ถ้าคุณเปิดไทยรัฐทีวี ช่อง 32 ระหว่างเวลา 19.00 – 22.40 น. คุณต้องคุ้นเคยกับชายคนนี้

อุ๋ย-ภาคภูมิ พันธุ์สถิตย์ คนข่าวดาวเด่นแห่ง ไทยรัฐนิวส์โชว์ (ประจำวันจันทร์-ศุกร์ บางทีก็เห็นกัน 7 วันต่อสัปดาห์) ดารารับเชิญตามโอกาสใน ข่าวใส่ไข่ และล่าสุดเป็นเจ้าของรายการใหม่ เปิดปากกับภาคภูมิ ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 15.30 – 16.15 น.

หากไม่ได้มานั่งคุยกัน คงไม่รู้เบื้องหลังการใช้ชีวิตที่คิดอะไรก็มีแต่ข่าว ๆๆ ของเขา แต่นั่นคือกิจวัตรประจำวันที่อุ๋ยพึงพอใจ เพราะข่าวและชีวิตร้อยเรียงเป็นลมหายใจเดียวกัน 

มีเวลาน้อยต้องสุขให้คุ้ม มีงานอดิเรกบ้างนิดหน่อย มีวันลาพักร้อนที่ไม่ได้ใช้มา 5 ปี มีประสบการณ์มากกว่า 2 ทศวรรษในการทำข่าวภาคสนาม เกาะติดนักการเมืองในทำเนียบและสภา ก่อนเปลี่ยนบทบาทมาสู่ผู้ประกาศข่าวที่มีเป้าหมายคือการช่วยเหลือประชาชน และมีเบื้องหลังความสำเร็จเป็นครอบครัวที่เข้าใจในทุกสิ่งที่ ‘นักข่าว’ ‘สามี’ และ ‘พ่อ’ คนนี้ทำ

อุ๋ยและเรานั่งอยู่ในสตูดิโอรายการ เปิดปากกับภาคภูมิ แต่ครั้งนี้เราสลับบทบาทกัน 

The Cloud คือผู้ดำเนินรายการ และภาคภูมิคือแขกรับเชิญที่มาเปิดปาก เปลื้องชีวิตส่วนตัวและการทำงานอย่างหมดเปลือก

'อุ๋ย ภาคภูมิ' เบื้องหลังคนข่าวไทยรัฐทีวี ประสบการณ์ 25 ปีที่หวังให้ข่าวช่วยประชาชน
'อุ๋ย ภาคภูมิ' เบื้องหลังคนข่าวไทยรัฐทีวี ประสบการณ์ 25 ปีที่หวังให้ข่าวช่วยประชาชน

On Duty

วันนี้คุณเข้างานเช้ากว่าปกติ 3 ชั่วโมงเพื่อมาพูดคุยกับเรา ชีวิตปกติของคุณเป็นอย่างไร

ปกติผมมาถึงไทยรัฐตอน 12.00 น. ออกจากตึกอีกทีตอน 23.00 น. สมัยก่อนทำงาน 7 วัน เพราะมีรายการเดียว แต่ช่วงนี้ได้หยุดเสาร์-อาทิตย์ เพราะมี 2 รายการคือ ไทยรัฐนิวส์โชว์ และ เปิดปากกับภาคภูมิ

เราพอรู้ว่าคุณเคยวิ่งข่าวภาคสนามมาก่อน แต่ตอนนี้มานั่งอ่านข่าว งานข้างในยุ่งน้อยกว่าไหม

ข้างในไม่ใช่ว่าไม่ยุ่ง ในกองบรรณาธิการข่าวโทรทัศน์เต็มไปด้วยสิ่งที่ต้องเตรียม เป็นเครื่องจักรที่หมุนไม่หยุด

ข่าวเช้าออนแอร์ 6.00 – 8.00 น. ทีมข่าวเช้าต้องมาตอนตี 3 จบงาน 8.00 น. เวลาเดียวกันทีมข่าวเที่ยงต้องมาแล้ว เพราะออนแอร์ประมาณ 11.00 น. ไม่เกิน 11.30 น. จบตอน 13.30 น. เวลานั้นทีมงานข่าวเย็นมาทำงานต่อ เพราะต้องออนแอร์ 16.00 – 16.30 น. จบปุ๊บทีมข่าวค่ำต้องมาเพื่อเตรียมออนแอร์ตอน 19.00 น. 

