ถ้าพูดถึง เปอร์-สุวิกรม อัมระนันทน์ เมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว สิ่งแรกที่เรานึกถึงคงเป็นชื่อเรียกในวงการอย่าง ‘เปอร์ Final Score’ ที่ได้มาจากผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกในชีวิต แต่ไม่ใช่หลังจากนั้น

ภาพเปอร์ตั้งแต่วันนั้นจนวันนี้ คือพิธีกรและนักสัมภาษณ์ที่เก่งมากคนหนึ่ง เขาเป็นนักถามที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และทุกครั้งในการทำงาน เขาอ่านสคริปต์แค่รอบเดียวเท่านั้น ที่เหลือคือความอยากรู้ของตัวเอง ซึ่งทำให้บทสัมภาษณ์นั้นสดใหม่และไปได้ไกลกว่าที่คิดไว้ในตอนแรก

 อาชีพของเปอร์เริ่มจากนิสัยส่วนตัว เขาชอบพูดคุยกับคนเก่งๆ และคนที่อายุมากกว่า เริ่มจากการคุยกับเพื่อนพ่อ พี่ที่โรงเรียน คุณลุงคุณป้าที่รู้จัก จนตอนนี้ถ้าเขามี Portfolio คงมีชื่อนักธุรกิจและผู้มีอิทธิพลจากหลายวงการของประเทศที่เขาเคยสัมภาษณ์ไม่น้อย และต่อให้ไม่ได้ทำอาชีพนี้ เขาก็ยังจะเข้าหาคนเหล่านั้นอยู่เหมือนเดิม เพราะการชอบเรียนรู้มันอยู่ในสันดานตัวเองไปแล้ว

จากเด็กใฝ่รู้สู่พิธีกรผู้เชื่อว่าผลงานที่ดีต้องมีให้เห็นตลอดเวลาของ เปอร์ สุวิกรม

เปอร์เชื่อในการพัฒนา ถ้าคุณรู้คุณสมบัติข้อนี้ จะทำให้คุณเข้าใจในสิ่งต่างๆ ที่เขาทำมากขึ้น ทั้งวิธีคิด วิธีการทำงาน คำถาม คำตอบ และการแสดงออก รวมไปถึงสองรายการที่ทำอยู่ Perspective และ ยินดีที่ได้รู้จัก ชีวิตของเขาผ่านทางแยกมาหลายครั้ง ส่วนมากต้องเลือกระหว่างเม็ดเงินกับสิ่งที่อยากทำ ซึ่งเขาบอกว่า

“เราไม่เคยเอาเงินเป็นตัวตั้งต้นในการทำอะไรก็แล้วแต่ในชีวิต เราไม่เคยเอาเรื่องชื่อเสียงมาเป็นประเด็นสำคัญ เราแค่สนในเรื่องของวิธีการที่จะพัฒนาตัวเอง เส้นทางในชีวิตเราเลยเดินเข้าหาอะไรก็ตามที่ทำให้เราพัฒนา ได้ฝึกฝน และสิ่งเหล่านั้นจะกลายเป็นเงินและชื่อเสียงในภายหลัง ตราบใดก็ตามที่เราทำมันมากพอ”

ทุกวันนี้เปอร์มีบริษัทของตัวเองชื่อ บริษัท แบล็คดอท จำกัด มีรายการที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนดูอย่างสม่ำเสมอ และมีชีวิตในแบบที่เขามีมาโดยตลอด คือการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในทุกวัน ตั้งใจทำทุกๆ งานให้ดีขึ้นไปอีก โดยไม่หลงระเริงไปกับคำชมที่ได้รับ นอกจากผักชีที่ไม่ชอบเหมือนกันแล้ว นี่เป็นอีกสิ่งที่เราเห็นด้วยกับเขาอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง

ถ้าอ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้วคุณยังไม่คุ้นกับผลงานของเขา เราขอยกตำแหน่งพิธีกรแห่งปี รางวัลไนน์เอ็นเตอร์เทน อวอร์ดส์ ครั้งที่ 9 ประจำ พ.ศ.​ 2558 มาเป็นเครื่องการันตีความไม่เหมือนใครของผู้ชายคนนี้ แต่หากคุณอ่านบทสัมภาษณ์นี้จบ สิ่งนั้นอาจจะไม่จำเป็นเลยก็ได้

จากเด็กใฝ่รู้สู่พิธีกรผู้เชื่อว่าผลงานที่ดีต้องมีให้เห็นตลอดเวลาของ เปอร์ สุวิกรม

เคยมีคนบอกว่า พิธีกรหรือนักสัมภาษณ์เป็นอาชีพที่โชคดี เพราะเราได้เงินจากการไปคุยกับคนเก่งๆ คุณเห็นด้วยไหม

เราก็คิดแบบนั้น แต่จริงๆ มันอยู่ในความตั้งใจตั้งแต่เด็ก เลยไม่ได้มองว่าตัวเองโชคดีแต่เพียงอย่างเดียว เราชอบวิ่งเข้าหาคนเก่งอยู่แล้ว 

 ตั้งแต่อายุยังไม่ถึงเจ็ดขวบเลยมั้ง เราชอบอยู่กับคุณพ่อ ชอบอยู่กับเพื่อนพ่อ ชอบฟังผู้ใหญ่คุยกัน เป็นเด็กที่ชอบอยู่กับผู้ใหญ่ เวลาเพื่อนพ่อมาสังสรรค์ที่บ้าน เราก็ชอบไปอยู่ในกลุ่มของเขา 

พอเข้ามัธยมฯ เราเลยเป็นคนที่ชอบเอาสิ่งใหม่ๆ มาเผยแพร่เพื่อน อะไรที่เขายังไม่เคยทำกัน เช่น มีคนมาจีบคุณอาเรา เราก็ไปแฮงเอ้าต์กับเขา ไปเล่นเพนต์บอล แล้วก็มาเล่าให้เพื่อนฟัง เราไปเจอคนขายปลากัดแถวบ้าน เจอกัน สนิทกัน จนอยู่ๆ เราก็มีปลากัดห้าหกร้อยตัว เราเรียนวิชาพุทธศาสนาตอนมอสอง มีพระอาจารย์มาสอน เราเกิดเลื่อมใสเลยขอไปเป็นเด็กวัด ไปช่วยพระบิณฑบาต หรือตอนเข้าเรียนที่สวนกุหลาบวิทยาลัย มันจะมีชุมนุมเหมือนชมรม ซึ่งสตาฟชุมนุมเป็นเด็กมอปลาย เด็กมอต้นเข้าไปก็จะเป็นสมาชิกชุมนุม ยังไม่มีบทบาทแค่ร่วมกิจกรรม แต่เราเข้าไปตอนมอหนึ่งก็ได้เป็นสตาฟชุมนุมเลย คือลักษณะนิสัยเราเป็นแบบนั้น

เหมือนชอบทำอะไรเกินกว่าคนรุ่นเดียวกัน

จริตเราชอบอยู่กับคนที่อายุมากกว่า เพราะเรารู้สึกว่าอยู่กับเพื่อนรุ่นเดียวกันมันไม่ได้อะไรใหม่ๆ เราอยากได้อะไรใหม่ๆ เสมอ เราเลยวิ่งเข้าหา พอได้มาแล้ว เราก็จะก้าวต่อไปอีก ด้วยประการทั้งปวง เราเลยสะสมสิ่งนี้มาตั้งแต่เด็กโดยธรรมชาติ 

