เช้าตรู่ของวันนี้ หมอกสีขาวเป็นทางยาวใต้ตีนเขาเหนือลำห้วย กำลังยกตัวลอยขึ้นตามจังหวะของพระอาทิตย์ที่กำลังจาริกขึ้นสู่ยอดเขา พระจันทร์ที่ยังไม่เข้านอนกำลังรอสบตาทักทายกับพระอาทิตย์ เป็นฤดูที่ผมโปรดปรานมากที่สุดแล้ว เพราะมีฤดูให้เห็นครบ ทั้งร้อนแบบหน้าร้อน แต่อ่อนโยนกว่า ฝนที่ยังไม่แน่ว่าจะมาบอกลาเมื่อไหร่ แต่ที่แน่ๆ ลมหนาวตอนหัวค่ำและตอนเช้าๆ เป็นสัญญาณของฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึงในเร็ววัน ไม่อาจคาดเดาได้เลยว่าปีนี้จะหนาวมากน้อยแค่ไหน ยาวนานเพียงใด

 เมื่อเข้าสู่กลางเดือนตุลาคมหรือชิหมื่อ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเดือนของผู้หญิง เนื่องจากบ่อยครั้งที่ตอนเช้าๆ อากาศจะแจ่มใสไร้วี่แววว่าฝน สาวๆ จึงซักผ้าและตากทิ้งไว้ก่อนออกจากบ้านไปทำงาน พอตกบ่ายฝนก็ตกอย่างไม่มีตู่ไม่มีแตร และต้องซักผ้าใหม่อีกทีจนได้

ตามเสียงแกวไปดู มาเด๊าะ มากะ วิถีลงแขกเกี่ยวข้าวของชาวปกาเกอะญอในเดือนชิฉ่า

ส่วนเดือนพฤศจิกายนหรือชิฉ่า เดือนของหนุ่มๆ ที่ตอนเช้าฝนอาจตกพรำๆ หนุ่มๆ ขึ้นดอยไปแล้วชะล่าใจไม่พกน้ำติดตัว เมื่อตกบ่าย แดดร้อน ต้องกระโจนลงห้วยไปหาน้ำดื่มดับกระหายให้ไว

เสียงแกว (กอ วอ แอ แกว แปลว่า ชวน) แว่วดังให้ได้ยินในตอนเช้าๆ หมายถึงว่าวันนี้ใครสักคนชักชวนกันไปเกี่ยวข้าวในหมู่บ้าน แกวทำจากเขาควายหรือไม้ มีลิ้นแบบเดียวกับปี่น้ำเต้า เป็นเครื่องดนตรีเก่าแก่ที่ยังมีลมหายใจ ถึงแม้จะถูกเชิญไปเสวนากับเครื่องดนตรีชิ้นอื่นน้อยมาก แต่มันก็ไม่ยอมยกธงขาวเมื่อฤดูเกี่ยวข้าวมาถึง 

หลังจากข้าวมื้อเช้า นักเกี่ยวข้าวจะบรรจุห่อข้าว ช้อน และเคียว อุปกรณ์สำคัญสำหรับการลงสนาม ยังมีแป้งเย็น ยาดม ยาสูบ หมาก เมี่ยง ลูกอม ขนม หรือสิ่งจำเป็นอื่นๆ ที่นับวันจะทำให้นักเกี่ยวข้าวต้องแบ่งพื้นที่กระเป๋าหรือย่ามให้ใส่ของได้ลงตัวพอดิบพอดี  

เมื่อเหล่านักเกี่ยวเดินทางไปถึงกระท่อมหรือเถียงนา กระเป๋าหลายสิบใบจะถูกแขวนกับเสากระท่อม เจ้าของนาจะเริ่มควงเคียวเกี่ยวต้นข้าวเปิดพิธี ก่อนจะขอตัวไปทำอาหารเที่ยงเลี้ยงพวกเรา นักเกี่ยวข้าวทั้งหลายได้กลับมาทักทายเจ้าเคียวอันเก่าที่พักไปกว่าค่อนปี หรือบางคนก็ถอยเคียวใหม่เอี่ยมอวดคมดูน่าเกรงขาม

