รู้สึกเหมือนกันไหมว่าโลกเราทุกวันนี้ประสบภัยพิบัติรุนแรงและถี่ขึ้นกว่าที่เคย ทุกครั้งที่เปิดหน้าโซเชียลมีเดีย เราจะพบข่าวแผ่นดินไหว ไฟป่า พายุเข้า น้ำท่วม ภูเขาไฟระเบิด ไปจนถึงคลื่นความร้อนที่คร่าชีวิตผู้คนได้ ผ่านตาวันละหลายสิบข่าว

เมื่อใดก็ตามที่มีภัยพิบัติเกิดขึ้น ผู้คนทั่วโลกมักพุ่งเป้าความสนใจและความช่วยเหลือไปให้ ‘มนุษย์’ ผู้ประสบภัยก่อนเป็นอันดับแรก จนบางครั้งเราหลงลืมไปว่าในทุกภัยพิบัตินั้นมี ‘สัตว์’ เป็นผู้ประสบภัยด้วยเช่นกัน

เราเห็นภาพการเยียวยา ธารน้ำใจที่หลั่งไหลและผลลัพธ์การช่วยเหลือมนุษย์ผู้ประสบภัยที่เป็นรูปธรรม แต่ถ้าถามถึงสัตว์ประสบภัย เราเชื่อว่าหลายคนก็คงไม่รู้ว่าขั้นตอนการช่วยเหลือสัตว์ประสบภัยเหล่านั้นมีกระบวนการและผลลัพธ์อย่างไร

หมอน็อต-ณฤทธิ์ศร ผลเพิ่ม คือสัตวแพทย์หนุ่มที่เดินทางไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เพื่อนำการเยียวยารักษาไปหาสัตว์ประสบภัยเหล่านั้น

ทุกวันนี้หมอน็อตรับหน้าที่เป็นผู้จัดการโครงการภัยพิบัติที่องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก หรือ World Animal Protection องค์กรนานาชาติที่ทำงานด้านการช่วยเหลือสัตว์โดยเฉพาะ

ณฤทธิ์ศร ผลเพิ่ม, สัตวแพทย์

ภารกิจช่วยเหลือสัตว์ในสถานการณ์ไม่ปกติอย่างพื้นที่ประสบภัยพิบัตินั้นย่อมไม่ธรรมดา

ไม่ธรรมดาถึงขั้นที่หมอน็อตบอกว่า “ทุกครั้งที่ลงพื้นที่ผมไม่เคยกลัวตาย”

01

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าบนโลกนี้มีภัยพิบัติเกิดขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

“ทุกวันนี้ทีมงานของเรากระจายอยู่ในทุกภูมิภาคทั่วโลก และทำงานร่วมกันในการมอนิเตอร์สถานการณ์ภัยพิบัติรอบโลก” หมอน็อตเริ่มอธิบาย

“การมอนิเตอร์คือการสำรวจว่าพื้นที่ไหนมีแนวโน้มจะเกิดภัยพิบัติขึ้นบ้าง กว่าพายุแต่ละลูกจะเข้าฝั่ง มีระยะฟอร์มตัวอยู่หลายวัน เราจะเริ่มประเมินสถานการณ์ในการลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือตั้งแต่ตอนนั้นเลย เพราะถ้าเรานั่งรอข่าวอยู่เฉยๆ เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น กว่านักข่าวจะลงพื้นที่และรายงานข่าว บางทีมันอาจจะช้าไปแล้ว”

หมอน็อตอธิบายต่อว่า ส่วนใหญ่เมื่อเกิดภัยพิบัติทีมงานจะใช้เวลาตัดสินใจและประสานงานเพื่อเตรียมตัวลงพื้นที่ไม่เกิน 3 วัน โดยหลักการประเมินว่าจะลงพื้นที่หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและผลกระทบของเหตุการณ์นั้น

ณฤทธิ์ศร ผลเพิ่ม, สัตวแพทย์

“ถ้าเกิดน้ำท่วม เราก็ต้องประเมินว่าสถานการณ์น้ำเป็นยังไง น้ำหลากผ่านพื้นที่ไปเฉยๆ หรือน้ำท่วมขัง ถ้าเป็นอย่างหลังเราก็ต้องลงพื้นที่ เพราะมีคนและสัตว์ประสบภัยขาดน้ำและอาหาร

