ครั้งแล้วครั้งเล่าที่เขาทดลองให้ความเป็นเพื่อนกับคนที่คิดว่าจะเป็นเพื่อนได้ แต่ก็ล้มเหลวทุกครั้ง เพราะสิ่งที่เขายื่นให้นั้นมักจะถูกเปลี่ยนเป็นอาวุธ ยามเมื่อเขาเผลอหันหลังให้ เขาก็ถูกแทง 

เพียงเปิดหน้าแรก คำโปรยที่คล้ายจะเป็นคำเตือนของหนังสือระดับตำนานก็ปรากฏขึ้นให้เห็น เรากรีดนิ้วไปตามกระดาษเก่าเก็บที่ซีดเซียวแต่ตัวอักษรยังคมชัด ก่อนจะพบหนังสือชื่อเดียวกันอีกสิบกว่าปกวางอัดแน่นอยู่บนชั้น

แน่ล่ะ เราอยู่ที่ ‘ร้านพันธุ์หมาบ้า‘ จะให้มีแค่ปกเดียวก็กระไรอยู่ 

แค่พูดชื่อนี้ขึ้นมา หลายคนคงทราบว่า พันธุ์หมาบ้า กลายเป็นแบรนด์ของนักเขียนระดับตำนาน ชาติ กอบจิตติ ที่ทำสินค้าขายทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ฯลฯ กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค 

ห้องสมุดขนาดเล็กและมุมอ่านหนังสือประหนึ่งคาเฟ่ คือสิ่งเดียวที่บอกได้ว่าเราอยู่สาขา จ.ตรัง 

นี่คือร้านหนังสืออิสระหนึ่งเดียวที่ยืนเด่นโดยท้าทายเมืองแห่งการกิน ถึงขนาดที่พี่คนขับรถของเรายังออกปากขอพาไปกินอาหารเช้ารองท้อง เพราะทุกคนรู้ว่าปกติร้านนี้เปิดบ่าย 2 เพียงแต่เรานัด พี่ตุ้ม-อรัญญา ทองโอ ไว้แต่เช้า

พันธุ์หมาบ้า ร้านหนังสืออิสระหนึ่งเดียวใน จ.ตรัง ที่อยากทำให้ตรังเป็นเมืองแห่งการอ่าน
พันธุ์หมาบ้า ร้านหนังสืออิสระหนึ่งเดียวใน จ.ตรัง ที่อยากทำให้ตรังเป็นเมืองแห่งการอ่าน

หนังสือเกินกว่าครึ่งในร้านเป็นสมบัติของเธอ การตกแต่งร้านและสวนสวย ๆ ก็เป็นฝีมือของเธอ แต่พี่ตุ้มไม่ใช่สถาปนิก นักจัดสวนก็ไม่ใช่ นักออกแบบภายในยิ่งแล้วใหญ่ เธอเป็นเพียงนักบัญชีอิสระที่หลงใหลการอ่านมาตั้งแต่จำความได้ จนมีเพื่อนฝูงเป็นนักกวีมากมาย และได้ชิมลางในแวดวงวรรณกรรมมาบ้าง 

หลังใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ จนอิ่มตัว เธอกลับบ้านเกิดมาพร้อมกับความหวังว่าจะชวนคนตรังมาอ่านหนังสือ

ไม่รู้ทำไม แต่เราดันคุยกันถูกคอ 

“พี่ก็ยังรู้สึกเลยว่า ทำไมเราคุยกับเด็กรุ่นนี้รู้เรื่อง เพื่อน ๆ กันก็ยังบอก เออเว้ย รู้ไหมเวลาฉันทำงาน ฉันเจอคนทั้งหมดกี่วัย พี่มันห่าม ๆ ไง ไม่งั้นเปิดร้านพันธุ์หมาบ้าไม่ได้หรอก”

