คุณว่าเรื่องบังเอิญ ถูกโชคชะตากำหนดไว้หรือไม่

เรื่องราวของบ้านอายุ 87 ปีและเจ้าของบ้านนี้มีแต่ความบังเอิญ

บังเอิญได้กลับมาพบรักกัน หลังแยกย้ายไปเรียนต่อนับ 10 ปี

บังเอิญได้ซื้อบ้านตัวเองคืน หลังเปลี่ยนมือไปเกือบ 30 ปี

บังเอิญได้เป็นสถานที่ถ่ายทำซีรีส์ แปลรักฉันด้วยใจเธอ ก่อนเปิดกล้องเพียง 2 วัน

เราเองก็บังเอิญไปรู้เรื่องนี้เข้า ก่อนไปภูเก็ต 5 วัน เลยได้นัด ตี่-วีระชัย และ ขวัญ-กนกพรรณ ปรานวีระไพบูลย์ สองเจ้าของบ้านด้วยความตั้งใจ

บ้านเลขที่ 65 ที่บังเอิญได้ซื้อบ้านสมัยเด็กคืนและเป็นฉากในซีรีส์แปลรักฉันด้วยใจเธอ

ในตอนจบสุดท้ายนิยายรัก มักให้คนห่างไกลได้ย้อนกลับ กลับมาเพื่อพบเจอ บอกรักเธออีกครั้ง

ทั้งคู่เป็นเพื่อนร่วมชั้นสมัยมัธยม ตี่ คือลูกหลานเจ้าของบ้านเลขที่ 65 ย่านในเหมือง ส่วนขวัญ บ้านอยู่ถนนถัดไป ถ้าให้เล่าแบบละครนิดหน่อย เธอบอกว่าตอนนั้นไม่ค่อยสนิทและหมั่นไส้มาก เขาทั้งรวยแถมยังเรียนเก่ง ทั้งที่เป็นเด็กหลังห้อง

เมื่อเรียนจบ ต่างคนต่างไปเรียนต่อ ทีแรกตี่ไม่ได้ตั้งใจกลับมาปักหลักที่บ้านเกิด เขาอยากเป็นสถาปนิกในเมืองหลวง แต่วิกฤตต้มยำกุ้งก็พาเขากลับมาเริ่มต้นชีวิตที่ภูเก็ต ไม่กี่ปีต่อมาก็ถึงตาขวัญหลบเรินบ้าง เลยทำให้ทั้งคู่มีโอกาสได้เจอกัน

21 ปีผ่านไป (รวบรัดเลย) ตี่กลายเป็นเจ้าของบริษัทออกแบบ ROOF Design & Management Co.,Ltd. ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โรงแรม Blu Monkey คาเฟ่ Good Café ร้านอาหาร Good•for•rest ร่วมกับขวัญ ซึ่งทำงานด้าน Gastronomy ให้กับทางเทศบาลนครภูเก็ตและเป็นตัวแทนเทศบาลฯ ประสานงานกับเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO ไปด้วย

บ้านเลขที่ 65 ที่บังเอิญได้ซื้อบ้านสมัยเด็กคืนและเป็นฉากในซีรีส์แปลรักฉันด้วยใจเธอ
ลูกกรงแบบที่ไม่ค่อยมีในไทย พบในปีนัง สิงคโปร์ ซึ่งลายแต่ละที่ไม่เหมือนกัน

แต่ความรัก (บ้าน) ดูเหมือนเลือนราง ปลายทางไม่เป็นดังใจ

“บ้านนี้ยุคคุณตา หรือ อาก๊อง-โฮ่เสง แซ่อ๋อง อดีตนายเหมือง เป็นบ้านของคนภูเก็ตจริงๆ เพราะเส้นนี้คือถนนดีบุก สมัยก่อนเป็นเหมืองแร่ คนที่ทำเหมืองมาสร้างบ้านกัน” สถาปนิกเจ้าของบ้านแบบเปอรานากันเริ่มต้นเล่า พร้อมเชื้อเชิญเราเดินผ่านส่วนหน้าบ้าน ห้องรับแขก เข้าไปนั่งที่โต๊ะกินข้าวในโถงกลาง ข้างๆ เป็นจิ้มแจ้ ช่องแสงควบตำแหน่งบ่อน้ำ ถัดไปด้านหลังเป็นครัว