แต่ก็ต้องยอมรับว่าสัตว์มักเป็น Priority ที่ 2 เมื่อก่อนเวลาเราลงไปในพื้นที่มักถูกเจ้าหน้าที่กันไม่ให้เข้าไปดูสัตว์ ตอนนี้คนเริ่มเข้าใจมากขึ้น ว่าทำไมสัตวแพทย์อย่างเราต้องเข้าไปในพื้นที่ภัยพิบัติด้วย”

หมอน็อตเล่าว่า ความท้าทายของงานนี้อยู่ที่ความท้าทายและไม่มีสูตรตายตัว “เราขนอุปกรณ์เข้าไปได้อย่างจำกัด ดังนั้น ไม่ว่าจะปัญหาแบบไหน ก็ต้องพลิกแพลงเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ได้จากข้อจำกัดที่มี”

ในการลงพื้นที่แต่ละครั้ง จะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก “เวลาลงพื้นที่ ไม่เกี่ยวกับอายุหรือเพศ แต่ขึ้นอยู่กับความชำนาญการ เพราะคนที่จะลงไปในพื้นที่ที่มีสถานการณ์ไม่ปกติอย่างพื้นที่ประสบภัย ควรได้รับการเทรนด์มาในระดับหนึ่ง อย่างน้อยต้องรู้ว่าจะเอาตัวให้รอดได้ยังไง ไม่ใช่ว่าจะลงไปช่วย แต่กลายเป็นภาระของทีมงานคนอื่นแบบไม่รู้ตัว”

ณฤทธิ์ศร ผลเพิ่ม, สัตวแพทย์
ณฤทธิ์ศร ผลเพิ่ม, สัตวแพทย์

นอกจากความปลอดภัยแล้ว ในการลงพื้นที่แต่ละครั้งยังต้องอาศัยการประสานงานกับหลายภาคส่วน โดยเฉพาะภาครัฐหรือองค์กรของชุมชนในท้องถิ่น เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“เพราะเราไม่ใช่องค์กรใหญ่ ดังนั้น การทำงานกับภาครัฐจะช่วยให้เรารู้เป้าหมายและความต้องการของชุมชนได้อย่างแม่นยำ ที่สำคัญ ยังสามารถทำงานเพื่อให้เกิดผลอย่างยั่งยืนได้ เพราะเราคงไม่สามารถจะลงพื้นที่อยู่กับชาวบ้านได้ตลอดไป สิ่งที่เราทำได้คือนำองค์ความรู้ไปมอบให้

“หลายครั้งเป็นชุมชนเดิมที่ประสบภัยพิบัติซ้ำๆ บางครั้งชาวบ้านเขาจัดการกันเองได้ บางครั้งมันก็ใหญ่โตมโหฬารจนเราต้องเข้าไปช่วย แต่เราก็ต้องประเมินด้วยว่า ทำไมครั้งนี้เขาช่วยตัวเองได้ ทำไมครั้งนี้เราต้องเข้าไปช่วย มีช่องว่างอะไรในความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติของเขาที่เราสามารถเข้าไปส่งเสริมได้บ้าง

“เราทำแบบนี้เพื่อให้เขาเตรียมพร้อมรับมือและช่วยเหลือตัวเองได้เมื่อเกิดภัยพิบัติ” หมอน็อตอธิบาย

ณฤทธิ์ศร ผลเพิ่ม, สัตวแพทย์
02

“ภัยพิบัติประเภทไหนท้าทายที่สุดในการเข้าไปช่วยเหลือ” เราถาม

หมอน็อตตอบอย่างไม่ลังเล “ภัยแล้งยากที่สุด ถึงภาพที่ออกมาจะดูไม่ตื่นเต้นเท่าภาพสึนามิ แผ่นดินไหว แต่เหตุการณ์พวกนั้นเกิดแล้วจบทันที ยกเว้นบางกรณีอาจจะมีอาฟเตอร์ช็อกหรือมีผลกระทบต่อเนื่อง อย่างสึนามิที่ญี่ปุ่นเมื่อปี 2011 ส่งผลกระทบไปถึงโรงงานนิวเคลียร์

“แต่ภัยแล้งเป็นภัยพิบัติที่กระทบในวงกว้างและยาวนาน ชาวบ้านบางคนหมดตัวเพราะเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ได้ และในแง่การลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือก็ยากเหมือนกัน

เพราะการเข้าไปช่วยเหลือชุมชนที่ประสบภัยพิบัติจะประสบความสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับต้นทุนที่ชุมชนนั้นมีด้วย ถ้าทรัพยากรในชุมชนที่ประสบภัยแล้งร่อยหรอ ก็ย่อมส่งผลให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนและระยะยาวเป็นไปอย่างยากลำบาก”

