* บทความเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ Petite Maman

Petite Maman มีความหมายตรงตัวว่า ‘Little Mama’ หรือคุณแม่ตัวน้อย ก่อนที่ผู้กำกับ เซลีน เซียมมา (Céline Sciamma) จะได้ฝากผลงานอันตราตรึงอย่าง Portrait of a Lady on Fire ไปเมื่อปี 2019 ไอเดียสร้างหนัง Petite Maman นั้นมีมาก่อนครับ มันว่าด้วยเรื่องราวของเด็กหญิง 2 คนที่ไม่รู้จักกันมาก่อน ช่วยกันสร้างกระท่อมเล็ก ๆ กลางป่า ก่อนที่ทั้งสองจะพบว่า คนหนึ่งเป็นแม่ และคนหนึ่งเป็นลูกของอีกคน

เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อยายของเด็กหญิง Nelly วัย 8 ขวบเสียชีวิต เธอและ Marion ผู้เป็นแม่กับพ่อของเธอต้องไปเคลียร์ข้าวของในบ้านที่แม่โตมา แต่แล้วหลังจากที่จู่ ๆ แม่ของเธอหายไปโดยไม่บอกไม่กล่าว กลับเกิดการบิดเบือนของ Time & Space ด้วยสาเหตุใดก็ไม่อาจทราบได้ ทำให้ Nelly ได้ย้อนเวลาไปพบกับ Marion ตอนอายุเท่ากัน เกิดเป็นสายใยของเด็กหญิง 2 คนที่กาลเวลาไม่อาจสั่นคลอนได้

Petite Maman เด็กหญิง 2 คน กระท่อมกลางป่า และความลับที่ว่าพวกเธอคือแม่ลูกกัน

หนังเรื่องนี้กับผลงานของผู้กำกับคนเดียวกันอย่าง Portrait of a Lady on Fire คล้ายกันในเรื่องการพูดถึงสายสัมพันธ์ของเพศหญิง แม้เรื่องหนึ่งจะเล่าเรื่องความรักเชิงสวาทของหญิง 2 คน ส่วนอีกเรื่องเล่าเกี่ยวกับความรักเชิงครอบครัว แต่หนังทั้งสองเรื่องเหมือนกันตรงที่ ‘รักโดยไม่มีเงื่อนไขและอยู่นอกกฎเกณฑ์ที่ตีกรอบ’ และความรักของเด็กหญิง Nelly และ Marion ใน Petite Maman ก็ดูจะเป็นเช่นนั้นครับ แต่เป็นกรอบเวลาสถานที่ที่ไม่ถูกตีเส้นและเขียนเองได้ด้วยสีเทียน ในขณะที่ Portrait of a Lady on Fire พูดถึงกรอบค่านิยม แนวคิด และจารีต ที่ถูกตีเส้นโดยสังคม

พอพูดแบบนี้แล้วหลายคนอาจเข้าใจว่า Céline Sciamma เป็นคนหัวขบถที่อยากท้าทายการถูกตีกรอบในอะไรบางอย่างเสมอ เมื่อดูจากทั้งสองเรื่องและผลงานที่เธอเคยเขียนบทอย่าง Tomboy แล้วก็คงต้องบอกว่า ค่อนข้างธรรมชาติในการท้าทายธรรมเนียมพอสมควรครับ แต่เป็นความท้าทายที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หากจะเรียกให้ถูก ต้องเรียกว่าเป็น ‘ความปรารถนาภายใน’ อันไม่พึ่งพิงและไม่อ้างอิงต่อกรอบใด ๆ มากกว่า 

นี่คือข้อสรุปจากการสังเกตว่าตัวละครในหนังของผู้กำกับคนนี้ ไม่ได้เป็นตัวละครที่ต้องการเอาชนะหรือโค่นล้มระบบ เป็นเพียงคนธรรมดาที่ต้องการใช้ชีวิตด้วยสัญชาตญาณและเชื่อในความรู้สึกตัวเอง เท่านั้นเองครับ

ทำให้เดาว่านี่แหละมั้งครับ ที่ทำให้ผมถึงแม้จะเป็นมนุษย์เพศชาย แต่ด้วยการนำเสนอความต้องการของตัวละครที่แค่อยากเป็น ‘คนธรรมดาที่มีความสุข’ ผ่านการเรียงร้อยด้วยการเล่าเรื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไป การถ่ายทอดด้วยการเขียนและกำกับที่กำลังดี ไม่ขาด ไม่เกิน ผ่านไดอะล็อกและฉากที่เรียบง่าย และการให้ความสำคัญกับการแคสต์นักแสดง ทำให้รู้สึกเชื่อมโยงกับตัวละครที่เป็นแม่กับลูกสาวคู่นี้ได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อหนังพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างมีชีวิตอยู่ และการที่มันถูกสะบั้นลงด้วยความตาย ซึ่งเราทุกคนต่างก็ต้องเผชิญด้วยแล้ว

Petite Maman เด็กหญิง 2 คน กระท่อมกลางป่า และความลับที่ว่าพวกเธอคือแม่ลูกกัน

หลังจากดูจบไปส่องหาข้อมูลมา พบว่ามีการระบุว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังดราม่า-แฟนตาซี แต่ผมกลับมองว่า มันเป็นหนังไซไฟที่ใช้เรื่องกาลเวลาและสถานที่มาบอกเล่าประเด็นความสัมพันธ์ของสองแม่ลูก ราวกับต้องการจะบ่งบอกว่าสิ่งนี้อยู่เหนือกาลเวลาและเงื่อนไข หรือเป็นประโยคที่เราเคยได้ยินกันมานักต่อนักแล้วอย่าง ‘รักเหนือกาลเวลา’ ด้วยฟิลเตอร์หน้าเลนส์ที่เป็นเด็กหญิงสุดน่ารัก 2 คน น่ารักเสียจนดูไปเผลอยิ้มไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่งดูเผิน ๆ เหมือนหนังจะเกี่ยวกับอดีตของอีกคนและอนาคตของอีกคน แต่ที่จริงแล้ว ทั้งหมดคือปัจจุบันที่ส่งผลถึงกันและกัน เป็นเพียงช่วงเวลาหนึ่ง โมเมนต์หนึ่งที่ได้เผชิญ

ก่อนที่อีกไม่ช้ามันก็จะผ่านไป

Petite Maman จึงเป็นการบอกเล่ากรณีที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง ทั้งสายสัมพันธ์ 2 ทาง หรือ ‘ความสัมพันธ์ประเภทแม่-ลูก’ โดยจับทั้งคู่มาอยู่ในสถานะที่เท่ากัน เหลือแต่ความรู้สึกที่มีให้กันแบบบริสุทธิ์แบบที่เด็ก ๆ มีให้กัน กับความสัมพันธ์ 3 ทาง คือ ‘แม่-ลูก-ยาย’ ที่ทั้งสองเป็นเพื่อนกัน และยายผู้ล่วงลับที่ยังมีชีวิตอยู่ (ในขณะนั้นมีสถานะเป็นแม่) โดยพูดถึงการกอบโกยช่วงเวลาที่มี เพื่อคิด เพื่อทำ เพื่อรู้สึก ก่อนจะไม่มีโอกาสได้สัมผัสสิ่งเหล่านี้อีก เพื่อให้ช่วงเวลาที่กำลังจะกลายเป็นอดีตนี้ เป็นช่วงเวลาที่มีค่า มีความหมาย และไม่ได้เป็นช่วงเวลาปัจจุบันของทั้งคู่ที่แค่ผ่านมาและผ่านไป

ซึ่งนั่นทำให้ความสงสัยในเงื่อนไขของการมาเจอกันอันผิดธรรมชาตินี้ เป็นสิ่งที่ถูกรองไว้ด้านล่างและจางหายไปโดยปริยาย เพราะหนังค่อนข้างชัดเจนมาก ๆ ครับว่า ต้องการให้ความสำคัญกับเรื่องใดมากที่สุด

Petite Maman เด็กหญิง 2 คน กระท่อมกลางป่า และความลับที่ว่าพวกเธอคือแม่ลูกกัน

แม้หนังจะยาวเพียง 1 ชั่วโมง 12 นาที แบบที่เรียกได้ว่าสั้นกว่าซีรีส์บางเรื่องในสมัยนี้เสียอีก แต่ก็ใช้เวลาได้คุ้มค่าและสื่อเนื้อหาสำคัญอย่างครบถ้วนแบบไม่อืดไม่ยืด หรือจริง ๆ คงต้องพูดว่า Run Time เท่านี้ของหนัง หมายความว่า ผู้กำกับรู้ว่าตัวเองต้องการจะเล่าอะไร เมื่อเนื้อหามีเท่านี้ ใช้เวลาเท่านี้ก็พูดได้ครบแล้ว Petite Maman จึงเป็นหนังที่กินแล้วอิ่มท้องแบบกำลังดี ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป ไม่จุกหรือไม่รู้สึกหิวจนต้องหาขนมขบเคี้ยวมาเสริมพื้นที่ว่างของกระเพาะอีก

นอกจากนี้ สิ่งที่น่าประทับใจคือความน่ารักของสองฝาแฝด Identical Twins คือน้อง Joséphine Sanz ที่รับบทเป็น Nelly และ Gabrielle Sanz ที่รับบทเป็น Marion ทั้งสองคนเลือกมาจากการที่ Céline Sciamma ตั้งโจทย์ไว้อย่างหนักแน่นว่า ทั้งสองตัวละครต้องรับบทโดยนักแสดงที่เป็นพี่น้องกันเท่านั้น เพราะสายใยพี่น้องจากนอกจอหรือชีวิตจริง หรือเคมีของผู้ข้องเกี่ยวกันทางสายเลือดของเด็กหญิงทั้งสอง จะแปรเปลี่ยนมาเป็นเคมีแม่ลูกที่น่าเชื่อถือบนหน้าจอได้

ภาพยนต์ เจ้าหญิงน้อย หนังอบอุ่นหัวใจ ความสัมพันธ์ข้ามเวลาของเด็กหญิงวัย 8 ขวบ 2 คน ในกระท่อมกลางป่า

นอกจากนี้แล้ว ความน่าสนใจที่สุดของ Petite Maman คือการที่เรามองหนังได้ 2 แบบครับ

แบบแรกคือมองทุกอย่างอย่างที่มันเป็น คือเด็กหญิง Nelly หลุดเข้าไปในป่า เจอแม่ตัวเอง และเกิดเป็นสายสัมพันธ์แม่-ลูก ที่กลายเป็นเพื่อนกัน โดยมีรายละเอียดที่ผมอยากให้ผู้อ่านไปสัมผัสความอบอุ่นหัวใจกันเอง แต่อีกแบบคือแบบที่ผมมองว่าน่าสนใจไปอีกทาง นั่นคือมองแบบสัญลักษณ์ ว่าทั้งหมดเป็นการเดินทางภายในจิตใจ เป็นการ Revisit Good Old Memories และที่เราเห็นคือภาพจำลองสายสัมพันธ์ของการที่ ‘แม่ลูกเปิดอกคุยกันถึงอดีต สนิทกันมากขึ้น หลังความตายของยาย’ เท่านั้นเอง

หากมองแบบที่ 2 จะกลายเป็นว่า การที่สองแม่ลูกเดินทางไประลึกความหลังในบ้านที่ Marion (แม่) เติบโตมา คือการที่แม่เริ่มเผยรายละเอียดเกี่ยวกับวัยเด็กของเธอ จากการนึกถึงช่วงเวลาที่ได้ใช้กับแม่ตัวเอง (ยาย) และเล่าให้ลูกฟัง จนก่อร่างสร้างตัวในหัวของเด็กน้อยอย่างชัดเจนว่า ที่บ้านแม่ตรงนี้เป็นแบบนี้ ยายตอนยังมีชีวิตอยู่เป็นแบบนี้ สมุดการบ้านแม่เป็นแบบนี้ และกลายเป็นว่าคนแม่ไม่เคยจากไปไหนเลยตลอดทั้งเรื่อง เพียงแต่พอเล่าย้อนกลับไป เธอเหมือนได้กลับไปเป็นเด็กตอนวัยเท่า Nelly (คนลูก) อีกครั้ง

ทั้งหมดนี้จะทำให้สำหรับ Marion แล้ว ตัวละครพ่อที่ไปด้วยและพบเจอ Nelly คือการวาดภาพสามีและลูกในอนาคตของ Marion เอง ว่าอยากมีลูกตอนอายุเท่านี้ สามีหน้าตาประมาณนี้ และได้ลูกสาววัยเท่านี้ ในขณะเดียวกัน ฝั่งของ Nelly มีการเปิดอกนำไปสู่การสนิทกันมากขึ้นของสองแม่ลูก จนทั้งคู่สนิทกันเหมือน ‘เพื่อน’

ภาพยนต์ เจ้าหญิงน้อย หนังอบอุ่นหัวใจ ความสัมพันธ์ข้ามเวลาของเด็กหญิงวัย 8 ขวบ 2 คน ในกระท่อมกลางป่า

สิ่งที่ทำให้คิดเช่นนั้น เพราะในเรื่องจะมีฉากหนึ่งที่ Marion บอก Nelly ว่า “หากต้องการเห็นอะไรในความมืด ปิดไฟ จากนั้นรอสายตาปรับตัวก่อน เราจึงจะเห็นเสือดำที่ปลายเตียง” อาจฟังดูย้อนแย้งที่มืดแล้วเห็น แต่เพราะความมืดช่วงแรกมีแต่ความมืดที่มืดสนิท แต่พอสายตาปรับตัว แม้ยังมืดอยู่ เราก็จะสามารถ ‘จินตนาการ’ และคิดเป็นตุเป็นตะได้มากขึ้น การสูญเสียยายเองก็คงไม่ต่างอะไรกับการเผชิญกับความมืด และสายตาที่ค่อย ๆ ปรับตัวได้

ภาพยนต์ เจ้าหญิงน้อย หนังอบอุ่นหัวใจ ความสัมพันธ์ข้ามเวลาของเด็กหญิงวัย 8 ขวบ 2 คน ในกระท่อมกลางป่า

เมื่อมองแบบนี้แล้ว อาจตอบคำถามได้ว่า ทำไมแทนที่จะเป็น ‘ไซไฟ’ หนังกลับถูกระบุว่าเป็น ‘แฟนตาซี’ ที่บ่อยครั้งมักจะเป็นคำนิยามหนังที่เกี่ยวกับจินตนาการ สิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องตีความเป็นการเดินทางภายในหัวของเด็กคนหนึ่ง โดยสะท้อนถึงความคิด ความตั้งใจ ความกลัว และความปรารถนาเบื้องลึก อย่างหนังเรื่อง Bridge to Terabithia (2007) หรือ Where the Wild Things Are (2009)

การมองว่าเป็นหนังแฟนตาซี จินตนาการยังชวนคิดเชิงสัญลักษณ์ในรูปแบบนี้ได้เช่นกันครับว่า บ้านหลังนั้นคือบ้านจริง ๆ ที่ไปขนของ แต่เรื่องที่เกิดขึ้นในป่ากับบ้านในช่วงเวลาอดีต คือสัญลักษณ์ของความจริงและความทรงจำตามลำดับ โดยมีสถานที่ตรงกลางคือกระท่อมกลางป่าที่เด็กหญิงทั้งสองช่วยกันสร้างขึ้นให้เป็นเรื่องราว ที่เป็นช่วงเวลาที่ทั้งคู่ได้ทำความรู้จักจนสนิทสนมกันมากขึ้น หรือมองว่ากระท่อมคือบ้านขนาดเล็ก ที่แสดงถึงความบริสุทธิ์ของเด็กก็ได้เหมือนกัน

เมื่อมีผู้จากไป การเคลียร์ข้าวของคือสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่เรื่องที่ว่า เราต้องใช้แรงและเวลาขนาดไหนในการทำสิ่งนี้ แต่มันคือเรื่องที่ว่าในระหว่างทาง ข้าวของพวกนั้นมีความหมายแค่ไหนและทำให้เราระลึกถึงอดีตได้มากน้อยเพียงใด การกลับไปหาสิ่งเหล่านี้อีกครั้งและการจัดบ้าน กระตุ้นให้เรานึกถึงและพูดถึงว่า กาลเวลากับตัวเราที่ไหลผ่านรอบ ๆ มันไม่ต่างอะไรกับการย้อนอดีตด้วยจิตใจ ที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า ‘Mental Time Travel’

สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะมองหนังเป็นแบบไหน ผมมองว่าหนังเรื่องนี้ให้คุณค่าแบบ Double Cheese Burger ครับ คือกัดไป 1 คำ ได้กินเนื้อและชีสทั้งสองชั้นพร้อมกัน (น่าจะมีคนคิดว่าผมเป็นสายหิวแน่ ๆ เพราะเปรียบเทียบด้วยการกินตั้ง 2 ครั้ง แต่แบบนี้จะเห็นภาพที่สุด) โดยเบอร์เกอร์มีชื่อเมนูว่า ‘Petite Maman’ ที่รังสรรค์โดย Céline Sciamma เชฟเมืองน้ำหอม และมีความอร่อยที่ Juicy กำลังดีด้วยเนื้อ ผักและซอสที่มีชื่อว่า ‘บท ไดอะล็อก และการกำกับ’ และเมื่อนำชื่อเมนูมาแปลและแยกเป็น 2 คำ จะได้เป็น Little หรือ เจ้าหนู Nelly กับ Mama หรือเจ้าหนู Marionดูจบแล้ว เป็น 1 ชั่วโมงกว่าที่ทำให้อมยิ้มและอิ่มเอมมาก ๆ ครับ สำหรับผมแล้ว Petite Maman ไม่ใช่หนังดราม่าเลย แต่คือหนัง Coming of Age ของคำว่าแม่-ลูก ที่ต้องเติบโตขึ้นทั้งในอดีตและปัจจุบัน เพื่อจะมูฟออนและใช้ชีวิตต่อไปในอนาคต

Writer

Avatar

โจนี่ วิวัฒนานนท์

แอดมินเพจ Watchman ลูกครึ่งกรุงเทพฯ-นนทบุเรี่ยน และมนุษย์ผู้มีคำว่าหนังและซีรีส์สลักอยู่บนดีเอ็นเอ