ตามเสียงแกวไปดู มาเด๊าะ มากะ วิถีลงแขกเกี่ยวข้าวของชาวปกาเกอะญอในเดือนชิฉ่าอ

 เมื่อเราเริ่มต้นเรียนรู้เป็นนักเกี่ยวข้าว เราต้องเป็นนักเกี่ยวก้อยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเกี่ยวก้อยนี้ไม่ได้หมายถึงแค่การเกี่ยวดองกับคนรอบข้างเท่านั้น แต่คือการเอาคมของเคียวเกี่ยวเข้ากับนิ้วก้อยของเราอย่างจัง ไม่เคยมีบันทึกหรือเรื่องเล่าในประวัติศาสตร์ว่ามีคนตั้งใจเกี่ยวก้อยเพื่อสาบานเป็นพี่น้องกันในท้องนามาก่อน ผมเลยแน่ใจว่ามันเป็นอุบัติเหตุจริงๆ

 นิ้วก้อยเป็นน้องเล็กที่มักจะถูกเกี่ยวเสมอ เพราะเวลาเรากำต้นข้าวมันอยู่ใกล้กับวงสวิงของเคียวที่สุด เมื่อมันถูกคมของเคียวเกี่ยวเข้าให้ ของเหลวสีแดงของสัตว์เลือดอุ่นจะไหลออกพร้อมน้ำตาที่อาบแก้มของนักเกี่ยวข้าวมือใหม่ น้ำใสๆ ในตากับน้ำแดงปลายนิ้วก้อยหยดลงดินพร้อมกันดังติ๋งๆ

ใบสาบเสือซึ่งเป็นที่รู้จักไปทั้งดงดอย ถูกเคี้ยวแล้วประคบลงบนบาดแผลจนปวดแสบ สักครู่เลือดและน้ำตาจึงหยุดไหล ไม่มีกรรมการให้สัญญาณ พันแผลเสร็จแล้วก็ลุยต่อได้เลย 

รอยแผลที่นิ้วก้อยเป็นการก้าวไปสู่การเป็นนักเกี่ยวเต็มวัย และเป็นการเริ่มต้นสะสมชั่วโมงบินของนักเกี่ยวข้าวทุกชีวิต มันทำให้นักเกี่ยวมั่นใจในฝีเคียวมากขึ้น ชำนาญมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม อาจมีใครเผลอเกี่ยวก้อยเข้าอีกจนได้ เพราะความมั่นใจที่เกินพอดี หรือความพลั้งเผลอ หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่เมื่อนักเกี่ยวโตขึ้น จะไม่ปล่อยให้น้ำตาลูกผู้หญิง-ลูกผู้ชายไหลออกมาในสนาม น้ำแดงปลายนิ้วก้อยจึงต้องหยดลงดินติ๋งเดียวเพียงลำพัง การเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้พรากน้ำใสไปจากน้ำแดงอย่างไม่ใยดี

ตามเสียงแกวไปดู มาเด๊าะ มากะ วิถีลงแขกเกี่ยวข้าวของชาว ปกาเกอะญอ ในเดือนชิฉ่า
ตามเสียงแกวไปดู มาเด๊าะ มากะ วิถีลงแขกเกี่ยวข้าวของชาว ปกาเกอะญอ ในเดือนชิฉ่า
ตามเสียงแกวไปดู มาเด๊าะ มากะ วิถีลงแขกเกี่ยวข้าวของชาว ปกาเกอะญอ ในเดือนชิฉ่า

คนหนึ่งเกี่ยว อีกคนหนึ่งคอยดึงใบข้าวแล้วเอามามัด ก่อนจะวางมัดข้าวบนตอ บางคนวางข้าวเป็นแนวเป็นแถวสวยงาม ทำให้ง่ายต่อการเก็บ ถ้าหนุ่มสาวคู่ไหนวางมัดข้าวเป็นคู่ๆ อย่างสวยงาม เดาได้เลยว่าหัวใจสีชมพู 2 ดวง กำลังเต้นในจังหวะที่พร้อมเพรียงกัน

ถ้าต้นข้าวโตจนรวงข้าวเต็มไปด้วยเมล็ดข้าวที่เรียงชิดติดกันอย่างแน่นหนาเหมือนรถติดไฟแดง เจ้าของนาจะยิ้มแก้มปริอย่างอิ่มใจ เพราะปีต่อไปมีข้าวเหลือกินแน่นอน