ครั้งแล้วครั้งเล่าที่เขาทดลองให้ความเป็นเพื่อนกับคนที่คิดว่าจะเป็นเพื่อนได้ 

คำโปรยอุตส่าห์เตือนไว้อย่างนั้น

แต่การได้มาเยือนที่นี่และพูดคุยกับเจ้าของร้าน ก็เหมือนได้เพื่อนเพิ่มมาอีกคนอย่างช่วยไม่ได้

ครั้งนี้เรามั่นใจว่า คงไม่ล้มเหลว

พันธุ์หมาบ้า ร้านหนังสืออิสระหนึ่งเดียวใน จ.ตรัง ที่อยากทำให้ตรังเป็นเมืองแห่งการอ่าน
พันธุ์หมาบ้า ร้านหนังสืออิสระหนึ่งเดียวใน จ.ตรัง ที่อยากทำให้ตรังเป็นเมืองแห่งการอ่าน


หนทางของนักอ่าน

เรื่องมันเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2549 

ตอนที่พี่ตุ้มตัดสินใจเปิดร้านพันธุ์หมาบ้าตามคำแนะนำของเพื่อนนักเขียน จากเป็นเพียงลูกค้าคนหนึ่งที่คอยอุดหนุนผลิตภัณฑ์ตั้งแต่สาขาจตุจักร และชื่นชอบผลงานของชาติเป็นทุนเดิม

“แปะ (สรรพนามที่พี่ตุ้มใช้เรียกยอดกวีซีไรต์) บอกว่า ไหน ๆ คุณก็อยากให้คนอ่านหนังสือเยอะ ๆ งั้นก็เอาของมาลงเพิ่ม แล้วร้านหนังสือในตรังมีน้อยมาก ไม่ค่อยมีงานวรรณกรรมเท่าไร เราก็โอเค เปิดเป็นห้องสมุดเลย

“เกือบ 20 ปีที่แล้วที่กลับมาจากกรุงเทพฯ อย่างอื่นไม่ได้ขนกลับมา เอามาแต่หนังสืออย่างเดียว” 

พี่ตุ้มชี้ชวนให้เรามองตาม ว่าหนังสือที่ร้านเธอแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง หนึ่ง เอาไว้ยืมอ่าน สอง เอาไว้วางขาย ซึ่งเธอให้ความสำคัญกับฝั่งแรกอยู่พอสมควร อย่างที่บอก เดิมทีเป็นแค่สมบัติส่วนตัว ก่อนเธอจะเปิดพื้นที่ให้ผู้คนมาพูดคุยกันเรื่องหนังสือ ข่าวคราวลอยไปถึงหูเพื่อน ๆ ที่รู้จักกันจนพากันส่งสมบัติมาให้พี่ตุ้มจำนวนมาก   

แน่นอน การมาของเธอปลุกกระแสการอ่านให้เกิดขึ้นในตรังอยู่ไม่น้อย เพราะความตั้งใจที่มากกว่าแค่การยืมหนังสือ คือการสร้างพันธุ์หมาบ้าให้เป็นพื้นที่ใช้สอยของชุมชน 

“เราบอกตลอดว่า ให้ร้านนี้มันเป็นพื้นที่ของเมืองแล้วกัน ไม่อยากให้คิดว่าเป็นร้านอะไรหรือของใคร” 

โต๊ะกลางร้านขนาดใหญ่ของเธอจึงกลายเป็นพื้นที่ผลัดเปลี่ยนทำกิจกรรมไปโดยปริยาย ทั้งสอนวาดสีน้ำ สเก็ตช์ภาพ เรียนศิลปะ ใครอยากใช้พื้นที่ในร้านทำอย่างอื่นก็ขอเพียงแจ้งเธอมา

พันธุ์หมาบ้า ร้านหนังสืออิสระหนึ่งเดียวใน จ.ตรัง ที่อยากทำให้ตรังเป็นเมืองแห่งการอ่าน
พันธุ์หมาบ้า ร้านหนังสืออิสระหนึ่งเดียวใน จ.ตรัง ที่อยากทำให้ตรังเป็นเมืองแห่งการอ่าน

