The Cloud x The Hero Season3
ท่ามกลางสังคมที่มองไปทางไหนก็เจอแต่ปัญหา ถ้าใครสักคนมีความคิดดีๆ ที่จะแก้ปัญหา แต่เมื่อปรึกษาคนรอบข้าง ก็อาจจะได้รับคำตอบว่า “เลิกฝันเถอะ เป็นไปไม่ได้หรอก”
จะดีแค่ไหนถ้ามีที่สักแห่ง มีคนบอกเราว่า “เป็นไปได้สิ… มาคิดต่อด้วยกัน” แล้วช่วยเป็นที่ปรึกษา จนกระทั่งความฝันเราเป็นรูปเป็นร่าง
ที่ที่เราจะได้เจอเพื่อนที่มีความฝันคล้ายกัน ทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ได้บ้าอยู่คนเดียว
ที่ที่สอนให้เราเชื่อว่า ทุกคนสร้างความเปลี่ยนแปลงได้
ที่แห่งนั้นมีอยู่จริง และมีชื่อว่า School of Changemakers
หากคุณมีความฝัน มีไอเดียดีๆ ที่คิดว่าจะทำให้สังคมดีขึ้น ขอเชิญเดินเข้ามา ที่แห่งนี้มีดิน น้ำ ปุ๋ย และสภาพแวดล้อมที่ดี ที่จะบ่มเพาะความฝันของคุณให้เติบโต
“เราเคยอยู่ในดาวที่อะไรก็เป็นไปไม่ได้ เราทำอะไรไม่ได้ แต่ครั้งหนึ่งมีคนพาเราเดินข้ามดาว ให้โอกาส ให้ประสบการณ์ ให้เราลองทำนู่นทำนี่ จนรู้สึกว่า เฮ้ย เราทำอะไรได้นี่ ตอนนี้เราเลยทำหน้าที่เหมือนพี่ๆ คือพาคนเดินทางข้ามดาว มาสู่ดาวแห่งความเป็นไปได้”
นุ้ย-พรจรรย์ ไกรวัตนุสสรณ์ หัวเรือใหญ่ของ School of Changemakers สรุปสิ่งที่เธอและทีมงานทำมาตลอดสิบกว่าปี นั่นคือสนับสนุนคนที่อยากทำโครงการดีๆ เพื่อสังคมให้เริ่มต้นได้ และช่วยสนับสนุนตลอดเส้นทางของการฟันฝ่าอุปสรรค
จากจุดเริ่มต้นของการทำงานภายใต้องค์กร Ashoka ซึ่งสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้ทำโครงการเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง มาวันนี้ School of Changemakers ของเธอแยกออกมาเป็นอิสระ และทำงานกับกลุ่มคนที่หลากหลายขึ้น นับตั้งแต่คนรุ่นใหม่ คนวัยทำงาน อาจารย์ ไปจนถึงบริษัทใหญ่ๆ ที่อยากแก้ปัญหา
“สิ่งที่อยากเห็นยังเหมือนเดิม อยากเห็นคนสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ทุกอาชีพ ทุกภาคส่วน ไม่ว่าใครก็สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ และถ้ามีคนแบบนี้เยอะๆ แก้ปัญหาเป็น เห็นอะไรที่มันดีขึ้นได้ก็ลุกขึ้นมาทำ ประเทศจะดีกว่านี้ ปัญหาเล็กก็มีคนดูแล ปัญหาใหญ่ก็มีคนดูแล”
