The Cloud x The Hero Season3

ถ้าตอนนี้เป็นเวลาตี 2 คุณเครียดเรื่องงานจนนอนไม่หลับ อีกไม่กี่ชั่วโมงคุณต้องตื่นไปทำงานแล้ว ความกังวลเรื่องต่างๆ ยิ่งประเดประดัง คุณจะปรึกษาใครได้บ้าง

ไม่ว่าจะดึกดื่นแค่ไหน ‘Relationflip’ ก็มีนักจิตวิทยาพร้อมดูแลคุณ

ที่นี่ไม่ใช่โรงพยาบาลหรือคลินิก แต่เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เริ่มต้นจากความคิดของ วินัดดา จ่าพา ที่อยากให้บริการด้านจิตวิทยาตลอด 24 ชั่วโมงผ่านการคุยโทรศัพท์ เธอจึงจับมือกับเพื่อนนักจิตวิทยา พรทิพย์ แม่นทรง และทีมงาน ร่วมกันตั้งศูนย์รวมนักจิตวิทยาคุณภาพเพื่อดูแลพนักงานบริษัทในเมือง

พวกเขาเชื่อว่า ถ้าเยียวยาจิตใจคนกลุ่มนี้ได้ ความสัมพันธ์รอบตัวพวกเขาจะดีขึ้น สังคมเมืองก็จะดีขึ้นไปด้วย

Relationflip, วินัดดา จ่าพา, พรทิพย์ แม่นทรง, จิตแพทย์

ธุรกิจที่ดีต่อใจคนเมือง

วินัดดาเรียนจบมาจากภาคออกแบบอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เธอไม่มีความรู้ทั้งเรื่องธุรกิจ จิตวิทยา หรือเทคโนโลยี แม้แต่น้อย มีแต่เพียงความมุ่งมั่นว่าอยากทำธุรกิจเพื่อสังคม และไม่อยากทำสิ่งที่มาไวไปเร็ว

“ธุรกิจอะไรที่พอจะช่วยสังคมได้อย่างยั่งยืนบ้าง” เธอตั้งคำถามแรก

เธอพบว่า สิ่งที่ยั่งยืน คือความเปลี่ยนแปลง

ความเปลี่ยนแปลงในที่นี้หมายถึงตัวมนุษย์เอง ชีวิตกับความเปลี่ยนแปลงเป็นของคู่กันอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ พอโตขึ้นร่างกายก็เปลี่ยนแปลง เปลี่ยนจากโรงเรียนเป็นมหาวิทยาลัย จากโสดเป็นมีแฟน จากงานแบบหนึ่งเป็นงานอีกแบบหนึ่ง ในแต่ละวัยมีประเภทการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกันไปตามธรรมชาติ

ความยากคือ เราจะจัดการกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นอย่างไร

ทางออกหนึ่งคือ การปรึกษาและระบายกับนักจิตวิทยา วิชาชีพที่พร้อมจะช่วยให้เราเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของเราเองมากขึ้น

“เวลาเจาะลงไป ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากความสัมพันธ์ทั้งนั้น ไม่ความสัมพันธ์กับหัวหน้า ก็กับลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน ลูกค้า คนทั้งนั้น และความสัมพันธ์ภายในตัวเอง รักตัวเองเมตตาตัวเองไหม ต้องกลับมาจัดการตรงนี้ก่อนที่จะไปจัดการความคาดหวังของคนอื่น” พรทิพย์อธิบายในฐานะนักจิตวิทยา พร้อมกับชี้ว่านี่คือที่มาของชื่อธุรกิจ ที่เน้นเรื่องการ Flip Relationship หรือปรับเปลี่ยนมุมมองที่เรามีต่อความสัมพันธ์นั่นเอง

คนส่วนใหญ่มักไปหานักจิตวิทยาเมื่อป่วยและต้องการการรักษา แต่พวกเธออยากให้บริการ ‘เชิงป้องกัน’ คือให้คำปรึกษาเรื่องเบื้องต้น เช่น อาการเครียด วิตกกังวล ไม่สบายใจ ซึ่งไม่ว่าใครก็ต้องเคยเผชิญ Relationflip จะเป็นพื้นที่ให้ระบายอารมณ์ หรือคลายปมเล็กๆ ก่อนปัญหาจะบานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่ เป็นการตรวจสุขภาพเรื่อยๆ ก่อนจะสายเกินแก้

ในอีกแง่หนึ่ง พวกเธอมองว่า เรามีธุรกิจเพื่อสังคมที่ช่วยเหลือคนในชุมชนชนบทมากมายแล้ว ทำไมจะมีเพื่อคนเมืองบ้างไม่ได้ แม้ชีวิตในกรุงจะมีเงินทองและความสะดวกสบายมากกว่าคนต่างจังหวัด ก็ไม่ได้แปลว่าจะมีความสุขกว่า คนเมืองก็อาจต้องการความช่วยเหลือไม่ต่างกัน

จากแนวคิดที่ว่า ต้องดีต่อสังคมอย่างยั่งยืน จึงกลายมาเป็นระบบดูแลใจคนกรุงในชื่อ Relationflip

Relationflip, วินัดดา จ่าพา, พรทิพย์ แม่นทรง, จิตแพทย์

เจ้านายด่า โทรหาพี่

กรุงเทพฯ มีประชากรอยู่ 10 ล้านคน จะให้บริการเยียวยาทุกคนคงไม่ไหว Relationflip เลยเน้นกลุ่มพนักงานบริษัท โดยใช้ระบบ Business to Business คือเข้าไปทำสัญญากับบริษัทโดยตรง ในรูปแบบการซื้อแพ็กเกจ

การ ‘ซื้อ’ 1 ครั้ง พนักงานของบริษัทจะได้รับชื่อผู้ใช้งานและรหัสผ่านเพี่อจองเวลาใช้บริการในเว็บไซต์ จำนวนการใช้งานรวมของแต่ละบริษัทจะขึ้นกับแพ็กเกจที่ซื้อ ถือเป็นสวัสดิการให้พนักงานได้มีที่ระบายและดูแลสุขภาพจิต เช่นเดียวกับสวัสดิการดูแลสุขภาพกายที่ต้องมีเป็นพื้นฐาน

วินัดดาเคยเป็นพนักงานประจำ เธอจึงเข้าใจสภาวะเหน็ดเหนื่อยตึงเครียดของคนกลุ่มนี้เป็นอย่างดี รวมถึงสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตที่กีดกันไม่ให้ไปพบนักจิตวิทยาเพื่อจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง

พนักงานประจำเครียดนะ สมัยนี้ทำงานกันวันละมากกว่า 8 ชั่วโมง ถึงเงินเดือนเป็นแสน แต่คุณรู้ได้ยังไงว่าหลังม่านเขาไม่ได้มีปัญหา เรามองว่าถ้าแก้ปัญหากลุ่มพนักงานประจำได้ก็น่าจะดี เพราะเขาคือกำลังหลักของครอบครัว โดยเฉพาะในด้านการเงิน เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงกับคนกลุ่มนี้ จึงมักจะส่งผลถึงรุ่นลูกและรุ่นพ่อแม่ คือเด็กและผู้อาวุโสในสังคมด้วย” วินัดดาอธิบาย

การแก้ปัญหาพนักงานบริษัทเพียงหนึ่งคน อาจช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้นได้ทั้งครอบครัว

แต่พวกเขาไม่ได้เลือกดูแลแต่พนักงานบริษัทเท่านั้น หากบุคคลทั่วไปคนใดผ่านมาเห็นและอยากลองใช้บริการบ้าง ขอเชิญส่งข้อความเข้าไปที่เพจเฟซบุ๊กได้เลย จะมีคนตอบรับและจัดการเรื่องต่อให้เอง

Relationflip, วินัดดา จ่าพา, พรทิพย์ แม่นทรง, จิตแพทย์ม สวนสาธารณะ

ผู้ฟังที่ดี

Relationflip มีนักจิตวิทยาที่ร่วมทำงานด้วย 37 ราย ทุกรายล้วนทำงานประจำตามโรงพยาบาลและคลินิกของตนเอง แต่รับงานนี้เป็นงานนอกเวลาเพื่อเพิ่มรายได้และประสบการณ์ของตัวเอง

นักจิตวิทยาทุกคนต้องผ่านการคัดเลือกด้วยการสอบแข่งขันและทำแบบประเมินต่างๆ ให้ได้ตามมาตรฐานของทีม เมื่อเข้ามาทำงานจริง จะมีคนคอยควบคุมดูแลอีกที ผู้ใช้บริการจึงไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องคุณภาพ

Relationflip ยังเป็นผลดีต่อนักจิตวิทยาที่เข้าร่วมด้วย เพราะพวกเขาจะได้ฝึกปรือฝีมืออีกด้านหนึ่ง ปกติแล้วนักจิตวิทยาเหล่านี้จะได้รับแต่คนไข้เคสที่มีปัญหาใหญ่ เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการชัดเจน ผู้ป่วยที่กินยารักษาหรือบำบัดมาก่อนแล้ว เป็นต้น และมักเป็นเคสที่มีเนื้อหาคล้ายกันตามแผนกที่ตนเองสังกัด ต่างจากเคสของ Relationflip ที่เต็มไปด้วยปัญหาธรรมดาทั่วไปทุกรูปแบบ ตั้งแต่อกหัก ทะเลาะกับพ่อแม่ จนถึงเข้ากับเพื่อนที่ทำงานไม่ได้ ผู้ให้คำปรึกษาจึงได้ฝึกให้คำปรึกษาด้านอื่นๆ ด้วย