“ร้านเราเปิดถึง 4 ทุ่ม เพราะส่วนใหญ่คนมานั่งร้านจะอยากใช้เวลาช่วงสุดสัปดาห์กับพื้นที่ที่มันดูสบาย ๆ เราไม่ได้เป็นร้านอาหาร ไม่ได้เป็นร้านกาแฟ ไม่ได้เป็นร้านเหล้า คนบ้านเราก็รู้จักกันหมด พอวันร้านตัวเองหยุด ก็ไปนั่งร้านคนอื่น พี่ก็เหมือนกัน”

ทำบัญชีไปด้วย อ่านหนังสือไปด้วย เปิดเพลง ดริปกาแฟดื่ม นี่คือกิจวัตร

“ดูสูงวัยมาก” พี่ตุ้มหัวเราะ ก่อนจะแวะพูดถึงวัฒนธรรมการอ่านในบ้านเกิดอย่างคนไม่ยอมหมดไฟ

“ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่คนต่างจังหวัดอยากไปอยู่กรุงเทพฯ เดี๋ยวนี้มันเปลี่ยน กลายเป็นว่าเด็กรุ่นใหม่กลับมา อะไรหลายอย่างในตรังมันก็เปลี่ยนเยอะ แต่ในความรู้สึกพี่ เรื่องการอ่านยังไม่ได้เปลี่ยนไปไหน

“นั่งนึก แม่ง เราอยู่ในเมืองที่หนังสือหาอ่านยากมาก ที่นี่มันลงหนังสือที่เป็นรายปักษ์รายอะไรไม่ได้ เพราะว่าคนไม่ได้เยอะขนาดนั้น ตรังไม่เหมือนเชียงใหม่ เราต้องขวนขวายอ่านด้วยตัวเอง หอศิลป์ในตรังยังไม่มีเลย ทำไมที่อื่นเขามีกันหมด เรายังขาดอะไรอีกเยอะมาก โดยเฉพาะหนังสือ ศิลปะ ดนตรี กลุ่มก้อนที่ทำงานแบบนี้ก็น้อย มันเลยไม่ค่อยขยับ

“พี่ว่ามันต้องผลักดันมากกว่านี้ เอาแค่ร้านพันธุ์หมาบ้าร้านเดียว ไม่ช่วยให้เด็ก ๆ ขยันอ่านหนังสือมากขึ้นหรอก แต่ก็ต้องทำต่อไป”

พันธุ์หมาบ้า ร้านหนังสืออิสระหนึ่งเดียวใน จ.ตรัง ที่อยากทำให้ตรังเป็นเมืองแห่งการอ่าน


ร้านนี้เป็นของทุกคน

“เราออกแบบร้านแบบนักบัญชี” พี่ตุ้มว่า “เอาง่าย ๆ มันเคยเป็นตึกร้างที่ใกล้พังแล้ว ที่เหลืออยู่เนี่ย คือส่วนที่ยังไม่พัง”

คุณจะบอกว่าออกแบบและปรับปรุงทั้งหมดเองเหรอ – เราสวนทันที

“ใช่ เป็นคนชอบทำอะไรบ้าบอ” 

เราไม่เชื่อหรอกว่าเธอจะเป็นแค่นักบัญชี เพราะถึงแม้มันจะดูดิบเถื่อน ด้วยโครงเหล็กและปูนเปลือยเป็นส่วนใหญ่ บรรยากาศภายในร้านก็โล่ง โปร่ง เป็นสัดส่วน ตกแต่งด้วยศิลปะหลากหลายแขนง มีพนักงานต้อนรับเป็นแก๊งแมวเหมียว รับรองว่าสวยมากพอสำหรับชาว Instagrammable 

พี่ตุ้มบอกเคล็ดลับมาอย่างหนึ่งว่า ความสนใจทั้งหมดเกิดจากการอ่านหนังสือที่ไม่เกี่ยวอะไรกับตัวเอง 