สิ่งที่นุ้ยเชื่อมั่นมาตลอดก็คือพลังของคนเล็กๆ เธอบอกว่า คนยุคนี้ไม่ได้ ‘ไม่แคร์ปัญหาสังคม’ อย่างที่คนส่วนใหญ่คิด เพราะผลจากการทำ Market Research พบว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของคนไทยอยากแก้ปัญหา อยากทำอะไรดีๆ เพื่อสังคม แต่ใน 70 เปอร์เซ็นต์ของคนเหล่านี้ไม่ได้ลงมือทำ ด้วยเหตุผลหลักๆ คือ ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง และไม่มีคนสนับสนุน
งานของนุ้ยและทีมคือ การเติมเต็มช่องว่างนี้
“มีคนสนใจแก้ปัญหาเยอะมาก รับกันไม่หวาดไม่ไหว รอบตัวเรามีแต่ปัญหา ทั้งฝุ่นละออง ขยะ มีใครบ้างไม่อินเรื่องรถติด มีใครบ้างที่ไม่มีเพื่อนเป็นโรคซึมเศร้า มีคนมากมายอยากแก้ปัญหา แต่ระบบสนับสนุนมีไม่พอ เพราะการจะแก้ปัญหาให้สำเร็จไม่ใช่มีแค่เราคนเดียว แต่ต้องมีระบบสนับสนุน หรือ Ecosystem”
Ecosystem ของความฝัน
ต้นไม้จะสูงใหญ่ให้ดอกผลได้ แค่รดน้ำอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องมีแมลง นก ไส้เดือน จุลินทรีย์ ไว้ช่วยทำหน้าที่ผสมเกสร กำจัดหนอน พรวนดิน ไปจนถึงตรึงไนโตรเจน นั่นคือ ‘ระบบนิเวศ’ (Ecosystem)
โครงการเพื่อสังคมจะสำเร็จได้ ก็ต้องอาศัยระบบนิเวศที่ดี ไม่ใช่แค่จัดประกวดโครงการ ให้เงิน ปล่อยให้เด็กไปทำ แล้วจบ
“คนส่วนใหญ่นึกว่าถ้าจะทำโปรเจกต์ต้องมีเงินก่อน แต่ถ้าทำไปสักพักจะรู้ว่าเงินสำคัญน้อยสุด การเกิดโปรเจกต์หรือ Startup ดีๆ เราต้องสร้างระบบนิเวศให้มัน สร้างระบบบ่มเพาะที่ดี”
ระบบนิเวศที่นุ้ยกล่าวถึงประกอบด้วย
หนึ่ง ความรู้และเครื่องมือ จะได้เข้าใจปัญหาจริงๆ นุ้ยให้ความสำคัญกับการเข้าใจ Insight ของปัญหามาก จะได้เห็นโอกาสในการแก้ปัญหา เช่น อยากให้คนกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ต้องมองไปที่ Insight ซึ่งก็คือพฤติกรรมการเลือกกินของคน อาจจะพบว่าคนมักเลือกอาหารที่มีกลิ่นหอม ก็ต้องทำเมนูที่หอมที่สุดเป็นเมนูสุขภาพ ถ้าการเลือกมาจากตำแหน่งของถาดอาหาร ก็ต้องเอาเมนูผักวางด้านหน้าให้เด่นๆ การมองเช่นนี้ต่างจากการมองแบบ ‘Root Cause’ (รากของปัญหา) ที่เน้นการแก้ที่สาเหตุ ซึ่งส่วนใหญ่จะจบตรงที่สร้างความตระหนัก แต่ยากในเชิงเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม (รู้ว่าของทอดไม่ดี แต่อดใจไม่ได้)
สอง พี่เลี้ยงหรือโค้ช เป็นที่ปรึกษา รับฟัง แนะนำ ช่วยอุดช่องว่างที่เราคิดไม่ถึง เพราะบางครั้งการคิดคนเดียว เราอาจคิดว่าแผนเราสมบูรณ์แบบแล้ว