Relationflip, วินัดดา จ่าพา, พรทิพย์ แม่นทรง, จิตแพทย์, สวนสาธารณะ

พนักงานสุขภาพจิตดี บริษัทก็มีความสุข

การรับฟังและเป็นที่ปรึกษาทางจิตใจดูเหมือนจะเป็นการปลอบใจธรรมดาๆ แต่ว่ามันพิเศษกว่านั้นเยอะ

พนักงานของบริษัทที่ซื้อแพ็กเกจมักไม่มีเวลาไปหานักจิตวิทยา เพราะตรงกับช่วงเวลาทำงาน การลางานไปก็อาจจะถูกมองว่าไม่เหมาะ แต่การระบายผ่าน Relationflip สามารถทำตอนดึกได้ เลือกเวลาและสถานที่ระบายได้เอง ระบายได้ทันที ไม่ต้องอัดอั้นไว้จนถึงวันนัด

พรทิพย์เล่าว่า บางเคสครั้งแรกไม่เชื่อใจนักจิตวิทยาเลย ตั้งใจเข้ามาเพื่อท้าทาย เมื่อเวลาผ่านไปผู้ใช้บริการกลับได้คลายปมในจิตใจ ช่วยให้เขาจัดการความสัมพันธ์ภายในตัวเอง และระหว่างตัวเองกับครอบครัวได้ดีขึ้น

วินัดดาพูดในมุมของบริษัทว่า Relationflip มีการประมวลผลการปรึกษาให้บริษัทผู้จ้างประกอบด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลคำปรึกษาและคำแนะนำว่า บริษัทควรช่วยเหลือพนักงานอย่างไร ปรับปรุงส่วนไหน เพราะถ้าบริษัทไม่ช่วยดูแลจิตใจพนักงาน ก็อาจส่งผลกระทบในวงกว้างต่อสังคมอย่างนึกไม่ถึง

แน่นอนว่าข้อมูลทั้งหมดล้วนเก็บเป็นความลับส่วนบุคคล วินัดดาและพรทิพย์ต่างยืนยันว่าพวกเธอให้ความสำคัญกับส่วนนี้มาก เพราะการรักษาความลับได้เป็นเงื่อนไขหลักที่จะทำให้บุคคลหนึ่งไว้ใจมากพอที่จะเปิดใจให้กับเหล่านักจิตวิทยา

Relationflip, วินัดดา จ่าพา, พรทิพย์ แม่นทรง, จิตแพทย์

สวัสดิการดูแลสุขภาพจิต

เมื่อฉันถามถึงสิ่งที่ทีมอยากทำต่อไปในอนาคต พวกเธอสองคนต่างเห็นพ้องต้องกันว่า คงจะดีหากทุกคนได้เข้าถึงการดูแลสุขภาพจิตอย่างเป็นอิสระมากกว่านี้ คงจะดีหากระบบประกันสุขภาพจิตกลายเป็นของธรรมดาทั่วไปที่ไม่ว่าบริษัทไหนก็ต้องมี

“สุขภาพกายหรือทำฟันยังเป็นสวัสดิการพื้นฐานขององค์กรได้เลย แล้วทำไมเรื่องสุขภาพจิตซึ่งเป็นพื้นฐานของคนยิ่งกว่าอีกถึงไม่ควรจะมีล่ะ” วินัดดาตั้งคำถาม

“เราอยากให้เป็นกฎหมายด้วยซ้ำว่า ไม่ว่าองค์กรจะเล็กหรือใหญ่ เราอยากผลักดันให้เรื่องนี้เป็นนโยบาย เหมือนที่คุณมีตู้ยาในห้องพยาบาลน่ะ”

ทั้งคู่จึงขอฝากถึงองค์กรต่างๆ ที่คอยดูแลสุขภาพประชาชนไทย ให้ช่วยกันผลักดันประเด็นนี้ให้กลายเป็นสวัสดิการซึ่งทุกคนเข้าถึงได้เท่าเทียมกัน Relationflip เองก็พร้อมจะร่วมมือ เพื่อช่วยดูแลใจชาวประชา ก่อนที่ปัญหาทางใจเล็กๆ น้อยๆ จะใหญ่โตบานปลายจนกลายเป็นภาระมากขึ้น

เมื่อเห็นปัญหาที่ไม่มีคนแก้ อย่าคิดว่ามันแก้ไม่ได้ มันก็แค่ไม่มีคนแก้เท่านั้นเอง ถ้าคุณคิดว่ามันท้าทาย ก็ลองสู้กับมันสักตั้ง อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลง Relationflip ก็ได้

ไปแล้วนะคะ เครียดก็โทรมาใหม่” วินัดดากล่าวทิ้งท้าย

Relationflip, วินัดดา จ่าพา, พรทิพย์ แม่นทรง, จิตแพทย์

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