“อยากใส่อะไรตรงไหน อยากทำชั้นลอย อยากนู่นนี่นั่น ทำด้วยตัวเอง ไม่มีใครว่าหรอก เพราะว่าเราไม่ใช่สถาปนิก แต่ว่าเป็นคนชอบปลูกต้นไม้มาแต่ไหนแต่ไร เราสะสมพันธุ์ไม้โบราณ เป็นคนชอบแบบนั้น”

ไขความกระจ่างกันไปทีละข้อก่อนไปต่อ 

ชั้นลอยของเธอไม่ใช่ส่วนของร้านที่ขึ้นไปนั่งได้ แต่เป็นบ้านของบรรดา(อดีต)แมวจร ที่บัดนี้นอนทับแขนเราจนเริ่มชา

ส่วนการชื่นชอบต้นไม้ก็ไม่ธรรมดา นอกจากโซนสีเขียวด้านข้างจะสวยประจักษ์ เธอยังเป็นเจ้าของหนังสือ ระเบียงสวน ระเบียงสวย ให้ความรู้เรื่องพันธุ์ไม้อีกด้วย

พันธุ์หมาบ้า ร้านหนังสืออิสระหนึ่งเดียวใน จ.ตรัง ที่อยากทำให้ตรังเป็นเมืองแห่งการอ่าน
พันธุ์หมาบ้า : ร้านหนังสืออิสระที่เป็นทั้งคาเฟ่ โรงฉายหนัง วงเสวนา และพื้นที่สาธารณะของคนตรังทุกช่วงวัย

“พี่อาจจะไม่ใช่นักบัญชีแบบเหมือนคนอื่น เราเจอคนเยอะ เจอคนหลายแบบ ความคิดมันก็เปลี่ยน เพราะแต่ละคนมีวิธีคิดต่างกัน เราเลยอยากทำร้านให้เป็นร้านหนังสือของคนทุกวัย

“พี่ชอบมากเวลาเจอเด็ก คือเราไม่มีหนังสือที่เขาอ่านอยู่ ณ ปัจจุบัน เวลาแนะนำหนังสือเก่า มันคือใหม่ของเขาเลย เราบอกว่า หนังสือมันไม่มียุคสมัยนะเว้ย ลองหยิบไปอ่านดูดิ

“ถ้าใครมีเพื่อนอยู่ที่ตรัง มานั่งอ่านหนังสือที่นี่ได้ คุณไปซื้อกาแฟจากร้านข้าง ๆ ไปสั่งชาโกแจ้งมา แล้วก็นั่งดื่มนั่งอ่านหนังสือได้ยาว ๆ เลย มากัน 5 คน 5 มุม ต่างคนต่างหยิบหนังสือของตัวเอง หรืออยากได้ต้นไม้ต้นไหนกลับไปก็บอก” พี่ตุ้มว่าพลางพาเราเดินชมแต่ละโซนภายในร้าน

“โซนโน้นจะมีน้องอีก 2 คนมาเปิดบาร์ตอนค่ำ เราให้ทำเลย แค่ช่วยกันจ่ายค่าไฟ”

นึกเสียดายที่ดันมาแต่เช้า เพราะร้านสไตล์นี้พอพลบค่ำหน่อยคอก็ชักจะแห้ง

“ที่สำคัญ โซนนี้สูบบุหรี่ได้หมด เพราะอะไรรู้เปล่า ยุคพี่มันเป็นยุคที่สูบบุหรี่โคตร ๆ พี่อยากเป็นร้านของคนทุกประเภท ใครอยากทำอะไรก็ได้ทำ” 

ถึงจะพูดพร้อมเสียงหัวเราะ แต่เธอก็พูดคำไหนคำนั้น

มองดูแล้ว จะเรียกซอยนี้ว่าเป็นซอยของคนรุ่นใหม่เลยก็ว่าได้ ทั้งร้านกาแฟ Slow Bar เปิดใหม่ข้าง ๆ กำแพงโดยรอบที่ถูกจับจองด้วยกราฟฟิตี้อาร์ตจากกลุ่มตรังสตรีทอาร์ต เรื่อยมาจนถึงร้านน้ำชาโกแจ้ง บุคคลที่พี่ตุ้มบอกว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังถนนแห่งศิลปะ 