ณฤทธิ์ศร ผลเพิ่ม, สัตวแพทย์
ณฤทธิ์ศร ผลเพิ่ม, สัตวแพทย์

ประเทศไทยประสบภัยแล้งทุกปี แต่คนเมืองส่วนใหญ่ไม่รู้ อย่างที่ดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ ที่หมอน็อตเคยลงไปช่วยเหลือสัตว์ของชุมชนเกษตรกรรมซึ่งประสบภัยแล้งยาวนานถึง 3 ปีติดต่อกัน

“คนในเมืองยังมีน้ำกินน้ำใช้เพราะมีน้ำสำรองไว้ในเขื่อน อธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ แม่น้ำเจ้าพระยามาจากแม่น้ำ 4 สายคือวัง ยม น่าน และปิง ซึ่งเป็นแม่น้ำสายที่ใหญ่ที่สุดและไหลผ่านเขื่อนภูมิพล ซึ่งเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย

“ในเขื่อนยังมีน้ำ แต่ลำน้ำต้นสายนั้นเหือดแห้งจนถึงก้นแม่น้ำ รถกระบะของทีมเราที่จะไปช่วยชาวบ้านอพยพสัตว์ต้องลงไปวิ่งตรงก้นแม่น้ำที่ปกติมีน้ำอยู่เต็ม มันแล้งจนชาวบ้านต้องเจาะบ่อบาดาลตรงก้นแม่น้ำและก้นทะเลสาบดอยเต่า บางจุดเจาะลงไปหลายสิบเมตร  

“บางจุดต้องเจาะลงไปเป็นร้อยเมตรกว่าจะเจอน้ำ ผมเคยไปช่วยสัตว์ประสบภัยแล้งที่ประเทศพม่าครั้งหนึ่ง แม่น้ำอิรวดีที่ว่ากว้างใหญ่มากก็แห้งจนถึงก้นแม่น้ำแบบนี้เหมือนกัน”

ณฤทธิ์ศร ผลเพิ่ม, สัตวแพทย์
ณฤทธิ์ศร ผลเพิ่ม, สัตวแพทย์

ที่ดอยเต่า ชาวบ้านทำสวนลำไยเป็นอาชีพหลัก และเลี้ยงปศุสัตว์เป็นอาชีพเสริม เมื่อไม่มีน้ำผลผลิตก็ไม่งอกเงย เมื่อไม่มีผลผลิตก็ไม่มีเงินซื้ออาหารให้วัวกิน พื้นดินแตกระแหงจนไม่มีแม้แต่หญ้า ดังนั้น ชาวบ้านจึงต้องอพยพสัตว์ไปยังศูนย์อพยพเพื่อหาน้ำและอาหารให้สัตว์กิน

“เวลามีภัยพิบัติใดก็ตามชาวบ้านจะรักและหวงแหนสัตว์ของพวกเขามาก ผมเคยไปช่วยเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิดที่ประเทศอินโดนีเซีย ชาวบ้านจะไม่ยอมออกมาจากเขตภัยพิบัติ ถ้าเขาไม่ได้เอาสัตว์ออกมาด้วย พอภูเขาไฟระเบิด เขม่า ขี้เถ้า ลงมาปกคลุมพื้นที่เกษตรกรรม พืชผลในไร่กลายเป็นศูนย์ สัตว์คือทรัพย์สินอย่างเดียวที่เขาหลงเหลืออยู่ เป็นอนาคตของพวกเขา”

03

เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมาเกิดเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิซัดเข้าถล่มชายฝั่งบนเกาะสุลาเวสี ประเทศอินโดนีเซีย ถือเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่ทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบมากถึง 1.6 ล้านคน มีรายงานผู้เสียชีวิตกว่าพันคน ยังไม่รวมถึงสัตว์อีกนับไม่ถ้วนที่ล้มตายหรือถูกทิ้งเอาไว้เบื้องหลัง

หมอน็อตและทีมงานเป็นหนึ่งในคณะที่ลงพื้นที่เมืองปาลู ซึ่งเป็นเมืองที่ประสบภัยพิบัติครั้งนี้ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่สัตว์ประสบภัยพิบัติอย่างเร่งด่วน