ไม่นับรายการอื่น ๆ อย่าง เปิดปากกับภาคภูมิ 15.30 น. ผมต้องมาตั้งแต่เที่ยงเพื่อประชุม ทำไปพร้อมกับคุย ไทยรัฐนิวส์โชว์ กับกองบรรณาธิการ

เพราะฉะนั้น ข้างในกับข้างนอกต่างกันที่รูปแบบ ตอนทำภาคสนามเราโฟกัสเรื่องต่อเรื่อง สมมติทำเรื่องทุนจีนสีเทา เราไปฟังตำรวจแถลงข่าว คุณชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ แถลงเพิ่ม เราโฟกัสเรื่องเดียวแต่ครอบคลุมที่สุด

ขณะที่ตอนทำรายการข่าว เราต้องโฟกัสทุกอย่างใน 2 ชั่วโมง ตีกลม ๆ มีข่าวประมาณ 20 เรื่อง แต่ละเรื่องมีย่อยอีกว่าจะลำดับอย่างไร อ่านอะไรบ้าง ความยุ่งเลยต่างกัน

คุณใช้อะไรประเมินว่าการทำงานวันนี้ดีหรือยัง

เรารู้สึกได้เองว่า ตอนนี้ยังสื่อสารไม่ดีพอ แต่เพราะมีงานทุกวัน KPI จึงถูกวัดในทุกวัน เพื่อเอามาประมวลว่าต้องปรับปรุงตรงไหน ผมวัดด้วยความรู้สึกว่าดีหรือไม่ดี ไม่นับเรื่องเรตติ้งที่เป็นหลักวิทยาศาสตร์ซึ่งต้องวัดผลทุกวันอยู่แล้ว

อะไรที่แปลว่าไม่ดีสำหรับคุณ

พูดติดขัด ลิ้นพัน เร็ว รัว รีบไปไหนไม่รู้ บางทีหาข้อมูลไม่ทัน ถ้าเสริมอีกหรือได้ถามเพิ่มอีกน่าจะดี

เวลาออกอากาศสด คุณต้องเล่าข่าว ดูสคริปต์ จ้องกล้อง คุยกับผู้ประกาศคู่ และฟังสิ่งที่โปรดิวเซอร์พูดผ่านหูฟัง เคยสมาธิหลุดบ้างไหม

พอเริ่มปุ๊บเหมือนตัดอย่างอื่นโดยไม่รู้ตัว ก่อนอ่านอาจมีบ้าง ผมเป็นแฟนบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ถ้าวันนี้มีเตะแต่ไม่ได้ดูก็อาจจะคิด (หัวเราะ) แต่พอเข้าข่าวก็ไม่สนใจแล้ว

อีกอย่าง งานข่าวคืองานสด การดูข่าวก็ต้องดูสด แม้จะดูย้อนหลังได้ แต่ก็ต้องเสพวันต่อวัน สมาธิเลยต้องอยู่กับงาน เราคัตอ่านใหม่ไม่ได้ รายการทอล์กก็เหมือนกัน คู่สนทนากี่คนก็ต้องมีสมาธิ ฟังอย่างตั้งใจ ประมวลผลอย่างรวดเร็ว โต้ตอบออกไปให้ทัน จะไปบอกให้เขาอธิบายใหม่ไม่ได้

แล้วเวลาอ่านข่าวคู่กับผู้ประกาศอีกคน มีความท้าทายมากกว่าปกติไหม

การอ่านข่าวคู่กับผู้ประกาศอีกคนหรืออ่านคนเดียว มันก็มีความยากง่ายแตกต่างกันไป แต่มันคือชีวิตประจำวันไปหมดแล้ว (หัวเราะ) ความท้าทายกลายเป็นเรื่องการตอบรับจากคนดูมากกว่า อันนี้ท้าทายว่าจะทำอย่างไรให้มันกลายเป็นรายการของประชาชนเพื่อช่วยเหลือประชาชนได้

นั่นคือเป้าหมายที่อยากไปให้ถึงในตอนนี้

ใช่ จะทำอย่างไรให้รายการเป็นปากเป็นเสียงหรือที่พึ่งของประชาชนที่เดือดร้อนได้

ถ้าทำไปแล้ว 3 เดือน 5 เดือน 2 ปี คุณยังไม่ได้ช่วยเหลือประชาชนหรือเป็นปากเป็นเสียงให้กับเขาเลย ผมถือว่าไม่ใช่แล้ว นั่นแปลว่าจัดรายการไปวัน ๆ

แล้วผลตอบรับในความพยายามที่คุณและทีมงานทำเป็นอย่างไรบ้าง

มีคนโทรกลับมาว่า คดีคืบหน้า เราดีใจมาก ไม่ใช่แค่รายการเรา แต่รายการอื่นที่คนมาร้องขอความเป็นธรรมด้วย 

บางเรื่องเขาเดือดร้อนจริง ถูกฟัน ถูกรุมยำมาแทบตาย เจอคนมีเงิน มีอิทธิพลกว่า ถ้าเขาไม่ได้เป็นข่าว ผมว่าเขาอาจจะแย่หรือตาย พอได้มาคุย เราถามไปยังตำรวจ ส่งต่อให้เขาไปกระทรวงยุติธรรมเพื่อขอความคุ้มครอง ไปเรียกร้องเงินตามสิทธิของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อที่ควรจะได้ เราดีใจ เพราะมันเกิดผลและได้ช่วยจริง ๆ 