คิดดูว่ามอหนึ่งเราออกไปขายสปอนเซอร์แล้ว เราใช้ Macromedia Flash เป็นคนแรกๆ ในโรงเรียน เราทำสปอตโฆษณาโปรโมตชุมนุมคอมพิวเตอร์ในโรงอาหาร เราได้ไปขอสปอนเซอร์กับ นพ.พรหมมินทร์ แซ่โง้ว จำได้ว่าตอนนั้นแกยังมาส่งที่บ้านเลย และไม่น่าเชื่อพอวันเวลาผ่านไป คุณหมอพรหมมินทร์ได้ดูรายการที่ไปสัมภาษณ์คุณสมชัย เลิศสุทธิวงค์ แล้วแกโพสต์ชื่นชม แต่แกจำเราไม่ได้ เราเลยส่งข้อความไปหาแกบอกว่า รู้ไหมว่าคนที่แกชื่นชมอยู่คือคนที่แกเคยไปส่งที่บ้านตอนเด็กๆ 

แล้วนิสัยส่วนตัวกลายมาเป็นสิ่งทำอยู่ได้ยังไง

ตอนมอห้า เราได้ไปซัมเมอร์ที่อเมริกาและอยู่กับคุณลุง ซึ่งเป็นคนไทยกลุ่มแรกๆ ที่ไปอยู่สหรัฐฯ เพราะฉะนั้นเวลามีแขกจากเมืองไทย จะเป็นนักการเมือง รัฐมนตรี หรือแม่ทัพภาค ก็จะให้คุณลุงช่วยดูแลที่โน่น วันที่เราเดินทางไป เราไปไฟลท์เดียวกับนายพลท่านหนึ่ง คุณลุงมารับเราพร้อมนายพลท่านนั้นไปทานร้านอาหารไทย คุณลุงนั่งตรงข้ามเรา ส่วนนายพลนั่งหัวโต๊ะ โต๊ะยาวเหยียดเลย นั่งกันสามคน ระหว่างทานอาหารเราได้ฟังคุณลุงกับนายพลท่านนั้นพูดเกี่ยวกับธุรกิจหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นยังจำได้อยู่เลย นายพลบอกว่าประเทศจีนกำลังมาแรงเลยนะ เราต้องหาทางไปลงทุนทำอะไรกับประเทศจีน จีนจะมีบทบาทแน่นอน 

จากเด็กใฝ่รู้สู่พิธีกรผู้เชื่อว่าผลงานที่ดีต้องมีให้เห็นตลอดเวลาของ เปอร์ สุวิกรม
จากเด็กใฝ่รู้สู่พิธีกรผู้เชื่อว่าผลงานที่ดีต้องมีให้เห็นตลอดเวลาของ เปอร์ สุวิกรม

นั่นมันเมื่อเป็นสิบปีที่แล้ว

สิบห้าปีที่แล้ว สมัยนั้นไม่มีใครสนใจประเทศจีนเลย ยังไม่เห็นโอกาส เรานั่งอยู่บนโต๊ะแล้วคิดกับตัวเองว่า กูไม่เคยได้ยินเรื่องนี้มาก่อนในชีวิตเลยว่ะ อย่างมากคุยกับรุ่นพี่ในโรงเรียนก็ได้ระดับหนึ่ง คุยกับเพื่อนพ่อแม่ก็ไม่มีใครทำธุรกิจเก่งๆ แต่การได้นั่งฟังนักธุรกิจคุยกันมันเป็นอีกโลก เราเลยพูดกับตัวเองวันนั้นเลยว่า ทำยังไงฉันจะมีโอกาสได้เข้าใกล้คนเก่งๆ ที่อยู่ในประเทศไทย ทำยังไงฉันจะได้มีโอกาสนั่งฟังเขาสนทนา ได้รู้ว่าเขาคิดอะไรกัน แล้วมันก็ลืมหายไป 

แต่พอเราผูกจิตสำนึกตั้งใจอะไรไว้แล้ว มันจะทำโดยไม่รู้ตัว ตอนนั้นเราฟัง Fat Radio ตลอด เขาเก่ง เขาคิดสปอตโฆษณาได้โดนใจวัยรุ่น เราอยากคิด อยากทำเป็นบ้าง พอเริ่มมีชื่อเสียงจากหนัง Final Score ก็เลยขอให้พีอาร์ GTH ในสมัยนั้นช่วยติดต่อไปบอกว่าเราอยากจัดรายการ ซึ่งเขาตอบรับ แต่ให้ค่าตอบแทนแค่ชั่วโมงละสองร้อยห้าสิบบาท วันหนึ่งจัดสามชั่วโมง ก็ได้เจ็ดร้อยห้าสิบบาท เดือนหนึ่งให้จัดสี่วัน ซึ่งตอนนั้นก็มีอีกที่ติดต่อให้เราไปจัดรายการวิทยุเหมือนกัน ให้ค่าตอบแทนหกหลัก แต่เราไม่ไป 

ทำไมไม่ไป…

เพราะเราไม่สนใจ เราอยากไปจัดในที่ที่เราชอบ แม้จะได้เงินน้อยกว่าเยอะมาก (หัวเราะ) ซึ่งเราโคตรชอบเลย ถ้าให้จัดฟรีเราก็ไป เรารู้สึกว่าตอนนั้นเรามีแต่ชื่อเสียง เขาให้เงินเราหกหลักเพราะเชื่อว่าเราจะดึงดูดให้คนมาฟังคลื่นเขาได้ แต่เราไม่ได้มีความสามารถเพียงพอสำหรับเงินตรงนั้น และอีกอย่างคือ เราอยากฝึกฝนตัวเอง เราให้ความสำคัญกับการได้รู้อะไรใหม่ๆ ได้ทำอะไรใหม่ๆ ได้ฝึกอะไรใหม่ๆ 

มันเป็นครั้งแรกที่คุณได้เข้าใกล้อาชีพพิธีกร/นักสัมภาษณ์

เราเด็กมาก ปีหนึ่งปีสอง เด็กกว่าเด็กฝึกงานอีก แต่โชคดีที่เรามีเครดิตห้อยท้าย คนจะเรียกว่า ‘เปอร์ Final Score’ สมัยนั้นก็จะมีแจ๊ค แฟนฉัน, แน็ก แฟนฉัน, ว่าน Seasons Change, ซันนี่ เพื่อนสนิท พอมีชื่อเสียงติดตัวมา เขาเลยให้เราไปจัดรายการอื่นๆ อีก ให้ไปจัดรายการชื่อ Entrance มันมีช่วงหนึ่งที่ค่ายเพลงจะส่งเพลงก่อนออกโปรโมตมาที่คลื่นให้เราวิจารณ์ว่าผ่านหรือไม่ผ่าน คนที่มาวิจารณ์ก็ต้องเป็นกูรูที่มีความรู้เรื่องเพลง เป็นดีเจที่มีชื่อเสียงเก่งๆ ทำให้เราได้ฝึกฝนและพัฒนาเร็วมากจากประสบการณ์ของพี่ๆ พอปิดไมค์เราก็ถามเลย “พี่ เวลาผมจัดรายการของผมเองตอนกลางคืน ต้องทำยังไงให้น่าฟัง จังหวะต้องเป็นยังไง ต้องเปิดเพลงยังไง ต้องเขียนสคริปต์ยังไง” พวกพี่ๆ ก็จะสอนพร้อมๆ ไปกับที่เราสังเกตเขาทำงาน