 ถ้ามีแดดดีมากๆ สัก 2 วัน ก็เก็บข้าวมาตีได้ และจะได้ข้าวที่มีคุณภาพคับยุ้งไว้ต้อนรับแขกเหรื่อ แต่ถ้าโชคดีน้อยลง ข้าวที่ตากไว้โดนฝน ก็ต้องทดเวลาบาดเจ็บให้เมล็ดข้าวนอนรอบนตอไปก่อน หรือบางปีที่ฝนตกชุกก็ต้องตีข้าวกันทั้งที่ข้าวยังเปียก ค่อยตากข้าวให้แห้งแล้วจึงเอาไปใส่ยุ้ง ข้าวเปลือกที่แห้งไม่สนิทเมื่อนำไปหุงจะมีผลต่อสุขภาพทารก ทำให้ไม่สบายได้ การเก็บข้าวให้แห้งสนิทจึงสำคัญมาก เวลาเข้าหมู่บ้านจึงแน่ใจได้ค่อนข้างมากว่าข้าวที่เดินผ่านหลอดอาหารลงไปในกระเพาะของเรานั้นเป็นข้าวคุณภาพดี กินแล้วอิ่ม นอนแล้วอุ่น

ตามเสียงแกวไปดู มาเด๊าะ มากะ วิถีลงแขกเกี่ยวข้าวของชาว ปกาเกอะญอ ในเดือนชิฉ่า

ฤดูเกี่ยวข้าวมักจะมีการอึทา คือร้องเพลง แต่เพราะโลกหมุนไปข้างหน้า การฟังเพลงผ่านเครื่องเล่น MP3 หรือวิทยุพกพาที่มีลำโพงขยายเสียงดังไกลไปหลายหลา ได้รับความนิยมในหมู่คนยุค 60 อย่างมาก ช่วยให้เพลงพื้นบ้าน นิทาน ธา (บทกวีโบราณ) กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เสียงเพลงดังออกมาจากกระเป๋า จังหวะเดินของผู้เฒ่าเนิบช้าเหมือนท่วงทำนองของเพลง

ผมคิดเอาเองว่าสำหรับคนยุคหนึ่ง บทเพลงที่ดังให้ได้ยินคงกลั่นเอาคืนวันเก่าๆ ความทรงจำเก่าๆ เมื่อครั้งยังอยู่ในวัยหนุ่มสาวออกมาให้คิดถึง คงมีภาพมากมายลอยมากับเสียงเพลงนั้น ยิ่งเดินกลางทุ่งด้วยแล้ว คนวัยนั้นคงอินมากๆ เมื่อของใหม่มีพื้นที่ให้ของเก่าด้วย ช่องว่างของยุคสมัยก็ถูกถมให้แคบลง

 ไม่ใช่เฉพาะการฟังเพลงเท่านั้น การเล่านิทาน เรื่องตลก เรื่องทะลึ่งตึงตัง หรือแม้แต่การเอาฉากสุดระทึกของนางเอกละครหลังข่าวมาฉายซ้ำในนาข้าวอย่างออกรสของป้าคนหนึ่ง ก็ช่วยทำให้ขบวนของนักเกี่ยวข้าวหลงลืมความเหนื่อยล้าไปได้อย่างดี

ตามเสียงแกวไปดู มาเด๊าะ มากะ วิถีลงแขกเกี่ยวข้าวของชาว ปกาเกอะญอ ในเดือนชิฉ่า

การลงแขก การเอามื้อ-เอาวัน หรือที่เราเรียกว่า การแลกเปลี่ยนแรงงาน ถือเป็นของขวัญชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งของชุมชนเล็กๆ การช่วยเหลือกันในชุมชนที่ใช้แรงใจแรงกายแลกเปลี่ยนกันเพื่อให้ฤดูเพาะปลูกและฤดูเก็บเกี่ยวสำเร็จไปด้วยด้วยดี กลายเป็นความสำเร็จมวลรวมของนักปลูกข้าวที่ส่งต่อความเห็นอกเห็นใจต่อกันมาอย่างยาวนาน