คุณคิดว่าข่าวเปลี่ยนชีวิตคนได้จริงหรือ

ได้ ปัจจุบันทุกคนเป็นนักข่าวพลเมืองได้ เพราะมีสื่อในตัวเอง แต่บางทีถ้าไม่ใช่สื่อกระแสหลัก เสียงอาจไม่ดังพอ พอสื่อหลักเล่นเกิดการขับเคลื่อนของคนที่เกี่ยวข้อง

อย่างทุนจีนสีเทา คุณชูวิทย์เคยพูดเรื่องบ่อน จากนั้นก็มาถึงธุรกิจอื่นเพิ่ม ตอนนั้นยังไม่ขยายวงกว้าง พอสื่อเล่น ผมเชิญคุณชูวิทย์มา เอาบอร์ดมาเขียนให้ดู ทุนจีนสีเทาคืออะไร ต้องปราบตรงไหน สุดท้ายมีการขยายผลต่อ

ผมจะบอกว่าการคุยกับสื่อไม่ว่าจะรายการไหน ถ้าสื่อสนใจประเด็นสังคมที่ส่งผลกระทบต่อบุคคล สังคม และประเทศ แล้วนำมาสะท้อนออกไป ผมว่าสื่อช่วยชีวิตคนได้

คุณคิดอย่างไรที่หลายคนบอกว่า ไทยรัฐเป็นสำนักข่าวที่รายงานข่าวค่อนข้างบันเทิง มีสีสัน บางทีก็มีอภินิหาร ความเชื่อเข้ามา

ผมมองว่าเป็นคาแรกเตอร์เฉพาะตัวของผู้ประกาศแต่ละคนมากกว่า แต่ในแง่ของไทยรัฐทีวี เราตั้งใจว่าอยากเป็นเพื่อนกับคนดู สื่อสารให้เขาเข้าใจง่าย

เราตั้งใจว่าเป็นสถานีข่าว HD ให้คนดูข่าวชัด ๆ รวมไปถึงเทคโนโลยีข่าวและกราฟิกบนหน้าจอ เมื่อเป็นสถานีข่าว ข่าวในแต่ละช่วงจึงมีเวลานาน เช่น ไทยรัฐนิวส์โชว์ ยาวตั้งแต่ 19.00 – 22.40 น. ที่อื่นอย่างมากแค่ชั่วโมงครึ่ง เราเลยนิยามว่าข่าวต้องครบรส สดทั้งวัน ต่อให้นอกเหนือรายการข่าวอย่าง ตะลอนข่าว คู่กัดสะบัดข่าว เปิดปากกับภาคภูมิ ก็สด รายการเทปน้อยมาก

ช่วงเวลาหลายชั่วโมงเลยต้องทำให้ครบรสและครอบคลุม ด้วยความสามารถของกองบรรณาธิการและทุกคน เรารู้อยู่แล้วว่าข่าวแต่ละเรื่องโทนไหน เล่นได้มากหรือน้อย จริงจังแค่ไหน ต้องคุยกันช่วงที่บรีฟงาน ส่วนที่เหลือคือสไตล์ของแต่ละคน

ปัจจุบันการเล่าข่าว ขยี้ข่าว มากหรือน้อยไปคือสิ่งที่คนดูตัดสิน ต้องยอมรับว่าตอนนี้พฤติกรรมคนดูข่าวเองก็อาจเปลี่ยนไป เราอาจไม่ได้ต้องการผู้ประกาศข่าวที่นั่งนิ่ง ตัวตรง เราอาจต้องการคนที่มาเป็นเพื่อนในห้องรับแขก หรือเพื่อนในรถไฟฟ้า

คุณเคยต้องอ่านข่าวที่ไม่อยากอ่านไหม

ด้วยความเป็นมืออาชีพและวิชาชีพยังไงก็ต้องทำงาน เพราะเป็นข่าวที่เรารับผิดชอบ แต่ถ้าถามว่าข่าวไหนที่รู้สึกไม่ค่อยอยากเห็น คือข่าวเกี่ยวกับเด็ก เด็กจมน้ำ เด็กถูกทารุณ ประสบอุบัติเหตุ เพราะลูกเราก็วัยนี้

มีเสียงลือมาอีกว่า โปรแกรมของไทยรัฐมักมีแต่ข่าวอาชญากรรม ดูแล้วชีวิตหดหู่

ก็ใช่ แต่ถ้าดูจริง ๆ จะพอทราบว่าแบ่งเป็นช่วงเวลา ถ้าดูช่วง 19.00 – 20.00 น. เป็นแนวคนเมือง เศรษฐกิจ ปากท้อง สีสันบันเทิง ชุมนุม กินชาบูไม่จ่าย แต่พอ 20.00 น. จะเป็นแนวหนังอาชญากรรม กินเวลาไปถึง 21.30 น. อีกครึ่งชั่วโมงจะเบาลงมา แนวชีวิต ความเดือดร้อน อาจมีการเมืองมาหยอดตอนท้าย เราแบ่งโดยดูว่าคนกลุ่มไหนดูเราในแต่ละช่วงเวลา