บ้านหน้ากว้างเกิน 4.5 เมตร ยาว 45 เมตร ขนาดพื้นที่ใช้สอยกว่า 300 ตารางเมตร แบ่งเป็นสามตอน วางตัวในแนวลึกจากถนนถลางจรดซอยสุ่นอุทิศ ส่วนการจัดวางข้าวของ-สารพัดเฟอร์นิเจอร์เก่าแก่ที่รายล้อม ทำให้รู้สึกราวกับนั่งอยู่ในมิวเซียม

บ้านเลขที่ 65 ที่บังเอิญได้ซื้อบ้านสมัยเด็กคืนและเป็นฉากในซีรีส์แปลรักฉันด้วยใจเธอ
บ่อน้ำที่ยังใช้อยู่จริง ตี่สันนิษฐานว่าเกิดจากการตั้งรกรากด้วยสายน้ำ ซึ่งทุกบ้านมีบ่อใต้ดินนี้อยู่ตำแหน่งเดียวกัน

“คนภายนอกเห็นอยู่บ้านแบบนี้ จะจินตนาการว่ารวย อลังการ แต่เขาไม่รู้หรอกว่าข้างในนี้อยู่กันหกถึงเจ็ดครอบครัวใหญ่ แย่งที่นอนกัน” เขาเล่าต่อกลั้วเสียงหัวเราะ

“เอาจริงๆ เด็กๆ อยากย้ายออกทุกวัน ยิ่งเราเรียนสถาปัตย์ เฮ้ย ชีวิตมันไม่มินิมอลว่ะ เราหลงใหลในโมเดิร์นดีไซน์ แล้วทุกคนเป็นเหมือนกัน อยากไปอยู่หมู่บ้านจัดสรรทรงยุโรป ปูกระเบื้อง มีรั้ว มีแอร์ มีชักโครก พอเราอายุสิบแปดประมาณ พ.ศ. 2534 หลังคุณตาเสีย บ้านนี้ถูกขายไป ตอนนั้นไม่มีใครเสียใจเลยนะ ทุกคนดีใจ เพราะจะได้ย้ายไปอยู่บ้านใหม่กัน”

บ้านเลขที่ 65 ที่บังเอิญได้ซื้อบ้านสมัยเด็กคืนและเป็นฉากในซีรีส์แปลรักฉันด้วยใจเธอ
เพดานสูงโปร่ง ช่วยไหลเวียนอากาศ บ้านจึงเย็นสบายจากแอร์ธรรมชาติตลอดทั้งวัน

“แต่ตลกมาก วันหนึ่งเราได้ดูหนังสิงคโปร์เรื่อง The Little Nyonya ที่เกี่ยวกับวิถีชีวิต เป็นภาพสะท้อนเหมือนบ้านเก่าเลย เราก็ไม่รู้เป็นเพราะว่าวัยหรือยุคสมัยที่เรื่องพวกนี้มันกลับมามีคุณค่า คนไทยก็ทิ้งเรื่องรากเหง้าของตัวเองไประยะหนึ่ง แล้วหนังมันมากระตุกว่า เฮ้ย ไม่นะ จริงๆ ทุกรากมันก็มีค่า คุณกำลังจะตัดรากตัวเองแล้วไปต่อรากใหม่

“แล้วลูกสาวคนโตเป็นคนบอกเองว่า ปะป๊า เราเคยมีบ้านแบบนี้ ทำไมไม่หาซื้อบ้านแบบนี้แล้วมาทำอะไรแบบนี้ล่ะ จากนั้นก็ดูบ้านมาตลอด เริ่มมองจากเฟอร์นิเจอร์ ของเก่าๆ ที่เคยมี ซึ่งกองๆ อยู่ ไม่เคยสนใจเลย คราวนี้ไปไหนมาไหนก็เริ่มสะสมไว้” หลังพูดจบ เขาก็พาเดินสำรวจทุกซอกมุมบ้าน พลันสายตาเราสะดุดตาเข้ากับตู้เซฟสีเขียวใบเขื่องที่อยู่ในบ้านตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ ที่เมื่อก่อนใช้เก็บใบรับรองการศึกษาของลูกๆ หลานๆ

บ้านเลขที่ 65 ที่บังเอิญได้ซื้อบ้านสมัยเด็กคืนและเป็นฉากในซีรีส์แปลรักฉันด้วยใจเธอ

กีดกันด้วยเวลาฉันยินดีรอ แต่กีดกั้นด้วยชะตาฉันคงต้องยอมพ่ายแพ้ ใช่ไหม (ไม่!)