ภูเขาตอนนี้ดูชุ่มชื้น เมฆขาวโพลน ท้องฟ้าสีฟ้าสดใสสะอาดไร้หมอกควัน ลำห้วยใหญ่น้อยมีเสียงน้ำไหลให้ได้ยินชัดเจน เป็นพยานว่าต้นน้ำยังมีความสมบูรณ์ ด้วยแรงกายแรงใจของชาวบ้านที่ช่วยกันดูแลเป็นเวลาเนิ่นนาน จนต้นน้ำให้กำเนิดต้นข้าวหล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คน

เป็นไปไม่ได้เลยที่ต้นข้าวจะเติบโตและชีวิตจะเติบใหญ่อย่างราบรื่น หากขาดแคลนต้นไม้ที่ชูต้น แผ่กิ่งก้าน ผลิใบ  ต้นข้าวจึงชูลำต้นไปทักทายความสมบูรณ์ของป่า เช่นเดียวกับคนที่เบิกบานไปกับฤดูที่ได้เก็บเกี่ยวรวงข้าว

ได้เวลาพักกินข้าวเที่ยงในกระท่อมที่ผ้าเต็นท์ลายน้ำเงินฟ้าปูอยู่พร้อมกับข้าวมากกว่า 2 อย่าง เตรียมไว้สำหรับกระเพาะทั้งหลายที่อุ่นเครื่องเรียกน้ำย่อยรอตั้งแต่ก่อนเที่ยงแล้ว ห่อข้าวของนักเกี่ยวถูกล้วงออกมาจากกระเป๋าของใครของมัน ก่อนจะวางลงข้างอาหารซึ่งแต่ละคนก็มีพันธุ์ข้าวที่เหมือนและต่างกันไป เช่นข้าวพื้นบ้านดั้งเดิมอย่างบือชอมีหรือข้าวไก่ป่าที่เวลาหุงจะขึ้นหม้อดี กินอิ่มหลายคน และบือโปโล ข้าวเมล็ดกลมคล้ายข้าวญี่ปุ่น ข้าวบางชนิดถูกปรับปรุงสายพันธุ์โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อให้เหมาะต่อพื้นที่นั้นๆ ชาวบ้านจะเรียกติดปากว่า บือเกษตร

ตามเสียงแกวไปดู มาเด๊าะ มากะ วิถีลงแขกเกี่ยวข้าวของชาว ปกาเกอะญอ ในเดือนชิฉ่า

 ตลอดเดือนตุลาคมและเดือนพฤศจิกายนอาจมีกับข้าวซ้ำกันบ้าง เช่น น้ำพริกปู ต่าพอเพาะ แกงไก่บ้านใส่ฟักทอง น้ำพริกปลากระป๋อง น้ำพริกปลาทูตัวน้อยที่นับวันจะตัวเล็กลงทุกที เข้าใจว่าคงเดินทางไกลเลยหิวโซจนซูบผอม ปลาเค็มทอด หมูทอด บางมื้อก็มีปลาแซลมอนที่เดินทางมาไกลจากยุโรปเลยทีเดียว คงเดินทางไกลมากเหมือนกัน มันจึงเหลือเพียงหัวที่มีเนื้อปลาติดมานิดหน่อย ไว้ทำน้ำแกงไว้ซดไม่ให้ข้าวติดคอ

หลังมื้อเที่ยง บ่อยครั้งที่เจ้าบ้านจะมีขนมให้ขบแทะอย่างลูกอม เมล็ดทานตะวัน หรือถ้าบางบ้านมีเวลาและวัตถุดิบมากหน่อย ก็จะมีฟักทองบวช แต่ที่จะถูกอกถูกใจเหล่านักเกี่ยวเห็นจะเป็นส้มตำหรือมะขามเปรี้ยวกับน้ำพริกน้ำปลา บางทีมะนาวจิ้มกะปิใส่น้ำปลา น้ำตาล แค่นี้ต่อมน้ำลายของนักเกี่ยวก็ไหลจนต้องรีบไปร่วมวง 