นั่นคือจุดเริ่มต้นของการทำอาชีพนี้ มันพัฒนาขึ้นมาจากตรงนี้ ซึ่งมองกลับไป ถ้าตอนนั้นไม่ได้ทำตำแหน่งดีเจ เขาให้ทำตำแหน่งอื่น เป็นเด็กฝึกงาน ซื้อกาแฟ ซีร็อกซ์ เราก็คงทำเหมือนเดิม เพราะเราอยากเขาไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เราอยากจะอยู่ 

จากเด็กใฝ่รู้สู่พิธีกรผู้เชื่อว่าผลงานที่ดีต้องมีให้เห็นตลอดเวลาของ เปอร์ สุวิกรม
จากเด็กใฝ่รู้สู่พิธีกรผู้เชื่อว่าผลงานที่ดีต้องมีให้เห็นตลอดเวลาของ เปอร์ สุวิกรม

คิดว่าตัวเองโชคดีไหมที่ได้ไปอยู่จุดนั้น ซึ่งหมายถึงการได้คุยกับคนเก่งๆ มากมายอย่างที่เคยตั้งใจมาก่อน

(นิ่งคิด) คนฟังอยู่อาจจะบอกว่า มึงโชคดีนิ กูไม่ได้มีโอกาสแบบมึงนิ กูไม่ได้อยู่ดีๆ แล้วมีคนมาถ่ายชีวิตแล้วมีชื่อเสียงขึ้นมาแบบมึง “ทำไมโชคถึงมาตกที่เรา” เราคงจะถามกลับแบบนั้น 

ใช่ มีคนที่เรียนเก่งกว่าเราเยอะแยะ คนที่เล่นกีฬาเก่งกว่าเรามีเยอะแยะ คนที่หน้าตาดีกว่าเรามีเยอะแยะ แล้วคนที่อาจจะพูดเก่งกว่าเราก็มีเยอะแยะ แต่ทำไมเขาไม่ได้รับโอกาสเหล่านี้ล่ะ แปลว่าอะไร แปลว่าในโลกความเป็นจริงแล้ว การพูดเก่งอย่างเดียวอาจไม่พอหรือเปล่า การเล่นกีฬาเก่งอย่างเดียวอาจไม่พอหรือเปล่า การเรียนเก่งอย่างเดียวอาจไม่พอหรือเปล่า ย้อนกลับไป เราก็ไม่เคยคิดอยากอยู่ใน Final Score แต่แรกนะ เขาไปค้นหาเด็กมาเป็นร้อยคน แต่ไม่ถูกใจผู้กำกับ จนเขามาเจอเราที่ Center Point แล้วถูกใจ คำถามคือ เป็นเพราะเราโชคดีหรือเป็นเพราะเราถูกใจเขา อาจจะฟังดูว่ามึงหลงตัวเองมาก แต่มันไม่ใช่ (หัวเราะ)

เราวิเคราะห์ให้ฟังอย่างนี้ ถ้าเราโทษโชคชะตา มันก็จะเป็นแค่เรื่องโชคชะตาที่ทำให้คนไม่ได้พัฒนาตนหรือฝึกฝนตัวเอง การที่เขาถูกใจเรามันเป็นเพราะช่วงชีวิตวัยเด็ก ตัวตน การแสดงออกของเรา มันแตกต่างจากคนอื่นโดยสิ้นเชิงหรือเปล่า เราไม่เหมือนใคร เราไม่จำเจ ไม่น่าเบื่อ เราเลยเป็นผู้ถูกเลือก อันนี้คอนเฟิร์ม (หัวเราะ)

สุดท้ายมันก็กลับมาเรื่องความเป็นตัวของตัวเอง

เราไม่เคยคิดจะเดินตามใคร เราไม่เคยคิดอยากจะเป็นแบบใคร เราอยากเป็นเราตั้งแต่เด็กแล้ว พอมีความคิดตั้งต้นเป็นแบบนั้น มีแนวทางเป็นของตัวเองชัดเจน คนเลยเห็นความแตกต่างที่แสดงออกมา คนที่เข้าใจเขาก็จะเอาเราไปใช้ประโยชน์ในทิศทางที่เข้าใจ แต่คนที่ไม่เข้าใจเขาจะมองและหาว่าเราเป็นศัพท์ที่คนสมัยก่อนชอบพูด ไอ้นี่ติสต์ ไอ้นี่เด็กแนว คนไม่รู้ตัวตนมีมากกว่าคนรู้ตัวตน คนที่รู้ตัวตนเลยกลายเป็นคนประหลาด

การรู้จักตัวเองจำเป็นแค่ไหน

ควรไม่ต้องตามเขา ควรมีชีวิตเป็นของตัวเอง ไม่ต้องให้ใครมาบอกว่าให้ทำตามใคร เราเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่เด็ก ทำไมมอหนึ่งเราต้องเป็นสมาชิกชุมนุม เพราะเราอยากเป็นสตาฟ เราชอบแฮงเอ้าต์กับพี่มอห้า พอมอสองที่เป็นวัยเริ่มเกเร แต่ขณะเดียวกันก็อยากไปเป็นเด็กวัด มีเด็กเกเรที่ไหนอยากเป็นเด็กวัด เพื่อนยังถามเลยว่า มึงทำทำไมวะ กูก็ไม่รู้ ก็กูชอบ วันหนึ่งกูก็เลิกทำ วันดีคืนดีอยากเลี้ยงปลากัด กูก็ไปเลี้ยงปลากัดของกู เพราะฉะนั้นเราอยากทำอะไรเราทำเลย ตราบใดก็ตามที่มันไม่เดือดร้อนใคร จนถึงทุกวันนี้เราก็ยังเป็นแบบนั้น

จากเด็กใฝ่รู้สู่พิธีกรผู้เชื่อว่าผลงานที่ดีต้องมีให้เห็นตลอดเวลาของ เปอร์ สุวิกรม

ดีเจเปอร์ในวันนั้นเป็นยังไง

ตอนนั้นไม่เก่งเลย พูดอะไรก็ติดๆ ขัดๆ พูดก็ซ้ำๆ ติด นะครับ นะครับ อย่างงั้น อย่างงั้น อย่างงี้ เราก็ต้องฝึกฝน เพลงก็ไม่ค่อยรู้จักเลยต้องศึกษา เริ่มเขียนสคริปต์ให้ตัวเอง เริ่มจินตนาการว่าอยากให้คนฟังฟังอะไร 

จะเล่าให้ฟังว่าตอนทำรายการ Entrance ที่ต้องวิจารณ์เพลงว่าชอบหรือไม่ชอบ เชื่อไหมว่าการชอบไม่ชอบของเรามันก็ไปสร้างความรู้สึกให้กับศิลปินหลายคนให้ชอบหรือไม่ชอบกูเหมือนกัน (หัวเราะ) มีศิลปินคนหนึ่งเดินมาพูดกับเราในงานปาร์ตี้ว่า “มึงรู้ไหม มึงเป็นดีเจที่กูเกลียดมากที่สุดในชีวิตเลย” พอเขาพูดประโยคนี้ปุ๊บ เราแม่งคิดเลยว่าเพราะอะไรวะ เพราะเราจัดรายการไม่เก่ง เพราะเราเปิดเพลงไม่เพราะ เพราะนิสัยของเราหรืออะไร เราเลยกลับไปพัฒนาตัวเอง ต้องเปิดเพลงให้เพราะ จัดรายการให้เก่ง แล้วก็มีคนติดต่อให้เป็นพิธีกรรายการทีวี