เปลี่ยนซอยที่มืดมิดปราศจากแสงไฟ ให้สว่างไสวด้วยไฟจากร้านรวงของคนรักงานศิลป์ และการฉายหนังกลางแปลงบนกำแพงของเมืองแห่งการกินนี่แหละ

พันธุ์หมาบ้า : ร้านหนังสืออิสระที่เป็นทั้งคาเฟ่ โรงฉายหนัง วงเสวนา และพื้นที่สาธารณะของคนตรังทุกช่วงวัย


พันธุ์คนบ้า

เพราะเมืองตรังมีโรงภาพยนตร์เดียวคือเครือ SF Cinema การที่พี่ตุ้มริเริ่มกลุ่มฉายหนังอิสระขึ้นมา จึงได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีจนล้นหลาม 

“พี่เหมือนอยู่ตรงกลาง เราอยากเป็นตัวเชื่อมต่อคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่าเข้าด้วยกัน เราก็รวมน้อง ๆ ที่ชอบดูหนัง แล้วก็ดึงพี่โต ๆ มาช่วยหน่อย มีจอใหญ่ ๆ ฉายโปรเจกเตอร์ มีอุปกรณ์ฉายหนัง ซึ่งคนที่ดูหนังเป็นเด็กรุ่นใหม่เกือบหมดเลย แล้วเขานี่แหละที่เป็นคนคุยเรื่องหนังได้ดีกว่าเรา”

โดย Documentary Club เจ้าของภาพยนตร์ มีเงื่อนไขว่าต้องมีการเสวนา พูดคุยแลกเปลี่ยน ช่วงนี้แหละที่เปรียบเหมือนสะพานเชื่อมต่อระหว่างคน 2 วัย 

“เด็ก ๆ เขาคุยกัน เราอึ้งไปเลย ผู้ใหญ่ก็อึ้ง มันวิเคราะห์เจาะลึก มันดึงออกมาได้เป็นฉาก ๆ แล้วอย่างน้อย เขาก็ได้มีกลุ่มเล็ก ๆ ของเขา พี่เป็นคนลงทุนอุปกรณ์ให้หมด แต่เราไม่อยากให้เกี่ยวข้องอะไรกับร้านมาก เพราะอยากให้เขาทำกันเอง

“เมืองตรังมันเล็กมาก ทุกคนรู้จักกันหมด พันธุ์หมาบ้าทุกคนก็รู้จัก กลุ่มตรังสตรีทอาร์ตมีกันกี่คน ทุกคนก็รู้จัก ซึ่งถ้าจะผลักดันให้มันเป็นงานที่โดดเด่นขึ้นมา ไม่ยากเลย แต่เขาไม่ได้ส่งเสริม 

“น้อง ๆ ทำกันเอง ขอความร่วมมือจากพี่ ๆ พอมีคนหลายเจนฯ มาร่วมกันเนี่ย เขาไม่ได้เข้าใจหรอกว่าคุณทำอะไรกัน แต่บางคนเป็นเจ้าของธุรกิจ เขาก็พร้อมสนับสนุนเด็ก ๆ 

“เราอยากเชื่อมโยงคนหลายเจนฯ เข้าด้วยกัน แล้วก็ทำในเรื่องเดียวกันให้มีพลังมากขึ้น อะไรทำให้คนมาอ่านหนังสือเยอะขึ้น พี่ก็ทำเท่าที่ได้ แต่เราไม่ใช่คนที่จะไปผลักดันให้ตรังกลายเป็นเมืองแห่งการอ่าน มันเป็นไปไม่ได้หรอก”