แสดงว่าเราเปิดไปดูแต่ตอน 20.00 น. ตลอด เพราะเจอแต่ข่าวอาชญากรรม

(หัวเราะ) ขอบคุณที่เปิดมาดูเรานะครับ ถ้ามีเวลาพอก็อยากให้ดูตั้งแต่ต้นจนจบ จะได้เห็นว่าข่าวของเรามีหลากหลายรูปแบบ

ตอนนี้คนดูโทรทัศน์ก็น้อยลง คุณทำอย่างไรให้คนไม่เปลี่ยนช่อง

ขอตั้งต้นว่า หลายคนบอกว่าสื่อหลายอย่างจะตาย เพราะออนไลน์เข้ามา แต่ผมว่าสื่อไม่ตาย ทั้งหมดเป็นแค่แพลตฟอร์ม ทีวียังคงเป็นสื่อหลักที่คนดู คนรุ่นนี้ตอนนี้ไม่ดูทีวี แต่ในอนาคตเขาอาจจะไม่อยากดูโทรศัพท์เครื่องเล็ก ๆ แล้วก็ได้ เขาอาจเปิดทีวีดูจอใหญ่แทน

ถามว่าทำยังไงให้คนหยุดดู เราทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ไม่ใช่แค่ผม แต่คนในวงการโทรทัศน์ต้องช่วยกันสร้างสรรค์งานให้เกิดการยอมรับและดึงดูดผู้คน ตั้งใจอ่านโจทย์เพื่อตอบโจทย์คนดู ทำงานแข่งขันกับโลกออนไลน์โดยหาเรื่องที่เป็นปัจจุบันและเป็นความจริงที่สุดมาเล่า

'อุ๋ย ภาคภูมิ' เบื้องหลังคนข่าวไทยรัฐทีวี ประสบการณ์ 25 ปีที่หวังให้ข่าวช่วยประชาชน
'อุ๋ย ภาคภูมิ' เบื้องหลังคนข่าวไทยรัฐทีวี ประสบการณ์ 25 ปีที่หวังให้ข่าวช่วยประชาชน

On this day

เป้าหมายตั้งแต่วันแรกที่คุณทำงานข่าวจนถึงตอนนี้ยังเหมือนเดิมไหม

ผมมาไกลเกินฝัน ความฝันแรกคืออยากเป็นคอลัมนิสต์เขียนเรื่องฟุตบอล ต่อมาก็เป็นนักข่าว ไม่ได้คิดว่าอยากเป็นผู้ประกาศข่าว มีรายการทอล์ก ได้รับรางวัลนาฏราช สาขาผู้ประกาศข่าวชายยอดเยี่ยม อันนี้ต้องขอบคุณทุกคน 

ตอนนี้ผมอยากให้รายการข่าวที่ทำ โดยเฉพาะ เปิดปากกับภาคภูมิ เป็นปากเป็นเสียง เป็นที่พึ่งของสังคมได้

แล้วความฝันที่จะเป็นนักข่าวกีฬาหายไปไหน

คือตอนเด็กผมชอบฟุตบอลและเป็นนักฟุตบอลในยุคเฟื่องฟูของข่าวและนิตยสาร สตาร์ซอคเก้อร์ หรือ สยามกีฬารายวัน เราก็อยากเป็นคอลัมนิสต์อย่าง คุณบอบู๋-บูรณิจฉ์ รัตนวิเชียร และ คุณแจ็คกี้-อดิสรณ์ พึ่งยา

แต่พอเข้าเรียนคณะนิเทศศาสตร์ เราซึมซับการเมืองโดยไม่รู้ตัว เพื่อนสนิทคนหนึ่งชื่อว่า พีระยุทธ โอรพันธ์ เขาชอบถือ มติชนรายสัปดาห์ กับ สยามรัฐ สัปดาห์วิจารณ์ ขณะที่เราถือ สตาร์ซอคเก้อร์ ทุกวัน บางทีอ่านของเราจบ ก็เอาของเพื่อนไปอ่าน รู้จักชื่อนักการเมือง รู้เรื่องรัฐสภาไปโดยไม่รู้ตัว

พอเรียนจบทำงานที่ศูนย์ข่าวแปซิฟิก พ.ศ. 2540 ไม่มีโต๊ะประจำ เขาส่งเราไปทำทุกอย่าง แต่เรายังไม่ทิ้งฝันว่าจะเป็นนักข่าวกีฬา เมื่อตอนมีกีฬาซีเกมส์ที่อินโดนีเซียเลยได้ไปทำข่าวกีฬาจริงจังเป็นเดือน จนค้นพบว่ามันไม่ใช่ เราต้องไปสัมภาษณ์นักกีฬาก่อนและหลังแข่ง ระหว่างเกมต้องจดทุกนาที ใครทำอะไรนาทีที่เท่าไหร่ พิมพ์ส่ง

