The Cloud x The Hero Season3

ใครไม่อยากแก่บ้าง

ความชราเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ แต่สิ่งที่เราทำได้ คือการคงไว้ซึ่งการเรียนรู้ที่จะหาความสุข หาสังคมใหม่ๆ และมีชีวิตต่อไปเรื่อยๆ มากกว่าแค่หายใจ

นี่คือเป้าหมายของ ‘YoungHappy’ ธุรกิจเพื่อผู้สูงอายุขนาดเล็กแต่ฝันใหญ่ อยากให้ผู้สูงอายุในเมืองไทยมีโอกาสหาความสุขในช่วงบั้นปลายชีวิตผ่านแอพพลิเคชัน กิจกรรม และเบอร์โทรศัพท์ให้โทรพูดคุยได้ตลอด 24 ชั่วโมง แม้จะดำเนินการมาเพียงปีครึ่ง แต่ธุรกิจนี้ได้เป็นส่วนหนึ่งของรายการใหญ่อย่าง Accelerator โครงการบ่มเพาะธุรกิจใหม่ของรัฐบาลมาเลเซีย และเป็นตัวแทนประเทศไทยไปชนะงานประกวดธุรกิจเพื่อสังคมของสหประชาชาติอีกด้วย

YoungHappy, ผู้สูงอายุ, the hero season3, สสส

ฉันได้คุยกับ ณฎา ต้นสวัสดิ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งธุรกิจ YoungHappy และร้าน Indian Indigo เธอเรียนจบการเงินจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทำธุรกิจส่วนตัวมาตลอดกว่า 15 ปี กระทั่งเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ชีวิตผ่านมรสุมอย่างหนักจนเธอต้องตั้งหลักและหันหัวเรือชีวิตใหม่ ก่อนจะไหลตามกระแสธารจนได้มาพบกับผู้ร่วมก่อตั้งอีก 3 คน ประกอบด้วย ธนากร พรหมยศ, จุติพร อู่ไพบูลย์ และ ธีรศักดิ์ มูลตุ้ย พวกเขาร่วมงานกันจนออกมาเป็นธุรกิจดีๆ เพื่อคนสำคัญในสังคมเราแบบนี้

แรงจูงใจ วิธีการ และผลกระทบของธุรกิจเป็นอย่างไรบ้าง ต้องลองไปฟัง

คงแก่เรียนเรื่องความสุข

“ธุรกิจที่เคยทำประสบความสำเร็จมากเลยนะ แต่ชีวิตก็มีวิกฤต ต้นปีโดนโกง กลางปีแม่เป็นมะเร็ง ปลายปีเลิกกับสามี ทั้งหมดเกิดภายในปีเดียวกัน แล้วสุดท้ายเราก็วูบในห้องน้ำ พอไปอยู่ในโรงพยาบาล ได้มีเวลานอนคิดว่าสุดท้ายชีวิตเราต้องการอะไร ชีวิตเสียทุกอย่างหมดเลย แต่เรายังมีชีวิต มีลมหายใจ แล้วเราโคตรเห็นคุณค่าของลมหายใจตัวเองเลย” เสียงของณฎาฟังดูมั่นคงเข้มแข็ง แม้พูดถึงช่วงเวลาที่ยากลำบาก

“หลังจากนั้นเราไม่ทำงานเลย เรียนอย่างเดียวปีหนึ่ง เรียนทำขนม เรียนปลูกผัก เรียนย้อมผ้า เรียนเทรดหุ้น เรียนทำโรงแรม เรียนทำร้านอาหาร เรียนด้วยความอยากรู้ว่าจริงๆ แล้วเราทำอะไรได้ดี แล้วเราชอบอะไร” เธอทบทวนประสบการณ์ที่เต็มไปด้วยสีสันให้เราฟัง