พันธุ์หมาบ้า : ร้านหนังสืออิสระที่เป็นทั้งคาเฟ่ โรงฉายหนัง วงเสวนา และพื้นที่สาธารณะของคนตรังทุกช่วงวัย


บทส่งท้าย

แม้พี่ตุ้มจะมองว่าเป็นไปไม่ได้ แต่เบื้องหลังทุกเล่มที่เลือกเข้าร้าน ล้วนเป็นเรื่องที่คัดสรรมาแล้วว่าควรค่าแก่การอ่าน

“บ้านเรานะ ถ้าอยากเดินไปหาหนังสือมูราคามิ ไม่มี หาหนังสืออุทิศเหรอ ไม่มี แล้วเราก็ทำเป็นร้านขนาดใหญ่เหมือนแบรนด์ร้านหนังสือทั้งหลายไม่ไหว หนังสือใหม่ก็ไม่มี แต่การ์ตูนกับหนังสือฮาวทูเยอะมาก เราก็เลือกเรื่องที่รู้สึกว่า อยากให้คนที่นี่อ่าน”

ถึงจะไม่ใช่คนที่นี่ แต่เราฟังแล้วก็ขอยืม After the Quake ของมูราคามิใส่กระเป๋ากลับมาอ่านต่อที่บ้านเสียหน่อย 

ส่วนหนังสือที่พี่ตุ้มมักจะแนะนำให้อ่าน ก็เป็นเรื่องที่ทำงานกับความรู้สึกมากพอสมควร นั่นคือ ลักษณ์อาลัย โดย อุทิศ เหมะมูล นักเขียนคนโปรดของเธอ ซึ่งถูกยืมไปในวันที่เราคุยกันอยู่

“พี่ร้องไห้เลย เป็นเรื่องเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมในครอบครัวใหญ่ ไม่ได้อ่านหนังสือแล้วรู้สึกอินกับมันขนาดนี้มานานมาก ชอบวิธีการเขียน ชอบการดำเนินเรื่องของเขา มันดูน่าติดตาม พี่นั่งนึกถึงเด็กรุ่นใหม่ว่าเขาอ่านหนังสือแล้วจะรู้สึกอินกับเนื้อหาได้จริง ๆ แบบนี้ไหม”

พันธุ์หมาบ้า : ร้านหนังสืออิสระที่เป็นทั้งคาเฟ่ โรงฉายหนัง วงเสวนา และพื้นที่สาธารณะของคนตรังทุกช่วงวัย
พันธุ์หมาบ้า : ร้านหนังสืออิสระที่เป็นทั้งคาเฟ่ โรงฉายหนัง วงเสวนา และพื้นที่สาธารณะของคนตรังทุกช่วงวัย

เล่มต่อไปคือ คำพิพากษา อีกหนึ่งผลงานระดับตำนานของ ชาติ กอบจิตติ ที่พี่ตุ้มบอกว่าไม่น่าอ่านซ้ำ แต่ก็ควรอ่านสักครั้งในชีวิต เธอพบว่าชอบมันมากกว่า พันธุ์หมาบ้า เสียอีก ด้วยเรื่องราวกระชากอารมณ์ และวิธีการเขียนรันทดหดหู่ สะเทือนใจจนเธอจดจำได้ทุกฉาก

“ตอนนี้หนังสือเป็นการเขียนแบบคำคม เราไม่ได้อยากอ่านแบบนั้นน่ะ เราอยากอ่านแบบที่ต้องให้เราตกตะกอน คุณไม่ต้องมาบอกเรานะ เราต้องคิด ต้องสรุปของเราเองได้ พี่ว่ามันเป็นเสน่ห์ 

“เมื่อก่อน ได้หนังสือเล่มหนึ่งแล้วยืมอ่านกับเพื่อน วนกันจบครบแล้วก็คุยกันว่า มึงอ่านแล้วเป็นไง โอเคไหม หรืออีกคนบอก โอ้โห มึงต้องอ่าน เดี๋ยวนี้เด็ก ๆ ต้องการคำตอบเลย ต้องการความรวดเร็วในการเสพอะไรก็ตาม”