พอไปทำข่าวการเมืองกลับชอบ ฟังเขาอภิปรายในสภาได้สบาย ฟังตั้งแต่ยุค เฉลิม อยู่บำรุง ยังอยู่ในสภาแล้วก็เขียนวิเคราะห์

ตอนนั้นเลยรู้ว่า ข่าวกีฬา เรามีความสุขในการเสพ แต่ข่าวการเมือง เศรษฐกิจ อาชญากรรม เรามีความสุขในการสื่อ

แล้วหลังจากนั้นคุณก็ไม่ได้ออกจากวงการอีกเลย

ใช่ พ.ศ. 2541 เข้าไปสอบเป็นนักข่าวการเมืองของช่อง 9 MCOT HD ดำเนินการโดย อสมท. ส่วนปัจจุบันทำที่ไทยรัฐทีวี รวมทั้งหมดก็ 25 ปีพอดี ตอนเป็นนักข่าวใหม่ ๆ ต้องไปรายงานสดการชุมนุม ด้านหลังตีกันก็เคยผ่านมา แต่พอหลัง ๆ เราเริ่มมาอ่านข่าวข้างใน กินเวลาประมาณ 10 ปีได้ ครึ่งหนึ่งของการทำงาน

'อุ๋ย ภาคภูมิ' เบื้องหลังคนข่าวไทยรัฐทีวี ประสบการณ์ 25 ปีที่หวังให้ข่าวช่วยประชาชน
'อุ๋ย ภาคภูมิ' เบื้องหลังคนข่าวไทยรัฐทีวี ประสบการณ์ 25 ปีที่หวังให้ข่าวช่วยประชาชน

อะไรคือจุดเปลี่ยนให้คุณเบนเข็มจากงานภาคสนามมานั่งอยู่ในสตูดิโอ

น่าจะเป็นเรื่องจังหวะชีวิตและความโชคดีของเรา พอมาทำงานที่แรกก็เป็นวิทยุ ทุกต้นชั่วโมง 5 – 10 นาทีจะมีข่าว สมัยก่อนศูนย์ข่าวแปซิฟิกจะผลิตข่าววิทยุให้กับสถานีในเครือกองทัพบกทั่วประเทศ ยุคแรก ๆ คือ คุณสมเกียรติ อ่อนวิมล, คุณกิตติ สิงหาปัด ขณะเดียวกันก็มีการรับจ้างผลิตรายการโทรทัศน์ เมื่อก่อนดังมากคือรายการ ตามล่าหาความจริง

ผมเข้าไปเพื่อผลิตข่าววิทยุ ตอนนั้นส่งตัวอย่างเสียงไปให้เขาฟัง เพราะนักข่าวที่นี่ต้องใช้เสียง

ขอฟังตัวอย่างหน่อย ต้องพูดว่าอะไร

ต่อไปนี้สถานีวิทยุในเครือกองทัพบกโดยศูนย์ข่าวแปซิฟิกเสนอข่าวจาก… (ทำเสียงแบบที่เคยได้ยินในวิทยุ)

แล้วโทรทัศน์ที่ต้องการนักข่าวก็จะเลือกมาจากนักข่าววิทยุ เพราะนักข่าววิทยุใช้เสียงได้ รายงานได้ ยุคนั้นออนไลน์ยังไม่มีบทบาท พอผมได้มาทำทีวีก็มีจังหวะให้เติบโต ผมไต่มาตามระดับเลย อ่านข่าวภาคเล็ก ๆ ต้นชั่วโมง ข่าวดึก ข่าวเช้า ข่าวเที่ยง ข่าวค่ำ จนตอนนี้มีรายการทอล์กของตัวเอง เพราะไทยรัฐทีวีให้โอกาส

คุณเคยชอบการฝังตัวอยู่ในรัฐสภา ตอนนี้ไม่ได้ทำอย่างนั้นแล้ว โหยหาการทำข่าวการเมืองบ้างไหม

ไม่ถึงขั้นนั้น เมื่อก่อนตอนที่ผมโต รายการข่าวมันเรียง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ต่างประเทศ กีฬา พยากรณ์อากาศ เพราะฉะนั้นเมื่อก่อนคนไทยจะได้ดูแต่ข่าวการเมืองอันดับแรก แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ คนไม่ได้อยากดูการเมืองตลอด เขามีช่องทางให้เลือก