นักเกี่ยวบางคนเลือกที่จะไม่รบกวนกระเพาะตนเองจนเกินไป ด้วยการพาตัวเองงีบหลังมื้อเที่ยง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นมากๆ เพราะการกรำศึกเกือบทุกวันตลอดฤดูเก็บเกี่ยว นอกจากต้องฟิตแล้ว ยังต้องพักให้พอ เพราะไม่มีตัวสำรองให้เปลี่ยนจนกว่าฤดูเก็บเกี่ยวจะสิ้นสุดลง จึงเป็นเวลาที่กล้ามเนื้อใหญ่น้อยจะได้พักผ่อนไปยาวๆ

‘มาเด๊าะ มากะ’ หรือการเอามื้อ-เอาวัน บางที่เรียกว่า การลงแขก เป็นสิ่งที่ยืนยันความเป็นชุมชนอย่างแท้จริง เขามาช่วยเรา เราไปช่วยเขา ต่อให้เครื่องจักรจะเร็วแค่ไหน จะให้ประสิทธิผลเพียงใด ก็ไม่อาจทดแทนคุณค่าทางจิตใจของการแลกเปลี่ยนแรงกายแรงใจของคนได้ ข้าวส่วนใหญ่จึงถูกเก็บไว้กินและเลี้ยงหมูมากกว่าขาย เพราะข้าว 1 จาน ถูกมากเมื่อเทียบกับกาแฟ 1 ถ้วย คนที่ขายข้าวจึงเป็นครอบครัวที่ผลิตข้าวได้เกิน 2 ตันขึ้นไปเท่านั้น 

แสงแดดส่องทะลุปีกของแมลงปอนับร้อยที่กำลังบินโฉบเฉี่ยวเฉลิมฉลองฤดูเก็บเกี่ยวไปกับเรา เช่นเดียวกับนกแซงแซวที่แวะเวียนมาทักทายทุ่งสีทอง เหมือนมันจะรู้ว่าต้องรีบมาเก็บภาพ เพราะจะได้ดูอีกทีต้องรอจนถึงปีหน้าเลย

ตามเสียงแกวไปดู มาเด๊าะ มากะ วิถีลงแขกเกี่ยวข้าวของชาว ปกาเกอะญอ ในเดือนชิฉ่า

 ท่ามกลางหลากหลายชีวิตในทุ่งข้าวบ้าง ในหุบเขาบ้าง บนไหล่ดอยบ้าง ทั้งคนหนุ่มสาวที่ตัดสินใจปักหลักอยู่บ้าน หรือกลับมาจากเรียนในเมืองช่วงวันหยุด ผู้เฒ่าผู้แก่ หลานๆ ตัวน้อยที่วิ่งเล่น และช่วยเสิร์ฟน้ำ กำลังซึมซับจังหวะของฤดูกาลผ่านจังหวะก้าวของเท้าที่บางทีก็พลัดตก เหยียบดินโคลน ถูกใบข้าวบาดแขนบาดหน้าให้เป็นรอยบ้าง แม้จะเป็นสิ่งที่เล็กน้อยมาก แต่มันก็เป็นห้องเรียนที่เด็กหลายคนสนุก

ขณะหนึ่งซึ่งไม่ได้ยืนยาว ผมได้สัมผัสกับความรู้สึกอิ่มใจ คงไม่มากเกินไปที่จะเรียกมันอย่างเต็มปากว่าสุขใจที่ถึงแม้มันจะเกิดขึ้นเพียงเสี้ยวนาที แต่มันก็ช่วยต่อเติมกำลังใจให้เดินต่อได้เป็นอย่างดี

ผมเชื่อเหลือเกินว่ายูโทเปีย ดินแดนในฝันของมนุษย์ มีอยู่จริงในทุกหนทุกแห่ง เราไม่จำเป็นต้องรอเป็นร้อยเป็นพันปี แต่มันอยู่ในดินแดนแห่งหนึ่งที่เราเรียกว่า การช่วยเหลือเกื้อกัน

ปลายฝนต้นหนาวเดือนพฤศจิกายน

ต่าบลึ๊โดะมะ / ขอบคุณมากครับ

Writer & Photographer

Avatar

โอชิ จ่อวาลู

นักการภารโรงที่ Lazy man College ผู้กำลังหัดเขียนเล่าเรื่อง