ที่ชั้นสูงสุดของอาคารสูงหมายเลข 5

กระจกใสเผยให้เห็นผลงานภาพวาดขนาดใหญ่มากของ ซาราห์ มอร์ริส (Sarah Morris) ศิลปินสาวชาวอเมริกันผู้แม่นยำในการใช้สีและฟอร์ม ซึ่งกินพื้นที่ส่วนใหญ่ของห้อง เมื่อประมาณจากสายตาถึงระยะห่างระหว่างงานศิลปะกับโต๊ะทำงานกลมสีขาว ที่ล้อมด้วยเก้าอี้ดีไซน์สวยแบบที่ไม่ซ้ำกันสักตัว ก็ยากจะบอกว่าที่นี่คือห้องทำงานของผู้บริหารระดับสูงหรือหอศิลป์แสดงงานร่วมสมัย

The Cloud มีนัดหมายพิเศษกับ คุณเพชร โอสถานุเคราะห์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ประธานกรรมการบริหาร และอธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

เพชร โอสถานุเคราะห์ ซีอีโอที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์บริหาร ‘โอสถสภา’ ธุรกิจอายุ 128 ปี
เพชร โอสถานุเคราะห์

คุณอาจจะรู้จักคุณเพชร โอสถานุเคราะห์ ในฐานะศิลปินอินดี้ ทายาทคนดังของบริษัทเก่าแก่ บ้างคุ้นเคยและใช้เพลงของเขานำพาให้ผ่านช่วงหนึ่งของชีวิต บ้างติดตามผลงานและรู้ว่าเขาอยู่เบื้องหลังสินค้าสำคัญๆ ของโอสถสภาหลายๆ ยุค ไปพร้อมๆ กับอยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนภาพลักษณ์มหาวิทยาลัยเอกชนที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศ ด้วยภาพจำใหม่อย่างการเป็นมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์ ผลิตบุคลากรคุณภาพสู่วงการต่างๆ

จนเมื่อ 3 ปีก่อนที่เขารับตำแหน่งอธิการบดีที่อินดี้ที่สุด พร้อมกับตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร เปลี่ยนแปลงโครงสร้างและปรับการทำงานขององค์กรอายุ 128 ปีใหม่ทั้งหมด

เราคุยกันตั้งแต่เรื่องข้อดีข้อเสียของผู้บริหารที่มีภาพลักษณ์ศิลปิน การบริหารธุรกิจครอบครัว การเปลี่ยนไปสู่องค์กรมหาชนที่เพิ่มจุดแข็งและทำให้องค์กรนี้สนุกขึ้น น่าทำงานมากขึ้นเพราะเต็มไปด้วยคนเก่งมากมาย จนเราสนใจสายตาพิเศษที่เขาใช้เลือกและไม่เลือก สไตล์การบริหารอย่างเต๋าที่บริหารอย่างไม่บริหาร โดยเฉพาะเรื่องการใช้ความคิดสร้างสรรค์กับงานบริหารที่ไม่ใช่การทำเท่ แต่ทำอย่างมีแผนการ มีกลยุทธ์

การรับมือกับการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เขาทำเมื่อเจองานที่คิดไม่ออก ความรู้สึกอิจฉาที่มีต่อเพื่อนรุ่นเดียวกัน ความรักในการสะสมงานศิลปะกว่า 600 ชิ้น การกลับมาเขียนนิยายเรื่องสั้น และเพลงอัลบั้มใหม่ที่จะทำทุกๆ 20 ปี

โปรดอ่านบทสัมภาษณ์นี้ในที่ลับตาเจ้านายที่รัก เพราะไม่เพียงบรรยากาศของออฟฟิศอายุ 128 ปีที่ทันสมัยที่สุดในโลก วิธีคิดและมุมมองต่อเรื่องต่างๆ ของเขาก็อาจจะทำให้คุณอยากย้ายงานทันที

เพียงชายคนนี้… ไม่สิ

เพียงผู้บริหารคนนี้…เริ่มต้นบทสนทนา

เพชร โอสถานุเคราะห์ ซีอีโอที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์บริหาร ‘โอสถสภา’ ธุรกิจอายุ 128 ปี
เพชร โอสถานุเคราะห์