คุณคิดว่าข่าวการเมืองยังเป็นสิ่งที่ประชาชนควรเสพไหม

ต้องแล้วแต่ว่าเขาสนใจเรื่องการเมืองไหม แต่ไม่ควรทิ้ง เราควรรู้ สอดส่อง หรือเฝ้าดูว่านักการเมืองกำลังทำอะไรให้บ้าง การจัดประชุม APEC ครั้งนี้เราได้อะไร ราคาน้ำมันแพงแก้ปัญหาอย่างไร เมื่อประชาชนมีคำถาม สื่อต้องไปถามให้ เรื่องแบบนี้ผมว่าเป็นข่าวการเมืองที่ควรรู้และสื่อควรบอก ประชาชนไม่ต้องรู้ก็ได้ว่า นักการเมืองคนไหนด่าใครว่าอะไร แต่ถ้าอยากรู้ก็ได้เช่นกัน 

'อุ๋ย ภาคภูมิ' เบื้องหลังคนข่าวไทยรัฐทีวี ประสบการณ์ 25 ปีที่หวังให้ข่าวช่วยประชาชน

สมัยนี้นักข่าวก็เหมือนอินฟลูเอนเซอร์คนหนึ่ง คุณเคยเช็กเรตติ้งของตัวเองบ้างไหม

(หัวเราะ) ไม่เคยเลย เพราะไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นคนดัง เราเป็นคนข่าวคนหนึ่ง แต่เวลาเดินออกไปข้างนอกก็มีคนทักบ้าง มาขอถ่ายรูปก็ดีใจแล้ว

แต่ต้องยอมรับว่าความดังเป็นแรงขับเคลื่อนสังคม คนในวงการข่าวที่น่าเชื่อถือมีเยอะมาก เขาไม่ได้ทำเพราะอยากดัง คุณสุทธิชัย หยุ่น, คุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา, คุณกิตติ สิงหาปัด, คุณต๊ะ-นารากร ติยายน, คุณหนุ่ม-กรรชัย กำเนิดพลอย, คุณจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ หลายคนโด่งดัง แต่ไม่ได้ใช้ในการกอบโกย เขาหยิบอะไรขึ้นมาก็เกิดแรงกระเพื่อม พอคนพูดถึง หน่วยงานเข้ามา ผมเองก็เรียนรู้จากทุกคน ยกให้เป็นครู และนำมาพัฒนาตัวเอง

ในทุกวงการ ความโด่งดังเป็นสิ่งที่ต้องควบคุม ถ้าไม่อยู่ในครรลองก็เกิดความผิดพลาดกันได้

คุณคิดว่าการเป็นนักข่าวที่ดีต้องมีอะไรบ้าง

สารตั้งต้นคือต้องมีใจรัก เพราะถ้าไม่รักอยู่กับข่าวไม่ได้ ต้องหายใจเข้าออกเป็นข่าว มีจมูกข่าว เห็นเรื่องนี้แล้วได้กลิ่นว่ามันขยายผลต่อได้ มีความมุ่งมั่นตั้งใจ เมื่อโอกาสมาถึง คุณค่อยเอาความดีและความเก่งของคุณคว้าโอกาสตรงนั้นแล้วสร้างผลงานและตัวตนของคุณออกมา

ความทุ่มเทก็ต้องมีถึงขั้นจิตวิญญาณ มีความอยากรู้ อยากช่วยเหลือ อยากส่งต่อ ในหนึ่งวัน คุณจะต้องใช้ชีวิตอยู่กับมัน 60 – 70 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ต้องคุยกันทั้งวันเกี่ยวกับเรื่องข่าว

ช่วงที่ยุ่งที่สุด คุณทำงานติดกันนานขนาดไหน

24 ชั่วโมง เป็นวาระที่พิเศษหรือเหตุฉุกเฉิน เช่น ตอนที่ 13 หมูป่าติดถ้ำหลวง ไทยรัฐต้องล้มผังเป็นรายการข่าวทั้งวัน แต่ไม่ใช่อ่านคนเดียวตลอด อ่าน 4 – 5 ชั่วโมง พักหน่อย แล้วมาอ่านต่อ ไม่ได้กลับบ้านจนจบภารกิจแค่นั้นเอง

อย่างนี้ตอนกลับบ้านคุณก็คิดเรื่องข่าวด้วย

ก็คิดนะ แต่ถ้าเรากลับบ้านมันก็จะไม่ตลอด บางทีเห็นข่าว กรุ๊ปไลน์เด้ง สัญชาตญาณคนข่าวจะทำให้เราคุยเรื่องนั้นต่อ ถามผู้ใหญ่ว่าผมทำข่าวนี้ได้ไหม นี่คือชีวิต 24 ชั่วโมง แต่ไม่ได้ฝืนนะ มันชินแล้ว

เบื้องหลังความคิด ชีวิต และข่าวครบรสของ 'อุ๋ย-ภาคภูมิ พันธุ์สถิตย์' คนข่าวไทยรัฐที่ตกตะกอนว่า ความสุขอยู่แค่ปากซอย