จากการลองผิดลองถูกและตรวจสอบตนเองจนแน่ใจ นฎาพบว่าตัวเองมีความสุขกับการเลี้ยงลูกทั้งสองคน การทำขนมปัง และการทำอะไรดีๆ ให้คนอื่น ตอนนั้นเธอเริ่มคิดว่าอยากหันไปทำงานมูลนิธิ แต่ธนากร วิศวกรหนุ่มผู้เคยร่วมงานด้วย ชักชวนให้เธอมาทำธุรกิจเพื่อคนรุ่นใหญ่ของสังคมเสียก่อน

สิ่งที่เธอทดลองทำเองในตอนนั้น ช่างคล้ายคลึงกับกิจกรรมต่างๆ ที่ YoungHappy จัดให้เหล่าผู้สูงอายุในตอนนี้ นั่นคือการลองทำกิจกรรมแปลกใหม่ไปเรื่อยๆ จนอาจพบว่าตัวเองถนัดอะไรที่ไม่เคยคาดฝันมาก่อนก็ได้ เมื่อได้เจอความสุขในแบบที่ต่างไป ชีวิตก็กลับมามีค่าอีกครั้ง

เพราะการค้นพบไม่มีคำว่าสายเกินไป

YoungHappy, ผู้สูงอายุ, the hero season3, สสส YoungHappy, ผู้สูงอายุ, the hero season3, สสส

ปัญหาเก่าแก่ในสังคมเมือง

จากจุดมุ่งหมายของธุรกิจดังกล่าว กลุ่มเป้าหมายของ YoungHappy จึงเป็นเฉพาะกลุ่มผู้เกษียณอายุ (ตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป) ในเมืองกรุง และมีสภาวะร่างกายที่ยังดูแลตัวเองได้ เนื่องจากคนกลุ่มนี้แม้จะสุขภาพกายแข็งแรงดี แต่สุขภาพใจอาจไม่ได้รับการดูแลจนเหงาหงอย ส่วนใหญ่เป็นเพราะไม่รู้ว่ามีกิจกรรมที่ไหนให้ไป และชุมชนเมืองต่างจากต่างจังหวัดตรงที่ไม่ได้สนิทสนมกันอย่างใกล้ชิด ต่างคนต่างอยู่ในบ้านของตนเอง จึงยิ่งโดดเดี่ยวขึ้นไปอีก

“หากเทียบกับกลุ่มที่ทำอะไรคล้ายๆ กัน เช่น กรมกิจการผู้สูงอายุ ซึ่งเราทำงานร่วมกันบ่อยมาก ทางกรมจะเน้นไปด้านผู้ที่ด้อยโอกาสก่อน หรือศูนย์ต่างๆ ของรัฐก็มีกิจกรรมเพื่อผู้สูงอายุฟรีอยู่เพียบ แต่พอเป็นพ่อแม่เราไป เขาจะรู้สึกว่าไม่ใช่ที่ของเขา คนกลุ่มนี้เลยเป็นช่องว่างในสังคม ไม่รู้จะอยู่ตรงไหน” เธออธิบายเพิ่มเติม

แรงบันดาลใจเริ่มต้นของณฎามาจากตอนที่สอนพ่อแม่ตัวเองใช้แอพ แล้วพบว่าเป็นเรื่องยากลำบากจนน่าประหลาดใจ เมื่อมาทำ YoungHappy เธอจึงลงไปทดลองศึกษาอย่างจริงจัง ด้วยการเป็นจิตอาสาสอนผู้สูงวัยและผู้ป่วยอัลไซเมอร์ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก “ที่เราสอนเขา สำหรับเรามันโคตรง่าย แต่การสอนเขามันท้าทายมาก พอเขาทำได้เขาเลยรู้สึกว่ามันยิ่งใหญ่มาก” เธอเล่าด้วยรอยยิ้ม ความท้าทายนี้เองที่ผลักดันให้เธอมุ่งมั่นทำธุรกิจเพื่อพวกเขาต่อ
YoungHappy, ผู้สูงอายุ, the hero season3, สสส YoungHappy, ผู้สูงอายุ, the hero season3, สสส

ถึงจะแก่แต่ก็มีหัวใจ

ในช่วงเวลาที่เข้าไปคลุกคลีกับพี่ป้าน้าอา ณฎาได้เรียนรู้หลายสิ่งเกี่ยวกับคนกลุ่มนี้ที่แตกต่างจากความเข้าใจเดิมของเธอ ตัวอย่างเช่น พวกเขาอยากทำกิจกรรมเพื่อสังคม แต่ไม่แน่ใจว่ามีกิจกรรมไหนที่ไปทำได้บ้าง หรือพวกเขาอยากทำกิจกรรมกับคนรุ่นเดียวกันมากกว่าคนรุ่นลูกรุ่นหลาน เพราะเขาซึ่งช้ากว่าจะได้ไม่รู้สึกกดดันหรือเป็นตัวถ่วง

“อย่างเรื่องส่งรูปเนี่ย วัยรุ่นไม่เข้าใจจริงๆ นะว่าสวัสดีวันจันทร์ วันอังคาร วันพระ จะส่งมาทำไม พอไปถามเขา เขามีคำตอบ 2 อย่าง อย่างแรก เขาพิมพ์ไม่ไหว ส่งรูปง่ายกว่า และสอง เขาส่งไปให้ใคร เพื่อจะบอกคนนั้นว่า ฉันยังมีชีวิตอยู่นะ อย่าลืมฉัน” นฎาเล่าถึงตัวอย่างการมองในมุมของผู้สูงวัยให้ฟัง

จากบทเรียนต่างๆ ทำให้พวกเธอสรุปสโลแกนของ YoungHappy ออกมาเป็น ‘สนุก มีคุณค่า พึ่งพาตัวเองได้’ นั่นคือเน้นตอบโจทย์ผู้สูงอายุเหล่านี้ ที่ต้องการจะมีความสุข และทำสิ่งดีๆ ให้สังคม โดยไม่เป็นภาระใครนั่นเอง

วิธีการที่เหมาะสมแก่เป้าหมาย

ศูนย์กลางของธุรกิจนี้ คือแอพซึ่งทำหน้าที่เป็นเสมือนผู้ช่วยส่วนตัวของผู้สูงวัยแต่ละคน “ในเชิงธุรกิจ เฟซบุ๊กกับไลน์เป็นเหมือนบ้านเช่า แต่แอพเหมือนเป็นบ้านของเราเอง” ณฎาบอกสาเหตุของการเลือกทำแอพ

รวมถึงเหตุผลด้านการใช้งานที่เธอเรียนรู้จากการทำจิตอาสาว่า ผู้สูงวัยจะต้องการให้ได้สิ่งที่ต้องการภายใน 3 คลิก หากเป็นเว็บไซต์หรือบริการผ่านแอพอื่นๆ อาจสร้างความยุ่งยากให้เขามากเกินไป เทียบกับแอพเดียวที่ออกแบบมาเพื่อพวกเขาโดยเฉพาะ เช่น มีปุ่มขนาดใหญ่ๆ จะได้กดง่าย หรือมีปุ่มสำหรับโทรศัพท์คุยกับคนจริงๆ เพราะคนกลุ่มนี้ถนัดโทรมากกว่ากรอกรายละเอียดลงทะเบียน

ในแอพมีทั้งบทความที่มีข้อมูลถูกต้องให้อ่านและแชร์ต่อได้ รวมถึงประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ ที่ YoungHappy จัดเอง หรือไม่ก็จัดร่วมกับองค์กรอื่น ตั้งแต่การไปเที่ยวด้วยกัน ดูหนังด้วยกัน เรียนวิธีการทำ CPR เรียนรู้การทำเพจ เขียนโปรแกรม หรือแม้แต่เรียนเป็นบาริสต้าก็มี

สิ่งสำคัญอีกอย่างในแอพคือคอลเซ็นเตอร์ ที่พร้อมให้บริการตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 2 ทุ่ม โทรมาได้ทุกเรื่องตั้งแต่ขอความช่วยเหลือเรื่องต่างๆ จนกระทั่งแค่หาเพื่อนพูดคุยแก้เหงา

“บางคนก็เข้าใจนะว่า YoungHappy เป็นออร์แกไนเซอร์จัดงานคนแก่ แต่งานหลักของเราคือทำอะไรก็ได้ให้เขายังแอคทีฟและยังแฮปปี้ ตามชื่อเลย” นฎาเล่าพร้อมรอยยิ้ม “หลังจากนี้เราอยากขยายจนเป็น One-stop Service สำหรับผู้สูงอายุ ในเชิง e-Commerce ด้วย เราอยากขายสิ่งที่เขาต้องการ โดยเลือกก่อนว่ามันโอเคกับเขาจริงๆ”

YoungHappy, ผู้สูงอายุ, the hero season3, สสส YoungHappy, ผู้สูงอายุ, the hero season3, สสส

ให้สุขแก่ท่าน สุขนั้นถึงตัว

เมื่อเป็นสมาชิกของ YoungHappy แล้วจะได้อะไรบ้าง

ณฎาตอบโดยเทียบกับประสบการณ์ของเธอเอง “เราย้อนนึกถึงตัวเราเอง พอเราเจอสิ่งที่ชอบ เวลาตื่นมาแล้วชีวิตมีความหมาย เราอยากให้เขาเจอจุดนั้นบ้าง ส่วนเรื่องเพื่อน ตอนเราเรียนก็ได้เจอสังคมใหม่ๆ ต่างจากสังคมเดิมที่เราอยู่มา 15 ปี คนแก่ที่เขาอยู่ออฟฟิศเดิมมา 30 ปี พอเกษียณออกมาก็ไม่เหลือใคร การไปเจอสังคมใหม่ เจอเพื่อนใหม่ น่าจะดีกับเขา”

ยกตัวอย่างกรณีที่เห็นจริง คุณลุงอรรณพ อดีตผู้บริหารเก่าแก่ มาร่วมกิจกรรมของพวกเธอแทบทุกครั้ง ตั้งแต่การเรียนทำเดคูพาจ เรียนการทำธุรกิจขายของออนไลน์ ไปจนถึงเรียนตัดต่อวิดีโอ ก่อนจะประมวลความรู้ทั้งหมดมาเปิดเพจเฟซบุ๊ก ขายที่วางโทรศัพท์ซึ่งทำจากไม้เป็นลายเดคูพาจ จนถึงตอนนี้ก็ยังรักและสนิทสนมกับชุมชนเล็กๆ นี้อยู่ จนภรรยาของแกได้ช่วยทำงานเป็นคอลเซ็นเตอร์ของ YoungHappy ไปโดยปริยาย

ไม่เพียงสมาชิกเท่านั้น เจ้าของธุรกิจอย่างณฎาเองก็ได้ฝึกตนเองหลายอย่าง ทั้งเรื่องความใจเย็น และการเรียนรู้ที่จะลดตัวตน เมื่อไม่ว่าจะเถียงอย่างไรก็ไม่มีทางชนะ จึงได้ฝึกพูดคำว่าขอบคุณและขอโทษให้ติดปาก ในขณะเดียวกัน งานนี้ก็ได้มอบความรู้สึกดีๆ ให้ ผ่านการดูแลคนที่ไม่ใช่ญาติผู้ใหญ่ และช่วยให้เขาได้มีความสุข

“อยู่กับคนกลุ่มนี้แล้วเราเองก็ได้เรียนรู้หลายๆ อย่าง เช่นวันก่อนจัดงานฉายหนัง แล้วหน้างานก็ให้เขาเขียน Post-it บอกความฝันของฉัน หลังเลิกงานพี่ก็ไปอ่านดู แล้วพบว่าเขาขออยู่ 2 อย่าง คือขอให้แข็งแรง และขอให้มีความสุข มันเลยเหมือนสะท้อนว่าปลายทางชีวิตของคนคนหนึ่ง ก็ขอแค่นี้หรือเปล่า” ณฎาพูดทั้งรอยยิ้ม

YoungHappy, ผู้สูงอายุ, the hero season3, สสส

หากใครสนใจอยากเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว YoungHappy เริ่มต้นได้ง่ายๆ ด้วยการโหลดแอพทั้งใน App Store และ Google Play เลย
Facebook : ยังแฮปปี้ YoungHappy

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