“รอมาสิบสามปี เพิ่งได้ซื้อเมื่อสามปีก่อน พอดีคนขับรถเจ้าของบ้านแอบได้ยินว่าแกจะขาย เลยมาบอกเรา” ขวัญ ผู้บังเอิญจะซื้อบ้านเก่าของสามีคืนเริ่มต้นเล่าด้วยความตื่นเต้น

บ้านเปลี่ยนมือไปเป็นของ คุณพรรณี บำรุงผล ภริยาอดีตกงสุลอังกฤษประจำฮ่องกงราว 30 ปี แต่ยังคงเก็บบันทึกความทรงจำไว้ให้ ของบางชิ้นยังอยู่เหมือนเดิม หลายชิ้นเติมแต่งเข้ามาโดยคุณพรรณี นักประมูล ผู้ชื่นชอบสะสมของเก่า โดยเฉพาะ ตู้ โต๊ะ เก้าอี้ บางชิ้นมีความเป็นเปอรานากัน บางชิ้นก็สไตล์ยุโรปจากอังกฤษบ้าง ฮอลแลนด์บ้าง บางชิ้นเดินทางมาจากจีนกวางตุ้ง-ฮ่องกง บางชิ้นอายุเกิน 200 ปีก็มี ส่วนบ้านได้รับการดูแลอย่างดี ไม่เคยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใดๆ

บ้านเลขที่ 65 ที่บังเอิญได้ซื้อบ้านสมัยเด็กคืนและเป็นฉากในซีรีส์แปลรักฉันด้วยใจเธอ
บ้านเลขที่ 65 ที่บังเอิญได้ซื้อบ้านสมัยเด็กคืนและเป็นฉากในซีรีส์แปลรักฉันด้วยใจเธอ
กระเบื้องทำมือสไตล์เปอรานากันที่อายุเท่าบ้าน

“เรื่องมันมีอยู่ว่า…” เธอเกริ่น

“แกบอกว่า นอนอยู่บ้านนี้แล้วฝันถึงผู้ชายคนหนึ่งใส่สูทขาว ทีแรกแกก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร เลยไปถามคนแถวนี้ว่าลูกหลานเขาไปอยู่ไหนกัน จนมาเจอคุณแม่ที่ร้าน ช่วงตรุษจีนเลยขอเข้ามาตั้งโต๊ะไหว้ จากนั้นก็มาทุกปี

“เรารู้ว่าพี่ตี่เขารักและผูกพันอยู่แล้ว ยิ่งเราเป็นคนที่ชอบวัฒนธรรมภูเก็ต พอเรามาได้สัมผัส ได้มาเห็นบ้านยิ่งชอบ ลูกสาวมาด้วยก็ชอบ เพราะไปภูเก็ตสเก็ชเชอร์วอล์กตามเมืองเก่าที่พ่อเขาจัด เหมือนได้ปลูกฝังเขาตั้งแต่เด็ก พอเห็น ก็อยากมาอยู่ อยากได้บ้านคืน แต่พอหลังไหว้เสร็จ ก็ไม่เคยกล้าคุยกับแกนะว่าสนใจอยากซื้อ”

บ้านเลขที่ 65 ที่บังเอิญได้ซื้อบ้านสมัยเด็กคืนและเป็นฉากในซีรีส์แปลรักฉันด้วยใจเธอ
หน้าต่างซ้อนหน้าต่างที่ซ่อนดีเทลการออกแบบไว้เพื่อระบายอากาศ หากฝนตกก็เปิดได้และมีลูกกรงเพื่อความปลอดภัยอีกชั้น

13 ปีผ่านไป เมื่อสามีเสียชีวิต คุณพรรณีตัดสินใจขายบ้าน โอกาสที่รอคอยก็เดินทางมาเคาะประตูแบบที่พวกเขาไม่ทันตั้งตัว