On Cloud Nine

25 ปีผ่านไป งานข่าวคงต้องเคยทำให้ชีวิตคุณเสียสมดุลบ้าง

มีบ้างเวลาที่งานเยอะ ช่วงหนึ่งจัดวิทยุตอนเช้า 8.00 – 9.00 น. เสร็จแล้วกลางวันไปทำงานในกองบรรณาธิการข่าวต่อ พอตกกลางคืนไปอ่านข่าว เท่ากับทำตั้งแต่ 8.00 – 23.00 น. มีอีกช่วงคือเขาขอให้จัดเพิ่มเป็น 6.00 – 7.30 ด้วย เว้นแค่ 30 นาที บวกกับเสาร์-อาทิตย์ต้องอ่านข่าวตอนเช้า 

อันนี้ไม่เห็นหน้าลูกเมียของจริง ต้องมานั่งย้อนคิดกับตัวเองว่า เยอะเกินไปไหม เรามีความฝันเลยพุ่งทะยานไป แต่เมื่อถึงเวลา ช่วงหนึ่งของชีวิตจะบอกเราเองว่า สิ่งที่เราอยากเป็น อยากไป ยังไงก็ทิ้งครอบครัวไว้ข้างหลังไม่ได้ มันต้องมีสมดุลและความสุข

ครอบครัวสำคัญแค่ไหนสำหรับคุณ

ถ้าไม่มีครอบครัวสนับสนุนคงมาไม่ถึงจุดนี้

ภรรยาเจอผมตอนที่เป็นนักข่าวแล้ว เพราะฉะนั้น เขาเข้าใจธรรมชาติของเรา ลูกชายก็เกิดมาตอนที่พ่อเป็นนักข่าว ลูกก็ไม่เคยบอกว่าเราต้องไปเฝ้าเขาเตะบอล

ลำดับความสำคัญของผม อย่างแรกคือครอบครัว แค่ตัวไม่ได้อยู่ด้วย อย่างที่สองคืองาน

เบื้องหลังความคิด ชีวิต และข่าวครบรสของ 'อุ๋ย-ภาคภูมิ พันธุ์สถิตย์' คนข่าวไทยรัฐที่ตกตะกอนว่า ความสุขอยู่แค่ปากซอย

คุณคิดว่าตัวเองใช้ชีวิตที่ผ่านมาได้คุ้มค่าหรือยัง

ชีวิตข่าวคุ้มไม่คุ้มไม่แน่ใจ แต่ยังอยากทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะมีคำตอบว่าไม่มีใครจ้างเราแล้ว หรือถ้าไม่มีใครจ้างก็ยังอยากทำเอง เพราะชีวิตทุกวันนี้หายใจเข้าออกเป็นการสื่อสาร อยากเป็นเหมือนคุณสุทธิชัย หยุ่น, คุณวีระ ธีรภัทร ที่ชีวิตยังอยู่ในวงการ ไม่รู้ว่าจุดหมายสุดท้ายจะไปได้ถึงขนาดนั้นหรือเปล่า

แล้วชีวิตส่วนตัวล่ะ

บอกเลยว่ายัง เพราะเรามีชีวิตในภาคการทำงานมากกว่าชีวิตส่วนตัว แต่ก็ยังมีความฝันที่คุยกับลูกและภรรยาอยู่ เช่น เราต้องไปดูบอลกันที่โอลด์แทรฟฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ให้ได้ อันนี้ถึงเวลาค่อยไป มีความฝัน ภรรยาก็อยากไปเกาหลี ไปหา แจ็คสัน หวัง แต่ผมอยากไปหา ลิซ่า BLACKPINK ครับ (หัวเราะ)

ความสุขของคนยุ่ง ๆ อย่างคุณ หาได้จากไหนบ้าง

ชีวิตของผมไม่ได้ต่างจากคนทั่วไป ความสุขส่วนมากอยู่แค่ปากซอยบ้าน วนกันอยู่ในครอบครัว มีพ่อแม่ ภรรยาและลูก พอหยุดก็หาที่กินข้าว อาจไปเที่ยวบ้านญาติ มันคือความสุขที่สุขแล้ว ไม่รู้จะไปถวิลหาตรงไหนอีก นึกไม่ออกด้วยซ้ำว่ากิจกรรมหวือหวาอย่างอื่นคืออะไร เพราะไม่ได้ทำเลย (หัวเราะ)

แต่ชีวิตผมไม่ได้รันทดนะ นี่คือความสุขจริง ๆ ที่ผมเลือก เวลาน้อยต้องเก็บโกยความสุข แทบไม่อยากให้มันหล่นหายไปไหน

ถ้าไทยรัฐให้วันหยุดฟรี 1 สัปดาห์ ไม่นับรวมลาพักร้อน คุณจะทำอะไร

โห! ไปต่างประเทศเลย ไม่ญี่ปุ่นก็เกาหลี

แล้วถ้าให้ 1 เดือนเลยล่ะ

เยอะไป เดี๋ยวจะเที่ยวจนเบื่อ ขอสัก 12 วันก็เหลือเฟือ

คุณลาพักร้อนครั้งล่าสุดเมื่อไหร่

จำไม่ได้แล้ว นานมาก สมัยอยู่ที่ทำงานเก่า ตอนนั้นพัก 5 วันไปญี่ปุ่น แต่ตอนนี้อยู่ไทยรัฐมา 5 ปีแล้วยังไม่เคยลา

ถ้าอย่างนั้นคุณมีงานอดิเรกคลายเครียดบ้างไหม

ก็มีแค่สะสมเสื้อฟุตบอล ผมเป็นแฟนแมนยูฯ แต่ซื้อเสื้อทุกทีมไปเรื่อย ๆ ไม่ได้ประมูล ผมจะซื้อหลังจบฤดูกาล เพราะมันจะลดราคา ยกเว้นของแมนยูฯ ภรรยาบ่นแล้ว เพราะไม่มีที่เก็บ แต่ผมก็เอามาใส่นะ (หัวเราะ)

เบื้องหลังความคิด ชีวิต และข่าวครบรสของ 'อุ๋ย-ภาคภูมิ พันธุ์สถิตย์' คนข่าวไทยรัฐที่ตกตะกอนว่า ความสุขอยู่แค่ปากซอย

On the Way to a Dream

ชีวิตของคุณไต่เต้าขึ้นมาจากศูนย์ด้วยความสามารถและความพยายามของตัวเอง วันนี้คุณมีงานที่มั่นคง มีความสุข ได้ทำเพื่อสังคม คุณอยากขอบคุณใครบ้างที่ทำให้คุณก้าวมาถึงจุดนี้

ขอบคุณพ่อแม่ ขอบคุณภรรยาที่สนับสนุนเรา ขอบคุณลูกชายที่เข้าใจว่าพ่อทำงานตลอด ปิดเทอมก็ไม่ได้พาไปไกล ๆ ที่เหลือคือขอบคุณครูบาอาจารย์ที่เอ่ยชื่อไม่หมด ขอบคุณทุกที่ทำงานที่ให้โอกาสให้เราได้เติบโตขึ้นมา โดยเฉพาะไทยรัฐทีวี ขอบคุณจริง ๆ

(เสียงของเขาหายไป เราเงยหน้าจากสมุดจด)

(ซับน้ำตา) ไม่ใช่เพราะปัจจุบัน ผมอยู่ที่นี่เลยขอบคุณ แต่การอยู่ที่นี่ทำให้ผมได้ทำในสิ่งที่เป็นตัวเอง เพราะเราคือคนข่าว พออยู่ในสถานีข่าวมันก็ได้หายใจเข้าออกเป็นข่าว จังหวะชีวิตและลมมหายใจมันกลายเป็นสิ่งเดียวกัน…

ขอโทษครับ พอพูดแล้วจะร้องไห้

(เรายิ้มและพยักหน้า ทั้งห้องมีแต่ความเงียบ)

ผมไม่เคยคิดฝันว่าตัวเองจะมาไกลขนาดนี้ จนพอเป็นผู้ประกาศข่าวก็เริ่มมีฝันว่าอยากทำรายการทอล์ก พอผมได้คุยเรื่องการทำงานกับ คุณนิค-จิตสุภา วัชรพล หรือ คุณจูเนียร์-วัชร วัชรพล เขาถามผมว่า พี่อุ๋ยอยากทำอะไร ผมก็บอกว่า อยากทำรายการทอล์ก ผมไม่รู้ว่าจะทำได้ดีไหม แต่ผมอยากทำ ทางไทยรัฐให้โอกาสผมเลยคือรายการ เปิดปากกับภาคภูมิ นี่คือของขวัญชิ้นใหญ่

คงไม่มีสถานีโทรทัศน์ไหนที่ให้เวลาผมได้ทำรายการข่าวในแต่ละวันเยอะแยะขนาดนี้ ไม่รู้จะขอบคุณยังไง ใช้คำว่าขอบคุณก็ไม่รู้จะพอไหม เพราะโอกาสในหน้าที่การงานที่ได้ทำคือความมั่นคงของชีวิตที่ไปตอบโจทย์ความสุขของครอบครัว

ถ้าถามว่าผมไม่เหนื่อยเหรอ มีความสุขแล้วเหรอ นี่แหละคือความสุข เพราะมันร้อยรวมไปแล้วระหว่างชีวิตที่ทำงานและครอบครัว

เบื้องหลังความคิด ชีวิต และข่าวครบรสของ 'อุ๋ย-ภาคภูมิ พันธุ์สถิตย์' คนข่าวไทยรัฐที่ตกตะกอนว่า ความสุขอยู่แค่ปากซอย

Writer

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์