จากนั้นคุณก็ได้เป็นพิธีกรโทรทัศน์ที่มีวิธีการคิดแบบสื่อรุ่นเก่า คือไม่หลงกลในความเร็วและเทรนด์ แต่ใส่ใจในเนื้อหามากกว่า

มันมาตั้งแต่ตอนเริ่มเป็นพิธีกรรายการทีวีตั้งแต่แรกเลย เราได้คุยกับพี่ต้น (ลาวัลย์ กันชาติ) ผู้บริหาร JSL Global Media Company Limited เขาบอกว่าจะปั้นให้เราเป็นพิธีกร เขาปั้นพิธีกรเก่งๆ มาเยอะมาก แต่จะยังไม่ทำจนกว่าเราจะเรียนจบ เขาบอกให้จัดรายการวิทยุไป แต่อย่าเพิ่งไปทำรายการทีวีกับใครนะ เพราะถ้าทำไปแล้วมันช้ำ ไม่ถูกทาง มันจะเอากลับขึ้นมายาก เขาพูดคำหนึ่งว่า “เปอร์อยู่ในวงการนี้ เปอร์คิดเอาแล้วกันว่าเปอร์จะกินสั้นหรือกินยาว” เราก็ต้องตอบอย่างชาญฉลาดว่ากินยาว ทั้งๆ ที่กูก็ไม่รู้หรอกกินสั้นกินยาวเป็นยังไง เขาก็บอกว่า “ถ้าจะกินสั้น เธอก็คว้างานทุกงานที่เข้ามาในชีวิตเธอให้หมดเลย แต่เธอสังเกตไหมว่ามันเคยมีดาราเยอะแยะมากมายที่อยู่ดีๆ ก็หายไปจากวงการ ทำไมอยู่ดีๆ หายไป” เพราะว่าเขาคว้าทุกอย่างไว้หมดจนทำให้ไม่เหลือคุณค่าในตัวเอง ทำให้ตัวเองช้ำ จำเจ ไม่มีอะไรใหม่ ซึ่งกูก็ยังไม่เข้าใจความหมายคำว่า ช้ำ ด้วยซ้ำตอนนั้น (หัวเราะ) 

ในขณะเดียวกันแกรมมี่ก็ติดต่อให้ไปเป็นพิธีกรรายการวัยรุ่น ตอนนั้นก็ไม่รู้จะทำไง ใจหนึ่งก็คิดว่าถ้าปฏิเสธแกรมมี่ แล้วเรียนจบ JSL ไม่ได้ปั้นกูจริงอย่างที่เขาพูดล่ะ เท่ากับว่ากูก็ไม่ได้ในสิ่งที่กูอยากทำสิวะ อีกใจหนึ่งก็กลัวว่าเขาจะปั้นจริง แต่เห็นกูไปทำที่อื่นก่อน เขาก็ไม่ปั้นกูสิวะ เอาไงดี

ชีวิตเจอทางแยกตลอดเลย

จริง เราก็เลยไปปรึกษาคนที่พี่ต้นบอกว่าปั้นมา คนแรกคือพี่โน้ต อุดม (อุดม แต้พานิช) ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน พี่โน้ตบอกว่า “ฟังดูแล้วที่มึงเล่า เขาจะเอามึงไปปั้นแน่นอน ชัวร์ แต่มึงสังเกตไหมว่าทุกคนที่เขาเอ่ยชื่อมาไม่มีใครอยู่กับเขาเลยสักคน เพราะว่าเขาจะจับมึงไปอยู่ในจุดที่มึงไม่ชอบ” เราก็มานั่งนึก เออจริงเนอะ พี่ตา (ปัญญา นิรันดร์กุล) กับพี่จิก (ประภาส ชลศรานนท์) ก็ไปเปิด Workpoint พี่หอย (เกียรติศักดิ์ อุดมนาค) กับพี่เปิ้ล (นาคร ศิลาชัย) ก็ไปเปิด ลักษ์ 666 กับพี่วิลลี่ (วิลลี่ แมคอินทอช) เอางี้ ทุกคนที่พูดมาไปเปิดทุกอย่างเองหมดเลย (หัวเราะ) เราเก็บสิ่งที่พี่โน้ตพูดไว้ในหัว

แล้วก็ไปเจอคนที่สอง พี่เสนาหอย ไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว ไปถามเขาอีกแล้ว พี่หอยบอกว่า “พี่มีทุกวันนี้ได้เพราะ JSL สมัยก่อนหอยดังมาก ใครๆ ก็อยากให้หอยไปออกรายการ หอยไม่ไป หอยยอมนั่งรถเมล์ไปสตูดิโอที่ลาดพร้าวทุกวันอาทิตย์เพื่ออัดรายการ ยุทธการขยับเหงือก ของ JSL เพราะหอยคิดว่าถ้าอยากเจอหอยต้องเปิดช่อง 5 วันอาทิตย์สิบเอ็ดโมงเช้า เพื่อดูหอยที่นี่เท่านั้น” นั่นแหละ เป็นการยืนยันสิ่งที่พี่ต้นสอนเราในวันนั้นเป็นเรื่องจริง แต่ก็ยังติดใจสิ่งที่พี่โน้ตพูดก็เลยถามพี่หอย พี่หอยตอบว่า “เปอร์ คนเราทุกคนก็ต้องโต พี่จำเป็นต้องโต แต่พี่ยังยืนยันคำเดิมว่าถ้า JSL มีอะไรให้พี่รับใช้ พี่ยินดีกลับไปรับใช้ทันที” 

แล้วก็ยังไม่ได้คำตอบ คนสุดท้ายที่ทำให้ได้คำตอบคือพี่ดู๋ (สัญญา คุณากร) เขาตอบมาว่า “ก่อนที่มึงจะถามว่าใครเขาจะเอามึงไหม มึงควรถามตัวมึงเองก่อนว่า มึงมีอะไรดีให้เขาเอา ถ้ามึงยังเรียนไม่จบ ทำตัวเองให้ไม่มีคุณค่า แล้วก็โง่ ก็ไม่มีใครเขาเอามึงหรอก ต่อให้มึงไม่ไปทำกับแกรมมี่ มาทำกับ JSL แล้วเจ๊ง เขาก็ไม่เอามึง แต่ต่อให้มึงไปทำให้แกรมมี่ เขาได้เงิน แล้วมาทำกับ JSL ก็ยังสามารถทำเงินให้เขาอีก ยังไงเขาก็เอามึง” 

เราได้คำตอบทันทีเลย รู้เลยว่าสิ่งที่ต้องทำกับชีวิตหลังจากนั้นคือฝึกฝนตนเอง กูจะไม่สนอีกแล้วเรื่องโชคชะตา กูจะไม่สนอีกแล้วว่าใครจะให้โอกาส จะไม่ให้โอกาส กูรู้อย่างเดียวว่าจะฝึกฝนตัวเองให้เก่งกว่าเดิมทุกวันและต้องเก่งกว่าทุกคน กูจะฝึกฝนตัวเองให้เป็นที่หนึ่ง เพราะเมื่อเป็นที่หนึ่งแล้วจะไม่มีข้อเปรียบเทียบ 

จากเด็กใฝ่รู้สู่พิธีกรผู้เชื่อว่าผลงานที่ดีต้องมีให้เห็นตลอดเวลาของ เปอร์ สุวิกรม
จากเด็กใฝ่รู้สู่พิธีกรผู้เชื่อว่าผลงานที่ดีต้องมีให้เห็นตลอดเวลาของ เปอร์ สุวิกรม