ณฤทธิ์ศร ผลเพิ่ม, สัตวแพทย์

“หลังจากตัดสินใจว่าจะลงพื้นที่ ผมและทีมงานนั่งเครื่องบินไปลงที่ฝั่งใต้ของอินโดนีเซีย เพราะเครื่องบินไม่สามารถลงจอดที่เมืองปาลูซึ่งเป็นจุดหมายได้ เราจึงต้องเหมารถจากตอนใต้มายังตอนกลาง ซึ่งกว่าจะหารถได้ก็ใช้เวลาเกือบ 1 วัน

“นั่งรถมาอีก 1,060 กิโลเมตร ใช้เวลาร่วม 20 ชั่วโมงกว่าจะเข้าถึงพื้นที่ประสบภัย เพราะต้องใช้เส้นทางที่เลาะทางเขาเข้ามาทั้งหมด เวลาเจอปั๊มน้ำมันก็ต้องคอยแวะเติม เชื่อไหมว่าแต่ละปั๊มมีรถต่อคิวเติมน้ำมันติดยาวเป็นกิโล ใช้เวลารอไม่ต่ำกว่าชั่วโมง

“พอใกล้ถึงจุดหมายเราเริ่มเห็นผู้ประสบภัยใช้ชีวิตอยู่ตามท้องถนน เริ่มพบแพะแกะที่ป่วยและมีบาดแผล เราก็ดำเนินการช่วยเหลือนำอาหารไปให้ จนมาถึงจุดหมาย วินาทีแรกที่เปิดกระจกคือได้กลิ่นเน่าลอยมาก่อนเลย

“เราลงพื้นที่ครั้งแรกเป็นเวลา 3 วัน เริ่มจากการเข้าไปสำรวจจุดพักพิงที่ประชาชนอพยพมาอาศัยอยู่ พร้อมสัตว์ต่างๆ เพื่อประเมินความเสียหายอย่างเร่งด่วน

พร้อมทำงานร่วมกับรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือสัตว์ที่ได้รับบาดเจ็บ มอบชุดอุปกรณ์ทางการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อรักษาสัตว์ในพื้นที่ภัยพิบัติ และวางแผนให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องด้วยการนำทีมสัตว์แพทย์อาสาเข้าไปในพื้นที่ ก่อนจะเดินทางกลับออกมา เบ็ดเสร็จรวมระยะทางไป-กลับ 2,000 กว่ากิโลเมตร ใช้เวลาอยู่บนรถร่วม 50 ชม.”  

ณฤทธิ์ศร ผลเพิ่ม, สัตวแพทย์
ณฤทธิ์ศร ผลเพิ่ม, สัตวแพทย์

เรื่องระยะทางและการเข้าถึงที่ยากลำบากกับภัยพิบัติเป็นของคู่กันอยู่แล้ว หมอน็อตเล่าต่อถึงการเข้าไปช่วยสัตว์ประสบที่ประเทศวานูอาตู ประเทศหมู่เกาะเล็กๆ กลางมหาสมุทรแปซิฟิก ที่ต้องนั่งเฮลิคอปเตอร์เข้าไปเท่านั้น

“วานูอาตูโดนพายุไซโคลน Pam ถล่ม กวาดล้างไป 98% ของประเทศ ภาพที่เราเห็นตอนเฮลิปคอปเตอร์บินไปถึงคือซากต้นไม้ล้มระเนระนาด ทุกอย่างโกร๋นหมด เหลือบ้านพักอยู่เพียงไม่กี่หลัง มองออกไปไกลๆ ในมหาสมุทรยังเห็นมวลเมฆพายุดำเป็นปื้น บรรยากาศหดหู่และน่ากลัวมาก

“ชาวบ้านที่นั้นเลี้ยงหมูเป็นหลัก ปกติเขาจะเอามะพร้าวให้หมูกิน ทีนี้พอโดนพายุ มะพร้าวไม่เหลือเลยสักต้น ชาวบ้านไม่มีอะไรให้หมูกิน เราก็สังเกตเห็นว่ายังพอมีต้นกล้วยเหลืออยู่ ซึ่งชาวบ้านที่นั่นเขาไม่รู้ว่าต้นกล้วยกินได้ สรุปหมูคอกนั้นก็รอดชีวิตเพราะได้ภูมิปัญญาของไทยเรานี่แหละ”

หมอน็อตบอกว่านี่คือการบริหารองค์ความรู้ “ภูมิปัญญาท้องถิ่นคือสิ่งที่บางครั้งอาจไม่ได้ถูกแชร์ออกไปในวงกว้าง แต่มันถูกพิสูจน์แล้วจากคนหลากรุ่นในชุมชนว่ามันใช้งานได้จริง

“การที่เรามีโอกาสได้ไปเห็นความเดือดร้อนและช่วยแก้ไขปัญหาที่ประเทศอื่นๆ เราก็พยายามนำภูมิปัญญาของไทยไปประยุกต์ใช้ และเชื่อว่าวันหนึ่งเราจะมีโอกาสได้นำภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เราไปเห็นจากที่อื่นๆ ในโลกมาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาที่ประเทศไทยเช่นกัน” หมอน็อตเล่ายิ้มๆ

ณฤทธิ์ศร ผลเพิ่ม, สัตวแพทย์
04

ถามว่าอะไรคือแรงบันดาลใจให้หมอน็อตไม่ย่อท้อกับการอุทิศตนเพื่อทำงานที่ท้าทาย แม้รู้ดีว่าการลงพื้นที่ทุกครั้งเต็มไปด้วยอุปสรรคและความยากลำบาก

หมอน็อตบอกว่า “ผมเชื่อว่างานทุกงานมีความลำบาก ไม่ใช่แค่งานนี้ ผมเพียงแต่รู้ว่างานที่ผมทำอยู่ทุกวันนี้ มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และสัตว์ที่กำลังเผชิญกับภัยพิบัติ ผมมีความสุขที่ได้เห็นว่าผลจากงานที่ผมทำ ทำให้ชาวบ้านและสัตว์ได้กลับไปมีชีวิตแบบที่ควรจะมี และควรจะเป็นอีกครั้ง

“เราไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ 100% ไม่ว่าจะพยายามแค่ไหนก็ตาม ผมมักปลอบใจตัวเองเสมอว่าตราบที่เราทำทุกอย่างอย่างดีที่สุดและเร็วที่สุด ผลออกมาจะเป็นอย่างไร มันคือความจริงที่เราต้องยอมรับ หากผลลัพธ์ออกมาไม่เป็นอย่างที่หวัง เราก็ต้องเรียนรู้ และนำมาเป็นบทเรียนในครั้งต่อไป”

ณฤทธิ์ศร ผลเพิ่ม, สัตวแพทย์

สำหรับเป้าหมายจากนี้ นอกจากหมอน็อตยังคงมุ่งมั่นทำงานตรงนี้ต่อไปให้นานที่สุด เพราะเมื่อมองย้อนกลับไปบนเส้นทางการทำงานตั้งแต่วันแรกมาจนถึงวันนี้ ต้องยอมรับว่า 10 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น สังคมตื่นตัวเรื่องการช่วยเหลือสัตว์

จากช่วงแรกที่เข้ามาทำงานตรงนี้ คนไทยรวมทั้งสัตวแพทย์เองก็ยังไม่ค่อยเข้าใจว่างานจัดการภัยพิบัติของสัตว์นั้นคืออะไร และมีความสำคัญอย่างไรด้วยซ้ำ เพราะถือเป็นเรื่องที่ใหม่มากในภูมิภาคอาเซียน

“ตัวผมเองแม้จะเรียนจบสัตวแพทย์ก็ยังไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจมากนัก รู้แต่มีแพสชันตั้งแต่สมัยเรียนว่าอยากทำงานอะไรก็ได้ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ ดังนั้น พอเรียนจบแล้วเห็นว่าทางองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเปิดรับอินเทิร์น ผมเลยลองมาสมัคร ปรากฏว่าได้ จึงมีโอกาสทำงานมาจนถึงทุกวันนี้”

ณฤทธิ์ศร ผลเพิ่ม, สัตวแพทย์
ณฤทธิ์ศร ผลเพิ่ม, สัตวแพทย์

หมอน็อตเชื่อว่า 10  ปีจากนี้ไปน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอีก โดยเฉพาะการผลักดันให้ภาครัฐมีกลไกในการช่วยเหลือสัตว์ในภาวะภัยพิบัติอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ก่อนเกิด-ระหว่างและหลังเกิดภัยพิบัติทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ

“ตอนนี้เราเดินหน้าไปเยอะแล้วในเชิงทฤษฎี แต่เราอยากให้เห็นในเชิงปฏิบัติ ทั้งในการยกระดับการเตือนภัย และการเตรียมความพร้อมอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ภัยพิบัติ

“ทุกครั้งที่ลงพื้นที่ผมไม่เคยกลัวตาย แต่ผมกลัวว่าลงพื้นที่ไปแล้วจะช่วยอะไรไม่ได้มากกว่า เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น สำหรับผม มันคือความล้มเหลว”

ณฤทธิ์ศร ผลเพิ่ม, สัตวแพทย์
ภาพ : World Animal Protection

          

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน