ปีละ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อยที่ผ้าทอมือชิ้นใหม่ซึ่งไม่เคยถูกใช้งาน ถูกพับเก็บไว้เป็นอย่างดี จะถูกนำออกมารับแดด ปกติคือช่วงปีใหม่ และอีกครั้งในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นเทศกาลผูกข้อมือเรียกขวัญ ที่เราจะได้เห็นชาวบ้านแต่งตัวเต็มยศสวยงาม เผยให้เห็นลวดลายเส้นสายบนเสื้อผ้า โดยเฉพาะแม่บ้านผู้เป็นเจ้าของผลงาน

ลวดลายผ้าทอมือมีเรื่องราวมากมายที่ผ่านช่วงเวลาที่แตกต่างกัน บางตัวอายุเกือบร้อยปีดูมีพลัง บางตัวเป็นการแลกเปลี่ยนกันกับเพื่อนต่างหมู่บ้าน ซึ่งทำให้เห็นความแตกต่างที่เป็นเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละถิ่น บางตัวเห็นก็รู้ว่าเป็นลายผ้ายุค 4G

ถึงแม้ทุกวันนี้เสื้อผ้าจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิต ที่ดูเหมือนไม่ใช่ปัญหาใหญ่อีกต่อไปถ้าเราได้สำรวจเสื้อผ้าที่เราแต่ละคนมีเก็บไว้ แต่เรื่องราวบนผืนผ้าต่างหากที่กำลังถูกลืมและขาดแคลนในหมู่คนรุ่นเรา 

แม่บ้านคือผู้ที่ทำหน้าที่สืบทอดเรื่องราวบนผืนผ้าเหล่านั้นได้อย่างดี เพราะวิถีชีวิตตั้งแต่เล็กจนโต เช้าจรดเย็น ตั้งแต่ฤดูร้อนจนถึงฤดูหนาว ผู้หญิงได้เรียนรู้ ได้ใกล้ชิดกับผ้า เช่น เมื่อแม่คนหนึ่งให้กำเนิดชีวิตใหม่ เด็กน้อยก็จะถูกแกว่งไกวในเปลที่เป็นผ้าห่มทอมือผืนบางที่ประยุกต์เป็นเปลกล่อมลูกน้อยได้ หรือจะแบกเด็กน้อยขึ้นหลังเดินไปมา การบันทึกเรื่องราวผ่านประสบการณ์ความรู้สึกเช่นนี้ ช่วยบ่มเพาะจินตนาการของนักทอผ้า จนสามารถถักทอเรื่องราวต่างๆ มาเก็บไว้ในลายผ้าทอ ที่แสดงออกถึงความผูกพันที่ธรรมชาติและมนุษย์มีต่อกัน

ฉ่า โร หมื่อ วิธีบันทึกธรรมชาติด้วยการเปลี่ยนเรื่องราวเป็นลวดลายผ้าทอมือปกาเกอะญอ

ฉ่า โร หมื่อ ดาวล้อมตะวัน

ฉ่า โร หมื่อ วิธีบันทึกธรรมชาติด้วยการเปลี่ยนเรื่องราวเป็นลวดลายผ้าทอมือปกาเกอะญอ

 เสื้อตัวแรกของเด็กชายกำพร้าในนิทานที่ทำจากต้นกล้วย กลายเป็นที่มาของการเริ่มฝึกหัดการทอผ้าของเด็กผู้หญิงตัวน้อย ที่ใช้กาบกล้วยมาฉีกเป็นเส้นๆ เพื่อแทนเส้นด้ายของจริง เมื่อนักเรียนตัวจิ๋วได้สัมผัสกับการใช้กี่เอวครั้งแรก วิธีการทอที่มีผู้รู้คอยประกบตัวต่อตัว ไม่นานนักเด็กหญิงก็จะได้เรียนรู้การทอผ้าด้วยเส้นด้ายของจริง และการทอเสื้อผืนแรกของตัวเอง เป็นหลักสูตรที่เหล่านักทอผ้ามืออาชีพล้วนเคยสอบผ่านกันมาทั้งนั้น

บนท้องฟ้าอันเวิ้งว้างกว้างไกลที่เต็มไปด้วยด้วยหมู่ดาวในกลางคืน เมื่อครั้งยังไม่มีแสงของหลอดไฟรบกวน เป็นไปได้ว่าด้วยม่านที่มองออกไปยังดวงดาวที่กะพริบไหวแสนไกล นักทอผ้าคนแรกได้หยิบเอาดวงดาวลงมาไว้บนเสื้อของเธอ  และไม่ลืมนับดวงตะวันที่ส่องแสงตอนกลางวันเข้าไว้ด้วยกัน ด้วยความรู้สึกที่ดาวเป็นส่วนหนึ่งของแสงตะวัน

ผู้เป็นแม่จะตื่นเช้า แม่จึงจินตนาการให้ดวงตะวันอยู่ตรงกลางของหมู่ดาว คอยส่องแสงสว่างให้ดาวเคราะห์ที่เปรียบเสมือนลูกๆ ในวัยเด็กที่ต้องได้รับความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่ เหมือนแสงจากดวงตะวันที่ให้ความอบอุ่นกาย เช่นเดียวกับเสื้อผ้าที่ได้ทำหน้าที่ของมันในฤดูหนาว จึงเกิดเป็นชื่อของลายบนเสื้อของแม่บ้านที่เรียกว่า ‘ฉ่า โร หมื่อ’ ที่แปลว่า ดาวล้อมตะวัน ซึ่งพบเห็นได้ทั้งที่เป็นลายปักและลายยก ดวงดาวในจินตนาการของแต่ละคนอาจคล้ายและแตกต่างกันไป เป็นสี่เหลี่ยมบ้าง สามเหลี่ยมบ้าง นอกจากนี้ ยังมีลวดลายที่เกี่ยวกับดาวอื่นๆ เช่น ฉ่า พิ เล ดาวกระจาย ฉ่า ตู่ กอ ดาวศุกร์ 

ฉ่า โร หมื่อ วิธีบันทึกธรรมชาติด้วยการเปลี่ยนเรื่องราวเป็นลวดลายผ้าทอมือปกาเกอะญอ

 ธรรมชาติที่ได้ถูกเก็บไว้ในผืนผ้า

เลื่อนสายตาจากท้องฟ้าลงมาบนพื้นโลก ที่วิถีชีวิตผูกพันกับธรรมชาติมายาวนาน จนเพียงพอที่มนุษย์จะจดจำสิ่งต่างๆ ทั้งสิ่งมีชีวิตที่เป็นสัตว์และสิ่งมีชีวิตที่เป็นต้นไม้พืชพรรณ สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ทำหน้าที่ดูแลมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นทั้งอาหาร ยาสมุนไพร ไม้สำหรับปลูกเรือน ให้ร่มเงา เมื่อมองสิ่งเหล่านี้สำคัญต่อการมีชีวิต การเขียนบันทึกด้วยเส้นด้ายทีละขยักลงบนผ้า จึงเป็นสิ่งที่นักทอผ้ายุคเก่าแก่ได้ทำไว้ เพราะไม่มีภาษาเขียนไหนจะทำให้ลายผ้างดงามไปกว่านี้อีกแล้ว

สิ่งรอบข้างที่พบเจอได้ในวิถีชีวิตประจำวัน ตั้งแต่บ้านที่มีสัตว์อย่างแมงมุมที่ได้รับเชิญให้มาประดับบนเป็นลายเสื้อถูกเรียกว่า ‘เก่อ ปอ เดอ’ หรือลายแมงมุมบ้าน แมงมุมที่มักจะสร้างใยที่เป็นบ้านของมันในบ้านของเราอีกทีคอยดักจับแมลงหรือยุงให้เรา แมงมุมจึงมีความสำคัญต่อเราในฐานะยามเฝ้าบ้านคนหนึ่ง ถึงแม้ใยแมงมุมอาจจะเกะกะบ้าง แต่มันก็จะจากไปในไม่ช้า แมงมุมจะไม่อยู่ที่เดิมถาวร แมงมุมที่อยู่ในบ้านไม่ได้มีพิษอะไร มีเพียงมนุษย์เราที่มองแมงมุมบ้านเปลี่ยนไป เมื่อการปลูกบ้านแบบสมัยใหม่ที่ไม่ได้นับสัตว์เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของบ้านอีกต่อไป

ลายเก่อ ปอ เดอ มักจะมีการใช้ลูกเดือยชนิดยาวปักเป็นรูปขาของแมงมุมที่กางออกทั้งสี่ข้างลงบนเสื้อของแม่บ้าน ส่วนพ่อบ้านนั้นจะเอาลายแมงมุมมาใส่ไว้ในงานจักสานแทน ซึ่งเรียกว่า ‘เกอ ปอ จึ๊’

ไกลออกไปจากบ้านเมื่อเราเดินทางไปที่ไร่นา มีทั้งพืชและสัตว์ที่นอกจากจะเป็นอาหารแล้ว นักทอผ้าก็ไม่ลืมเก็บบันทึกสิ่งที่พบเจอในทุ่งไร่ในท้องนาลงไว้บนผ้าเช่นกัน ‘แฉว่ ซะ’ หรือลายอกปู ที่เกิดจากการมัดย้อมสำหรับการนำลายไปใช้ในการทอผ้าซิ่น

นอกจากปูแล้ว ข้าวก็เป็นพืชที่สำคัญมากๆ ผักแว่นและใบบัวบกก็ถูกใช้เป็นลายปักบนผ้าเช่นกัน ส่วนจิงโจ้น้ำที่ใช้วิชาตัวเบาเดินไปมาบนผิวน้ำ ก็ได้มีลายเซ็นเป็นของตัวเองที่มีชื่อเรียกว่า ‘ทีฃ่า’ เช่นเดียวกับลูกอ๊อดตัวน้อยที่รอวันกลายร่างเป็นกบเป็นเขียด ก็ไม่ได้คลาดสายตาอันแหลมคมของนักทอผ้า ต่อให้เป็นแค่ส่วนปากเท่านั้นเองที่ถูกนำมาใช้เป็นลายผ้าที่มีชื่อว่า ‘เบอะข่าข้อ’ หรือลายปากลูกอ๊อดนั่นเอง

ฉ่า โร หมื่อ วิธีบันทึกธรรมชาติด้วยการเปลี่ยนเรื่องราวเป็นลวดลายผ้าทอมือปกาเกอะญอ

ลายสีของเส้นด้ายคือลายแทงของเส้นทาง

กว่าที่เสื้อสักผืนจะถูกทอออกมาให้ใช้ต้องใช้เวลาไม่น้อย ผ้าหนึ่งผืนมีความหมายกับคนคนหนึ่งอย่างมาก คนรุ่นก่อนจึงทะนุถนอมเสื้อผ้าของตนอย่างดี คนสมัยก่อนเล่าว่า สมัยที่ยังเป็นเด็กผู้ชายตัวเล็กไปเลี้ยงควาย เขาต้องถอดเสื้อ เอาใบตองมาห่อ เก็บใส่ย่ามไว้ และเดินถอดเสื้อตามควายทั้งวัน ตอนเย็นถึงค่อยใส่เสื้อกลับเข้าหมู่บ้าน วิธีนี้ช่วยยืดอายุการใช้งานของเสื้อออกไปอีกหลายปี

ภายหลังฤดูเก็บเกี่ยว ผู้ชายจะทำหน้าที่เดินเท้าออกไปหาฝ้ายยังหมู่บ้านที่มีต้นฝ้าย ซึ่งบางครั้งใช้เวลานานเป็นเดือน จนกว่าจะได้ฝ้ายพอสำหรับเสื้อผ้าของคนในครอบครัว เพื่อให้แม่บ้านทอเป็นเสื้อ ผ้าพันคอ ผ้าห่ม ย่าม หรือซิ่น สำหรับต้อนรับฤดูหนาว

ในปัจจุบัน นอกจากการมีอยู่ของลายดั้งเดิมแล้ว ยังมีการคิดค้นลายใหม่ๆ เพิ่มเติม เช่น ลายดอกไม้ที่ชาวบ้านปลูกขาย หรือในหนังสือหรือสื่อช่องทางต่างๆ ที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ หรือบางทีเป็นความต้องการของเพื่อนๆ ในเมืองที่แวะเวียนมาพูดคุยแลกเปลี่ยน และอยากซื้อกลับไปใช้ในเมือง มิตรภาพก็ให้กำเนิดเส้นสีและลวดลายใหม่ๆ ได้เช่นกัน

ฉ่า โร หมื่อ วิธีบันทึกธรรมชาติด้วยการเปลี่ยนเรื่องราวเป็นลวดลายผ้าทอมือปกาเกอะญอ

กลุ่มแม่บ้านในหลายชุมชนเริ่มกลับมารวมตัว เพื่อรื้อฟื้นวิธีการย้อมผ้าด้วยสีที่ได้จากธรรมชาติ อย่างเปลือกไม้ ผลไม้ ใบไม้ และพืชชนิดต่างๆ ที่กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เพาะนอกจากกิจกรรมทอผ้า ย้อมผ้า จะเป็นห้องเรียนที่ให้ทั้งความรู้และให้เราได้เพลิดเพลินแล้ว สิ่งเหล่านี้ได้มอบความรู้สึกที่พาให้คนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาในยุคแห่งความสำเร็จรูป ได้กลับเข้าไปใกล้กับธรรมชาติมากขึ้นอีกนิดหน่อย

กี่ทอผ้ายังทำงาน ใช้เส้นด้ายบางๆ ยังคงถักทอเรื่องราวของธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตอื่นๆ และมนุษย์อย่างเนิบช้า ตอนเช้าตรู่ยังมีเสียงทอผ้าให้ได้ยิน เสียงทอผ้าที่ฟังดูเหงาๆ เมื่อลูกหลานออกเดินทางเข้าเมืองนานๆ ถึงจะกลับบ้าน ถ้าเราคือกลุ่มดาวล้อมตะวันที่เป็นตัวแทนของธรรมชาติ เรากำลังโคจรออกห่างไปจากความเป็นอยู่ดีของโลกมากขึ้นทุกที 

การกลับไปเปิดตู้เสื้อผ้าที่บ้าน อาจจะบอกกับเราได้ว่าเรากำลังโคจรอยู่ที่จุดไหน เรามีเสื้อผ้ามากเกินไปหรือเปล่า เราเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มกำลังการผลิตปัจจัยส่วนเกินของบริษัทเหล่านั้นหรือเปล่า ที่เมื่อวันหนึ่งเสื้อผ้าของพวกเขาขายไม่ได้ พวกเขาเลือกที่จะเผาทำลายมัน แทนการแจกจ่ายให้กับเพื่อนมนุษย์ที่ยังขาดแคลน ผู้คนที่หนีภัยสงครามที่ไม่มีแม้แต่หยิบเสื้อกันหนาวให้ลูกน้อย การที่ผ้าทอผืนหนึ่งถูกทอขึ้นมาจนสำเร็จนั้น ธรรมชาติคือตัวแปรสำคัญที่หล่อเลี้ยงเส้นด้ายและจินตนาการของมนุษย์ให้ได้มีได้ใช้

จึงมีถ้อยคำที่คนรุ่นก่อนตั้งใจทำหล่นไว้ให้คนรุ่นหลังได้หยิบขึ้นมาและลองใคร่ครวญดู บางทีเราอาจรู้อยู่แล้วว่าเราจะโคจรให้พอดีกับแสงตะวันที่จุดไหน

“ถ้าเราอยากมีข้าวกิน มีเสื้อใส่คลุมกาย ถิ่นดินแคว้นใดเราอยู่ จงดูแล”

Writer & Photographer

Avatar

โอชิ จ่อวาลู

นักการภารโรงที่ Lazy man College ผู้กำลังหัดเขียนเล่าเรื่อง