“เราเดินทางไปต่างจังหวัด เลยรีบโทรไปถามราคา แล้วก็ตกลงกันในโทรศัพท์ว่าให้รอก่อนนะ วางเงินจองไว้ เดี๋ยวกลับไปพรุ่งนี้ จะทำสัญญาเลย อุปสรรคหลังจากนี้ก็เรื่องเงิน มูลค่ามันเยอะ ทำเรื่องอยู่หลายธนาคาร จนบังเอิญไปหาอีกธนาคารหนึ่ง ทีแรกไปคุยเรื่องบ้านหลังอื่น คุยไปคุยมาลองถามว่าจะมากู้บ้านเก่าได้ไหม ผู้จัดการเขาถามว่าได้มายังไง เพราะรู้มาว่าในย่านนี้ไม่มีใครขายบ้าน ที่ขายก็สภาพไม่ดีเท่านี้ พอเขารู้ว่าเป็นลูกหลานก็ไม่แปลกใจ

“ปรากฏว่าธนาคารนี้จบเร็วมาก สองอาทิตย์โอนเลย พอโอนปุ๊บ คุณพรรณีก็บอกว่า เนี่ยซื้อไว้สิเลขบ้านน่ะ ฉันก็ซื้อไว้แล้วนะ ซึ่งปกติไม่เล่นหวย แต่ไหนๆ ก็มีคนทักเลยซื้อไว้ แล้วงวดนั้นออก 65 ตรงๆ ขนลุกเลยสิบสามใบ”

บ้านเลขที่ 65 ที่บังเอิญได้ซื้อบ้านสมัยเด็กคืนและเป็นฉากในซีรีส์แปลรักฉันด้วยใจเธอ
ตู้สไตล์เปอรานากัน ทรงแบบยุโรป แต่เป็นขาสิงห์ แกะสลักหน้าบานแบบจีน

“กว่าจะได้มาก็แรงอธิษฐานด้วยมั้ง อธิษฐานว่า อากง ถ้าอยากให้ได้กลับมาเป็นของลูกหลาน ก็ช่วยดลบันดาลให้ได้กลับมานะ ช่วยกันหลายคนเลยตอนนั้น

“และเราว่าเป็นเรื่องจังหวะเวลาของมันด้วย มันยากมากที่เขาจะขาย แล้วขายให้เราอีก ซึ่งถ้าไปขายให้คนอื่นอาจได้ราคาเยอะกว่านี้ก็ได้ หรือเก็บไว้ให้ลูกแกก็ได้ แต่แกบอกว่า ‘เจ้าของบ้านเขาเลือกคนซื้อแล้ว’ คำนี้เลย ซึ่งรอบนี้แกฝันถึงอากง ในฝันถามชื่อด้วย ตอนมาเล่าบอกชื่อได้ตรงเป๊ะ เลยขนลุก เพราะเราเป็นคนที่ไม่ได้เชื่อเรื่องพวกนี้ แล้วก็ไม่ได้มีจิตสัมผัส แต่คุณพรรณีบอกแกมีนะ

บ้านเลขที่ 65 ที่บังเอิญได้ซื้อบ้านสมัยเด็กคืนและเป็นฉากในซีรีส์แปลรักฉันด้วยใจเธอ
โถงชั้นสอง ที่เด็กชายตี่ต้องนอนปูผ้าเรียงกัน

“จริงๆ ก่อนหน้านี้มีหลายหลังเสนอมา เราก็เกือบซื้อหลายหลังนะ บ้านสไตล์เดียวกัน คนละถนน แต่เรามีเอ๊ะ มีนึกในหัวว่ารอบ้านอีกหลังดีกว่า หรือเราน่าจะอยู่บ้านหลังนู้น แล้วคิดอีกว่าถ้าบ้านหลังนี้ขายล่ะ เลยเผื่อใจรอ ไม่ตัดสินใจ แบบขอรอก่อนอีกนิดแล้วกัน จนสิบกว่าปี” เจ้าของบ้านเก่าเล่าใหม่อย่างออกรส เมื่อนึกย้อนไปถึงวันนั้น

 “…กีดกั้นด้วยเวลาฉันยินดีรอ” เราแซว

“ใช่ๆ เหมือนซีรีส์เลยเนอะ พอถึงเวลาเขาได้คู่กัน ส่วนเราได้เป็นเจ้าของบ้าน” เธอรีบตอบรับพร้อมเสียงหัวเราะ

แม้แรกเจอต่างคนไม่รู้จัก แต่ปักใจเพียงครั้งเดียว ติดในใจชั่วกาล

ความบังเอิญอย่างสุดท้ายของบ้านหลังนี้ คือการได้เป็นสถานที่ถ่ายทำฉากบ้านของ ‘เต๋’ พระเอกในซีรีส์ แปลรักฉันด้วยใจเธอ กำกับและเขียนบทโดย บอส-นฤเบศ กูโน ผลิตโดย นาดาวบางกอก ร่วมกับ LINE TV ซึ่งกำลังจะออกอากาศภาคสองเดือนมีนาคมนี้