การเป็นผู้บริหารที่มีภาพลักษณ์เป็นศิลปินมีข้อดี-ข้อเสียยังไงบ้าง

สำหรับผมเป็นข้อดีนะ หนึ่ง พนักงานจะคิดว่าผมไม่จริงจังมากเกินไปเมื่อเทียบกับองค์กรอื่นที่เขาเคยทำงานด้วย ซึ่งเขาคงอยากทำงานกับคนที่เปิดกว้างและรับฟังความเห็นของคนมากกว่า สอง ผมไม่ได้นำตัวตนศิลปินมาใช้ในการบริหาร ภาพจำของศิลปินมักจะตามใจตัวเองหรือพูดจาสื่อสารไม่รู้เรื่อง แต่สิ่งที่ผมนำมาใช้คือวิธีคิดอย่างนักสร้างสรรค์

ที่โอสถสภาเราทำงานเป็นทีม พวกเขาเก่งเรื่องการตลาดและการเงิน ผมจะดูภาพรวมและเสริมด้วยมุมมองที่ทีมอาจจะยังนึกไม่ถึง การตลาดที่เรียนมาทำให้ผมสนใจและมีความถนัดเรื่องการวางแผนกลยุทธ์ เมื่อรวมกับความสนใจเรื่องศิลปะและงานออกแบบสร้างสรรค์ก็ยิ่งกลายเป็นข้อดี ผมไม่ได้บอกว่าผมดีทุกอย่างนะ เพียงแต่ผมช่วยเสริมคนอื่นๆ ในทีมได้ดี

แล้วข้อเสียคือ

ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเคยบอกผมว่า ความเป็นศิลปินเป็นจุดอ่อนของผม แต่ทีมที่ปรึกษาของเราจากอังกฤษซึ่งเป็นที่ปรึกษาให้บริษัทใหญ่ๆ ในโลก บอกว่าความเป็นศิลปินเป็นจุดแข็ง แม้แต่บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจเองเขาก็ไม่ได้จ้างพนักงานที่เรียนจบด้านธุรกิจตรงๆ เพราะสิ่งสำคัญคือการมองเห็นสิ่งที่องค์กรนั้นขาดไป ตั้งแต่เรื่องความคิดสร้างสรรค์ไปจนถึงจิตวิทยา เรื่องระเบียบวินัยผมอาจจะมีน้อยเมื่อเทียบกับผู้บริหารทั่วไป แต่มั่นใจเลยว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นปัญหากับการทำงานร่วมกับคนอื่น

พนักงานรู้ว่าผมไม่ได้มีอารมณ์ศิลปินหรือทำทุกอย่างตามใจฉัน คนนอกที่ไม่รู้จักจะคิดว่าผมเป็นคนแปลก ผู้บริหารองค์กรอื่นๆ ยังเข้าใจว่าศิลปินอย่างเราตามเกมธุรกิจไม่ทันแต่หารู้ไม่ นอกจากเขาจะไม่ระวังตัวมากเกิน เขายังวางตัวเป็นมิตร ชวนคุยและแลกเปลี่ยนเรื่องอื่นๆ ด้วย

การเติบโตในครอบครัวนักธุรกิจที่เป็นศิลปินทั้งครอบครัวส่งผลกับคุณยังไง

ผมโตมากับการเห็นคุณพ่อ (สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์) สะพายกล้องมาทั้งชีวิต แต่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าท่านถ่ายรูปสวยแค่ไหน คิดว่าท่านคงถ่ายรูปครอบครัวทั่วไป ภายหลังพบว่าท่านมีสายตาศิลปินสูงมาก ซึ่งตอนนั้นท่านก็อายุ 70 กว่าปีแล้ว ก่อนหน้านี้เคยรู้สึกว่าเป็นแกะดำคนเดียวของครอบครัว เพราะญาติๆ อย่างคุณน้า (กมลา สุโกศล) และครอบครัว (สุกี้-กมล สุโกศล แคลปป์ และ น้อย-กฤษดา สุโกศล แคลปป์) หลานชาย (นาฑี โอสถานุเคราะห์ มือกีตาร์วง Getsunova) และหลานสาว (หวาย-ปัญญริสา เธียรประสิทธิ์ ศิลปินค่าย Kamikaze) เป็นศิลปินหลังจากผมหลายปี

เพชร โอสถานุเคราะห์ ซีอีโอที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์บริหาร ‘โอสถสภา’ ธุรกิจอายุ 128 ปี
เพชร โอสถานุเคราะห์