รายการทีวีรายการแรกที่คุณทำคือ อุตลุดจุดฝัน ของแกรมมี่ บทบาทพิธีกรที่ได้รับแตกต่างไปจากที่เคยทำมากไหม

พิธีกรรายการวิทยุคือการที่เราไปใช้ชีวิต หาประสบการณ์ข้างนอกให้เยอะๆ แล้วเอาเรื่องเหล่านั้นมาเล่าให้คนฟังเห็นถึงสิ่งที่คุณได้ออกไปสัมผัส แต่การทำรายการทีวีคือคุณออกไปพบเจอสิ่งเหล่านั้นพร้อมกับคนดู มันไม่ใช่ของที่เป็นอดีต มันคือการพบเจอพร้อมกันและเรียนรู้ไปด้วยกัน

ตอนทำกับแกรมมี่เราไม่มีประสบการณ์ เขาให้ทำอะไรเราก็ทำตามเขา หลังจากนั้น a day อยากทำรายการทีวี เขาก็มาชวน เราก็มาคิดแบบเด็กๆ ว่า สัญญา คุณากร ไม่ได้เป็นเจ้าของ เจาะใจ แต่คนคิดว่าเขาเป็นเจ้าของ เจาะใจ พี่นีโน่ เมทินี ไม่ได้เป็นเจ้าของ มาสเตอร์คีย์ แต่คนก็คิดว่าเขาเป็นเจ้าของ มาสเตอร์คีย์ เราก็เลยคิดว่า a day แม่งยังไม่เคยมีรายการทีวี ถ้ากูบุกเบิกกับ a day ตอนนี้ คนต้องคิดว่ากูเป็นเจ้าของ a day แน่ๆ เลย (หัวเราะ)

พอมากับ a day เราพอมีประสบการณ์ทำรายการทีวีแล้ว แต่เขาไม่มี มันเลยทำให้เรามีบทบาทในหลายๆ อย่างมากขึ้น ได้นำเสนอเรื่องที่อยากจะถ่ายมากยิ่งขึ้น ได้มีความเป็นตัวของตัวเองมากยิ่งขึ้นไปอีก แล้ว a day ก็อยากมีอีกรายการคือ ดิ ไอดอล ทีนี่เราเลยได้นั่งคุยกับคนเก่งๆ ได้ใช้เวลากับคนเก่งๆ ได้สัมภาษณ์คนเก่งๆ จากทั่วทุกวงการ ตั้งแต่นักธุรกิจไปจนถึงนายกรัฐมนตรี คิดดูสิว่าจากจุดนั้นกูได้ไปถึงนายกฯ แล้วนะ (หัวเราะ)

มันย้อนกลับไปถึงสิ่งที่คุณตั้งใจไว้ตั้งแต่คุยกับนายพลท่านนั้นในวันนั้น คืออยากคุยกับคนเก่งๆ จากหลายสาขา อยากเรียนรู้ความคิดเขา

แต่ตรรกะมันไม่เหมือนกันเห็นไหม ถ้าเราปักธงว่าอยากเป็นพิธีกร ตอนเราทำรายการทีวี เราจะโฟกัสตัวเอง ไม่ใช่แขก เราจะโฟกัสว่า กูจะต้องถามอย่างไรให้ดูเจ๋ง กูต้องถามอย่างไรให้ดูเท่ กูต้องทำยังไงให้กูเป็นพิธีกรที่สุดยอด นั่นคือการปักธงอยากเป็นพิธีกร ซึ่งความตั้งใจเราไม่ใช่แบบนั้น เราอยากคุยกับคนเก่ง เพราะฉะนั้นเราไม่สนหรอกว่าทีมงานอยากรู้อะไรเกี่ยวกับแขก เราสนว่าตัวเองอยากรู้อะไรเกี่ยวกับแขก เราไม่รู้หรอกเขาจะไล่เราออกจากการเป็นพิธีกรเมื่อไหร่ แต่รู้ว่าถ้าได้โอกาสมาแล้ว เราจะถามทุกอย่างที่ตัวเองอยากรู้ 

ซึ่งมันอาจจะเป็นคำถามโง่ๆ ก็ได้

ใช่ เราถามทุกอย่าง ถามหมด ถามเยอะ คือไม่มีใครทำงานได้นานกว่าเราแล้ว ปกติสัมภาษณ์ทีก็สี่ห้าชั่วโมง อันนี้คือนั่งสัมภาษณ์เฉยๆ แต่ถ้าอย่าง Perspective นี่ถ่ายกันเป็นวันๆ เลย บางเทปเห็นออนแอร์แค่ตอนเดียว สัมภาษณ์กันห้าวัน

ความกวนตีนของตัวเองทำให้คุณเป็นนักถามที่ดีหรือเปล่า

(หัวเราะ) ก็อาจเป็นไปได้นะ แต่เราว่ามันเป็นจิตวิทยาในการเข้าหาคนมากกว่า เชื่อไหมว่ามนุษย์ทุกคน เวลาเราถามอะไรไป การที่จะได้คำตอบที่จริงที่สุดมันไม่ใช่แค่ฟังในสิ่งที่เขาตอบ แต่เราต้องระลึกถึงสิ่งที่เขาแสดง เพราะว่าสิ่งที่เขาตอบอาจจะไม่ใช่ความจริงก็ได้ 

ในหลักการทำงานสัมภาษณ์ การที่เราจะเข้าไปถึงใจคนได้ เราต้องค่อยๆ ทลายกำแพงเขาไปทีละชั้นๆ คนจะมีกำแพง ยิ่งไม่สนิทกันมาก่อนยิ่งเกิดกำแพงมาก เขาจะรู้สึกว่าต้องระมัดระวังตัวไว้ก่อน สิ่งแรกที่เราทำคือทำให้เขารู้สึกปลอดภัย ด้วยการหยอกล้อ เล่น หรือกวนตีน แล้วแต่สถานการณ์ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราค่อยๆ กะเทาะเปลือกนอกของคนไปได้ เราก็จะได้คำตอบที่จริงที่สุด แต่บริบทของสิ่งเหล่านี้บนความเป็นจริงมันเป็นไปไม่ได้ ลองคิดดูว่ามีเพื่อนอยู่คนหนึ่ง ต้องสนิทกันกี่ปีมันถึงจะกล้าเล่าเรื่องลับๆ ให้เราฟัง แล้วเป็นไปได้เหรอที่การไปสัมภาษณ์เพียงไม่กี่ชั่วโมง เขาจะกล้าเล่าอะไรให้ฟัง มันเลยมีมากกว่าที่เห็นในแต่ละเทป 

มนุษย์จะสัมภาษณ์ได้ดีที่สุดคือตอนแก้ผ้า เพราะมันไม่มีอะไรปิดบัง อันนี้พูดเรื่องจริงเลยนะ เครื่องแต่งกายอาภรณ์ที่ติดตัวเราอยู่คือการปิดบังความเป็นตัวตนของเราแล้ว แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับกาลเทศะ เพราะเราก็คงไม่ไปกวนตีนคุณบัณฑูร (บัณฑูร ล่ำซำ) (หัวเราะ)

จากเด็กใฝ่รู้สู่พิธีกรผู้เชื่อว่าผลงานที่ดีต้องมีให้เห็นตลอดเวลาของ เปอร์ สุวิกรม
จากเด็กใฝ่รู้สู่พิธีกรผู้เชื่อว่าผลงานที่ดีต้องมีให้เห็นตลอดเวลาของ เปอร์ สุวิกรม
จากเด็กใฝ่รู้สู่พิธีกรผู้เชื่อว่าผลงานที่ดีต้องมีให้เห็นตลอดเวลาของ เปอร์ สุวิกรม

ความรับผิดชอบของพิธีกร/นักสัมภาษณ์ในมุมมองของคุณคืออะไร

จากคำถามแรกที่ถามว่า รู้สึกโชคดีไหมที่ได้รายได้จากการไปคุยกับคนเก่งๆ เราเคยรู้สึกว่าโชคดี เราไม่ใช่แค่ได้เงินนะ เราได้เงินเยอะมาก แต่เงินที่ได้เยอะทำไมมันถึงได้เยอะ แปลว่ามันมีหน้าที่อะไรแฝงอยู่ในค่าตอบแทนเหล่านั้นเสมอ คุณเป็นวิศวกร คุณเป็นหมอ ที่ได้ค่าตอบแทนเยอะเพราะชีวิตคุณเสี่ยงมากกว่าคนอื่นนะ คุณพร้อมจะเข้าไปติดคุกเมื่อไหร่ก็ได้ทันทีที่คุณรักษาคนไข้ผิด หรือตึกถล่มแล้วมีคนตาย 

เช่นเดียวกันกับอาชีพที่เราทำ สมัยก่อนเวลารับรายการทีวีเราจะมีกฎ หนึ่ง รายการที่จะทำเป็นประโยชน์ต่อตัวเราเองไหม ทำแล้วได้พัฒนาตัวตนไหม ได้เรียนรู้อะไรบ้างหรือเปล่า สอง เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นไหม ต่อคนดูไหม เพราะฉะนั้นทุกรายการที่เราทำต้องมีประโยชน์ ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นรายการสาระเสมอนะ เป็นรายการบันเทิงก็ได้ ซึ่ง Perspective ก็เป็นแบบนั้น

มันตั้งต้นมาจากความเชื่อว่า คนชอบอะไรแบบผิวเผิน คนส่วนใหญ่อยากเป็นอย่างนั้น อยากเป็นอย่างโน้น อยากเป็นอย่างนี้ แต่คุณไม่เคยฝึกตัวเองเพื่อให้ได้เป็นแบบนั้น คุณอยากทำธุรกิจโรงแรม แต่เวลาไปเที่ยวต่างจังหวัดคุณกลับไม่ได้สนใจประสบการณ์ที่มันจะมาช่วยให้เกิดธุรกิจโรงแรมได้ เราเลยอยากเอาชีวิตของคนที่ทำธุรกิจโรงแรมสำเร็จมาเผยแพร่ให้เห็นว่า เวลาเขาไปเที่ยวโรงแรม เขาไม่ได้เที่ยวแบบคนทั่วไปนะ เขาสังเกตแบบซีทรูในธุรกิจเหล่านั้น เพื่อนำมาพัฒนาโรงแรมตัวเองให้ดีกว่าโรงแรมอื่นๆ เราเชื่อว่าสิ่งที่ทำให้คนคนหนึ่งเก่งกว่าคนอื่นๆ เพราะเขามีวิธีการมองโลกที่แตกต่างออกไป เราอยากให้คนได้รับรู้ถึงสิ่งเหล่านี้

ทำไมถึงอยากนำเสนอความแตกต่างทางความคิดของคน

คนชอบคิดว่าทุกคนจะคิดเหมือนกัน “เขาต้องคิดแบบนั้นแน่ๆ เลย เขาถึงทำแบบนั้น” คนชอบคาดเดาว่าคนนี้ต้องคิดอย่างนั้น คนนั้นต้องคิดอย่างนี้ เราไม่เชื่อ เราว่าไม่มีใครคิดแทนกันได้ มนุษย์มีอย่างเดียวที่เหมือนกันคือความแตกต่าง เพราะเราแตกต่างกันเราถึงเหมือนกัน 

มันคือการตัดสินคนจากประสบการณ์ตัวเอง ซึ่งอาจจะไม่จริงเสียทีเดียว เราอยากเอาสิ่งนี้มานำเสนอ เพราะมนุษย์ทุกคนเวลาเราบอกว่าตัวเองมีความฝัน มักจะมีคนบอกว่าเราทำไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้ แต่แขกรับเชิญของเราทุกคนประสบความสำเร็จบนเส้นทางของเขาหมดเลย ซึ่งตอนแรกเริ่มที่เขาคิดจะทำ เขาก็ถูกต่อต้าน และหลายคนก็คิดว่าเป็นไปไม่ได้ ขนาดตัวเขาเองก็อาจจะไม่มั่นใจเลยว่ามันจะเกิดขึ้นได้จริงไหม สิ่งเดียวที่จะเป็นคำตอบได้ว่าวิธีคิดของเขาถูกต้องหรือไม่ ความคิดของเขา ความเพ้อเจ้อของเขาจะเป็นจริงได้หรือไม่คือ เวลา 

เรามีความเชื่อว่าทุกความคิดมีค่าในตัวของมันเองหมดเลย ไม่มีความคิดใครฉลาดกว่าใคร ไม่มีความคิดใครโง่กว่าใคร ไม่มีใครเก่งกว่าใคร เราแค่อยากนำเสนอเรื่องราวของคนที่มีความเชื่อ มีทัศนคติที่แตกต่างกัน แล้วเขาก็ใช้ชีวิตในมุมมองตามความเชื่อของเขา

คุยกับคนประสบความสำเร็จมามาก นิยามความสำเร็จของตัวเองเปลี่ยนไปบ้างไหม

เราไม่เคยคิดว่าอะไรคือความสำเร็จนะ มันก็มีความท้าทายใหม่ๆ ในชีวิตเข้ามาในแต่ละสเต็ปของชีวิตไปเรื่อยๆ แต่ถ้าต้องนิยามจริงๆ ก็คือ เราใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต แล้วได้ทำอะไรมาบ้างในชีวิต อันนั้นแหละคือความสำเร็จ ความสำเร็จจะเกิดขึ้นคือเราตายแล้ว 

เพราะถ้ายังไม่ตาย มันจะมีเรื่องให้ทำต่อไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าเราบอกว่าวันนี้สำเร็จแล้ว พรุ่งนี้ไม่ต้องทำอะไรเลย ชีวิตยังต้องดำเนินต่อ คอนเซปต์ของความสำเร็จมีไว้หลอกคน ชีวิตเราไม่เคยคิดว่าถ้าเท่านี้แล้วฉันจะพอ ไม่มี ชีวิตเราไม่เคยตั้งเป้าว่า โอเค ฉันจะมีบ้านหนึ่งหลัง สองหลัง สามหลัง ไม่มี คือกูปล่อยตามธรรมชาติ มันจะเป็นก็เป็นไป วันนี้มีอะไรให้ทำก็ทำไป พรุ่งนี้มีอะไรให้ทำก็ทำไป พยายามพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ วันนี้ดีเท่านี้ พรุ่งนี้ก็ต้องดีกว่านี้ แล้วถ้าวันต่อไปต้องตายแล้ว ทำอะไรต่อไม่ได้แล้วก็คือจบ จริงอยู่ที่มันอาจจะมีเป้าหมายตามช่วงชีวิตไป อายุยี่สิบต้องเรียนให้จบ อายุ สามสิบอยากเปิดบริษัท ซึ่งมันก็จะมีอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นจะเรียกสำเร็จได้ยังไง มีแต่สำเร็จเป็นเรื่องๆ แค่นั้นเอง จะรีบสำเร็จไปทำไม ชีวิตยังมีอะไรให้ทำอีกเยอะแยะ ยังไปได้อีกเรื่อยๆ