บ้านเลขที่ 65 ที่บังเอิญได้ซื้อบ้านสมัยเด็กคืนและเป็นฉากในซีรีส์แปลรักฉันด้วยใจเธอ
ตกแต่งลูกฟักและช่องเปิดด้วยกระจกสีที่ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมโกธิก

“ช่วงหลัง COVID-19 ทีมงานมาพักที่โรงแรมเรา แบบปิดโรงแรมเลยเดือนหนึ่ง แล้วน้องที่เป็นเซลล์รู้จักกับทีมงานคนหนึ่ง ซึ่งระหว่างถ่ายน้องๆ เขาก็ช่วยเหลือกันว่าขาดเหลืออะไร ทีมงานก็บอกว่ายังขาดเฟอร์นิเจอร์บางชิ้น เขาเลยบอกให้ลองไปดูที่บ้านเจ้านายน่าจะมี

“พอทุกคนเห็นบ้านก็ตะลึง แล้วพูดว่านี่คือโลเคชันในฝันที่ของซีรีส์เรื่องนี้เลย ห้องนั่งเล่นได้ ห้องนอนได้ ห้องทานข้าวได้ ห้องครัว ได้ทั้งเรื่อง

บ้านเลขที่ 65 ที่บังเอิญได้ซื้อบ้านสมัยเด็กคืนและเป็นฉากในซีรีส์แปลรักฉันด้วยใจเธอ

“คุณบอส ผู้กำกับ เขาก็รีบโทรหาคุณย้ง ตกบ่ายเขาขอถ่ายรูปบล็อกช็อต แล้วขอตกลงเช่าใช้สถานที่วันนั้นเลย เราก็ยินดีมาก

“เขาบอกเราว่าก่อนหน้านี้ ทีมงานมาเดินสำรวจบ้านทุกหลังในเส้นนี้ แล้วก็ไปติดต่อหลายๆ ที่ไว้แล้ว แต่บ้านเราปิดไว้ ซึ่งไม่เคยมีใครได้เห็นข้างใน” ชายเจ้าของโลเคชันฟ้าประทานเล่าระหว่างเดินขึ้นชั้นสองไปยังดาดฟ้า ก่อนชวนเราถ่ายภาพตามรอยซีรีส์ในมุมเดียวกันเปี๊ยบ

บ้านเลขที่ 65 ที่บังเอิญได้ซื้อบ้านสมัยเด็กคืนและเป็นฉากในซีรีส์แปลรักฉันด้วยใจเธอ

“เราชื่นชมเขานะ ที่ถ่ายทอดความเป็นวิถีเดิมของคนภูเก็ตผ่านตัวละคร เรื่องราว สถานที่ต่างๆ และทำการบ้านได้ดีมาก ขนาดตัวเราเองอยู่มาจนจะห้าสิบแล้ว ยังไม่รู้เลยว่ามีบ้านที่ทะลุไปศาลเจ้าแสงธรรมได้ เขาเอาเกร็ดแบบนี้ใส่เข้าไปในบทละครว่า โอ้เอ๋วกับเต๋เดินทะลุทางเข้าในบ้านออกไปที่ศาลเจ้า” แฟนซีรีส์ตัวยงช่วยเสริมเรื่องราว Behind the Scenes

บ้านเลขที่ 65 ที่บังเอิญได้ซื้อบ้านสมัยเด็กคืนและเป็นฉากในซีรีส์แปลรักฉันด้วยใจเธอ

ยามที่เราทั้งสองได้พานพบ ลบเรื่องราวอดีตที่ร้าวราน เธอคือความรักแท้ ที่ฉันหามาเนิ่นนาน

“ทีแรกจะรีโนเวตบ้านให้โมเดิร์นขึ้น ให้ทันสมัยเหมือนสิงคโปร์ หลังซีรีส์มาถ่าย คิดว่าคงไม่เปลี่ยนแล้ว คุณพรรณี เธอรักบ้าน รักเฟอร์นิเจอร์ เลยดูแลไว้ดีมาก มากจนขนาดขายให้เราแล้ว ยังเข้ามาดูแลให้ น้ำ ไฟ เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างตรุษจีนปีล่าสุดก่อนที่แกเสีย ก็ซื้อที่ห้อยตรุษจีนอันใหม่มาแขวนหน้าบ้านให้ เพราะของเก่ามันซีดแล้ว”

ตี่เล่าต่อว่า หลังซื้อบ้าน คนที่ดีใจและภูมิใจที่สุดคือคุณแม่ เธอมีความสุขมากเวลาได้พูดคุยกับเพื่อนๆ ยิ่งพอเวลาผ่านไป ทุกคนก็ดีใจด้วย ทั้งญาติๆ คนรอบข้างทั้งซอยยังตามมาแสดงความยินดีที่คนคุ้นเคยจะกลับมาอยู่

บ้านเลขที่ 65 ที่บังเอิญได้ซื้อบ้านสมัยเด็กคืนและเป็นฉากในซีรีส์แปลรักฉันด้วยใจเธอ

“เราอยากเก็บไว้และสานต่อให้บ้านหลังนี้เป็นบ้านที่สวยงามแล้วก็มีคุณค่า อยากส่งต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานในสภาพที่ดี จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ด้วยว่าภูเก็ตยุคสมัยหนึ่ง มีบ้านแบบนี้แค่ช่วงสองถึงสามถนนในย่านเมืองเก่า ซึ่งมันสร้างเรื่องราวขึ้นใหม่ไม่ได้ และแอนทีคจนประเมินค่าไม่ได้แล้ว

“หลายครั้งที่ได้มา มีเรื่องราวภายใต้ดีไซน์หรือแปลนบางอย่างย้อนกลับมาเยอะเลย ตอนเด็กๆ เราก็ไม่รู้ว่าอยู่เพราะอะไร จำภาพได้ว่าแสงตรงนี้ดีมาก อยู่ได้ทั้งวัน นอน อ่านหนังสือ มีบันไดวนที่เราใช้เป็นสนามเด็กเล่นวิ่งขึ้นลง โถงหน้าบ้านที่เป็นลานตีปิงปอง ครัวที่เคยช่วยผู้ใหญ่ทำอาหาร เลยทำให้เรากลายเป็นคนชอบเข้าครัว”

บ้านเลขที่ 65 ที่บังเอิญได้ซื้อบ้านสมัยเด็กคืนและเป็นฉากในซีรีส์แปลรักฉันด้วยใจเธอ
บ้านเลขที่ 65 ที่บังเอิญได้ซื้อบ้านสมัยเด็กคืนและเป็นฉากในซีรีส์แปลรักฉันด้วยใจเธอ
บันไดวนเหล็ก ร่องรอยความรุ่งเรืองในยุคเหมืองแร่ของภูเก็ต

นอกจากเป็นบ้านที่ครอบครัวปรานวีระไพบูลย์อยากกลับมาอยู่ ในอนาคตพวกเขาอาจเปิดให้เข้าชมได้ แต่จะเป็นรูปแบบไหนต้องติดตามตอนต่อไป

“เรามีโอกาสได้พารัฐมนตรีกระทรวงศึกษาของรัฐหนึ่งในอเมริกามาเยี่ยมชมบ้านพร้อมท่านผู้ว่า เราก็รู้สึกภูมิใจนะที่บ้านเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ภูเก็ต ถ่ายทอดความเป็นอยู่ของคนที่นี่ อย่างน้อยได้ช่วยประชาสัมพันธ์ในเชิงวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม เพราะว่าแน่นอนมันเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เลยคิดว่าถ้ามีเรื่องอาหารด้วย คนจะได้ประสบการณ์อีกรูปแบบ ซึ่งหายากมากๆ ในภูเก็ต

“คุยกันว่าเราจะทำโมเดลไหนดีที่เปิดให้เข้านะ แต่เก็บความเป็นส่วนตัวในการอยู่อาศัยของเราด้วย อาจทำเป็น Chef’s Table หรือเป็นเวิร์กช็อปสอนทำขนม เราเองโตมากับที่บ้านขายขนมโบราณ ขนมเทียน โกสุ้ย อังกู๊ หรือทำเรื่องเสื้อผ้าสไตล์บาบ๋า ย่าหยา ก็อาจจะมีเสื้อแบบโบราณหรือผ้าที่เราสะสมมาจัดแสดงให้ความรู้ และนัดก่อนเข้ามาชม” หญิงในชุดบาบ๋าเล่าถึงอนาคตด้วยแววตาเปล่งประกาย

บ้านเลขที่ 65 ที่บังเอิญได้ซื้อบ้านสมัยเด็กคืนและเป็นฉากในซีรีส์แปลรักฉันด้วยใจเธอ

ทั้งคู่เชื่อเหมือนกันว่าการพัฒนาเป็นการอนุรักษ์อย่างหนึ่ง โดยรากคือสิ่งที่เกิดขึ้นและส่งต่อมาเรื่อยๆ เป็นสารตั้งต้นหรือมรดกที่มีคุณค่ามากพอให้รักษาแล้วพัฒนาต่อ อาจไม่ใช่ฟังก์ชันเดิม แต่บาลานซ์ว่าอันไหนเก่า อยากเก็บอดีตก็เก็บไป อันไหนต้องร่วมสมัยเพื่อให้ไปต่อได้ก็ทำ

“เราก็อยากสื่อสารกับคนรุ่นใหม่หรือรุ่นเราบางคนว่าการรักษามีทางของมัน ไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ไว้หรือคงไว้เหมือนเดิม เราเคยผ่านจุดที่เป็นเด็กรุ่นใหม่แล้วไม่ค่อยอินกับของพวกนี้ เลยอยากทำให้เป็นโมเดลให้เห็นและส่งต่อว่าทำแบบนี้ได้ ถัดมาเราก็ต้องตีความว่าตอนนี้สังคมต้องการอะไร บริบทจะเป็นอะไร อย่างละครทำให้การท่องเที่ยวภูเก็ตบูมขึ้นเยอะในสถานการณ์ COVID-19 เราก็อยากขยี้ตรงนั้นต่อ

“และการกลับมาใหม่ เราอยากเห็นภาพของคำว่ายั่งยืน การอยู่ต่อไป ไม่ใช่การฉกฉวยโอกาส หรือว่าหากินอย่างเดียว ซึ่งการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ถ้าจัดการดีๆ ก็ยั่งยืนได้” เขาว่า

บ้านเลขที่ 65 ที่บังเอิญได้ซื้อบ้านสมัยเด็กคืนและเป็นฉากในซีรีส์แปลรักฉันด้วยใจเธอ
ขนบความงามตามแบบบ้านโบราณด้วยช่องเปิดที่วางแปลนให้ตรงกันหมด

“ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในซีรีส์ เพราะมันอยู่ตลอดไป ย้อนมาดูเมื่อไหร่ก็ได้ เหมือนสมัยนั้นที่เราดู The Little Nyonya ซึ่งมันเป็นส่วนหนึ่งในการเล่าเรื่องเรื่องราวประวัติศาสตร์-วัฒนธรรมให้คนรุ่นใหม่ ได้รู้จักภูเก็ตในอีกแง่มุมหนึ่ง นอกจากจุดเช็กอิน อย่างทะเล ภูเขา ได้มาสัมผัสและซึมซับวัฒนธรรม

“อยากให้บ้านโบราณทำให้คนกลับมาดูแล้วบอกว่า เฮ้ย! สวยจัง แทนที่จะบอกว่าโบร้าณ โบราณ เหมือนยุคหนึ่งที่เรามองบ้านแบบนี้ว่า หูย ไม่เอา มันเชย” เธอทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม

บ้านเลขที่ 65 ที่บังเอิญได้ซื้อบ้านสมัยเด็กคืนและเป็นฉากในซีรีส์แปลรักฉันด้วยใจเธอ

Writer

Avatar

ปาริฉัตร คำวาส

อดีตบรรณาธิการสื่อสังคมและบทความศิลปวัฒนธรรม ผู้เชื่อว่าบ้านคือตัวตนของคนอยู่ เชื่อว่าความเรียบง่ายคือสิ่งซับซ้อนที่สุด และสนใจงานออกแบบเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (กับเธอ)

Photographer

Avatar

ธาม โรจนอุดมวุฒิกุล

อดีตช่างภาพอิสระ คิดว่าการเล่าเรื่องด้วยภาพสำคัญไม่แพ้ตัวอักษร ชอบกินกาแฟในวันที่นอนเยอะ และกินโกโก้ในวันที่นอนน้อย แพ้แมวเวลาทำเสียงกรน ในอนาคตอยากทำเพลงของตัวเองสักเพลง (ถ้าเป็นไปได้)