ความยากของการทำงานกับครอบครัวคืออะไร

ที่ผ่านมาไม่เคยอยากทำงานกับครอบครัวเลย สมัยก่อนเถียงกับพ่อ พ่อหาว่าเราโชว์ออฟ เราจึงไปทำงานบริษัทโฆษณา ก่อนจะมาบริหาร กำหนดทิศทาง และวางจุดยืน ให้มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งทำงานร่วมกับทีมที่ดี แม้จะเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่เก่าแก่ที่สุดแต่ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าทันสมัยที่สุด ตอนมารับตำแหน่งที่นี่ (โอสถสภา) ก็ใช้วิธีคิดเดียวกับสมัยบริหารมหาวิทยาลัย ผมชอบทำงานกับมืออาชีพ และปัจจุบันโอสถสภาไม่ใช่ธุรกิจครอบครัวแล้วแต่เป็นบริษัทมหาชน ครึ่งหนึ่งของคณะกรรมการบริหารยังเป็นคนในครอบครัวอยู่ แต่อีกครึ่งคือนักบริหารมืออาชีพเป็นตัวเทพระดับประเทศ

การเปลี่ยนธุรกิจจากที่เคยบริหารแบบครอบครัวมาเป็นแบบมืออาชีพยากไหม

ไม่ยากเลย เพราะเรามีทีมที่ดี ทั้ง คุณกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ ซึ่งมีประสบการณ์จากยูนิลีเวอร์ (ประเทศไทย) และธนาคารไทยพานิชย์ มาร่วมเป็นที่ปรึกษาและคณะกรรมการ และ คุณวรรณิภา ภักดีบุตร มาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผมเลยสบาย ไม่ต้องทำอะไรมาก

หลักการของเราคือ เราจ้างคนเก่งมาทำงานไม่ใช่ไปสั่งเขา เราจะได้ฟังและสนับสนุนเขา เรื่องไหนที่เราจำเป็นต้องนำเราก็นำ แต่ถ้าไม่จำเป็นก็ปล่อยให้เขานำ เป็นหลักการบริหารแบบเต๋า คือ บริหารโดยไม่บริหาร

ถ้าปล่อยให้คนอื่นนำ ทำยังไงให้คุณยังมีตัวตนในองค์กร และไม่เกิดปัญหาลูกน้องข้ามหน้าข้ามตาเบอร์หนึ่งในองค์กรอย่างคุณ

บางครั้งเราก็ต้องปล่อยให้เขาข้ามหน้าข้ามตา ซึ่งผู้บริหารทั่วไปไม่ค่อยทำ หลายครั้งที่เราลดตัวตนเพราะรู้ว่าลูกน้องเรามีตัวตน เวลาที่เราตั้งข้อสงสัยหรือเกิดคำถามบนพื้นที่การดูแลของเขา เขาจะรู้สึกทันทีว่ากำลังมีคนไม่ไว้ใจในสิ่งที่เขาชำนาญ เมื่อเราจับความรู้สึกได้ว่าบางเรื่องเขาต้องการให้เราปล่อยเขา เราก็ต้องปล่อย

ในเรื่องที่เขาควรปรึกษา แต่เขาไม่มาปรึกษา ต้องถามว่าผลลัพธ์ที่เกิดดีไหม ถ้าดีก็อย่าไปยุ่ง ทำให้ชีวิตเราสบายขึ้นเสียอีก ถ้ามัวแต่อีโก้ว่าทำไมข้ามหน้าข้ามตา ไม่ปรึกษาเรื่องนี้ แล้วไง อีกหน่อยเขาส่งทุกอย่างมาปรึกษาหมด เราไม่ตายเหรอ ไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่น บริหารแบบเต๋านี่แหละ ปล่อยวางตัวตน แต่ไม่ใช่ไม่มีตัวตน ยังโกรธคนเป็น ยังมีเรื่องที่ทนปล่อยผ่านไม่ได้ เช่น การออกแบบที่ไม่เข้าตา ลูกน้องจะปล่อยให้ผมตัดสินใจอนุมัติคนเดียว หรือเรื่องภาพลักษณ์องค์กร การออกแบบอาคารและห้องทุกอย่าง ผมดูแลคนเดียว ทุกงานในส่วนนี้ต้องมีลายเซ็นอนุมัติจากผม

คุณเลือกคนจากอะไร

การเลือกคนสำคัญมาก ถ้าเราเลือกถูก สิ่งถูกอื่นๆ จะตามมา เพราะจะมีคนอยากมาทำงานกับคนเก่งเหล่านี้ ผมอยากทำงานกับคนดี ไม่ใช่ฉลาดแต่มีพลังด้านลบทั้งต่อตัวเอง ต่องานที่ทำ และเพื่อนร่วมงาน โชคดีที่ยังไม่เจอใครแบบนั้น ผมได้สัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงเท่านั้น ยังมีพนักงานอีกมากมายที่เรามองไม่เห็น เขาลือกันว่าคนสวยๆ ก็เยอะ แต่ไม่เห็นให้ผมสัมภาษณ์ ให้ผมสัมภาษณ์คนสวยๆ บ้างก็ดีนะ ไม่ต้องเป็นผู้บริหารระดับสูงมากก็ได้ (หัวเราะ)

ลูกน้องแบบไหนที่คุณรักที่สุด

ผมเชื่อในความแตกต่างของคน แต่ละคนมีจุดอ่อนจุดแข็ง มีคาแรกเตอร์ไม่เหมือนกัน ผมชอบทีมเวิร์ก ไม่ว่าจะเป็นที่โอสถสภาหรือ ม.กรุงเทพ เป็นทีมที่เก่งมาก ผมไม่มีการเลือกในใจว่าชอบลูกน้องแบบไหน แต่ผมชอบคนที่ตรงไปตรงมา มีสามัญสำนึก พูดจารู้เรื่อง รับฟัง และเข้าใจสิ่งที่เราสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาและฉับพลัน คนฉลาดและมีไหวพริบประมาณหนึ่งจึงมักทำงานด้วยกันได้ แต่ฉลาดเกินตัวก็ไม่เวิร์ก เราไม่ชอบบรรยากาศที่มีใครสักคนคิดว่าตัวเองฉลาดคนเดียว

เพชร โอสถานุเคราะห์ ซีอีโอที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์บริหาร ‘โอสถสภา’ ธุรกิจอายุ 128 ปี
เพชร โอสถานุเคราะห์ ซีอีโอที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์บริหาร ‘โอสถสภา’ ธุรกิจอายุ 128 ปี

คุณเป็นผู้บริหารสไตล์ไหน

ปล่อยวาง เราเชื่อมือคนที่เก่งกว่าเรา แต่จะไม่ปล่อยวางในสิ่งที่เรารู้สึกว่าไม่ควรปล่อยให้เป็นแบบนั้น

คุณเอาความคิดสร้างสรรค์มาใช้ในการบริหารงานยังไง

ความคิดสร้างสรรค์ที่แท้จริงเป็นวิธีการแก้ปัญหา สำหรับผมงานออกแบบมาทีหลังเลย ผมเริ่มจากคิดกลยุทธ์ตามปัจจัยภายนอกและภายในของปัญหานั้น แน่นอนว่ามีเรื่องรสนิยมเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่รสนิยมก็มาทีหลัง ยกตัวอย่าง ผมเริ่มจากศึกษาว่าคนอื่นทำอะไรบ้าง ประเทศเราขาดอะไร คนต้องการอะไร จุดแข็งของเราคืออะไร สิ่งที่ทำแล้วจะแตกต่าง จะทำอย่างไรให้คนสนใจ เป็นต้น อย่างน้อยจะต้องสรุปกระบวนการเหล่านี้ให้ได้ก่อนไปถึงขั้นตอนการออกแบบ

กับงานบริหาร เมื่อวิเคราะห์ประเด็นปัญหาผมจะฟังวิธีการของแต่ละคนก่อน ปัญหาและข้อจำกัดที่มีจะทำให้พบทางแก้ไขที่ใหม่และสร้างสรรค์ ต้องยอมรับว่าคนที่นี่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องต่างๆ มากกว่าเรา คำว่าสร้างสรรค์จึงไม่ใช่การทำเรื่องเท่หรือดูสวยงาม แต่คือวิธีแก้ปัญหาที่ได้ผล และการคิดวิธีแก้ปัญหาที่ได้ผลส่วนใหญ่ จำเป็นต้องแตกต่างไปจากวิธีการที่เคยมีคนคิดทำกันมา และเหมาะสมกับวัตถุประสงค์หรือประเด็นปัญหาที่ต้องการทำให้เกิดขึ้น นอกจากงานบริหาร ผมมีหน้าที่ดูภาพรวมและให้ความเห็นงานออกแบบบรรจุภัณฑ์ซึ่งเป็นการใช้ความคิดสร้างสรรค์อีกแบบ

ถือว่าคุณเป็นผู้บริหารที่ชอบแหกกฎหรือคิดนอกกรอบไหม

ไม่ได้ตั้งโจทย์ว่าต้องนอกกรอบ บางเรื่องเราก็ประยุกต์จากสิ่งที่เคยมีคนทำมาแล้ว ปรับใช้จนกลายเป็นทางแก้ที่พอดี โดยไม่ได้คิดว่าต้องนอกกรอบ ผมรู้สึกว่าการคิดจะทำสิ่งที่แตกต่างจากคู่แข่ง นั่นคือการทำนอกกรอบแล้ว ซึ่งเกิดจากหลายคนในทีมช่วยกันตกผลึกจนได้วิธีการที่ใหม่

ถ้ามีสินค้าที่มั่นใจว่าทำออกมาแล้วขายดีแน่นอน แต่วิธีการทุกอย่างซ้ำซากน่าเบื่อและเหมือนคู่แข่ง คุณจะทำไม

ไม่ทำแน่นอน (ตอบทันที)

เพราะ

เคยมีเหตุการณ์ที่เราเห็นว่าแบรนด์คู่แข่งมีสินค้าแบบนี้และเราควรจะต้องมีบ้าง โดยที่เราหาข้อแตกต่างเพียงพอแล้ว แต่มันยังไม่เพียงพอ เราจงใจที่แตกต่างโดยนึกไม่ถึงว่าแบรนด์คู่แข่งเองก็มีกลยุทธ์ที่ซ่อนไว้ เราไม่คิดเลียนแบบ นักการตลาดที่ดีเขาไม่ทำกันหรอก ถ้าสิ่งที่ทำไม่แตกต่างคุณไม่มีทางขายได้แน่นอน

เพชร โอสถานุเคราะห์ ซีอีโอที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์บริหาร ‘โอสถสภา’ ธุรกิจอายุ 128 ปี

ทฤษฎีการตลาดข้อไหนที่คุณไม่เชื่อหรือไม่ชอบเลย

ผมเป็นนักเรียนที่แย่มาก จบการตลาดมาโดยไม่ได้ตั้งใจเรียนเท่าไหร่ จำได้แค่ Marketing Concept ที่บอกว่าลูกค้าคือพระเจ้า หรือ 4P Product Price Place Promotion นอกนั้นซื้อหนังสือมาอ่านที่หลัง ผมไม่เชื่อทฤษฎีที่ใครคิดและเขียนลงหนังสือเพื่อให้คนอ่านไปทำตามแล้วจะประสบผลสำเร็จ แต่ผมเชื่อเรื่องที่คุณต้องทำก่อน สำหรับผม หลักการตลาดคือการใช้จิตวิทยามนุษย์ที่มีการพิสูจน์แล้ว ไม่มีทฤษฎีใดที่ผมยกย่องเป็นพิเศษหรือไม่เชื่อเลยอย่างสิ้นเชิง ผมคิดว่าเรื่องนี้อยู่บนพื้นฐานของสามัญสำนึกของมนุษย์

ความยากของการบริหารองค์กรอายุ 128 ปีคืออะไร

ความยากคือการเปลี่ยนแปลง เมื่อ 4 – 5 ปีที่แล้วเราเป็นบริษัทที่มีโครงสร้างองค์กรหลายชั้นมาก อ่านชื่อตำแหน่งแล้วเข้าใจว่าเป็นหน่วยงานราชการเลย เรื่องวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่ไม่ชัดเท่าวันนี้ ปัจจุบันเราเปลี่ยนไปมากแล้วแต่ก็ยังมีเรื่องที่ต้องทำอีกเยอะ

การทำกำไรสูงสุดถือเป็นเป้าหมายของคุณไหม

ไม่ใช่เป้าหมายส่วนตัว แต่การเป็นบริษัทมหาชนปฏิเสธไม่ได้ว่าเราต้องทำยอดขายและกำไรให้โตขึ้นด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และรักษาส่วนแบ่งตลาดของผลิตภัณฑ์ที่อยู่มานานให้ได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับบริษัทที่เติบโตมาขนาดนี้ ทั้งยากที่จะโตไปกว่านี้และการที่จะรักษาตลาดไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