พอจะเข้าใจที่พี่ตุ้มบอกขึ้นมา ถึงแม้คนรุ่นใหม่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่างในตรังให้ดีขึ้น แต่วัฒนธรรมการอ่านที่ต้องอาศัยการดื่มด่ำและตกตะกอนก็ไม่ได้เปลี่ยนไปนัก 

“พื้นที่การอ่านหนังสือในตรังมันน้อย มันจำกัด มันไม่เหมาะ สังเกตไหม พี่พยายามทำมุมให้คนรู้สึกว่าเข้ามาแล้วสบาย ๆ อยากให้หนังสือเข้าถึงง่าย ไม่ได้ต้องไปเข้าหอสมุด มาร้านหนังสือก็เหมือนมาคาเฟ่ 

“แค่ดึงคนให้รู้สึกว่าการอ่านหนังสือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตได้ ถือว่าพี่ประสบความสำเร็จแล้ว มีคนเดินเข้าร้านมา จากไม่ชอบอ่านหนังสือ แต่กลับมาบอกว่าหนูขอยืมเล่มนี้ไปอ่าน นี่คือสิ่งที่พี่ได้จากการเปิดร้านหนังสือกับห้องสมุดเล็ก ๆ”

พันธุ์หมาบ้า : ร้านหนังสืออิสระที่เป็นทั้งคาเฟ่ โรงฉายหนัง วงเสวนา และพื้นที่สาธารณะของคนตรังทุกช่วงวัย
พันธุ์หมาบ้า : ร้านหนังสืออิสระที่เป็นทั้งคาเฟ่ โรงฉายหนัง วงเสวนา และพื้นที่สาธารณะของคนตรังทุกช่วงวัย

เดินชมร้านไป ก็แลกเปลี่ยนหนังสือที่ชื่นชอบกันไป พูดคุยเรื่องต้นไม้บ้าง แวะโพสท่าถ่ายรูปอีกนิดหน่อย บรรดาสัตว์น้อยใหญ่ก็วิ่งมาหาเพียงเรียกชื่อ ทั้งหมาทั้งแมวล้อมหน้าหลัง บ้างเอกเขนกสบายใจ รับแขกอย่างว่านอนสอนง่าย จนอาจพูดได้ว่า ที่นี่ไม่ได้เป็นเพียงร้านสำหรับคนทุกวัยเท่านั้น แต่ยังเป็นมิตรกับทุกชีวิตที่ผ่านเข้ามา

“การทำร้านหนังสือมันไม่เลี้ยงชีพหรอก มันเลี้ยงหัวใจ”

บอกลากันแล้ว แต่เสียงของพี่ตุ้มยังกังวานอยู่ในหัว บรรยากาศของวันนั้นก็ยังจำได้ดี

หน้าสุดท้ายของพันธุ์หมาบ้าเล่มนี้ อยู่บนรถยนต์เหมือนกัน เพียงแต่เป็นเราที่กำลังกลับกรุงเทพฯ

รถทั้งคันพลอยหัวเราะกันอีกครั้ง เป็นเสียงหัวเราะที่ลืมเศร้าลืมกังวล มีแต่ความรื่นรมย์รออยู่เบื้องหน้า รถคันนั้นแล่นลับไปกับถนน ทิ้งเมืองตรังไว้เบื้องหลัง…

พันธุ์หมาบ้า ตรัง

ที่ตั้ง : 99/12 ถนนห้วยยอด ซอย 3 ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : วันศุกร์-อาทิตย์ เวลา 14.00 – 22.00 น.

โทรศัพท์ : 08 1738 2290

Facebook : Phanmaba Trang

Writer

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

นักอยากเขียน บ้านอยู่ชานเมือง ไม่ชอบชื่อเล่นที่แม่ตั้งให้ มีคติประจำใจว่าอย่าเชื่ออะไรจนกว่าหมอบีจะทัก รักการดูหนังและเล่นกับแมว

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์