สาม ชุมชน (Community) การทำอยู่คนเดียว สู้อยู่คนเดียว เวลาเจอปัญหาอาจหมดแรงได้ง่าย แต่ถ้าเรามีชุมชน ได้เห็นเพื่อนที่ร่วมฝัน ร่วมบ้าไปกับเรา แม้จะทำคนละโครงการ แต่อย่างน้อยเราก็จะมีกำลังใจว่ามีคนกำลังเดินอยู่บนเส้นทางเดียวกัน
สุดท้าย เงินทุนตั้งต้น
ทั้งสี่ปัจจัยนี้คือสิ่งที่ School of Changemakers มีให้ ผู้ที่สนใจเดินเข้ามาหาได้หลากหลายช่องทาง เช่น โครงการ Penguin Incubation เปิดให้คนที่มีไอเดียโครงการหรือกิจการเพื่อสังคมสมัครเข้ามา ทีมที่ได้รับคัดเลือกจะได้เข้าสู่กระบวนการบ่มเพาะ (Incubation) เป็นเวลา 8 เดือน มีพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษา มีเวิร์กช็อป และเงินทุนตั้งต้นให้
ส่วนคนที่ยังมีไอเดียไม่ชัดเจน ก็จองคิวเข้ามาปรึกษา Helpdesk กับผู้เชี่ยวชาญได้ จัดประมาณเดือนละ 2 ครั้ง
นอกจากนั้น ยังมีโครงการที่ร่วมกับองค์กรอื่นๆ เช่น The Hero ที่ร่วมกับ สสส. และ The Cloud เปิดพื้นที่ให้คนอายุ 18 – 24 ปี ที่กำลังเรียนอยู่ระดับมหาวิทยาลัยหรือเทียบเท่าส่งโครงการเข้ามา ด้วยความเชื่อที่ว่าทุกคนมีความเป็นฮีโร่อยู่ในตัวเอง อาจจะไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงระดับโลก แต่แค่เปลี่ยนจากจุดเล็กๆ ที่ทำให้ชีวิตใครบางคนดีขึ้น ก็นับว่ามีความหมาย
เริ่มจากจุดเล็กๆ ที่เราทำได้
หลายคนคิดว่าปัญหาสังคมเป็นเรื่องใหญ่เกินกำลังคนเล็กๆ แต่โครงการของเด็กๆ หลายโครงการที่นุ้ยและทีมงานช่วยบ่มเพาะ อาจทำให้เราเปลี่ยนความคิด
“กลุ่มนักเรียน ม.4 ที่ปากช่องเขาอินเรื่องขยะพลาสติกในทะเลมาก พวกเขาไปหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตมา 40 กว่าหน้า แล้วก็ทำโครงการไปเล่าเรื่องนี้ให้รุ่นน้องที่โรงเรียนอีกแห่งในอำเภอเดียวกันฟัง เล่าจบมีเด็ก ม.1 อีกสิบกว่าคนสนใจมาก มาชวนเขาคุยต่อว่าจะทำอะไรกันได้บ้าง ช่วงนั้นมีงานวิ่ง กลุ่มเด็กๆ ก็เข้าไปคุยกับผู้จัดงาน อาสาทำระบบจัดการขยะ ซึ่งทำได้สุดยอดมากถึงกับมีคนอยากจ้างต่อ”
โครงการ Guidelight เป็นผลงานของกลุ่มนักศึกษาที่เห็นปัญหาว่าเพื่อนตาบอดที่มหาวิทยาลัยไม่สามารถอ่านชีทเตรียมสอบได้ ต้องรอเพื่อนตาดีให้ช่วยอ่านให้ฟัง พวกเขาจึงเข้าไปคุยกับศูนย์ช่วยเหลือนักศึกษาพิการของมหาวิทยาลัย จนเกิดโครงการที่นักศึกษาตาบอดนำชีตไปให้ศูนย์ฯ สแกนขึ้นเว็บได้ จากนั้นจะมีอาสาสมัครมาช่วยพิมพ์อีกที นักศึกษาตาบอดก็ใช้โปรแกรมแปลงข้อความให้เป็นเสียงเพื่อเปิดฟังทบทวนเนื้อหาได้ นักศึกษาตาบอดจึงมีผลการเรียนดีขึ้นมาก
ต่อมาพวกเขาได้ร่วมกับมูลนิธิแห่งหนึ่งจ้างนักศึกษาตาบอดที่เข้าเรียนให้ทำชีตวิชานั้นๆ ขึ้นเว็บไซต์ ทำให้นักศึกษาตาบอดผลิตสื่อได้เอง ได้ทั้งความภาคภูมิใจและรายได้เสริม
นุ้ยเล่าว่า หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้โครงการประสบความสำเร็จคือ ต้องเลือกทำในสิ่งที่เราอินกับมันจริงๆ เท่านั้น
“คนเราไม่ควรจะทำอะไรก็ได้ ควรทำเฉพาะสิ่งที่ตัวเองอิน ถ้าทำสิ่งที่ตัวเองไม่อิน ก็ไม่มีอิมแพค” นุ้ยยืนยัน
อีกตัวอย่างเป็นของนักศึกษาวิศวะที่ชื่นชอบการประดิษฐ์หุ่นยนต์มาก พวกเขาคิดจะทำปลอกคอน้องหมาที่มีเซ็นเซอร์ตรวจวัดอุณหภูมิ เพื่อแจ้งเตือนเจ้าของเมื่อน้องหมาป่วย ปลอกคอนี้มีขายที่ต่างประเทศในราคาสูงลิ่วถึง 50,000 พวกเขาอยากทำให้ถูกลงคนทั่วไปจะได้เข้าถึงได้ แต่เมื่อยิ่งทำก็ยิ่งเข้าใจว่าทำไมมันถึงแพง เพราะยาก มีตัวแปรเยอะ ในวันที่พวกเขารู้สึกเหมือนเจอทางตัน ก็ยังมีทางออก
“ตัวต้นแบบที่เขาทำอยู่ในโรงพยาบาลสัตว์ ซึ่งอยู่ในห้องแอร์ ก็ลดตัวแปรเรื่องอุณหภูมิได้ คุณหมอที่ช่วยดูบอกว่างานที่น้องๆ ทำใช้ได้นะ เพราะหมาที่ออกมาจากห้องผ่าตัดและอยู่ใน ICU พยาบาลต้องเช็กอุณหภูมิทุก 2 ชั่วโมง โดยต้องเสียบเทอร์โมมิเตอร์ที่ก้นน้องหมา หมาก็ทรมาน แถมพยาบาลก็มีงานเยอะอยู่แล้ว ปลอกคอที่พวกเขาคิดจึงมีประโยชน์กับโรงพยาบาล พอไฟขึ้น พยาบาลก็มาได้ สัตวแพทย์บอกว่าทำมาเลย เขาซื้อได้” นุ้ยเล่าถึงกรณีที่โครงการไม่สามารถไปได้ถึงระดับที่ฝัน แต่ก็มีความหมาย
“99.99 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ทำโปรเจกต์ ไปเจอมูลค่าตอนทำนี่แหละ ต้องให้โอกาสตัวเองลอง ทุกคนเริ่มจากสิ่งที่ตัวเองทำได้ ตอนที่เรานั่งข้างนอก เราจะคิดแบบคนวงนอก ไม่เห็นโอกาส ทุกอย่างใหญ่หมด แต่พอไปทำจริง Solution เล็กๆ ก็จะมีตลาด มีมูลค่าของมัน”
นุ้ยย้ำถึงสิ่งสำคัญว่าเราต้องกล้าเริ่มต้น หลายครั้ง สิ่งที่พวกเขาทำก็สร้างมูลค่า หรือกลายเป็นอาชีพ เป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่คนทำได้ค่าตอบแทนเลี้ยงชีพ ในขณะที่สิ่งที่ทำก็มีประโยชน์ต่อคนอื่น
“Social Enterprise เป็นที่รู้จักมากขึ้น มีคนลงทุนกับตรงนี้เยอะขึ้น สังคมรับได้มากขึ้นว่าการทำเพื่อสังคม ถ้ามีไอเดียดี โมเดลดี เรายอมจ่ายตังค์ คุณไม่ต้องทำฟรี ไม่ต้องกินแกลบ แล้วถ้าคุณมีความเป็นมืออาชีพ มันก็สร้างอิมแพกได้จริง”
หนึ่งในตัวอย่างของโครงการที่นุ้ยช่วยบ่มเพาะมาตั้งแต่ยุคแรกๆ ชื่อ ‘a-chieve โตแล้วไปไหน’ น้องกลุ่มนี้เข้าโครงการกับนุ้ยตั้งแต่พวกเขายังเป็นนักศึกษาปี 2 ผ่านมาแล้ว 8 ปีแล้วพวกเขาก็ยังทำโครงการนี้อยู่ และกลายมาเป็นกิจการเพื่อสังคมเต็มตัว
โครงการนี้เริ่มจากการเห็นปัญหาว่าเด็กไทยส่วนใหญ่ไม่รู้จักตัวเอง ทำให้เลือกคณะผิด พวกเขาจึงทำโครงการที่หวังให้เด็กนักเรียนมัธยมปลายได้มีข้อมูลและรู้จักอาชีพต่างๆ มากขึ้น เริ่มตั้งแต่กิจกรรม Job Shadow รับสมัครพี่ต้นแบบและเด็กที่สนใจ จับคู่ให้เด็กๆ ได้ตามติดชีวิตการทำงานของพี่ๆ 2 สัปดาห์ ไปจนถึงกิจกรรม Open World เปิดโลกแต่ละสายอาชีพแบบเจาะลึก ให้เด็กสมัครมาพร้อมพ่อแม่ เพื่อให้รับรู้ข้อมูลพร้อมๆ กัน ไปจนถึงงานใหญ่อย่าง ‘ฟัก ฝัน Festival’ ที่รวมทุกอาชีพในงานเดียว มีเด็กร่วมงานนับพันคน
วันนี้พวกเขาคิดถึงขั้นอยากจะส่งต่อความรู้ ข้อมูลต่างๆ ที่พวกเขาสะสมมาตลอด 8 ปี ให้ครูแนะแนวตามโรงเรียนต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงนักเรียนมากขึ้น
แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกโครงการที่สำเร็จ หลายต่อหลายครั้งที่โครงการการก็ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง นุ้ยกล่าวว่าจาก 1,000 โปรเจกต์ มีแค่ 1 โปรเจกต์เท่านั้นที่เรียกได้ว่าไปถึงเป้าหมายที่วางไว้
“ที่สำเร็จหรือไม่สำเร็จ ไม่ใช่เรื่องความสามารถนะ แต่เป็นจังหวะชีวิตมากกว่า บางคนทำแล้วมีจังหวะชีวิตแค่นี้ อาจต้องไปเรียนหรือไปทำงานต่อ บางคนเลือกเรื่องที่ไม่อิน ก็ต้องเปลี่ยนไปทำเรื่องอื่น คนที่ทำสำเร็จคือแจ็กพอตว่าเจอจังหวะเหมาะ แล้วเจอเรื่องที่ชอบ”
แต่อีก 999 โปรเจกต์ที่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน ความทุ่มเทเหล่านั้นก็ไม่ได้สูญเปล่า
“ประสบการณ์ตรงนั้นเหมือนการฝังระเบิด เป็น Seed หรือ Time Bomb ที่จะถูกจุดเมื่อถึงเวลา อย่างน้อยเขาก็รู้ว่าเขาทำอะไรได้ คนพวกนี้พอเขาไปทำงานบริษัท เขาก็จะไม่ใช่คนนั่งเฉย ถ้าเขาเห็นปัญหา เห็นโอกาสในการทำอะไรใหม่ๆ เขาจะลุกขึ้นมาทำ”
ความหวังและอนาคต
วันนี้กิจการเพื่อสังคมไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทยอีกต่อไป แทบทุกโรงเรียน ทุกมหาวิทยาลัย ต่างมีวิชาที่ให้เด็กทำโครงการ มีพื้นที่ให้เขาได้ทดลองความฝัน มีทุนให้พวกเขาได้เริ่มต้น สิ่งที่นุ้ยและ School of Changemakers ทำทุกวันนี้ จึงขยับขยายไปมากกว่าแต่ก่อน
“เราไปหนุนอาจารย์ในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย หรือกลุ่ม NGOs เราจะช่วยสนับสนุนองค์ความรู้ในการบ่มเพาะเด็ก เอาความรู้ เครื่องมือต่างๆ ไปให้ เพราะการสนับสนุนเด็กใช้เวลาเยอะ ปีหนึ่งเราทำเองอย่างมากก็ได้ 40 ทีม แต่ประเทศชาติเรามีคนอยากทำมากกว่านั้น ถ้าอาจารย์ทำเป็น เขาจะทำได้ทุกปี ได้ทุกเทอม มันกว้างกว่าเรา จาก 40 ทีม ก็กลายเป็น 400 หรือ 4,000 ทีม
“ด้วยความที่ทีมเราเล็ก เราเลยทำสิ่งที่เป็น Innovation ทำสิ่งที่เป็นช่องว่าง ที่ยังไม่มีใครทำ ทุกปีเราจะมานั่งดูว่าตอนนี้สังคมเราขาดอะไร ตอนนี้มันขาดระบบ Incubation เราก็เลือกทำเรื่องนี้ อีกอย่างที่เราเห็นว่าเป็นช่องว่างและอยากทำ ก็คือเรื่อง Insight เราอยากทำแพลตฟอร์มให้คนมาหา Insight ว่าโอกาสในการแก้ปัญหาอยู่ตรงไหน ถ้าอีก 3 ปีข้างหน้า มีเรื่องนี้แล้ว เราก็เปลี่ยนไปทำเรื่องอื่น”
นุ้ยบอกว่ามีคนเข้ามาหา School of Changemakers ตลอด มีไม่น้อยที่เป็นบริษัทใหญ่ๆ ที่เข้ามาปรึกษาว่าเขาจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้สังคมดีขึ้น มีทั้งพนักงานบริษัทตัวเล็กๆ เช่น HR ที่มาขอคำแนะนำว่าจะทำโครงการอะไรให้คนทำงานมีความสุขมากขึ้นเพื่อให้อัตราการลาออกน้อยลง ไปจนถึงบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังวางแผนอยากทำให้ลูกบ้านมีชีวิตที่ดี ให้หมู่บ้านเป็น Zero Waste และอื่นๆ อีกมากมาย เธอบอกว่า นี่แหละคือสิ่งที่จะทำให้สังคมนี้ดีขึ้น
“เรามีความหวังกับสังคมนี้เสมอ เพราะเราเจอแต่ด้านดีของคน แต่ละวันคุณเจอแต่คนที่อยากจะแก้ปัญหา อยากทำอะไรดีๆ ได้อยู่ท่ามกลางคนที่คิดบวก คิดดี”
งานที่เธอทำไม่ง่าย แต่เธอเรียกความท้าทายนั้นว่า ความสุข
“แต่ละปีเราเห็นผลลัพธ์ว่าเราช่วยให้คนที่อยากทำอะไรดีๆ เริ่มต้นได้ เราเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาทำฝันให้เป็นจริงได้ แล้วเรื่องราวของแต่ละคน จากวันที่เขาอยากทำจนถึงวันที่เขาทำได้ มันเปลี่ยนชีวิตเขายังไง และเขาไปเปลี่ยนชีวิตคนอื่นยังไง มันยิ่งกว่ารางวัลใดๆ มันทำให้ชีวิตเราทุกวันโคตรมีความหมาย”