แล้วเป้าหมายส่วนตัวของคุณคือ

คำถามนี้ผมก็ไม่เคยถามตัวเอง แต่เคยมีที่ปรึกษาบอกผมว่า เขารู้ว่าผมไม่ได้อยากทำสิ่งนี้ไปจนตาย แต่อย่างน้อยควรจะอยู่ตรงนี้อีกสัก 5 ปี ซึ่งผมก็หวังว่าโอสถสภาจะเติบโต แข็งแรง ยั่งยืน มั่นคง โดยไม่ต้องพึ่งเรา แต่เราไม่ได้คิดว่าจะไม่อยู่ตรงนี้นะ เรายังไม่คิดถึงตรงนั้น แต่ผมมีสิ่งอยากทำมากมาย เช่น พิพิธภัณฑ์ศิลปะ เป็นโครงการส่วนตัวที่กำลังทำอยู่

การบริหารองค์กรที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงอย่างโอสถสภาและมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ทำให้ชีวิตยากขึ้นหรือง่ายขึ้น

ยากขึ้น แต่ก็สนุกดี โดยส่วนตัวผมไม่ได้อยากมาบริหาร แต่เมื่อกระโดดมาทำหน้าที่แล้วก็มีความรับผิดชอบมากพอ ตอนเริ่มบริหาร ม.กรุงเทพ มีอาจารย์มาสารภาพว่า เขาคิดว่าผมคงทำงานได้ไม่เกิน 2 ปี แต่นับจนถึงตอนนี้ผมอยู่เบื้องหลัง ม.กรุงเทพ มา 20 ปีแล้ว และยังคงทำงานอยู่ ผมเชื่อว่าผมยังทำงานต่อไปได้เรื่อยๆ ตราบใดที่รักษาสมดุลในชีวิตพร้อมๆ กับบรรลุเป้าหมายส่วนตัว

เพชร โอสถานุเคราะห์ ซีอีโอที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์บริหาร ‘โอสถสภา’ ธุรกิจอายุ 128 ปี
เพชร โอสถานุเคราะห์ ซีอีโอที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์บริหาร ‘โอสถสภา’ ธุรกิจอายุ 128 ปี

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่ามหาวิทยาลัยไม่ใช่ธุรกิจที่เป็นดาวรุ่งอีกต่อไป ทำไมคุณถึงเชื่อแบบนั้น

เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในวงการการศึกษาทั่วโลก ที่สหรัฐอเมริกามีนักวิชาการวิเคราะห์ว่า มหาวิทยาลัยจำนวนมากจะหายสาบสูญไปจากโลกนี้ อย่างน้อยๆ ก็ในสหรัฐ ที่ไทยผมก็คิดแบบเดียวกัน

ในอนาคตคนจะไม่เชื่ออีกต่อไปว่าการเรียนปริญญาโท-เอก หรือแม้แต่ปริญญาตรีเป็นสิ่งจำเป็น จากสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ บริษัทชั้นนำหลายๆ แห่งในโลกไม่ได้ตัดสินรับคนเข้าทำงานจากวุฒิการศึกษาอีกต่อไป แต่พิจารณาจากเรื่องอื่นๆ เป็นหลัก ผมมองว่าสถานการณ์ของสถาบันการศึกษาจะถดถอยเพราะคนเรียนน้อยลง จึงไม่แปลกใจหากมหาวิทยาลัยในโลกจะล้มหายตายจากหรือปรับขนาดให้เล็กลง แม้วันนี้มหาวิทยาลัยกรุงเทพจะยังเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่แข็งแรงที่สุด เราก็ยังนิ่งนอนใจไม่ได้ ถ้าเราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงหรือลดน้ำหนักตัวเองเราก็ต้องทำ ที่โอสถสภาเราก็ทำเพื่อให้บริษัทแข็งแรงอยู่ได้ต่อไป ถือเป็นเรื่องปกติในโลก

การออกแบบอาคารและบรรยากาศที่ดีทั้งที่โอสถสภาและ ม.กรุงเทพ ส่งผลต่อชีวิตผู้คนยังไง

ก่อนหน้านี้ผมดูงานของมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งในโลก ให้ความสำคัญกับทัศนียภาพของสวนสาธารณะที่เอื้อให้นักศึกษาอยากมาใช้ชีวิต เราไม่ได้ทำตึกสวยเพื่ออะไรไปมากกว่าอยากให้นักศึกษาอยากมาเรียน ผมเชื่อว่าการมีบรรยากาศที่ดีไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียนหรือทำงาน ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พนักงานอยากมาทำงาน อยากสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้องค์กร ยิ่งขับเคลื่อนที่ทำให้กลายเป็นองค์กรและสถาบันสร้างสรรค์

ปัญหาใหญ่ที่สุดที่เจอจากการเป็นผู้บริหารมาอย่างยาวนานคืออะไร

เรื่องแรกคือ การเจรจากับผู้คน เรื่องที่สองคือ การบังคับให้ตัวเองมาประชุมทุกวัน สิ่งนี้เป็นปัญหา เพราะตัวตนที่แท้จริงของผมผมชอบอ่านหนังสืออยู่บ้าน ตอนนี้กำลังสนใจเขียนเรื่องสั้น ผมเชื่อว่าหลายๆ คนก็คงเป็นเหมือนกันที่ทำบางอย่างได้ดีทั้งๆ ที่ไม่ใช่ธรรมชาติของตัวเอง

อุปสรรคแบบศิลปินคือการทำตัวเองให้มีวินัยและกระตือรือร้นที่จะมาออฟฟิศแบบคนอื่นเขา ยิ่งในยุคที่ทุกคนก็อยากเป็นตัวของตัวเอง ทุกคนบอกว่าเราโชคดีที่มีทุกอย่างบนโลกนี้ แต่ความจริงไม่ใช่ ผมโชคร้าย ผมมีทุกอย่างได้ แต่ผมไม่สามารถใช้ชีวิตแบบที่ควรจะใช้ได้ เหล่านี้กลับกลายเป็นอุปสรรค ผมอิจฉาเพื่อนที่เกษียณแล้วเลี้ยงหลานอยู่กับบ้าน นอกจากผมจะไม่มีหลาน ผมยังไม่มีโอกาสที่ทำสิ่งที่ชอบจริงๆ

ผู้บริหารนักคิดอย่างคุณเวลาคิดอะไรไม่ออก คุณมีวิธีแก้ปัญหายังไง

ไม่เคยคิดอะไรไม่ออก แต่ไม่ได้หมายความว่าคิดออกตลอดเวลานะ เพียงแต่ว่าตอนคิดไม่ออกผมไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหา ผมคุ้นเคยกับการอยู่กับปัญหาและรอคอยเวลาที่จะตกผลึก เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องเรียนรู้ คำตอบไม่ได้มาทุกวัน เดี๋ยวมันก็มาเอง บางทีไม่ต้องทำอะไร ปัญหาก็คลี่คลายไปเอง จากปัจจัยบางอย่างเปลี่ยนไป หรือมีคนเข้ามาช่วยกระตุ้นจนเกิดทางออก ไม่เคยวิตกจากการที่ขบคิดปัญหาไม่ออก ไม่เคยคิดว่าไม่มีทางออก ไม่เคยคิดว่าถึงทางตัน ทางออกมีเสมอ โอกาสมีเยอะแยะ แต่เราต้องรอให้ตกผลึกถึงจะได้คำตอบที่ดีที่สุด รีบคิดทันทีเดี๋ยวนี้เลยคงไม่ใช่ เพราะอาจจะไม่ได้คำตอบที่แท้จริง ยังไม่สุกงอม ต้องทีละนิด ผมคิดอะไรทีละนิด แต่งเพลงทีละ 4 บรรทัด นานๆ ทีถึงจะได้ทั้งเพลง

อะไรคือเรื่องที่คุณสอนลูกน้องเสมอ

ไม่เคยต้องสอนลูกน้องเลย คงต้องถามว่า อะไรคือสิ่งที่ลูกน้องสอนผมมากกว่า เพราะพวกเขาเก่งกว่าผมอีก เราใช้วิธีเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เรียนรู้จากข้อมูลที่เขามานำเสนอ และจากสิ่งที่มองเห็น

ไม่รู้ทำไม ผมไม่เคยสอนหนังสือที่ ม.กรุงเทพ เลยนะ มหาวิทยาลัยอื่นๆ ชวนไปสอนหรือพูดคุยกับนักศึกษาบ้าง เป็นไปได้ว่าอาจารย์ที่ม.กรุงเทพอาจจะกลัวเราไปแย่งงานเขา เดี๋ยวเขาตกงาน (หัวเราะ)

ถ้าต้องไปเปิดคอร์สพิเศษที่ ม. กรุงเทพ วิชาที่อยากสอนคือ

คงไม่เป็นวิชาที่มีในโลก เพราะจะเป็นการพูดคุยระหว่างกันโดยไม่มีรูปแบบ ไม่มีการกำหนดหัวข้อ แล้วแต่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น หรืออาจมีหัวข้อเล็กๆ ในเรื่องที่ผมถนัด เช่น วิธีใช้ความคิดสร้างสรรค์แก้ปัญหาใดๆ ก็ตามในชีวิต

นักศึกษาจะได้อะไรจากห้องเรียนพิเศษนี้

ผมเชื่อว่าถ้าเราไม่ยึดในทฤษฎี ไม่มีหลักสูตรว่าต้องเป็นอย่างไร เด็กจะเรียนรู้วิเคราะห์ปัญหา หาคำตอบ ไม่ถึงกับวางกลยุทธ์ได้ แต่รู้วิธีแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุด

เพชร โอสถานุเคราะห์ ซีอีโอที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์บริหาร ‘โอสถสภา’ ธุรกิจอายุ 128 ปี
 

10 Questions Answered by Chairman of the Executive Committee and CEO of Osotspa

  1. ของในห้องทำงานชิ้นที่หยิบขึ้นมาโชว์แขกบ่อยที่สุด : งานศิลปะภาพวาดของ Sarah Morris
  2. เวลาต้องการพลังชีวิตคุณจะ : ดื่ม Shark สูตรไม่มีน้ำตาล
  3. ความสามารถพิเศษที่คนทั่วไปไม่รู้ : การเขียนนิยายและเรื่องสั้นมีนิยายที่เขียนเสร็จตั้งแต่ 7 – 8 ปีที่แล้ว และคิดอยากจะรวมเล่ม กับนิยายที่เขียนจบแล้ว 50 บท ช่วงน้ำท่วมกรุงเทพฯ ซึ่งเราย้ายไปอยู่พัทยาชั่วคราว พอน้ำลดกลับมาก็ไม่มีแรงบันดาลใจเขียนต่อ
  4. จำนวนงานศิลปะที่สะสม : 600 ชิ้น
  5. งานศิลปะชิ้นที่ฟินที่สุดตั้งแต่เก็บสะสมมา : ไม่มีชิ้นไหนเป็นที่สุด ถ้าให้ตอบต้องมีพื้นที่ให้พูดถึงนับสิบชิ้น
  6. เมืองที่ชอบ : ยุโรป ชอบพิพิธภัณฑ์และถนนหนทางความเป็นเมืองเก่าของยุโรป โดยเฉพาะลอนดอน
  7. กิจกรรมที่ชอบที่สุดในลอนดอน : ชอบเดิน Hyde Park จริงๆ แล้วชอบเดินสวนสาธารณะของทุกเมือง
  8. แบรนด์ลูกของโอสถสภาที่คุณรักที่สุด : ยากฤษณากลั่น ตรากิเลน แก้ท้องเสียได้ดี และ Shark สูตรไม่มีน้ำตาล ดื่มได้ทุกวัน ดื่มแล้วมันสดชื่น ผมเป็นเบาหวานก็กินสูตรไม่มีน้ำตาลได้
  9. เราจะได้ฟังเพลงชุดที่ 3 เมื่อไหร่ : ถ้ามีโอกาสก็อยากจะปัดฝุ่นเพลงเก่า อาจจะรวมเป็นตอนพิเศษหรือปล่อยใน YouTube ถ้าให้ออกอัลบั้ม 3 เลยอาจจะยาก คงทำซิงเกิลออกมาก่อน ขนาดเพลงชุดที่ 2 ยังไม่ได้อยู่ใน Spotify เลย ที่ช้าเพราะเราไม่มีค่ายเพลง เราทำเอง ตอนนี้กำลังหาทางส่งเพลงเก่าเข้าไปอยู่ใน Spotify
  10. คุณจะทำเพลงถึงอายุเท่าไหร่ : ผมตั้งใจออกอัลบั้มใหม่ทุก 20 ปี ครั้งต่อไปก็ตอนอายุ 80 (หัวเราะ)

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

Avatar

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

นินทร์ชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ซื้อฟิล์มให้ไม่ยั้ง ตื่นเต้นกับเสียงชัตเตอร์เสมอต้นเสมอปลาย เพื่อนชอบชวนไปทะเล ไม่ใช่เพราะนินทร์น่าคบเพียงอย่างเดียวแน่นอน :)