จากเด็กใฝ่รู้สู่พิธีกรผู้เชื่อว่าผลงานที่ดีต้องมีให้เห็นตลอดเวลาของ เปอร์ สุวิกรม

สิ่งที่คนเหล่านั้นสอนคุณคืออะไร

เราก็อาจจะตอบไม่ได้ว่าเรื่องอะไร แต่มันมีแน่ๆ ถามว่าการคุยกับคนมาเยอะทำให้เราพัฒนาไหม พัฒนาแน่ๆ ได้ประโยชน์จากสัมภาษณ์คนไหม ได้แน่ๆ มันเป็นการเพิ่มประสบการณ์ไปเรื่อยๆ ตราบใดก็ตามที่คนดูรายการเราแล้วได้ประโยชน์จากมัน เราในฐานะคนที่นำเสนอจะได้ประโยชน์จากมันขนาดไหน แต่ประโยชน์ที่แท้จริงต้องเกิดจากการลงมือทำนะ ไม่ใช่จากการฟัง ฟังจบดูจบก็ได้แค่รู้ แต่รู้ไม่จริง การรู้จริงต้องเกิดจากการปฏิบัติ ซึ่งเราก็ปฏิบัติบ้าง ไม่ปฏิบัติบ้าง (หัวเราะ)

จากรายการที่คุยเรื่องคนคนเดียว คุณมีอีกรายการคือ ยินดีที่ได้รู้จัก ที่พาไปรู้จักย่านต่างๆ ผ่านผู้คนที่อยู่ในนั้น มันเป็นการให้เห็นความแตกต่างอีกแบบหนึ่ง ไม่ใช่แค่ความคิดแต่โยงไปถึงวิถีชีวิตด้วย

เราอยากไปให้เห็นว่า จริงๆ แล้วแต่ละที่มันเป็นยังไงกันแน่ เขาคิดยังไง เขาใช้ชีวิตยังไง คนชอบมโนว่าคนมีตังค์ต้องเป็นอย่างนี้ คนรากหญ้าต้องเป็นอย่างนี้ บางคนชอบพูดว่าคนต้องมีสามัญสำนึก ต้องคิดอย่างนี้เพื่อส่วนรวม แต่ถ้ามาดูกันจริงๆ ก่อนที่เขาจะคิดเรื่องนั้น ปากท้องเขาอิ่มหรือยัง ปัจจัยสี่ในชีวิตเขามีครบหรือยัง

มันเป็นปัญหาของทุกที่ในโลก โลกมันมีอะไรมากกว่าที่คุณคิด ชีวิตของคนทั่วไป ของชาวบ้าน มันก็มีอะไรมากกว่าที่คุณรู้ วันๆ เขาต้องเผชิญกับเรื่องอะไรบ้าง เขาต้องหาเงินวันละเท่าไหร่ กว่าจะได้เงินแต่ละวันมา อะไรคือความสำคัญในการหาเงินของเขา หาเงินยากแค่ไหน ปีนี้แล้งแค่ไหน มันมีหลายเรื่อง มันคือเรื่องของคนทั่วไปในประเทศ เราอยากให้คนเข้าใจหัวอกซึ่งกันและกัน จะได้ไม่ต้องอุตริคิดแทนกันว่าสิ่งไหนจะดีสำหรับเขา สิ่งที่เราคิดว่าดีสำหรับคนอื่นบางทีมันแก้ปัญหาอะไรไม่ได้นะ เหมือนถ้ามีผู้ชายคนหนึ่งมาจีบเรา เขาพยายามเหลือเกิน แต่เรากลับรู้สึกว่า เฮ้ย มึงอย่ามายุ่งกับกูได้ปะ กูรำคาญมากเลย แต่ในหัวของผู้ชายคือคิดว่านี่คือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเราเลยนะ มันเหมือนเกาไม่ตรงจุด ถ้าให้ในสิ่งที่ไม่อยากได้ มันก็จะกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีคุณค่า ไม่ได้หมายความว่ามันไม่ดี แต่มันสิ้นเปลือง เหมือนคุณเอาลูกฟุตบอลไปให้นักกอล์ฟ เอาจอบไปให้ชาวประมง 

จากเด็กใฝ่รู้สู่พิธีกรผู้เชื่อว่าผลงานที่ดีต้องมีให้เห็นตลอดเวลาของ เปอร์ สุวิกรม
จากเด็กใฝ่รู้สู่พิธีกรผู้เชื่อว่าผลงานที่ดีต้องมีให้เห็นตลอดเวลาของ เปอร์ สุวิกรม

สเกลของเรื่องที่อยากพูดก็ใหญ่ขึ้นมาอีก

Perspective มันบอกว่าเราไม่ต้องฟังใคร มุ่งมั่นในสิ่งที่ต้องทำ สุดท้ายเวลาจะพิสูจน์เราเอง แต่ยินดีที่ได้รู้จักจะเป็นอีกแบบหนึ่ง มันคือการลดตัวตน ลดอีโก้ของตัวเอง แล้วไปเข้าใจคนอื่นให้มาก เป้าหมายจึงไม่ใช่เรื่องของการพัฒนาตัวเองแล้ว มันคือการพัฒนาสังคมที่เราอยู่ร่วมกัน และเป็นสิ่งที่เราเชื่อทั้งคู่

เราตั้งคำถามว่า ประเทศไทยมีเจ็ดสิบล้านคน คุณคิดว่าตัวเองรู้จักคนในประเทศนี้กี่คน ถ้าเจ็ดสิบล้านคนมันเยอะไป งั้นเอาแค่จังหวัดที่คุณอยู่ สมมติกรุงเทพฯ มีสิบล้านคน คุณรู้จักคนในกรุงเทพฯ กี่คน ถ้าสิบล้านคนในกรุงเทพฯ ยังเยอะไป เอาแค่เขตที่คุณอยู่ คุณคิดว่าตัวเองรู้จักคนในเขตที่อยู่กี่คน แล้วถ้าเขตมันใหญ่ไปนะ เอาแค่หมู่บ้านก็ได้ คุณรู้จักกี่คน ถ้าหมู่บ้านหรือโครงการคอนโดฯ มันใหญ่ไปอีก เอาแค่คนที่อยู่ซอยหรือชั้นเดียวกับคุณ คุณรู้จักกี่คน ถ้าคุณตอบว่ารู้จักไม่กี่คน แล้วคุณกล้าดียังไงถึงไปคิดแทนคนอื่นเขา รายการนี้จะทำให้คุณเริ่มออกไปรู้จักคนอื่นบ้าง ไปเข้าใจคนอื่นบ้าง ไปช่วยเหลือคนอื่นบ้าง แล้วลองเลิกฟังตัวเองสักพักบ้าง

ขอคำแนะนำจากคนอายุ 31 ที่เคยสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรีและนักธุรกิจเบอร์ต้นๆ ของประเทศไทยมาแล้วหน่อย

วิชาที่มากกว่าเรื่องของการสัมภาษณ์ คือจิตวิทยา หรือความจริงใจและความตั้งใจ เราใช้ใจในการสัมภาษณ์ ใช้ความตั้งใจในการทำงาน ใช้ความจริงใจในการสื่อสารกับแขกรับเชิญและคนดู นี่คือคีย์หลักที่เราใช้ในการทำงาน

ต่อให้เราไม่เก่ง เราก็ไม่ต้องทำแอคว่าเก่ง เราก็บอกว่าเราไม่เก่ง เราไม่รู้ก็ถาม แต่มันก็มีพวกไม่รู้แล้วถามแบบน่ารำคาญ กับแบบไม่น่ารำคาญ ซึ่งต้องศึกษาและใช้ประสบการณ์ 

ไหวพริบ ปฏิภาณ ความรู้รอบตัวจำเป็นอย่างมากที่ต้องมีไว้เยอะๆ เราโชคดีอย่างหนึ่ง เราไม่ได้รู้ตั้งแต่แรกหรอกว่าจะได้มาเป็นพิธีกร แต่ด้วยความที่ตัวเองหลากหลายกว่าเด็กรุ่นเดียวกันมาตลอด เป็นทั้งเด็กวัด เลี้ยงปลากัด ทำชุมนุม ขายสปอนเซอร์โน่นนี่นั่น ปัจจุบันเราได้ใช้สิ่งเหล่านั้นหมดเลยนะโดยที่ไม่รู้ตัว

ทุกวันนี้คุณก็ยังยอมรับว่ามีสิ่งใหม่ที่ต้องเรียนรู้ทุกวัน แม้จะเป็นพิธีกรที่ได้รับรางวัลพิธีกรยอดเยี่ยมมาแล้ว

นั่นเรื่องเล็กเลย

หมายถึงรางวัลเหรอ

ใช่ ไม่เคยสนใจ ไม่เคยคิดจะได้ด้วย (หัวเราะ) รางวัลคือสิ่งที่เขามอบให้ ไม่ใช่สิ่งที่เราร้องขอ เคยได้ยินเรื่องความเชื่อใจไหม ที่เขาบอกว่าความเชื่อใจเราจะไปร้องขอจากใครก็ขอไม่ได้ ถ้าเขาจะให้เขาให้เอง ผลงานก็เหมือนกัน รางวัลมันเป็นแค่กำลังใจ ได้มาก็รู้สึกดีว่าสิ่งที่ทำมันมีคนชื่นชมชื่นชอบ แต่ไม่ได้เอาใจไปยึดติดกับมัน เราไม่ใช่นักมวยที่ต้องเป็นแชมป์เข็มขัดนี้ต่อไป ไม่ใช่แบบนั้น

จากเด็กใฝ่รู้สู่พิธีกรผู้เชื่อว่าผลงานที่ดีต้องมีให้เห็นตลอดเวลาของ เปอร์ สุวิกรม

คนที่เป็นเจ้านายตัวเองมาตลอด ความท้าทายของการเปิดบริษัทและต้องเป็นเจ้านายคนอื่นคืออะไร

ความท้าทายคือการฝึกฝนคนให้เขาพัฒนามากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นจุดที่เรายังไม่ค่อยถนัด เราเก่งพัฒนาตัวเอง แต่ไม่เก่งพัฒนาคนอื่น ตอนนี้ก็กำลังฝึกฝนที่จะพัฒนาคนอื่น แล้วเราไม่เคยเป็นลูกน้องใคร เราเลยไม่รู้ว่าการเป็นหัวหน้าต้องเป็นยังไง การต้องไปกำหนดแนวทางให้ชีวิตคนอื่นซึ่งเขาอาจจะทำตามหรือไม่ทำตามก็ได้ มันยากมากเลยนะ

ในมุมของเด็กวันนี้ คุณคงเป็นเหมือนผู้ใหญ่ เพื่อนพ่อ รุ่นพี่ ที่ตัวเองชอบเข้าไปเรียนรู้จากเขาในวันก่อน

เราไม่ค่อยมองว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่ พอไม่มองว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่ เวลาคนเข้าหาก็เลยจะไม่ได้รับความเมตตาหรือความอ่อนโยนจากเราเท่าไหร่นัก เราต้องฝึกฝนอีก ต้องฝึกฝนให้ตัวเองเมตตาขึ้นกว่าเดิม มีความอ่อนโยนมากขึ้นกว่าเดิม

การเป็นผู้ใหญ่จะสอนคนได้ต้องมีความอดทน มีความโอบอ้อมอารี เราต้องฝึกฝนตัวเองให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพขึ้นไป เราจะกลับไปนึกถึงตอนตัวเองเป็นเด็กที่ยังไม่รู้เรื่อง ถ้าไม่ฝึกฝนก็จะแบบ ทำไมมึงไม่รู้วะ มึงจะมาถามอะไรนักหนา มันจะหงุดหงิด ถ้ามองแบบผู้ใหญ่ก็จะเข้าใจว่าน้องเขากำลังจะโต เขากำลังอยากพัฒนาตัวเอง เขากำลังไร้หนทาง เราจะช่วยเขาอย่างไรได้บ้าง

เรารู้ว่าผู้ใหญ่เอ็นดูเราเพราะเขามองเราเป็นลูกเป็นหลาน เขาก็คงมองว่าคนนี้รุ่นราวคราวเดียวกับลูกเขาเลยเนอะ ถ้าลูกเขาไปทำงานแล้วผู้ใหญ่ไม่เมตตาแบบนี้ ก็คงจะแย่ เขาก็คงอยากให้ผู้ใหญ่เมตตาลูกเขาเหมือนที่เขาเมตตาเด็กคนนี้ที่เป็นลูกคนอื่น

จากดีเจที่เคยมีคนบอกว่าไม่ชอบที่สุดในที่ชีวิต มาตอนนี้คิดว่าตัวเองทำหน้าที่ที่มีได้ดีแล้วหรือยัง

เชื่อไหมว่าหลังจากเริ่มทำรายการทีวีไปสักพัก พี่ศิลปินคนเดียวกันกลับมาบอกเราอีกครั้งว่า “มึงรู้ไหม มึงแม่งเป็นพิธีกรที่กูชอบมากที่สุดในชีวิตเลย” แต่มันเป็นเรื่องปกติ

เรื่องปกติ?

เวลาเราอยู่บ้าน เราแทบจะไม่ต้องพิสูจน์ตัวเองอะไรมาก เราแทบจะไม่ต้องอธิบายความเป็นตัวตนของเรา เพราะเขาเห็นเรามาตั้งแต่เด็กจนโต แต่การที่คุณเป็นเด็กที่น่ารักของที่บ้าน ไม่ได้หมายความว่าคุณจะเป็นเด็กที่น่ารักของคนอื่น การที่คุณเป็นคนเก่งของที่บ้าน ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณเป็นคนเก่งในสายตาของคนอื่น เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่คุณเปลี่ยนสถานที่ทำงาน เปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนพื้นที่ เปลี่ยนเพื่อนใหม่ ทุกครั้งคุณต้องพิสูจน์ตัวเอง 

นั่นหมายความว่าทุกครั้งที่เราต้องสัมภาษณ์แขกรับเชิญ เราอาจจะได้รับคำชมมาไม่รู้กี่ร้อยครั้งแล้วว่าเป็นนักสัมภาษณ์ที่เก่งมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าคนถัดไปจะต้องชมเราแบบนั้น ไม่ได้หมายความว่าคนถัดไปจะต้องยินดีกับการที่เราไปสัมภาษณ์เขา ทุกครั้งในการทำงานเราต้องพิสูจน์ตัวเองเสมอ เราต้องไม่หลงตัว ไม่ลืมตัวไปกับสิ่งนี้ ผลงานที่ดีมันต้องแสดงตลอดเวลา

จากเด็กใฝ่รู้สู่พิธีกรผู้เชื่อว่าผลงานที่ดีต้องมีให้เห็นตลอดเวลาของ เปอร์ สุวิกรม

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน