing; your leaves are the best.”

เพราะเคยได้ไปเห็นกระบวนการเก็บรักษาผลงานศิลปะใน The Shirley Sherwood Collection ที่ Kew Gardens มากับตาก่อนหน้า แถมเจ้าของคอลเลกชั่นยังมายืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะถึงบ้านเกิดราวสวรรค์บันดาล เขาจึงยกผลงานในมือให้เธอเป็นผู้เก็บรักษาต้นฉบับจนหมดหน้าตัก

แนวคิดและประสบการณ์ของพันธุ์ศักดิ์ พฤกษศิลปินไทยคนเดียวที่มีผลงานสะสมใน Shirley Sherwood Collection
แนวคิดและประสบการณ์ของพันธุ์ศักดิ์ พฤกษศิลปินไทยคนเดียวที่มีผลงานสะสมใน Shirley Sherwood Collection
แนวคิดและประสบการณ์ของพันธุ์ศักดิ์ พฤกษศิลปินไทยคนเดียวที่มีผลงานสะสมใน Shirley Sherwood Collection
แนวคิดและประสบการณ์ของพันธุ์ศักดิ์ พฤกษศิลปินไทยคนเดียวที่มีผลงานสะสมใน Shirley Sherwood Collection

“คุณค่าของภาพเหล่านี้อยู่ที่อายุของต้นฉบับ ผมจึงอยากให้มันอยู่กับ ดร.เชอร์วูด อธิษฐานขอให้ได้เกิดมาเป็นคนนั่งเฝ้าแกลเลอรี่นี้ เพราะเชื่อว่าชาติหน้า ภาพเหล่านี้ก็ยังอยู่ ขอให้ได้ไปดูรูปตัวเองอีกครั้งก็ดีใจแล้ว” เขาว่าอย่างจริงจังแกมขัน

ปัจจุบัน พันธุ์ศักดิ์คือศิลปินไทยคนเดียวผู้มีผลงานสะสมใน The Shirley Sherwood Collection มากที่สุดในโลกถึง 45 ภาพ ทุกครั้งที่มีการรวบรวมผลงานพฤกษศิลป์ขึ้นเป็นหนังสือภาพ หรือเวียนจัดแสดงในแกลเลอรี่ที่ Kew Gardens หรือต่างประเทศ จึงต้องมีอาร์ตพีซจากนักวาดดอกไม้มากฝีมือผู้นี้ร่วมด้วยในสัดส่วนมากเป็นพิเศษ

แนวคิดและประสบการณ์ของพันธุ์ศักดิ์ พฤกษศิลปินไทยคนเดียวที่มีผลงานสะสมใน Shirley Sherwood Collection

“อย่างในหนังสือ Modern Masterpieces of Botanical Art มีผลงานของผมถึงห้าภาพ จากที่ว่างเพียง 265 ภาพ โดยศิลปิน 144 คน ซึ่งสามในห้าภาพของผมจากหนังสือเล่มนี้ได้รับคัดเลือกมาจัดแสดงนิทรรศการชื่อเดียวกัน และมีศิลปินเพียงสองคนทั่วโลกที่ได้รับเกียรตินี้

“รวมทั้งหนังสือ World Class Botanical Art Book ของ Korea Botanical Art Cooperative ซึ่งพิมพ์จำหน่ายเพื่อระดมทุนเข้าองค์กร ผมเป็นศิลปินของประเทศไทยเพียงผู้เดียวที่ได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งในสิบสองคน จากสิบสองประเทศ และมีภาพผมถึงเจ็ดชิ้นในเล่ม” ศิลปินตรงข้ามเล่าด้วยน้ำเสียงสุดภาคภูมิ พลางเว้นจังหวะสั้นๆ ขณะต่อเรื่อง ชวนให้ใจระทึกว่าความเก่งกาจของเขาจะไปสุดที่จุดไหน

05 “ชีวิตผมมาจากคนอื่นให้ทั้งนั้น”

“ชีวิตผมมาจากคนอื่นให้ทั้งนั้น” พันธุ์ศักดิ์ จักกะพาก สรุปเส้นทางชีวิตตัวเองในหนึ่งประโยค

“ทั้งคำสอนและความไว้ใจจากอาจารย์ เกียรติยศ รางวัล หรือแม้กระทั่งการได้เจอ ดร.เชอร์วูด เพราะฉะนั้น ถ้ามีโอกาส ผมก็อยากเป็นฝ่ายให้บ้าง”

ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่สมาทานแนวคิดนี้มาตลอดหลายสิบปีที่คร่ำหวอดในวงการศิลปะ ครั้นแต่ยังไม่ได้เป็นบิ๊กเนม โดยการร่วมเป็นส่วนเล็กๆ คอยช่วยเหลือสังคมผ่านความถนัดเฉพาะทางของตน

แนวคิดและประสบการณ์ของพันธุ์ศักดิ์ พฤกษศิลปินไทยคนเดียวที่มีผลงานสะสมใน Shirley Sherwood Collection

“ทางศูนย์การเรียนรู้พิเศษประภาคารปัญญา ช่วยคนปัญญาอ่อนแห่งประเทศไทย จะติดต่อมาขอรูปอาจารย์จักรพันธุ์ ไปทำการ์ด สคส. เพื่อระดมทุนเข้าสมาคมเสมอ พอผมเขียนภาพให้ พลอยแกมเพชร ได้ปีแรกๆ อาจารย์ก็เปิดทางให้มูลนิธิฯ นำภาพผมไปใช้ตั้งแต่นั้นมา จนถึงวันนี้ก็สามสิบปีกว่าแล้ว”

แนวคิดและประสบการณ์ของพันธุ์ศักดิ์ จักกะพาก พฤกษศิลปินไทยคนเดียวที่มีผลงานสะสมใน Shirley Sherwood Collection

อีกอย่างที่เจ้าตัวภูมิใจมากจนเราจับสังเกตได้ คือการได้ต่อยอดงานศิลปะเป็นปกหนังสือธรรมะ ตั้งแต่หนังสือ เพื่อนนอกเพื่อนใน ของ ชยสาโรภิกขุ (พระธรรมพัชรญาณมุนี) ไปจนถึงพระนิพนธ์ธรรมะในสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ทั้งได้แปลงโฉมงานศิลปะเป็นนานาผลิตภัณฑ์ เพื่อจำหน่ายหาเงินเข้ากองทุนภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

ในวัย 72 โบทานิคอลอาร์ทิสต์ระดับโลกอย่างพันธุ์ศักดิ์ยังคงมานะสร้างสรรค์พฤกษศิลป์ที่รักอยู่เป็นนิตย์ แม้ไม่ได้มีภาพเขียนใหม่ๆ ออกสู่สายตาสาธารณชนบ่อยครั้ง แต่เราเชื่อเหลือเกินว่า จำนวนผลงานจากปลายฝีแปรงเฉียบคมอันมีค่าอนรรฆ ที่เขาได้เพียรแต่งแต้มหมู่พฤกษชาติช่องามบนผืนกระดาษ ตลอดชีวิตซึ่งเปี่ยมประสบการณ์ นั้นสร้างสุนทรียะและคุณค่าให้แก่โลกไปนี้ได้อย่างสมบูรณ์

แนวคิดและประสบการณ์ของพันธุ์ศักดิ์ พฤกษศิลปินไทยคนเดียวที่มีผลงานสะสมใน Shirley Sherwood Collection

5 แนวคิดจากพฤกษศิลปินรุ่นใหญ่ที่อยากส่งต่อให้ศิลปินรุ่นน้อง

ประวัติชีวิตอันแสนสนุกโชกโชนของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ถูกถ่ายทอดผ่านบทสนทนาเพียงไม่นาน ผ่านเศษเสี้ยวงานจิตรกรรมของเขาเพียงไม่กี่ชิ้น แต่เราเห็นอย่างชัดแจ้งถึงกระบวนการเรียนรู้อันเข้มแข็ง วิถีการทำงานอันแน่วแน่ และประสบการณ์ซึ่งหล่อหลอมให้เขาประสบความสำเร็จ เราจึงถอดกฎเหล็ก 5 ข้อ ในการทำงานมาฝาก ดังนี้

01 จงใช้เวลา

“จะทำอะไรให้ดีสักอย่างต้องใช้เวลานะ อย่าไปเสียเวลากับอย่างอื่นเลย”

02 จงเด็ดขาด

“อะไรไม่สวยห้ามอยู่ในรูปเด็ดขาด อะไรที่อยู่ในรูปต้องดีที่สุด” 

03 อย่าชุ่ย

“ถ้าตั้งใจจะเป็นศิลปิน แปลว่าเราทำงานศิลปะ เพราะฉะนั้นชุ่ยไม่ได้ ต่อจากนี้ผลงานจะออกไปสู่ประชาชนหมู่มาก ทำอย่างไรออกไปก็จะตราหน้าเราว่าอย่างนั้น ตอนนี้ได้รับโอกาสแล้ว อย่าฮึกเหิมไปนะ”

04 จงมุ่งมั่น

“อยากเก่งต้องทำเยอะๆ เพราะมันคือคำตอบตายตัวอย่างเดียว แล้วคนเก่งเขาไม่อวดเก่งกัน อวดเก่งเมื่อไหร่ก็ตายเมื่อนั้น”

05 จงทำวันนี้ให้ดีที่สุด

“วันนี้คือทุนของวันพรุ่งนี้ ถ้าทำวันนี้ดีให้ที่สุด ด้วยประสบการณ์ของเมื่อวานที่ดีที่สุด พรุ่งนี้ก็จะดีที่สุด แล้วต้องทำด้วยความตั้งใจด้วย ไม่ใช่สุ่มสี่สุ่มห้าทำ”

ขอบคุณภาพผลงานจาก พันธุ์ศักดิ์ จักกะพาก

Writer

Avatar

นิรภัฎ ช้างแดง

กองบรรณาธิการผู้คนพบความสุขในวัยใกล้เบญจเพสจากบทสนทนาดีๆ กับคนดีๆ และเพลงรักสุดแสน Bittersweet ของ Mariah Carey

Photographer

Avatar

ธนกร บินซายัน

ดีไซน์เนอร์ สไตลิสต์ ช่างเย็บผ้าประจำ ช่างภาพบางเวลา เจ้าของแบรนด์ ZAYAN